วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

โรล็อง บาร์ธ กับการศึกษาแนวสัญวิทยา(Semiology) นัฐวุฒิ สิงห์กุล

โรล็อง บาร์ธ กับการศึกษาแนวสัญวิทยา(Semiology)

การกำหนดเนื้อหา ขอบเขตและวิธีการ ที่แตกต่างของสัญวิทยาและสัญศาสตร์ อันมีรากฐานมาจากโซซูร์และเพิร์ซ ทำให้มีผู้ติดตามที่มากมาย ในการประยุกต์ใช้วิธีการดังกล่าวในการศึกษาเชิงสัญญะ ดังเช่นสัญศาสตร์ของความไร้สำนึกของลากอง(Jacques-Lacan) สัญศาสตร์ในรหัสเกี่ยวกับเครือญาติและนิทานปรัมปราของเลวี่-สเตร๊าท์(Levi-Strauss) สัญศาสตร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์และความขัดแย้งในสังคมของออทุสแซร์(Louis Authusser) สัญศาสตร์ทางวรรณคดีของบาร์ธ(Roland Barthes) และสัญศาสตร์เกี่ยวกับวาทกรรมทางประวัติศาสตร์และเอกสารหลักฐานของฟูโก(Micheal Foucault) และอัมเบอร์โต้ อีโก้(Umbeto Eco)
ในสัญศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรมยุคAvant-garde โรล็องต์ บาร์ธ(Roland Barthes1915-1980) นักวรรณคดีวิจารณ์และนักสัญวิทยาชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ติดตามอย่างใกล้ชิดกับโซซูร์ ในคู่ของความสัมพันธ์ที่เรียกว่า รูปสัญญะและความหมายสัญญะ ที่ได้ก้าวข้ามขอบเขตทางภาษาไปสู่การศึกษารหัสทางวัฒนธรรม ที่มีโครงสร้างเหมือนภาษา  บาร์ธ ได้ทำการศึกษาสัญญะ เช่นเดียวกับรหัสทางวัฒนธรรม หรือหน่วยของการสื่อความหมายที่มีความแตกต่างหลากหลาย ผ่านการวิเคราะห์ วัตถุ สิ่งของ และเหตุการณ์ทางวัฒนธรรม  เช่น เสื้อผ้า อาหาร สบู่ ผงซักฟอก ไวน์ ของเล่น หอไอเฟล เหตุการณ์น้ำท่วมในฝรั่งเศส นิตยาสาร โบชัวร์ท่องเที่ยว และอื่นๆ ซึ่งทุกๆสิ่งในสังคมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ล้วนเป็นสัญญะทั้งสิ้น ภายใต้กฎเกณฑ์และรหัสในระบบวัฒนธรรม ที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของมายาคติ(Myth) ที่คนในสังคมยอมรับอย่างไม่ตั้งคำถาม
บาร์ธ ให้ความสำคัญกับเรื่องของรหัส(Code)  ที่กำหนดความคิดประสบการณ์ของมนุษย์ โดยการสร้างรหัสผ่านภาษา ซึ่งรหัสกลายเป็นสิ่งที่ถูกคิดค้นและเป็นเสมือนพันธะสัญญาร่วมกันในสังคม  ภาษาจึงบรรจุด้วยรหัสที่มากมาย รหัสจึงไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์หรือมีความหมายในตัวของมันเอง แต่ความหมายของมันเกิดจากความสัมพันธ์ที่ประกอบสร้างภายใต้กฎเกกณฑ์ชุดหนึ่งในลักษณะทางภาษา  ดังที่บาร์ธ กล่าวว่ารูปสัญญะและความหมายสัญญะถูกประกอบสร้างโดยสัญญะ ดังเช่น ช่อกุหลาบ ที่เป็นเหมือนรูปสัญญะ กับความรู้สึกหลงใหลรักใคร่ ที่เป็นความหมายสัญญะ ที่ถูกผลิตโดยสัญญะของความเป็นช่อกุหลาบ รูปสัญญะจึงเป็นสิ่งที่ว่างเปล่า และมันเป็นสิ่งที่จะต้องถูกเติมเต็ม โดยความคิดว่าอะไรที่ควรจะเติม(Hawkes:1977,หน้า...) กระบวนการสร้างความหมาย จึงเกี่ยวข้องกัน ในความตั้งใจเจตนาของผู้กระทำ และธรรมชาติของสังคมที่เป็นแบบแผน รูปแบบธรรมเนียม  ดังที่ บาร์ธ บอกว่า
“....การเลือกก้อนหินสีดำ ฉันสามารถที่จะค้นพบการบ่งชี้ในหนทางที่หลากหลายของมัน มันเป็นสิ่งที่จะสร้างการบ่งชี้ในหนทางที่หลากหลายของมัน มันอาจเป็นสิ่งที่เป็นรูปสัญญะเท่านั้น  แต่ถ้าพินิจพิจารณามันพร้อมกับความหมายสัญญะที่ชัดเจนแน่นอน....ในกรณีที่ลงคะแนนอย่างลับๆหรือไม่เปิดเผยมันก็จะกลายเป็นสัญญะ”(Mythology:133)
กระบวนการสร้างความหมาย ที่ไม่สิ้นสุดนี่เองที่บาร์ธ ได้เคลื่อนย้ายไปสู่การพิจารณาเรื่องมายาคติ ที่บ่งชี้หรือแสดงให้เห็นในสังคม ในความสลับซับซ้อนและการสร้างความจริง ความน่าเชื่อถื่อ และสิทธิในการดำรงอยู่ของมัน  มายาคติ จึงเป็นผลผลิตลำดับที่สองที่เกิดขึ้นจากสัญญะก่อนหน้ามัน ในระดับที่1 ที่ตวามหมายสัญญะในระดับที่1 มันกลายเป็นรูปสัญญะในระดับที่2 ที่สามารถต่อเติมความหมายได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ที่เขาเรียกว่า รูปสัญญะที่ว่างเปล่า (Empty Signifier) ดังที่บาร์ธได้แสดงให้เห็นว่า
“ฉันอยู่ที่ร้านตัดผม ที่ซึ่งเขาได้ถ่ายเอกสารหน้าปกนิตยาสาร Paris-Match ให้กับฉัน บนหน้าปก ภาพเด็กนิโกรหนุ่ม ในชุดเครื่องแบบทหารฝรั่งเศส กำลังทำความเคารพพร้อมกับระดับของสายตาที่มองขึ้นไป และถูกจัดวางอย่างค่อนข้างเหมาะสม อยู่บนแถบสีของธงชาติฝรั่งเศส ทั้งหมดนี้เป็นความหมายของรูปภาพ แต่ดูจะไร้เดียงสาหรือบริสุทธิ์ไม่ ฉันเห็นได้อย่างดีมาก ว่าอะไรที่มันบ่งชี้แสดงกับฉัน นั่นคือประเทศฝรั่งเศส ที่เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่  นั่นคือทั้งหมดของความเป็นพี่น้อง/บุตรชาตแห่งฝรั่งเศส (Her son)โดยปราศจากการแบ่งแยกเลือกปฎิบัติทางสีผิว สิ่งที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา เก็บรักษาอยู่ภายใต้ธงชาติฝรั่งเศส(Her Flag)  นี่อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีกว่า การหันกลับไปยืนยันเกี่ยวกับลัทธิอาณานิคม การแสดงให้เห็นความกระตือรือร้นโดยนิโกรหนุ่มผู้นี้ ในการเก็บรักษาความเป็นผู้ถูกกดขี่ของเขา ฉันเผชิญหน้าอีกครั้ง กับระบบสัญวิทยาที่ใหญ่กว่า นี่คือสิ่งที่เป็นรูปสัญญะ ที่ทำให้เป็นรูปแบบของตัวมันเองอย่างเรียบร้อย พร้อมกับระบบที่มีอยู่ก่อนหน้า(ทหารผิวดำเป็นสิ่งที่ให้ความเคารพธงชาติฝรั่งเศส) นี่คือความหมายสัญญะ มันเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยเป้าหมายที่ผสมผสานเกี่ยวกับ ความเป็นฝรั่งเศส(Frenchness) และความเป็นทหาร(Malitariness) นี่เป็นสิ่งที่ปรากฎเกี่ยวกับความหมายสัญญะที่นฃำไปสู่รูปสัญญะ”(อ้างจากHawkes:1977)
ดังนั้น สิ่งที่บาร์ธ ได้รับอิทธิพลมาจากโซซูร์ ก็คงเป็นความคิดในเรื่องของระบบกฎเกณฑ์(Langue)  ซึ่งเป็นสิ่งที่นำไปถึงการพูด แต่มันก็เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับถ้อยคำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับสถาบันทางสังคม (Social Institution) และระบบของคุณค่า (System of Value)  เป็นส่วนที่ปัจเจกบุคคล ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงมันได้ด้วยตัวเอง เพราะมีพันธะข้อตกลงของกลุ่ม ที่มีความสำคัญจำเป็นและเป็นที่ยอมรับของทุกๆคนในความสมบูรณ์ของมัน เช่นเดียวกับเกมส์ที่มีกฎเกณฑ์มนตัวของมันเอง และสมามารถเป็นสิ่งที่ถูกจับยึดหรือใช้ภายใต้ระบบกฎเกณฑ์และคุณค่า  
ดังที่บาร์ธ ได้กล่าวถึงในElementary of Semiology เกี่ยวกับระบบของเสื้อผ้า  ระบบของรถยนต์ ระบบของเฟอร์นิเจอร์ ระบบที่ซับซ้อนซึ่งเป็นเรื่องของสื่อในการติดต่อสื่อสาร วิทยุ โทรทัศน์ โฆษณา ระบบของอาหาร ที่เป็นเหมือนระบบของภาษา และเกี่ยวข้องกับเรื่องของภาษา เมื่อเราอ่านเมนูอาหาร หรืออ่านนิตยาสาร ตำราทำอาหาร  ที่ความแตกต่างหลายหลายของประเภทชนิด วัตถุดิบที่ใช้ทำอาหาร อยู่ภายใต้ระบบกฎเกณฑ์ทางโภชนาการ ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ของการกีดกัน ที่เกี่ยวกับข้อห้ามเกี่ยวกับอาหาร  ความแตกต่างที่ถูกบ่งชี้โดยรสชาติ หวาน เผ็ด เค็ม หรือความสัมพันธ์ที่เป็นลำดับต่อเนื่อง ที่จัดเรียงในตารางเมนูอาหาร  หรือความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภูมิภาคและสังคม ภายใต้ระบบวัฒนธรรมของการปรุงอาหารที่อยู่เหนือส่วนของปัจเจกบุคคล(Parole)หรือครอบครัว ในเรื่องของการจัดเตรียมวัตถุดิบ เครื่องมือหรือกลวิธีศิลปะในการปรุงอาหารที่หลากหลาย(Barthes:1967,P.27-28)  
สิ่งที่เราเห็นได้จากความคิดของบาร์ธ ที่สะท้อนผ่านการศึกษาระบบทางวัฒนธรรมเหล่านี้ก็คือ เรื่องของระบบคุณค่า ค่านิยม ทัศนคติ การพิจารณากำหนด ที่พึ่งพาอยู่บนตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม เศรษฐกิจ  ที่เป็นการให้คุณค่ากับมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้บริโภคหรือใช้สัญญะเหล่านี้ ดังเช่น ที่เขาเริ่มต้นตั้งคำถามกับการตายของผู้ประพันธ์ และการเกิดขึ้นของผู้อ่าน ที่เริ่มต้นเรียนรู้กับการสร้างโลกใหม่ในหนทางที่แตกต่างภายใต้หนทางของกระบวนการสร้างความหมายที่เกิดขึ้นระหว่างผู้อ่านและตัวบท ในบริบทที่แตกต่างหลากหลายที่เกิดจากสภาวะของการไม่มีบริบทที่ชัดเจน บริบททางความหมายสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและผลิตบริบทใหม่ๆได้เสมอ จนไม่สามารถที่จะควบคุมผูกขาด ความสมบูรณ์ทางความหมายได้ โดยเฉพาะภาษาเขียนที่มีความเป็นตัวเอง มีบริบทของตัวเอง ภาษาพูดก็เช่นเดียวกันกับภาษาเขียนที่มันสามารถถูกสร้างและอ้างถึงตลอดเวลา เพื่อสร้างบริบทใหม่ให้เกิดขึ้น นี่เองที่เป็นสิ่งที่นักทฤษฎีหลังโครงสร้างนิยมให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า รูปสัญญะ มากกว่าความหมาย สัญญะ ที่เป็นเรื่องของโครงสร้าง กฎเกณฑ์ รหัส ที่พวกโครงสร้างนิยมให้ความสำคัญ
บาร์ธ ได้หันเหจากการวิเคราะห์รหัสทางวัฒนธรรม เข้าสู่การศึกษาเกี่ยวกับตัวบทความ(Text) ในความคิดที่ว่า มนุษย์ใส่รหัส(Encode) สำหรับตัวพวกเขาเอง ดังนั้นบทความหรือตัวText จึงเป็นเหมือนสถานที่ ตำแหน่งสำหรับการอ่าน ที่เราสามารถถอดรหัสได้เช่นเดียวกับวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นรากฐานแนวคิดที่พัฒนามาจากพวกโครงสร้างนิยม ที่ต้องการสลายลดทอนความเป็นองค์ประธานของมนุษย์ภายใต้ระบบกฎเกณฑ์ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสัญญะภายใต้โครงสร้างกฎเกณฑ์ทางภาษาที่หยุดนิ่งตายตัว กำลังถูกทำลายด้วยแนวคิดแบบหลังโครงสร้าง ที่ต้องการหักล้างความเป็นศูนย์กลางทางภาษาหรือการยึดเอาวจนะเป็นศูนย์กลาง(Logocentricism)เช่นเดียวกับที่ แดริดา(Jacques Derrida) เรียกมันว่า ศูนย์การทางวจนะแบบตะวันตก ในความมีเหตุผลและการรักษาความหมายที่พวกเราจำเป็นต้องถอดรื้อ และเขาต้องการชี้ให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดที่อยู่นอกตัวบท ซึ่งมีตำแหน่งวางที่อยู่บนการเขียนอันแตกต่างหลากหลาย เช่นเดียวกับบาร์ธ ได้กล่าวว่า
“บทความ(Text) สามารถถูกทำให้เป็นวิธีการ ประสบการณ์ ในปฎิกิริยาโต้ตอบต่อสัญญะ การทำงานที่ใกล้ชิดเกี่ยวกับความหมายสัญญะ นี่คือความหมายว่าตัวบท สามารถเป็นสิ่งที่อ่านในชุดของระบบสัญญะ ที่ซึ่งมีส่วนร่วมอยู่ในมัน ในขณะที่การทำงานเน้นย้ำไปบนอะไรที่เป็นความหมายโดยตัวของมันเอง ความเป็นพหุลักษณ์ของบทความที่อนุญาตยินยอมความเติมเต็ม และเครือข่ายที่สลับซับซ้อนเกี่ยวกับการประสานเกี่ยวข้องกัน...”
บาร์ธ ได้ให้รายละเอียดในการจำแนกการเขียนออกเป็น 2 ประเภทคือ Readerly Text หรือLeisible ซึ่งเราสามารถที่จะอ่านและเข้าใจกับมันได้ง่าย และWritery Text หรือ Scriptible ที่เป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์ของความแตกต่างระหว่างตัวบท ซึ่งเป็นการอ่านที่เราสามารถจะสร้างหรือเขียนตัวบทขึ้นมาใหม่ได้ เป็นตัวบทที่เปิดกว้างสำหรับการตีความและการสร้างความหมายที่ไม่รู้จบ ภายใต้ความละเอียดลออ ความสลับซับซ้อนของรหัส หรือระบบสัญญะที่เราต้องใช้การถอดรหัสอย่างระมัดระวัง(อ้างจาก Hugh J.Silverman:1998) นี่คือการเคลื่อนที่เข้าไปสู่การเป็นศูนย์องศาของการประพันธ์ ที่ความหมายได้ถูกกคุมขัง ปิดบัง ซ่อนเว้น หรือละเอาไว้  เพื่อสร้างความคลุมเครือ และความครุ่นคิดให้กับเราอย่างไม่สิ้นสุด แม้ว่าเราจะคิดว่า เราสามารถอ่านมันได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลินหรือเข้าใจกับมันได้ก็ตาม  ดังที่บาร์ธได้ให้ 5 รหัส ที่แตกต่างกัน ในสิ่งที่เขาเรียกว่า พหุตัวบท(The Plural Text) หรือเป็นตัวบทที่สามารถเขียนมันได้( Writerly Text) ที่ประกอบด้วย รหัสทางสัญศาสตร์(The Semiotic Code) ที่เป็นการประดิษฐ์อย่างประณีตบรรจงและซับซ้อนของรูปสัญญะ  2) ศาสตร์แห่งการตีความหมาย (Hermenutic Code) ที่เป็นเหมือนการเปิดเผย 3) รหัสเชิงสัญลักษณ์(The Symbolic Code) ที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่แทนสิ่งหนึ่งอื่นๆ 4) รหัสของการกระทำ(The Actantial Code) 5) รหัสของการอ้างอิงหรือรหัสวัฒนธรรม(The Reference/Cultural Code) เป็นตัวบ่งชี้ทางวัฒนธรรม การดำรงชีวิตที่แสดงในตัวบท รหัสเหล่านี้มีความเป็นไปได้ในการอ่านตัวบท ที่มีความแตกต่างหลากหลาย และมีความเป็นไปได้ของความหมายที่มากมายไม่ใช่ผูกขาดอยู่เพียงความหมายเดียว เพราะมันมีการแทนที่สวมรอย สวมทับอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นสิ่งสำคัญที่นำไปสู่การให้ความสนใจในเรื่องของรูปสัญญะที่ล่องลอย และปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากพันธนาการทางความหมายสัญญะเดิม
ความคิดในเรื่องตัวบท(Text) ของบาร์ธ เป็นผลผลิต การผลิต ในพื้นที่ของความสัมพันธ์ระหว่างผู้อ่าน(The Reader)และการเขียน(The Written) ซึ่งพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของผลิตภาพของการเขียน(Ecriture/Writing) ทฤษฎีที่ว่าด้วยตัวบท เป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาโดยการเชื่อมโยงกับ  Journal Quel ในช่วงปลาย1960และต้น1970 ในแนวทางของแดริดา บาร์ธ และคริสเตวา  ที่เป็นการเคลื่อนย้ายแนวทาง รูปแบบธรรมเนียม คำอธิบายเกี่ยวกับกับการทำงานทางวรรณคดี ที่เป็นวรรณคดีในตัวของมันเอง  การทำงานในวัตถุที่สิ้นสุด ที่เป็นส่วนประกอบเกี่ยวกับตัวงานหรือโครงร่างของการเขียน ที่ถูกปิดหรือล้อมรอบภายในการปกคลุมของหนังสือ สิ่งที่ถูกเชื่อถือมาแต่ดั้งเดิมว่า ผู้เขียนมีอำนาจและเป็นผู้สร้างงานเขียน  ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่บาร์ธ ต้องการวิพากษ์และโต้แย้ง ในความคิดเรื่องความเป็นองค์ประธานของผู้แต่ง ที่เป็นผู้ผูกขาดความหมาย ความจริงในตัวงาน  ตัวบททำให้การเขียนซึ่งเป็นการกระทำ โดยการนำสัญญะต่างๆมารวมกันอยู่ในตัวงาน สามารถแตกสลายแยกออกเป็นชิ้นๆ เพื่อสร้างความหมายใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
นอกจากบาร์ธ ต้องการสลายความเป็นองค์ประธานของผู้แต่งแล้ว ยังต้องการสลายความเป็นอภิภาษา ที่สร้างความหยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหวให้กับตัวบท เพราะตัวบทไม่เคยหยุดนิ่ง เช่นเดียวกับคำในภาษาที่ถักทออยู่ในตัวบท ที่มีความหมาย และสร้างความหมายอย่างไม่สิ้นสุด การสร้างความหมายไม่ได้สร้างความหมายให้ตัวมันเองเท่านั้น แต่สร้างความหมายให้กับตัวบท นี่คือความสัมพันธ์ของภาษาและตัวบท ที่เป็นเหมือนสัมพันธบท(Intertextuality) ที่สร้างเงื่อนไขในการดำรงอยู่ของตัวบท และสนามที่มีรหัส กฎเกณฑ์ ที่ไม่สามารถหาแหล่งต้นตอได้  แต่เป็นสิ่งที่ภาษาที่มีก่อนหน้าและภาษาในปัจจุบัน ที่มาบรรจบอยู่ในตัวบทในลักษณะที่หลากหลาย  แตกแยกกระจัดกระจาย เพื่อแสดงให้เห็นการผลิตของตัวบท ดังที่ จูเลีย คริสเตวา  ได้แสดงให้เห็นว่าไม่มีตัวบทใดที่สามารถจะเป็นสิ่งที่มีอิสระอย่างสมบูรณ์จากตัวบทอื่นๆ  ที่ถูกเรียกในชุดคำเกี่ยวกับสัมพันธภาพของตัวบท ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเขียนทั้งหมด (อ้างจากHawkes:1977)
ความคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับตัวบท มองตัวบทเป็นการปรากฎ เปิดเผยตน  ในระดับของการเขียน งานเขียน ที่เป็นการจัดเรียงหรือประกอบกันของชุดคำหรือภาษา ที่สร้างตัวงานเขียนเพื่อทำให้เกิดความหมายมั่นคงและเป็นเอกภาพ มีลักษณะเฉพาะและเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งตัวบท ไม่แตกต่างจากวัตถุที่มองได้ด้วยผัสสะ ประสาทสัมผัส ตัวบทมีรูปร่างตัวตนได้ ด้วยตัวงาน หรืองานเขียนซึ่งมีอยู่ก่อนตัวบท ตัวบทจึงเป็นสิ่งที่ถูกเขียน ด้วยอักษรตัวหนังสือ ที่บดบังความจริงของตัวบทที่ทำให้เราไม่สนใจว่า ตัวบทก็คือภาษาพูดแบบหนึ่ง และตัวบทเป็นที่ตั้งมั่นของงานเขียน  และเป็นพื้นที่ของความมีเสถียรภาพ ความมั่นคงถาวรในตัวหนังสือ  ที่เป็นเสมือนสิ่งที่บรรจุความหมายที่ผู้เขียน หรือสร้างตัวบทต้องการ นี่คือความคิดแบบเก่า ซึ่งมองการประกอบกันของรูปสัญญะที่เป็นเสมือน คำศัพท์ คำ ตัวอักษร ย่อหน้า และมีความหมายสัญญะที่เกาะเกี่ยว ประกอบกันเป็นสัญญะที่หลากหลายภายในตัวบท  ตัวบทเป็นสิ่งที่ทำให้งานเขียนน่าเชื่อถือ เหมือนแหล่งกำเนิดของความหมายที่หยุดนิ่ง ที่สร้างความจริงให้กับงานเขียน อำนาจ อัตลักษณ์ ตัวตน และสร้างความรุนแรง โดยการกดทับ ปิดกั้น ปิดปัง กีดกัน ทางความหมาย
พวกนักทฤษฎีหลังโครงสร้างนิยมจึงหันมาให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ ภาษา วรรณคดี และงานเขียนอย่างแหลมคม โดยการชี้ให้เห็นวิกฤตการณ์ของสัญญะซึ่งเกิดจากตัวภาษาศาสตร์ ที่เป็นเหมือนเสาหลักอันศักดิ์สิทธิ์ ที่น่าเชื่อถือและยอมรับอย่างไม่ตั้งคำถามให้กับสัญญะอย่างมากมายในปัจจุบัน ในทางสัญวิทยาและสัญศาสตร์ ตัวบทจะอยู่ในวิธีการพูดซึ่งรวมเรื่องของภาษาเข้าไปด้วยในระดับของตัวบทที่ความหมายในเชิงภาษาและโครงสร้างของการเล่าเรื่อง  การจัดลำดับ การจัดวางเรื่องที่จะเล่า ความหมายใหม่ของตัวบท จะใกล้เคียงกับความคิดเรื่องโวหารหรือกลวิธีการเขียน/การพูด มากกว่าการศึกษาภายในตัวงานเขียนในความคิดเกี่ยวกับตัวบทดั้งเดิม  การศึกษาตัวบทในทางสัญวิทยา จึงเป็นการศึกษาการทำงานภายในตัวงาน  ไม่ได้อ้างอิงถึงเนื้อหาสาระและปัจจัยต่างๆ ทางสังคม ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา  ที่มีส่วนกระทบต่อตัวบท อย่างการศึกษาตัวบทแบบเก่า ดังนั้นทฤษฎีตัวบทแบบใหม่จึงเป็นการเคลื่อนย้าย ระหว่างภาษาศาสตร์ไปสู่การสื่อความหมายในตัวงานเขียน  และให้ความสำคัญกับการมองภาษาอย่างเข้าใจว่า ภาษาไม่ใช่เครื่องมือที่ไร้เดียงสา บริสุทธิ์  ตัวบทคือชิ้นส่วนทางภาษา การสื่อสาร ติดต่อ กับตัวบทที่กระทำผ่านภาษา นั่นคือภาษาเป็นภาคปฎิบัติการของตัวบทด้วย (อ้างจากไชยรัตน์:2545,หน้า208)  สี่งสำคัญในความคิดของบาร์ธ ที่น่าสนใจในการนำมาประยุกต์ใช้กับการศึกษาวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ จึงเป็นแนวความคิดของการเปลี่ยนผ่านทางตรรกะทางความคิดของพวกหลังโครงสร้างนิยม จากการให้ความสำคัญกับความหมายสัญญะไปสู่การให้ความสำคัญกับรูปสัญญะ ในการสลายความหมายและการทำให้เปล่ากลวงทางความหมายในระดับของผู้อ่าน รูปสัญญะไม่ได้ผูกติดยึดโยงอยู่กับความหมายสัญญะ หรือรูปสัญญะที่ล่องลอย /ตัวหมายที่ล่องลอย เช่นเดียวกับความคิดของ    โบดริยาร์ด ในความคิดที่เรียกว่าภาพจำลองหรือสิ่งจำลอง (Simulacrum/ Simiulation) คำอุปมาอุปมัยสื่อความหมาย (Signifying Metaphor) ของลากอง  สิ่งทีเราคิดไม่ได้คิดไม่ถึง(The Unthought)ของฟูโก และการเล่นพลิ้วไหวของสัญญะ(The Play of Signifier)ของแดริดา  ดังที่บาร์ธ ได้สร้างความโดดเด่นของทฤษฎีว่าด้วยตัวบท ในลักษณะ2 ด้านของตัวบทที่เกี่ยวกับเรื่องของภาษาที่แสดงให้เห็นในการทำงานภายในตัวบท และเรื่องของศูนย์กลางหรือความหมายที่เป็นหนึ่งเดียวในตัวบท ที่บาร์ธต้องการจะหักล้างหรือทำลาย  ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าตัวบทของบาร์ธ จึงเป็นตัวบท ที่รูปสัญญะมีความพลิ้วไหว ล่องลอย ซึ่งแนวความคิดว่าด้วยรูปสัญญะที่ล่องลอย(Floating Signifier) เป็นสิ่งที่ถูกเสนอเริ่มแรกโดยเลวี่ สเตร๊าท์  ในการแนะนำการทำงานของมาร์แซล มอสส์ ในหนังสือ Introduction to the work to Marcel Mauss โดยเขาได้กล่าวถึงมันว่า
“ รูปสัญญะที่ล่องลอย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไร้ความสามารถหรือคุณสมบัติของขอบเขตทางความคิดทั้งหมด (แต่มันเป็นเครื่องรับรองของศิลปะทั้งหมด กวีนิพนธ์ทั้งหมด ทุกๆนิทานปรัมปรา และการประดิษฐ์คิดค้นทางสุนทรียะศาสตร์  แม้ว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่เป็นความสามารถในความเด็ดเดี่ยวอย่างแข็งทื่อ  ที่อย่างน้อยที่สุดของการควบคุมมันเพียงบางส่วน...พร้อมกับผลลัพธ์ที่แตกต่างและวิธีการทั้งหมดเหล่านี้ สามารถอยู่ร่วมกันได้ดี ในคำศัพท์อื่นๆ การยอมรับความคาดหวัง แรงบันดาลใจของ มอสส์ ซึ่งเป็นความคิดแรกเริ่ม ที่ปรากฎการณ์ทางสังคมทั้งหมด สามารถเป็นสิ่งที่ถูกกลืนกลายไปยังภาษา ฉันเห็นMana,Wakan,Orenda และคำอธิบายอื่นๆเกี่ยวกับประเภทชนิดเดียวกัน การแสดงความสำนึกรู้เกี่ยวกับหน้าที่ทางความหมายของคำและการเปลี่ยนแปลงความหมายของมัน”(Levi-Strauss)
นี่อาจจะเป็นสิ่งที่เป็นระบบสัญลักษณ์ ของการสร้างจักรวาลอื่นๆมากกมาย ที่เลวี่ สเตร๊าท์ เรียกว่า เป็นคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ที่ศูนย์(Zero Symbollic Value) ที่เป็นสัญญะ(A sign) ในการทำเครื่องหมายที่สำคัญจำเป็น ในการหนุนเสริมเติมเต็มเนื้อหาสาระเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งอยู่นอกเหนือความหมายสัญญะที่บรรจุอยู่เรียบร้อยแล้ว  โดยสามารถจะมีคุณค่าอื่นๆมากมายทั้งหมด ที่จัดหาให้กับมัน ในการเป็นส่วนหนึ่งของการสงวนรักษา ในความสามารถที่จะน่าเชื่อถือหรือสร้างความเป็นไปได้ .ความคิดเรื่องของรูปสัญญะนี้เองที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับวิธีการศึกษาเกี่ยวกับภาษา โดยเปรียบเทียบกับระบบของการติดต่อสื่อสาร โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่า 1)รูปสัญญะนำหน้าหรือมีมาก่อนความหมายสัญญะ 2) ความหมายเกิดจากสิ่งที่ไม่มีความหมาย 3) องค์ประธานยอมรับกับกฎเกณฑ์ของรูปสัญญะในการรับมือจัดการกับภาษา ที่เป็นตำแหน่งของเรื่องราว คำอธิบายในตัวมันเอง เช่นเดียวกับทฤษฎีว่าด้วยตัวบทของพวกหลังโครงสร้างนิยม ที่มองว่าตัวบทถูกถักทอด้วยกลุ่มของรูปสัญญะต่างๆมากมาย ที่ประกอบกันขึ้นเป็นงานเขียน การวิเคราะห์ตัวบท จึงต้องดูการทำงานของภาษาที่เป็นอยู่ มากกว่าการตีความตัวบท เพื่อดูการสร้าง ก่อตัว ของการเล่าเรื่องในตัวบท เพื่อดูความพลิ้วไหวอย่างไม่จบสิ้นทางภาษา  ตัวบทจึงเป็นเสมือนสนามของความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงรหัสต่างๆ ที่ถักทอร้อยเรียงกันอยู่ภายในตัวบท งานเขียนต่างๆ   ที่มนุษย์ไม่ได้มีฐานะในการเสกสรรปั้นแต่งมันขึ้นมา อำนาจของผู้เขียนก็ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นๆทั่วไป  แต่อำนาจเกิดขึ้นมาจากการพูด การเขียน ที่สร้างความสับสนวุ่นวาย ปั่นป่วน ให้กับระบบของภาษา ในการใช้ภาษา การจัดเรียงคำ การใช้คำ ทีมีความพลิ้วไหวของคำในภาษาหรือรูปสัญญะ การพูดการเขียนจึงเป็นเสมือนพื้นที่ เวทีแห่งอำนาจ ซึ่งอำนาจสามารถทำงานได้โดยผ่านภาษา ในรูปของงานเขียน ตัวบท วาทกรรมชุดต่างๆ ที่ไหลเวียนแผ่ซ่านในสังคม โดยมนุษย์ที่เป็นผู้พูด ผู้เขียนก็ไม่สามารถต้านทานกับพลังอำนาจของวาทกรรมที่มีอยู่เหนือระดับขององค์ประธานที่ไม่สามารถผูกขาดหรือควบคุมมันแต่เพียงผู้เดียว เพราะวาทกรรมมีการทำงานที่ซับซ้อนลึกซึ้งมากกว่าคำพูด และมันสะท้อนออกมาในภาคปฎิบัติการของวาทกรรมอันหลากหลาย นี่คือสิ่งที่เรียกว่า การพลิ้วไหว ลื่นไหลทางภาษาที่ต้องการต่อสู้กับความหมายที่ตายตัวของสัญญะ สิ่งที่ตัวบทอ้างถึง ไม่ใช่โลกที่แท้จริงแต่เป็นสัญญะอื่นๆ ตัวบทอื่นๆ และเสียงอื่นๆ ฉะนั้นในตัวบทความหมายจึงเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด และฐานะของผู้เขียนจึงเป็นเพียงกลไกลหนึ่งของวาทกรรมเท่านั้น ดังที่แดริดา ได้กล่าวถึงความหลากเลื่อน(Differance) โดยชี้ให้เห็นว่า วิธีการสื่อสาร ที่เปิดเผยให้เห็นชั้นของความหมายในตัวบท ซึ่งตัวบทถูกใช้เป็นเงื่อนไขในการสื่อความหมายตามเนื้อความ ในการกดทับ กลบเกลื่อนเอาไว้ภายใต้ฐานคิดว่าด้วยการปรากฎอยู่ ซึ่งเสมือนภาพที่แสดงให้เห็นความซ่อนเร้นของความหมายที่แน่นอนตายตัว  ตัวบทจึงไม่ได้มีเพียงความหมายหลัก แต่ครอบคลุมความหมายย่อย ที่อาจจะขัดแย้งและสวนทางกับสิ่งที่มันอ้างหรือความตั้งใจของผู้เขียน ดังนั้นความหมายจึงถูกเลื่อน ชะลอออกไปตลอดเวลาภายใต้ร่องรอยของความแตกต่างที่ถูกเว้นวรรคหรือเว้นช่องว่าง แดริดาเรียกว่า ความหลากเลื่อน  เพื่อโจมตีและวิพากษ์อภิปรัชญาของโซซูร์ เรื่องของการปรากฎ(Presence) ซึ่งเขาเรียกว่า เป็นการเอาวจนะเป็นศูนย์กลาง(Logocentrism ) โดยพูดถึงอภิปรัชญาว่าด้วยการไม่ปรากฎ(Absence)
การก้าวข้ามในการศึกษาสัญญะ จากการเริ่มต้นมองไปที่วัตถุ การให้ความหมายหรือการตีความหมาย ไปสู่เรื่องของภาษา รหัสทางวัฒนธรรม เพื่อค้นหาโครงสร้างกฎเกณฑ์ที่เป็นตัวกำหนดความคิด คุณค่า ค่านิยม มาเป็นการศึกษาตัวบท โดยให้ความสำคัญกับงานเขียน ที่กลุ่มพวกโครงสร้างนิยมและภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง อย่างโซซูร์และเลวี่ สเตร๊าท์ ได้ละเลย โดยให้ความสำคัญของภาษาพูดมากกว่า การเขียน ที่ถูกมองว่า เป็นทรราชหรือกบฎ ที่มีความร้ายกาจหรือเชื้อโรคที่ทำให้ธรรมชาติของการพูดการใช้ภาษาเสื่อมโทรม  ดังนั้นการที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับสัญญะ จึงควรที่จะแสดงให้เห็นความเป็นสัญญะที่หลากหลายภายใต้วัตถุ บทสนทนา ตัวบท ที่เกี่ยวกับสัญญะนั้นๆ เพื่อให้เราสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ในลำดับชั้นในความสลับซับซ้อนของสัญญะที่เป็นเรื่องของวัตถุ บทสนทนา  และตัวบทอันหลากหลาย ซึ่งถูกใช้โดยบุคคลหลายกลุ่ม อย่างกรณีของเรื่องเกลือ ที่สามารถวิเคราะห์ผ่านแนวคิดเรื่องรูปสัญญะ และความหมายสัญญะ ที่เป็นการพูด จินตภาพของเสียง ถ้อยคำ คำศัพท์  และความคิด ที่สะท้อนผ่านการพูดการใช้ภาษาของคนในพื้นที่ นักวิชาการ นักกฎหมาย   แต่ในขณะเดียวกันความเป็นวัตถุของเกลือที่ดำรงอยู่ในระดับของการปฎิบัติของชาวบ้านซึ่งผลิตเกลือหรือต้มเกลือ โดยอ้างอิงมันกับวัตถุที่แท้จริง ก็ดูจะมีความสำคัญไม่น้อยเกี่ยวกับโลกทัศน์และความคิดของพวกเขาในเรื่องของเกลือ และในอีกนัยหนึ่งของโลกทัศน์ความคิดของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ปฎิบัติอย่างใกล้ชิดกับเกลือ แต่กำลังตั้งคำถามกับเกลือที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่กำลังจะสร้างผลกระทบกับวิถีชีวิตการเกษตรและสิ่งแวดล้อม และในขณะเดียวกันก็ใช้สัญญะชุดเดียวกันในการอ้างถึงภูมิปัญญาพื้นบ้าน เพื่อต่อสู้กับกระแสโลกาภิวัฒน์ ระบบทุนนิยมของบริษัทข้ามชาติที่กำลังจะเข้ามา ซึ่งสะท้อนผ่าน บทสนทนา กลอนลำ ที่พวกเขาใช้บอกเล่าเรื่องราวและเคลื่อนไหวต่อสู้ ในขณะที่ในกลุ่มของนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน ข้าราชการ ก็ได้สร้างตัวบท ผ่านงานเขียน ที่สะท้อนให้เห็นความเป็นสัญญะของเกลือในการช่วงชิง แย่งชิงอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินอีสาน เกลือจึงกลายสภาพไปเป็นรูปสัญญะที่ล่องลอย เลื่อนไหลอย่างไม่รู้จักจบสิ้นเพื่อรอความหมายสัญญะต่างๆอันมากมายเข้ามาเกาะเกี่ยว ทุกๆคนที่เข้ามาใช้สนามทางสัญญะของเกลือ ได้กลายสภาพไปเป็นผู้อ่านที่เท่าเทียม ในความสามารถที่จะต่อเติม สร้างสรรและสร้างตัวบทใหม่ได้อยู่ตลอดเวลา เพื่อสร้างอำนาจและความชอบธรรมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเกลือใต้พื้นดินอีสานที่มีอยู่อย่างมหาศาล
หนังสืออ้างอิงต่างประเทศ
Barthes Roland[1967] “Elements of Semiology Transleted from the French by Annette Lavers and Colin Smith.New YorkHill andv Wang,1980.
Barthes Roland[1973] “theory of the Text” 31-47 In Robert Young,Ed,1981.
Clarke ,D.S,J.R. “Principle of Semiotic”
Chapman Siobhan[2000]. “ Philosophy for Linguists  an Introduction” Routledge London and Newyork.
Culler ,Jonathan[1981]. “ In Pursuit of Sign” Semiotics Literature Deconstruction ,Cornell university Newyork Press.
Culler,Jonathan[1979]. “Jacques Derrida” P.154-179 In Structuralism and Since From Levi-Strauss to Derrida Edited by John Sturrock,Oxford University Press.
David Lidov[1999]  “Element of Seemiotic” Macmillan Press.
Derrida Jacques[1978] “Writing and Difference” Translated with an Introduction and Additional Notes by  Alan Bass.London and Henley:Routledge and Kegan Paul.
Derrida Jacques[1973]. “Differance” P.129-160 in Speech and Phenomena And Other Essays on Husserl’s Theory of Signs Edited by David B.Allison and Newton Garver : Northwestern University Press.
Derrida Jacques[1974]. “linguistic And Grammatology” P.27-73 In Grammatology Translated by Gayati Chakravorty Spivak.Baltimore The John Hopskin University Press.
Hawkes Terence[1977]. “ Linguistic and Anthropology”  “Science of Sign” In Structuralism and Semiotics ,Methuen and co Ltd.
Hugh J.Silverman[1994] “French Structuralism and After De Saussure,Levi-Strauss,Barthes,Foucault” P.391-408.In  Continental Philosophy in The 20th Century edited by Richard Kearney,Routledge history of Philosophy volume8
Levi-Strauss,Claude[1987] “Introduction to the work of Marcel Mauss” Transleted by Felicity Baker Routledge and Kegan Paul London.
Levi-Strauss,Claude[1976] “Structural Anthropology Volume1  Transleted from the French by Monique Laution ,Basic Book Inc Publisher Newyork.
Levi-Strauss,Claude [1963]. “ Introduction History and anthropology”P.1-27 “Effective of Symbol”P.187-205and “Structural Analysis in Linguistics and in Anthropology” P.31-79 In Structural Anthropology Volume 2 Transleted from Franch by Claire Jacobson and Brooke Grundfest Schoepf,Basic Book.
Levi-Strauss Claude[1984] “Anthropology and Myth  Lecture 1951-1982” Transleted by Roy Willish,Basil Blackwell.
Merrell Floyd[1995]. “semiology –Structuralism confronts Semiotics”3-38 in Sign Textuality World,Bloomington and Indianapolis Indiana University Press.
Paul A.Erickson[1998].”A History of Anthropological Theory”,Breadview Press.
Peirce,Charles Sander[1955]. “Philosophical Writings of Peirce”.Selected and Edited ewith an Introduction by Justus Buchler.New York:Dover Publication.
Rosamund Bilington[1991] “Culture and Society A sociology of Culture” macmillan Press..
Saussure,Ferdinand de[1959]. “Course in General Linguistics”.Edited by Charles Bally and Albert Sechehaye in  Collaboration with Albert Riedlinger.Translated with an Introduction and Notes by Wade Baskin.Newyork McGrawhill 1966.
Singer,Milton B.[1984]. “man’s glassy essence exploration in semiotic anthropology” ,Indiana university press.
Umberto Eco [1976]. “A Theory of Semiotics”.Bloomington:Indiana University Press,1979.
Umberto Eco[1984]. “semiotic and The Philosophy of Language”, Macmillan Press.
Vincent Desombe[1986]. “object  of all sorts a philosophical Grammar” Translated by Lorna Scott-fox and Jeremy Harding,Johnhopskin university Press.
Vincent Desombe[1980]. “Semiology” in Modern French Philosophy ,Translated by L.S Scott-Foy and J.M.Hardins, Cambridge University Press.P.75-105.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...