วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ภาพสนามเมืองจำปาสัก สปป.ลาว ความทรงจำที่มีค่า โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 ปี2559 ผมเดินทางไป สปป.ลาว ข้ามจากด่านช่องเม็กเข้าสู่เขตปากเซ ไปสู่เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ด้วยอากาศที่หนาวเย็นทำให้ที่นี่เป็นเมืองแห่งกาแฟ ที่รวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมประเพณี เส้นทางที่ยาวไกล ทุรกันดาร สุขศาลาหลังเล็ก ชีวิตของชนเผ่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ทั้งละเว็นหรือยะรุ ยะเหิน ตะโอย ผู้ไท ที่มีการผสมผสานแต่งงานกัน รวมถึงอิทธิพลทางศาสนาที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อในการดำรงชีวิต สนามหนึ่งที่ท้าทายทุกอย่าง..

ประสบการณ์การทำงานภาคสนามชาติพันธุ์กับประเด็น สุขภาพและอนามัยเจริญพันธุ์....ผมไปอยู่ที่บ้านห้วยเต่าเป็นบ้าน ที่อยู่ในเขตเมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มบ้านที่3 โดยกลุ่มบ้านที่3 มีทั้งหมด 8 หมู่บ้าน ประกอบด้วยบ้านคดใหญ่ บ้านห้วยเต่า บ้านหนองบอน บ้านหนองกา บ้านใหม่ไชยสมบูรณ์ บ้านพูดินอ่อน บ้านผักกูด โดยลักษณะของเส้นทางคมนาคมสู่หมู่บ้านเป็นสวนและไร่สลับกับบ้านเรือน โดยพืชส่วนใหญ่จะปลูกกาแฟเป็นหลัก นอกนั้นก็จะมีการปลูกมันสำปะหลังหรือข้าวโพดบ้างแต่เป็นส่วนน้อย ....
เส้นทางการเดินทางไปมาระหว่างหมู่บ้านค่อนข้างยากลำบาก เพราะถนนเป็นดินสลับหินภูเขา หินลูกรังสีแดง บางแห่งถูกฝนมีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อ และมีลักษณะเป็นเนินขึ้นลงสูงต่ำตลอดเส้นทาง บางแห่งค่อนข้างสูงชันและคดเคี้ยวมาก ทำให้ในฤดูฝนเข้าหมู่บ้านได้ค่อนข้างลำบาก ในชุมชนต่างๆ จะมีวัดประจำชุมชน บางชุมชนจะมีโรงเรียนประถมศึกษาตั้งอยู่ เช่น โรงเรียนบ้านหนองบอน โรงเรียนบ้านพูดินอ่อน เป็นต้น...
ในอดีตบ้านห้วยเต่า มีลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาและป่าไม้หนาแน่น มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขนาดสองสามคนโอบขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากเช่น สัก เต็ง รัง ประดู่และจำปาลาว รวมทั้งมีสัตว์ป่าจำพวก ช้าง หมี หมูป่า เสือ มีการใช้ช้างและม้า เป็นพาหนะในการเดินทาง คนที่เข้ามาอยู่ช่วงแรกคือชนเผ่าละเว็น เข้ามาอยู่ประมาณปีค.ศ. 1923-1924 ช่วงนั้นมีประมาณแค่ 20-30 ครัวเรือน ก่อนที่จะมีการอพยพโยกย้ายเข้ามาโดยกลุ่มลาวลุ่มและชาติพันธุ์ต่างๆ มีการผสมผสานแต่งงานกันระหว่างกลุ่มต่างๆ การถือครองที่ดินในสมัยก่อนจะใช้การหักร้างถางพง ตามแต่ว่าใครจะมีความสามารถในการจับจองที่ดินได้มากน้อยแตกต่างกัน ....
ประวัติศาสตร์ของชุมชนที่นี่สัมพันธ์และเชื่อมโยงกับคนภายนอก สงคราม อุดมการณ์ของลัทธิคอมมิวนิสต์ ประชาธิปไตย การช่วยเหลือของจีนและเวียดนาม รวมทั้งการเข้ามาของทหารต่างชาติ มีความสัมพันธ์กับการเติบโตของธุรกิจที่นี่ เช่น การปลูกพืชเศรษฐกิจโดยเฉพาะกาแฟที่ถูกนำมาเผยแพร่โดยคนอเมริกันในช่วงสงคราม ทดแทนการปลูกข้าวไร่เพื่อบริโภคของคนบนที่สูงที่กลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจ แหล่งปลูกกาแฟชั้นดีระดับโลก เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นเขาและอยู่ในเขตที่ราบโบโลเวน (ความหมายเดิมคือพื้นที่ที่มีคนเผ่าละเวนอาศัยอยู่หรือคนลาวเรียกว่าบ่อนละเวน)ที่มีอากาศหนาวเย็นและฝนตกชุก ทำให้เหมาะแก่การผลิตกาแฟชั้นดี ระหว่างอยู่ในชุมชนจะเห็นลาวลุ่มและกลุ่มชาติพันธุ์ขมุเข้ามาทำเป็นแรงงานรับจ้างในชุมชนกันมาก ซึ่งจะรับงานเป็นช่วง เช่นดายหญ้า ใส่ปุ๋ย เก็บเม็ดกาแฟ เป็นต้น.....
ชุมชนห้วยเต่าจะประกอบด้วย กลุ่มชาติพันธุ์ลาวลุ่ม ที่อพยพมาจากทางลุ่ม อาทิเช่น บ้านบาเจียง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท ในขณะพื้นที่เมืองปากช่อง กลุ่มชนเผ่าดั้งเดิมก็คือละเวนหรือยะรุซึ่งถือเป็นชนกลุ่มใหญ่สุด นอกจากนี้ก็มีชนเผ่าอ๊องที่มีลักษณะคล้ายกลุ่มมลาบรีหรือผีตองเหลือง และชนเผ่าตะโอ๊ย ชนเผ่าเหล่านี้แต่เดิมมีการนับถือผี แต่ในปัจจุบันมีการหันมานับถือพุทธศาสนาและศาสนาคริสต์กันมากขึ้น มีเพียงคนรุ่นพ่อแม่ที่อายุเกิน 60 ปีบางคนที่ยังรักษาฮีตคองเดิมคือการนับถือผี ไม่เข้าวัด ยังคงมีการสังเวยเซ่นสรวงผีด้วยวัว ควาย หมูหรือไก่ต่อสิ่งที่เหนือธรรมชาติ รวมทั้งมีการแต่งงานระหว่างกลุ่มชนเผ่า ทำให้ความเชื่อดั้งเดิมลดน้อยลงไปจากในอดีต ....
****ประสบการณ์ดีที่ครั้งหนึ่งได้ไปใช้ชีวิต เรียนรู้วัฒนธรรมในช่วงเดือนนี้เมื่อหลายปีที่แล้ว และไปอยู่หลายเดือน.. ทำให้อยากเขียนเรื่องชุมชนนี้เพื่อย้ำเตือนความทรงจำกับงานวิจัยดีๆที่ได้รับโอกาสให้ท้าทายทำงานสนามที่ยากมากในการเก็บข้อมูลในสปป.ลาว....มีโอกาสอยากไปอีกสักครั้ง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...