วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

พัฒนาการและต้นกำเนิดของมานุษยวิทยาว่าด้วยร่างกาย (Anthropology of body) โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

พัฒนาการและต้นกำเนิดของมานุษยวิทยาว่าด้วยร่างกาย (Anthropology of body)
          จอห์น แอนโธนี่ แรนดอล เบลคกิ้ง  (John Anthony Randoll Blacking (1928–1990)) ได้แนะนำเกี่ยวกับมานุษยวิทยาร่างกาย (1977)ที่เขาได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวิชาและกรอบความคิดทางฤษฎีของสนามย่อยๆของการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่ถูกพัฒนาขึ้นมา เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะใช้มานุษยวิทยาร่างกายเป็นชุดทางเลือกสำหรับการศึกษามานุษยวิทยากายภาพและมานุษยวิทยาชีวสังคม(Physical and biosocial anthropology)  วัตถุประสงค์ของการศึกษามานุษยวิทยาว่าด้วยร่างกาย ควรที่จะให้ความสำคัญกับร่างกายที่สะท้อนให้เห็นกระบวนการและผลผลิตทางวัฒนธรรมที่สร้างความเป็นร่างกาย ที่แสดงให้เห็นภาพสะท้อนหรือแผ่ขยายมโนทัศน์เกี่ยวกับร่างกายในบริบทที่หลากหลายภายใต้ปฎิสัมพันธ์ทางสังคม (Blacking, 1977: 2)
          ความคิดของเขาเป็นการอธิบายที่เชื่อมโยงมิติของมานุษยวิทยากายภาพและมานุษยวิทยาวัฒนธรรม (the physical and cultural anthropology) เขาพิจารณาร่างกายของมนุษย์กับผลผลิตของกระบวนวิวัฒนาการทางชีววิทยา และร่างกายของมนุษย์มีการเคลื่อนไหว(move) มีการดำรงอยู่(survive)และการผลิตซ้ำ(reproduce)ตัวเองภายใต้บริบททางสังคมวัฒนธรรมที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกหนแห่งทั่วโลก พวกเขายังสามารถดัดแปลงปรับตัวกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมโดยรูปแบบการจัดวางร่างกาย(body dispositions)ที่หลากหลาย รวมถึงสถานะทางกายภาพ(physiological states)และความสามารถในการรับรู้(cognitive abilities)
ตั้งแต่ช่วงค.ศ.1980 ความสนใจที่เพิ่มมากขึ้นของการศึกษามานุษยวิทยาของกระบวนการขัดเกลาและปลูกฝังทางสังคม(study of embodiment in anthropology)ที่สามารถสังเกตและทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางได้ ร่างกายและกระบวนการของการปลูกฝังหล่อหลอมได้กลายเป็นศาสตร์หรือวิชาที่ได้รับความสนใจในนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมอเมริกัน(American cultural anthropologist) อย่างเช่น Terence Turner(1935–2015) ในงานที่มีชื่อเสียงของเขาเกี่ยวกับการศึกษาผิวหนังของสังคมในหนังสือ The Social Skin (1980) ที่เขาได้ทำการวิเคราะห์วลีสำคัญของ ชอง ชาร์ค รุสโซ ที่กล่าวว่า มนุษย์คือสิ่งที่เกิดมาอย่างเปล่าเปลือยแต่ในทุกๆที่ล้วนมีเสื้อผ้า “Man is born naked but is everywhere in clothes” (Turner, 1980: 112) ความคิดดังกล่าวสัมพันธ์กับพื้นฐานของการศึกษาการปฏิบัติเกี่ยวกับการตกแต่งร่างกายของชนเผ่า Kayapó ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองของบราซิลในอเมริกาใต้
       
Kayapo tribe in Brazil
เทอเรน์ เทอร์เนอร์ (Terence Turner) กลับมาสู่ข้อสรุปที่ว่ากระบวนการขัดเกลาทางสังคม(socialization) ร่างกายจำเป็นต้องควบคุมตัวเอง(Self-subordinate)กับโครงสร้างหรือกฏเกณฑ์ทางสังคม(social order) เขามองว่า ร่างกายทางผิวหนัง(the body skin) มันคือขั้นตอนที่ซึ่งการแสดงของกระบวนการขัดเกลาทางสังคม(drama of socialization)ได้เกิดขึ้น เขามองว่าผิวหนังคือพรมแดน(border)ที่ซึ่งสังคม(society) ตัวตนทางสังคม(social self)และกระบวนการทางจิตวิทยาส่วนบุคคล(psychobiological individual)สามารถแทรกซึมเข้าไปสัมผัสหรืออยู่ในผิวหนังของมนุษย์ได้ เทอร์เนอร์ พัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับ ผิวหนังทางสังคม (social skin) กับการแสดงภาพประทับหรือวาดภาพ(the imprinting)เกี่ยวกับการจัดประเภททางสังคม(social categories)บนร่างกายของตัวเอง สำหรับเทอร์เนอร์พื้นผิวของร่างกายแสดงประเภทหรือลักษณะขอบเขตที่มีร่วมกันทางสังคมที่กลายมาเป็นกระบวนการทางสัญลักษณ์ที่สัมพันธ์กับการแสดงออกเกี่ยวกับการขัดเกลาทางสังคมที่ปรากฏออกมา(1980:112)
ในงานของ Csordas (1952)ชื่อ Embodiment as a Paradigm for Anthropology เขาบรรยายเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ของการบ่มเพาะปลูกฝัง (paradigm of embodiment) เขามีความเห็นว่านักมานุษยวิทยาควรที่จะศึกษาร่างกายของมนุษย์เช่นเดียวกับอัตวิสัยของวัฒนธรรม(subject of culture)  ร่างกายของมนุษย์ไม่ใช่วัตถุ(object) (Thomas Csordas, 1952) โดยเขาได้ทดสอบแนวคิดดังกล่าวในการศึกษาเกี่ยวกับพิธีกรรมการรักษา(healing ritual)และแนวคิดทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับตัวตนในกลุ่มสมาชิกของคาทอลิกที่ต้องการฟื้นฟูคริสจักรคาทอลิก(the Catholic Charismatic Renewal Movement) (สามารถอ่านได้ใน Csordas, 1990) ซึ่งปรากฏอยู่ในการศึกษาทางมานุษยวิทยาเกี่ยวการบ่มเพาะปลูกฝังในหนังสือชื่อ Embodiment and Experience’ (1994) และตอกย้ำว่า วัฒนธรรมสามารถเป็นสิ่งที่ถูกบ่มเพาะแฝงฝังอยู่ในร่างกายของมนุษย์ได้ (Csordas, 1994: 6)
แนวคิดเกี่ยวกับมานุษยวิทยาว่าด้วยร่างกายศึกษาอะไร
          เมื่อเรากลับมาทบทวนงานวรรณกรรมทางมานุษยวิทยาที่เน้นอยู่บนเรื่องราวของร่างกายและการบ่มเพาะปลูกฝัง (the body and embodiment) แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การศึกษาส่วนใหญ่จะเน้นไปที่4หัวข้อหลักสำคัญคือ 1.ลักษณะการให้ความหมายกับร่างกายของมนุษย์(body meaning) 2.การศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการของร่างกาย (body processes) 3.ภาพแสดงแทนของร่างกายภายในบริบททางวัฒนธรรมที่เฉพาะ(representation of the body) 4. การศึกษาทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับผัสสะ(anthropological study of senses) ดังเช่น David Howes and Paul Stoller เป็นผู้ที่นำไปสู่การศึกษาในสนามของมานุษยวิทยาว่าด้วยผัสสะ( anthropology of senses) ตัวอย่างเช่น งานของ พอล สตอลเลอร์ ที่มีชื่อเสียงเรื่อง รสชาติของงานชาติพันธุ์วัฒนธรรมว่าด้วยสิ่งต่างๆ The Taste of Ethnographic Things (1989) เขาได้วิจารณ์ว่ารูปแบบการเขียนทางชาติพันธุ์วรรณาที่ซึ่งเน้นเสนอตามข้อเท็จจริง(in fact) เป็นสิ่งที่ไร้รสชาติจืดชืด(tasteless) เพราะว่านักมานุษยวิทยาโดยทั่วไปมักจะไม่เขียนเกี่ยวกับ กลิ่น(the smells)  รสชาติ(the tastes) เสียง(the noises)ที่ซึ่งพวกเขามีประสบการณ์ในสนาม(Classen, 1993; Stoller, 1989; Synnott, 1993)
ตัวอย่างงานของผู้เขียนเองที่ศึกษาเกี่ยวกับผู้หญิงขายบริการทางเพศข้ามพรมแดนชาวลาวหรือสาวคาราโอเกะลาวเป็นตัวอย่างหนึ่งที่พยายามเขียนผ่านเรื่องเล่า ที่สะท้อนให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองและผู้คนที่ตัวเองศึกษา กระบวนการต้อนรับแขกที่ต้องจัดการกับร่างกาย กลิ่นน้ำหอมที่ลอยมาปะทะจมูกที่สร้างความรู้สึกกระตุ้นเร้าให้อยากเข้าไปนั่งใกล้ พูดคุย การได้เงี่ยหูฟังเรื่องราวที่สาวคาราโอเกะจับกลุ่มคุยกันถึงความนุ่มนิ่มของผิว การกระฉับของหน้าอกที่เกิดจากการใช้สินค้าความงาม
          จุดยืนสำคัญทางมานุษยวิทยาในความพยายามที่จะศึกษาร่างกายเช่นเดียวกับปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม(social and cultural phenomenon) ซึ่งสามารถทำงานภายในมิติของ 3 ระดับโครงสร้างที่มีความหลากหลาย  คือร่างกายเป็นเช่นเดียวกับสิ่งประดิษฐ์ (artefact) ที่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไข(modification) ร่างกายเป็นเหมือนปทัสถานหรือบรรทัดฐาน (norm) ที่เป็นเสมือนระเบียบวินัยในการควบคุม(disciplination) ร่างกายเป็นเช่นเดียวกับความคิด(idea)ที่เป็นเสมือนกับกระบวนการเชิงสัญญะ(semiotization) ความสอดคล้องกับทฤษฎีทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับวัฒนธรรม ที่สามารถพิจารณาร่างกายของมนุษย์ที่มีลักษณะการสร้างสรรค์ (artefact) ร่างกายแตกต่างกัน เช่นเดียวกับวัตถุที่ถูกสร้างขึ้นอย่างมีทิศทางของเป้าหมายในกิจกรรมของมนุษย์

ลักษณะสองด้านของร่างกายและจิตใจ (The bipolarity of body and Soul ) ได้รับการสนับสนุนและตอกย้ำมาอย่างยาวนานภายใต้คุณค่าของการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษาทางสังคมวัฒนธรรมในมิติของร่างกาย  ดังเช่นในตัวอย่างของการศึกษาวิจัยที่วิธีการศึกษาของผู้วิจัยส่วนใหญ่มองร่างกายเช่นเดียวกับส่วนหนึ่งของธรรมชาติ(the body as a part of nature)และมองว่าร่างกายเป็นลักษณะที่แยกออกจากกระบวนการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นกระบวนทัศน์แบบเดการ์ต(Cartesianism)ที่สร้างความแตกต่างในพรมแดนระหว่างร่างกายและความคิดและสร้างการรับรู้ว่าร่างกายมนุษย์เป็นเช่นเดียวกับเครื่องจักร(the human body as a machine. ในช่วงศตวรรษที่20 ผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับร่างกายเริ่มต้นที่จะพัฒนางานศึกษาเกี่ยวกับร่างกายว่าร่างกายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งสัมพันธ์กับการพัฒนาและเติบโตของทฤษฎีและแนวคิดทางสังคมและวัฒนธรรม ที่มีอิทธิพลอย่างมากในการศึกษาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาได้ช่วยยกระดับของการศึกษาร่างกายในทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จากวิชาที่มีลักษณะชายขอบหรือค่อยได้รับความสนใจในการศึกษา รวมทั้งการอธิบายความรู้เกี่ยวกับร่างกายที่ไปไกลมากกว่าลักษณะทางกายภาพแต่มองว่าร่างกายคือผลกระทบของโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...