วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2567

การศึกษาอาชญากรรมและความรุนแรงของเด็กและเยาวชน ในมุมมองทางมานุษยวิทยา โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

การศึกษาอาชญากรรมและความรุนแรงของเด็กและเยาวชน มีงานวิจัยหลายชิ้น ที่ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่าความยากจน การขาดการศึกษา การว่างงาน ความผิดปกติหรือความแตกแยกขัดแย้งของครอบครัว และการเผชิญกับความรุนแรง มีส่วนทำให้เกิดวัฒนธรรมย่อยแบบนี่นี้ในหมู่เยาวชน ทั้งนี้สถานการณ์เหล่านี้กำลังผลักดันให้วัยรุ่นบางคนแสวงหาความรู้สึกถึงตัวตน ความเป็นเจ้าของและอำนาจจากโครงสร้างของแก๊ง (Gang) ในขณะเดียวกันก็สะท้อนความจริงที่ว่าประเทศชาติก็กำลังล้มเหลวในการจัดหาแนวทางเลือกที่ดีขึ้นให้กับเด็กและเยาวชนของพวกเรา ที่ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวครั้งใหญ่ของสังคมเรา โดยเฉพาะการที่คนหนุ่มสาวมักเผชิญกับความรุนแรงและทำให้ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติที่เด็กและเยาวชนสามารถจะกระทำความรุนแรงแบบนี้ต่อคนอื่นได้ สิ่งนี้น่าจะทำให้สังคมควรจะต้องมีความวิตกกังวลและพิจารณาต่อเรื่องนี้ให้มากขึ้น การวิจัยโดยส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมการเกิดแก๊งของวัยรุ่นนั้น มีผลกระทบทางสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และจิตวิทยาอย่างมีนัยสำคัญ การปรากฏตัวของแก๊งต่างๆมากขึ้น ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ความไม่มั่นคง ความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน อีกทั้งยังขัดขวางการพัฒนาและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนที่ได้รับผลกระทบด้วย เช่นการศึกษา ในบังคลาเทศ อเมริกา เอธิโอเปีย หรือในประเทศไทย การแพร่กระจายของแก๊งเหล่านี้ส่งผลให้อัตราการเกิดอาชญากรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมือง ในสังคมที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ ก่อร่างและผลิตซ้ำความรุนแรง ทั้งการนำเสนอข่าวอาชญากรรมความรุนแรง ภาพยนต์ที่สร้างให้คนกระทำความรุนแรงเป็นฮีโร่ รายการทางช่องยูทูบที่เอาคนที่กระทำความผิดและคนที่ใช้ความรุนแรงมาเป็นไอดอลโดยนำเสนอเรื่ิองราววีรกรรมที่กระทำกับคนอื่น (แทนที่จะสอนบทเรียนและบอกผลกระทบจากการกระทำที่เกิดกับคนรอบข้าง) ล้วนทำให้ความรุนแรงและการก่ออาชญากรรมกลายเป็นเรืองปกติ เป็นการแสดงถึงความเป็นลูกผู้ชาย และเป็นไปในแนวทางของการสร้างชื่อเสียงกับตัวเองเพื่อให้เกิดการจดจำและยอมรับมากกว่า ทั้งที่เป็นพฤติกรรมในด้านลบและส่งผลกระทบต่อผู้อื่น ในสังคมไทยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า คนที่ก่อความรุนแรงและตั้งแก๊งอาจจะไม่ใช่คนในเขตพื้นที่ชายขอบของเมือง คนยากจน คนในสลัม ชุมชนแออัด เหมือนในต่างประเทศที่พูดถึงชุมชมชายขอบของคนดำหรือชุมชนแรงงานข้ามชาติ แต่กลับเป็นลูกของคนมีอำนาจ มีอิทธิพล ไม่ว่าจะเป็น นักการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ข้าราชการในพื้นที่ เป็นต้น ผมจำได้ว่าสมัยเด็กผมอยู่ชนบท มีแค่เด็กบ้านนั้นบ้านนี้ คุ้มนั้นคุ้มนี้ ตีกันบ้างเวลามีงานบุญ มีหมอลำ งานประจำปี แต่ก็มาแข่งขันกีฬาร่วมกัน มาเตะบอลกัน ก็ไม่ได้รุนแรงเหมือนทุกวันนี้ รวมถึงยาเสพติดและสารบางประเภทก็กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นหรือไม่สามารถควบคุมสติและอารมณ์ที่รุนแรงได้…ผมคิดว่าบางเรื่องเราต้องไม่มองแบบโลกสวยจนเกินไป ยอมรับความจริงและหาทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง.. สำหรับคำว่า แก๊งในสายตาของบางคนอาจจะหมายถึงกลุ่มอาชญากรที่ก่ออาชญากรรมเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม สำหรับบางคนอาจมองว่าคำว่าแก๊งเป็นเพียงก๊วนกลุ่มเพื่อนที่ออกไปเที่ยวเพื่อความสนุกสนานเล็กๆ น้อยๆ ในขณะที่เด็กและเยาวชนบางคนถูกกระตุ้นให้เข้าร่วมแก๊งเพื่อความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือเพื่อสร้างคำนิยามของตนเองว่าพวกเขาเป็นใครหรือเป็นพวกเขา และมองคนที่ตรงกันข้ามว่าไม่ใช่พวกหรือเป็นคนอื่น เด็กและเยาวชนเข้าแก๊งเพราะได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อน หรือรุ่นพี่ บางคนเข้าร่วมเพราะแรงกดดันจากคนรอบข้างหรือครอบครัว เนื่องด้วยความจำเป็นในการปกป้องตนเองและครอบครัว หรือเพื่อหาเงิน ในสมาชิกของ 'แก๊งเยาวชน' จะมีผู้นำ รุ่นพี่ รุ่นน้อง และจะต้องตั้งชื่อแก๊ง และสร้างความเป็นผู้นำที่สามารถบ่งชี้ตัวตน ความกล้าหาญและได้รับการยอมรับ มีการสร้างอาณาเขตทางภูมิศาสตร์ของตัวเอง มีการพบปะวางแผนบางอย่างร่วมกัน มีกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงมีการสัญลักษณ์ที่จดจำได้ เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ หรือสร้างเหตุการณ์สำคัญ รวมถึงลักษณะสำคัญที่เป็นเรื่องของกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย แก๊งจะได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อปกป้องพวกเขาและสร้างความรู้สึกของการมีครอบครัว” (Yablonsky, 1997) กล่าวอีกนัยหนึ่งสมาชิกในแก๊งเป็นเหมือนครอบครัวหรือตัวแทนครอบครัว ที่สมาชิกมารวมตัวกันและดูแลซึ่งกันและกัน ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Lingren (1996) แสดงให้เห็นว่า 50 ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกแก๊งมาจากบ้านที่มีพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือบ้านที่ไม่มีพ่อแม่อาศัยอยู่กัน หรือไม่มีเวลาดูแลลูก ดังนั้นหากผู้ปกครองไม่สามารถจัดโครงสร้าง กำกับดูแล ช่วยเหลือ และดูแลเด็กและเยาวชนในช่วงเวลาสำคัญของการพัฒนาวัยรุ่น วัยรุ่น พวกเขาอาจหันมาเข้าร่วมกลุ่มเพื่อสนองความต้องการของตนเอง เมื่อเข้ามาร่วมกลุ่ม พวกเขา(ผู้นำกลุ่ม)จะจัดวางและสร้างโครงสร้างให้กับชีวิตของสมาชิกในแก๊ง เช่น การแต่งรถ การแข่งรถ การไปเที่ยว ไปเสพยา กินเหล้า สูบบุหรี่และอื่นๆ ซึ่งจะมาจากการมั่วสุมพูดคุยกันแบบเห็นหน้าค่าตา การโทรศัพท์คุย การไลน์คุยกันและการเตรียมการที่จะกระทำบางอย่างในแต่ละวัน โดยมองว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มตัวเองที่เด่นชัดและเป็นที่จดจำขึ้นมา รวมทั้งการวางแผนหาเงินจากกิจกรรมบางอย่าง ดังเช่น นักวิชาการที่ศึกษาแก๊งเยาวชนในอเมริกาบอกว่า “พวกเขาหาเงินได้จากอาชญากรรม โดยเฉพาะยาเสพติด และผูกพันกันด้วยความภักดีต่อหัวหน้าแก๊งเผด็จการ พวกเขาทำลายชีวิตและทรัพย์สิน ด้วยความรุนแรงและการฆาตกรรมรวมถึงการโจมตีผู้บริสุทธิ์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่” (Hallsworth, 2011) ปรากฏการณ์ดังกล่าว ถูกวิเคราะห์ว่าเกิดจากเด็กและวัยรุ่นบางคนที่รู้สึกว่าเสียงตัวเองไม่ถูกได้ยิน (จึงใช้เสียงบิดรถให้คนอื่นได้ยินแทน) หรือรู้สึกว่าตนเองอยากมีพลังอำนาจ (โดยการไปรังแกคนที่อ่อนแอกว่าใช้อำนาจความเป็นชายข่มเหงคนอื่น) และสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงได้หันไปหาแก๊งค์เพราะจะทำให้พวกเขามีความรู้สึกว่าตัวเองมีสถานะสูงส่งและจับต้องอำนาจที่มองไม่เห็นนั้นได้ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัญหาและสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ผมว่าในทางวิชาการ นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยารวมถึงนักจิตวิทยาคงต้องมาช่วยอธิบายเรื่องนี้ และหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันครับ …

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...