วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

มองชุมชนกะเหรี่ยงผ่านแนวคิดทางมานุษยวิทยา โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 Sherry B. Ortner (1984) เขียนใน Theory in Anthropology since the Sixties กล่าวถึงแนวโน้มของแนวคิดทางทฤษฎีที่ก่อต่อขึ้นในงานศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในช่วงศตวรรษที่ 21 ที่ถูกเรียกว่าเป็นแนว ปฏิบัติการหรือการกระทำการ ( Practice, Action หรือ Praxis ) ที่นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาหันมาให้ความสนใจกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำการและโครงสร้าง...

ปฏิบัติการที่ว่า ไม่ได้แค่หมายถึงสิ่งที่ผู้คนกระทำ แต่ทว่าปฏิบัติการหรือการกระทำเหล่านั้นล้วนมีนัยทางการเมือง ทั้งที่เจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ ปฏิบัติการนั้นๆได้ทำการก่อรูประบบ การผลิตซ้ำระบบ และสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อระบบ...
ในอดีตการศึกษาทางมานุษยวิทยานั้น ให้ความสำคัญกับพิธีกรรมในฐานะพื้นที่ของการผลิตซ้ำเชิงคุณค่าและบรรทัดฐานของสังคม ดังที่ออทเนอร์ก็มองว่าพิธีกรรมดังกล่าว ก็คือการกระทำของมนุษย์แบบหนึ่ง แต่ทฤษฎีปฏิบัติการ สนใจศึกษาการผลิตซ้ำวัฒนธรรมในชีวิตปกติประจำวันของมนุษย์ ไม่ใช่แค่เพียงในพิธีกรรมเท่านั้น...
ความน่าสนใจคือวิถีปฏิบัติของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมีมาก่อนมาตรฐานทางสังคมหลักและกฏหมายที่ถูกกำหนดในปัจจุบัน โดยเฉพาะนโยบายป่าไม้ที่ดินของรัฐ พร้อมกับการกระทำต่างๆที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตามวิถีดั้งเดิมครั้นบรรพบุรุษ และปรับให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศราษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม รวมทั้งการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆในสถานการณ์ปัจจุบันจึงอาจเป็นการกระทำที่สร้างสังคมหรือวัฒนธรรมหรือทางเลือกใหม่ๆท่ามกลางวิกฤตการณ์ปัจจุบัน....
เช่นเดียวกับบิแอร์ บูดิเยอร์ (Bourdieu,1977) กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่ายุทธวิธีหรือยุทธศาสตร์ (Strategy) ที่มองว่าจริงอยู่ที่สังคมมีบรรทัดฐานเป็นกรอบทั่วไป แต่ในระดับปฏิบัติการแล้วนั้น ผู้กระทำการอาจต่อรองที่จะไม่ทำตามข้อกำหนดหลักของสังคม แต่แสวงหาหนทางที่แตกต่างหรือใกล้เคียงกับแนวทางหลักของสังคม ซึ่งเชื่อมโยงกับเงื่อนไขเฉพาะและการสร้างสรรค์ของผู้กระทำการเอง...
ชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในพื้นที่รอยต่อของเขตป่าภายใต้โครงสร้างของอำนาจ ทั้งในระดับรัฐ อาทิ นโยบายเรื่องป่าไม้ที่ดิน การรุกคืบของระบบทุนนิยมกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว จนไปถึงโครงสร้างในระดับโลกที่เชื่อมโยงกับสภาวะโลกร้อน ความมั่นคงปลอดภัยทางอาหาร ความหลากหลายทางชีวิภาพและอื่นๆ.....
ในขณะที่ชีวิตประจำวันของชาวกะเหรี่ยง อาศัยและดำรงอยู่ในพื้นที่ป่า เป็นทั้งผู้อาศัย ผู้ใช้ประโยชน์และพึ่งพิงป่าอย่างเกื้อกูล มีวิถีชีวิตเป็นของตัวเอง ทั้งการทำไร่หมุนเวียน การทำพิธีกรรมไหว้เจดีย์และนับถือเจ้าวัดที่สัมพันธ์กับความเชื่อดังเดิมและเชื่อมโยงกับความเคารพเป็นมิตรกับดิน น้ำและป่า ซึ่งการปฎิบัติการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องดำเนินตามกรอบกำหนดของนโยบายหรือแผนแม่บทด้านป่าไม้ที่ดินและนโยบายชาติพันธุ์ของรัฐเสมอไป แต่พวกเขาสามารถสร้างสรรค์ ตีความใหม่ และสร้างลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมในแบบของตัวเอง และวัฒนธรรมดังกล่าวก็สามารถเป็นต้นแบบและรูปแบบให้กับชุมชนชาติพันธุ์อื่นๆและกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน หันมาให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ในการจัดการ ฟื้นฟู ดูแลรักษาวัฒนธรรมของตัวเอง และสามารถอยู่ร่วมกันกับป่า ที่จะนำไปสู่กระบวนการจัดการป่าและพัฒนาอย่างยั่งยืน....
วัฒนธรรมใหม่อาจเกิดขึ้นโดยนำเอาวัฒนธรรมเก่ามาปรับเปลี่ยนและไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนโดยการเปลี่ยนแปลงอำนาจของกลุ่มสังคม เพราะวัฒนธรรมไม่ได้ผูกติดกับพื้นที่หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างตายตัวอีกต่อไป
ดังเช่นคำพูดชาวกะเหรี่ยงภูเหม็นที่พูดว่า "บ้านภูเหม็นเปิดรับทุกคนที่จะเข้ามาแลกเปลีย่นเรียนรู้และอยากศึกษาวัฒนธรรม ใครจะเข้ามาเรายินดีต้อนรับ ถ้าเคารพในวัฒนธรรมและอยากเรียนรู้วัฒนธรรมของคนกะเหรี่ยง"
****
ผมดีใจและภาคภูมิใจกับวันพรุ่งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นวันสำคัญของชุมชนกะเหรี่ยงภูเหม็นและชื่นชกับภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันทำงาน ภายใต้การจัดการด้วยรูปแบบพิเศษภายใต้มติครม. 3 สิงหาคม 2553 เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยที่ดินทำกิน และฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยง ภายใต้พื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ...ในไม่ช้าผมจะได้กลับลงไปขอความรู้และเรียนรู้กับพ่อแม่พี่น้องกะเหรี่ยงที่ภูเหม็นอีกครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...