วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

การอ่านงานคลาสสิคทางมานุษยวิทยาเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องร่างกาย โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 ผมถือเป็นความท้าทายและเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่ได้กลับมาอ่านงานคลาสสิคของ อีมิล เดอไคม์ คาร์ล มาร์กซ์และจอร์ก ซิมเมล ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน ถกเถียง เปิดใจยอมรับและรับฟังความคิดระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น..และพิจารณาว่าสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้ เรารู้จริงไหม เข้าใจมันไหม การแลกเปลี่ยนถกเถียงกันคือการเรียนรู้ที่ดี ผมชอบการสอนแบบนี้นะที่อ่านมาคุยและไม่มีสไลด์ แบบที่เคยสอนมาหลายปี..

นักศึกษาปริญาโทคนหนึ่งเปิดประเด็นคำถามในชั้นเรียนว่า นักสังคมวิทยาทั้ง3 คนที่อาจารย์ให้ผมอ่านไม่ได้พูดถึงร่างกาย และนำเสนอแนวคิดว่าด้วยร่างกาย อาจารย์ให้อ่านทำไมครับ ผมไม่เข้าใจ..
ผมเลยตอบนักศึกษาคนนั้นกลับไปว่า มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือครับ ผมก็อ่านเหมือนคุณ ทำไมผมจึงเข้าใจหรือมองเห็นไม่เหมือนกัน ทั้งที่อ่านตัวบทเดียวกัน...คุณอ่านงานของมาร์กซ์หรือเองเกลเรื่อง German Ideology และ Manuscript คุณไม่คิดว่ามนุษย์ผลิตตัวเองให้เข้าไปสู่การเป็นแรงงานหรือครับ การเป็นแรงงานมันสัมพันธ์กับร่างกาย หรือ ความต้องการของร่างกายเกี่ยวกับวัตถุภายนอก เชื่อมโยงกับวิถีการผลิตของพวกเขาเพื่อการยังชีพ ซึ่งมือและหัวเป็นเสมือนอวัยวะของแรงงานที่มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของพวกเขา...(ผมยกประโยคในหนังสือภาษาอังกฤษบางส่วนให้ฟัง) มันก็เกี่ยวโยงกับเรื่องร่างกายนะครับ
อีมิล เดอไคม์พูดถึงความสัมพันธ์ของโลกธรรมชาติและโลกทางสังคม หากคุณได้อ่านงานthe elementary forms of religious life ร่างกายมันไม่ใช่สิ่งที่บรรจุพลังอำนาจที่ส่งผ่านระหว่างรุ่น ของพลังที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สัมพันธ์กับการปรากฏของวัฒนธรรมหรือกฏเกณฑ์เชิงสัญลักษณ์หรอกหรือครับ มันก็คือปฎิสัมพันธ์ของร่างกายกับสังคมที่เดอไคม์วิเคราะห์ อย่างชัดเจน..
สุดท้ายจอร์จ ซิมเมล พูดถึงปฎิสัมพันธ์ทางสังคม ที่ร่างกายเป็นพื้นที่ของการผลิตเกี่ยวกับรูปแบบทางสังคม วัฒนธรรม ในงาน individuality and social form ของเขา ลองอ่านดูนะครับ เขาพูดถึงการประกอบสร้างของประสบการณ์ที่แฝงฝังในร่างกาย แนวโน้มในเชิงอารมณ์กับรูปแบบทางสังคมวัฒนธรรม เช่น การแต่งงานคือการแสดงออกของความรัก อารมณ์ของปัจเจกบุคคล แต่แรงกระตุ้นที่หนุนเสริมเหล่านี้ถูกทำให้หายไปและถูกมองข้าม รวมทั้งรูปแบบของการแต่งงานที่แสดงถึงความคาดหวังที่ไม่สมมาตรหรือไม่สมดุลกันระหว่างตัวปัจเจกบุคคลกับสังคมและการถูกจำกัดหรือถูกขุมขังในเชิงปฎิสัมพันธ์ของความเป็นสามีและภรรยาเท่านั้น
บทสรุปของผมต่อนักศึกษาคือว่าการทำความเข้าใจแนวคิดของนักสังคมวิทยายุคแรกๆ มันทำให้เรามองเห็นเรื่องร่างกายกับสังคมที่เป็นข้อถกเถียงสำคัญมาถึงปัจจุบัน ที่พัฒนาการศึกษาร่างกายจากยุคคลาสสิคเคลื่อนเข้ามาสู่แนวคิดร่วมสมัยที่พูดถึงมากกว่าเรื่องของการประกอบสร้างทางสังคมเท่านั้น แต่มันกลับมาให้ความสำคัญกับร่างกายที่รู้สึก ร่างกายที่มีอารมณ์ การอธิบายผัสสะในเชิงร่างกาย อัตวิสัย ตัวตน ประสบการณ์ชีวิตและการแฝงฝังของร่างกาย การเมืองเรื่องร่างกาย แนวคิดความเป็นผู้กระทำการ แฮบิทัสและทุนทางร่างกาย หรือแนวคิด structuration ที่ต้องการทำลายวิธีคิดแบบทวิลักษณ์ในทฤษฎีทางสังคม หรือแม้แต่การอธิบายร่างกายในเชิงชีววิทยาและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงร่างกายกับเครื่องจักร สุดท้ายผมได้แต่บอกว่า..นั่นเพราะคุณยังอ่านไม่เข้าใจ ยังตีความสิ่งที่เขานำเสนอไม่ได้ชัดเจน คุณไม่ได้อ่านทั้งหมด และอ่านเพียงบางส่วนมาเท่านั้น ผมจึงต้องเน้นให้คุณอ่านทฤษฎีต่างๆทั้งคลาสสิคทั้งร่วมสมัยเพื่อให้สามารถคิดและนำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมเกี่ยวกับร่างกายและเพศวิถีได้อย่างเหมาะสม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...