วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2567

มวยไทยโดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

***จากมวยวัดสู่มวยตู้ จากมวยภูธรสู่เมืองหลวงหรือมวยวัดเจอมวยซุ่ม(มวยดังที่แอบมาชกตามงานวัดเพื่อเอาเงินเดิมพัน)..คือภาพจำของสนามที่เคยทำงานเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีกับท่านอาจารย์สุริยา สมุทคุปติ์และอาจารย์พัฒนา กิติอาษา ..ประสบการณ์ ความทรงจำที่ยังคงงดงามเสมอ จากสนามที่ได้มีโอกาสติดตามตั้งแต่ค่ายมวย ยันเวทีมวย ผมกับพี่ เพื่อน และน้อง ที่เป็นนักวิจัยร่วมกัน (พี่ถา พี่โจอิ เพื่อนต้อมและน้องจิน) พวกเราได้มีโอกาสไปสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนามที่ค่ายมวย ต.ศิลาชัย ที่กองบิน1 และค่ายประปาชนบทที่จอหอ นครราชสีมา ผมได้มีโอกาสไปดูการเปรียบมวยตามหมู่บ้าน ตามงานวัด เปรียบมวยแบบไร้ตาชั่ง ดูตามขนาดร่างกาย ไม่สนใจน้ำหนัก ความหนา มวลกระดูก ..จนถึงเวทีใหญ่ที่ต้องรีดน้ำหนักให้ผ่านตามตาชั่งที่เป็นมาตรฐานในช่วงเช้า นักมวยบางคนต้องเขาตู้อบ ให้เหงื่อออก รีดน้ำหนักให้ผ่านตามน้ำหนักพิกัดรุ่น บางคนต้องถอดเสื้อผ้าอาภรณ์ทุกอย่างออกจนหมด เหลือเพียงร่างกายที่เปล่าเปลือย เพราะไม่งั้นจะเพิ่มน้ำหนักตัวและชั่งไม่ผ่าน นอกจากจะไม่ได้ขี้นชก ต้องแพ้ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นสังเวียน แถมยังต้องโดนค่าปรับด้วย ….หลังจากที่พวกเขาชั่งผ่านจึงจะสามารถทานอาหารได้อย่างเต็มที่เพื่อเตรียมชกในตอนหัวค่ำ รวมถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับเครื่องรางของขลัง การสักยันต์ที่สัมพันธ์กับความแข็งแรงและชัยชนะของนักมวยก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ผมไปสนามที่ค่ายมวยดูบรรยากาศ การซ้อม ทั้งชกลม ต่อยหรือเตะกระสอบ การจับคู่ปล้ำ ทั้งการวิ่งเช้า-เย็น โดยใส่เสื้อหนาๆเพื่อเรียกเหงื่อในรายของนักมวยที่ควบคุมน้ำหนักเพื่อขะได้ขึ้นชก รวมทั้งกินน้ำอุ่น อาบน้ำอุ่น อีกทั้งยังห้ามการมีกิจกรรมทางเพศก่อนขึ้นชก เพราะจำทำให้แรงตก..ที่ผมชอบอย่างหนึ่งคือความอ่อนช้อยงดงามในมวยไทย เพราะมวยคือศิลปะแห่งเรือนร่างด้วย ไม่ใช่แค่ใช้กำลังร่างกายในการปะทะ นักมวยไทยจะต้องฝึกไหว้ครู ด้วยการก้าวย่าง การยกมือ ยกขา ร่ายรำอย่างอ่อนช้อย การฝึกซ้อมจึงเน้นการมองผ่านกระจกในค่ายมวย ดูมุมที่จะโชว์กล้ามเนื้อ พร้อมขับเน้นกล้ามเนื้อให้ชัดเจนด้วยน้ำมันมวย ก่อนที่จะใช้แม่ไม้มวยไทยที่แสดงออกผ่านร่างกายอย่างหนักหน่วงและเข้มแข็งเมื่อเริ่มต้นเสียงระฆัง ภาพของนักมวยชายที่ใช้ร่างกายในการสะสมทุนไต่เต้าเพื่อสร้างเงินและชื่อเสียง โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม ใช้ร่างกายแปลงเป็นทุนเชิงเศรษฐกิจ ในเรื่องค่าตัว ค่าชก เงินเดิมพัน และทุนเชิงสัญลักษณ์เมื่อมีชื่อเสียง ยกระดับ ตัวเองจากนักมวยภูธร สู่มวยในเวทีเมือง หรือมวยตู้(ถ่ายทอดสดทางทีวี) ในขณะเดียวกัน เราไม่สามารถปฏิเสธขีดจำกัดของร่างกาย หรือธรรมชาติของร่างกาย เราได้ เมื่อร่างกายมีอายุไขและเปลี่ยนแปลงสภาพตามเงื่อนไขของเวลาตามวัฏจักร นักมวยอาจเริ่มต้นชกมวยตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 10 ขวบ และเขาสร้างขื่อเสียงเป็นนักมวยเงินแสนตอนอายุ 20 กว่าปี และต่อยมวยมาจนอายุเกิน 30 ปีที่พวกเขากลายเป็นนักมวยแก่ที่พละกำลังน้อยลง เราจึงพบข่าวนักมวยดัง อดีตค่าตัวสูงลิ่ว อดีตแชมป์เวทีต่างๆหลายคนที่ร่วงโรยตามวัย มีความเกี่ยวโยงกับการล้มมวย การค้ายาเสพติด การลักขโมย เป็นต้น ผมชอบคำที่ท่านอาจารย์พัฒนาใช้และเขียนในหนังสือของท่านที่มาจากงานวิจัยเรื่องนี้ว่า Lives of Hunting Dogs ที่คุณสามารถเป็นฮีโร่ ได้รับคำชื่นชมเมื่อคุณชกชนะ ในขณะเดียวกันคุณก็อาจกลายเป็นไอ้ขี้แพ้ พร้อมทั้งเสียงก่นด่า โห่ตะโกนไล่เมื่อลงจากเวทีก็ได้ การศึกษาเมื่อเกือบยี่สิบปี ในยุคนั้นที่พวกเราทำวิจัย ยังไม่มีการเกิดทัวร์นาเม้นต์แบบมวยไทยไฟลท์ มีเพียงการต่อยตามงานวัด ในประเพณีต่างๆของชุมชน และมวยในเวทีราชดำเนิน ลุมพินี อ้อมน้อย หนองแขม และอื่นๆ ผมได้มองเห็นการเชื่อมโยงเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงของวงการมวย จนปัจจุบันที่เราเริ่มเห็นมวยประเภท 3 ยก แทนที่มวย5 ยก ที่ไม่ได้เน้นพละกำลัง แต่ใช้แม่ไม้มวยไทย อย่างเช่นไทยไฟลท์ เราจึงได้เห็นนักมวยรุ่นเก่ากับมาโลดแล่นและชกกับนักมวยวัยหนุ่มชาวต่างชาติ รวมถึงนักมวยหญิง นักมวยเพศทางเลือก ในธุรกิจกีฬาและตลาดเอนเตอร์เทนเม้นต์สปอร์ตที่เติบโตอย่างมากมายในปัจจุบัน ก็เป็นสิ่งที่น่าศึกษายิ่ง เพราะมวยแบบมวย 3 ยก เน้นการต่อสู้แบบรวดเร็ว ใส่กันให้สุด และวาดลวดลายแม่ไม้มวยไทย ที่เราจะเห็นนักมวยหนุ่มชาวต่างชาติที่ยังอ่อนประสบการณ์ มาชกกับนักมวยไทยรุ่นเก๋า ที่อายุมากขึ้นและไม่สามารถต่อยแบบ5 ยกได้เหมือนในอดีต ทำให้เราได้เห็นนักมวยดังในอดีตกลับมาชกมวยในกติกาแบบนี้มากขึ้น มวยไทย จึงสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของพื้นที่และอำนาจ พื้นที่ที่หมายถึงทั้งพื้นที่ในสนามมวย พื้นที่ในวงการมวย พื้นที่ของความสัมพันธ์ รวมถึงพื้นที่ทางร่างกาย พื้นที่จึงมีลักษณะเป็นพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่ของการเป็นสินค้า พื้นที่ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ สิ่งสร้างและนำเสนอทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมแม่ไม้มวยไทย วัฒนธรรมความเป็นชาย รวมถึง พื้นที่แห่งจินตนาการ จินตนาการแห่งพื้นที่และจินตนาการทางร่างกาย เมื่อมองลงไปที่มวยไทย ร่างกายของนักมวยทำให้เราเห็นความจริงและความซับซ้อนบางอย่างภายใต้วาทกรรมและความรู้แห่งยุคสมัย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน สังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มวยไทยก็ยังคงสะท้อน อัตลักษณ์ของผู้ชายไทย ความเป็นชายในสังคมไทยได้เสมอ เพราะอัตลักษณ์ที่ลื่นไหล ยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา นักมวยล้วนผ่านการใช้ร่างกาย การต่อสู้ดิ้นรน การเป็นส่วนหนึ่งของทุน บริโภคนิยม ของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ มวยไม่ใช่แค่กีฬา อาจเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ เป็นเรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องการเมือง เป็นพื้นที่ของอำนาจ ศักดิ์ศรี บารมีของบรรดาค่ายมวย เจ้าของค่าย ผู้จัดการแข่งขัน และการต่อรอง เป็นการเมืองในเชิงร่างกาย...มวยไทยและนักมวยไทยก็ยังคงสะท้อนภาพของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี.. **เห็นหนังสือที่ย้ำเตือนความทรงจำที่เคยทำงานร่วมกันอีกครั้ง ภาพของอาจารย์พี่อู๋ถือสะพายกล้องถ่ายรูป เหน็บสมุดบันทึกสนาม อีกมือถ่ายวีดีโอ อยู่ชิดติดขอบเวทีมวยในทุกครั้ง และภาพอาจารย์สุริยาที่ท่านมักจะถือสมุดโน๊ตสัมภาษณ์คนดูและญาตินักมวยด้วยใบหน้ายิ้มแย้มมีความสุขกับการทำงานสนาม ยังคงชัดเจนเสมอ และท่านทั้งสองเป็นต้นแบบของการทำงานสนามของผม และประสบการณ์ตรงนี้ยังเป็นส่วหนึ่งของการสอนมานุษยวิทยาว่าด้วยร่างกายของผมด้วย..*** ที่มาภาพจาก Wordpress.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...