วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2567

มานุษยวิทยากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ตอนที่ 2) โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

ตอนสอง: ทบทวนงานศึกษาและกรณีศึกษาผ่านเลนส์มานุษยวิทยาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นักมานุษยวิทยามองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศล้วนเกี่ยวข้องกับความไม่เท่าเทียมกันระดับโลกและความหลากหลายของผู้คนและท้องถิ่น รวมทั้งต้องเข้าใจว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ในหลายระดับที่แฝงฝังอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น และมีการแตกแขนงแผ่ขยายออกไปทั่วโลก ศาสตร์ทางมานุษยวิทยาสามารถแสดงให้เห็นว่าเหตุใดการดำเนินการทางการเมืองเพื่อบรรเทาหรือระงับยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงค่อนข้างเงียบเหงาซบเซาและมักไม่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 การอภิปรายเรื่องนี้ได้เปลี่ยนไปสู่การศึกษาวิกฤตการณ์ทางนิเวศ ซึ่งในเวลานั้นมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองและการสร้างมลพิษมากกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ดังที่ Gregory Bateson (1972) ได้ระบุถึงปัจจัย 3 ประการที่ขับเคลื่อนวิกฤตการณ์เหล่านี้ให้เข้มข้นมากขึ้นประกอบด้วย ประการแรก คือผลข้างเคียงที่เกิดจากการทำลายล้างของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น การผลิตยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ประการที่สอง คือ การเพิ่มจำนวนประชากรนำไปสู่การสูญเสียทรัพยากร และประการที่สาม คือชุดของค่านิยมและแนวคิดทางวัฒนธรรมตะวันตกที่ฝังรากลึก ซึ่งทำให้มนุษยชาติมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างสุขภาพกับสิ่งแวดล้อม (สิ่งที่เขาเรียกว่าญาณวิทยาที่มีข้อบกพร่องซึ่งอิงจากลัทธิทวินิยมแบบคาร์ทีเซียนและลัทธิปัจเจกนิยม) Bateson (1972) วิพากษ์วิจารณ์และโต้แย้งแนวคิดที่ว่ามนุษย์ควรพยายามควบคุมสิ่งแวดล้อม แทนที่มนุษย์จะมองว่าตนเองเป็นแต่ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ใหญ่กว่าและควรปกป้องรักษาพวกมัน.. นอกจากนี้เขายังประณามการให้ความสำคัญกับลัทธิปัจเจกบุคคล(Individualism) ความเชื่อเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด รวมทั้งการสันนิษฐานว่าเราอาศัยอยู่ในอาณาบริเวณของการพัฒนาที่ขยายออกไปอย่างไร้ขอบเขต และความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีจะแก้ปัญหาใดๆ ก็ตามที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ได้ สิ่งที่ Bateson เรียกว่า 'ระบบนิเวศน์ที่ดี (healthy ecology) นั้น เปรียบได้กับระบบสภาพแวดล้อมที่ผสมผสานกับอารยธรรมของมนุษย์ในระดับสูง ซึ่งความยืดหยุ่นของอารยธรรมจะสอดคล้องกับความยืดหยุ่นของสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างระบบที่มีความซับซ้อน รวมทั้งมีความยืดหยุ่นและคล้อยตามต่อการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง (Bateson 1972 : 502). ในวิสัยทัศน์นี้คือการแสวงหาความสมดุลโดยที่มนุษยชาติไม่ทำลายปัจจัยเงื่อนไขบางอย่างที่สำคัญเพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองของตนเองแต่เพียงฝ่ายเดียว ต้นกำเนิดและพัฒนาการของมานุษยวิทยาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 แสดงให้เห็นว่าสาขานี้มีความหลากหลายมากขึ้นอย่างไร รวมถึงแนวทางการศึกษาเกี่ยวกับความยืดหยุ่นและการปรับตัวของมนุษย์ เรื่องของพลังงานทดแทน การเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนความรู้ อำนาจและวาทกรรมเกี่ยวกับ อากาศเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน แม้ว่าการศึกษาเหล่านี้จะครอบคลุมและเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่การศึกษาเหล่านี้ยังคงเน้นไปที่ความเป็นจริงของท้องถิ่นผ่านวิธีการเชิงชาติพันธุ์วิทยาที่บ่งชี้ถึงความแปรผันในผลกระทบและการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พวกเขามองเห็นล่วงหน้าว่าปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความแตกต่างกันอย่างมากทั่วโลก ตั้งแต่ออสเตรเลียไปจนถึงเปรู จากกรีนแลนด์ไปจนถึงมองโกเลีย หรือจากอเมริกา จีน จนถึงไทย เป็นต้น มานุษยวิทยาที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นแนวทางใหม่ของการศึกษาโลกาภิวัตน์ ซึ่งเปลี่ยนการวิเคราะห์จากการมุ่งเน้นมิติทางเศรษฐศาสตร์ วัฒนธรรม และการเมือง ไปสู่การฝังตัวทางนิเวศในชีวิตของมนุษย์ (the ecological embeddedness of human life) นักมานุษยวิทยาบางคนเน้นถึงความสำคัญของการศึกษาการตอบสนองในท้องถิ่น ตั้งแต่อาร์กติกไปจนถึงมองโกเลีย (Crate & Nuttall 2009) ที่สะท้อนบทเรียนที่สามารถค้นพบข้อเรียนรู้ได้จากวิถีปฏิบัติของคนพื้นเมืองในการมีส่วนร่วมกับประเด็นสิ่งแวดล้อม เช่น ชาวแอมะซอนหรือชาวเมลานีเซียนที่ทิ้งร่องรอยผลกระทบทางนิเวศให้กับโลกน้อยที่สุดโดยพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศผ่านวัฒนธรรมการเก็บเกี่ยวและวัฒนธรรมการผลิตของพวกเขามากนัก (Hendry 2014) เนื่องจากนักมานุษยวิทยามุ่งเน้นไปที่ความเป็นจริงของท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ การจ้องมองและวิธีการของพวกเขาจึงก่อให้เกิดความหลากหลายมากกว่าคงที่.. โดยแสดงให้เห็นวิธีแก้ปัญหาที่ปรับให้เหมาะสมในแต่ละท้องถิ่นสำหรับปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่จริง แทนที่จะเป็นตัวเลือกมาตรฐานแบบเดียวที่นำมาใช้ราวกับว่าสามารถใช้ได้อย่างเหมาะกับทุกสังคม ตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Amelia Moore ในบาฮามาส (2015) แสดงให้เห็นว่าการพึ่งพาการท่องเที่ยวทางอากาศ(airborne ) และการท่องเที่ยวที่ใช้ทรัพยากรอย่างมากของหมู่เกาะเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจทำให้เกาะปะการังที่อยู่ต่ำเหล่านี้สูญสิ้นไปได้อย่างไร Herta Nöbauer (2018) ดำเนินการวิจัยในสกีรีสอร์ทของออสเตรีย เขาศึกษาวิธีการสร้างลานสกีเทียมเพื่อรอฤดูหนาวที่ไร้หิมะ เธอเน้นย้ำว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฤดูหนาวของออสเตรียคาดการณ์ถึงฤดูหนาวที่อบอุ่นและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการที่หิมะละลายและการท่องเที่ยว Harold Wilhite และ Cecilia Salinas (2019) ได้แสดงให้เห็นว่าผู้คนในป่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนพื้นเมืองตกเป็นเหยื่อของการจัดการดูดซับเอาทรัพยากรออกไปในอาณาเขตของตนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่างไร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคุกคามการดำรงชีวิตของพวกเขาผ่านการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิ และปัญหายังทวีคูณด้วยการตัดไม้ ซึ่งทำให้ผู้คนอพยพเคลื่อนย้ายเพิ่มมากขึ้น หรือการมองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นกระบวนการทางกายภาพที่ได้รับการจัดการผ่านกระบวนการทางการเมืองในระดับชาติและเหนือระดับชาติ และยังตอบสนองในระดับชุมชนท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น Werner Krauss (2015) ได้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการทำความเข้าใจสาขาวิชาต่างๆ ในงานของเขาเกี่ยวกับชาวประมงและนักอนุรักษ์บนชายฝั่งทะเลเหนือของเยอรมนี Krauss ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่ค้นหาสมดุลระหว่างความเป็นกลางและการมีส่วนร่วม และได้พูดคุยกับหน่วยงานทางการเมืองโดยโต้แย้งถึงความจำเป็นในการก้าวไปไกลกว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และเกี่ยวข้องกับมิติของมนุษย์ในการจัดทำนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรืองานของ Noah Walker-Crawford (2021) ติดตามนักเคลื่อนไหวชาวเปรูไปยังเยอรมนีในคดีฟ้องร้องบริษัทพลังงานแห่งหนึ่ง โดยเกี่ยวข้องกับทฤษฎีการเมือง ทุนการศึกษาทางกฎหมาย และการเคลื่อนไหวของ NGO ในการสำรวจทางมานุษยวิทยาของเขา เช่นเดียวกับงานของ David Rojas และ Noor Johnson (2013) เกี่ยวกับการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศที่มีการนำความรู้จากสาขาวิชาวิชาการต่างๆ ตั้งแต่กฎหมายระหว่างประเทศไปจนถึงอุตุนิยมวิทยามาพิจารณา สิ่งนี้ทำให้พวกเขาสามารถแสดงให้เห็นว่าเหตุใดนโยบายสภาพภูมิอากาศจึงต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์ในระดับต่างๆ รวมถึงการมีข้อตกลงระหว่างประเทศที่ลงนามจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ต้องการในโลกทางกายภาพ หรือในบทความเรื่องการเปลี่ยนแปลงของทะเล ชุมชนชาวเกาะและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ Heather Lazrus(2012) ที่ชี้ให้เห็นเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในยุค Anthropocene ในปัจจุบันของชุมชนบนเกาะ ที่เกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นทันทีและเกิดขึ้นจริงในพื้นที่ที่เปราะบางต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ชุมชนบนเกาะเหล่านี้ แม้จะดูเหมือนโดดเดี่ยวและยากจน แต่มักจะเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งทั่วโลก ในรูปแบบที่นอกเหนือไปจากคำอธิบายง่ายๆ ของ "ความยากจน" และ "ความโดดเดี่ยว" (Lazrus 2012:286) เกาะต่างๆ เป็นที่อยู่อาศัยของประชากร1ใน10 ของโลก และประชากรส่วนใหญ่ของโลกมีแนวโน้มที่จะกระจุกตัวอยู่ตามชายฝั่ง ดังนั้นทั้งสองพื่นที่ (ชายฝั่งและเกาะ) จึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงคล้ายกันมาก หมู่เกาะต่างๆ มีแนวโน้มที่จะถูกมองว่าเป็น “บารอมิเตอร์หรือเครื่องวัดของการเปลี่ยนแปลง” (barometers of change) ของโลก เนื่องจากมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Lazrus 2012:287) หมู่เกาะไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่ที่มีพลวัตทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยพืชและสัตว์หลากหลายสายพันธุ์เท่านั้น แต่ยังมีศักยภาพที่จะเป็นพื้นที่ที่มีความสนใจทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ Robert Dewar และ Alison Richard (2012)ได้เขียนบทความเรื่องมาดากัสการ์: ประวัติศาสตร์การมาถึง สิ่งที่เกิดขึ้น และที่จะเกิดขึ้นต่อไป (A History of Arrivals, What Happened, and Will Happen Next ) โดยชี้ให้เห็นว่า มาดากัสการ์เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการบรรจบกันทางสังคมการเมืองและระบบนิเวศ และควรได้รับการสำรวจและศึกษาเรื่องนี้มากขึ้น.. มาดากัสการ์มีระบบนิเวศวิทยาของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายอย่างยิ่ง ทั้งภูมิประเทศ สภาพแวดล้อม และสภาพอากาศของเกาะ เนื่องจากความหลากหลายทางกายภาพชีวภาพ และความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม นิเวศวิทยาของมนุษย์ในมาดากัสการ์จึงมีทั้งประวัติศาสตร์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ ชุมขน Mikea ได้อาหารส่วนใหญ่มาจากการหาอาหารในป่าแห้ง ที่อยู่นอกเขตเมืองส่วนใหญ่แล้วการล่าสัตว์และการเก็บพืชป่าเป็นเรื่องปกติ ในขณะที่ภูมิประเทศตามแนวชายฝั่งตะวันตก การตกปลาและการทำประมง ถือเป็นผลประโยขน์ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการส่งเสริมการทำฟาร์มของเกษตรกรในมาดากัสการ์มีการเพาะปลูกพืชพันธุ์และการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์ที่หลากหลายให้เลือกทำ ตัวอย่างเช่น ข้าวโพด มันเทศ กาแฟ โกโก้ พริกไทย กานพลู วัว ไก่ แกะ แพะ หมู และไก่งวง (Dewar และ Richard 2012:505) ทั่วทั้งเกาะ ข้าวเป็นพืชที่สำคัญและวัวเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจมากที่สุด และต่อมาได้รับการปรับให้เข้ากับการเจริญเติบโตภายใต้สภาพท้องถิ่นของขุมชนปากน้ำขนาดเล็กของมาดากัสการ์ การเลี้ยงโคกึ่งเร่ร่อนเกิดขึ้นในพื้นที่แห้งแล้งของมาดากัสการ์ ไม่ว่าสิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศ สังคม หรือเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร แต่มาดากัสการ์ (รวมถึงเกาะอื่นๆ) ก็ทำหน้าที่เป็นเสมือนพิภพเล็กๆ ในท้องถิ่นที่ไม่อาจปฏิเสธผลกระทบสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องสำหรับวิชาการทางมานุษยวิทยาในการเชื่อมโยงระดับโลก (ธรรมชาติ กับสังคมวัฒนธรรม) ที่สามารถจะแสดงให้เห็นปัญหาท้องถิ่นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลกได้ การศึกษาทางมานุษยวิทยา ที่มองแบบองค์รวมและเชื่อมโยงเกี่ยวปรากฏการณ์และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผู้คน อย่างเช่น ระยะทางของการเดินทางหาแหล่งน้ำแหล่งอาหารให้กับสัตว์ของกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนที่ไกลขึ้ย การต้องการเหล่งน้ำ แหล่งอาหาร กระตุ้นให้เกิดการรสร้างเขื่อน การใช้ปุ๋ยและสารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิต หรือการเกิดขึ้นของโรคหรือเชื้อบางอย่าง เช่นไวรัสหรือแบคทีเรียที่สัมพันธ์กับสภาพอากาศ และการผลิตในทางปศุสัตว์ ที่มีการแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่สัตว์และคน ส่งผลต่อความเจ็บป่วย เกิดภาวะดื้อยา รวมถึงการแพร่กระจายของเชื้อโรคในสภาพแวดล้อมที่มากขึ้น ในขณะเดียวกันเราจะเห็นงานศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกับการปรับตัวของผู้คนและองค์กรในการสร้างความยั่งยืนที่เพิ่มมากขึ้นด้วย อาทิเช่น งานของ Bahar Urhan & Sibel Hostut (2023) อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้มีความจำเป็นต้องมีการตลาดสีเขียวเพื่อเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในปัจจุบันต่อการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงสัมพันธ์กับการตลาด Fuentes (2012) ได้พูดถึงการปลดปล่อยวาทกรรม โดยเฉพาะวาทกรรมทางมานุษยวิทยาและวาทกรรมทางวิทยาศาสตร์ จากการแบ่งขั้วของธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่จะทำให้ผู้คนเข้าใจความสัมพันธ์ของพวกเขาในลำดับของไพรเมตอย่างถ่องแท้ และยังรวมไปถึงตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขาภายในสิ่งแวดล้อม ด้วยความสามารถของมนุษย์ในการสร้างพื้นที่เมืองอันกว้างใหญ่ การจัดวางระบบการขนส่ง และการตัดไม้ทำลายป่า ล้วนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นที่พวกเขาอาศัยอยู่ และส่งผลให้มนุษย์สร้างรัศมีแห่งการครอบงำธรรมชาติ ดังที่ Fuentes กล่าว “ในระดับโลก มนุษย์เป็นวิศวกรของระบบนิเวศในระดับที่ใหญ่ที่สุด และระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้รับการสืบทอดไม่เพียงแต่โดยมนุษย์รุ่นต่อๆ ไปเท่านั้น แต่ยังสืบทอดโดยสายพันธุ์ที่เห็นอกเห็นใจทุกสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกันด้วย การแสวงหาวิธีที่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆจะอยู่ร่วมกัน (แม้จะมีความขัดแย้งบ้าง) ภายในระบบนิเวศของมนุษย์ ที่สร้างการรับรู้ การมีปฏิสัมพันธ์ การเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ และแนวทางในอนาคตของผู้อยู่อาศัย” (Fuentes 2012:110) โดยสรุป Fuentes ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ได้ครอบงำระบบนิเวศในระดับโลก อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อประชากรมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพืชและสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ รวมถึงระบบนิเวศทั้งหมดด้วย ดังนั้นมีเพียงความเข้าใจในความสัมพันธ์ทางชีวภาพระหว่างมนุษย์/พืช/สัตว์/ระบบนิเวศเท่านั้นที่จะทำให้ผู้คนจะตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมในระดับโลกและระดับท้องถิ่น นักมานุษยวิทยาจึงแสดงให้เห็นความรู้ 3 ประเภทที่มานุษยวิทยาสามารถมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ประกอบด้วย 1.ข้อมูลเชิงลึกด้านชาติพันธุ์วิทยา 2. มุมมองทางประวัติศาสตร์ และ3.มุมมองแบบองค์รวมของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งหมายความว่าประสบการณ์ชีวิตของผู้คนทั้งหมดจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังและรอบด้าน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีวิธีแก้ปัญหาทางเทคนิคใดที่ได้ผล เว้นแต่จะถูกรวมเข้ากับโลกที่ผู้คนใช้ชีวิตแบบอัตวิสัย (Barnes et al. 2013) นักมานุษยวิทยาอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะสร้างความแตกต่างในฐานะล่าม นักแปล และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโลกแห่งชีวิตในท้องถิ่นนั้นๆ และบางครั้งสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบหรือแม้แต่เสนอการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีรากฐานที่สำคัญในมานุษยวิทยาสิ่งแวดล้อมและมานุษยวิทยาด้านพลังงาน แนวทางทางทฤษฎีนี้ได้รับการพัฒนาส่วนใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ย้อนกลับไปถึงศตวรรษที่ 19 และการศึกษาในช่วงแรกๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมทางวัตถุ เทคโนโลยี และการปรับตัวทางนิเวศน์ อันที่จริงแล้ว นักมานุษยวิทยาผู้บุกเบิก ฟรานซ์ โบอาส (Franz Boas) มีความสนใจในการดำรงชีพของชาวอาร์กติกภายใต้สภาพอากาศที่รุนแรงอยู่แล้ว หลังสงครามโลกครั้งที่สอง Julian Steward (1955) เป็นผู้สนับสนุนการศึกษา "นิเวศวิทยาของมนุษย์" โดยมุ่งเน้นไปที่ระบบสังคมและการเมืองจากมุมมองแบบสสารวัตถุนิยม(materialist perspective )ซึ่งครอบคลุมทั้งเทคโนโลยีและนิเวศวิทยา Leslie White (1949) ศึกษาเทคโนโลยีและการใช้พลังงานจากมุมมองของนักวิวัฒนาการทางสังคม โดยให้เหตุผลว่าวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมสามารถวัดได้จากปริมาณพลังงานที่สังคมกำหนดที่สามารถนำใช้ประโยชน์ได้ กลุ่มคนที่ก้าวหน้าทางวัฒนธรรมมากที่สุดจึงเป็นกลุ่มที่ใช้พลังงานต่อหัวมากที่สุด แม้ว่าในช่วงต่อมาทฤษฎีของไวท์ก็ล้าสมัยไปในแวดวงวิชาการ เนื่องจากความเสื่อมถอยของความคิดเชิงวิวัฒนาการ อย่างไรก็ตาม การเน้นไปที่พลังงานและนิเวศวิทยาในช่วงแรกของเขาในฐานะรากฐานของชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมยังคงมีความเกี่ยวข้องกับมานุษยวิทยาในปัจจุบันของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จุดเริ่มต้นของการมีส่วนร่วมในปัจจุบันของวิขาการด้านมานุษยวิทยากับสภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วง2-3 ทศวรรษที่ผ่านมามีลักษณะเฉพาะจากการหมกมุ่นอยู่กับการศึกษาเชิงสังเกตการณ์ (Baer & Singer, 2014; Crate, 2011; Crate & Nuttal, 2009) จุดสนใจหลักของการศึกษาแบบสังเกตการณ์คือการทำความเข้าใจว่าผู้คนทั่วโลกมีการสังเกตอย่างไร รวมถึงรับรู้ การมีประสบการณ์ และการให้ความหมาย รวมถึงการปรับตัว หรือการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและรูปแบบสภาพอากาศ (Barnes et al., 2013, p. 541; S. J. Fiske, 2014; Peterson & Broad, 2009) แนวคิดเรื่องสภาพภูมิอากาศไม่ได้ถูกสร้างขึ้นพร้อมกับการกำเนิดของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แต่มีบทบาทสำคัญในวาทกรรมเกี่ยวกับอารยธรรมของมนุษย์มาเป็นเวลานับพันปี (Barnes & Dove, 2015; Dove, 2014,p. 1–2; Glacken, 1967; Hulme, 2015a , 2015b) เงื่อนไขหลายประการทำให้เกิดแนวคิดร่วมสมัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับนานาชาติ ในขณะที่ความกังวลของสาธารณชนเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในทศวรรษปี 1960 และ 1970 แนวคิดเรื่องสภาพภูมิอากาศโลกได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างกว้างขวางในฐานะเป้าหมายเชิงนโยบายสาธารณะที่ต้องดำเนินการแก้ไขร่วมกัน เช่น ปัญหาความแห้งแล้งอย่างรุนแรงของสหรัฐฯ ในช่วงปีค.ศ. 1988 ซึ่งได้ถูกทำให้เป็นสำนวนหรือพันธสัญญาร่วมกันที่บ่งชี้ความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภาระกิจนี้ ที่เป็นเสมือน "โลกใบเดียว" (one-world) หรือโลกใบเดียวกัน (Rayner, 1994) เนื่องจากพื้นฐานขององค์ความรู้ใหม่เอื้อต่อการ "คิดเชื่อมโยงกับโลก" (thinking globally) ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Edwards, 2010) “การเมืองของโลก”( politics of the earth) (Dryzek, 2012) ซึ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับการยอมรับทั่วโลกในช่วงของการประชุมสุดยอดโลกปี 1992 (UN, 1992) แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกได้รับอิทธิพลทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น โดยมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของโลกทางเหนือและทางใต้ ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ในขณะที่โลกใต้กลายเป็น “จุดยืนแห่งความห่วงใยทางศีลธรรมของตะวันตก” อีกครั้งนับตั้งแต่วาทกรรมการพัฒนาในอดีต (Daniels & Endfield, 2009, อ้างใน Cosgrove, 2008) การศึกษามานุษยวิทยาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จึงเริ่มต้นด้วยการศึกษาเกี่ยวกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว และการบรรเทาปัญหาวิกฤตการณ์ โดยการสำรวจแนวคิดพื้นฐานและการปฏิบัติเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน เช่น แนวคิดเกี่ยวกับความเสี่ยง(Risk)และความไม่แน่นอน(uncertainty)ที่เป็นศูนย์กลางของการถกเถียงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากมุมมองทางสังคมศาสตร์ ประสบการณ์ในท้องถิ่น และชุมชนวิทยาศาสตร์สภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบการเมืองของความไม่เท่าเทียมกัน ความเปราะบาง การอพยพ เพศสภาวะและการบริโภค ผ่านกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาทิเช่น ตลาดคาร์บอน การเกษตรกรรม ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น การขาดแคลนน้ำ และการใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมักเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น มานุษยวิทยาจะยังคงเป็นผู้นำในด้านการวิจัยความเปราะบางและการปรับตัวต่อไปอย่างไม่ต้องสงสัย (Ford 2009, Brugger & Crimmins 2013, Fiske et al. 2018) จุดเน้นการวิจัยในอนาคตมีแนวโน้มที่จะรวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์คำศัพท์เฉพาะทาง เช่น ความเปราะบาง ความสามารถในการปรับตัว และความสามารถในการฟื้นตัว และแนวคิดที่เกี่ยงข้องที่สืบเนื่องจากปรากฏการณ์ดังกล่าว เช่น ผู้ลี้ภัยสภาพภูมิอากาศ( climate refugees) และความมั่นคงของสภาพภูมิอากาศ( climate security) (Cons 2018, Thomas & Warner 2019) ความสนใจที่เพิ่มขึ้นต่อธรรมชาติทางการเมืองว่าด้วยการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ และวิธีที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างอนาคตที่ยุติธรรมสำหรับทั้งมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (พืช สัตว์) ดังนั้น การทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตต้องอาศัยความรู้แบบองค์รวมเกี่ยวกับวิธีการทำงานของโลกในฐานะระบบ เพื่อทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สำหรับนักมานุษยวิทยาชี่้ว่าอันตรายจากสภาพภูมิอากาศกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางวัฒนธรรมในระดับเวลาและเชิงพื้นที่ที่แตกต่างกันได้อย่างไร (Crook & Rudiak-Gould 2018) อ้างอิง References Baer, H. 2012. Global capitalism and climate change: the need for an alternative world system. Lanham, Md.: AltaMira Press. ——— & M. Singer 2018. The anthropology of climate change: an Integrated critical perspective. 2nd ed. London: Routledge. Barnes, J. 2014. Cultivating the Nile: the everyday politics of water in Egypt. Durham, N.C.: Duke University Press. ——— et al. 2013. Contribution of anthropology to the study of climate change. Nature Climate Change 3, 541-4. Bateson, G. 1972. Steps to an ecology of mind. New York: Chandler. Bauman, Z. 2000. Liquid modernity. Cambridge: Polity. Beck, U. 2009. World at risk. Cambridge: Polity. Connor, L. 2016. Climate change and anthropos: planet, people and places. London: Routledge. Crate, S.A. 2008. Gone the bull of winter? Grappling with the cultural implications of and anthropology’s role(s) in global climate change. Current Anthropology 49, 569-85. Dove, M.R. (ed.) 2013. The anthropology of climate change: an historical reader. Chichester: John Wiley & Sons. Eriksen, T.H. 2016. Overheating: an anthropology of accelerated change. London: Pluto. Fagan, B. 1999. Floods, famines, and emperors: El Niño and the fate of civilization. Cambridge: University Press. Fiske, S.J., S.A. Crate, C.L. Crumley, K. Galvin, H. Lazrus, L. Lucero, A. Oliver-Smith et al. 2014. Changing the atmosphere: anthropology and climate change. Final report of the AAA Global Climate Change Task Force. Arlington, Va.: American Anthropological Association. Gardner, K. & D. Lewis 2015. The anthropology of development. London: Pluto. Haraway, D. 2016. Staying with the trouble: making kin in the Chthulucene. Durham, N.C.: Duke University Press. Hendry, J. 2014. Science and sustainability: learning from indigenous wisdom. London: Palgrave Macmillan. Hornborg, A. 2019. Nature, society, and justice in the Anthropocene: unraveling the money–technology–energy complex. Cambridge: Cambridge University Press. Howe, C. 2019. Ecologics: wind and power in the Anthropocene. Durham, N.C.: Duke University Press. Latour, B. 2017. Down to earth: politics in the new climatic regime. Cambridge: Polity. Steward, J. 1955. Theory of culture change. Urbana: University of Illinois Press. Strauss, S., S. Rupp & T. Love (eds) 2013. Cultures of energy: power, practices, technologies. Walnut Creek, Calif.: Left Coast Press. White, L. 1949. The science of culture: a study of man and civilization. New York: Grove Press.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...