วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2567

การเมืองเรื่องร่างกาย (Body politics) โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

ผมต้องให้เวลาอ่านงานมากขึ้น เพื่อเติมความรู้ให้ตัวเอง วันนี้ระหว่างอ่านงานเตรียมสอนสับปดาห์หน้า Body politics การเมืองเรื่องร่างกาย เป็นงานที่ให้นักศึกษาอ่านเปเปอร์ชิ้นที่สองมาคุยและเขียนงานส่ง (ชิ้นแรก Physical, anatomy and culture body ) ผมก็ได้ประโยชน์จากการอ่านและเอามาใช้พัฒนาเอกสารการสอนทางวิชาการของตัวเองด้วย … มิเชลฟูโก้ ใช้คำว่า Biopower หรือชีวะอำนาจ (อำนาจที่เข้าไปแทรกซึมเข้าไปในชีวะร่างกายของมนุษย์) มันคือระบบการครอบงำของการควบคุมทางสังคม… ในสังคมตะวันตกสมัยใหม่ ภายใต้การเสื่อมถอยของกลไกแห่งการควบคุม ดังเช่นพลังอำนาจของทหารหรือกองทัพ( Military Force)และการเพิ่มขึ้นของการควบคุมทางสังคม ที่นำไปสู่การสร้างระเบียบวินัย (self- discipline ) ของปัจเจกบุคคล อำนาจที่ฟูโก้มอง มีความขัดแย้งและแตกต่างจากการมองอำนาจแบบเดิมที่เป็นเรื่องของการครอบงำ แบบบีบบังคับและกดขี่ (Repressive) รวมถึงการครอบครองและผูกขาดอำนาจที่ศูนย์กลาง อำนาจจากบนลนล่าง เพราะอำนาจแบบนี้ทำให้คนกลัว แบะคนต่อต้าน มากกว่าที่จะยอมศิโรราบ ทำอย่างไรจะทำให้อำนาจเข้าไปในวิถีคิด และการปฏิบัติโดยสมัครใจ หรือยินยอมพร้อมใจ ..และคนยอมรับไม่ต่อต้าน เป็นสิ่งที่ท้าทายการปกครองในขุมชนทางชีวะสมัยใหม่ ฟูโก้มองว่าอำนาจไม่ได้มาจากข้างบน (From Above) แต่มาจากข้างล่าง (From Below) อำนาจคือสิ่งที่อยู่ทุกหนแห่ง (Power is everywhere) อำนาจเป็นเรื่องของการผลิต การสร้าง (Producing) มากกว่าการบังคับควบคุม (Repressive) ดังนั้นอำนาจในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องของความรู้ที่ถูกสร้าง ความรู้ที่ทำให้เราเชื่อ ความรู้ที่ทำให้เราคุ้นชิน มองเป็นเรื่องปกติ (Normalization) และทำให้เราไม่ตั้งคำถาม ปฎิบัติจนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา ดังนั้น การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ที่เราเรียกว่า Micro Level of everyday life หรือระดับจุลภาคของชีวิตประจำวัน การทำงานของอำนาจและความรู้ ในแง่ที่ อำนาจคือเรื่องของความสัมพันธ์ ดังนั้นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ(Power Relations) ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากปราศจากการประกอบสร้างสนามของความรู้ (field of knowledge) ตัวอย่างเช่น ในวาทกรรมสุขภาพและความเจ็บป่วย คือสิ่งที่ดึงเอาหมอ และคนไข้มาปฏิสันพันธ์กันในโรงพยาบาล ภายใต้การรักษาโรค สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีความรู้ทางด้านการแพทย์และสถาบันทางวิชาชีพที่ทำหน้าที่รับรองความถูกต้องชอบธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ นั่นคือกระบวนการสร้างสนามของความรู้ภายใต้สิ่งที่เรียกว่าวาทกรรมทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับการแพทย์ (the scientific discourse of medicine) และสถาบันทางสังคม อย่างสภาวิชาขีพ ที่ทำให้ความรู้เป็นทียอมรับอย่างแพร่หลาย ซึ่งฟูโกเรียกว่า Non Discursive practice .. อำนาจที่มีการแพร่กระจาย (dispersed) ไปสู่สังคมซึ่งเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ทางสังคม ที่บ่มเพาะและแฝงฝังอยู่ในเครือข่ายของการปฎิบัติ สถาบันทางสังคม และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องและดำเนินการในระดับชีวิตประจำวันของมนุษย์ นั่นคือสิ่งที่ฟูโกยืนยันของความรู้และอำนาจที่ดำเนินการอยู่บนร่างกายของเรา การควบคุมร่างกายที่นำไปสู่การปฎิบัติและการจัดระเบียบของตัวเอง การควบคุมดูแลตัวเองไม่ใช่เพียงการรับผิดชอบต่อตัวเองเท่านั้นแต่ยังเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าร่างกายไม่ใช่เพียงร่างกายในเชิงกายภาพ(physical body) เท่านั้นแต่ยังเป็นร่างกายในเชิงสังคม(social body) ร่างกายกลายเป็นภาพตัวแทนและสัญลักษณ์ของสังคม ความมั่นคงและความเป็นปึกแผ่นของสังคมด้วย ดังนั้นความเสื่อมของร่างกายจึงสะท้อนความเสื่อมของสังคมด้วยเช่นกัน สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการที่รัฐใช้เทคนิควิธีการการปกครองแบบเดิม ผ่านการใช้อำนาจการสร้างความรู้สึกผิดและการสารภาพบาปของตัวเองจากการไม่รับผิดชอบ และไม่ควบคุมตัวเองของผู้คน การทำให้ผู้คนรู้สึกกลัวต่อความแปดเปื้อน มลทินและบาปของตัวเอง การไม่รับผิดชอบของตัวเองที่กลายเป็นความไม่รับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงส่งผลกระทบต่อสังคมด้วย เช่น ในช่วงสถานการณ์โควิดระบาดระบาดช่วงแรก การไม่สวมหน้ากากอนามัย แล้วติดโควิด หรือแพร่เชื้อให้คนอื่น จนไม่สามารถไปทำงานเพื่อสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจในระบบทุนนิยม การไม่สามารถทำงาน กลายเป็นความบกพร่อง การไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง ไม่ใช่แค่ตัวเองเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่เป็นหน่วยงาน องค์กรที่สังกัด รวมถึงคนที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน…ความรู้สึก ความรับผิดชอบจึงส่งผลต่อการควบคุม จัดการตัวเอง และสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความรู้และอำนาจ แนวคิดของฟูโกเกี่ยวกับเรื่องของอำนาจคือสิ่งที่มีความสำคัญกับการศึกษาที่ว่าด้วยเรื่องของมนุษยวิทยาการแพทย์ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมทางสังคมเกี่ยวกับร่างกายในเชิงกายภาพ(physical body) ดังนั้นแนวคิดในเรื่องของร่างกายชีวะ(biopower) ซึ่งถูกใช้ในการศึกษาในสาขาของมานุษยวิทยาส่าด้วยร่างกาย เนื่องด้วยจุดเน้นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของร่างกาย ที่เป็นแหล่งของอำนาจทั้งการสร้างสรรค์และการควบคุมจัดการ ที่สะท้อนผ่านปฏิบัติการในเชิงร่างกายในชีวิตประจำวันและฮาบิทัสของผู้คนในสังคม ทัศนะในเชิงอำนาจของฟูโก ดำเนินการในลักษณะสองขั้วขั้วแรกคือ human species และขั้วที่สองคือ human body สำหรับ human species มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองทางชีวะของประชากร (bio politics of population) ที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้ในเชิงวิทยาศาสตร์กับการส่งเสริมในเรื่องของการผลิตสมาชิก(reproduction) อัตราการตาย(Mortality) และ ความเจ็บป่วย(morbidity) ซึ่งต่อมาก็เกี่ยวข้องกับการจัดการและการควบคุมร่างกายของปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะการจัดการเชิงพื้นที่เวลาและการปฎิบัติในชีวิตประจำวัน เทคนิควิธีการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกทำให้กลายเป็นสถาบัน(institutionalized) ในโรงเรียน ในห้องขัง ในค่ายทหาร ในโรงพยาบาลและในโรงงาน ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เข้าไปอยู่ภายใน(internalize) ตัวตนของปัจเจกบุคคลที่นำไปสู่พฤติกรรมการควบคุมตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องของเพศวิถีที่เป็นกุญแจสำคัญของอำนาจที่ดำเนินการทั้งสองขั้วที่ควบคุมทั้งประชากรและตัวปัจเจกบุคคล ตัวอย่างงานของฟูโกในเรื่อง The Birth of the clinic ผู้กู้อธิบายเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงโดยกระบวนการจ้างงานที่เชื่อมโยงกับความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ที่ได้ให้อำนาจกับพวกเขาในการนิยามความจริง ความรู้ทางด้านการแพทย์กลายเป็นเครื่องมือและวิธีการสำคัญ ในการสร้างการจำแนกแยกประเภทความเจ็บป่วย และเชื่อมโยงกับอำนาจในการนิยามความปกติ(Normal) และบ่งชี้ความเบี่ยงเบน(Deviant) ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์มีอำนาจที่นำไปสู่การสร้างมาสวัดในเชิงสถิติ มาตรฐานของความมีสุขภาพดีที่ซึ่งทำให้บาดเจ็บบุคคลทั้งหมดกลายเป็นผู้ที่ถูกตัดสิน มีอำนาจในการวินิจฉัย รักษาโรค กระบวนการเหล่านี้คือกระบวนการของการทำให้กลายเป็นปกติ ที่ทำให้เกิดการยอมรับต่อความรู้และอำนาจของผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ นั่นคือกระบวนการทางอำนาจที่สร้างให้บรรทัดฐานให้ปรากฏ เช่นเดียวกับเรื่องของศีลธรรมหรือความถูกต้อง ในขณะเดียวกันก็สร้างความปรารถนาของปัเจจกบุคลที่สอดคล้องกับบรรทัดฐานทางสังคมเหล่านั้นด้วย ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ ยิ่งอ่านมากยิ่งรู้มาก…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...