วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

โครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี[1] สนามปฎิบัติการแห่งวาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน นัฐวุฒิ สิงห์กุล

โครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี[1] สนามปฎิบัติการแห่งวาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน
แร่โปแตชหรือโปแตชเซียมคลอไรท์ คือแร่ชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อภาคเกษตรกรรมเพราะเป็นธาตุอาหารที่มีผลต่อการเจริญเติโตของพืชพันธุ์ต่างๆจึงเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตปุ๋ยเคมีจะประกอบด้วยธาตุ ไนรโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P)และโปแตสเซียม(K)  นักวิชาการด้านธรณีวิทยาระบุว่า แร่โปแตชและเกลือหินในประเทศไทยพบอยู่บนที่ราบสูงโคราชซึ่งลักษณะภูมิประเทศเป็นรูปกะทะหงายหรือเกิดเป็นแอ่งกระทะจำนวน สองแอ่ง[2]คือ แอ่งโคราชและสกลนครส่วนที่กั้นระหว่างแอ่งทั่งสองคือเทือกเขาภูพาน(ปกรณ์ สุวานิช,2546) ซึ่งทำให้ใต้พื้นดินอีสานมีโดมเกลืออยู่มากมายเนื่องจากบริเวณนี่เคยมีน้ำทะเลไหลเข้ามาในแอ่งทั้ง2 และกลายเป็นทะเลปิดน้ำตื้น และกักแร่ระเหยน้ำทั้งสองชนิด คือแร่โปแตชและเกลือหินเมื่อเกือบ 100 ล้านปีมาแล้ว
สำหรับการสำรวจหาแหล่งเกลือโปแตชภาคอีสานของประเทศไทย นั้น เป็นการสำรวจที่ได้อานิสงส์จาก โครงการสำรวจหาแหล่งเกลือหิน(Rock Salt) ที่มีรากฐานมาจากโครงการสำรวจหาน้ำบาดาลในภาคอีสานในภาคอีสานอีกต่อหนึ่ง(ไสว สุนทโรวาท,2520) โครงการสำรวจหาแหล่งเกลือโปแตชในภาคอีสานเริ่มต้นในปี2513ซึ่งเป็นขั้นศึกษาข้อมูลทางธรณีวิทยาจนเมื่อปี2516 จึงเริ่มทำการขุดเจาะสำรวจ  และสิ้นสุดในปี2520 ทำให้มีการค้นพบเกลือหิน และเกลือโปแตช 2 ชนิดคือ คาร์นาไลต์(Canallite) ที่เป็นโพแทชคุณภาพต่ำ และซิลไวท์ ที่เป็นแร่โพแทสเซียมที่บริสุทธิ์และมีค่าที่สุดในโลก  ในส่วนของจังหวัดอุดรธานี ได้ขุดเจาะสำรวจหลุมแรกที่สำนักงานชลประทาน และอีก 4 หลุ่ม ที่บ้านหนองไผ่ล้อม บ้านหนองตะไกร้ บ้านหนองขอนกว้างและที่บ้านหนองคอนแสน ในเขตอ.เมือง รวมทั้งสิ้น 5 หลุม จนพบแหล่งแร่โพแทส ที่น่าสนใจ  แต่แผนของการสำรวจต่อของกรมทรัพยากรธรณีได้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากบริษัทไทยอะกริโก โปแตช ขอสำรวจต่อโดยการขออาญาบัตรพิเศษต่อกรมทรัพยากรธรณีในสมัยของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในพ..2527 ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และกระทรวงการคลังได้เข้ามาถือหุ้น10%ในโครงการเหมืองแร่โพแทส(กุมภวาโพสต์,2545) แต่พื้นที่นี้ถูกทิ้งมานาน10 ปี จึงได้มีการขุดเจาะสำรวจต่อโดยบริษัทเอเชีย แปซิฟิกโปแตช คอร์เปอร์เรชั่นจำกัด(APPC)ในปี2536 (ปกรณ์ สุวานิช,2546) และเมื่อบริษัทAPPC ขุดเจาะสำรวจเพิ่มเติมอีกประมาณ 65 หลุม พบแร่ซิลไวต์เกือทุกหลุม และมีปริมาณแร่สำรองไม่น้อยกว่า 300 ล้านตัน แต่จากข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณี คาดว่า ปริมาณสำรองแหล่งแร่โปแตชในแอ่งโคราชและสกลนคร  มีเกลือหินละสม 18 ล้านตัน มีแร่ซิลไวท์ประมาณ 7,000 ล้านตันและคาร์นาไลต์ ประมาณ 400,000 ล้านตัน ในพื้นที่50,000ตร.กม.(กองเศรษฐกิจธรณีวิทยา,2548)  ด้วยความสำคัญในแง่ของเศรษฐกิจของแร่โปแตชและเงื่อนไขในสัญญาที่ทำร่วมกันระหว่างบริษัท กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม(ในขณะนั้น)และกระทรวงการคลัง ทำให้มีการพยายามผลักดันในการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติแร่ พุทธศักราช2510 ที่ล้าสมัยและไม่ทันกับเทคโนโลยี เพื่อเปิดโอกาสให้มีการทำเหมืองอุโมงค์ใต้ดินแบบห้องสลับเส้าค้ำยัน(Room/Pillar) เพื่อนำแร่โปแตชขึ้นมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ท่ามกลางความคลุมเคลือของโครงการดังกล่าวที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรับรู้ตั้งแต่ที่บริษัททำการสำรวจ จนกระทั่งทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอแล้วเสร็จตั้งแต่ปี2536 จนกระทั่งจะเริ่มดำเนินโครงการในปี2543 ทำให้ชาวบ้านตั้งคำถามกับกระบวนการมีส่วนร่วมในการทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาในพื้นที่ก็คือการต่อสู้เคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่4 ตำบลคือ ตำบลห้วยสามพาด ตำบลนาม่วงกิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม และตำบลโนนสูง ตำบลหนองไผ่ อ.เมือง จังหวัดอุดรธานี ที่รวมตัวกันภายใต้คำแนะนำปรึกษาขององค์กรพัฒนาเอกชนเครือข่ายทรัพากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน จนเกิดกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีในปี2545 ที่ได้ออกมาต่อสู้เคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม พรบ.แร่โดยเฉพาะมาตรา88/3 เรื่องแดนกรรมสิทธิ์บนผิวดินและใต้ดิน[3] และรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ การต่อสู้เคลื่อนไหวที่เน้นประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเบื้องต้น ได้ขยับมาสู่ยุทธวิธีทางนโยบาย ที่เน้นในเรื่องของวิธีการจัดการ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้กลายเป็นประเด็นสำคัญและเป็นพื้นที่ที่กลุ่มต่างๆเข้ามาช่วงชิงเพื่อนิยามความหมายและความชอบธรรมให้กับตนเอง ในพื้นที่หรือสนามปฎิบัติการเหล่านี้ ผู้ศึกษาจึงได้พบกับตัวละคร หรือผู้สนทนาที่เข้ามาใช้ร่างทรงหรือวาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ประชาสังคมอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี หอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด  กลุ่มพิทักษ์สิทธิตนเอง กลุ่มสนับสนุนโครงการ หรือแม้แต่ตัวบริษัทเอเชียแปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด  ที่ได้ใช้สนามของวาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน ใช้อธิบายเรื่องสิ่งแวดล้อม การพัฒนา เทคโนโลยี  ภูมิปัญญา สิทธิและเรื่องอื่นๆ ซึ่งทำให้พื้นที่ทีดูจะมีความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ความคิดในเรื่องของแร่โพแทสดูเหมือนจะฉาบเคลือบและถูกผนึกผสานไว้ด้วยความคิดในเรื่องสิ่งแวดล้อมกับความยั่งยืน โดยไม่ได้หลุดออกจากฐานคิดในเรื่องของการใช้ประโยชน์แต่อย่างใด อีกทั้งยังทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมลดระดับลงมาเป็นเรื่องของเทคนิคและการบริหารจัดการที่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยเทคโนโลยีและการมีสว่นร่วมที่ยากจะเข้าถึงได้ ดังจะได้แสดงให้เห็นและวิเคราะห์โดยใช้ตารางหาความสัมพันธ์ของวาทกรรมโดยประยุกต์วิธีการของPhil McManusมาใช้อธิบาย
การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของสนามปฎิบัติการทางวาทกรรมและความเป็นรูปสัญญะที่ล่องลอย(Floating Signifier)ของการพัฒนาที่ยั่งยืน
แนวความคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบไปด้วยชุดของความคิดที่เกี่ยวกับการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันแบบสุดขั้วคือ คือ แนวคิดแบบนิเวศน์วิทยาเชิงลึก ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญพร้อมกับปฎิเสธการพัฒนาอาจเรียกว่าEcocentrism  กับแนวคิดแบบชูการพัฒนา ที่มองเรื่องของการพัฒนาเป็นประเด็นสำคัญและมองธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะที่เป็นวัตถุ ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี ซึ่งทำให้มนุษย์สามารถเข้าไปควบคุมจัดการกับธรรมชาติได้ อาจเรียกว่าTechnocentrism  ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงมีความหมายไม่แตกต่างจากทุนที่จะต้องถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งวาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นเสมือนทางเลือกในการประสานความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมการฟื้นฟู การอนุรักษ์และสงวนรักษา กับ การพัฒนา การบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์ จึงดูเหมือนว่าเป็นทางเลือกที่เป็นกลางในการผสานความคิดที่ขัดแย้งระหว่าง2ขั้ว แม้ว่าในตัวมันเองไม่ได้มองธรรมชาติเป็นศูนย์กลางแต่อย่างใด แต่ยังคงผูกขาดการพัฒนาที่เป็นศูนย์กลางอย่างมั่นคง  ในบริบทของสนามปฎิบัติการทางวาทกรรมในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช อุดรธานี  การพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้ถูกสมาทานโดยผ่านยุทธศาสตร์หรือกระบวนการจัดระเบียบที่เรียกว่า วาระแห่งชาติ เพื่อสถาปนาวาทกรรมและกำหนดสถาบันที่จะเข้ามาทำหน้าที่หรือรองรับปฏิบัติการทางอำนาจ ดังตัวอย่างคำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ว่า
นับจากนี้ไป การสร้างเศรษฐกิจของประเทศ จะต้องควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุลย์โดยอำนาจหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายกำหนด คือมีหน้าที่เกี่ยวกับสงวน รักษา การอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติแลัะสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน (ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์,2546)
ดังนั้นหน้าที่ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติจึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซีงเป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี2545 เพื่อทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ ตามหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นเสมือนภาระกิจหลักในระดับโลก ที่ผสานเรื่องของเศรษฐกิจ การพัฒนา เข้ากับเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ร่วมของมนุษยชาติบนโลก แน่นอนว่าในระดับภูมิภาค การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้กลายมาเป็นยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด ที่ปรากฎในแผนแม่บทของจังหวัดที่จะต้องปฎิบัติอย่างเคร่งครัด ยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดอุดรธานี  จึงต้องเน้นที่การสร้างรายได้ และก่อให้เกิดการลงทุนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในจังหวัด เพื่อสร้างความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยสร้างระบบการบริหารจัดการรสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ ยึดหลักความหลากหลายทางชีวภาพ การบูรณาการเชิงรุกและการมีส่วนร่วมของประชาชนตามหลักธรรมาภิบาล(ยุทธศาสตร์จังหวัดอุดรธานี,2548) นั่นก็คือ แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ในระดับชาติและจังหวัด ก็มองเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการและการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์  เป็นสิ่งที่ตอกย้ำถึงกระบวนการพัฒนาที่ประชาชนไม่สามารถปฎิเสธ เพราะเป็นเรื่องของประเทศชาติ  ผลประโยชน์ของส่วนร่วม ของคนในจังหวัด  แนวความคิดดังกล่าวจึงเสมือนกับเป็นการลดทอนธรรมชาติให้ลงมาเป็นเรื่องทรัพากรสิ่งแวดล้อม ที่มนุษย์สามารถควบคุมจัดการมันได้ ซึ่งการจัดการและการใช้ประโยชน์ก็อยู่ภายใต้ สถาบันที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลและตัดสินใจตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นในส่วนของรัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรมและ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แร่โปแตช จึงเป็นยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการ ไม่ได้มีสถานะเป็นแนวคิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามแนวนิเวศวิทยาเชิงลึกที่มุ่งเน้นในการอนุรักษ์ สงวนรักษาไว้แต่อย่างใด  จะเห็นได้ว่าแนวคิดดังกล่าว ได้ถูกส่งผ่านไปยังสถาบันต่างๆ ที่จะนำวาทกรรมดังกล่าวลงไปสู่ภาคปฎิบัติให้บังเกิดผล เช่น กระทรวง กรม กอง หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด รวมถึงประชาชนในพื้นที่ ที่เป็นเสมือนร่างทรงของวาทกรรมการพัฒนาต่างๆ เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน เกษตรพอเพียง เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ ธรรมาภิบาล บูรณาการหรือแม้แต่เรื่องผลประโยชน์ของชาติเป็นต้น แน่นอนว่าคู่ขัดแย้งหลักของวาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนของรัฐก็คือ ผู้ที่ขัดขวางการพัฒนา ผู้ต่อต้านการพัฒนาหรือไม่ปฎิบัติตามนโยบายของรัฐบาล  สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนในการวิเคราะห์ตรรกะ/ความสัมพันธ์ของวาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนของกลุ่มต่างๆก็คือ ความสามารถไปด้วยกันได้หรือเชื่อมประสานกันพอดีระหว่างแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนของรัฐบาล กับกลุ่มทุนข้ามชาติและกลุ่มผู้สนับสนุนโครงการเหมืองแร่โปแตช ที่เน้นในเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนทางเศรษฐกิจสังคมควบคู่กับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นที่การนำทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดิน นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและคนในพื้นที่ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติจึงมีฐานะไม่แตกต่างจากวัตถุ/ทุนในระบบทุนนิยม ที่สามารถนำมาบริหารจัดการเพื่อสร้างมูลค่า ดังคำกล่าวของกลุ่มสนับสนุนที่ว่า
ทรัพยากรมีค่ามหาศาล ถ้าปล่อยไว้เฉยๆก็ไม่มีค่าอะไร เชื่อว่ารัฐบาลจะต้องดูแลให้บริษัททำตามข้อกฎหมาย(ฉลอง ภูวิลัย ไทยรัฐ 20 มี..2547)
พวกเราเชื่อมั่นในเทคโนโลยีระดับสูงของบริษัทนักลงทุน ว่าจะสามารถป้องกันผลกระทบด้านต่างๆได้(ชำนาญ ภูวิลัย ผู้จัดการ13-14..2546)
นั่นคือการลดทอนความเป็นสิ่งแวดล้อม ให้กลายเป็นทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สินที่อยู่ใต้พื้นดิน  ที่จะมีคุณค่าได้ก็ต่อเมื่อนำขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ไม่ใช่เป็นทรัพย์กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่าและดำรงความหมายอยู่ได้ด้วยตนเองแต่อย่างใด  ซึ่งก็แสดงว่าธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ถูกทำให้กลายเป็นรูปสัญญะที่ว่างเปล่า เพื่อรอการผสมกับสัญญะตัวอื่นๆและสร้างความหมายใหม่ขึ้นมา สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ จึงมีความหมายมีฐานะเป็นทุนแบบหนึ่งในระบบทุนนิยมที่จะนำไปสู่กระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังเช่นเอกสารประชาสัมพันธ์ของบริษัทที่จะช่วยสะท้อนความคิดดังกล่าวได้ชัดเจนขึ้นคือ โพแทช ทรัพย์ในดินของคนไทย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (เด็กผู้ชายพูด):ที่ปู่เคยบอกว่าบ้านเรามีทรัพย์ในดินอยู่มากมายที่แท้ก็คือแร่โปแตชนั่นเอง (เด็กผู้หญิงพูด):ใช่แม่บอกว่าอีกหน่อยพอมีเหมืองที่นี่ก็จะขายของดีเป็นเทน้ำเทท่าเลย(เอกสารเผยแพร่บริษัทAPPC,2546) 
ด้วยความที่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในวิธีคิดของรัฐบาลและกลุ่มทุนข้ามชาติ ได้กลายเป็นทุนตัวหนึ่งในภาคอุตสาหกรรม ทำให้แนวความคิดที่ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่แตกต่างจากแนวคิดในการพัฒนา ที่เป็นการตอกย้ำเส้นแบ่งความเป็นอื่นของธรรมชาติจากมนุษย์และการพัฒนา ซึ่งกระบวนการพัฒนาต้องการหลุดพ้นจากสภาวะธรรมชาติดั้งเดิม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกมองว่าล้าหลัง ป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม การที่จะเป็นมนุษย์ที่พัฒนาก็เลยจำเป็นต้องหนีห่างจากสภาวะดังกล่าว และทำให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ภายใต้การควบคุมและการใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้า แน่นอนว่า กระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน คำถามสำคัญไม่ได้อยู่ทีใครจะเป็นคนบริหารจัดการ แต่อยู่ที่จะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งมันมีความสัมพันธ์กับเรื่องของศักยภาพทางด้านทุนและเทคโนโลยี รวมถึง วิธีคิดแบบฝากความหวังความเชื่อให้กับคนอื่นภายใต้ทรัพยากรและวิถีชีวิตของท้องถิ่นเป็นเดิมพัน   ซึ่งเป้าหมายสูงสุดก็คือ การกระจายผลประโยชน์จากทรัพยากรที่อยู่ใต้พื้นดินในการลงทุนของบริษัทข้ามชาติให้กับรัฐบาลไทยและคนในท้องถิ่นเพื่อสร้างความมั่งคั่งยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด เพราะความเป็นจริงนั้นแร่โปแตชเป็นแร่ที่ใช้แล้วหมดไปไม่สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้ ดังนั้นมันจึงไม่สามารถยั่งยืนหรือมั่นคงได้ นี่คือมายาคติภายใต้กระบวนการต่อเติมและสร้างความหมายให้กับการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ได้ลดทอนสถานะอันทรงพลังอำนาจของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ไม่สามารถจะควบคุมได้ ให้กลายเป็นวัตถุที่สามารถบริหารจัดการภายใต้ระบบทุนนิยม โดยเครื่องมือ หรือวาทกรรมที่ว่าด้วย เทคโนโลยี” “ความทันสมัย” “มาตรฐานสากลที่ดูเหมือนจะห่างไกลจากศักยภาพและความรู้ของคนไทย  ที่จำเป็นต้องมอบอำนาจในการจจัดการความยั่งยืนให้อยู่ภายใต้การตัดสินใจของรัฐบาลและกลุ่มทุนข้ามชาติ โดยประชาชนหรือคนในพื้นที่ ก็เป็นเพียงร่างทรงและผู้รอรับอานิสงส์ของการพัฒนาดังกล่าว
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ การปฎิบัติการและสร้างสถาบันต่างๆขึ้นมารองรับและทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืนในรูปแบบของกลุ่มทุนข้ามชาติได้กลายมาเป็นสิ่งที่คนในชุมชนยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งกลุ่มส่งเสริมอาชีพให้กับคนในชุมชน เช่นการเลี้ยงไก่ชน การเพาะเห็ด  หรือให้ความช่วยชุมชนในด้านต่างๆ เช่นบริจาคเงินให้วัด การซื้ออุปกรณ์กีฬาหรืออุปกรณ์การศึกษาให้กับโรงเรียน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เสมือนกับสิ่งที่คุณค่าและความหมายของความยั่งยืนของชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเชื่อมติดกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของกลุ่มทุนข้ามชาติที่เน้นในเรื่องความยั่งยืนในมิติทางด้านเศรษฐกิจได้อย่างพอดี ดังที่แกนนำกลุ่มสนับสนุนคนหนึ่งกล่าวว่า
เราเบื่อความลำบากยากจนมานานเกินพอแล้ว แร่โปแตช ที่มีมากมายมหาศาล นับว่าธรรมชาติให้เรามาโดยแท้ เราอยู่ในเขตสัมปทานจะได้เปรียบ  ได้สิทธิพิเศษ ได้ภาษีค่าภาคหลวง ค่าแรงงานด้านนี้ในอนาคตและผลพลอยได้อีกมาก บ้านเราจะก้าวกระโดดสู่ความเจริญอย่างรวดเร็วทันตาทันใจแน่ๆ...”  (แถลงการณ์กลุ่มสนับสนุนโดยจ...ฉลอง ภูวิลัย ประธานกลุ่มฯ บ้านเชียงโพสต์,2546)
ดังนั้นความยากจนจึงเป็นเสมือนสาเหตุของความไม่ยั่งยืน ด้วยฐานคิดที่มองว่าแร่โปแตชคือสมบัติที่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบให้กับคนในพื้นที่จึงควรที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ เพื่อจะได้ก้าวไปสู่อนาคตข้างหน้าที่ว่าด้วยความเจริญ ซึ่งเป็นมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้แนวคิดที่ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มนุษยชาติเชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมของโลกและวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ ความยากจนอดอยากของมนุษย์บนโลก ดังนั้นมายาคติที่บริษัทสร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอว่า โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ของบริษัทเอเชียแปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จัดเป็นโครงการอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ด้วยมาตรฐานการผลิตและระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ[4]  มาตรฐานสากลและเทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงเป็นเสมือนมายาคติที่สร้างความมั่นใจให้กับคนในพื้นที่ที่สนับสนุนและต้องการให้เกิดโครงการนี้ขึ้น เช่นเดียวกับความมั่นใจในตัวของรัฐบาลซึ่งเป็นสถาบันในการควบคุมและจัดการเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายและยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน เราเชื่อมั่นต่อรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ฯพณฯดร.ทักษิณ ชินวัตร ว่าจะสามารถควบคุมบริษัทที่ให้สัมปทานให้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เราเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ของการทำเหมืองแร่ได้ก้าวหน้าถึงระดับสุดยอดแล้ว...”[5]  
แม้ว่าความยากจนที่กลุ่มสนับสนุนยกขึ้นกล่าวจะเป็นคู่ตรงกันข้ามกับความยั่งยืน ในอีกทางหนึ่ง ความยากจนก็ดูจะแฝงเคลือบไปด้วยความปรารถนาและความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะสัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่า ความเจริญรุ่งเรือง” “อยู่ดีกินดีและ ความมั่งคั่งซึ่งเป็นคนละความหมายกับคำว่า พอเพียงหรือ พึ่งตนเองที่กลุ่มผู้คัดค้านได้ยืนยันและใช้ปฎิเสธการพัฒนา ดังนั้นกลุ่มที่เป็นคู่ขัดแย้งตรงกันข้ามกับกลุ่มบริษัทและผู้สนับสนุนโครงการก็คือกลุ่มผู้คัดค้านโครงการหรือกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งมีเป้าหมายที่สำคัญคืออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นและต่อต้านโครงการเหมืองแร่โปแตช ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนที่อยู่ในพื้นที่โครงการ แน่นอนว่าแนวคิดหลักของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีที่ต้องการจะวิพากษ์คือการพัฒนาของรัฐและกลุ่มทุนข้ามชาติ โดยชูวาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สัมพันธ์กับเรื่องสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสงวนบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในแบบของกลุ่มเคลื่อนไหวหรืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์การต่อรอง หการตั้งโต๊ะเจรจา รวมถึงกรรมการร่วมกันในระดับจังหวัดและประเทศ เพื่อนำไปสู่การยกเลิกกฎหมายแร่และรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) เพื่อสถาปนาวาทกรรมที่ว่าด้วย สิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชนและการตัดสินใจในการพัฒนาที่เป็นส่วนสำคัญอันทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ตัวอย่างที่เห็นได้เช่น
ในนามกลุ่มประชาสังคมอีสาน19 จังหวัด และเครือข่ายสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) อีสาน จึงขอคัดค้านพรบ.แร่(ฉบับที่...).....และขอให้ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดต่อสิทธิส่วนบุคคล สิทธิชุมชนและการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา46 59 59 60...” (แถลงการณ์ของประชาสังคม19 จังหวัดอีสาน,2545)
ในทางตรงกันข้ามแม้ว่ากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีได้วิพากษ์แนวทางการพัฒนาประเทศที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการให้ชาวต่างชาติ/นักลงทุนข้ามชาติที่เข้ามากอบโกยทรัพย์กรธรรมชาติของประเทศไทย โดยไม่คำนึงถึงปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม  ในขณะเดียวกันก็ได้ชูวาทกรรมซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับที่รัฐบาลและกลุ่มผู้สนับสนุนใช้ คือคำว่าชาติ” “ผลประโยชน์ของชาติ”  ดังตัวอย่างคือ
กลุ่มอนุรักษ์ฯขอยืนยันในสิ่งที่เคลื่อนไหวคัดค้านมาโดยตลอด ว่าพวกเราจะยืนอยู่ข้างฝ่ายประเทศชาติและประชาชน ประเทศชาติจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีวิถีชีวิตที่อบอุ่น อยู่ดีมีสุข พวกเราจะไม่ยอมเป็นฝ่ายเสียเปรียบของนักลงทุนคนใดที่คิดแต่จะเอารัดเอาเปรียบประเทศชาติและประชาชนของพวกเราเป็นอันขาด” (สาส์นถึงพันธมิตรกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี,2547) 
การเคลื่อนไหวของกลุ่มกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงมุ่งชูประเด็นเรื่องความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมที่คล้ายคลึงหรือเหมือนกับที่บริษัทข้ามชาติพูดถึงสิ่งนี้เช่นกัน ซึ่งดูราวกับว่าสมานฉันท์หรือไปด้วยกันได้ แต่สิ่งที่ปรากฏไม่สามารถลดความขัดแย้งระหว่างกันได้ เนื่องจากพุดกันคนละตรรกะคนละภาษา แต่ก็มีความแตกต่างในเสียงที่พูด เพราะมีคุณค่าและอุดมการณ์เบื้องหลังคนละอย่าง ดังนั้นการพูดถึงสิ่งเหล่านี้ก็เพื่ออ้างความชอบธรรมในการพัฒนาและกำหนดอนาคตตนเอง เพื่อให้สิ่งที่ชาวบ้านพูดมีความเท่าเทียมกับเสียงผู้ที่มีอำนาจ รัฐบาล ข้าราชการ เท่านั้นเอง ในอีกด้านหนึ่งกลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้ก้ชูประเด็นที่ขัดแย้งและเป็นปฏิปักษ์กับการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน โดยกฎหมายแร่หรือการไม่มีส่วนร่วมของประชาชนในรายงานการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ในการต่อสู้เคลื่อนไหวจึงเป็นเรื่องของ การให้ความรู้และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรระหว่างคนเมือง นักวิชาการในพื้นที่ นอกพื้นที่ ประชาสังคมจังหวัดและองค์กรภาคประชาชนทั้งในและนอกจังหวัดเช่น สมัชชาคนจน  และร่วมสร้างเครือข่ายกับชาวบ้านกรณีปัญหาเดียวกัน เช่นการจัดตั้งกลุ่มศึกษาปัญหาดินเค็มภาคอีสาน ดังนั้นแน่นอนว่า เรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน ของขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจึงไม่ได้มองว่ามันเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าแต่เพียงอย่างเดียว ในอีกแง่หนึ่งมันก็คือหายนะหรือสิ่งที่สร้างความไม่ยั่งยืน ให้กับวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้เช่นเดียวกัน นั่นคือการชูวาทกรรที่ว่าด้วยเรื่องเกลือ และปัญหาดินเค็ม ขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในการถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับที่Clark กล่าวว่า บรรดาขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเท่าที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันต่างก็สร้างเอกลักษณ์ตัวตนขึ้นมาจากฐานวากรรมว่าด้วยการทำลายล้างธรรมชาติทั้งสิ้น เพราะการที่จะทำให้คนส่วนใหญ่หันมาอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติแทนการทำลายล้างนั้นจำเป็นที่ต้องสร้างภาพความน่าสะพรึงกลัวของธรรมชาติให้เกิดขึ้น(Clark,1997:อ้างจากไชยรัตน์,2542) นั่นคือการชี้ให้เห็นหายนะหรือพิษภัยของเกลือที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตโปแตช ซึ่งส่งผลต่อความเสียหายของพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงอันตราย และมหันตภัยจากการทำเหมืองแร่ ดังเช่น คราบน้ำตาและบทเรียนจากเหมืองโพแทสทั่วโลก” “ชุมชนติงจีนทำเหมืองโปแตชในไทยปัญหาบานแน่” “โศกนาฎกรรมซ้ำซากเหมืองระเบิคคร่า200ชีวิต” “มหันตภัยเหมืองใต้ดินโปแตชปลุกมัจจุราชเขย่าขวัญคนอีสาน” “แร่โปแตชทองคำขาวทำชาวบ้านสะอื้น” “เอ็นจีโออีสานเปิดเวทีชาวบ้านถกแนวทางต่อสู่ปัญหาดินเค็มเป็นต้น ซึ่งสิ่งที่เป็นคู่ขัดแย้งของความยั่งยืน ก็คือความไม่พร้อม หรือความไม่จำเป็น   ดังเช่นที่ปรากฎในเอกสารเผยแพร่ของคณะทำงานและติดตามโครงการเหมืองแร่โปแตช อุดรธานีและองค์กรร่วม เช่นคณะทำงานประชารัฐอุดรธานีและประชาสังคมอุดรธานี ที่ได้ตั้งคำถามกับวิถีชีวิตท้องถิ่นกับความเจริญ คือ แหล่งโปแตชที่อุดรบ้านเรามีคุณภาพดีและมีปริมาณมากแห่งหนึ่งของโลก ใครก็อยากได้  จะไม่เอามาใช้ก็เสียดายหรือจะเก็บเอาไว้ก็ไม่เสียหาย ทำไมรีบให้ต่างชาติมาขุด[6] หรือที่ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวว่า ตอนนี้ใครจะมาลงทุนก็ยังไม่ให้ทำเพราะยังไม่มีความจำเป็นที่จะนำแร่โปแตชขึ้นมาใช้...รัฐบาลควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนโดยจะต้องยึดหลักผลประโยชน์ของคนในชาติคนในพื้นที่เป็นสำคัญมากกว่าต่างชาติ[7] ดังนั้นวาทกรรมที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้นำเสนอ สามารถที่จะผสานเชื่อมโยงกันได้กับแนวคิดของกลุ่มประชาสังคมจังหวัดอุดรธานีและสถาบันราชภัฎอุดรธานี ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนตามหลักธรรมาภิบาล การกระจายอำนาจการตัดสินใจของคนในท้องถิ่น  และความสอดคล้องกับวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้กระบวนการขับเคลื่อนวาทกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประชาสังคมจังหวัดอุดรธานีและนักวิชาการในท้องถิ่นสามารถดำเนินไปด้วยกันได้และสร้างพลังในการต่อรองที่เข้มแข็งกับกลุ่มทุนข้ามชาติมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน
  อย่างไรก็ตามแม้ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน อันเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับประเด็นของการพัฒนาและสิ่งแวดล้อม  แต่ก็มีนัยที่แตกต่างกันเนื่องจากมีอุดมการณ์เบื้องหลังคนละชุดกัน เช่นคำว่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกพูดถึงจะเน้นไปที่ แร่โปแตชซึ่งเป็นเสมือนขุมทรัพย์ใต้แผ่นดินอีสาน ทรัพยากรของคนอุดร ทรัพย์สมบัติของชาติ มรดกจากบรรพบุรุษ เนื่องจากอุดมการณ์ที่รองรับต่างชุดกัน แม้ว่ากรอบของการสนทนาวางอยู่บนแนวทางของสิ่งที่เรียกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ลดทอนทรัพยากรธรรมชาติมาสู่เรื่องของการบริหารจัดการก็ตาม จากการศึกษาและวิเคราะห์จะพบว่าวิธีคิดในการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนก็มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในส่วนของบริษัท ผู้สนับสนุนหรือรัฐบาลต่างก็มองว่า ทรัพยากรรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใต้วาทกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งก็คือ  แร่โปแตช ควรที่จะถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนในทางเศรษฐกิจ  ตัวอย่างบทสนทนาเช่น
สิ่งที่ท่านทั้งหลายทั้งค้านและสนับสนุนทุกวันนี้ท่านมีวัตถุประสงค์อันเดียวกันก็คืออยากให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประโยชน์สูงสุด ได้ปุ๋ยราคาถูก ไม่มีสิ่งแวดล้อมที่เสียหาย ..” (สมศักด์ เทพสุรทิน รมต.อุตสาหกรรม หนังสือพิมพ์บ้านเชียงโพสต์1-30 ..2546 หน้า12)
“...ขอให้พี่น้องประชาชนโปรดสนับสนุนกลุ่มของเราที่ต้องการ ให้เอาทรัพยากรอันมีค่า มหาศาลที่ธรรมชาติได้ประทานมาให้แล้วนี้ขึ้นมาสร้างความเจริญรุ่งเรื่องแก่บ้านเมืองของเราสืบไป...”( ... ฉลอง ภูมิวิลัย ประธานกลุ่มสนับสนุนให้เกิดเหมืองแร่โปแตช บ้านเชียงโพสต์1-30..2546หน้า10)
“...กลุ่มผู้สนับสนุนมีความเชื่อมั่นว่า การพัฒนาแหล่งแร่โปแตชเพิ่มขึ้นในประเทศไทยจะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภาคอีสาน การนำแร่โปแตชออกจำหน่ายแทนที่การสูญเสียเงินตราจากการนำเข้าน้ำมันในแต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล...”(นายชำนาย ภูวิลัย แกนนำกลุมสนับสนุนฯ ไทยรัฐ 23 ..2547,หน้า12)
โครงการเหมืองแร่โปแตช เป็นโครงการที่ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าทรัพยากรใต้ดิน ที่มีมูลค่าในเชิงพาณิชย์มหาศาล...”(ธนัชชชัย สามเสน รองประธานหอการค้าจังหวัดฯ ข่าวท้องถิ่น10..2546,หน้า13)
บริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด จะพัฒนาต่อไปเพื่อนำความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งแร่โพแทช มาสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับพื้นที่เกษตรกรรม นำความเจริญและความมั่งคั่งมาสู่ประเทศไทย” (บริษัทเอเชียแปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่นจำกัด ข่าวท้องถิ่น 1 ..2546 ,หน้า7)
ภายใต้ความคิดเรื่องการใช้ประโยชน์และการบริหารจัดการแร่โปแตชให้เกิดประโยชน์สูงสุดและการสร้างความมั่งคั่งรุ่งเรื่องทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่กลุ่มสนับสนุน รัฐบาลและบริษัททุนข้ามชาติต้องการจะบรรลุถึงนั้น สิ่งที่เป็นเครื่องมือหรือเทคนิคในการสร้างความเชื่อมั่นก็คือเรื่องของเทคนิควิทยา เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถควบคุมและจัดการผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีและผู้คัดค้านโครงการมีแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในส่วนของแร่โปแตช ว่าเป็นเหมือนทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน ที่ควรเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานและมองในแนวของชาตินิยมว่า โปแตชเป็นทรัพย์สมบัติของคนไทยก็ควรที่จะให้คนไทยดำเนินการ แต่เมื่อตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีศักยภาพหรือยังไม่พร้อมที่จะทำก็ควรเก็บไว้ก่อน และยืนยันในวีถีชีวิตเกษตรกรรมดังตัวอย่างบทสนทนาเช่น
ตอนนี้ใครจะมาลงทุนก็ยังไม่ให้ทำเพราะยังไม่มีความจำเป็นที่จะนำแร่โปแตชขึ้นมาใช้ ซึ่งบริษัทบอกว่าแร่โปแตชจะเอาไปทำปุ๋ยเคมี แต่รัฐบาลเองกำลังส่งเสริมให้ชาวบ้านใชช้ปุ๋ยชีวภาพเพื่อจะได้รักษาคุณภาพของดินและสิ่งแวดล้อม แล้วยังจะให้ต่างชาติเข้าลงทุนเอาแร่โปแตชมันอย่างไรกันแน่  รัฐบาลควรพิจารณาให้ถ้วนถี่ด้วย โดยจะต้องยึดหลักผลประโยชน์ของคนในชาติคนในพื้นที่เป็นสำคัญมากกว่าต่างชาติ[8] ที่สำคัญก็คือเทคโนโลยี เทคนิควิทยาการ ไม่ใช่สิ่งที่สร้างความเชื่อมมั่นให้กับกลุ่มคัดค้านโครงการโดยมองว่า “...เรื่องโปแตช เรื่องปุ๋ยเคมี เป็นเรื่องโกหกทั้งสิ้นสำหรับผม สิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยรอดคือเรื่องอาหารและยาสมุนไพร..ตัวอย่างเช่นประเทศอเมริกาเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีสูงสุดแต่พวกเขาไม่มีวันหลุดพ้นจากความกลัว...เทคโนโลยีช่วยอะไรไม่ได้ เพราะมันไม่มีน้ำใจ เราต้องอย่าให้ใครเอาผลประโยชน์จากความทุกข์ของเรา...”[9] และยืนยันในวิถีเกษตรกรรมที่สร้างความยั่งยืนให้กับพวกเขามากกว่าความยั่งยืนในด้านการเกษตรโดยใชปุ๋ยเคมีที่มีส่วนประกอบของโปแตช โดยสถานการณ์ปัจจุบันนี้ชาวบ้านต้องการดำรงวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมยั่งยืนไปก่อน โพแทชก็ไม่ต้องขุดขึ้นมา...เรื่องความเจริญไม่มีใครปฎิเสธ แต่ต้องยั่งยืนทั้งขนบธรรมเนียม ประเพณีต่างๆ ต้องคงอยู่ไม่ใช่ความเจริญเข้ามาแต่ชุมชนต้องแตกสลาย[10]
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือการมุมมองของสองกลุ่มแม้จะดูแตกต่างกันแต่ก็อยู่ภายใต้กรอบของวาทกรรมว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เป็นการประสานระหว่างแนวคิดที่ชูความสูงส่งของสิ่งแวดล้อมและชูความสูงส่งของการพัฒนา แน่นอนว่า มายาคติที่ถูกสร้างขึ้นในเบื้องต้นภายใต้วาทกรรมนี้คือ การสร้างคุณค่า จริยธรรมและจิตสำนึกที่ว่าด้วย ความห่วงใยใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมตามแบบของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในลีลาสำนวนของพวกนักธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้เปิดพื้นที่ให้แต่ละฝ่ายเข้ามาหหยิบฉวยความหมายคุณค่าดังกล่าวไปใช้และต่อเติมคุณค่าความหมายของมันตลอดเวลา ซึ่งความหมายสัญญะที่เข้ามาเกาะเกี่ยวเหล่านี้ ก็สามารถที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นรูปสัญญะที่ล่องลอยได้เช่นเดียวกับรูปสัญญะล่องลอยที่มันเข้ามาเกาะเกี่ยวอยู่ในตอนแรก เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เป็นเรื่องของของความห่วงใย ใส่ใจ ความรับผิดชอบ จริงๆแล้วคำเหล่านี้ก็เปล่ากลวงความหมายเนื่องจากความห่วงใยและความรับผิดชอบของทั้ง2 ฝ่ายไม่ได้มีความหมายหรือนัยที่เหมือนกัน ในแง่ที่ความห่วงใยและความรับผิดชอบของบริษัท อาจเป็นเรื่องของความห่วงใยต่อการลงทุนและรับผิดชอบต่อ บริษัทร่วมทุน ดังที่บริษัทพูดถึง ความยั่งยืนทางด้านเกษตร โดยการผลิตปุ๋ยซึ่งเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชและอาหารของโลก ความยั่งยืนในการลงทุนทางเศรษฐกิจของการทำเหมืองแร่โปแตชระหว่างบริษัทเอเชียแปวิฟิก โปแตช ตอร์เปอร์เรชั่น จำกัดกับจีนที่ต้องการปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร  มากกว่าความห่วงใยต่อคนในพื้นที่ซึ่งเป็นเสมือนผู้ได้รับอานิสงส์หรือผลของความยั่งยืนถัดไปจากความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของทุนข้ามชาติเป็นเบื้องต้น หรือประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม อย่างที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือกลุ่มต่อต้านเป็นห่วง แต่เมื่อมันถูกพูดในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้วทำให้วาทกรรมตัวนี้ได้รับการยอมรับอย่างมั่นใจและเชื่อมั่นในความรับผิดชอบและความห่วงใยที่บริษัทมีต่อคนในพื้นที่ในฐานะที่ความห่วงใยหรือความรับผิดชอบนั้นจะทำให้เกิดการพัฒนาและความเจริญ
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน สิ่งที่กลุ่มต่างๆมักเชื่อมโยงและอ้างอิงถึงก็คือเรื่องของภูมิปัญญา ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมประเพณีบุญประเพณี ซึ่งถือได้ว่าเป็นอัตลักษณ์หรือสิ่งที่แสดงถึงความเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม การทำความเข้าใจประเพณีวัฒนธรรมและการมีส่วนร่วมในประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นนอกจากจะแสดงถึงความเคารพในภูมิปัญญาท้องถิ่น ยังเป็นเสมือนกระบวนการสร้างความเป็นคนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่บริษัทข้ามชาติพยายามจะเข้ามาสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชุมชนไม่ว่าจะเป็นการร่วมบุญประเพณีบั้งไฟ การจัดบุญกุ้มข้าวใหญ่ การส่งเสริมกลุ่มอาชีพ สินค้าโอท๊อป สิ่งเหล่านี้อาจเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการสร้างประชามติ ความสมานฉันท์ ความสามัคคีซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนและสังคมของบริษัท ในขณะที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ก็ได้พยายามนำประเพณีโบราณเช่นบุญกุ้มข้าวใหญ่เพื่อระดมทุนมาใช้ในการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการแน่นอนว่าประเพณีบุญกุ้มข้าวใหญ่เป็นประเพณีที่ชาวบ้านเคยทำมาในอดีตซึ่งแสดงถึงความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชนและเป็นการระดมทุนเพื่อพัฒนาหมู่บ้านและวัดวาอารามในช่วงหลังการเก็บเกี่ยว แต่ประเพณีบุญกุ้มข้าวใหญ่ชาวบ้านในชุมชนก็ ไม่ได้กระทำมาหลายปีแล้ว จนเมื่อกลุ่มอนุรักษ์โดยพ่อประจวบ แสนพงษ์และแม่มณี บุญรอด เห็นว่าน่าจะรื้อฟื้นประเพณีดังกล่าวและสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชนโดยการระดมข้าวเปลือกเพื่อเป็นทุนในการต่อสู้เคลื่อนไหวซึ่งได้จัดมาเป็นปีที่3 แล้วและเคยระดมได้ข้าวเปลือกสูงสุดเกือบ10 ตัน สิ่งเหล่านี้แม้ว่าจุดมุ่งมายก็ต้องการสร้างความเป็นสามัคคีน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชุมชน แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดกระแสการต่อต้านและวิพากษ์การนำประเพณีบุญกุ้มข้าวมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์ฯว่า ไม่สอดคล้องกับกุศโลบายของบรรพบุรุษ บิดเบือน ทำลายสิ่งที่ดีงามและไม่ได้ส่งเสริมความสามัคคีในชุมชนแต่อย่างใด ดังที่ปรากฎข้อความในเอกสารที่กลุ่มสนับสนุนได้เขียนขึ้นคือ
ดูถูกภูมิปัญญาพ่อใหญ่แม่ใหญ่ สร้างการแตกแยกสามัคคีในหมู่ญาติพี่น้อง แอบอ้างชื่อญาติผู้ใหญ่ทีเป็นผู้ก่อตั้ง หลอกลวงผู้ที่ไม่รู้เรื่อง การทำบุญเพื่อเอาเงินเป็นทุนไปกล่าวโจมตีผู้อื่น ไม่มีในวิถีของชาวพุทธ [11]
สิ่งเหล่านี้เป็นความไม่ชอบมาพากลและความไม่โปร่งใสของกลุ่มอนุรักษ์ในการอ้างประเพณีบุญกุ้มข้าวใหญ่มาเป็นเครื่องมือหากินเฉพาะกลุ่มบุคคลเท่านั้น เราจะยอมให้บุคคลบางกลุ่มบางคนใช้ประเพณีอันดีงามของสังคมที่มีการสืบทอดแต่บรรพบุรุษมาเป็นเครื่องมือหากินอีกต่อไปหรือ น่าอายเป็นอย่างมากและคงได้บุญท่วมนรกเป็นแน่[12]
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งคำว่า ประเพณี วัฒนธรรมและภูมิปัญญา มันก็มีฐานะที่ไม่แตกต่างจากการเป็นรูปสัญญะที่ล่องลอยที่แต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายต่างหยิบฉวยเข้ามาใช้ประโยชน์ ต่อเติมความหมายและคุณค่าให้กับมัน ซึ่งที่จริงการส่งเสริมประเพณี วัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น บริษัทก็ได้กระทำเช่นเดียวกับที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้กระทำ เพียงแต่บริษัทและกลุ่มผู้สนับสนุน ทำให้ภูมิปัญญาเป็นเรื่องของความดั้งเดิม ดีงาม ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงหรือประดิษฐ์มันขึ้นมาใหม่ แต่หากจะวิเคราะห์ลึกๆแล้ว เป้าหมายอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังของทั้งสองกลุ่มก็ใช้ภูมิปัญญา ประเพณีวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน ในเมื่อบริษัทใช้ภูมิปัญญาแสดงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ความดีงามและความงดงามของชุมชน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่บริษัทต้องการสมานฉันท์และให้ชุมชนเกิดการยอมรับในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและคาดหวังว่าเทคโนโลยีการทำหมืองสมัยใหม่จะสามารถอยู่รวมกับชุมชนและสอดคล้องกับประเพณี วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ ในขณะที่ตัวของกลุ่มอนุรักษ์ฯเองก็มุ่งจะนำภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สูญหาย เข้ามาเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องมือในการต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อระดมทุนคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชที่จะกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน วัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยยืนยันในวิถีชีวิตเกษตรกรรมการเป็นพื้นที่สีเขียวดังที่ประธานกลุ่มอนุรักษ์กล่าวว่า “..ปัจจุบันชาวบ้านเขาต้องการดำรงชีวิตแบบเกษตร ยั่งยืนไปก่อนโปแตชไม่ต้องขุดขึ้นมา...เรื่องความเจริญไม่มีใครปฎิเสธแต่ต้องยั่งยืนทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆต้องยังคงอยู่ไม่ใช่ความเจริญเข้ามาแต่ชุมชนกลับแตกสลาย[13] เป้าหมายที่สำคัญของการรื้อฟื้นประเพณีนี้ก็คือการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งก็เป็นการมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประดุจเดียวกับบริษัท เพียงแต่ว่าอุดมการณ์ข้างหลังสุดของทั้งสองฝ่ายก็คือความต้องการที่จะให้มีโครงการเหมืองแร่โปแตชเกิดขึ้นและต้องการล้มเลิกโครงการเท่านั้นเอง
ประเด็นสุดท้ายในเมื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมันกลายเป็นวาทกรรมกระแสหลักของโลกในปัจจุบัน ที่การปฏิบัติการระดับท้องถิ่นไม่ได้โดดเดี่ยวแต่มีความสัมพันธ์กับระดับโลก(Act Local Think Global) ซึ่งสะท้อนว่าความมั่นคงของโลกขึ้นอยู่กับพื้นที่เล็กๆ โดยเฉพาะประเทศในโลกที่สามและลาตินอเมริกาที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเลี้ยงคนทั้งโลก หรือสังคมเกษตรกรรมที่ต้องหล่อเลี้ยงคนในภาคเมือง วาทกรรมหลักที่ถูกนำมาใช้ก็คือ ความมั่นคงทางด้านอาหารและ ครัวโลก”  เรื่องสิ่งแวดล้อมในประเด็นของการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงกลายเป็นประเด็นของความมั่นคงยั่งยืนทางอาหารที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของทุนข้ามชาติอยู่เบื้องหลัง นั่นคือความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยการบำรุงดินเพื่อเพิ่มธาตุอาหารและส่งผลต่อผลผลิตที่จะเพิ่มมากขึ้น อันเป็นเรื่องของปุ๋ยเคมีที่มีโปแตชเป็นส่วนประกอบ โดยการชี้ให้เนถึงความจำเป็นของประเทศเกษตรกรรมว่า  การเกษตรสัมพันธ์กับการใช้ปุ๋ย การสั่งซื้อปุ๋ยจากต่างประเทศ ของเรา(ไทย)ปีละไม่ต่ำกว่า2,000ล้านบาท[14] แม้ว่าปุ๋ยเคมีจะมีความสำคัญต่อเกษตรกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนความมั่นคงทางอาหาร แต่ในอีกทิศทางหนึ่ง ปัญหาสภาวะความเสื่อมคุณภาพของดินและสารพิษ สารเคมีตกค้างในพื้นดินก็กำลังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศต่างๆตลอดมาตั้งแต่ช่วงของการปฎิวัติการเกษตรหรือปฏิวัติเขียว(Green Evolution) ที่มีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พืชจากต่างประเทศเข้ามาแทนเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น การนำปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเข้ามาเพื่อเพิ่มผลผลิต  ทำให้มุมมองในความยั่งยืนทางด้านการเกษตรต้องหันมาให้ความสำคัญกับปุ๋ยชีวภาพ หรือ ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ต้องการสร้างความสมดุลย์ยั่งยืนให้กับระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม  แน่นอนว่าความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ของทั้งสองกลุ่มแม้จะคล้ายคลึงกันแต่แตกต่างกัน ในเรื่องเป้าหมาย ซึ่งบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จะเน้นความยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับคนทั้งโลกคือมองถึงการเป็นแหล่งอาหารของโลกหรือครัวโลก โดยมีเรื่องของเศรษฐกิจหรือการลงทุนเป็นพื้นฐานสำคัญ ในฐานะผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ของโลก  ในขณะที่แนวคิดของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลับมองไปที่เรื่องของความยั่งยืนของเกษตรกรรม ในฐานะที่จะสร้างความยั่งยืนกับระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นที่ความยั่งยืน ความสมดุลย์ และความพอเพียง ดังที่ผู้อาวุโสท่านหนึ่งบอกว่า ยั่งยืน คือมั่นคือยืนยาว เกษตรยั่งยืน คือจั๋งเฮาเฮ็ดนากิน มีพออยู่พอกิน[15] ซึ่งเป็นความยั่งยืนที่เน้นในเรื่องของปัจเจกชนและชุมชน และปรัชญาของการดำรงชีวิตแบบพอเพียงตามกระแสพระราชดำรัส อันสอดคล้องกับวิถีชีวิตและไปด้วยกันได้กับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่รัฐมักกล่าวอ้าง แม้ว่ารัฐบาลก็ยังคงเชื่อมั่นในระบบทุนนิยม การลงทุนภาคเศรษฐกิจและการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอย่างเหนียวแน่น
จากข้างต้นเป็นการสรุปเนื้อหามิติความสัมพันธ์ของวาทกรรมจากตารางการวิเคราะห์วาทกรรม Phil Mcmanus ที่ประยุกต์ใช้ในการศึกษาครั้งนี้และในส่วนสุดท้ายจะเป็นการวิเคราะห์ถึงความเป็นรูปสัญญะที่ล่องลอยของการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อถอดรื้อและแสดงให้เห็นกระบวนการทางอำนาจในการสร้างความหมายและการบิดเบือนอุดมการณ์ต่างๆที่อยู่เบื้องหลังดังนี้คือ
1)เนื่องจากสรรพสิ่งต่างๆในโลกไม่ใช่แค่เรื่องภาษาแต่ยังรวมถึงเรื่องอื่นๆได้กลายสภาพเป็นสัญญะที่เรียกได้ว่าเป็นรูปสัญญะที่ล่องลอย(Floating signifier)ของเลวี่-สเตร้าท์ หรือโลกแห่งการเลียนแบบหรือห่างไกลจากความจริง(Simulation)ในแบบของโบริยาร์ด ที่วัตถุสินค้าไม่ได้มีนัยแค่การใช้สอยหรือการแลกเปลี่ยนแต่ยังมีหน้าที่ในเชิงสัญญะ ซึ่งในตัวสรรพสิ่งนั้นๆไม่มีความหมายสมบูรณ์เด็ดขาดแต่มันต้องอาศัยการสร้างความหมายที่ไม่รู้จบภายใต้การผสมผสานแลกเปลี่ยนตัวเองกับสัญญะอื่นๆโดยมีกฎเกณฑ์ชุดหนึ่งกำหนด การพัฒนาที่ยั่งยืนในฐานะที่เป็นสัญญะของภาษาในเวทีสิ่งแวดล้อมระดับโลก และเป็นวาทกรรมที่ประกอบด้วยคุณค่าชุดหนึ่งที่มนุษยชาติยอมรับร่วมกัน ในฐานะที่เป็นหนทางในการแก้ไขวิกฤตการณ์ปัญหาของโลก ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาและถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกโดยนักวิชาการ นักพัฒนา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน นี่คือคุณลักษณะที่สำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการที่เรียกว่า รูปสัญญะที่ล่องลอย (Floating Signifier)  ซึ่งเกิดจากการกระจัดกระจายของความหมายที่หลากหลายจนมีความบิดเบือนแตกต่างจากต้นฉบับหรือรากเหง้าดั้งเดิม ทำให้ไม่มีความหมายใดที่ยุติเด็ดขาดสมบูรณ์แต่มันถูกต่อเติม เปลี่ยนแปลงและใช้อย่างมากโดยไม่มีการตั้งคำถาม ด้วยกระบวนการของสัญญะที่ทำให้สรรพสิ่งในสังคมกลายเป็นเรื่องของธรรมชาติความเป็นปกติธรรมดา การพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงกลายมาเป็นสิ่งที่เปล่ากลวงความหมายแต่มีคุณค่าชุดหนึ่งที่คนในสังคมหรือชุมชนที่ใช้ภาษานั้นยอมรับ ในแง่บวกที่เป็นความดีงามหรือจริยธรรมของการพัฒนา ควบคู่ไปกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างน้อยก็ความมั่นคงยั่งยืน แน่นอนว่าในระดับเวทีโลก Sustainable Development ได้กลายเป็นศัพท์สำคัญที่จะถูกนำไปตีความด้วยภาษาของประเทศต่างๆเพื่อนำไปสู่ยุทธศาสตร์ของการปฎิบัติให้บังเกิดผล แน่นอนเมื่อคำๆนี้ถูกนำมาใช้ในเมืองไทยที่ยังไม่รู้ความหมายและไม่มีรูปศัพท์ในภาษาไทยของคำๆนี้  เนื่องจากเรายังไม่มีกฎเกณฑ์หรือรหัส(Code) ที่จะกำหนดให้เราพูด/เขียนในเรื่องนั้น ซึ่งFoucault เรียกว่าสิ่งที่เราคิดไม่ถึง(Unthought) นั่นคือถึงแม้จะมีการสร้างรูปสัญญะโดยการถอดความหรือแปลความจากคำว่าSustainable Development แต่ด้วยความที่เราไม่มีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับมันและไม่รู้เกี่ยวกับมัน ทำให้ความหมายสัญญะไม่มี  ซี่งทำให้รูปสัญญะต้องล่องลอยเพื่อหาความหมายเข้ามาเกาะเกี่ยวและสร้างความหมายให้กับมัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพบในการใช้คำภาษาต่างประเทศในภาษาไทย ที่เรามักจะแปลความและสร้างรูปสัญญะให้กับมันก่อนที่จะต่อเติมความหมายให้กับมัน จนคำบางคำกลายเป็นรูปสัญญะที่ถูกใช้มากจนไม่รู้ความหมายที่แน่นอน เช่น บูรณาการ มาจาก Integrateหรือองค์รวมซึ่งมาจาก Holistic เป็นต้น ซึ่งกระบวนการกระจัดกระจายของความหมายจึงเสมือนกับเป็นกระบวนการลดทอนความหมายที่สมบูรณ์เด็ดขาดในตัวมันเองด้วย ในเมื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนประกอบด้วยแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีลักษณะตอกย้ำและกดทับปิดกั้นบางสิ่งไปพร้อมกัน ที่เห็นได้ชัดก็คือการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก็เป็นเสมือนกระบวนการตอกย้ำวาทกรรมที่ว่าด้วยการพัฒนาและกดทับ ปิดกั้น ลดทอนสภาวะความเป็นธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ลงมาเป็นเรื่องของวัตถุ(object) ในกระบวนการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์ โดยไม่ได้ตั้งคำถามหรือท้าทายการพัฒนาที่สร้างความเสื่อมโทรมให้กับสิ่งแวดล้อมมาหลายทศวรรษแต่อย่างใด
2)รูปสัญญะของคำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเสมือน รูปสัญญะที่น่าพิสมัยหรือพึงปรารถนาSignifier of Desire ที่ไม่ได้มีความหมายหรือคุณค่าในเรื่องของประโยชน์ใช้สอยหรือมูลค่าในการแลกเปลี่ยนที่นำทรัพยากรธรรมาชาติมาสร้างความเจริญมั่งคั่งทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่มันเป็นรูปสัญญะที่สร้างความพึงพอใจในการสร้างคุณค่าและต่อเติมความหมายอย่างหลากหลายไม่รู้จบ การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงกลายเป็นสัญญะตัวหนึ่งที่ล่องลอยเปล่ากลวงไร้ความหมายและรอการผสมแลกเปลี่ยนกับสัญญะอื่นๆ เพื่อสร้างความหมายใหม่ให้กับตัวเอง ซึ่งเมื่อนำมาวิเคราะห์ในกรณีของโครงการเหมืองแร่โปแตชที่อุดรธานี แน่นอนว่า ความหมายที่เข้ามาเกาะเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน มีความหลากหลาย ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม ประเพณีวัฒนธรรม ความสามัคคี ความเข้มแข็งของชุมชน ความยาวนานมั่นคง ชาติ ผลประโยชน์ส่วนรวม การมีส่วนร่วม และอื่นๆ ซึ่งในที่สุดความหมายต่างๆที่กลุ่มต่างๆใส่เข้าไปให้กับการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ถูกนำมาใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการปฎิบัติเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเป็นสิ่งที่นำไปสู่แนวทางการตัดสินใจโครงการในอนาคต หากเราจะวิเคราะห์โดยใช้แนวคิดการมองมายาคติของBarth มาช่วยอธิบาย จะทำให้เราพบว่า ในระดับแรก การพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนของกลุ่มต่างๆ มีนัยที่ไม่แตกต่างกันเนื่องจากเป็นขั้นที่มีการพูดถึงหรือนำเอาภาษานั้นมาใช้ตรงๆ เนื่องจากมันมีคุณค่าชุด กฏเกณฑ์หนึ่งกำกับอยู่ ทุกคนจึงสามารถนำคำๆนี้มาใช้ได้โดยไม่ต้องพูดถึงความหมายเพราะโดยนัยมันมีคุณค่าที่ทุกคนในสังคมยอมรับ ในระดับที่2 เป็นระดับที่เราต้องมาดูความหมายซึ่งแน่นอนว่ามันมีความแตกต่างหลากหลาย ดังนั้นมันจึงมีสถานะเป็นรูปสัญญะที่ล่องลอย ที่แต่ละกลุ่มสามารถต่อเติมความหมาย ทำลาย ลดทอน เปลี่ยนแปลงบิดเบือนความหมายเดิมและสร้างความหมายใหม่หรือสร้างมายาคติความเป็นธรรมชาติให้กับมัน และระดับสุดท้าย ก็คือการเข้าใจอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังซึ่งเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องจากระดับที่2 ที่เราเข้าใจและมองเห็นมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นก็จะทำให้เรามองเห็นอุดมการณ์อันหลากหลายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังได้ (ดูได้จากดังแผนภาพวิธีการวิเคราะห์มายาคติและรูปสัญญะที่ล่องลอยของการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคผนวกที่3.)
3)แม้ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาสำหรับโลกและสังคม แต่ด้วยความที่มันมีสถานะเป็นรูปสัญญะที่ล่องลอย(Floating Signifier) มันจึงเป็นเสมือนพื้นที่ว่างให้กับผู้คนกลุ่มต่างๆ ที่จะเข้ามาใช้และฉกฉวยประโยชน์จากมัน โดยการใส่คุณค่าความหมายให้กับสิ่งที่เรียกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนที่ยั่งยืน, การบริหารจัดการที่ยั่งยืน, สังคมยั่งยืน, เศรษฐกิจที่ยั่งยืน,  ความพอเพียง และการมีส่วนร่วมของประชาชน ฯลฯ คำว่ายั่งยืนเมื่อเกาะเกี่ยวกับคำใดๆแล้วจึงกลายเป็นคำที่มีคุณค่าและคนทั่วไปให้การยอมรับและปรารถนาจะให้เกิดขึ้น อย่างเช่น ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ปฏิเสธการพัฒนาหรือความเจริญเพราะการพัฒนาคือความเจริญ ที่จะทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น ดังนั้นสิ่งที่บริษัทได้ดำเนินการกิจกรรมต่างๆในชุมชน จึงมีสถานะไม่แตกต่างจากการพัฒนาของรัฐ เช่นกองทุนหมู่บ้าน งบประมาณพัฒนาหมู่บ้าน สร้างถนนหนทาง สร้างกลุ่มอาชีพ  กิจกรรมต่างๆที่บริษัททำ เช่นส่งเสริมการเพาะเห็ด เลี้ยงไก่ชน บริจาคเงินซ่อมแซมวัด ให้หมู่บ้าน ช่วยเหลืองานบุญประเพณีและอื่นๆ จึงเป็นสิ่งที่ตอกย้ำและผลิตซ้ำวาทกรรมว่าด้วยการพัฒนาเพื่อส่งผลให้ชุมชนเกิดการยอมรับ ในตัวบริษัท ไม่ใช่แค่ฐานะของการเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนอย่างที่บริษัทต้องการเท่านั้น แต่เป็นการยอมรับของชุมชนที่จะมอบสิทธิอันชอบธรรมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดิน คือแร่โปแตช ซึ่งก็ถูกทำให้มีสภาพเป็นสัญญะภายใต้ระบบทุนนิยมและการช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรงและแนบเนียน เพราะการพัฒนาแบบยั่งยืน มิได้ต่อต้านระบบทุนนิยมแต่อย่างใด แต่พยายามที่จะประสานตัวมันเองเข้ากับระบบทุนนิยม  ที่ได้ทำให้การพัฒนาและสิ่งแวดล้อมที่เคยเป็นปริปักษ์กันสามารถดำรงอยู่หรือไปด้วยกันได้ โดยลดทอนปัญหาสิ่งแวดล้อมมาสู่แนวคิดในการบริหารจัดการอย่างฉลาด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั่นคือการพัฒนาที่ยั่งยืนได้สร้างความชอบธรรมให้กับระบบทุนนิยม ที่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่สนามสิ่งแวดล้อม โดยไม่ถูกต่อต้านหรือปฎิเสธ ดังเราจะเห็นได้จาก กลุ่มอุตสาหกรรมสีเขียว ธุรกิจสีเขียว ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่แสดงให้เห็นจริยธรรมอันสูงส่งและความรับผิดชอบต่อชุมชนที่กลุ่มทุนอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจเหล่านั้นได้เข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ให้กับตนเองและตอบแทนกลับมาให้กับชุมชน ที่เรียกว่าส้วนแบ่งจากการพัฒนา เช่นสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย การใช้ระบบหมุนเวียนน้ำ หรือติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบและดักกรองฝุ่น เป็นต้น เราจะพบว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นเสมือนรูปสัญญะที่ล่องลอยนั้นมันมีสัญญะย่อยๆอื่นๆเข้ามาเกาะยึดอยู่มากมาย เพื่อสร้างคุณค่าและความหมายเฉพาะชุดหนึ่ง เพื่อทำให้เกิดการยอมรับโดยดุษฎีถึงคุณค่าดังกล่าวโดยไม่คัดค้านหรือตั้งคำถามกับมัน ดังที่Barthes เรียกว่ามายาคตินั่นเอง 
4)ความน่าสนใจของการวิเคราะห์รูปสัญญะที่ล่องลอยคือการที่มันไม่มีความหมายที่แน่นอนตายตัว(Fix) แต่มีความเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อันเนื่องมาจากการเข้ามาใช้พื้นที่ของคนที่หลากหลายกลุ่มในการเข้ามาต่อเติมความหมายและให้คุณค่ากับมันจนทำให้ความหมายมีการกระจัดกระจาย บางครั้งก็เหมือนกัน คล้ายคลึงกัน อ้างอิงถึงสิ่งเดียวกันหรือแตกต่างกัน ต่างเลียนแบบ ผลิตซ้ำซึ่งกันและกัน อย่างไม่รู้จบสิ้น เมื่อเลียนแบบหรือทำซ้ำกันมากขึ้น มันก็จะยิ่งแตกต่างหรือห่างไกลจากต้นฉบับหรือรากเหง้าที่แท้จริงมากขึ้น เหมือนสำเนาเอกสาร ที่ถ่ายก๊อปปี้จนเลือนลางจากต้นฉบับ ในที่สุดมันก็ไม่สามารถหาแหล่งกำเนิดและต้นตอที่แท้จริงของมันได้ นั่นก็แสดงว่า แต่ละแบบหรือภาพลักษณ์ที่ปรากฎออกมาที่หลากหลาย มันก็มีความหมายเอกลักษณ์ในตัวเอง ไม่มีใครเด่นกว่าหรือเหนือกว่าใครในการอธิบายหรือเป็นเจ้าทางความหมาย เพราะทุกๆสิ่งก็กลายสภาพไปเป็นเพียงสัญญะแบบหนึ่งเท่านั้น  ที่ไม่ได้อิงกับความเป็นจริงแต่อิงอยู่กับความจริงในแง่ของสัญลักษณ์การแลกเปลี่ยนความหมายเท่านั้น ดังนั้นการพัฒนาที่ยั่งยืน แม้มันจะไม่มีความหมายในตัวของมันเองแต่มันก็มีคุณค่าชุดหนึ่งแม้ว่าจะถูกต่อเติมหรือสร้างความหมายที่หลากหลายเช่น สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เศรษฐกิจที่ยั่งยืน อุตสาหกรรมที่ยั่งยืนหรือการจัดการที่ยั่งยืนก็ล้วนแต่เป็นสัญญะที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้กฎเกณฑ์ความหมายชุดหนึ่งที่ได้สร้างคุณค่าให้ความหมายที่เปล่ากลวงของมันมีความหมายขึ้นมาและเป็นที่ยอมรับในชุมชนสังคมที่ใช้ภาษานั้น         
ดังนั้นบทสนทนาอันหลากหลายที่ปรากฎในพื้นที่ แม้จะวางอยู่บนวาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน อันเป็นวาทกรรมกระแสหลักที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลก ในฐานะที่เป็นแนวทางในการพัฒนาที่จะสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมควบคู่ไปกับด้านสิ่งแวดล้อม และและแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ของโลก  แต่กระบวนการสร้างคุณค่าและให้นิยามความหมายมีความแตกต่างกัน อันเนื่องมาจากอุดมการณ์เบื้องหลังหรือเป้าหมายคนละชุด  ทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นสนามแห่งการต่อสู้ช่วงชิงเพื่อสร้างวาทกรรม ความรู้และความจริงเกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนาและสิ่งวแดล้อม เพื่อให้เกิดการยอมรับในสังคม การเข้าไปใช้สนามแห่งวาทกรรมของกลุ่มที่หลากหลายทำให้ความหมายของคำๆนี้ฟุ้งกระจายและนำไปสู่การเปล่ากลวงทางความหมายหรือกลายเป็นรูปสัญญะที่ล่องลอยไปอย่างไม่รู้จบ และการที่รูปสัญญะกับความหมายสัญญะ ไม่สื่อความระหว่างกันเรื่อยๆ และนำไปสู่การเข้าใกล้อุดมการณ์มากขึ้นเท่าไหร่ เรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเด็นต่างๆ อาจไม่ต้องถกเถียงกันอีกต่อไป แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของโครงการเหมืองแร่โปแตชของกลุ่มต่างๆ จริงแล้วความยั่งยืนที่ถูกกล่าวอ้างก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากไปกว่าอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลัง เพราะโดยตัวของมันเองก็ไม่มีความหมาย ดังนั้นจึงไม่มีใครที่สามารถผูกขาดหรือควบคุมมันได้  ซึ่งหากเราจะวิเคราะห์เรื่องของวาทกรรม ในการสร้างความรู้ ความจริง ความสำคัญของมันอยู่ที่การสถาปนาหรือสร้างตัวตนของความรู้และการสร้างปฎิบัติการทางวาทกรรม โดยดูที่ตัวข้อมูลที่ส่งผ่าน(Information of Discourse) และดูว่าใครเป็นคนพูด(Master of Discourse)มากกว่า นี่คือคุณูปการที่สำคัญของการศึกษาวาทกรรม เพราะอำนาจไม่ได้อยู่บนฐานของปัจัยการผลิตหรือรูปแบบการผลิต(Mode Of Production) อย่างที่พวกMarxist ยึดถือ อำนาจในปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนมมากกว่าและเป็นอำนาจในลักษณะที่กระจายเป็นวงกว้าง โดยผ่านกระบวนการสร้างอำนาจผ่านการสร้างวาทกรรมให้กับสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา ที่ฟูโกเรียกว่าความรู้ ความจริง ที่ทำให้คนกลุ่มต่งๆต้องเข้ามาช่วงชิงต่อสู้กันในทางความหมาย ดังเช่นกรณีของโครงการเหมืองแร่โปแตช แม้ว่าแต่ละกลุ่มจะอ้างถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นเดียวกัน แต่นัยหรือความหมายนั่นย่อมเป็นคนละประเด็นอย่างแน่นอน ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เท่ากับการที่เรารู้และเข้าใจถึงความจริงอันว่างเปล่า ในเมื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นคำที่กล่าวกลวงและไร้ซึ่งความหมาย คำกล่าวของชาวบ้านโคกสง่าท่านหนึ่งจึงมีความน่าสนใจไม่น้อยว่า
ยั่งยืน สิบ่ม อ้างซื่อๆ  รัฐบริษัท ยังบ่ฮู้ ยั่งยืนคงทนบ่มี ชอบเสียหาย ทำลาย แต่บ่ฮู้ยั่งยืนคืออะไร ยั่งยืน สิต้องบ่มีเสียหาย การขุดเจาะต่างๆ บ่มีทรุดมีพัง ยั่งยืนจั๋งใดเฮ็ดให้สังคมแตกแยก แต่กี้เคยกินนำกัน มีบุญมีทาน ตอนนี้กินนำกันบ่ได้ สิฆ่ากัน””[16]
น่าสนใจว่าชาวบ้านผู้นี้ได้สะท้อนความเข้าใจในโลกของภาษา ภายใต้ระนาบของความรู้ ความจริง พวกเขารู้ว่าคำพูด ภาษา วาทกรรมเหล่านี้ ที่รัฐบาลและกลุ่มทุนข้ามชาติ นักพัฒนาเอกชนนำมาใช้กัน เป็นรูปสัญญะที่ล่องลอยเปล่ากลวงความหมาย ที่เป็นคำที่มีความหมายคลุมเคลือ ที่สามารถสร้างอำนาจทางการเมืองของภาษาในการสอดใส่ต่อเติมความหมายอะไรลงไปก็ได้ แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่การสร้างมายาคติให้กับคนในพื้นที่ ซึ่งวาทกรรมว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เข้ามา สร้างภาพของการบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติแร่โปแตชที่อยู่ใต้พื้นดินของพวกเขา  และการก้าวข้ามเข้าไปสู่ความเจริญในอนาคตที่รออยู่ตรงหน้า โดยฝากอนาคตและความมั่นคงของชีวิตไว้กับเทคโนโลยี กลุ่มทุนข้ามชาติ รวมถึงรัฐบาล ที่จะทำให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนปรากฎผลเป็นรูปธรรมและเป็นเสมือนเครื่องนำทาง แรงบันดาลใจและสิ่งที่พึงปรารถนาสำหรับคนในพื้นที่ ที่อยากสัมผัสกับความยั่งยืนที่อยู่ข้างหน้าอันห่างไกลและไม่มีวันที่จะเข้าถึงมันได้ ดังนั้นหากการพัฒนาที่ยั่งยืนคือสิทธิของคนในพื้นที่ที่จะกำหนดชะตาชีวิตและตัดสินใจในอนาคตของพวกเขาเอง ทั้งกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มต่อต้านก็มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะกำหนดความยั่งยืนในแบบฉบับตัวเอง  และหากการพัฒนาประเทศหลายทศวรรษที่ผ่านมาสร้างความเสือมโทรมและทำลายระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อมของมนุษย์อย่างมากมายมหาศาล การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นวาทกรรมกระแสหลักที่เป็นเสมือนทางเลือกใหม่ของการพัฒนาที่มนุษยชาติคิดว่าจะนำโลกไปสู่การคลี่คลายปัญหาวิกฤต แม้ตัวของมันจะมีคุณค่าที่คนทั่วโลกและในสังคมให้การยอมรับในฐานะที่เป็นคู่ขัดแย้งกับความไม่ยั่งยืน แต่แท้ที่จริงแล้วตัวมันเองก็เป็นสิ่งที่เลื่อนลอยเปล่ากลวงความหมายอย่างสิ้นเชิง และยังคงตอกย้ำวาทกรรมการพัฒนาแบบเดิมๆและสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้อย่างอิสระเสรีมากขึ้น ไม่ว่ากับกลุ่มทุน ข้ามชาติ ธุรกิจข้ามชาติ ได้มากขึ้นเท่านั้นเอง เมื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ได้มีนัยในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากไปกว่าการลดทอนสิ่งแวดล้อมเข้าไปสู่เรื่องของการบริหารจัดการหรือการสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจ การออกมาต่อสู้เคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประชาสังคมอุดรธานีและกลุ่มต่อต้านเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี จึงมีความชอบธรรมอย่างยิ่ง ในฐานะที่การต่อสู้เคลื่อนไหวและแสดงพลังของพวกเขาก็เป็นสิ่งที่นำไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศได้เช่นเดียวกัน เพราะโลกในปัจจุบันสรรพสิ่งต่างๆ ไม่ได้มีความสมบูรณ์ หรือมีความหมายยุติเด็ดขาดแต่อย่างใด มันมีการบิดเบี้ยว บิดเบือน  ฉกฉวย แย่งชิง และอ้างอิงซึ่งกันและกัน  ไม่มีใครผูกขาดวาทกรรมได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว   คนทุกกลุ่มสามารถที่จะต่อเติมและสร้างความหมายให้กับสิ่งต่างๆในสังคม  ในการสถาปนา ความรู้ ความจริง  อำนาจและตัวตนของตนเองในสังคม ผ่านปฏิบัติการทางภาษา ภายใต้สิ่งที่พูด (Statement/ e’nonce’) ดังนั้นการที่รัฐและบริษัทข้ามชาติ ได้สร้างการกดทับ สกัดกั้น ขุมขัง กีดกัน การให้นิยามความหมายของชาวบ้าน ที่เป็นเรื่องของความรู้สึก ความหวงแหนต่อทรัพยากร  การเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านตำนานนิทานพื้นบ้าน  ในการต่อสู้กับทุนข้ามชาติ ไว้ภายใต้การปรากฏของสิ่งที่ถูกพูดผ่านเรื่องของ การพัฒนาที่ยั่งยืน ของรัฐบาลและกลุ่มทุนเหล่านี้ พร้อมกับการปกปิดการไม่ปรากฏ ภายใต้ความไร้เหตุผล ความเหลวไหล ไร้สาระ จึงไม่ใช่สิ่งที่ยุติธรรมต่อการกำหนดแนวทางและทิศทางของการพัฒนาประเทศ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่  ในเมื่อทุกฝ่ายมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้เช่นกัน นี่คือคุณูปการสำคัญในการศึกษาและถกเถียงว่าด้วยเรื่องของรูปสัญญะที่ล่องลอย ที่สะท้อนให้เห็นว่า สรรพสิ่งต่างๆล้วนสร้างความหมายจากความเปล่ากลลวงของตัวเองทั้งสิ้น ภายใต้ความแตกต่างที่เป็นสิ่งที่สร้างความหมาย และการไม่ปรากฏที่ทำให้การปรากฏมีตัวตนขึ้นมา ภายใต้โลกแห่งสัญญะในสังคมปัจจุบัน


ข้อมูลภาคสนามสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่โครงการ
1.นางสาวหนูเพียนร โคชารี ชาวบ้านโคกสง่า ต.ห้วยสามพาด กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี
2.พ่อถาวร มโนศิลป์ ชาวบ้านโนนแสวง ต.นาม่วง กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี
3.แม่ใจ ระเบียบโพธิ์ ชาวบ้าน อุ่มจาน ต.อุ่มจาน กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี
4.แม่สา ดวงปาโคตร ชาวบ้านโนนสมบูรณ์หมู่ที่3 .ห้วยสามพาด กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.
อุดรธานี
5.พ่อประจวบ แสนพงษ์ ชาวบ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี
6.นางมณี บุญรอด ชาวบ้านสังคม ต.ห้วยสามพาด กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี
7.คุณเนาวรัตน์ ดาวเรือง ชาวบ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี
8.คุณ เดชา คำเบ้าเมืองชาวบ้านสะอาดนามูล ต.ห้วยสามพาด กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี







[1] ดูข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตช รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและกฎหมายแร่อย่างละเอียด ได้จากเอกสารประกอบการสัมมนาโครงการเหมืองแร่โพแทชอุกดรธานีปัญหาและแนวทางแก้ไข วันที่26-9 มีนาคม2546 ที่สถาบันวิจัยสภางวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[2] 1)แอ่งเหนือ/แอ่งสกลนคร คลุมเนื้อที่ทั้งหมด17,000 ตร.กม.อยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร อุดรธานี หนองคายและนครพนม  2)แอ่งใต้หรือแอ่งโคราช คลุมเนื้อที่33,000ตร.กม. อยู่ในเขตจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุบลราชธานี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ยโสธร ศรีษะเกษ บุรีรัมย์และสุรินทร์
[3] มาตรา88/3 การทำเหมืองใต้ดินผ่านใต้พื้นดินของที่ดินที่มิใช่ที่ที่ว่าง หาฃกอยู่ในระดับความลึกจากผิวดินไม่เกิน100เมตรผุ้ยื่นคำขอประทานบัตรต้องแวสดงหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าผู้ขอจะมีสิทธิทำเหมืองในเขตที่ดินนั้นได้(ดูจากพระราชบัญญัติแร่(ฉบับบที่5)..2545และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมตามมาตรา88/6มาตรา88/9 มาตรา88/10และมาตรา88/11ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ,2547)
[4] ข้อความประชาสัมพันธ์ของบริษัทเอเชียแปซิฟิกโปแตช  ลงในหนังสือพิมพ์บ้านเชียงโพสต์ 31 มีนาคม2547,หน้า15
[5] คำแถลงการณ์ของกลุ่มสนับสนุนโดยจ...ฉลอง ภูวิลัย
[6] จากเอกสารชื่อ เหมืองแร่โปแตช คนอุดรจะได้อะไร หนังสือพิมพ์เสียงอีสาน15..-15..2546,หน้า2-3
[7] นายถาวร มโนศิลป์ เกษตรบ้านโนนแสวงหมู่ที่11 .นาม่วง กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี
[8] พ่อถาวร มโนศิลป์ เกษตรกรบ้านโนนแสวง กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี
[9] นายโสภณ สุภาพงษ์ ส..กรุงเทพฯ ข่าวท้องถิ่น มิ..2546,หน้า2
[10] พ่อประจวบ แสนพงษ์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กุมภวาโพสต์ฉบับสยามชน16..-15..2546หน้า2
[11] จากเอกสารกุศโลบายของบรรพบุรุษเราโดยกลุ่มสนับสนุนโครงการเหมืองแร่โปแตช
[12] จากเอกสารความเป็นมาของประเพณีบุญกุ้มข้าวใหญ่ ของกลุ่มสนับสนุนเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี
[13] บันทึกสนามสัมภาษณ์ พ่อประจวบ แสนพงษ์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี วันที่5 มีนาคม 2548
[14]  อ้างจากสารจากใจโปแตช ปีที่1 ฉบับที่1 ..-..2547
[15] บันทึกสนามสัมภาษณ์ยายสา ดวงปาโคตร อายุ74 ปี ชาวบ้านโนนสมบูรณ์ กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี วันที่5 มีนาคม 2548
[16] สัมภาษณ์พี่หนู เพียร โคชารี ชาวบ้านโคกสง่า ซึ่งตอบเป็นภาษาอีสานหมายความว่า รัฐบาลบริษัทไม่รู้ว่ายั่งยืนคืออะไร  ความยั่งยืนไม่มี ไม่เชื่อ เพราะรัฐบาลบริษัทชอบทำลายทำความเสียหาย สังคมแตกแยกพี่น้องเคยกินอยู่ทำบุญร่วมกันทำไม่ได้จะฆ่ากัน นี่ยั่งยืนไหม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...