วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2567

การต่อต้านและการปฏิเสธงานชาติพันธุ์วรรณนา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

ในปี ค.ศ. 1995 Sherry Ortner ได้ตีพิมพ์บทความใน วารสาร CSSH เรื่อง Resistance and the problem of ethnographic refusal เขาได้ทบทวนและสำรวจแนวโน้มทางวิชาการในเชิงการต่อต้านที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ซึ่งนักวิชาการเหล่านี้ส่วนหนึ่งกำลังละทิ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของชุมชนท้องถิ่น การวิเคราะห์เชิงวิพากษ์สิ่งที่อยู่ภายนอกชุมชน อำนาจที่เข้ามาปะทะ ลัทธิจักรวรรดินิยม รัฐและทุนนิยมเศรษฐกิจโลก เป็นต้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากงานศึกษานั้นได้นำไปสู่สิ่งที่ Ortner อ้างว่างานวิขาการเหล่านั้นเป็นงานที่ผิวเผินและไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจทางการเมืองที่มีความซับซ้อน ดังที่เธอบอกว่า “การศึกษาเชิงการต่อต้านนั้นถือว่าเบาบางมากเพราะพวกเขา(ผู้ศึกษา ผู้วิจัย นักวิชาการ) ดูเบาบางในเชิงชาติพันธุ์วิทยา เบาบางในเรื่องการเมืองภายในของกลุ่มที่ถูกครอบงำ เบาบางในเรื่องความร่ำรวยทางวัฒนธรรมของกลุ่มเหล่านั้น, บางเบาในเรื่องความเป็นตัวตน ความตั้งใจ, ความปรารถนา, ความกลัวและความเป็นของผู้กระทำการหรือ ผู้แสดงที่มีส่วนร่วมในละครบทนี้ (1995: 190) การสืบย้อนไปถึงงานทางมานุษยวิทยาของ Talal Asad (1973) หรือ Edward Said (1983) ที่มีการวิจารณ์ลัทธิล่าอาณานิคม การตั้งคำถามเกี่ยวกับงานชาติพันธุ์วรรณนาที่ถูกศึกษาโดยเจ้าอาณานิคม กลายเป็นวิธีการศึกษาทางชาติพันธุ์วรรณนาที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม ที่ทำให้แนวคิดทางวัฒนธรรมกลายเป็นเครื่องมือของผู้ที่มีอำนาจ ไม่ใช่การทำความเข้าใจที่นำไปสู่การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม แต่เป็นการยึดครอง การแย่งชิงทรัพยากร การกดขี่ขูดรีด และการปกครองคนเหล่านั้น ภายใต้การทำงานของเจ้าอาณานิคม ทำให้นักวิชาการเหล่านั้นขาดอิสระภาพเสรีภาพ บางคนเลิกทำงานชาติพันธุ์วรรณนา และมาสอนเรื่องของการต่อต้าน การถอดรื้องานชาติพันธุ์วรรณนา และกระตุ้นให้ผู้ถูกกดขี่ หรือคนใต้อาณานิคม เขียนชาติพันธุ์วรรณนาของตัวเองขึ้นมา ในปัจจุบันทุกคนอาศัยอยู่ในโลกที่พวกเขาถูกบอกว่าตัวพวกเขาเองเป็นใคร รู้สึกอย่างไร และมีความหมายอย่างไร พวกเขาอาศัยอยู่ในโลกที่มีการตีความอยู่แล้ว และถ้าเราจะเข้าใจชีวิตของพวกเขา เราต้องเข้าใจไม่เพียงแต่มุมมองของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังต้องเข้าใจถึงวิธีการที่มุมมองที่พวกเขาถูกประกอบสร้างและปรับปรุงใหม่อย่างต่อเนื่องโดยสัมพันธ์กับวัฒนธรรมใหญ่และภาพของการเป็นตัวแทนบางอย่างที่ถูกสร้างขึ้น หากเริ่มต้นด้วยคำถามเกี่ยวกับ "ความหนา ความลุ่มลึกหรือความรุ่มรวยของข้อมูล" (thickness) ใน “Thick Description” ของ Clifford Geertz ได้นำเสนอตัวอย่างที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับกรณีของการหลิ่วตาและการขยิบตา .. ความแตกต่างอยู่ในความหมายพื้นฐานเชิงสัญลักษณ์และการแสดงออกว่า แท้จริงแล้วคุณมีเศษฝุ่นเข้าตาหรือคุณกำลังต้องการสื่อสารอะไรบางอย่างด้วยการขยิบตา? ความลึกหรือความรุ่มรวยของข้อมูลที่ไม่ได้เป็นเพียงความร่ำรวยของรายละเอียดเท่านั้น (การตีความทั่วไปจากวลีหรือการแสดงออกของเขา ในสำนวนไทยสีคำว่าปากง่าตาขยิบ) แต่ยังเกี่ยวข้องกับความหมาย การให้คุณค่าและความตั้งใจในการกระทำบางสิ่งบางอย่าง ความร่ำรวยหรือลุ่มลึกของข้อมูลดังกล่าวช่วยให้คนเกิดการค้นพบ และทำงานชาติพันธุ์วรรณนาที่ดีนั้นออกมาได้ ปัญหาของงานชาติพันธุ์วรรณนาในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ว่ามันมักจะสั้นและผิวเผินเกินไป แต่คือการไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ความหนาหรือความลึกตั้งแต่แรก เป็นเพียงการเล่าขานหรือทำหน้าที่เสมือนสักขีพยานหรือเอกสารหลักฐาน และส่งข้อความสะท้อนว่า “ฉันไปสถานที่นี้และนี่คือสิ่งที่ฉันเห็นและได้ยินมา” ทั้งที่จริงแล้วจะต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง มีข้อมูลมากพอที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์..ทำให้เห็นความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจที่เกิดขึ้นได้ …. Sherry B. Ortner (1995) ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่างานชาติพันธุ์วรรณนาคือการพยายามทำความเข้าใจโลกแห่งชีวิตของผู้อื่น โดยใช้ตัวตน(self)ของตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในฐานะเครื่องมือแห่งการแสวงหาความรู้...ดังนั้นประสบการณ์ในสนาม การไปอยู่ที่นั่น ไปอยู่กับผู้คน การเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมหรือพิธีกรรม การเข้าไปมีประสบการณ์ทางตรงโดยใช้ร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึก ผ่านการรับรู้ การตีความเพื่อเข้าถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ที่ตนเองลงไปศึกษาให้มากที่สุด.. Ortner (1995) แสดงให้เห็นว่าทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ต้องสร้างขึ้นและก้าวไปไกลกว่าทฤษฎีที่ปฏิบัติมาตั้งแต่ยุคคลาสสิก เพื่อที่จะเข้าใจโลกร่วมสมัยและความเป็นไปได้ในการสร้างมานุษยวิทยาแห่งอัตวิสัย….

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...