วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ประชาชนธรรมดา : ความไร้อำนาจที่มีอำนาจในการจัดการกับปัญหาโควิด โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 *ประชาชนธรรมดา : ความไร้อำนาจที่มีอำนาจในการจัดการกับปัญหาโควิด***

คำถามสำคัญคือ สถานการณ์โควิดสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมือง(Geopolitics) ของอำนาจและความรู้เกี่ยวข้องกับโรค coronavirus 2019 (COVID-19) อย่างไร การถือกำเนิดของโควิด-19 ได้ยกระดับของการแข่งขันด้านอำนาจและความรู้ทั่วทุกพื้นที่ของโลกจากโลกทางเหนือสู่โลกทางใต้อย่างไร...
ภายในเวลาไม่กี่ปี ประเด็น ของCOVID-19 ได้กลายเป็นหัวข้อที่มีการเขียนถึงมากที่สุดทั่วโลก ทั้งประเด็นเฉพาะโควิด-19 การถือกำเนิดของ COVID-19 ประสบการณ์ส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และผู้ไม่ป่วยที่ใช้ชีวิตในสถานการณ์โควิด อีกทั้งยังได้แนะนำเกี่ยวกับคำศัพท์ใหม่เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆที่เกิดขึ้นในวิกฤตการณ์ดังกล่าว เช่น "การล็อกดาวน์ระดับชาติ" และ "การเว้นระยะห่างทางสังคม" อาจกล่าวได้ว่าโควิด-19 ได้เข้าโจมตีจุดศูนย์กลางของการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่พัวพันกับสถานการณ์ที่เลวร้าย อันส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตส่วนตัวและในที่สาธารณะ
โลกสมัยใหม่ที่เรารู้จักกลับหัวกลับหางจากเมื่อก่อนที่เราพูดถึงโลกาภิวัตน์หรือการข้ามพรมแดน แต่ภาวะวิกฤตในปัจจุบัน กลับทำให้ต้องมีการปิดพรมแดนและการล็อกดาวน์พื้นที่ในระดับท้องถิ่นและประเทศ ที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองระดับโลกที่เร่งด่วนที่สุดในการควบคุมการแพร่กระจายของการติดเชื้อไวรัสในมนุษย์ และภายในไม่กี่ปีโควิด-19 ได้เดินทางไปตามเส้นทางทางอากาศและทางทะเลทั่วโลกระหว่างจีน สู่ยุโรปและเข้าสู่สหรัฐอเมริกาและกระจายไปยังส่วนที่เหลือของโลกในเอเชีย แอฟริกา มากกว่าเหตุการณ์การระบาดครั้งใดในโลกที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้า
การระบาดของโควิด-19 ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงขอบเขตของความสัมพันธ์ของมนุษย์ทั่วโลก และผลักดันให้เห็นถึงความจำเป็นในการค้นหาวิธีการอยู่ร่วมกันอย่างมีมนุษยธรรมและแบ่งปันกันในพื้นที่บนโลกนี้ระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
ในขณะเดียวกัน เราก็จะเห็นอำนาจทางการเมืองที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤตนี้ ตัวอย่างเช่น ผู้นำอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองเกี่ยวกับไวรัส ซึ่งโจมตีเมืองอู่ฮั่นของจีนเป็นอันดับแรก ที่ถูกเรียกว่า "ไวรัสจีน" ที่ได้เข้าไปทำลายล้างชีวิตของผู้คนในสหรัฐอเมริกามากกว่าในจีน คำพูดดังกล่าวสะท้อนถึงการไม่เคารพต่อพรมแดนและอัตลักษณ์ของชาติที่ไม่ใช่ตะวันตก
อีกทั้ง การตัดสินใจของทรัมป์ในการตัดเงินทุนของสหรัฐสำหรับองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยให้เห็นถึงการเข้ามาใช้ระบบเศรษฐกิจการเมืองอยู่เหนือสถาบันพหุภาคี คำถามที่สำคัญคือ WHO สามารถต่อต้านต่อรองกับแนวปฏิบัติทางการเมืองแบบจักรวรรดินิยมและทุนนิยมแบบนี้ได้หรือไม่ และการเมืองที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจของสุขภาพ การดูแลสุขภาพทั่วโลกสามารถแยกตัวเองออกจากการเมืองแบบทุนนิยมหรือเสรีนิยมใหม่ที่สร้างกำไรจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้หรือไม่
วิกฤตการณ์ครั้งนี้อยู่นอกเหนือการแพร่ระบาดของโรค กล่าวคือ โรคระบาดที่กลืนกินไปทั่วโลก ได้ถูกบ่มเพาะและพัฒนาเติบโตขึ้นจนกลายเป็นประเด็นวิกฤตทางอารยธรรมของโลกด้วย... นอกจากนี้ยังเป็นวิกฤตของความทันสมัย ซึ่งแท้จริงแล้ว มันได้เปิดเผยให้เห็นข้อจำกัดของสิ่งที่เรียกว่าความทันสมัย ​​ซึ่งสร้างปัญหาสมัยใหม่ให้เกิดขึ้นมากมาย เช่นความขัดแย้งใหม่ สงครามใหม่ โรคระบาดใหม่และอื่นๆ ที่ไม่สามารถสร้างวิธีแก้ปัญหาที่ทันสมัยได้เลย ​​(ดูได้จากงานของ Escobar, 2004)
การตั้งชื่อวิกฤตในปัจจุบันว่าเป็นวิกฤตของทุนนิยมคือการลดทอนให้เหลือแง่มุมหนึ่งของอารยธรรมสมัยใหม่ และส่งผลให้เกิดแนวคิดของความเสี่ยงที่นำไปสู่การต้องชั่งน้ำหนักระหว่างโอกาสของชีวิตมนุษย์กับโอกาสในทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสมัยใหม่ ทำให้วิกฤตการณ์นี้มีหลายแง่มุม ทั้งมิติทางนิเวศวิทยา มิติของการดำรงอยู่ของวิธีคิดแบบอาณานิคม (colonialism) ที่สามารถนำมาใช้ในการตีความของการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19
การวิพากษ์วิจารณ์แนวความคิดที่ว่ามีระบบความรู้สมัยใหม่ที่เป็นหนึ่งเดียวซึ่งแผ่ซ่านไปทั่วจักรวาลทางความคิดและความคาดหวังว่าจะให้คำตอบสำหรับปัญหาของมนุษย์ทุกคนทั่วโลก รวมถึงแนวความคิดเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ที่เป็นศูนย์กลางของความเป็นมนุษย์นั้นได้รับการระบุในการแบ่งประเภททางสังคมที่แบ่งแยกเชื้อชาติและแบ่งแยกเพศ ลำดับชั้นทางเชื้อชาติ และแนวทางทุนนิยมต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่ก่อให้เกิดปัญหาทางนิเวศวิทยาทั่วโลก รวมทั้งการสร้างอำนาจภายใต้ประเด็นความหลากหลายทางเพศในสังคมสมัยใหม่ โดยที่เพศถูกนำไปใช้เพื่อทำให้คนบางคนด้อยกว่าและเหนือกว่าเพื่อจุดประสงค์ในการปกครองและการแสวงประโยชน์ของตัวเอง ทำให้เห็นว่าเรื่องชีวิต ความเป็นความตายของผู้คน ไม่อาจหลุดจากเครือข่ายของความรู้และอำนาจภายใต้ระบบทุนนิยม
ในขณะเดียวกันสภาวะเลวร้ายของวิกฤตโคโรนาเผยให้เห็นความดี ความเลว สิ่งที่น่ายกย่องและสิ่งที่น่าเกลียดที่เกิดขึ้นในทุกมุมโลก ที่มีความน่าสนใจพอๆ กับการสังเกตว่าประเทศต่างๆ มีความสามารถต่อสู้กับไวรัสชนิดเดียวกันด้วยวิธีต่างๆ กันได้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน...
ดังที่เราได้เห็นการเคลื่อนที่ของกลุ่มคนจากภายในพื้นที่เฉพาะเข้าสู่พื้นที่สาธารณะในการร่วมมือแก้ไขปัญหา พร้อมกับการตั้งข้อสงสัยในเรื่องศักยภาพและความสามารถของผู้นำทางการเมืองที่มีอำนาจในการจัดการต่อปัญหาดังกล่าว ในขณะเดียวกันเราจะเห็นการรวมกันของกลุ่มคนที่ถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์ความรู้สึกร่วมบางอย่างร่วมกัน ที่สะท้อนภาพการตอบสนองของสาธารณชนต่อวิกฤตครั้งนี้ ภายใต้วิธีการที่มีความหลากหลาย ในการรับมือกับความท้าทายต่อปัญหาต่าง ๆ รวมถึงความทุกข์ยากส่วนบุคคล การเข้าถึงบริการสุขภาพ ภาวะของยาและเวชภัณฑ์ไม่เพียงพอในโรงพยาบาล และการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ล่าช้าต่อการตอบสนองปัญหา
ชุมชนต่างๆในทุกมุมโลก ได้จัดตั้งกลุ่ม เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของชำ การจัดหายา ชุดแผ่นตรวจ การทำอาหาร หรือการจัดหาสุนัขเดินสำหรับผู้พิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ดังเช่นในต่างประเทศ แคมเปญ “Adopt a Health Worker” กำลังสร้างกระแสในออสเตรเลียด้วยการดึงดูดอาสาสมัครหลายพันคนเพื่อช่วยเหลือแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้ความตึงเครียด ผู้คนเสนอให้พี่เลี้ยงเด็กหรือผู้ทำความสะอาดบ้าน เข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ทำงานอยู่ใน "แนวหน้า" เป็นต้น
ในขณะที่ในประเทศไทยในช่วงเริ่มต้น คนกลุ่มต่างๆ เช่นพระในวัด สาวโรงงานเริ่มเย็บหน้ากากป้องกันและจ่ายแจกหน้ากากให้กับคนอื่น ในขณะที่รัฐบาลในระยะเริ่มแรกก็เข้มงวดในการควบคุม การจัดหาหรือสนับสนุนการผลิตขนาดใหญ่เพื่อให้คนเข้าถึงหน้ากากอนามัย พร้อมไปกับการเติบโตของการค้าออนไลน์ ที่ทำให้หน้ากาก เจล แอกอฮอล์สามารถหาซื้อได้ในอินเตอร์เน็ต รวมถึงการหาช่องทางช่วยเหลือผู้ป่วยในการโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม การบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้คนในแคมป์คนงาน ในชุมชนแออัด เป็นต้น
หรือ โครงการในอังกฤษชื่อ “The Warriors Project” ที่เกิดขึ้นบน Facebook เป็นหนึ่งในโครงการริเริ่มที่รวบรวมผู้คนจำนวนมากมาทำมาสก์หน้านอกอุตสาหกรรมปกติ รวมทั้งกลุ่มแพทย์ในสหราชอาณาจักรเริ่มโครงการระดมทุน "Masks for NHS Heroes" เมื่อถึงเวลาเขียน พวกเขาระดมทุนได้เกือบ 1.9 ล้านปอนด์สำหรับอุปกรณ์ป้องกัน (PPE) สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยโคโรนา ภายใต้ความคิดที่ว่า “บุคลากรทางการแพทย์ในแนวหน้าที่ไม่มี PPE นั้นเทียบเท่ากับการทำสงครามโดยไม่มีเกราะและการป้องกัน”
กลุ่ม “Open Source COVID19 Medical Supplies” ให้คำแนะนำสำหรับทุกคนในการออกแบบเครื่องมือแพทย์จากวัสดุที่หาได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง PPE พื้นฐานที่รัฐบาลหลายแห่งไม่สามารถจัดหาในปริมาณที่ต้องการหรือส่งไปยังจุดหมายปลายทางได้ทันท่วงที
ความรุนแรงของวิกฤตนี้ดูเหมือนว่าในอีกด้านหนึ่งจะนำคุณงามความดีเข้ามาสู่ผู้คนธรรมดาในสังคม ความคิดริเริ่มที่ยอดเยี่ยมจากภายในชุมชนที่ให้คุณค่าต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์และการให้ช่วยเหลือผู้คนจำนวนมหาศาลที่ต้องการความช่วยเหลือ แสดงให้เห็นถึงพลังของคนไร้อำนาจ แต่มีพลังอำนาจที่ทำงานร่วมกัน ภายใต้ความต้องการขจัดภัยคุกคามจากโควิด-19 ที่สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่ผู้คนจากหลากหลายชีวิต ที่ไม่เคยสัมพันธ์กัน อาจเคยเป็นศัตรูกันแต่จับมือกันเพื่อต่อสู้ร่วมกับกสรระบาดครั้งนี้
ในที่ต่างๆของโลกพลังของชุมชนที่เข้มแข็ง ยังแสดงออกผ่านการสรรเสริญบุคลากรทางการแพทย์และวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล แม้ประชาชนในพื้นที่นั้นจะถูกกักบริเวณ ผู้คนก็ยังส่งเสียงดังได้อย่างมีพลัง จากระเบียงหรือหน้าต่างของบ้านที่เปิดอยู่ เสียงปรบมือเพื่อเป็นเกียรติแก่บุคลากรทางการแพทย์ดังไปทั่วโลก ในขณะที่ชาวบราซิลส่วนหนึ่งก็กำลังทุบหม้อและกระทะเพื่อประท้วงการที่ประธานาธิบดีของพวกเขาที่ปฏิเสธถึงอันตรายของไวรัสและการขาดนโยบายระดับชาติที่มีประสิทธิภาพ
ดังนั้น ปัญหาของความเจ็บป่วยและการระบาดของโควิดที่ไม่ลดลง ส่วนหนึ่งคงปฎิเสธเกี่ยวกับความเข้มแข็งและความเป็นประชาธิปไตยทางการเมือง รวมถึงจุดอ่อนของผู้นำไม่ได้ ธรรมชาติของผู้นำทางการเมืองในที่ต่างๆล้วนแก่งแย่งชิงชัยเพื่อชิงตำแหน่งของตัวเอง และมักจะวิตกกังวลเกี่ยวกับตำแหน่งของตนมากกว่าจะคำนึงถึงสุขภาพของสมาชิกของสังคม และบุคลิกภาพมักมีแนวโน้มของการยกย่องตนเอง และมักปฎิเสธที่จะรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของตัวเอง และนิยมการตำหนิผู้อื่น พร้อมสร้างความฝันลวงที่เป็นไปไม่ได้ว่า “เราต้องชนะ”. ..
ดังนั้นวิธีการจัดการปัญหาของผู้คนในแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน เราจะเห็นอิทธิพลของโลกออนไลน์มากขึ้น ในการสื่อสารข้อมูล ความรู้ต่างๆในการดูแลตัวเอง พื้นที่เสี่ยง เบอร์ติดต่อเจ้าหน้าที่ สถานที่ตรวจโควิดหรือจองวัคซีน เกิดพื้นที่ของการช่วยเหลือกัน การระดมอาสาสมัครหรือจิตอาสา การประสานติดต่อสถานบริการสุขภาพ พร้อมๆไปกับการเคลื่อนไหวผ่านการถกเถียง บ่น ก่นด่า แนะนำ การพูดคุยของภาคประชาสังคมเพื่อแสวงหาทางออก และนำเสนอข้อเสนอแนะแนวทางต่อผู้เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในการแก้ปัญหา ทั้งการจัดการวัคซีน การจัดการปัญหาที่เป็นระบบมากขึ้น.. ณ จุดนี้
“อำนาจของผู้ที่ไม่มีอำนาจ มีความสำคัญและแก้ไขวิกฤตของปัญหามากกว่าผู้มีอำนาจซึ่งไร้อำนาจ”
อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...