วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

วิวาทะว่าด้วยโครงสร้างกับมนุษย์ โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เรียนสังคมวิทยามานุษยวิทยามักมีคำถามพื้นฐานว่ามนุษย์กับสังคมใครมีอำนาจมากกว่ากัน ใครกำหนดใคร ใครควบคุมใคร มนุษย์มีเสรีภาพจริงไหม ผมเลยอยากเขียนทฤษฎีว่าด้วยpractice จากสิ่งที่อ่าน เพราะเป็นแนวคิดที่พยามสลายวิธีคิดแบบคู่ตรงกันข้าม...

Theory of Practice
Practice คือทฤษฎีที่มุ่งค้นหาทำความเข้าใจและอธิบายโลกทางสังคมและวัฒนธรรม โดยใช้กระบวนการวิเคราะห์ร่างกายเป็นพื้นฐาน กับการปฏิบัติการที่เกี่ยวโยงกับความรู้ ที่เชื่อมโยงกับความซับซ้อนของกระบวนการทางสังคมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในฐานะของสมาชิกกลุ่ม วิถีชีวิต สนามทางสังคม และอื่นๆ....
Practice Theory ได้มีแนวทางศึกษาโดยนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยา เช่น Sherry B. Ortner (2006) ค้นหาคำอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์ผู้กระทำ (Human action) ในอีกทางหนึ่งก็เกี่ยวข้องกับโลกที่ซึ่งเป็นระบบที่เกี่ยวโยงกับส่วนอื่นๆ วิธีการดังกล่าวเป็นการค้นหาเพื่อแก้ปัญหาทฤษฎีทางสังคมแบบดั้งเดิม ที่เป็นวิวาทะกันระหว่างวิธีคิดแบบโครงสร้างและกลุ่ม Collectivist Structuralist กับ การกระทำของปัจเจกบุคคล Individualist action theories ที่พยายามกับการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมทั้งหมดในชุดของการกระทำของปัจเจกบุคคลโดยตั้งใจ (Intentional individual actions)
Ortner ไม่ได้สนใจการผลิตซ้ำทางสังคมของโครงสร้างเท่านั้น แต่เน้นอยู่บนความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า serious game ที่คนเล่นไปตามกฏกติกาแต่สามารถสร้างกลยุทธ์(manoeuvre ) ของการเล่นในเกมส์นี้ได้ตลอดเวลา ในฐานะของเกมส์ในการต่อต้าน (resistance)และการเปลี่บนแปลง/เปลี่ยนผ่าน (Transformation) ในทางสังคม เธอก่อร่างความคิดของเธอผ่านการศึกษาสังคมชนเผ่า Sherpas ของประเทศเนปาล โดยชี้ให้เห็นโครงสร้างแห่งการควบคุมหลักในการทำความเข้าวัฒนธรรมภายในระบบสังคมวัฒนธรรม ที่ถูกผลิตซ้ำอย่างง่ายดาย ในขณะที่การแสดงของผู้กระทำ (Actor) สัมพันธ์กับทักษะในเกมส์แห่งการใช้ชีวิต พร้อมกับเรื่องของอำนาจและความไม่เท่าเทียมกัน ภายใต้การพิจารณาเกี่ยวกับโครงสร้างทางสังคม เช่นเดียวกับสนามกีฬาแห่งการแข่งขัน (Ariana of sport) การเล่นเกมส์แห่งชีวิตของมนุษย์ในสนาม ภายใต้กฏเกณฑ์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างโดยโครงสร้างทางสังคม แต่ในขณะเดียวกันตัวคนก็คือผู้กระทำการที่อิสระและอาจไม่คล้อยตามหรือดำเนินไปตามของกฏเกณฑ์ทางสังคมทั้งหมด บางคนสามารถสร้างกฏเกณฑ์ของชีวิตตัวเองได้ นี่คือสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถนำไปสู่แนวทางหรือเปลี่ยนแปลงกฏเกณฑ์และขอบเขตบางอย่างโดยการกระทำของเขาได้ ดังนั้น Ortner จึงเน้นที่เรื่องของการต่อต้านและการเปลี่ยนแปลง...
ความสัมพันธ์ของ Practice ระหว่าง โครงสร้างกับผู้กระทำการ โดยสมมติฐานแรกคือ Practice มันถูกกำหนดภายใต้กฏเกณฑ์ของโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมบางอย่าง ในอีกด้านหนึ่ง practice เสมือนพื้นที่ที่ให้โอกาส หรือสร้างโอกาสในการเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ด้วยตัวเอง โดยวิธีคิดแบบนี้ต้องย้อนกลับไปที่งาน ของ Erving Goffman เกี่ยวกับแนวคิดเรื่อง Theatre โรงภาพยนตี๋หรือโรงละคร โลกของละครเช่นเดียวกับ บทแสดงและตัวผู้แสดงละคร ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสังคม ก็ดำเนินการไปตามบทบาทที่ถูกกำหนดมาให้เล่น เช่นเดียวกับโครงสร้างหรือบทละครของนักแสดง แต่ในขณะเดียวกันภาวะของความเป็นมนุษย์ที่ซับซ้อน ลื่นไหล มันทำให้มนุษย์สามารถเล่นนอกบท หรือตีบทได้แตกกว่าที่บทละครได้กำหนดไว้เสียอีก ดังนั้น Practice มันจึงเป็นการดำเนินชีวิตที่ค่อนข้างยืดหยุ่น ไม่เป็นไปตตามกฎเกณฑ์ตลอดเวลา แต่มีแนวโน้มที่จะแหวก แหกกฎ ตลอดเวลา...
สมมติฐานอีกข้อคือ Practice เกิดขึ้นภายใต้กาละและเทศะ (Time and Space) เฉพาะหนึ่งๆเสมอ การเกิดขึ้นของ Practice อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวหรือเป็นอัตโนมัติ แบบไม่ต้องคิด เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ถ้าในภาษาของ Pierre Bourdieu ก็น่าจะเรียกว่า Habitus ดังนั้น Habitus ที่เป็นผลผลิตทางสังคมจึงกลายเป็นธรรมชาติ
ดังนั้นทฤษฎีว่าด้วยปฎิบัติการ (theory of practice) ถูกทำให้เข้มแข็งอย่างมากในนักสังคมวิทยาฝรั่งเศส ชื่อ Pierre Bourdieu แนวคิดเรื่องจริตหรือนิสัย (ที่เชื่อมโยงกับทุน capital และสนาม field รวมถึงรสนิยม taste ) มีความสำคัญในการวางรากฐานในหลักการแห่งทฤษฎีว่าด้วยการปฎิบัติ...
แนวคิด habitus ที่เขาพัฒนาทำให้เห็นการอธิบายสิ่งที่ว่าด้วยการทำให้เป็นสิ่งที่อยู่ภายในอย่างถาวรของกฏเกณฑ์ทางสังคมในเนื้อตัวร่างกายของมนุษย์ (human body) ในหนังสือของเขาชื่อ outline of a theory of practice ที่ใช้งานชาติพันธุ์วรรณาที่แอลจีเรีย(Algeria) ในสงครามแห่งการปลดปล่อยของแอลจีเรีย คือข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เขาใช้ในการอธิบาย theory of practice งานของเขาไม่ใช่แค่เรื่องของสังคมวิทยาเท่านั้น ยังเกี่ยวกับมานุษยวิทยา การศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และวัฒนธรรมศึกษาด้วย งานของเขาที่มีขื่อเสียงและได้รับการยอมรับคือเรื่อง Distinction: A Social Crituqe of the judgement of taste (La distinction)...
เมื่อพูดถึงสนาม ในทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาย่อมอธิบายถึงความแตกต่างในสัมพัทธ์ทางสังคม วัฒนธรรม (social and cultural relativism) ที่มีความเฉพาะ สนามจึงมีมิติที่หลากหลาย และไม่สามารถใช้สนามหนึ่งมาอธิบายสนามอื่นๆได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในขณะที่มนุษย์ในฐานะผู้กระทำทางสังคม เป็นส่วนหนึ่งในสนาม สนามที่มีกติกามีกฏเกณฑ์ ระเบียบที่แตกต่างกัน มนุษย์จะรู้ว่าตัวเองเล่นในสนามไหนได้บ้าง สนามทำให้เรามองเห็นผู้เล่น ว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน เป็นพวกเดียวกับเราหรือไม่ใช่พวกเดียวกันหรือเปล่า ความแตกต่างดังกล่าวที่เรามองเห็น มันสัมพันธ์กับตำแหน่งแห่งที่ของเรา การรับรู้ต่อตำแหน่งแห่งที่ ของเราในฐานะปัจเจกหรือสมาชิกของกลุ่มสังคม ซึ่งสัมพันธ์กับโครงสร้าง หรือกฏเกณฑ์ที่ดึงเราเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์เสมอ
ดังนั้นสนามที่มีกฏเกณฑ์ กติกา ระเบียบ ที่ทำให้ตัวเรารู้สึกต่อการเข้าไปสัมพันธ์กับสนาม ได้สร้างความรู้สึกเหมือนหรือแตกต่าง ซึ่งอยู่ภายใต้กระบวนการขัดเกลา การสร้างหรือสะสมเอาคุณลักษณะ คุณสมบัติบางอย่างเข้ามาเพื่อนำพาเราเข้าสู่สนาม(field) สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เรียกว่า ทุน (capital) เพื่อสร้างความมั่นใจ ความรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ในสนามทางสังคม ภายใต้คุณสมบัติของการมีทุน มีต้นทุน ซึ่งบูดิเยอร์แบ่งออกเป็น 4 อย่าง คือ ทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม ทุนทางสัญลักษณ์ ทุนทางวัฒนธรรม ทุนเหล่านี้มีความสัมคัญเชื่อมโยงกับ habitus ที่เราทำซ้ำๆ แสดงออกซ้ำๆในเงื่อนไขสถานการณ์ที่คล้ายๆกัน ดังนั้นhabitus ระบบจริตหรือนิสัยจึงเป็นสิ่งที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน เปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย บูดิเยอร์เสนอว่า habitus มี 2 ระดับคือระดับพื้นฐานดั้งเดิม กับระดับที่ได้มาต่อหรือลำดับที่สอง ที่ได้รับมาจากครอบครัวเป็นเบื้องต้น ก่อนจะได้รับจากสถาบันการศึกษา ศาสนาหรือสื่อสารมวลชน...
นักวิชาการคนสำคัญอีกคนที่พูดถึงแนวคิดว่าด้วยการปฎิบัติคือ Anthony Gidden ที่เขาเรียกว่า theory of structuration และมุมมองต่อสังคมสมัยใหม่ เขาพัฒนาทฤษฎีว่าด้วย structuration ในการวิเคราะห์เอเจนซี่ หรือผู้กระทำการ (agency) และโครงสร้าง (structure) คำถามสำคัญคือ โครงสร้างหรือหลักการ กฏเกณฑ์ทางสังคมสามารถเป็นทั้งสิ่งที่ผลิตหรือผลิตซ้ำในระดับของการปฎิบัติในตัวมันเองได้อย่างไร...
ในขณะที่ Latour (2005) ก็ชี้ให้เห็นปฎิสัมพันธ์ของโครงสร้างทางสังคมกับผู้กระทำการทางสังคม แต่เขาได้เสนอเพิ่มเติมว่าให้ทำความเข้าใจหรือมองสถานะของความสัมพันธ์ระหว่างการเป็นผู้กระทำการของวัตถุหรือธรรมชาติด้วย สิ่งที่น่าสนใจของเขาคือ แม้ว่าจะปฎิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์และสังคมเป็นผู้สร้างสรรค์วัตถุ แต่ในขณะเดียวกัน ต้องพิจารณาว่าวัตถุหรือธรรมชาตินั้นล้วนมีบทบาทต่อมนุษย์และสังคม เราไม่อาจลดทอนสถานะของวัตถุหรือธรรมชาติเป็นเพียงแค่สิ่งที่ถูกกำหนดจากโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมอย่างเด็ดขาด ในความจริงเมื่อมันถูกสร้างขึ้นหรือปรากฏขึ้น ตัววัตถุนั้นก็มีสถานะในตัวเองและมีบทบาทในตัวเองในการสร้างสรรค์สังคมวัฒนธรรมได้เช่นกัน ดังนั้นลาตูร์จึงมองสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา มีการเกาะเกี่ยว เชื่อมโยงร่วมมือกันอย่างเฉพาะเจาะจง ในพื้นที่และเวลามากกว่าจะเป็นสังคมที่ยึดโยงกับโครงสร้างที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานและตายตัว
ความน่าสนใจในแนวคิดของลาตูร์ก็คือทางเลือกเฉพาะทางของตัวเอง ที่อาจเรียกว่ายุทธศาสตร์หรือ strategy แบบ ปิแอร์ บูดิเยอร์ หรือกลวิธี (tactic) แบบมิเชล เดอ แซร์ โต หรือการต่อต้าน (resistance) แบบมิเชลฟูโกต์ ซึ่งเป็นปฎิบัติการในการใช้ชีวิตในแง่บทบาท การสร้างสรรค์และเงื่อนไขเฉพาะของผู้กระทำการเองที่ต่อรอง ต่อต้าน สร้างการเปลี่ยนแปลงกับโครงสร้างหรือบรรทัดฐานทางสังคมหลัก แต่สิ่งที่น่าสนใจในความคิดของลาตูร์อีกเรื่องหนึ่งก็คือ วิธีคิดการมองแบบไม่แยกวัฒนธรรมกับธรรมชาติ โครงสร้างกับผู้กระทำการ วัตถุกับคนออกจากกัน แต่ทั้งสองอย่างล้วนมีความสัมพันธ์และกำหนดซึ่งกันและกันอย่างเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น ที่ดิน แม่น้ำ ภูเขา หนังสือ หรือวัตถุอื่นๆที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวโยง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีสถานะ ไม่ใชวัตถุรูปแบบหนึ่งให้มนุษย์เข้ามากระทำในฐานะของวัตถุเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิสัมพันธ์ การปะทะ การสังสรรค์ การต่อรองและสร้างการปรับตัวระหว่างกันของผู้คน พื้นที่ กับสรรพสิ่งต่างๆตลอดเวลา
ที่มา
Ortner sherry (1978) Sherpas through their Rituals. Cambridge: Cambridge University Press.
Ortner sherry (2006) Anthropology and Social Theory: Culture, Power, and the Acting Subject. Durham, NC: Duke University Press.
Ortner sherry(1984) "Theory in Anthropology Since the Sixties." Comparative Studies in Society and History 26(1):126-166.
Latour, Bruno. 2005. Reassembling the Social: An introduction to actor-network-theory.
Oxford; New York: Oxford University Press.
Giddens, Anthony (1984). The Constitution o

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...