วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ข้อถกเถียงว่าด้วยแนวคิดเกี่ยวกับร่างกาย : ร่างกายสองส่วน(Two Bodies)กับร่างกายสามส่วน(Three Bodies)

ข้อถกเถียงว่าด้วยแนวคิดเกี่ยวกับร่างกาย : ร่างกายสองส่วน(Two Bodies)กับร่างกายสามส่วน(Three Bodies)
          ภายใต้องค์ความรู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับร่างกายภายใต้วิธีคิดทางปรัชญา วิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ สามารถที่จะนำไปสู่การถกเถียงเกี่ยวกับร่างกายใน 3ลักษณะ
1. ร่างกายแบบทวิลักษณ์ การโต้เถียงว่าด้วยแนวคิดร่างกายสองอย่าง (Debate and Argument about Two bodies)
2. จากร่างกายทางสังคมและร่างกายทางกายภาพ(Social body and Physical body) ไปถึงการเมืองเรื่องร่างกาย (Body politics) ความคิดเรื่องร่างกายสามอย่าง (Three bodies)
3. ร่างกายที่เป็นวัตถุหรือผู้ถูกกระทำกับร่างกายที่เป็นองค์ประธานหรือผู้กระทำ (Body Matter or subjectivity)
นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสและนักชาติพันธ์วิทยา อย่างเช่น มาร์เซล มอสส์ (Marcel Mauss ,1872–1950) ซึ่งเป็นผู้นำหรือผู้บุกเบิกในการศึกษาเรื่องของการบ่มเพาะปลูกฝังขัดเกลา(embodiment) ในทางสังคมวิทยาและชาติพันธุ์วิทยา โดยเขาได้ตั้งข้อสังเกตว่าในกระบวนการขัดเกลาทางสังคม(socialisation)และการเรียนรู้แบบแผนทางวัฒนธรรม(enculturation) การสร้างความเป็นปัจเจกบุคคลหรือลักษณะเฉพาะ(personalize)ในร่างกายของผู้คนล้วนมีความเฉพาะ มาร์เซล มอสส์ได้ใช้ชุดคำอธิบายว่าด้วยจริตหรือนิสัย(habitus) เขาบรรยายความซับซ้อนของจริตทางร่างกายว่าเป็นเทคโนโลยีของร่างกายหรือเทคนิคทางร่างกาย(techniques of the body)ที่นำไปสู่หนังสือชิ้นสำคัญของมอสส์คือ “Les techniques du corps” หรือ Techniques of the body ในปี1934 มาร์เซล มอสส์ ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า ร่างกายคือสิ่งแรกเริ่มของความเป็นมนุษย์และเป็นเครื่องมือที่เป็นธรรมชาติมากที่สุดของมนุษย์ที่เป็นเสมือนวัตถุทางเทคนิค(technical object) วิธีการทางเทคนิค(technical means)ที่ใช้ร่างกายเป็นพื้นที่สำคัญ (Mauss, 2007: 56) โดยเทคนิคของร่างกายสะท้อนให้เห็นตัวของพวกเขาเองในชีวิตประจำวันและวิถีทางของการตัดสินใจ
หลังจากนั้นนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสอีกกท่านหนึ่งได้พัฒนาวิธีคิดนี้ต่อ Pierre Bourdieu (1930–2002) โดยแนวคิดของเขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน โดยแฮร์บิทัส( habitus) คือพื้นนิสัย(dispositions) ความโน้มเอียง(inclinations)และเงื่อนเริ่มต้น(preconditions) ที่ปัจเจกบุคคลได้รับในช่วงเวลาเริ่มต้นของชีวิตและเป็นรูปแบบของการตัดสินใจเบื้องต้นในรูปแบบของการคิด(thinking) การรับรู้(perception)และการประเมินค่า(evaluation) ในขณะเดียวกันมันก็เขียนหรือผลิตตัวมันเองในร่างกายของมนุษย์ที่นำไปสู่วิถีทางแห่งพฤติกรรม(ways of behaving) การใช้ประโยชน์เชิงร่างกาย(physical avocations)และการดูแลรักษาร่างกายของตัวเอง(own body treatment) บูดิเยอร์พิจารณาว่าร่างกายเป็นเช่นเดียวกับผลผลิตที่ได้จากตำแหน่งทางสังคม(products of social positions)ของมนุษย์ (Bourdieu, 1998)
ในงานของแมรี่ ดักลาส ชื่อความบริสุทธิ์และอันตราย “Purity and Danger” (1966)และสัญลักษณ์ทางธรรมชาติ “Natural Symbols” (1970) ที่แนวความคิดของเธอใช้สำรวจความซับซ้อนของร่างกายมนุษย์ ภายใต้การแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างร่างกายทางกายภาพ(physical body)กับร่างกายทางสังคม(social body) ดักลาสมองว่า สังคมคือสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่อยู่เลยไปจากความเป็นปัจเจกบุคคล (a beyond-individual phenomenon) ที่เป็นการตัดสินใจเริ่มต้นในแนวทางที่ร่างกายทางกายภาพจะเป็นสิ่งซึ่งถูกทำให้รับรู้และถูกทำให้เป็นประสบการณ์ของกระบวนการทางกายภาพ วัฒนธรรมกำหนดความหมายที่นำไปสู่หน้าที่ของร่างกาย ภายใต้การรับรู้และการพิจารณาเกี่ยวกับความไม่สะอาดหรืออันตราย กับความน่าพอใจหรือพึงปรารถนาและความสะอาด
แนวคิดเรื่องร่างกายสามส่วน(three bodies) ไม่ใช่แค่การแบ่งแยกหน่วยของการวิเคราะห์ (units of analysis) แต่มันยังเกี่ยวข้องกับวิธีการเชิงทฤษฎี (theoretical approaches)และญาณวิทยา(epistemologjes) โดยแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ
1.ร่างกายของปัจเจกบุคคลหรือการมีอยู่ของตัวตน(individual body/ the lived self) อยู่ภายใต้วิธีคิดแบบปรากฏการณ์วิทยา(phenomenology)  โดยระดับนี้เป็นสิ่งเน้นย้ำอยู่บนเรื่องของตัวตน(self-evident level) คือร่างกายของปัจเจกชน ความเข้าใจผัสสะทางปรากฏการณ์วิทยาของประสบการณ์ของชีวิต (the lived experience) ในร่างกายของตัวเอง(the body-self) พวกเราอาจมีข้อสมมติฐานในเชิงเหตุผลว่า ผู้คนทั้งหมดมีการแชร์ความรู้สึกตามธรรมชาติ(intuitive sense)บางส่วนร่วมกันในการปลูกฝังหรือบ่มเพาะตัวตนของตัวเองเช่นเดียวกับส่วนที่ดำรงอยู่แยกจากร่างกายของปัจเจกบุคคลอื่นๆ(Mauss 1985[1938])
อัตลักษณ์ของตัวตน(self- identity) หรืออัตลักษณ์ระดับปัจเจกชน (personal identity) เปลี่ยนแปลงไปกับบริบททางสังคม(social context) โดยเฉพาะภายในลำดับชั้นของความสัมพันธ์ทางสังคมที่ถูกกำหนดตามช่วงเวลา ตัวอย่างเช่นอัตลักษณ์ของเด็กคือสิ่งที่ถูกสร้างไปสู่การตอบสนองของคนอื่นๆ ทั้งการปรับตัวคล้อยตามและการพึ่งพา ซึ่งเป็นที่เข้าใจเกี่ยวกับสัญญะของความอ่อนแอในร่างกายของเด็ก ในขณะที่เมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่พวกเขาถูกคาดหวังเกี่ยวกับความเข้มแข็ง (Reischauer 1977:152) ดังนั้นอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคลและอัตลักษณ์ทางสังคมเป็นเหมือนสองด้านของสิ่งเดียวกัน “Individual identity and social identity are two sides of the same coin" (1955:276)แม้ว่ามันจะแยกจากกันได้แต่ไม่สามารถขาดอันใดอันนึงไม่ได้ ซึ่งตัวตนเชิงอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่ปัจเจกบุคคลใช้อธิบายเกี่ยวกับตัวเอง ค่านิยม ความสนใจ อุปนิสัยและอื่นๆ หรือกล่าวอย่างง่ายคือฉันมองตัวฉันอย่างไร โดยเป็นอัตลักษณ์ที่ไม่ถูกนิยามหรือกำหนดโดยเครือญาติ ความเป็นเพื่อนบ้าน(neighborhood)หรือกลุ่มอ้างอิงทางสังคมอื่นๆ(social claims)นั่นคือการมองตัวฉันอย่างที่คนอื่นมองหรือสังคมที่เข้ามากำหนดบทบาทหน้าที่บางอย่างให้
2.ร่างกายของสังคม(social body) อยู่ภายใต้วิธีคิดแบบโครงสร้างนิยมและสัญลักษณ์นิยม(structuralism and symbolism) โดยการวิเคราะห์ร่างกายทางสังคม อ้างอิงไปยังการใช้ภาพแสดงหรือภาพตัวแทนเกี่ยวกับร่างกาย(the representational uses of the body) เช่นเดียวกับสัญลักษณ์ทางธรรมชาติ พร้อมกับความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติ สังคมและวัฒนธรรม โดยร่างกายในระบบสุขภาพได้ให้โมเดลเกี่ยวกับองค์คาพยพหรือร่างกายแบบอินทรีย์ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ร่างกายของความเจ็บป่วยได้ให้โมเดลของความไม่กลมกลืน(disharmony) ความขัดแย้ง(conflict) การไม่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน(disintegration) ในขณะที่ประเด็นเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับสังคมในเรื่องของความเจ็บป่วย (sickness)สุขภาพ(health)ได้ให้รูปแบบสำหรับการทำงานและความเข้าใจในประเด็นทางสุขภาพ
ตัวอย่าง งานศึกษาของพิมพวัลย์ บุญมงคล (2550)ในการศึกษาเรื่องของโรคเรื้อน ซึ่งในทางการแพทย์เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Mycobacterium Leprae) ซึ่งมีระยะเวลาฟักตัวของโรคนานประมาณ6 เดือน-15 ปี ซึ่งโรคเรื้อนทำให้เกิดอาการที่เส้นประสาทส่วนปลาย ผิวหนังและเยื่อบุจมูก ซึ่งปัจจุบันโรคเรื้อนเป็นส่วนติดต่อที่ไม่ร้ายแรงและติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ โดยอาการของโรคจะเริ่มจากผิวหนังเป็นวงด่างขาว เมื่อปล่อยไว้จะเกิดอาการตุ่มและผิวหนังนูนแดงหนาและหมดความรู้สึกที่ปลายประสาทและกล้ามเนื้อที่นิ้วมือและเท้า นิ้วมือนิ้วเท้าจะเกิดอาการหดสั้น งอและเกิดความพิการที่นิ้วมือนิ้วเท้า  เกิดลักษณะที่นิ้วมือนิ้วเท้ากุด ชาวบ้านส่วนใหญ่มักเรียกโรคเหล่านี้ว่าขี้ทูตกูดถัง และเป็นโรคที่สังคมรังเกียจ เกิดความรู้สึกกลัว ขยะแขยง ไม่กล้าเข้าใกล้ สัมผัสและอยู่ใกล้ชิด ภายใต้ความเชื่อที่ว่าหากสัมผัสของเหลวสารคัดหลังที่เป็นเลือด น้ำหนอง น้ำลายจะติดเชื้อโรคเรื้อนได้ โรคเรื้อนจึงถูกผลิตตราบาป ความสกปรกและภยันตรายที่สัมพันธ์กับร่างกายภายใต้โรคเรื้อน โรคเรื้อนจึงเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างและก่อร่างสร้างขึ้นจากสังคมและวัฒนธรรม(Social and Cultural construction)
แนวคิดของ Scheper-Hughes and Lock (1987:18-19) เน้นว่า นักมานุษยวิทยาโครงสร้างและสัญลักษณ์ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของร่างกายเป็นหน่วยของการวิเคราะห์ อวัยวะของมนุษย์และผลผลิตของอวัยวะได้แก่เลือด น้ำนม น้ำตา น้ำอสุจิ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถถูกใช้เป็นแผนที่แห่งความเข้าใจโดยใช้เป็นตัวแทนของธรรมชาติ สิ่งเหนือธรรมชาติตลอดจนความสัมพันธ์ทางสังคมและกายภาพ  ดังที่Mary Douglas บอกว่าร่างกายทางกายภาพจะถูกรับรู้ภายใต้เงื่อนไขทางสังคมเป็นผู้กำหนด นั่นคือการเป็นร่างกายทางสังคม ดังเช่นกรณีของโรคเรื้อน ที่มีลักษณะเป็นโรคที่มีอาการทางกายภาพให้เห็นชัดเจน ได้แก่เลือด หนอง เหงื่อไคล ที่มาจากร่างกาย ร่างกายของผู้ป่วยจึงสัมพันธ์กับแนวคิดของชาวบ้านเกี่ยวกับความสกปรกและภยันอันตราย ภายใต้แนวคิดเกี่ยวกับความสกปรกที่เชื่อมโยงหรือเป็นผลที่เกิดจากการสัมผัสซึ่งสอดคล้องกับอิทธิพลทางความรู้เกี่ยวกับอวัยวะที่เป็นสมมติฐานของโรค(Douglas 1966:3) เลือดและหนองกลายเป็นสัญลักษณ์ของความสกปรก และเนื้อตัวร่างกายของผู้ป่วยโรคเรื้อนที่เป็นตัวนำเชื้อโรคของความสกปรกออกมา การสัมผัสกับเลือด หนองหรือร่างกายของผู้ป่วยจึงเสมือนกับการสัมผัสซากศพ เชื้อโรค ที่เป็นสัญลักษณ์ของความไม่สะอาด การแพร่เชื้อและอันตราย
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการประกอบสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมเกี่ยวกับร่างกายเป็นสิ่งที่ถูกใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนความคิดที่มีความเฉพาะทางสังคมและความสัมพันธ์ทางสังคม การจัดแบ่ง จำแนกแยกประเภทชนชั้นของคนในสังคม ความปกติและความไม่ปกติ
3.ร่างกายทางการเมือง(the body politic)อยู่ภายใต้วิธีคิดแบบหลังโครงสร้างนิยม (post-structuralism) โดยในการวิเคราะห์ระดับที่3 ที่เป็นเรื่องของการเมืองว่าด้วยร่างกาย เชื่อมโยงกับเรื่องของการวางระเบียบ(regulation) การสอดส่อง(surveillance) และการควบคุม(control)ร่างกาย ทั้งในระดับปัจเจกชนและระดับกลุ่มในเรื่องของการผลิตซ้ำ(reproductive) เช่นการตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด และเพศวิถี(Sexuality) ในการใช้ชีวิต การทำงานและการใช้เวลาว่าง ในประเด็นของสุขภาพและความเจ็บป่วย รวมถึงรูปแบบของการเบี่ยงเบนและความแตกต่างของมนุษย์
ความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายของปัจเจกบุคคลและร่างกายทางสังคมมีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก อย่างไรก็ตามอุปมาอุปไมย(metaphors) และภาพตัวแทนร่วม(collective representations) ของธรรมชาติและวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับอำนาจและการควบคุมด้วย ตัวอย่างเช่นการตกแต่งร่างกาย(Body decoration) คือวิธีการที่นำไปสู่อัตลักษณ์ตัวตนทางสังคม(social  and self-identities) เป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างและถูกแสดงออกมา(Strathem and  Strathem 1971) เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม(Clothing)และรูปแบบอื่นๆของการประดับตกแต่งร่างกาย (adornment) กลายเป็นเหมือนเครื่องมือทางภาษาที่ซึ่งนำไปสู่การแสดงออกในอัตลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม
ในด้านหนึ่ง การควบคุมร่างกายในช่วงเวลาที่เผชิญวิกฤตการณ์ สังคมจะควบคุมการผลิตซ้ำและการจัดเกลาหล่อหลอมประเภทหรือลักษณะของร่างกายที่สังคมมีความต้องการ ดังเช่นตัวอย่างสังคมที่ต้องต่อสู้หรือถูกรุกรานจากศัตรู บ่อยครั้งต้องการความป่าเถื่อนดุร้ายและหัวใจของความเป็นนักรบ ดังเช่นชนเผ่ายาโนมาโม่ ผู้ซึ่งเป็นชนเผ่า Amerindian ที่อาศัยอยู่ในป่าของลุ่มน้ำอะเมซอน โดยร่างกายของผู้ชายยาโนมาโม่(Yanomamo males) เป็นทั้งสื่อและข้อความ(medium and message) เครื่องหมายกากบาทบนหัวกับแผลเป็นของการต่อสู้(battle scars)ที่นำไปสู่การย้อมสีแดง การเหลาฟัน การรักษาความสะอาดและการทำให้เกลี้ยงเกลาโดยการโกน คือสิ่งที่ถูกแสดง รอยแผลของพวกเขาถูกสร้างให้มีความหมายในทางศาสนาและทางการเมือง
Yanomamo Warrior
ร่างกายในทางการเมืองหรือการเมืองของร่างกายในหลายสังคมรวมถึงสังคมของพวกเราเอง ความถูกต้องสอดคล้องของร่างกายในทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น ความสวยงาม(beautiful) ความแข็งแรง(strong)และความมีสุขภาพดี(healthy) ภายใต้การกำหนดความหมายที่นำไปสู่ความคิดเกี่ยวกับความอ้วน(obesity)และความผอม(thinness)และรูปแบบและทรวดทรงของสัดส่วนร่างกาย รวมถึงโครงสร้างของฟัน(dental structure) เช่นเดียวกับการจัดวางคุณค่าเกี่ยวกับ ความคงทน ความคล่องแคล่ว ความอุดมสมบูรณ์(fertility)และความยืนยาว(longevity)ที่บ่งชี้เกี่ยวกับความแข็งแรงและความมีสุขภาพ
เราสามารถสรุป ร่างกาย 3 ส่วน ผ่านแนวคิดของ Margaret Lock และ Nancy Scheper-Hughes (Lock, 1996:41-70) เป็นนักมนุษยวิทยาการแพทย์ที่ได้แสดงความคิดเห็นต่อแนวคิดเรื่องร่างกาย ในประเด็นเกี่ยวกับการกำเนิดความหมายและความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายใน 3 ระดับ ได้แก่
ร่างกายส่วนบุคคล/ร่างกายปัจเจก (The Individual body) เป็นร่างกายที่ก่อเกิดของประสบการณ์ชีวิต (lived experience) เป็นส่วนที่มีความนึกคิด จิตวิญญาณ ที่มีต่อร่างกาย และตัวตน (self) ของเรา เน้นการซึมซับผ่านร่างกาย (embodiment) จนประกอบเป็นตัวตน และสื่อให้เห็นตัวตนและอัตลักษณ์ของตนเอง  
ร่างกายทางสังคม (The Social body) เป็นการใช้ร่างกายในฐานะที่เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ (natural symbol) ของเรื่องต่างๆทั้งทางสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง โดยมีความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติ สังคมและวัฒนธรรม การตีความวิพากษ์จะเน้นที่การหาความหมายระหว่างโลกทางสังคมและธรรมชาติ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนถึงความเป็นมาและความสัมพันธ์ทางสังคมในบริบทต่างๆ ในมิติสุขภาพร่างกาย เมื่อร่างกายเป็นโรคหรือเจ็บป่วย ก็จะสะท้อนให้เห็นภาพของสังคมที่มีความขัดแย้ง (disharmony) แตกแยก (conflict) จนไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ตามปกติ
การเมืองร่างกาย (The body Politic) เป็นเรือนร่างที่ถูกควบคุม (regulations) สอดส่อง (surveillance) และกำกับ (control) ในเรื่องของการเจริญพันธุ์ การทำงาน เวลาว่าง การเจ็บป่วย เช่น การที่รัฐควบคุม สร้างกฎเกณฑ์บังคับและสำรวจพฤติกรรมของร่างกายในระดับปัจเจกหรือกลุ่ม เพื่อคงไว้ซึ่งความเรียบร้อยของสังคม เป็นการควบคุมตั้งแต่เกิดจนตาย การเมืองร่างกายได้เข้าไปควบคุมประชากรหรือร่างทางสังคม และสร้างวินัยให้กับร่างของปัจเจก ในสังคมอุตสาหกรรมการควบคุมและกำกับร่างกายปัจเจกและร่างกายทางสังคมมีความซับซ้อน ในงานของฟูโก้เอง ได้ชี้ให้เห็นถึงการควบคุมประชากรในสถาบันต่างๆ สามารถทำได้โดยการทำให้ร่างกายกลายเป็นร่างที่เชื่อฟัง (docile body) และว่านอนสอนง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดูแลรักษาสุขภาพให้มีสุขภาวะทั้งทางกายและสังคมที่ดี (social well-being)

การศึกษาร่างกายทั้ง 3 ระดับ ไม่สามารถที่จะศึกษาแยกกันได้อย่างเด็ดขาด หากแต่พวกเราต้องวิเคราะห์ความคิดดังกล่าวเชื่อมโยงกัน นอกจากนี้การใช้แนวคิดในการศึกษาก็มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ในการศึกษาร่างกายปัจเจก จะให้ญาณวิทยาแบบปรากฏการณ์วิทยา การศึกษาร่างกายทางสังคม จะใช้แนวคิดทางสัญลักษณ์และโครงสร้างนิยม ส่วนการศึกษาการเมืองร่างกาย จะใช้แนวคิดหลังโครงสร้างนิยม ลักษณะคำถามที่ใช้ควรเป็นคำถาม ทำไม และ อย่างไร ในประเด็นของการประกอบสร้างทางสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...