วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2567

สุวรรณภูมิในมุมมองทางมานุษยวิทยา โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

ผมว่าเวลาเราพูดถึงสุวรรณภูมิ เราต้องไม่ลืมว่าสุวรรณภูมิไม่ใช่แค่พื้นที่ ช่วงเวลา หรือเพียงวัตถุที่สะท้อนร่องรอยของประวัติศาสตร์ เท่านั้น แต่จุดที่เชื่อมโยงสุวรรณภูมิคือวัฒนธรรม ทั้งภาษา ศาสนา ความเชื่อและ วิถีชีวิตของผู้คนที่เชื่อมโยงกับคนกลุ่มอื่นๆ สุวรรณภูมิ เป็นความสัมพันธ์ของพื้นที่ วัตถุ และผู้คน เวลาพํดถึงสุวรรณภูมินอกจากคำถามที่ว่าสุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน หน้าตาสุวรรณภูมิเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับที่อื่นๆที่ร่วมสมัยเดียวกัน หรือประเทศไทยอยู่ส่วนไหนของสุวรรณภูมิ ผมมองว่า สุวรรณภูมิ เปลี่ยนแปลงไปแต่ละยุคสมัย ผู้คนในสุวรรณภูมิมีการปะทะสังสรรค์กันอย่างหลากหลาย ทั้งด้านศาสนาและการค้า ผู้คนในปัจจุบันผู้คนมีสำนึกต่อสุวรรณภูมิอย่างไร ใครคือผู้คนในสุวรรณภูมิ หรือผู้คนในสุวรรณภูมิมีใครบ้าง สุวรรณภูมิ ในปัจจุบันคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีทั้งความแตกต่างหลากหลายของผู้คน มีความขัดแย้ง มีความร่วมมือ มีระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ดินแดนสุวรรณภูมิอาจไม่ใช่ดินแดนของทองคำ แต่อาจเป็นพื้นที่ของความเจริญรุ่งเรืองทสงวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ ข้าว ปลาอาหาร หรือเกลือ เป็นต้น ผมพยามเชื่อมโยงสมมติฐานดังกล่าว กับการศึกษาในปัจจุบัน ของ Charles Hirschman (1984) ได้ให้ข้อสมมติฐานเกี่ยวกับกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงทางชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในมิติเชิงประวัติศาสตร์ ที่เกิดจากการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวกับประเด็นในเชิงเชื้อชาติและชาติพันธุ์ในพื้นที่ทางสังคมที่หลากหลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ในช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ได้เป็น 4 ประเด็นดังนี้ 1. การเกิดขึ้นของสังคมสมัยใหม่ (The Rise of Modern Societies) ที่เชื่อมโยงกับการค้าและการคมนาคมที่มีการแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง ที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการแยกตัวเองไปสู่ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับคนกลุ่มอื่น รวมทั้งการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการเมือง การมีปฏิสัมพันธ์และการติดต่อจะนำไปสู่การกัดกร่อน การทำลายกำแพงทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่ม 2. ชนกลุ่มน้อย (Minority Group) มีความคาดหวังที่จะกลืนกลายกับกลุ่มหลักหรือกลุ่มที่มีอำนาจ หากได้รับผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจสังคมที่จะทำเช่นนั้น โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม ถ้าหากกลุ่มที่มีอำนาจเหนือกว่าไม่สร้างอุปสรรค หรือกำแพงทางสังคม การผสมผสานทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยสามารถดำเนินการได้ 3. อุดมการณ์แบ่งแยกเชื้อชาติและการปฏิบัติ (Racist Ideology and practice) สามารถทำให้เกิดการปะทุโดยความขัดแย้งจากความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจ โดยความเป็นไปได้ของโครงสร้างที่เป็นไปได้คือ 3.1 การขูดรีดแรงงานจากคนงานและชาวไร่นาโดยชนชั้นนำที่มีต่อคนกลุ่มน้อยอื่นๆ 3.2 การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการ และการแบ่งแยก การจัดตำแหน่งแห่งที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ 3.3 แรงเสียดทานที่เกิดขึ้นจากบทบาทของผู้ประกอบการที่เป็นชาติพันธ์หนึ่งในชุมชนที่กว้างใหญ่ที่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความแตกต่างหลากหลาย 3.4 การแข่งขันระหว่างชนชั้นแรงงานสองกลุ่มที่ถูกกำหนดภายใต้ความเป็นชาติพันธุ์ที่ต้องเล่นบทบาทแข่งขันกับคนกลุ่มอื่นๆภายใต้ระบบนายจ้าง 4. มิติในด้านประชากร ทั้งในเรื่องของขนาด ความหนาแน่นของประชากร สัดส่วนเรื่องเพศ การแบ่งเขตพื้นที่ รวมถึงผู้เข้ามาใหม่ สามารถเป็นปัจจัยสำคัญของการชะลอ การเร่งหรือการส่งเสริมให้เกิดการแบ่งแยก ในระหว่างรุ่นที่หนึ่งหรือรุ่นที่สอง ในระยะยาวปัจจัยเหล่านี้จะสัมพันธ์กับการไหลเข้ามาของผู้อพยพอย่างต่อเนื่อง ในยุคก่อนการล่าอาณานิคม (The Precolonial Era) ภูมิศาสตร์ที่น่ากลัวกลายเป็นอุปสรรคที่สำคัญ ที่ยับยั้งการเคลื่อนย้ายอย่างง่ายดายและการขยายตัวทางการเมืองในระดับภูมิภาคที่ทำให้ปราศจากการครอบงำทางอำนาจ พื้นที่มีความหลากหลายทางภาษา และไม่มีกลุ่มทางวัฒนธรรมที่เหนือกว่า รวมทั้งข้อกำหนดในทางนิเวศวิทยาที่มีความสมบูรณ์และความรู้เกี่ยวกับด้านการเกษตร ในช่วงนั้นยังไม่ปรากฏการผสมผสานทางชาติพันธุ์มากนักและยังไม่ปรากฏการร่วมมือกันระหว่างชาติพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงสำคัญในสิ่งที่ Hirschman ชี้ว่าการเติบโต การแพร่ขยายและความเข้มแข็งทางการเมือง วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ มีส่วนสำคัญในการบ่มเพาะและประกอบสร้างให้เกิดการซึมซับวัฒนธรรมของผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์เข้าด้วยกัน ที่ทำให้ประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ขอบนอกเข้ามาติดตามผู้ครอบงำหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง การสูญเสีย ภาษาและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่ไม่น่าพึงปรารถนาสำหรับคนรุ่นแรกๆในการสร้างอัตลักษณ์แบบใหม่ ดังเช่นร่องรอยในกระบวนการของประเทศมาเลเซียที่คนกลุ่มหนึ่งกลายเป็นมุสลิมเพื่อให้ได้รับการเข้าถึงอัตลักษณ์ของมาเลย์ (Malay Identity) ดังกรณีเช่น การตั้งถิ่นฐานของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความสัมพันธ์กับศักยภาพทางการค้าของจีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานของคนจีนในประเทศเหล่านี้ การทำหน้าที่หรือการทำบทบาทการเป็นพ่อค้นของคนจีนยังไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงแรก จนเมื่อมีการปรากฏขึ้นของตลาดโลกและอาณานิคมตะวันตก ชาวจีนจึงเข้ามามีบทบาทในฐานะของพ่อค้าคนกลาง โดยการเข้ามามีบทบาทสำคัญของคนจีนที่มีลักษณะเป็นผู้อพยพ ทำให้เกิดโอกาสในทางเศรษฐกิจที่เป็นไปได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในลักษณะต่างๆ เช่น การทำเหมืองทองคำในบอร์เนียว) การเพาะปลูกข้าวในชวา การปลูกพริกไทยในกัมพูชา และเกิดการจ้างงานเพื่อปลูกไม้ยืนต้นทางเศรษฐกิจ ในสุมาตราและในมาเลเซีย เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...