วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เกลือและโพแทช การสร้างความรู้และอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินอีสาน กรณีศึกษา โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี นัฐวุฒิ สิงห์กุล


เกลือและโพแทช การสร้างความรู้และอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินอีสาน
กรณีศึกษา โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี
บทคัดย่อ
บทความชิ้นนี้มุ่งอธิบายความหมายที่หลากหลายของเกลือและโพแทช  ภายใต้การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเกลือและโพแทช ทั้งในแง่ของการพัฒนา เรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เรื่องสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องทางวัฒนธรรม  สิ่งที่ปรากฏในบทความก็คือ ความรู้เกี่ยวกับเกลือและโพแทชไม่ได้มีอันเดียวแต่มีความหลากหลาย เพราะแต่ละฝ่ายต่างพยายามสร้างวาทกรรมของตัวเองให้มีความชอบธรรมและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยผ่านกระบวนการต่อรอง การปะทะ ประสานกันบนเวทีสัมมนาเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเรื่องของเกลือและโพแทช ที่สร้างให้เรื่องของเกลือและโพแทช ถูกกล่าวถึงในพื้นที่ทางสังคม
นอกจากนี้ในบทความชิ้นนี้  ได้สืบค้นร่องรอยของความรู้ และความจริงเกี่ยวกับเกี่ยวกับเรื่องเกลือและโพแทช โดยสืบค้นให้เห็นการปะทะกันของวาทกรรมในระนาบของความสัมพันธ์ของอำนาจและความรู้ จากเนื้อหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องเกลือ ที่วาทกรรมต่างๆก่อตัวขึ้นมา และแย่งชิงพื้นที่ของความหมายและความจริงเกี่ยวกับเรื่องเกลือและโพแทช  เช่นเรื่องของโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี กับเกลือแบบพื้นบ้าน และเกลืออุตสาหกรรมท้องถิ่น หรือ ความรู้ทางวิศวกรรมเหมืองแร่ กับตำนานพื้นบ้าน ผาแดงนางไอ่  ที่ปะทะต่อรอง และการต่อสู้เคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อสร้างการยอมรับกับคนกลุ่มต่างๆโดยเฉพาะผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างอำนาจ ความชอบธรรมในการจัดการทรัพยากรแร่ธาตุใต้พื้นดิน และการยืนยันถึงสิทธิของชาวบ้านที่จะดำรงวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมดังเช่นในอดีต
บทความชิ้นนี้ แม้ว่าจะไม่มีทางออกต่อปัญหาเรื่องนี้ แต่สาระสำคัญที่ต้องการแสดงให้เห็นก็คือ การจัดการองค์ความรู้เกี่ยวกับเกลือและโพแทช  ที่สามารถอธิบายและทำความเข้าใจผ่านเรื่องวาทกรรม ในการให้ความหมาย การสร้างความจริง และความรู้ ได้มากกว่าการพิจารณาเกลือที่เป็นวัตถุที่แท้จริง เพราะเกลือไม่ใช่เพียงแค่วัตถุของการบริโภค แต่เกลือได้กลายมาเป็นประเด็นปัญหาของการศึกษาและการกล่าวถึง โดยคนกลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างอำนาจ ความรู้และความจริงเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินอีสานในปัจจุบัน

บทนำ
เกลือและโพแทช มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของโลกมาอย่างช้านาน ทั้งในทางเศรษฐกิจ ที่เป็นเรื่องของการผลิต การแจกจ่าย การซื้อขายและการบริโภคเกลือของชุมชนต่างๆ  ตัวอย่างเช่น  จีนซึ่งเป็นศูนย์กลางของอารยะธรรมเกลือที่สำคัญ   หรือ การค้าขายเกลือผ่านทะเลทรายในประเทศต่างๆแถบทวีปแอฟริกา ในทางสังคม วัฒนธรรม ที่สะท้อนผ่านพิธีกรรมความเชื่อในทางศาสนา  และการเมือง จากการเป็นเครื่องปรุงในชีวิตประจำวันของมนุษย์ จนก้าวเข้ามาสู่การเป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญในภาคของอุตสาหกรรม  ดังที่ปรากฏอยู่ในอารยะธรรมต่างๆทั่วโลก 
เกลือไม่ใช่โพแทช ประเด็นนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ ในการเขียนบทความชิ้นนี้ เพราะสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจเป็นอันดับแรกก็คือ เกลือ คืออะไร   และเกลือในบทความชิ้นนี้หมายถึงอะไร  และโพแทช เข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร  คำตอบแรกก็คือ เกลือ ไม่ว่าจะเกลือสมุทรหรือเกลือทะเล มีองค์ประกอบพื้นฐานเหมือนกันคือ ประกอบด้วยธาตุโซเดียมและคลอรีน เพียงแต่แหล่งที่มาของเกลือทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกัน คือ ชนิดแรก พบบนบกในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคเหนือ เราเรียกว่า  เกลือสินเธาว์ ส่วนชนิดที่สอง อยู่ในน้ำทะเล ที่เราเรียกว่าเกลือสมุทร :ซึ่งมีธาตุสำคัญที่ทำให้แตกต่างจากเกลือสินเธาว์ก็คือ ธาตุไอโอดีน ที่มีความสำคัญต่อร่างกายของมนุษย์
ดังนั้นในบทความชิ้นนี้ จึงเน้นไปที่เกลือสินเธาว์ ซึ่งเป็นเกลือที่มีอยู่มากในใต้พื้นดินอีสาน ซึ่งมีรูปแบบการผลิต ที่แตกต่างกัน ทั้งการผลิตแบบพื้นบ้านที่ขูดเอาหน้าดินขึ้นมาหม่า (แข่น้ำ)และกรอง ใส่หลุ่ม โอ่ง หรือรางน้ำ ก่อนที่จะนำมาต้ม หรือการใช้วิธีดูดน้ำเกลือใต้ดินขึ้นมาต้มและตาก ซึ่งเป็นการลิตแบบอุตสาหกรรม และเป็นการจำลองวิธีการทำนาเกลือมาใช้ในดินแดนที่ราบสูง พบมากในจังหวัด มหาสารคาม สกลนคร และอุดรธานี และวิธีสุดท้าย เป็นการใช้เทคโนโลยีระดับสูง คือการทำเหมืองเกลือละลาย โดยการใช้น้ำอัดฉีดลงไปละลายเกลือหินที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาผ่านกระบวนการอบแห้ง ซึ่งเป็นของบริษัทพิมาย ซอลต์ ที่จังหวัดนครราชสีมา  ที่ทำให้เราเห็นว่าใต้พื้นดินของภาคอีสาน มีโดมเกลือขนาดใหญ่หรือชั้นเกลือหินขนาดยักษ์อยู่ใต้พื้นดิน บริเวณแอ่งโคราชและสกลนคร แต่เนื่องจากในอดีตเทคโนโลยีการทำเหมืองแบบขุดเจาะอุโมงค์ยังไม่มีความก้าวหน้า ทำให้ไม่สามารถที่จะแยกหรือนำแร่บางชนิดที่อยู่กับเกลือหินขึ้นมาใช้ได้ โดยเฉพาะแร่ที่มีความสำคัญในด้านอุตสาหกรรมเคมีต่างๆ โดยเฉพาะ แร่โพแทช (Potash)ที่อยู่ร่วมกันกับเกลือ (Salt)ในชั้นเกลือหิน (Rock Salt)ใต้พื้นดินอีสาน
จนกระทั่งบริษัทข้ามชาติจากแคนาดา ได้เข้ามาสำรวจและขุดเจาะหาแหล่งแร่ ในพื้นที่ภาคอีสาน และพบว่า ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี มีแร่โพแทชชนิดที่ดีที่สุดในโลกที่เรียกว่า ซิลไวท์ ซึ่งมีความบริสุทธิ์มากกว่า 80เปอร์เซ็นต์ สมารถนำไปผลิตปุ๋ยโพแทชเชียมคุณภาพสูงได้ แต่ปัญหาที่จะตามมาก็คือ ปริมาณเกลือมหาศาลที่ได้จากกระบวนการแยกแร่ ที่จะต้องนำมากองไว้บนพื้นดิน กว้าง800 เมตร ยาว1,000 เมตร สูง 40 เมตร ในระยะเวลา 22 ปี ที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ดิน และน้ำในพื้นที่โครงการ ซึ่งทำให้เรื่องของเกลือและโพแทชไม่อาจแยกออกจากกันได้  สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาของเหตุการณ์ความขัดแย้งที่สำคัญ ในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดิน ที่ผู้เขียนต้องการจะนำเสนอ ในบทความชิ้นนี้
1.วาทกรรม:ภาษา ความรู้ และอำนาจ เกี่ยวข้องกับเกลือและโพแทช อย่างไร
แนวความคิด ทั้งสามส่วน คือ ภาษา ความรู้และอำนาจ ถือได้ว่าเป็นมโนทัศน์ที่สำคัญสำหรับผู้เขียนบทความ  เพราะการทำความเข้าใจเรื่องอำนาจ เราไม่สามารถมองเห็นอำนาจได้โดยตรง แต่เราสามารถทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าว ผ่านเรื่องของความรู้ที่คนกลุ่มต่างๆ สร้างขึ้นหรือพูดถึงเพื่อสื่อความหมาย ซึ่งฟูโกเรียกว่า วาทกรรม เพื่อให้เกิดการยอมรับต่อประเด็นเรื่องของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินอีสาน ภายใต้กรณีปัญหาโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิศวกรรมเหมืองแร่  เศรษฐกิจ การพัฒนา ตำนานท้องถิ่น วัฒนธรรมชุมชน การมีส่วนร่วม และอื่นๆ  
การสร้างหรือผลิตซ้ำความรู้ ดังกล่าวจะต้องกระทำผ่านสิ่งที่เรียกว่า ปฏิบัติการของวาทกรรม หรือสิ่งที่ถูกพูดโดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการจากสถาบันต่างๆ   สิ่งที่ถูกพูดก็คือปรากฏการณ์หรือสถานการณ์ที่ทำให้วาทกรรมนั้นปรากฏตัวออกมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นแบบแผน กฎเกณฑ์ ค่านิยม ระบบคุณค่า ความเชื่อ ที่ครอบคลุมเหนือชีวิตของมนุษย์  โดยที่เราไม่อาจปฏิเสธถึงอำนาจของภาษา ที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของมนุษย์ และการปฏิบัติของมนุษย์ในสังคม
ในบทความ ได้ใช้วิธีวิทยาของ มิเชล ฟูโก (Michael Foucault) ในสองประเด็นหลักที่นำมาใช้เป็นแนวทางในการวิเคราะห์และกรอบของการศึกษา ส่วนแรกคือ สิ่งที่เรียกว่า ปฏิบัติการของวาทกรรม (Discursive Practices) ที่เป็นมากกว่าเรื่องของภาษา หรือคำพูด แต่เป็นเรื่องของอำนาจที่แสดงออกมาในการปฏิบัติการจริงของวาทกรรมในสังคม และส่วนที่สองที่เป็นเรื่องของอำนาจและความรู้ (Power/Knowledge) ที่แสดงให้เห็นการปะทะกันของความหมายและความรู้ เพราะในพื้นที่ทางสังคม มีวาทกรรมอยู่มากมายเต็มไปหมด และครอบครองพื้นที่ทางสังคมจนมาถึงพื้นที่ส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกันปริมณฑลหรือพื้นที่ของวาทกรรมและความรู้นั้น ยังมีวาทกรรมอื่นๆ หรือความรู้ย่อยอื่นๆ ที่ถูกละเลย และไม่ได้รับความสนใจ ที่เราควรจะให้ความสนใจ เหมือนที่ฟูโก พยายามศึกษาวิธีการแบบวงศาวิทยา (Genealogy)เพื่อที่จะศึกษาและความเข้าใจกับความแตกต่างหลากหลาย ในร่องรอยของความรู้ละการต่อสู้ต่างๆ ดังที่ความรู้ย่อยๆถูกปฏิเสธจากอำนาจและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ( Michel Foucault,1980:82-83) โดยการศึกษาถึงชุดของกฎเกณฑ์ที่สร้างความหมายหรือเป็นตัวกำหนดให้กับสิ่งต่างๆ ในรูปวาทกรรมและปฏิบัติการของวาทกรรมว่าด้วยเรื่องนั้นๆ ดังนั้นสรรพสิ่งต่างๆในสังคม จึงเป็นเพียงผลผลิตของวาทกรรมชุดหนึ่งเท่านั้น
สิ่งที่ผู้เขียนบทความมองก็คือ ความหมายของสิ่งต่างๆที่ถูกกล่าวถึงในปฏิบัติการของวาทกรรม ทำงานอย่างไร และความหมายที่สื่อผ่านภาษาหรือการกล่าวถึงสิ่งนั้น มาสัมพันธ์กับตัวเราอย่างไร ทั้งในแง่ของวัตถุที่ภาษาเข้ามาครอบครอง และการรับรู้ความจริงเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นรวมทั้งโลกที่เราอยู่  ซึ่งเป็นเสมือนกฎเกณฑ์ที่เข้ามาจัดการความคิดของเรา  ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของการสถาปนาความรู้ การสร้างความหมายและต่อสู้ช่วงชิงความหมาย เพื่อสร้างอำนาจต่อเรื่องดังกล่าว
อาจกล่าวได้ว่า อำนาจและความรู้เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน และอำนาจไม่ใช่สมบัติของชนชั้นครอบงำ แต่เป็นยุทธศาสตร์ของชนชั้นในการกระทำหรือปฏิบัติการ  นั่นคืออำนาจเป็นยุทธศาสตร์ของการกระทำที่ถูกจัดวาง ไปพร้อมกับเรื่องของความรู้ ที่ไม่มีใครสามารถครอบครองไว้ได้แต่เพียงผู้เดียว  แต่มีการไหลเวียนอยู่ภายในสังคม ที่คนกลุ่มต่างๆ สามารถหยิบฉวย ต่อเติม สร้างความหมายใหม่ได้อย่างไม่หยุดนิ่ง และเมื่อความรู้ขยายตัว อำนาจก็ขยายตัวตามไปด้วย (อ้างจาก Rudi visker,1995: 67) ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่จะช่วยทำให้เราทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพลังอำนาจของภาษา หรือสิ่งที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด ก็คือ การประชุมของบรรดา นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ต่างๆ ที่ต้องการหาข้อสรุปเกี่ยวกับกรณีปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ในบทความนี้เสนอว่า กรณีโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ชี้ให้เห็นการปะทะกันของวาทกรรมชุดต่างๆ ที่มีความสำคัญกับระดับพื้นที่  ที่จะทำให้เห็นการตั้งรับ หรือต่อรองของคนในท้องถิ่น การปฏิเสธวาทกรรมการพัฒนากระแสหลัก และสถาปนาวาทกรรมท้องถิ่น ผ่านเรื่องราวของตำนาน นิทานพื้นบ้าน หรือวัฒนธรรมชุมชนเป็นเครื่องมือสำคัญของคนในท้องถิ่นใช้ต่อสู้ กับรัฐและกลุ่มทุนข้ามชาติ ซึ่งความน่าสนใจอยู่ที่การเคลื่อนที่ทางความหมาย ของเกลือและโพแทช  ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาภายใต้กระบวนการพัฒนาประเทศ และกลุ่มคนที่หยิบไปใช้หรืออธิบาย ในสถานการณ์หรือบริบทต่างๆ  ซึ่งทำให้ความหมายของเกลือ ได้หลุดลอยไปจากเรื่องของการบริโภคแต่กลายเป็นประเด็นในทางการเมืองและการวางนโยบาย ภายใต้ความขัดแย้งระหว่างกระบวนการทุนนิยม โลกาภิวัฒน์ กับ  ภูมิปัญญา ท้องถิ่นนิยม หรือ รัฐ และบริษัทข้ามชาติกับ ชุมชนท้องถิ่น แต่ประเด็นดังกล่าวข้างต้น ก็ได้ดึงเอาวิถีชีวิตของผู้คนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  และยังคงตอกย้ำว่า คนส่วนน้อยต้องเสียสละเพื่อคนส่วนรวม เพื่อผลประโยชน์ของชาติ อยู่อย่างๆไม้เสื่อมคลาย มาตลอดระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษของการพัฒนาประเทศ
2.ทำไมอีสานจึงมีเกลือมาก
            ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีชั้นเกลือหินอยู่ใต้พื้นดินปริมาณมหาศาล จากข้อมูลของ กองเศรษฐกิจธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ปีพ.ศ.2548 ระบุว่าใต้พื้นดินของแอ่งโคราชและสกลนคร มีปริมาณแร่โพแทช ประมาณ 407,000 ล้านตัน และเป็นเกลือหินประมาณ 18 ล้านตัน ในพื้นที่ 50,000 ตารางกิโลเมตร โดยมีแหล่งเกลือที่สำคัญทั้งสิ้น 7 แหล่ง คือ แหล่งอุบล แหล่งอุดร หนองคาย สกลนคร แหล่งทุ่งกุลาร้องไห้ แหล่งบำเหน็จณรงค์ ชัยภูมิ และแหล่งตลาดแค โคราช (ประเสริฐ วิทยารัฐ ,2538:40) หลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ก็คือ ปัญหาเรื่องดินเค็มและส่าเกลือที่พบบริเวณผิวดินปริมาณมากในฤดูแล้ง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 77,000 ตารางกิโลเมตร สาเหตุเพราะลักษณะทางธรณีวิทยาเป็นที่ราบสูง  และนักธรณีวิทยาเชื่อว่าบริเวณนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน  ต่อมาเกิดการยกตัวของของเทือเขาภูพาน ที่อยู่ตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้พื้นที่ภาคอีสานกลายเป็นแอ่งกะทะ และแบ่งภาคอีสานออกเป็นสองส่วนคือ แอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร และมีชั้นหินเกลือรองรับอยู่ใต้พื้นดินปริมาณมหาศาล
3.ประวัติศาสตร์การต่อสู้เรื่องเกลือในอีสาน
            ประวัติศาสตร์ของธุรกิจเกลือในอีสานเริ่มขึ้นในช่วงปีพ.ศ.2498 หลังจากการสำรวจพบว่าน้ำบาดาลใต้ดินของภาคอีสานมีความเค็มเนื่องจากมีน้ำเค็มและชั้นเกลือหินรองรับอยู่ทั่วทั้งภาค (กลุ่มสามประสานฯ ,2547 : 107) ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นโครงการสำรวจโพแทชและเกลือหินในประเทศไทยของกรมทรัพยากรธรณี (กรมทรัพยากรธรณี ,2548:107) ทำให้มีการเข้ามาของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเกลือนอกท้องถิ่นเข้ามาในพื้นที่ภาคอีสานเป็นจำนวนมาก  โดยเฉพาะในแถบจังหวัดมหาสารคาม โดยเอารูปแบบการทำนาเกลือทะเลแบบตากตามชายฝั่งทะเล[1]มาใช้ในพื้นที่ราบสูง  ซึ่งทำให้ลำน้ำเสียวและพืชผลทางการเกษตรเสียหาย จากการปนเปื้อนของน้ำเค็ม อันนำไปสู่กรณีปัญหาของลำน้ำเสียวในช่วงปี พ.ศ.2514-2522 มีการเคลื่อนไหวต่อสู้ระหว่างชาวนาในพื้นที่กับนายทุนนอกท้องถิ่นซึ่งเป็นนักการเมือง เพื่อให้รัฐบาลยกเลิกการอนุญาตทำการผลิตเกลือบริเวณลำน้ำเสียว และนำไปสู่การปะทะกันของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐ จนในที่สุดก็มีคำสั่งให้ปิดโรงงานในเวลาต่อมา แต่ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินตรงนี้ก็ไม่ได้ยุติ เนื่องจากการเข้ามาใช้ประโยชน์ต่อทรัพยากรดังกล่าวของกลุ่มทุนข้ามชาติ มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นโดยเฉพาะการใช้เครื่องมือในทางกฎหมาย  เช่นมีการเปลี่ยนแปลงการแก้ไขกฎหมายแร่ของประเทศไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทข้ามชาติระดับโลกเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรแร่ธาตุใต้พื้นดินของประเทศไทยและขุดเจาะแร่ใต้พื้นดินในพื้นที่กว้างขวางมากขึ้นโดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดินข้างบน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของการแก้ไขกฎหมายสำหรับขุดเจาะเกลือหินและแร่โพแทช[2] ในภาคอีสานที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญและมีความขัดแย้งรุนแรงในปัจจุบัน 
ประเด็นเรื่องของเกลือและโพแทช กลายเป็นเรื่องของการความรุนแรงในการช่วงชิงความหมาย การสร้างความรู้ ความจริง เกี่ยวกับเกลือ เพื่อสร้างอำนาจในการควบคุม จัดการทรัพยากรเกลือใต้พื้นดินอีสาน  โดยผ่านเรื่องของภาษาหรือการกล่าวถึงในแง่ของประเด็นปัญหา[3] ของประเทศ เมื่อเกลือและโพแทช ถูกนิยามเข้าไปในชุดของทรัพยากรแร่ธาตุ  ในรูปของตัวบทกฎหมาย เพื่อการจัดการและการควบคุมการใช้ประโยชน์ของรัฐอย่างเป็นทางการ โดยการสร้างนิยามและองค์ความรู้ให้กับสิ่งที่เรียกว่า  ทรัพยากรธรรมชาติ และ แร่ธาตุ ที่สะท้อนในนัยทางความหมาย ของการจำแนกแยกประเภท ความเป็นเจ้าของและการควบคุมทรัพยากรเกลือและโพแทชใต้พื้นดินอีสาน โดยเฉพาะเรื่องของ   “โพแทช” ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ของการจัดการทรัพยากรแร่ธาตุที่เข้ามาแทนที่เรื่องของการผลิตเกลือแบบพื้นบ้านในภาคอีสาน โดยความหมายของแร่โพแทชและเกลือนั้น ถ้าดูจากองค์ประกอบทางเคมีเปรียบเทียบกับเกลือแล้ว ก็จะมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน เนื่องจากเกลือก็คือโซเดียมคลอไรท์ (NaCl) ในส่วนของโพแทชก็คือโปแตชเซียมคลอไรท์ (KCL) ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน
ในแง่ของการต่อสู้เคลื่อนไหว เรื่องของเกลือและโพแทชถูกให้ความหมายที่แตกต่างภายใต้เงื่อนไขของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อเกลือกลายเป็นประเด็นปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากอุตสาหกรรมเกลือที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่โพแทชคือแร่ตัวใหม่ ที่กลุ่มทุนข้ามชาติกำลังจะเข้ามาดำเนินการทำเหมืองโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีมาตรฐานการป้องกันผลกระทบระดับโลก และในอีกทิศทางหนึ่งองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่[4] ก็นำเรื่องของเกลือพื้นบ้านและเกลืออุตสาหกรรมท้องถิ่นมาต่อสู้กับกลุ่มทุนข้ามชาติ[5]หรือโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ได้ทำให้นัยของเกลือและโพแทช ถูกใช้ในการอธิบายหรือบอกเล่าเพื่อสร้างความรู้และอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินของอีสาน
แนวโน้มของปัญหาเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากความซับซ้อนของปัญหาและการเข้ามาของทุนขนาดใหญ่ที่เป็นบริษัทข้ามชาติ ซึ่งโดยทั่วไปการผลิตเกลือสินเธาว์ จะมีรูปแบบการผลิตแบบเกลือพื้นบ้าน ที่ขูดเอาหน้าดินขึ้นมาต้ม ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะบ่อเกลือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน และรูปแบบการผลิตในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ที่ใช้วิธีการสูบหรือดูดน้ำเกลือขึ้นมาต้มและตากบนลานดิน ลานซีเมนต์ หรือการทำเหมืองละลายแร่ที่ใช้วิธีอัดน้ำลงไปละลายชั้นเกลือหินเพื่อนำมาอบแห้ง โดยนายทุนนอกท้องถิ่นที่เข้ามากว้านซื้อที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งการผลิตแบบนี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ พื้นที่ทางการเกษตร แหล่งน้ำ และแผ่นดินทรุดอย่างกว้างขวาง เช่นบริเวณอำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนครและอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น
ในปัจจุบัน รูปแบบการผลิตเกลือมีการพัฒนาอย่างก้าวหน้า โดยใช้เทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนารูปแบบการผลิตและขนาดของการผลิตก็เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจาก การขุดเจาะเพื่อสำรวจหาแหล่งแร่ในบริเวณภาคอีสานเพื่อประโยชน์ในทางพาณิชย์และเชื้อเชิญนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาทำการผลิตและการลงทุนในแหล่งแร่ของประเทศ  เช่น โครงการขุดเจาะสำรวจหาเกลือหินและโพแทช    ของกรมทรัพยากรธรณีในช่วงปี พ.ศ.2516-2519  พบว่าในพื้นที่ภาคอีสาน มีแหล่งแร่โพแทชชนิดซิลไวต์[6]ที่ดีที่สุดในโลก และบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช  คอร์ปอเรชั่น จำกัด จากแคนาดา ได้สนใจเข้ามาลงทุนและพัฒนากิจการเหมืองแร่ในประเทศไทย และได้รับประทานบัตรให้ทำการสำรวจและขุดเจาะหาแหล่งแร่โพแทชที่จังหวัดอุดรธานีในปี พ.ศ.2523 เพื่อให้สามารถเข้ามาทำการสำรวจและขุดเจาะเหมืองแร่โพแทชเพื่อการอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ได้   และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผลประโยชน์ต่างๆที่คนกลุ่มต่างๆจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในนามของชาติ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลและประชาชนในพื้นที่ ตามที่บริษัทข้ามชาติกล่าวอ้าง
จากเหตุผลข้างต้นได้นำไปสู่กระบวนการแก้ไข พระราชบัญญัติแร่ พ..2510” ที่มีความล้าสมัยและไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยีของการทำเหมืองในต่างประเทศ รวมทั้งการแก้ไขในประเด็นของ คำนิยามของแร่[7] และเรื่องของแดนกรรมสิทธิ์[8] เพื่อให้สามารถนำทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินอีสานขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศ อันนำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐ ในเรื่องการจัดการทรัพยากรโดยเฉพาะประเด็นกฎหมายแร่ ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใหม่เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่โพแทชและเกลือหิน ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการร่วมของรัฐสภา และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ.2545 ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพระราชบัญญัติแร่ พ..2510 จึงเป็นการแก้ไขเพื่อเพิ่มนิยามและคำศัพท์ในกฎหมาย ในเรื่องความหมายของแร่ การผลิตแร่ และการจัดการทรัพยากรแร่ธาตุให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การต่อสู้เรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ในนามของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี[9] ที่คัดค้านพระราชบัญญัติแร่..2510 และต่อต้านโครงการเหมืองแร่โพแทช ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มผู้นำชุมชนและชาวบ้านบางหมู่บ้านที่รวมกลุ่มกันผลักดันโครงการในพื้นที่หรือให้การสนับสนุนกลุ่มทุนข้ามชาติในการทำให้เกิดเหมืองแร่ขึ้นในพื้นที่ ดังนั้น แร่โพแทชจึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่ปฏิเสธและสนับสนุนเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว พร้อมกับความเข้าใจความหมายของสิ่งที่เรียกว่าโพแทชในแง่มุมที่หลากหลาย ตามที่สถาบันต่างๆได้เข้ามา สร้างความรู้ความจริงให้กับชาวบ้านในพื้นที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินชนิดนี้

4.การช่วงชิงความหมายของเกลือและโพแทชในพื้นที่
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การสร้างความหมายและการต่อสู้ช่วงชิงความหมายของเกลือและโพแทชในพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ ความจริงและอำนาจในการจัดการทรัพยากรใต้พื้นดินอีสาน เกี่ยวกับเกลือและโพแทช ที่ทำให้เรามองเห็นสิ่งเหล่านี้พร้อมกับชุดความรู้ และคำอธิบายที่ว่า ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมชุมชน ตำนานท้องถิ่น ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ผลประโยชน์ของชาติ ความเจริญ เทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือความเป็นวิทยาศาสตร์ที่ถูกพูดถึงและผนวกกับบรรดาวาทะของบริษัท นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชนและชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับการสร้างความจริงให้กับคนอุดรธานีและคนในพื้นที่เกี่ยวกับเกลือและโพแทชในเชิงของทรัพยากร ที่จะต้องนำไปใช้ในการจัดการ การใช้ประโยชน์และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
เกลือและโพแทช จึงมีนัยอย่างแตกต่างหลากหลายในการให้คุณค่า ภายใต้เหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง ในการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทช ว่าจะเอาหรือไม่เอาโครงการ  โดยสะท้อนผ่านการช่วงชิงความหมายและการผลิตองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องแร่ธาตุหรือทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านบทสนทนา ผ่านภาษาในการบอกเล่า การอธิบาย โดยใช้เวทีสัมมนาทางวิชาการเป็นสื่อกลางเพื่อสร้างองค์ความรู้ สร้างการยอมรับและสร้างอำนาจในการจัดการทรัพยากรแร่ธาตุใต้พื้นดินของอีสานและประเทศไทย  เมื่อเกลือไม่ใช่เรื่องของเครื่องปรุงในครัวเรือนหรือบนโต๊ะกับข้าว  แต่ได้กลายเป็นวัตถุที่สำคัญกับระบบทุนนิยมและการพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้เรื่องของเกลือและโพแทช กลายเป็นเรื่องราวที่คนรับรู้และจัดการกับความคิด ความรู้ของคนในทิศทางที่แตกต่างหลากหลาย
ดังนั้น การพยายามสร้างเอกภาพของมันในการแก้ไขปัญหาได้กลายเป็นสิ่งที่สร้างความขัดแย้งในกระบวนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินระหว่างคนในท้องถิ่น รัฐบาลและบริษัทข้ามชาติซึ่งทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างกันอย่างรุนแรงมากขึ้น ภายใต้การสร้างความรู้ ความจริงให้กับคนกลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างอำนาจในการผูกขาด จัดการและใช้ประโยชน์จากแร่ธาตุและทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนดินอีสาน อันเนื่องมาจาก การเผชิญหน้ากันระหว่างทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ยึดมั่นในแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ธรณีวิทยาและเศรษฐศาสตร์ กับความเชื่อท้องถิ่น ความรู้พื้นบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องของตำนานพื้นบ้านและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ โดยที่วาทกรรมกระแสหลักของรัฐและบริษัทเหล่านั้น ไม่เปิดพื้นที่ให้วาทกรรมชาวบ้านสามารถแทรกซึมหรือสถาปนาตัวเองขึ้นมาได้อย่างทัดเทียมโดยง่าย แต่วาทกรรมของรัฐและบริษัทข้ามชาติก็ไม่เคยเป็นสิ่งที่ผูกขาด เพราะมันก็มีการปะทะ ประสานกับวาทกรรมท้องถิ่นอยู่ตลอดเวลา
ดังจะเห็นได้จากคำเรียกชื่อเกลือที่มีความแตกต่างมากกว่า 20 คำ เช่น เกลือสินเธาว์ เกลือสมุทร’ ‘เกลือขี้ทา’ ‘เกลือดินเอียด’ ‘เกลือไอโอดีน’ ‘เกลือดาน เกลือโปแตช’ ‘เกลือซิลไวท์’ ‘เกลือด่าง’ ‘เกลือบกเกลือหิน’ ‘เกลือแกง’ ‘เกลือป่น’ ‘เกลืออุตสาหกรรม’  ‘เกลือบริโภค’  ‘เกลือดิบ’ ‘เกลือสุก’ ‘เกลือต้ม’ ‘เกลือตาก’ ‘เกลือพื้นบ้าน’ ‘เกลือบ้านนั้นบ้านนี้เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นการจำแนกแยกแยะประเภทของการใช้ประโยชน์และการให้ความหมายที่ค่อนข้างหลากหลายและสะท้อนโลกทัศน์ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกระบวนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินของท้องถิ่นที่ปะทะกับระบบทุนนิยม ภายใต้ความคิดเชิงพาณิชยนิยมและอุตสาหกรรมนิยม รวมทั้งมีการเชื่อมโยงเรื่องเกลือกับเรื่องต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมชุมชน ภูมิปัญญาพื้นบ้าน และการพึ่งตนเอง  ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของการศึกษาเกี่ยวกับภาษา ความรู้และอำนาจ ที่จัดการกับพื้นที่และคนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานีในปัจจุบัน
5.การเข้ามาของ โพแทช ในพื้นที่ ความรู้ใหม่ที่มากกว่าเรื่องเกลือ
โครงการเหมืองแร่โพแทช อุดรธานี ของบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ได้ทำการสำรวจแร่โพแทช ในแหล่งสมบูรณ์ (แหล่งอุดรใต้) ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล คือ ตำบลโนนสูง ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง และตำบลห้วยสามพาด ตำบลนาม่วง กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี และได้ทำการขออาชญาบัตรเพื่อทำการศึกษาและสำรวจและประทานบัตรเพื่อสร้างโรงงานขุดเจาะเหมืองแร่โพแทช เป็นระยะเวลา 22 ปี ในพื้นที่ 25 ตารางกิโลเมตร[10]
สภาพทางกายภาพและชีวภาพของพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นชุมชนที่ประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น สลับกับพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมาก  มีสถานที่ราชการสำคัญตั้งอยู่ เช่น ขนส่งจังหวัด สถานีตำรวจภูธร ค่ายทหาร ศูนย์มะเร็ง วิทยาลัยพยาบาลราชชนนี วิทยาลัยเทคนิค โรงเรียน วัดต่างๆ รวมถึงแหล่งน้ำจืดที่สำคัญ คือหนองนาตาล ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง และหนองหาน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลำปาว ลำน้ำสาขาสำคัญของแม่น้ำชี  นอกจากนี้ยังมีลำห้วย ธรรมชาติหลายสายที่ไหลลงสู่หนองหานกุมภวาปี เช่น ห้วยสามพาด ห้วยหิน ห้วยเก้าต่า ห้วยโพนไพร ห้วยน้ำเค็ม และมีหนองน้ำสาธารณะของแต่ละหมู่บ้านสำหรับอุปโภคบริโภคและเลี้ยงสัตว์   ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกข้าวเป็นหลัก อีกทั้งในอดีตชุมชนเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ทางด้านการพัฒนาและเศรษฐกิจ เช่นเป็นศูนย์กลางของการค้าขาย มีตลาดขนาดใหญ่ และเป็นศูนย์กลางของการคมนาคม เช่น สถานีรถไฟ มีโรงสีและโรงเลื่อยขนาดใหญ่ หรือมีค่ายของทหารอเมริกันตั้งอยู่ในช่วงสงครามเวียดนามและช่วงการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ภาคอีสาน เป็นต้น
นอกจากนี้ ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ยังมีทรัพยากรธรรมชาติชนิดอื่นๆ เช่น บ่อเกลือที่กระจายอยู่ในหลายหมู่บ้าน ที่ยังคงทำการผลิตเกลือแบบพื้นบ้านมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้ง พื้นที่โคกหรือป่าสำหรับใช้ประโยชน์ แม้ว่าในปัจจุบันทรัพยากรดังกล่าวจะลดลง เนื่องจากการขยายพื้นที่ของการเพาะปลูก และสร้างที่อยู่อาศัย มีการจัดการพื้นที่บริเวณนี้ พร้อมกับนำทรัพยากร ธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ น้ำและแร่ธาตุมาใช้ประโยชน์ ซึ่งสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การอพยพตั้งถิ่นฐานและการปะทะกับการเปลี่ยนแปลงภายใต้การพัฒนาต่างๆในพื้นที่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากยุคเกษตรกรรมธรรมชาติไปสู่การพัฒนาเกษตรกรรมแบบทุนนิยมเต็มรูปแบบ  โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของธุรกิจเกลือและอุตสาหกรรมเกลือบนแผ่นดินหรือผืนนาของคนอีสานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ที่บริเวณลำน้ำเสียว อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม และในช่วงปี พ.ศ.2524 เป็นต้นมาในแถบพื้นที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี[11]
ลักษณะการผลิตเกลือในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีปัจจุบัน มีอยู่สองรูปแบบคือ
1) การผลิตเกลือพื้นบ้าน ที่เป็นการผลิตเกลือตั้งแต่โบราณและกระทำอยู่แทบจะทุกพื้นที่ เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนและการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชน แหล่งสำคัญเช่นหมู่บ้านบริเวณรอบหนองหานน้อย หรือหนองหานกุมภวาปี เกลือชนิดนี้เป็นโซเดียมคลอไรค์ ที่ระเหยซึมขึ้นมาเป็นคราบเกลือบนผิวดินในช่วงฤดูแล้ง   
2) การผลิตเชิงอุตสาหกรรม ในพื้นที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเกลือที่สำคัญในทางเศรษฐกิจของจังหวัด และเริ่มผลิตเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา โดยใช้เกลือหินใต้พื้นดินและน้ำเกลือใต้ดินเป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยใช้วิธีการดูดน้ำเกลือขึ้นมาต้มและตากบนลานดินและซีเมนต์
จนกระทั่งสถานการณ์ปัจจุบัน ที่การช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินอีสานนั้น เริ่มที่จะมีความซับซ้อนของปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ  ภายใต้โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ซึ่งเป็นการทำเหมืองแบบอุโมงค์ใต้ดิน โดยการเข้ามาลงทุนในเชิงพาณิชย์และพัฒนาอุตสาหกรรมโพแทชและเกลือหินของกลุ่มทุนข้ามชาติจากแคนาดา ที่ได้สร้างความหมายใหม่ของสิ่งที่เรียกว่าแร่โพแทช และเข้ามาจัดการกับวิถีชีวิตของคนอุดรธานี
6.ความหมายของเกลือ ก่อนการเข้ามาของโพแทช
เกลือมีความสัมพันธ์กับคนในชุมชน โดยการสร้างความหมายต่อคนและพื้นที่ ผ่านพิธีกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเกลือ ในรูปแบบของการใช้ประโยชน์และเป็นส่วนประกอบหนึ่งของพิธีกรรมซึ่งเป็นศูนย์รวมความเชื่อถือศรัทธาของชุมชน โดยเฉพาะประเพณีอีสานในรอบปีที่เรียกว่า ฮีตสิบสองคองสิบสี่[12]
เกลือได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการประกอบพิธีกรรมในรอบปี โดยเฉพาะประเพณี วัฒนธรรม ที่เกี่ยวข้องกับการบูชาบรรพชนที่ล่วงลับลับ ในช่วงเดือนเก้า เดือนสิบ คือบุญข้าวสากและบุญข้าวประดับดิน  ซึ่งจะต้องมีการเตรียมห่อข้าวในพิธีกรรม โดยในเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน จะมีห่อข้าวใหญ่ 1 ห่อ ใส่พริก เกลือ ผลไม้ ข้าวและอาหาร ใส่ในใบตอง และให้พระสวด ก่อนที่จะกรวดน้ำและนำไปวางไว้ตามต้นไม้ บริเวณวัด โดยเปิดห่อข้าวออกแล้วฝังดินกลบไว้โดยเรียกให้แม่ธรณีมารับเอาไป พร้อมทั้งญาติพี่น้อง ผู้ล่วงลับมารับเอาห่อข้าวนี้ไป  หรือการทำถุงพริก ถุงเกลือ ไว้เป็นกัณฑ์เทศน์ถวายพระในงานบุญผเวสประจำปีของชุมชน
เกลือจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนถีชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ในแง่ของวัฒนธรรม การทำอาหาร การถนอมอาหาร และแสดงให้เห็นถึงการแบ่งปันช่วยเหลือกัน ที่ทำให้เกิดลักษะแบบเครือญาติ ที่อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน เป็นครอบครัว  และยังชี้ให้เห็นว่า เกลือเป็นวัตถุที่มีความสำคัญจำเป็นซึ่งจะขาดๆไม่ได้ ซึ่งปรากฏผ่านภาษาที่พูดกันในชุมชนหรือ ผญา คำกลอน ที่ใช้บอกเล่าความสำคัญเกี่ยวกับเกลือที่มีต่อชุมชน  เช่น คำกล่าวที่บอกว่า พริกบ้านเหนือเกลือบ้านใต้  หัวกิ้นไข(ตะไคร้) อยู่เฮือนเพิ่น กะคือคนขี้คร้าน[13]  พริกบ้านเหนือเกลือบ้านใต้แบบพี่น้องอยู่หนำกันแบบพี่น้อง คนทุกข์คนยากคือจังผู้บ่าวผู้สาว หมายความว่า เฮาจะเอาเฮาบ่มี มีแต่ไปขอ ต้องขอพริกขอเกลือ[14] อึดเกลือกะยากส่ำอึดเกลือ อึดข้าวกะยากส่ำอึดข้าว คั่นเฮาสิใช้ สิเอือบปลาเฮ็ดปลาร้า มันกะยาก คั่นบ่มีปลากะเน่า[15] เกลือกะคือบ้านบ่มีเกลือกะบ่มีบ้านมีครอบครัว ทำลายบ่อเกลือหรือบ้านบ่[16]มีบ่อเกลือกะคือจั๋งบ่มีบ้าน ที่สะท้อนความสำคัญของเกลือกับวิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่ร่วมกัน โดยไม่สามารถขาดเกลือได้ และต้องหามาให้พร้อมสำหรับครัวเรือนเพื่อใช้ถนอมอาหารและปรุงอาหาร ถ้าไม่มีเกลือก็แสดงถึงลักษณะของครอบครัวที่ไม่ช่วยเหลือตนเอง ต้องพึ่งพาคนอื่น ทั้งๆที่สิ่งของบางอย่างมีอยู่ตามธรรมชาติในชุมชน แต่ไม่รู้จักนำมาใช้ประโยชน์กับครัวเรือนตนเอง เป็นต้น
เมื่อถึงช่วงเวลาของการต้มเกลือ ผู้นำชุมชนหรือผู้นำทางพิธีกรรม ทางจิตวิญญาณของชุมชน ก็จะได้ให้สัญญาณบอกถึงการเริ่มต้นฤดูกาลของการผลิตเกลือพื้นบ้านในชุมชน โดยการตีเกระเคาะไม้ ที่ชาวบ้านเรียกว่า ขอลอ ที่ทำจากไม้และเหล็ก เพื่อให้ทุกคนเตรียมตัวที่จะขูดเอาดินเอียด หรือ ขี้ดินเอียด ส่าเกลือ มากน้อยตามแต่ปริมาณที่ตัวเองต้องการ รวมถึงการเตรียมแรงงานและเตรียมอุปกรณ์ในการต้ม เตา กระทะ โอ่งน้ำ สานกระทอ กระบุง หรือฟืนสำหรับต้ม เมื่อเสร็จสิ้นการเลี้ยงบ้านหรือเลี้ยงปู่ตาของหมู่บ้านแล้ว แต่ละชุมชนก็จะขนอุปกรณ์ลงไปในบ่อเกลือของหมู่บ้านเพื่อเริ่มต้นทำการผลิตเกลือของแต่ละครอบครัว ดังที่ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่า
 เดือน11 เดือน12 ก็เริ่มขาวไปทั่ว เริ่มมีเกลือเดือนสาม เอาข้าวขึ้นเรือนเอาเฟืองขึ้นฮ้าน[17] ถ้าฝนตกใส่จะขูดเอาเกลือบริเวณผิวดินไม่ได้ ก่อนจะลงทำการต้มต้องเลี้ยงบ้านเลี้ยงปู่ ก็ไปเลี้ยงแม่ตู้เพีย แล้วประกาศใส่เครื่องผู้ใหญ่บ้าน  ให้ชาวบ้านไปขูดวันพุธ เลี้ยงผีเลี้ยงสางก็เลี้ยงวันพุธ[18]

บ่อเกลือของชุมชนรอบหนองหานเป็นบ่อเกลือสาธารณะ ไม่ใช่บ่อของเอกชน คนใดคนหนึ่ง ซึ่งจะมีลักษณะของการใช้ทรัพยากรร่วมกันและการหมุนเวียนกันระหว่างคนในชุมชนที่ชาวบ้านเรียกว่า บ่อรวมหรือ บ่อของหมู่บ้านพอถึงช่วงฤดูกาลต้มเกลือในช่วงเดือนสองและเดือนสามหลังพิธีการเลี้ยงบ้านที่เรียกว่า เลี้ยงตาปู่บ้านหรือ เลี้ยงปู่ตา ที่ดอนปู่ตาของหมู่บ้านก่อนหรือหลังจากการเอาข้าวขึ้นเล้าหลังการเก็บเกี่ยว ชาวบ้านก็จะเริ่มลงมือต้มเกลือ  ในช่วงก่อนต้มเกลือก็จะมีการสักการะบวงสรวง บอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางหรือวิญญาณที่ดูแลบ่อเกลือ ซึ่งในพื้นที่บ้าน     อุ่มจานและบ้านขางัวนั้น จะนับถือ แม่นางเพียแก้ว[19] หรือ แม่นางเครือแก้วบางทีเรียกว่า แม่ตู้เพีย”  ที่ถือว่า เป็นผีฝ่ายหญิง ที่ดูแลและปกปักรักษาบ่อเกลือ หรือเป็นวิญญาณบรรพบุรุษ[20] โดยจะมีศาลของเจ้าแม่หรือแม่นางเพียแก้วอยู่ที่บ่อเกลือ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่าเป็นเสมือนกับพระแม่ธรณีผู้ปกปักดูแลรักษาพื้นดิน ที่ได้ให้ผลผลิตจากธรรมชาติกับชาวบ้านในการผลิตเกลือจากส่าเกลือบนผิวดินเพื่อใช้บริโภค และเมื่อมีการผลิตเกลือเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะต้องมีพิธีกรรมปลูกเกลือหรือหว่านเกลือ เพื่อถวายคืนต่อแม่นางเพีย โดยเชื่อว่าจะมีเกลืออุดมสมบูรณ์ต่อไปไม่มีวันหมด เพื่อให้ชาวบ้านได้นำไปใช้ประโยชน์ในการบริโภค การทำปลาร้าน การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับสินค้าชนิดอื่นๆ และเป็นของฝากของขวัญกับญาติพี่น้อง เป็นต้น
7.เกลือสินเธาว์ เกลือสุขภาพ การสร้างเกลือให้เป็นวัตถุอุตสาหกรรม ที่มากกว่าเรื่องของการบริโภค
การเปลี่ยนแปลงทางความหมายของเกลือและปฏิบัติการเกี่ยวกับเรื่องเกลือมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เกลือกลายเป็นสิ่งที่มากกว่าการบริโภคหรือประโยชน์ในการใช้สอย การเป็นของฝากของขวัญ และการถนอมอาหาร เพราะมันได้กลายเป็นประเด็นปัญหาที่นำมาสู่ข้อถกเถียงในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินอีสาน  รวมถึงความสัมพันธ์ในเชิงพื้นที่ ของผลิตเกลือในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย ที่เข้ามาสัมพันธ์กันภายใต้กลไกลของระบบตลาด ซึ่งราคาของเกลือจะขึ้นอยู่กับระดับความเค็มและความบริสุทธิ์ ทำให้มีการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตจากชายฝั่งทะเลมาสู่ดินแดนที่ราบสูงหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีชั้นเกลือหินใต้ดินครอบคลุมพื้นที่แอ่งสกลนครและแอ่งโคราช เกลือภาคอีสานจึงกลายเป็นวัตถุดิบสำคัญของกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาประเทศ
การแยกความสำคัญของเกลือสินเธาว์ และเกลือสมุทร ภายใต้ประเด็นเรื่องของสุขภาพ และแร่ธาตุไอโอดีนเพื่อป้องกันโรคคอฟอก ซึ่งทำให้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่  153 (2537) ในเรื่องของเกลือบริโภค ซึ่งกำหนดให้เกลือบริโภคเป็นเกลือไอโอดีนที่มีส่วนผสมและใช้ปรุงแต่งอาหาร ที่จะต้องมีปริมาณเกลือไม่น้อยกว่า 30 มิลลิกรัมต่อหนึ่งกิโลกรัม รวมทั้งเกลือชนิดนี้จะต้องบรรจุในภาชนะที่พร้อมจำหน่ายต่อผู้บริโภค ทำให้การผลิตเกลือสมุทรยังมีความสำคัญต่อเรื่องสุขภาพ  รวมทั้งอุตสาหกรรมเกลือบริโภคในพื้นที่ภาคอีสาน ที่นำเกลือสินเธาว์มาเติมสารไอโอดีน ภายใต้ชื่อสินค้าว่าเกลือปรุงทิพย์ อย่างบริษัทพิมายซอลต์ จำกัด เป็นผู้ผูกขาดตลาดเกลือบริโภคที่สำคัญของประเทศ  สำหรับเกลือสินเธาว์ในแหล่งการผลิตอื่นๆของภาคอีสาน กลายเป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ประโยชน์ในเรื่องของอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรมเคมีพื้นฐานและอุตสาหกรรมอาหาร   ทำให้มีการผลิตเกลือสินเธาว์อย่างมหาศาลในพื้นที่ภาคอีสานปัจจุบัน อีกทั้งการเข้ามาของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของบริษัทข้ามชาติ ภายใต้ชื่อโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ที่จะทำให้มีเกลือปริมาณมหาศาลออกสู่ตลาดในอนาคต
8.การเข้ามาของรัฐและบริษัทข้ามชาติ ในเรื่องแร่โพแทช
คำบอกเล่าของชาวบ้านที่ว่า หลวงสั่งให้มาเจาะแร่ ในการอ้างคำสั่งของทางราชการ ของผู้เข้ามาขุดเจาะในช่วงแรกประมาณปี พ.ศ.2516-2519 ทำให้ชาวบ้านรู้สึกหวาดกลัวไม่กล้าซักถามหรือต่อต้านการสำรวจดังกล่าว ในช่วงต่อมาปี พ.ศ.2536 -2537 ก็มีบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด เข้ามาเจาะแร่ซ้ำอีกครั้ง ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับชาวบ้านที่เชื่อว่า มีการพบแร่ที่มีค่าใต้พื้นดินของตนเอง ทั้งแร่ยูเรเนียม น้ำมันหรือแม้กระทั่งทองคำ รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้สำรวจกับชาวบ้านในพื้นที่ในเรื่องค่าชดเชยความเสียหายจากการขุดเจาะที่นาและการตัดผ่านคันนาของชาวบ้าน โดยที่ชาวบ้านบางรายได้เรียกร้องและได้รับค่าตอบแทนจากการขุดเจาะหลุมละประมาณ 1,500-3,000 บาท ถึง10,000 บาท ทั้งหลุมน้ำและหลุมเกลือหินหรือโพแทช ที่กลุ่มทุนข้ามชาติเข้ามาขุดเจาะในที่นาของชาวบ้าน ดังเช่นนางมณี บุญรอด ซึ่งถูกขุดเจาะที่นาเล่าให้ฟังว่า
ปี 36-37 ข้าเจ้า บอกว่าทางราชการให้มาขุด เฮาก็ปฏิเสธไม่ได้ ก็เลยให้เขามาขุดเจาะ ไม่รู้ว่าเป็นแร่อะไร รู้แต่เขาบอกว่าเป็นน้ำมัน เคยมีชาวบ้านโวยวาย ไม่ยอมให้เข้ามาขุด เพราะเวลามาแต่ละครั้งมีทั้งรถสิบล้อ รถแบ็คโฮเต็มไปหมด เวลาตอกเสา เพื่อฝังหลักลงไปก็ตอกกันในช่วงเวลากลางคืน ชาวบ้านไม่ได้หลับไม่ได้นอน  เดือดร้อนกันหมดรวมถึงวัว ควายด้วย พอชาวบ้านไปบอกว่าคันนาถูกเหยียบเขาก็จ่ายให้คนละ5-10 บาท พอบอกว่าที่นามีเอกสารสิทธิ์ มีโฉนด เข้ามาทำอะไรโดยไม่ขออนุญาต ทำตาม     อำเภอใจไม่ได้ เขาเลยให้วิศวกรฝรั่งที่มาคุมงาน เจรจาแล้วจ่ายเงินให้10,000บาท     ตอนนั้นที่นาแม่เสียหายมากปลูกข้าวไม่ได้ เพราะเขาเอาดินเกลือที่ขุดได้มาฝังกลบในที่นา ปลูกข้าวก็ไม่ขึ้น ปลูกอะไรไม่ได้กินเลย แค่ได้เงินมา10,000 บาทมันไม่คุ้ม...[21]

กรมทรัพยากรธรณีเข้ามาสำรวจแหล่งแร่โพแทชและเกลือหินในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2516 ถึง 2524 โดยจังหวัดอุดรธานี เป็น 1 ใน15 แหล่งที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเป็นพื้นที่ประมาณ 44,120 ตารางกิโลเมตร  เมื่อปี พ.. 2522 ที่ได้ประกาศพื้นที่ในการสำรวจ ศึกษาทดลองและทำการวิจัยแหล่งแร่โปแตชและเกลือหิน บริเวณแอ่งสกลนคร จำนวนพื้นที่ 16,640 ตารางกิโลเมตร ในเขตจังหวัด อุดรธานี หนองคาย นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่นและแอ่งโคราช ในเขตจังหวัด นครราชสีมา  ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ มหาสารคาม ชัยภูมิ และอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ 274,800 ตารางกิโลเมตร[22]  ซึ่งต่อมาบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศแคนาดา ได้ทำสัญญาร่วมกับบริษัท อะกริโกโปแตช ประเทศสหรัฐอเมริกา  บริษัทเอเชีย แปซิฟิก รีสอร์ซเซส จำกัด บริษัทเมโทร รีสอร์ซเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศแคนาดา และบริษัทไวรด์เมียร์ จำกัด ซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย ในการร่วมลงทุนและพัฒนาโครงการ และได้รับสัมปทานการสำรวจจากรัฐบาลไทยในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี จำนวน 2,333 ตารางกิโลเมตรตั้งแต่ปีพ.ศ. 2516 เป็นต้นมา[23]  
จนถึงช่วงปี พ.ศ.2523  ที่รัฐบาลไทยได้ประกาศแหล่งสัมปทานทั้งสิ้น 5 แห่ง[24] เพื่อการสำรวจและแสวงหาแหล่งแร่ในเชิงพาณิชย์ โดยการเชิญชวนนักลงทุนและผู้สนใจ เข้ามาขออาชญาบัตรและประทานบัตรเพื่อทำการสำรวจและผลิตแร่ในเชิงพาณิชย์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งบริษัทเอเชียแปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ได้ยื่นขอสิทธิ์ผูกขาด และในช่วงปี พ.ศ. 2527 กระทรวงอุตสาหกรรมและกรมทรัพยากรธรณี ได้ทำสัญญากับบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ให้สิทธิสำรวจและผลิตแร่โพแทชในภาคอีสานแก่บริษัทเพียงผู้เดียว แต่สภาพการณ์ของการผลิตโพแทชทั่วโลกรวมทั้งประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ของโลก ได้รับผลกระทบจากราคาโพแทชในตลาดโลกที่ตกต่ำ การผลิตไม่เพิ่มมากขึ้น และไม่มีการพัฒนาเหมืองใหม่ๆขึ้นมาได้ จึงทำให้สถานการของการสำรวจและผลิตโพแทชซบเซาและหยุดชะงักลง จนมาถึงช่วงปี พ.ศ. 2536 สถานการณ์โพแทชในตลาดโลกเริ่มดีขึ้น ทางบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ได้เข้ามาขุดเจาะและสำรวจแหล่งแร่โพแทชในประเทศไทยอีกครั้ง โดยได้รับอาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจต่อ และได้ทำการขุดเจาะสำรวจเพิ่มเติมเมื่อปี พ.ศ.2535-2536  โดยการสำรวจของบริษัทอาศัยข้อมูลจากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี เมื่อปี พ.ศ.2516-2519 ที่จังหวัดอุดรธานี จนได้ทำการขุดเจาะสำรวจเพิ่มเติมและพบแหล่งแร่โพแทชคุณภาพสูงระดับหนึ่งของโลก ชนิดซิลไวท์  ซึ่งเป็นแร่โพแทชที่มีความบริสุทธิ์ที่สุด เป็นที่ต้องการของตลาดมาก และคุ้มค่าต่อการลงทุน เพื่อผลิตในเชิงพาณิชย์  จนกระทั่งปี พ.ศ. 2543 บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยมีสิทธิประโยชน์ด้านแรงงานต่างด้าว กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ภาษีอากรและด้านการเงิน  และในปี พ.ศ. 2544 รายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบริษัทก็ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เพื่อยืนเสนอขอประทานบัตรจัดตั้งโรงงานในประเทศไทย
บริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์เปอเรชั่น จำกัด ได้ประกาศการค้นพบแหล่งแร่โพแทชระดับโลกที่อุดรธานี เพื่อสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ดังคำประกาศของนายโดนัลด์ ฮิวจ์ วิศวกรของบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช                                      คอร์เปอร์เรชั่นจำกัด เป็นการเปิดตัวถึงแหล่งแร่สมบูรณ์ซึ่งเป็นแหล่งแร่โพแทชที่มีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ และบริษัทข้ามชาติที่จะเข้ามาลงทุนทำการเปิดเหมืองขนาดใหญ่ลำดับต้นๆของโลกในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ว่า

 แหล่งสมบูรณ์ (ชื่อแหล่งแร่ที่จะทำการก่อสร้างที่บ้านหนองตะไกร้ชื่อแหล่งแร่โพแทชที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโพแทชเป็นแร่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ประกอบด้วยธาตุโพแทชเซี่ยมและโซเดียมคุณภาพสูง แร่โพแทชเป็นสารอาหารที่จำเป็นของพืช...โพแทชคือสิ่งที่มีความสำคัญในการพัฒนาทางด้านการเกษตร และถือเป็นพื้นฐานสำคัญทางโภชนาการของพืช ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่การบริโภคได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ไม่มีประเทศใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะมีแหล่งแร่โพแทชอันมหาศาล ซึ่งในปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่นอเมริกาเหนือ สหภาพโซเวียต และตะวันออกกลาง...จะทำให้ประเทศไทยอยู่อันดับสาม ของผู้ผลิตโพแทชในโลกรองจากแคนาดาและรัสเซีย[25]
ความหมายของแร่โพแทชตามที่บริษัทพูดถึงก็คือ ทรัพยากรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ    ซึ่งจะต้องมีการนำแร่โพแทชขึ้นมาผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อใช้พัฒนาอุตสาหกรรมด้านการเกษตร รวมทั้งอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบโครงการซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมและพึ่งพาปุ๋ยเคมีในกระบวนการผลิต พร้อมกับการปะทะกันของความหมายเกี่ยวกับเกลือพื้นบ้านของชาวบ้าน. ที่สัมพันธ์กับเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น การพึ่งตนเองและการผลิตแบบยังชีพ ตั้งแต่ก่อนมีโครงการเหมืองแร่โพแทชเข้ามาในพื้นที่จนถึงปัจจุบัน

          ในขณะที่ วงการวิชาการธรณีวิทยาและบริษัทข้ามชาติมีการตื่นตัวเรื่องการค้นพบแหล่งแร่โพแทชในภาคอีสาน แต่ในทางตรงกันข้ามความเข้าใจและการพูดถึงเกี่ยวกับแร่โพแทชของคนในพื้นที่ ในช่วงเวลานั้นก็ยังมีความแตกต่างกันหลากหลายออกไป เนื่องจากไม่รู้ว่าแร่โพแทชคืออะไร สิ่งที่ชาวบ้านรับรู้ก็คือ วัตถุที่ใสเหมือนสารส้ม ก้อนแร่หรือแม้กระทั่งน้ำมัน ดังตัวอย่างที่ชาวบ้านสะท้อนความเข้าใจเกี่ยวกับแร่โพแทชที่มีคนเข้ามาสำรวจในช่วงปี พ.ศ.2536-2537 ว่า

 เห็นกลุ่มวิศวกรเข้ามาแต่ไม่รู้ว่ามาทำอะไร ชาวบ้านก็บอกว่าเขาจะมาขุดเจาะน้ำมัน ก็ดีใจที่จะได้ขายที่นาเพราะที่นามีน้ำมัน แต่มาถึงวันนี้ ไม่มีใคร มาเจรจาขอซื้อที่ดิน ไม่มีใครมาเล่าอะไรให้ฟัง มีแต่เพียงการเอาเงินไปมัดจำ บอกว่าจะซื้อที่ดินแต่ผ่านไป 8 ปี ก็ยังเหมือนเดิม และเวลามาก็บอกว่ารัฐให้มา ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์คัดค้าน ผมเองเคยรู้เรื่องบ้านดุง  ที่อำเภอบ้านม่วง จังหวัดอุดรธานี ที่เกิดเหตุดินถล่ม เพราะมีการสูบน้ำเกลือใต้ดินขึ้นมาทำนาเกลือ เหมือนกัน ก็กลัวจะเกิดกับบ้านเราเพราะการทำเหมืองแร่โปแตชจะมีการขุดลึกลงไปใต้ดิน ประมาณ 100 เมตร จึงต้องเรียกร้อง ..[26]

การปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทช ทั้งจากกรมทรัพยากรธรณีและนักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้ามาสำรวจและขุดเจาะแร่โพแทช ในพื้นที่ทั้ง 2 ช่วง คือตั้งแต่ปี พ.ศ.2516-2524 และพ.ศ.2536-2537 แม้ว่าในช่วงเวลาของการขุดเจาะ และสำรวจของบริษัทจะใช้เวลาในพื้นที่ ถึง2ปี แต่บริษัทก็ไม่ได้มีการอธิบายหรือทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับแร่ที่มาทำการสำรวจ คุณสมบัติและการนำไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง โดยอ้างถึงเงื่อนไขผลประโยชน์ทางธุรกิจและการลงทุนที่ต้องปิดข้อมูลเป็นความลับ  ขณะที่ในช่วงนั้นบริษัทได้เริ่มมีการทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์กับผู้นำในระดับประเทศ จังหวัดผ่านเจ้าหน้าที่ของทางราชการ เช่น รัฐบาล ข้าราชการกรมทรัพยากรธรณีกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัด ลงไปจนถึงผู้นำท้องถิ่น โดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่โครงการพร้อมๆกับการประกาศว่าจะดำเนินการสร้างเหมืองแร่ในจังหวัดอุดรธานี เมื่อช่วงปี พ.ศ.2537 ซึ่งบริษัทเอพีพีซี มีความมั่นใจว่าได้พบแหล่งแร่โพแทชคุณภาพดี และมีคุณค่าในเชิงพาณิชย์ และเหมาะสมในการลงทุน

เหตุการณ์เคลื่อนไหวของกลุ่มทุนข้ามชาติเกี่ยวกับแร่โพแทช ในพื้นที่เกิดขึ้นในวันที่15-16 มกราคม พ.ศ.2542 เมื่อบริษัทเอพีพีซี ได้เข้ามาประชุมประชาสัมพันธ์โครงการเหมืองแร่โพแทชกับชาวบ้านในพื้นที่ บ้านหนองตะไกร้ ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีการจัดเลี้ยงโต๊ะจีน ล้มวัว ควาย และจ้างหมอลำซิ่งมาแสดงให้ชาวบ้านชม และวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2542 บริษัทเอพีพีซี ได้เข้ามาประชุมโครงการกับชาวบ้านในพื้นที่ตำบลห้วยสามพาด กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี ที่วัดอรุณธรรมรังสี บ้านโนนสมบูรณ์ ซึ่งบริษัทเอพีพีซีเข้ามาให้ข้อมูลของในช่วงแรกโดยบอกว่าแร่โพแทชก็คือปุ๋ยเคมี เป็นสิ่งที่สร้างความมั่งคั่งให้แก่ชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏจากการบอกเล่าของบริษัท จนกระทั่งมีนักพัฒนาเอกชนเข้ามาในพื้นที่และบอกกับชาวบ้านถึงสิ่งที่ไม่เคยปรากฏจากคำพูดของบริษัทข้ามชาติ ว่าแร่โพแทชคือความหายนะที่จะเกิดต่อพื้นที่หากมีโครงการเหมืองแร่โพแทชเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างความรู้ใหม่ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ต่อเรื่องดังกล่าว ดังที่แม่สา ดวงปาโคตร เล่าถึงการเข้ามาของคนกลุ่มต่างๆ ว่า

 4-5 ปีที่แล้ว เขาเข้ามาประชุมอยู่วัด เรียกชาวบ้านไปฟัง เขาไม่ได้บอกว่าโปแตชคืออะไร รู้แต่ว่าเราจะร่ำจะรวย ตอนแรกเขาว่ามีแร่เขาให้หลุมละ3,000 บาท ตอนเขามาเจาะ เขาว่ามาขุดเจาะหาน้ำมัน ต่อมาก็มาประชุมพูดถึงเรื่องโปแตชว่าโปแตชก็คือปุ๋ย ตอนเขามาขุดเจาะทีแรกปี2536 แต่รู้ว่าเป็นแร่โปแตช ตอนปี 2540 เขามาประชุม พวกฝรั่งแคนาดาเข้ามา ต่อมาก็มีเอ็นจีโอ หัวหน้าสุวิทย์กับโต ออกมาประชุมช่วงออกพรรษา  มาเล่าให้ฟัง ว่าโปแตช มันเป็นจั๋งใด น้ำสิกินได้บ่อแผ่นดินสิทรุดบ่อถึงรู้ว่ามันมีโทษมีภัย   มาบ้านเฮา แต่กี้ก็ได้ยินแต่จะขุดจะขุด บ่อฮู้ผิดภัยของมัน[27]

เช่นเดียวกับนาย สำราญ วงษ์ใสสา ผู้ใหญ่บ้านโนนสมบูรณ์หมู่ที่12 เล่าถึงการประชาสัมพันธ์ในช่วงแรกของบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่เน้นไปที่ผู้นำในชุมชน เจ้าหน้าที่และนักการเมืองระดับจังหวัด เกี่ยวกับผลประโยชน์ที่จะได้รับ ว่า

ปลายปี 2541คณะทำงานบริษัทเอพีพีซี เริ่มรุกงานด้านประชาสัมพันธ์โดยเริ่มจากการนำบรรดาสมาชิก อบต. สท. สจ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่อำเภอ จังหวัด ไปประชุมใหญ่ที่โรงแรมเจริญศรี ซึ่งเป็นโรงแรมใหญ่ในเมืองอุดร เพื่อทำการชี้แจงเรื่องโครงการผลดีที่จะเกิดขึ้น แก่ชุมชน รวมถึงการจัดเลี้ยงชาวบ้าน โดยมีการทำเอกสาร วีดีโอเทป ภาพถ่าย การทำเหมืองใต้ดินมาฉาย พร้อมกับการบรรยายให้ชาวบ้านเข้าใจเรื่องการทำเหมือง รวมถึงการล้ม วัว ควาย  เลี้ยงโต๊ะจีน และการจ้างหมอลำซิ่งมาแสดงให้ชม การให้การสนับสนุนการสร้างสวนสาธารณะและการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียนในชุมชนที่ตั้งโครงการ ทุกครั้งที่ประชุมพบปะชาวบ้าน บริษัทจะบอกเสมอว่า โครงการนี้จะสร้างผลประโยชน์ให้กับชุมชน คนในชุมชนจะมีงานทำเป็น1,000 ตำแหน่ง มีอาชีพมั่นคงไม่ต้องอพยพแรงงาน รวมถึงเราจะได้มีปุ๋ยใช้ลดการนำเข้าปุ๋ยโปแตช จากต่างประเทศ ชาวนาได้ซื้อปุ๋ยราคาถูก รวมถึงค่าภาคหลวงที่รัฐบาลจะได้รับปีละหลายล้านบาท องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาลในเขตประทานบัตรก็จะได้ส่วนแบ่งกำไร 10-20 เปอร์เซ็นต์ เวลาบริษัทถูกชาวบ้านซักถามเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม บริษัทก็จะอ้างถึงเทคโนโลยีชั้นสูงของอุตสาหกรรมการผลิตเหมืองแร่ใต้ดิน มีมาตรการป้องกันผลกระทบเรื่องดินถล่ม น้ำเค็มและเน้นย้ำว่า มันเป็นเรื่องทางเทคนิคที่ชาวบ้านเข้าใจได้ยาก[28]

สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเข้ามาของบริษัทในช่วงแรก ทำให้เกิดการรับรู้ของคนในพื้นที่เป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ไม่รู้ว่าแร่โพแทชมีอะไร กับกลุ่มที่รับรู้เรื่องของเหมืองแร่โพแทชที่สัมพันธ์กับเรื่องผลประโยชน์ซึ่งคนในพื้นที่จะได้รับ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือผู้นำชุมชน  แต่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ก็ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับโครงการนี้
ชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานีส่วนใหญ่  เริ่มรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับแร่โพแทชและเกลือหิน เมื่อช่วงวันออกพรรษา เดือนตุลาคมปี พ..2544  ที่ศาลาวัดอรุณธรรมรังษี ซึ่งชาวบ้านโดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ ผู้นำชุมชน และชาวบ้านที่สนใจจากหมู่บ้านใกล้เคียง ทั้งบ้านโนนสมบูรณ์หมู่ 3 และหมู่ 12 บ้านสังคม และบ้านวังขอนกว้าง ตำบลห้วยสามพาด กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี โดยมีนักพัฒนาจากองค์กรพัฒนาเอกชน ที่เข้ามาให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทช ดังนี้เช่น วิธีการทำเหมือง รวมถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ ซึ่งเป็นข้อมูลจากรายงานการศึกษาและประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตชคอร์เปอร์เรชั่นได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ นำมาถ่ายทอดให้ชาวบ้านฟังในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและวิพากษ์เกี่ยวกับข้อมูลที่ไม่ชัดเจนและละเลยที่จะพูดถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการนอกเหนือจากเรื่องของผลประโยชน์ที่กลุ่มต่างๆจะได้รับจากโครงการดังกล่าว

...พี่น้อง ตอนนี้บ้านของเรากำลังจะมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ ก็คือโครงการเหมืองแร่โปแตช อุดรธานี ของประเทศแคนาดาเขาจะเข้ามาขุดอุโมงค์ใต้ดินในประเทศเราเป็นระยะเวลา 22 ปี โปแตชก็คือเกลือของที่เราบริโภคในครัวเรือน แต่เค็มมากกว่าถึง1,000เท่า รสชาติจะออกขมๆหน่อย วิธีการขุดเจาะเขาจะขุดเป็นอุโมงค์ลงไปใต้พื้นดิน ลึก250-300 เมตร ความกว้างของอุโมงค์ 4-5 เมตร ขนาดที่รถวิ่งสวนกันได้ เขาจะทำการขุดเป็นห้องเป็นห้อง เหมือนบ้านเรา แล้วเอาเกลือ เอาโปแตชออกไป แล้วเหลือไว้นิดหน่อยเป็นเสาค้ำแผ่นดิน ใต้อุโมงค์จะมีห้องสำหรับเก็บเชื้อเพลิง ห้องพักคนงาน และมีรถลำเลียงแร่ขึ้นไปแต่งข้างบน เวลาแต่งแร่เขาจะบดแร่ให้มีขนาดเล็ก แล้วเอาแร่ไปละลายน้ำโดยเติมสารเคมีเพื่อแยกแร่ แล้วเอาน้ำไปอบแร่ ในการผลิตแต่ละวันจะได้โปแตช 2,000ตันต่อวัน สำหรับเกลือมีปริมาณ  5,000 ตันต่อวัน กากเกลือก็จะกองไว้บนลานกองเกลือที่จะสูง40 เมตรประมาณตึก10ชั้นไม่มีอะไรคลุม พอฝนตกลงมา เกิดพายุฝุ่นเกลือก็จะกระจายบนอากาศ น้ำเกลือก็จะไหลลงสู่พื้นที่ทางการเกษตร แม่น้ำ ฝุ่นเกลือที่เค็มก็จะตกลงไปบนหลังคา หลังคาก็ผุกร่อน เครื่องใช้ต่างๆ รถที่เป็นโลหะต่างๆก็จะเกิดสนิมและเสียหาย เหมือนนิคมอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนสังกะสีทุกปี น้ำดื่มก็ต้องซื้อกิน เพราะกินไม่ได้  ที่บริษัทอ้างว่าจะได้ใช้ปุ๋ยราคาถูกจริงหรือไม่ ในเมื่อเราผลิตโปแตชส่งออกไปต่างประเทศ ไม้ได้นำมาผลิตปุ๋ยในประเทศ แล้วปุ๋ยโปแตชที่นำเข้ามาจะราคาถูกได้อย่างไร ในเรื่องของกฎหมายแร่ที่ออก ก็ลิดรอนสิทธิของชุมชน เราจะมีสิทธิแค่50 เมตรลงไปใต้ผิวดิน กฎหมายเก่าไม่มีกำหนดไว้ สิทธิของเรามีเท่าไหร่ก็ได้บนฟ้าและใต้พื้นดิน ตอนนี้เขาจำกัดสิทธิเราให้เหลือ50 เมตร เกินกว่านั้นเขาก็ทำสัมปทานให้บริษัท จะขุดผ่านใต้บ้านใครก็ได้ ไม่ต้องบอกให้ทราบ พวกเราจะยอมหรือไม่หรือจะต่อสู้เพื่อปกป้องวิถีชีวิตของพวกเรา พี่น้องจะสู้ไหม....[29]

การให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ของนักพัฒนาเอกชนในวันนั้น ได้สร้างความสนใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก รวมทั้งมีการซักถามข้อมูลต่างๆกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน โดยเฉพาะจากผู้นำและผู้อาวุโสของชุมชน ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิตและชุมชนของพวกเขา ว่า ดินจะถล่มไหม น้ำจะกินได้ไหม แผ่นดินจะทรุดเท่าไหร่ และถ้าเกิดความเสียหายต่อพื้นที่จะอพยพไปอยู่ที่ไหน  อีกทั้งชาวบ้านในพื้นที่ยังได้เล่าถึงวิธีการเข้ามาในพื้นที่เพื่อขุดเจาะและสำรวจแร่ของบริษัท เช่น การเข้ามาโดยไม่ขออนุญาตชาวบ้านในพื้นที่ และอ้างถึงสิทธิและความสามารถในการเข้ามาขุดเจาะสำรวจในที่ดินของชาวบ้าน โดยอ้างว่ารัฐบาล ข้าราชการหรือหลวงอนุญาตให้ทำ หลวงเขาสั่งลงมาชาวบ้านจะขัดขวางไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว ไม่กล้าซักถามเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวและปล่อยให้คนเหล่านั้นเข้ามาขุดที่นาและบริเวณเขตบ้านตัวเอง อีกทั้งบริษัทไม่เคยบอกข้อมูลชาวบ้านว่ามาสำรวจอะไร และแร่โพแทชที่ขุดเจาะคืออะไร?  ซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่มั่นใจในการเข้ามาดำเนินการของบริษัทข้ามชาติในพื้นที่ จากผลการประชุมครั้งนั้นได้นำไปสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เพื่อเป็นตัวแทนหมู่บ้านต่างๆ ในการเคลื่อนไหวและยื่นหนังสือคัดค้านต่อข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ซึ่งคณะกรรมการส่วนใหญ่ที่ถูกเลือกก็คือ ผู้นำชุมชน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลและผู้อาวุโส ในหมู่บ้าน
จากการเข้ามาของภาครัฐ บริษัทเอกชน และนักพัฒนาเอกชน สรุปได้ว่า การเข้ามาของรัฐและกลุ่มทุนข้ามชาติในช่วงแรก ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของคน เพราะคนในพื้นที่ไม่รู้ว่าแร่ที่เขามาเจาะสำรวจคืออะไร แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือ พื้นที่ของชาวบ้าน ที่มีรถเข้ามาขุดเจาะ และเศษเกลือที่ปนเปื้อนกับพื้นดิน ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้องค่าเสียหายของชาวบ้านกับบริษัท จนเมื่อบริษัทได้เข้ามาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการถึงผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ ทั้งการจ้างงานและการได้ใช้ปุ๋ยเคมีราคาถูก แต่ก็เป็นเพียงการสื่อสารกับกลุ่มผู้นำ ไม่ได้สื่อสารให้ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจ สิ่งที่บริษัทใช้ในการอธิบายกับชาวบ้านทั่วไปจึงเป็นคนละชุดกับกลุ่มผู้นำ เมื่อสิ่งเหล่านั้นถูกอธิบายผ่านการจัดโต๊ะจีนเลี้ยงชาวบ้าน การจ้างหมอลำมาแสดงให้ชาวบ้านชมและการแจกสิ่งของ
ในขณะเดียวกันเมื่อองค์กรพัฒนาเอกชนได้เข้ามาประชุมให้ข้อมูลกับชาวบ้านหมู่บ้านต่างๆ ในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับบริษัทข้ามชาติในเรื่องของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลต่อความรู้และความเข้าใจของชาวบ้านต่อโครงการแร่โพแทชอุดรธานีมากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายแร่ที่ลิดรอนสิทธิชาวบ้าน พร้อมกับหายนะของเหมืองแร่โพแทช จากการขุดอุโมงค์ใต้ดินและกองเกลือปริมาณมหาศาล ที่ทำให้ชาวบ้านต้องเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการนี้
เหตุการณ์ข้างต้นส่งผลให้ในช่วงปี พ..2546 บริษัทเอพีพีซี (ปัจจุบันบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด เข้ามาซื้อหุ้นทั้งหมดและดำเนินกิจการต่อเมื่อกลางปี พ.ศ.2549) ได้ตั้งทีมประชาสัมพันธ์เข้ามาให้ข้อมูลและอธิบายเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่โครงการอย่างเร่งรีบ พร้อมกับการประกาศว่าจะมีเหมืองแร่โพแทชเกิดขึ้นในพื้นที่ แต่ก็ถูกชาวบ้านหลายหมู่บ้านในพื้นที่ไม่ยอมรับฟังและต่อต้านการชี้แจงของบริษัท เนื่องจากสิ่งที่ชาวบ้านได้รับฟังจากนักพัฒนาเอกชนเมื่อปลายปี พ.ศ.2544 แร่โพแทชไม่ใช่เรื่องของปุ๋ยเคมีแต่เป็นเรื่องของหายนะและพิษภัยจากเหมืองเกลือที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งเมื่อชาวบ้านถามคำถามกับบริษัทในเรื่องของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมกับบริษัท แต่บริษัทไม่สามารถตอบคำถามได้ โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นเรื่องทางเทคนิคที่ชาวบ้านเข้าใจได้ยาก ทำให้ทีมประชาสัมพันธ์ของบริษัทไม่ได้รับการยอมรับจากชาวบ้านและถูกขับไล่ออกจากชุมชนจนไม่สามารถเปิดเวทีในพื้นที่ได้
สิ่งสำคัญก็คือ การที่ชาวบ้านปฏิเสธการดำเนินการของบริษัททุกรูปแบบที่เข้ามาในชุมชน เช่น การให้เงินสนับสนุนกับชุมชน ในด้านการศึกษา ประเพณีวัฒนธรรม  การพัฒนาอาชีพต่างๆ การบริจาคสิ่งของ การจัดกีฬา  การจัดนิทรรศการให้ความรู้ การอบรมความรู้เรื่องเหมืองแร่ กับชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ นักเรียนในโรงเรียนต่างๆ  และการพาชาวบ้านไปดูการทำเหมืองแร่ในประเทศและต่างประเทศ  เป็นต้น รวมทั้งชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆรอบโครงการ ได้รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ขึ้นมาเพื่อต่อต้านโครงการเหมืองแร่โพแทช และดำเนินการเคลื่อนไหวต่อสู้คัดค้านในพื้นที่ โดยใช้ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อท้องถิ่น  ตำนานพื้นบ้าน รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ข้าว ปลาร้าและเกลือขึ้นมาอธิบายเพื่อต่อต้านกับเหมืองแร่ขนาดใหญ่ที่จะส่งผลต่อวิถีชีวิตและการทำการเกษตรของคนในชุมชน
การเข้ามาของกระบวนการพัฒนาและนโยบายของรัฐบาลและเอกชนในเรื่องของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเกลือในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ได้ส่งผลต่อวิธีคิดของชาวบ้านที่มีต่อเกลือและโพแทช ตั้งแต่การผลิตเกลือแบบพื้นบ้านในชุมชนลุ่มน้ำหนองหานในลักษณะของการผลิตเพื่อการยังชีพ หรือเป็นสิ่งของในการแลกเปลี่ยนและเป็นของขวัญให้กับญาติพี่น้อง โดยจะทำการผลิตได้เพียงปีละครั้ง ดังที่นางทองสี ยอดวัน ชาวบ้านขางัว บอกว่า
เกลือ เพิ่นเอาหมากไม้ เอาหมากพลู เอาหมากแดงหมากเค้า เอากล้วย มะละกอ หอย ทุกคนเอามาแลกกัน พี่น้องมาก็ต้อนรับพี่น้องแหน่ เป็นของฝากของกำนัลที่ดีเยี่ยมหลาย พี่น้องมาแต่ปากน้ำ แชแล  หนองแวง ก็เอาให้พี่น้องแลก   พริกแลกเกลือ เอาให้พี่ให้น้องก็เลยต้มทุกปี[30]
ในขณะนางใจ ระเบียบโพธิ์ ชาวบ้านอุ่มจาน ที่บอกว่า ต้มเกลือใช้ทำปลาร้า เพื่อแลกข้าวสำหรับบริโภคในครัวเรือน รวมถึงขายให้กับหมู่บ้านประมงที่ต้องการเกลือสำหรับทำปลาร้า
แม่ต้มเกลือ เอาเกลือมาทำปลาร้า แลกข้าวกิน ไม่ได้อึดข้าวกินสักครั้ง คนมาถามซื้อไปทำปลาร้า ส่วนใหญ่เป็นคนบ้านเดียม บ้านโพนทอง ไทบ้านเดียมเขาหาปลาหลาย[31]
ในอีกด้านหนึ่งอุตสาหกรรมเกลือชายฝั่งทะเล ได้เข้ามาในพื้นที่อำเภอบ้านดุงจังหวัดอุดรธานี และทำให้การผลิตของชุมชนเปลี่ยนไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ ที่เน้นในเรื่องของการขายและใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่มีการนำวิธีการทำนาเกลือทั้งแบบต้มแบบตากมาใช้ และมีการผลิตตลอดทั้งปี ดังที่นางบุญซ่อน พรมศรีจันทร์ ชาวบ้านดุง เล่าว่า
เริ่มต้มเกลือมาตั้งแต่นานแล้วสมัยแต่ก่อนมันเป็นพื้นดิน มีขี้ทาขึ้น หม่องใดมันเค็ม มันปลูกข้าวไม่ได้ มันก็มักเป็นไฮนา เป็นหม่องเฮ็ดเกลือต้ม ช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์  เฮากรองเอาตรงนั้นไปต้ม เกลือเริ่มต้มตอนแม่อายุ 35 ปี ประมาณปี2505   เริ่มต้นข้าเจ้าเจาะน้ำ จน เจอน้ำเค็มได้ผลดีก็ต้มมาเรื่อยๆ ส่วนมากคนที่มาทำเกลือมาจากที่อื่น นายทุนมาจากต่างจังหวัด ชาวบ้านที่นี่มีบ้างแต่ไม่มาก ลูกจ้างในโรงงานก็มาจากจังหวัดอุบลราชธานี ศรีษะเกษ ชาวบ้านที่นี่ก็มี นายทุนใหญ่ๆ มาจากวรวัฒน์ มหาชัย สมุทรสาคร เป็นโรงงานทำเกลือป่น เกลือไอโอดีน[32]
การผลิตเกลือทั้งสองพื้นที่มีความน่าสนใจตรงที่ เป็นวิถีการผลิตที่อยู่ร่วมกับวิถีชีวิตของชาวบ้านและชุมชนเกษตรกรรม ในลักษณะที่เกลือแบบพื้นบ้านแถบลุ่มน้ำหนองหานนั้น จะทำการผลิตบริเวณบ่อเกลือสาธารณะของชุมชนที่มีขนาดเล็ก และทำการผลิตได้เพียงปีละครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม หลังทำการเพาะปลูก เพื่อใช้สำหรับบริโภคในครัวเรือน ส่วนเกลืออุตสาหกรรมแบบต้มและตาก บริเวณอำเภอบ้านดุง จะเป็นการผลิตเพื่ออุตสาหกรรมและเน้นที่การค้าขาย โดยความหมายของเกลือบ้านดุง ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ในฐานะแหล่งของการจ้างงาน และเป็นอุตสาหกรรมของชุมชนที่สร้างรายได้ให้กับพื้นที่ ดังนั้นเกลือจึงมีความหมายที่เคลื่อนผ่าน จากธรรมชาติใต้พื้นดิน มาสู่การเป็นทรัพยากร เพื่อการพัฒนาและจัดการการใช้ประโยชน์ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน
จนกระทั่งการเข้ามาของสิ่งที่เรียกว่าแร่โพแทชในฐานะองค์ความรู้ใหม่ของพื้นที่ ซึ่งมีความหมายที่หลากหลาย ดังเช่น บริษัทข้ามชาติพูดถึงแร่ชนิดนี้ว่า เป็นแร่ที่มีค่าใต้พื้นดิน” “เมื่อมีโปแตชแล้วจะได้ซื้อปุ๋ยถูก” “ขุดโปแตชแล้วมีโรงงานลูกหลานจะมีงานทำ” “เกลือคือผลพลอยได้จากการผลิตที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง”  เกลือเอาไว้อัดกลับใต้อุโมงค์กันแผ่นดินทรุด กับสิ่งที่องค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาให้ข้อมูลในพื้นที่ช่วงแรก ก็ให้ข้อมูลและอธิบายกับชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่องของโพแทช  ว่า โปแตชคือปุ๋ย โปแตชคือเกลือแต่เค็มกว่าเกลือถึง1,000เท่า” “โปแตชใช้ทำปุ๋ยแต่หางเกลือที่ได้จากการผลิตโปแตช จำนวนมหาศาลเท่าตึก10 ชั้น คือมลพิษทางสิ่งแวดล้อมเป็นต้น
ดังนั้นการพูดถึงแร่โพแทชจึงมีทั้งนัยในทางบวกที่สัมพันธ์กับเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจ รายได้ การมีงานทำ การได้ใช้ปุ๋ยราคาถูก พืชผลจะเจริญงอกงาม และนัยทางลบ คือปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ จากหางเกลือที่เหลือจากการผลิต การกอบโกยผลประโยชน์ของต่างชาติ กฎหมายแร่ที่ลิดรอนสิทธิชุมชน และประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น  ซึ่งส่งผลต่อความรู้และความเข้าใจของชาวบ้านต่อโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี
9.การต่อสู้เคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี
ผลกระทบต่อคนในพื้นที่จากการเข้ามาของสิ่งที่เรียกว่าแร่โพแทชในชุมชน พร้อมกับประเด็นเรื่องของกฎหมายแร่ที่ว่าด้วยเรื่องแดนกรรมสิทธิ์ที่ลิดรอนสิทธิชาวบ้าน สิทธิชุมชน การปิดปังข้อมูลข่าวสารกับชาวบ้านในพื้นที่ และการเข้ามาดำเนินกิจกรรมรูปแบบต่างๆของบริษัทดังได้กล่าวข้างต้น รวมถึงการเข้ามาของนักพัฒนาเอกชนและนักวิชาการในพื้นที่ (ดูลำดับความเคลื่อนไหวในพื้นที่จากภาคผนวก) ได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่ โดยเริ่มจากการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเมื่อวันที่17 มกราคม พ.ศ. 2545  ซึ่งมีตัวแทนของชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆในพื้นที่โครงการ ร่วมกันเป็นคณะกรรมการโดยมีนักพัฒนาเอกชนเป็นที่ปรึกษา เพื่อบอกเล่าข้อมูลที่ได้รับจากนักวิชาการ และนักพัฒนาเอกชน ให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านของตนเอง พร้อมทั้งดำเนินการเคลื่อนไหวคัดค้านในพื้นที่ ผ่านการเขียนป้ายประท้วง ที่หน้าบ้าน ไม่ว่าจะเป็น โปแตช มาปูปลาตายหมด โปแตชมานาล่ม ดินเค็ม หรือ โปแตชมาดินเค็ม น้ำเค็ม แผ่นดินทรุด เป็นต้น จนกระทั่งมีนักวิชาการจากลำปาง อย่างเช่น อาจารย์ศุภชาติ รุ่งโรจน์[33] ได้เข้ามาทำเสื้อ กระเป๋าสะพายและสติ๊กเกอร์ที่มีสัญลักษณ์ต่อต้านโครงการให้กับชาวบ้านเพื่อขายและระดมทุนในการเคลื่อนไหว โดยมีคำว่า ‘Stop Potash Project’ ‘Stop Potash In Udornthani’  ‘No Potash In Thailand’หรือหยุดทำเหมืองแร่บนเลือดเนื้อของคนอุดรธานี การเขียนป้ายในช่วงนี้ของชาวบ้านก็เปลี่ยนไปสู่เรื่องอื่นๆที่ใหญ่กว่าวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เพราะเป็นเรื่องในเชิงนโยบายและเรื่องผลประโยชน์ระดับจังหวัดและระดับประเทศ จนภาพของชาวบ้านในพื้นที่เล็กลงจนมองไม่เห็น เช่น หยุดปล้นคนอุดร’   ‘เหมืองแร่โพแทชละเมิดสิทธิ ริดรอนสิทธิชุมชน  พวกเราไม่เอาเหมืองแร่โปแตช ยกเลิกอีไอเอ  ‘ยกเลิกกฎหมายขายชาติ  พรบ.แร่ขายชาติขายแผ่นดิน  การพัฒนาที่ดีต้องไม่ทำให้ชุมชนแตกแยก เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นหายนะของแร่โพแทช ในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และวิพากษ์กระบวนการพัฒนาโครงการต่างๆ ของรัฐและเอกชนที่กระทำต่อพื้นที่และคนในชุมชน ตั้งแต่ เรื่องของการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่ครอบคลุม ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และการแก้ไขพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510 ที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับนายทุนข้ามชาติ   เป็นต้น
 นอกจากนี้ การต่อสู้เคลื่อนไหวของชาวบ้านยังมีการเคลื่อนไหว ในบริบทและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับการปรับเปลี่ยนความหมายของการต่อสู้เคลื่อนไหวที่มีอยู่ตลอดเวลา และการใช้ภาษาที่สัมพันธ์กับนักวิชาการและนักพัฒนามากขึ้น ทั้งคำอธิบายเกี่ยวกับหายนะที่สัมพันธ์กับประสบการณ์ของชาวบ้าน เช่นแผ่นดินทรุดกับการขุดหลุมฝังเสา หรือการขุดหากบแล้วเอาดินกลบลงไป เมื่อฝนตกลงมาดินก็ยุบลงไม่แน่นเหมือนเดิมดังเช่นที่แม่สา ดวงปาโคตร บอกว่า

ดินทำไมมันจะไม่ทรุด แม่เคยไปขุดปูหากบทุกปี ขุดเสร็จแล้วเฮาก็เอาดินถมกลับลงไป พอฝนลงมามันก็ยุบลงคือเก่า ไม่แน่นคือแต่ก่อน แล้วบริษัทบอกว่าจะขุดเอาแร่ขึ้นมา ได้เกลือกับโปแตชเท่านั้น แล้วเอาโปแตชไปทำปุ๋ยไปขาย แล้วสิเอาเกลือกับเข้ามาอัดรูคือเก่า มันสิคือเก่าได้จั๋งใด เอาชัดๆคือจั๋งเฮาขุดหลุมฝังเสาเฮือน มันยังไม่แน่น ฝนตกลงมามันก็ยุบลง...”[34]

คำอธิบายที่เกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตดังกล่าว ได้เปลี่ยนมาเป็นการอธิบายด้วยชุดความรู้แบบบริษัทและวิศวกรเหมืองแร่มาใช้ในการอธิบาย ถึงขนาดความกว้าง ความลึก ความยาวของอุโมงค์ การออกแบบเสาค้ำยัน วิธีการขุดเจาะ และผลกระทบที่เชื่อมโยงแบบองค์รวม ทั้งเรื่องดิน น้ำและอากาศ โดยเปรียบเทียบกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจังหวัดระยอง หรือเหมืองแม่เมาะจังหวัดลำปาง เพื่อยืนยันว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ดังกล่าว จะเกิดขึ้นกับเมืองอุดรธานีด้วย หากมีการขุดเจาะเหมืองแร่โพแทชขึ้น และคำพูดเหล่านี้ก็ถูกอธิบายบนเวทีสัมมนามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแกนนำที่เป็นตัวแทนชาวบ้าน เข้าไปอบรมกับนักวิชาการ และนักพัฒนาเอกชน ในประเด็นเรื่องการต่อสู้เคลื่อนไหว สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชาวบ้านที่มีปัญหาจากโครงการพัฒนาของรัฐในที่อื่นๆ ดังที่แม่มณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี แกนนำในการเคลื่อนไหวบอกว่า

แร่โปแตช มันเจาะลงไปข้างล่าง 1,300เมตร เฮ็ดเป็น 2 รู รูหนึ่งเอาไว้เก็บน้ำมัน เป็น      ห้องพักคนงาน อีกรูหนึ่งเป็นรูเจาะไปถึงชั้นเกลือ มีสายพานลำเลียงส่งขึ้นมาถึงปากปล่อง เอามาบดแร่ให้มีขนาดเล็ก 0.3 มิลลิเมตร แยกโปแตชออกจากเกลือ ได้โปแตช 6,000 ตันต่อมือ เกลือ ได้15,000 ตันต่อมื้อ เวลาบดก็จะมีฝุ่นเกลือรัศมีแพร่กระจาย   10 กิโลเมตร น้ำกะสิกินไม่ได้ ต้องซื้อ  กิน เป็นเวลา 22 ปี ที่เขาจะขุดเจาะเกลือสูง 40 เมตร ปานตึก10 ชั้น ไม่มีอะไรคลุม พอตกลงมาก็ทำให้ผงเกลือถูกชะล้างลงไปในแหล่งน้ำ  นาข้าววกะสิเค็ม ข้าวก็สิตาย[35]

10.การช่วงชิงความหมาย: ยุทธศาตร์ในการต่อสู้
การเคลื่อนไหวของชาวบ้าน จึงมีการเคลื่อนไหวตามประเด็นของการต่อสู้ในแต่ละช่วง เช่นในช่วงปี พ.ศ. 2544-2546 เป็นประเด็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ กฎหมายแร่ รายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่ต้องการจะคัดค้านประเด็นดังกล่าวเพื่อให้ยุติและชะลอโครงการ ผ่านการร้องเรียนเรื่องกฎหมายแร่ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ  รายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทำผิดขั้นตอนพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ข้อมูลไม่ครอบคลุม และประชาชนไม่มีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ากฎหมายแร่ฉบับใหม่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในช่วงปลายปีพ.ศ.2546-2550 ประเด็นของการต่อสู้เคลื่อนไหว จึงกลับมาที่เรื่องของพื้นที่ โดยใช้วัฒนธรรมชุมชน ประเพณีวัฒนธรรมในการอธิบาย ผ่านตำนานผาแดงนางไอ่ กลอนลำประวัติศาสตร์ลำน้ำเสียวและต้านภัยเหมืองแร่โพแทช หรือการทำนารวมและการจัดบุญกุ้มข้าวใหญ่เพื่อระดมทุนในการต่อสู้ รวมถึงนำเรื่องของเกลือ ปลา นาข้าว รากเหง้าคนอีสาน มาเป็นประเด็นในการต่อสู้เคลื่อนไหว มีการชูแนวคิดเรื่องเกษตรอินทรีย์เพื่อต่อต้านปุ๋ยเคมีที่ผลิตจากโปแตช การชูประเด็นเรื่องเกลือพื้นบ้าน ในฐานะที่เป็นภูมิปัญญา และเศรษฐกิจแบบพอเพียง ในการต่อสู้กับกลุ่มทุนข้ามชาติที่เข้ามาขุดเจาะแร่โพแทชในลักษณะของทุนนิยมเต็มรูปแบบ ที่ทำให้ความหมายของเกลือและโพแทช มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตามบริบทและเงื่อนไขของการต่อสู้ รวมทั้งมีรูปแบบการต่อสู้ที่แตกต่างกันออกไปตามสถานการณ์ ซึ่งยุทธวิธีที่ใช้ในการต่อสู้เคลื่อนไหวเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่าน การอบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ การศึกษาดูงานกับกลุ่มพันธมิตร อย่างโครงการอนุรักษ์ลำน้ำพอง สมัชชาคนจนเขื่อนปากมูลและกลุ่มอนุรักษ์บ่อนอกหินกูด ที่นำไปสู่เรื่องของการยื่นหนังสือ การชุมนุมประท้วงที่หน้าศาลากลางและกรุงเทพฯ รวมทั้งการเดินรณรงค์ให้ความรู้และ หาหมู่ หาพวก มาร่วมต้านโครงการเหมืองแร่โพแทช เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการจำแนก พวกเรา พวกเขา โดยใช้ธงเขียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องหมาย แสดงถึงความไม่ต้องการโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ติดไว้ที่หน้าบ้านแต่ละหมู่บ้าน หรือการใส่เสื้อเขียวในการเคลื่อนไหวชุมนุม จนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีถูกเรียกจากคนทั่วไป บริษัทเหมืองแร่และเจ้าหน้าที่รัฐว่า พวกเสื้อเขียว สำหรับผู้ที่เข้าไปอยู่ในกลุ่มสนับสนุนบริษัท ก็จะถูกมาตรการทางสังคมของชุมชนจัดการด้วยการไม่ซื้อสินค้าในร้านที่คนนั้นขาย การไม่ร่วมกิจกรรมงานต่างๆที่คนคนนั้นจัดขึ้น หรือแม้แต่การไม่ให้ร่วมกลุ่มต่างๆ ของชุมชนเช่น กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ เป็นต้น
นับตั้งแต่เกลือเป็นประเด็นของความขัดแย้ง ได้มีการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน นักพัฒนาเอกชนและนักวิชาการในพื้นที่ ด้วยการจัดงานมหกรรมสืบสานภูมิปัญญาเกลือพื้นบ้านพร้อมกับการตีพิมพ์เอกสารชื่อ อุตสาหกรรมเหมืองแร่โพแทชกับการพัฒนาอีสานบนเส้นทางเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2550 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี โดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านวัฒนธรรมเกลือและภาคอีสานอย่าง ศรีศักร วัลลิโภดม    สุจิตต์ วงษ์เทศ   และ จารุวรรณ ธรรมวัตร มาบรรยายให้ข้อมูล พร้อมกับชาวบ้านจากพื้นที่ต่างๆที่ผลิตเกลือแบบพื้นบ้าน และเกลืออุตสาหกรรมแบบบ้านดุง บ้านม่วง วานรนิวาสเป็นต้น เพื่อให้เป็นประเด็นสาธารณะ  รวมทั้งการหาพันธมิตรโดยการให้ความรู้กับกลุ่มพ่อค้าเกลือรายย่อยในเขตอำเภอบ้านดุงเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ และผลกระทบที่จะเกิดจากปริมาณเกลือมหาศาลที่จะออกสู่ตลาดหากมีเหมืองแร่โพแทชเกิดขึ้นรวมถึงเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นภาระที่ผู้ผลิตเกลือรายย่อยและรายใหญ่ในชุมชนจะต้องต่อสู้กับบริษัทข้ามชาติในอนาคต
น่าสังเกตว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2546-2547 ทางกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จะมีการเชื่อมโยงเครือข่ายกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการผลิตเกลือแบบอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอำเภอบ้านดุงจังหวัดอุดรธานี อำเภอบ้านม่วง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร และลำน้ำเสียว อำเภอบรบือ        จังหวัดมหาสารคาม ในนามของเครือข่ายศึกษาปัญหาดินเค็มภาคอีสาน ที่มีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับปัญหาดินเค็มภาคอีสาน ซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2546 ที่ตึกคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน จังหวัดอุดรธานี จนเปลี่ยนแปลงมาสู่การให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชกับกลุ่มนายทุนและผู้ผลิตเกลือแบบอุตสาหกรรมที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี เพื่อสร้างพันธมิตรในการต่อสู้กับกลุ่มทุนข้ามชาติจากแคนาดา ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2548ถึงปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นจุดเริ่มต้นที่หลากหลาย (threshold) และรอยแตก รอยแยก (rupture) ของวาทกรรมที่ว่าด้วยเกลืออุตสาหกรรมท้องถิ่นที่เคยสร้างหายนะกับชาวนาอีสานในช่วงแรกเริ่ม กับเกลืออุตสาหกรรมเพื่อการพึ่งตนเองของชุมชน ในฐานะเครื่องมือของการต่อสู้กับอุตสาหกรรมข้ามชาติ  ได้ทำให้วาทกรรมแต่ละชุดที่เคยหักล้าง (break) ระหว่างกัน ถูกประสานเข้าด้วยกัน จนเปลี่ยนรูปแบบ (mutation) ไปสู่วาทกรรมชุดใหม่ ที่พูดถึงเรื่องเกลือของท้องถิ่นโดยการประสานกันของเกลือแบบพื้นบ้านและเกลือแบบอุตสาหกรรมท้องถิ่น เพื่อปะทะและต่อสู้กับโครงการเหมืองแร่โพแทชของกลุ่มทุนข้ามชาติในพื้นที่
การเข้ามาของนโยบายรัฐและโครงการพัฒนาของกลุ่มทุนข้ามชาติ เกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ซึ่งเข้ามามีความสัมพันธ์และจัดการกับพื้นที่และตัวตนของคนในพื้นที่ ได้ทำให้ชาวนาที่เคยรู้เพียงแค่เรื่องของการเกษตร ต้องเข้ามาสัมพันธ์กับการเมืองที่เป็นเรื่องของอำนาจ และผ่านกระบวนการเรียนรู้ ทำความเข้าใจการเมือง ผ่านปฏิบัติการต่อสู้เคลื่อนไหวในประเด็นของการจัดการทรัพยากรเกลือและโพแทชใต้พื้นดินอีสาน ทั้งในระดับพื้นที่และระดับเวทีสาธารณะ
คำถามของชาวบ้านในพื้นที่ ที่เริ่มต้นจากคำถามที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตพื้นฐาน เช่น น้ำจะกินได้ไหม บ้านจะทรุดไหม ข้าวจะตายไหม หรือ ทำนาได้ไหม ได้เปลี่ยนมาสู่คำถามที่สัมพันธ์กับตัวตนของคนในชุมชนที่ต้องมีการเคลื่อนไหว จะต่อสู้อย่างไร และทำอย่างไรไม่ให้มีโครงการเหมืองแร่โพแทชเกิดขึ้น ที่สะท้อนให้เห็นคำถามต่อเรื่องของอำนาจ ที่สัมพันธ์กับเรื่องเทคโนโลยีของอำนาจซึ่งชาวบ้านใช้ในการต่อสู้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของ การจัดการทรัพยากรสิทธิชุมชน กฎหมาย และวัฒนธรรมชุมชน เพื่อเสนอความเป็นจริง ความเป็นเท็จ สิ่งที่ต้องการ หรือไม่ต้องการ อะไรที่ยอมรับได้หรือไม่ยอมรับไม่ได้สำหรับพวกเขา
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า สถานการณ์ของปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ได้นำไปสู่การปะทะและต่อสู้เกี่ยวกับเรื่องเกลือและโพแทช ในฐานะทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการจัดการการใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่นำไปสู่ความรุนแรงของสถานการณ์และการเคลื่อนไหวต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่กับกลุ่มทุนข้ามชาติ  ทั้งในเรื่องของกฎหมาย วัฒนธรรมชุมชน และสิ่งแวดล้อม ที่นักพัฒนาเอกชนและนักวิชาการท้องถิ่น ได้เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ตรงนี้ ในฐานะพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาให้กับชาวบ้าน และทำให้ประเด็นเหล่านี้ปรากฏชัดเจนในเวทีสัมมนาทางวิชาการต่างๆ ซึ่งสร้างประสบการณ์และผลักดันให้คนในพื้นที่ เข้าไปเกี่ยวข้องและรับเอาสิ่งเหล่านี้เข้ามาในการต่อสู้ เคลื่อนไหว ปัญหาไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของการเกิดขึ้นของคู่ตรงกันข้ามระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มทุนข้ามชาติ  แต่ปัญหามันเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกับส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐในการกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศและชักชวนให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน ในฐานะนักลงทุน ซึ่งทั้งสองส่วนเข้ามากระทบต่อพื้นที่และชีวิตของคนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นเสมือนผู้รองรับการพัฒนา  เมื่อปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่โครงการไม่สามารถตกลงกันได้ การต่อรองระหว่างกันจึงเคลื่อนเข้าไปสู่เวทีทางวิชาการสาธารณะระดับประเทศ โดยให้ตัวแทนซึ่งเป็นคนกลางและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เข้ามาศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับโครงการอย่างละเอียดรอบด้าน เพื่อหาทางออกและแนวทางการแก้ไขปัญหาโครงการเหมืองแร่โพแทชอย่างเป็นเอกภาพ รวมถึงการสร้างยอมรับของร่วมกันของทุกๆฝ่าย
11.โพแทชในเวทีวิชาการ : ตำนานที่ถูกอ้างถึง และการกลายเป็นเครื่องมือของชาวบ้านในการต่อต้านหายนะจากเหมืองแร่โพแทช และเกลือปริมาณมหาศาล
การวิเคราะห์ในส่วนนี้จะนำเอาวาทกรรมเกี่ยวกับตำนานกระรอกเผือกหรือผาแดงนางไอ่ และวาทกรรมเรื่องเหมืองแร่โพแทชอุดรธานีเป็นศูนย์กลาง เพื่อที่จะเปิดให้เห็นวาทกรรมชุดต่างๆ ที่ชาวบ้านนำมาอธิบายเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี และเป็นเรื่องเล่า ที่ชาวบ้านและนักวิชาการท้องถิ่นนำขึ้นมากล่าวอ้างความชอบธรรมในการดำรงชีวิตของพวกเขา ในเวทีประชุมสัมมนาทางวิชาการ เกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ที่สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2546  ท่ามกลางการปรากฏตัวของวามกรรมชุดต่างๆที่นักวิชาการแขนงต่างๆนำมาใช้อธิบายเรื่องเหมืองแร่โพแทช ทั้งทางธรณีวิทยา วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือ รัฐศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิชุมชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติแร่ฉบับปรับปรุงใหม่
การประชุมในครั้งนี้จุดเน้นสำคัญอยู่ที่ปัญหาของโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานีเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่ปัญหาของโครงการเหมืองแร่โพแทช อุดรธานีก็ยังไม่บทข้อสรุปออกมาชัดเจน แม้ว่าจะมีความพยายามทำให้มีเอกภาพภายใต้แนวทางการจัดการโครงการเหมืองแร่โพแทช แต่ความหมายของสิ่งที่เรียกว่าทรัพยากรเกลือและโพแทชที่ถูกพูดถึงกับฟุ้งกระจาย หลากหลายและคลุมเครือมากขึ้น เนื่องจากความไม่เป็นเอกภาพของสิ่งที่พูด เมื่อต่างฝ่ายต่างยืนยันในสิ่งที่ตัวเองพูดหรือวาทกรรมเรื่องเกลือและโพแทชของตนเอง แม้ว่าปัญหาต่างๆจะวางอยู่บนฐานคิดเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและผลประโยชน์ของชาติ
การที่กลุ่มต่างๆพยายามดึงประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ ธรณีวิทยา สังคม วัฒนธรรม การเมือง และสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการอธิบาย เพื่อสร้างความรู้และความจริงในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินอีสาน ทำให้ปัญหาต่างๆมันไม่สามารถไปด้วยกันได้ หรือผสานเป็นเนื้อเดียวกันได้ ระหว่างกลุ่มรัฐ ข้าราชการกรมทรัพยากรธรณี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และบริษัทข้ามชาติ  ที่พูดถึงประเด็นทางธรณีวิทยา เศรษฐกิจ นโยบายและยุทธศาสตร์การจัดการแร่อย่างยั่งยืน กับนักวิชาการพูดถึงประเด็นปัญหาทางกฎหมาย สิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งทั้งสองกลุ่มยังคงอยู่ภายใต้การพูดถึงผลประโยชน์ของชาติ ผลประโยชน์ของบริษัทและผลประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ ที่จะต้องทำให้เกิดความสมดุลและเท่าเทียม ทั้งในแง่ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ควบคู่กับสิ่งแวดล้อม ผลประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติกับผลประโยชน์ของชาวบ้าน  เจ้าของทรัพยากรกับผู้ใช้ทรัพยากร หรือเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรม แต่หลักการดังกล่าวไม่เคยสมดุลกันอย่างเท่าเทียมแท้จริง  เช่นเดียวกับการพัฒนาที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนและสันติสุขจากโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานีจะมีอยู่จริงหรือไม่ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามและสร้างความสงสัยกับคนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชในปัจจุบัน 
สิ่งที่ผู้ศึกษาคิดว่าเป็นคุณูปการที่เราได้รับจากการมองลงไปที่การประชุม ก็คือพื้นที่ที่วาทกรรมชุดต่างๆมาอยู่ร่วมกัน และปรากฏให้เราเห็น สิ่งที่พูดจึงเป็นเสมือนร่องรอยที่จะนำเรากลับไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับเกลือและโพแทชในเหตุการณ์ที่กระจัดกระจายของช่วงเวลาแห่งยุคสมัย ความน่าสนใจของการประชุมครั้งนี้ก็คือ การหยิบยกหรือบอกเล่าเรื่องของตำนาน เพื่อต่อรองและปะทะกับนโยบายการพัฒนาของนักวิชาการท้องถิ่นและชาวบ้านในพื้นที่
ความเชื่อที่ฝังอยู่ในจิตวิญญาณของคนท้องถิ่นต่างๆ ที่ให้ความสำคัญน้อยมากและไม่ได้กล่าวถึง คือตำนานผาแดงนางไอ่ นิทานเรื่องกระรอกด่อนที่ทำให้บ้านเมืองถล่ม และเกิดหนองหานขึ้นมา ตามความเชื่อของชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทช หรือไม่ อย่างไร ก็ไม่ได้มีการวิเคราะห์ แต่หากไปถามชาวบ้านในพื้นที่ ก็จะได้รับคำตอบว่า ไม่อยากให้มีเหมือง เพราะไม่ต้องการให้แผ่นดินยุบเหมือนตำนาน ชาวบ้านหลายคนให้ความเห็นว่า โพแทชก็เปรียบเสมือนกระรอกด่อน(กระรอกเผือก) ที่จะนำมาซึ่งความล่มสลายของชุมชน[36]
พ่อประจวบ แสนพงษ์ เชื่อมโยงความเชื่อท้องถิ่น ที่สะท้อนผ่านนิทานปรัมปราพื้นบ้าน ถึงความล่มสลายของเมืองอันเกิดจากพญานาคที่อยู่พื้นดิน ไล่ล่าทำลายล้างมนุษย์ที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน เพราะโกรธแค้นที่นางไอ่คำ สั่งให้คนฆ่ากระรอกเผือกและเอาเนื้อไปแจกจ่ายกันกินทั่วเมือง ซึ่งสอดคล้องกับคำอธิบายเกี่ยวกับความหายนะที่จะเกิดขึ้นจากโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และทำลายวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ดังที่บอกว่า
โครงการเหมืองแร่โปแตช เข้ามาสร้างความขัดแย้งให้กับชุมชน อีกทั้งการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก็ไม่ครอบคลุม ประชาชนไม่รู้เรื่อง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการก็มีมากมาย ทั้งน้ำเค็ม ดินเค็ม แผ่นดินทรุด เราเคยได้ยินแต่ตำนานหนองหานล่ม ที่คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟัง เกี่ยวกับตำนานผาแดง-นางไอ่ ที่นางไอ่อยากได้กระรอกเผือกสั่งให้คนไปจับมา ไปฆ่ามา ทำให้พญานาคโกรธแค้นและมุดใต้ดินเพื่อไล่ล่าผาแดงนางไอ่ จนทำให้แผ่นดินที่พญานาคมุดดินลงไป ล่มสลายกลายเป็นบึงหนองหานในปัจจุบัน  เหมือนบริษัทมาขุดอุโมงค์ใต้ดินไม่รู้กี่เมตร  ไม่รู้กว้างแค่ไหน  จะยุบลงไปเมื่อไหร่ อาจจะเกิดหนองหานแหล่งที่สองก็ได้ บ้านเมืองถล่ม ทำนาปลูกข้าวไม่ได้ แล้วชาวบ้านจะไปอยู่ที่ไหน
หากเรามองว่าตำนานผาแดงนางไอ่ เป็นสนามหรือพื้นที่ของวาทกรรมชุดต่างๆที่เกาะเกี่ยวและประกอบเข้ามาเป็นตำนานที่อธิบายว่าด้วยความล่มสลายของชุมชนจนเกิดเป็นหนองหาน และเป็นพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านแสดงตัวตนของพวกเขา ผ่านความรู้เรื่องตำนานผาแดงนางไอ่ และนำความรู้นั้นมาใช้เพื่อสร้างคำอธิบายและอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินที่เราเรียกว่า เทคโนโลยีของการสร้างความรู้ ความจริงและอำนาจ  ซึ่งเป็นความจริงและความรู้ที่สัมบูรณ์แท้จริง ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลงในยุคสมัย แต่เป็นความรู้และระบอบความจริง (Regime of Truth) ของวาทกรรมในยุคสมัยหนึ่งที่สร้างนิยามความหมายขึ้นมาในเชิงอำนาจ การเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวทางความหมายของการอธิบายเกี่ยวกับตำนานดังกล่าว จากการกำเนิดของชุมชนและลำน้ำธรรมชาติมาสู่ความหายนะจากการขุดแร่โพแทชใต้พื้นดินขึ้นมาใช้ประโยชน์  โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าทองคำขาวหรือกระรอกด่อน ที่จะนำมาซึ่งความเค็มของพื้นดินอีสาน เพื่อใช้กล่าวถึงหรืออธิบายถึงเกิดผลที่จะเกิดตามมาหากมีโครงการนี้ในพื้นที่ เราก็จะเห็นภาพสะท้อนของวาทกรรมชุดต่างๆที่กำลังต่อสู้กันอยู่ในปัจจุบันระหว่างฝ่ายบริษัทและชาวบ้านต่อโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานีที่ปรากฏอยู่ในเนื้อหาของตำนาน
เนื้อหาของตำนานมีหลายสำนวน[37] ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้เล่าแต่ละคน ที่จะแต่งเติมเนื้อหา ความพิลึกพิสดาร  แต่ความน่าสนใจโดยสรุปก็คือ เรื่องราวของความรักระหว่างมนุษย์ กับมนุษย์ คือ นางไอ่และท้าวผาแดง และระหว่างสัตว์กึ่งมนุษย์ อย่างเช่นนาคพังคี ลูกชายของพญาสุทโธนาค (ซึ่งเป็นนาคตัวเดียวกันกับตำนานนาคสองตัวที่แยกกันไปทางเหนือและทางอีสาน สุทโธนาคสร้างแม่น้ำโขง) ที่ปลอมตัวเป็นกระรอกเผือกเพราะหลงรักนางไอ่ ความรักจึงกลายเป็นรักสามเส้า และนำมาซึ่งภัยพิบัติ โดยเนื้อหาของตำนานจะกล่าวถึงประเพณีเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของคนอีสาน คือ ตำนานบั้งไฟด้วย แต่จุดสำคัญอยู่ที่ชื่อของสถานที่ (Place name) เช่น หมู่บ้าน หนองน้ำและแม่น้ำที่เกิดจากการกระบวนการไล่ลากระรอกตามบัญชาของนางไอ่ การฆ่ากระรอก การชำแหละเนื้อกระรอกขาว แล้วนำมาแบ่งกันกินทั้งเมือง สุดท้ายก็นำมาซึ่งภัยพิบัติ ซึ่งอาจจะแบ่งแกนหลักของเนื้อหานิทานปรัมปราได้ดังนี้
1.กระรอกพังคีซึ่งเป็นลูกพญานาคที่อาศัยอยู่ใต้บาดาล แทนความหมายของเกลือและโพแทช ที่อยู่ใต้พื้นดินอีสาน
2.การแบ่งเนื้อกระรอก ซึ่งแทนนัยของการแบ่งปันผลประโยชน์  ที่ชาวบ้านกลุ่มต่างๆต้องการจะได้รับ และคนที่เห็นด้วยกับบริษัทหรือช่วยผลักดันหรือสนับสนุนให้โครงการเกิดขึ้นก็จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน ดังเช่นชาวบ้านจากเมืองต่างๆ ที่ช่วยกันล่ากระรอกเผือก
3.ความหายนะ หรือความล่มจม จากการกินเนื้อกระรอกพังคี ทำให้บ้านเมืองถล่มจมลงกลายเป็นหนองหานในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยั่งยืน
4.กลุ่มหญิงม่ายที่ไม่ได้กินเนื้อกระรอกพังคี แต่ต้องได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นเดียวกับชาวบ้านอ้างสิทธิที่จะเลือกเอาหรือไม่เอาโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี การไม่เอาก็เท่ากับการไม่กินเนื้อกระรอก ซึ่งทำให้บ้านเมืองก็ไม่เกิดการล่มจม
ตำนานผาแดงนางไอ่ ในชุมชนลุ่มน้ำหนองหานและจังหวัดอุดรธานี จึงเป็นสิ่งที่มีพลังอำนาจในการอธิบายเรื่องของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดิน แม้ว่าในเวทีการประชุมสัมมนาทางวิชาการจะไม่ได้รับความสนใจหรือถูกกีดกันจากการเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจต่อโครงการดังกล่าว เพราะวาทกรรมว่าด้วยวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมเหมืองแร่ วาทกรรมทางเศรษฐกิจ ที่สามารถวัดและคำนวณเป็นตัวเลขที่เป็นรูปธรรมได้มากกว่า ความเชื่อหรือระบบคุณค่าที่เป็นเรื่องในเชิงนามธรรม แต่เมื่ออยู่ในพื้นที่ ระบบความรู้ชุดนี้กลายเป็นคุณค่าที่ถูกยอมรับ ดังที่ฟูโก บอกว่า วาทกรรมหนึ่งๆมีอำนาจครอบครองพื้นที่ในขอบเขตหนึ่ง ดังนั้นปฏิบัติการของวาทกรรมจึงหมายถึง ปฏิสัมพันธ์ของปริมณฑลแห่งวาทกรรมที่เป็นเรื่อง ของการปะทะ ประสาน แทนที่ ต่อสู้ แย่งชิงพื้นที่ ทั้งลักษณะของการรวมกันหรือขจัดออกจากพื้นที่เดิม ดังเช่น ความรู้ทางวิศวกรรมซึ่งเป็นความรู้ข้างนอกได้ถูกกีดกันออกจากความรู้ท้องถิ่น ที่เป็นเรื่องของความเชื่อ หรือตำนานท้องถิ่น ที่ชาวบ้านยึดถือกันอย่างเหนียวแน่น ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ความรู้แบบวิทยาศาสตร์และความรู้ท้องถิ่นแม้จะเป็นชุดความรู้ที่ถูกอธิบายโดยกลุ่มคนที่แตกต่าง ตามสถานภาพ บทบาทและความเชี่ยวชาญเฉพาะ จนดูเหมือนว่าจะแตกต่างกันอย่างสุดขั้วหรืออยู่คนละระนาบกัน แต่ความรู้ทั้งสองอย่างในบางสถานการณ์ก็สามารถปะทะ ประสานกันได้อย่างไม่น่าเชื่อภายใต้วาทกรรมการพัฒนาที่ว่าด้วยเรื่องทรัพยากรธรรมชาติใต้ดิน
การนำเอาวิถีวัฒนธรรมชุมชนมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับกลุ่มทุนข้ามชาติ ที่อาจจะสร้างความล่มสลายและความไม่ยั่งยืนให้กับชุมชน ผ่านแนวคิดเรื่องของภูมิปัญญาชาวบ้าน ตำนานพื้นบ้าน      ฮีตสิบสองคองสิบสี่ และประเพณีและวัฒนธรรมของท้องถิ่น ในแง่ของกระบวนการช่วงชิงการนำ เพื่อสร้างความหมาย และสร้างคำนิยามให้กับสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ที่ถูกผูกขาดโดยรัฐ ในแง่ของสุนทรียภาพและศิลปะอันสูงส่งดีงาม มาสู่เรื่องของคน วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ การเมืองสังคมและวัฒนธรรมในแบบของชาวบ้าน ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ของชาวบ้านอย่างบริสุทธิ์  เพราะเป็นการประสานกันของนักวิชาการท้องถิ่นและนักพัฒนา ในการนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เคลื่อนไหว แต่ก็เป็นการเมืองแห่งความรู้ ที่มีนัยของการให้คุณค่า ความงามและสุนทรียะแบบชาวบ้าน ผ่านบทกลอน หมอลำ ดังคำกลอนที่ว่า

ทองคำขาวในพื้นถือเป็นกระรอกด่อน นิทานมีแต่ก่อนตอนหนองหารสิล่ม...กระรอกชิ้นกระรอกน้อยก็คือเกลือ มันเป็นเมืองบาดาล เปรียบดังเกลือสมัยนี้ คนอยากเอาพังคี ตำนานหนองหานล่ม เมืองอีสานจะล่มจม ภาคอีสานเป็นเกลือทั้งหมด ภูเขาเกลือใต้ดิน ทั้งโคราช มหาสารคาม สกลนคร อุดรธานี คนทุกคนต่างกินเนื้อกระรอก เราต้องประท้วงเอาสมบัติเฮาคืน พวกเจ้านายไม่เป็นธรรม ขาดศีลธรรมค้ำดินดอน พวกเขารังแกเรา ทั้งนายทุนตัวใหญ่ ทั้งรัฐบาล ให้ช่วยกันคัดค้านอย่าให้ผ่านทางกฎหมาย

จากรูปแบบของตำนานผาแดงนางไอ่ ที่ถ่ายทอดผ่านกลอนลำหรือหมอลำของชาวบ้านที่อยู่ในซีดีเพลงชุดออนซอนเสียว[38] ชื่อเพลง กะฮอกด่อน (กระรอกเผือก)ใต้พื้นบาดาล ที่ถูกอธิบายต่อเติมผ่านคนกลุ่มต่างๆ  ตั้งแต่ชาวชาวบ้านในพื้นที่ ที่เล่าเรื่องผาแดงเชื่อมโยงกับเรื่องการเกิดหนองหาน ลำห้วยต่างๆ และตำนานบั้งไฟ จนเมื่อโครงการเหมืองแร่โพแทชเข้ามา คำอธิบายของชาวบ้านเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวก็เชื่อมโยงกับนิทานพื้นบ้านที่พวกเขาเชื่อถือ ดังที่ปรากฏจากการทำงานของผู้ศึกษาในช่วงที่เป็นนักพัฒนาเอกชนและนักวิจัยในพื้นที่หนองหานในปีพ.ศ.2545 เมื่อบอกเล่าเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชกับชาวบ้านที่นี่ คำตอบที่ได้รับก็คือการเชื่อมโยงเรื่องดังกล่าวต่อตำนานท้องถิ่น ดังคำอธิบายของแม่ใจ ระเบียบโพธิ์ ชาวบ้านอุ่มจานหมู่ 10 ที่ได้รับโดยทันทีก็คือ ขุดอุโมงค์อยู่ใต้ดินบ้านเมืองมันจะล่มจมคือจั๋งหนองหาน ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องของภัยพิบัติ หายนะซึ่งคล้ายกับพญานาคดั้นพื้นดินเพื่อชิงนางไอ่ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่นักวิจัยโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำหนองหานคุณเกรียงศักดิ์ สุขวาสนะ บอกว่าใต้หนองหานเป็นโดมเกลือขนาดใหญ่และมีเกลืออยู่ลึกใต้ผิวน้ำเพียงแค่ 10 เมตร ดังนั้นกระรอกเผือกใต้บาดาลก็คือเกลือใต้หนองหานกุมภวาปี นั่นเอง
จนกระทั่ง พ่อประจวบ แสนพงษ์ ที่เป็นแกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวบ้านหนองหานเกี่ยวกับโครงการนี้ ได้นำเอาคำนี้มาพูดในที่ประชุม บนศาลาวัดอรุณธรรมรังสี บ้านโนนสมบูรณ์ เมื่อช่วงต้นปีพ.ศ. 2546 คำว่า กระรอกเผือกหรือโปแตชใต้พื้นดินอีสานและหายนะจากการขุดอุโมงค์ใต้ดินเช่นเดียวกับพญานาคดั้นพื้นดิน ได้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นทั้งชาวบ้าน นักวิชาการท้องถิ่นและนักพัฒนาเอกชนในพื้นที่ เพราะตรงกับประสบการณ์ที่ชาวบ้านรับรู้ร่วมกันเกี่ยวกับตำนานผาแดงนางไอ่และประเพณีบุญบั้งไฟ ที่จะต้องมีสัญลักษณ์ของผาแดงนางไอ่ซึ่งเป็นหนุ่มสาว และกระรอกเผือกอยู่ในขบวนแห่บั้งไฟ จนกระทั่งช่วงปี พ.ศ. 2547-2548 ได้มีการแต่งกลอนลำเกี่ยวกับตำนานดังกล่าวเพื่อเผยแพร่ในพื้นที่ คือกลอนลำกระรอกขาวใต้พื้นบาดาล กลอนลำกะฮอกด่อน  โดยพ่อบุญยัง แคนหนอง ชาวนาแห่งลำน้ำเสียวเป็นผู้แต่งพร้อมกับนำกลอนลำการต่อสู้เรื่องเกลือของชาวบ้านลำน้ำเสียวมาเผยแพร่ด้วย นอกจากนี้ยังมีบทความในหนังสือพิมพ์หลายชิ้นที่เกี่ยวกับหนองหานและเหมืองแร่โพแทช  เช่น   เตือนภัยหนองหานล่มผลร้ายจากเหมืองแร่โพแทช’ ‘แร่โพแทชทองคำขาวที่ชาวบ้านสะอื้น ประเดิมขุมทรัพย์ทองคำขาวประเคนนายทุนเหมืองแคนาดา[39] เป็นต้น ก่อนที่ประเด็นในเรื่องกระรอกเผือกจะกลายมาเป็นคำอธิบายของชุมชนในเรื่องของหายนะที่จะเกิดขึ้นจากโครงการเหมืองแร่โพแทช ที่คนในพื้นที่มีความรู้ต่อเรื่องดังกล่าวร่วมกันและผลิตซ้ำความเชื่อดังกล่าว เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เคลื่อนไหวปัจจุบัน
การเคลื่อนที่ของวาทกรรมและความหมายดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการปะทะกันของประสบการณ์ของชาวบ้าน ที่รับรู้ผ่านเรื่องของตำนานพื้นบ้านและสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของพวกเขาในแง่พิธีกรรม เช่น บุญบั้งไฟ การกำเนิดหนองน้ำ และหมู่บ้าน มาสู่คำอธิบายที่เชื่อมโยงชุดความรู้หรือประสบการณ์เดิมของตำนานผาแดงนางไอ่ กับเหมืองแร่โพแทชเข้าด้วยกัน จนกลายมาเป็นความรู้ว่าด้วยเหมืองแร่โพแทชกับการล่มสลายของชุมชน ที่บ่งชี้ถึงหายนะที่จะเกิดขึ้นหากมีโครงการนี้เกิดขึ้น และเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่ ที่ทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการท้องถิ่น
อาจกล่าวได้ว่า ความรู้เรื่องกระรอกเผือกกับแร่โพแทชและเกลือ ถูกสร้างขึ้นภายใต้มาตรฐานกฎเกณฑ์ชุดหนึ่งมากกว่าความจริงในตัวมันเอง  โดยเป็นกระบวนการที่ฟูโก เสนอให้เราวิเคราะห์เกี่ยวกับเหตุการณ์และกระบวนการทำให้กลายเป็นประเด็นปัญหา (Ploblematization) ขึ้นมาของสิ่งต่างๆในสังคม ดังนั้นเรื่องของกระรอกเผือกกับแร่โพแทชและเกลือ จึงถูกทำให้ชัดเจนผ่านมาตรฐาน และกฎเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น ที่นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน และชาวบ้าน ได้สถาปนาวาทกรรมชุดนี้ขึ้นมา และเป็นเทคนิควิธีการที่ทำให้เรื่องของกระรอกเผือกมีชีวิตขึ้นมาในการอธิบายถึงความล่มสลายของชุมชน เมื่อโครงการเหมืองแร่โพแทชกลายมาเป็นประเด็นปัญหาของพื้นที่ ซึ่งทำให้การปะทะกันของเรื่องดังกล่าวเข้ามาสัมพันธ์กับเรื่องความรู้ ความจริงและอำนาจ ไม่ใช่เรื่องของเกลือที่เราบริโภคจริงๆ เพราะตำนานผาแดงนางไอ่ของท้องถิ่นกลายเป็นประดิษฐกรรมชุดหนึ่งที่ถูกผลิตซ้ำเพื่ออธิบายเชื่อมโยงกับเรื่องเกลือและเหมืองแร่โพแทช
ความรู้เกี่ยวกับตำนานผาแดงนางไอ่ จึงเป็นสิ่งไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงและถูกต่อเติมอยู่ตลอดเวลาตามสถานการณ์ บริบทเงื่อนไขต่างๆ ในยุคสมัยหนึ่งมันอธิบายในแง่ของพิธีกรรมว่าด้วยความอุดมสมบูรณ์ผ่านประเพณีบุญบั้งไฟ และการกำเนิดหนองน้ำและชุมชน แต่ในปัจจุบัน มันกลายเป็นเรื่องของหายนะที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนเมื่อมีเหมืองแร่โพแทชเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งส่งผลต่อวิธีการหรือรูปแบบในการจัดการต่อเรื่องดังกล่าว ที่ทำให้พื้นที่หนองหานกลายเป็นพื้นที่ของการศึกษาของคนกลุ่มต่างๆ ผ่านคำอธิบายเพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องเหมืองแร่ เช่น กระบวนการผลิตที่จะต้องใช้น้ำจากหนองหาน ที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน  และการขุดเจาะใต้พื้นดินเมืองอุดรธานีเป็นบริเวณกว้าง เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับเมืองเอกชะธีตาหรือหนองหานปัจจุบัน เป็นต้น
สรุป
ความเลื่อนไหล การเปลี่ยนแปลงตัวเองของสิ่งที่ถูกพูด ซึ่งเป็นเรื่องของภาษา และปฏิบัติการของวาทกรรม ที่ทำให้เรื่องราวเหล่านั้นกลายเป็นความรู้และความจริงของคนในพื้นที่ ที่ผ่านกระบวนการสร้างและผลิตซ้ำโดยคนกลุ่มต่างๆ ทำให้ความหมายของเกลือและโพแทช มีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ในช่วงเวลาหนึ่งสิ่งที่เป็นเสมือนคู่ขัดแย้งกัน กับสามารถอยู่ร่วมกันได้เมื่อต้องปะทะกับสถานการณ์ปัญหา เช่นเรื่องของกลุ่มทุนข้ามชาติ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ที่ทำให้ผู้ผลิตเกลือสินเธาว์แบบพื้นบ้าน หรือชาวนาจับมือกับกับอุตสาหกรรมเกลือในท้องถิ่น  ต่อสู้กับกลุ่มทุนข้ามชาติ ภายใต้เงื่อนไขหรือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังแตกต่างกัน ระหว่าง เรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ กับ วิถีชีวิต หรือการสถาปนาวาทกรรมท้องถิ่นขึ้นมาสู้กับทุนนิยมข้ามชาติ  ในเรื่องของตำนานผาแดงนางไอ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงในเวทีสัมมนาทางวิชาการ แต่ไม่ได้รับความสนใจจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญ และตัวแทนของรัฐบาลที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายการพัฒนา ที่มุ่งเน้นเอาเรื่องเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อวาทกรรมชุดนี้อยู่ในพื้นที่ของชุมชนท้องถิ่น กับหลายเป็นสิ่งที่มีพลังอำนาจในการอธิบาย ที่สะท้อนให้เห็นพลังอำนาจแห่งวาทกรรม ที่ไม่มีใครสามารถผูกขาด และเป็นอำนาจที่มาจากทุกทิศทาง ไม่ใช่จากบนลงล่าง แต่คนในระดับล่างก็สามารถสร้างอำนาจขึ้นมาต่อรองกับคนข้างบนได้เช่นกัน รวมทั้งสามารถต่างเติมหรือสร้างความหมายให้กับวาทกรรมชุดนั้นตลอดเวลา โพแทชและเกลือ ในความหมายของตำนาน จึงเป็นเรื่องของหายนะที่อาจจะเกิดขึ้นกับแผ่นดินอีสานดังเช่นปรากฏในตำนานที่ชาวบ้านท้องถิ่นเชื่อถือ เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของพวกเขา เช่นเดียวกับบนโยบายที่ต้องเข้ามาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คน  ตำนานท้องถิ่นก็ควรจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจโครงการพัฒนาต่างๆด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรมภาษาไทย
กรมทรัพยากรธรณี 
2548       110 ปีกรมทรัพยากรธรณี ตำนานสืบสานท้าแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี.

กุสุมา หงษ์ชูตา
2542       “บ่อเกลือบ้านท่าสะอาดกับวิถีชีวิตของชาวลุ่มน้ำสงคราม  กรณีศึกษาบ้านท่า   สะอาด อ.เซกา จ.หนองคาย. ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาไทยคดีศึกษา กลุ่มมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม .
กลุ่มสามประสาน กองประสานการจัดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2547         เกลือสินเธาว์. กรุงเทพฯ : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.

คำพูน บุญทวี
2543      ลูกอีสาน.  กรุงเทพมหานคร : เคล็ดไทย.
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร
2545        สัญวิทยา ,โครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยมกับการศึกษารัฐศาสตร์  . กรุงเทพฯ : วิ  ภาษา.
บริษัททีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ จำกัด
2542                “รายงานสรุปการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่โปแตช.” บริษัทเอเชียแปซิฟิกโปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด.


บริษัทเอเชียแปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด
2544                ผลประโยชน์โครงการเหมืองแร่โพแทช อุดรธานี . พิมพ์ครั้งที่ 6,กรุงเทพฯ:มปพ.

ปิยะพร (นามแฝง)
2519        นาคเมืองหนองแส นาคเมืองหนองหาน เมืองโบราณ. ปีที่ 2 ฉบับที่4 (กรกฎาคม  -กันยายน) 61-63.
ปริตตา เฉลิมเผ่า กอ อนันตกูล
                        2533 เค้าโครงความคิดเรื่องโครงสร้าง ในการศึกษานิทานปรัมปรา ของโคลด เลวี่-เสตราส์ วารสารธรรมศาสตร์. ปีที่17 ฉบับที่1 (มิถุนายน)45-79.
ปรีชา พิณทอง
2524    วรรรคดีอีสานเรื่องผาแดง-นางไอ่. อุบลราชธานี ศิริธรรม.
                       
นิวัฒน์ พูนศรี 
2522          เรื่องไทยลาว-อีสาน . อุดรธานี:ภาคอีสานอุดรธานี.
พจน์ เกื้อกูล
2518      “บ่อพันขันเมืองโบราณ ปีที่2 ฉบับที่1( ตุลาคม-ธันวาคม ) หน้า 72-80.
พระอธิการอาทิตย์ อนาลโย
2543        กำเนิดเมืองหนองหาน และตำนานรัก ผาแดง-นางไอ่ ใน พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หลวงปู่ก่ำพันปี .อุดรธานี :ภาคอีสาน.
ราชกิจจานุเบกษา
2537               “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่๑๕๓ (พ.ศ.๒๕๓๗)  เรื่องเกลือบริโภค. ราชกิจจานุเบกษา (เล่มที่ 111 ตอนพิเศษ 15 ),กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.
ราชกิจจานุเบกษา        
2545                 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510. ราชกิจจานุเบกษา มกราคม 2546,กรุงเทพฯสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.


ศรีศักร วัลลิโภดม
2546          แอ่งอารยธรรมอีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ :มติชน.


สุริยา สมุทคุปติ์ และพัฒนากิติอาษา
2533        สัญลักษณ์สำคัญในบุญบั้งไฟ : การวิเคราะห์และตีความหมายทางมานุษยวิทยา.ขอนแก่น :ห้องปฏิบัติทางมานุษยวิทยาของอีสาน,ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา,คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์,มหาวิทยาลัยของแก่น.
สุวิทย์ ธีรศาสวัตและคณะ
2535                การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในชุมชนลุ่มน้ำสงครามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2437 ถึงปัจจุบัน .  กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
บรรณานุกรมภาษาอังกฤษ
Focault, Michel
1972       The Archaeology of  Knowledge and the Discourse on Language. (trans.)  by Alan Sheridan. New York:Pantheon Books.
1977       Discipline and Punish The Birth of the Prison. (Trans.) by Alan  Sheridan. Harmmondsworth:Penguin Books.
1984       “Nietzche,Genealogy,History”.and “Polemics, Politics, and Problemization.”  The Foucault Reader, (ed.) by Paul Rabinow.New York; pantheon Books.
1980       “ Two Lectures” Power/Knowledge selected Interviews and Other Writings 1972-1977. (Ed.) by Colin Gordon. New York Pantheon Books.
Robert Castel
1994     “ Problematization as a Mode of Reading History” In Foucault and The    Writing of History. (Ed.) by Jan :Goldstein. Oxford:Basil backwell.

ภาคผนวก.
ลำดับเหตุการณ์สำคัญในการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน กรณีโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี[40]
พ.ศ.2498         มีการสำรวจและขุดเจาะหาน้ำบาดาลในภาคอีสาน จนพบว่ามีน้ำเค็มและใต้พื้นดินของภาคอีสานมีน้ำเกลือและเกลือหินปริมาณมหาศาล
พ.ศ.2516-2519 กรมทรัพยากรธรณีได้ทำการสำรวจแร่โพแทชและเกลือหินในภาคอีสาน ครอบคลุมพื้นที่แอ่งโคราชแลแอ่งสกลนคร
พ.ศ.2523         รัฐบาลไทยประกาศแหล่งสัมปทานทั้งสิ้น15 แห่ง เพื่อเชิญชวนนักลงทุนและผู้สนใจเข้ามาขออาชญาบัตรเพื่อทำการสำรวจและผลิตแร่ในเชิงพาณิชย์  ซึ่งจังหวัดอุดรธานีก็เป็น 1 ใน 15 แห่ง ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเป็นพื้นที่ 2,333 ตารางกิโลเมตร
พ.ศ.2527         บริษัทเอเชียแปซิฟิกโปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ได้ทำสัญญาร่วมกับบริษัทอะกริโก โปแตช ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการร่วมลงทุนและพัฒนาโครงการกับประเทศแคนาดา และได้ยื่นขอสิทธิ์ผูกขาดการสำรวจแร่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแต่เพียงผู้เดียว
พ.ศ.2527-2536 สถานการณ์โพแทชทั่วโลกรวมทั้งของประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ของโลก ก็ได้รับผลกระทบจากราคาโพแทชในตลาดโลกที่ตกต่ำ การผลิตไม่เพิ่มขึ้น รวมถึงไม่มีการพัฒนาเหมืองใหม่ๆ การสำรวจแร่โพแทชในประเทศไทยจึงหยุดชะงักลง          
พ.ศ. 2536        สถานการณ์โพแทชในตลาดโลกดีขึ้น บริษัทเอเชียแปซิฟิกโปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ได้ทำการขุดเจาะสำรวจแร่โพแทช ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี จนพบว่ามีแร่โพแทชชนิดซิลไวท์ ที่มีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และการสำรวจในช่วงนี้ของบริษัทไม่ได้ชี้แจงต่อชาวบ้าน อันนำไปสู่กรณีพิพาทเรื่องการขุดเจาะแร่ในพื้นที่นาของชาวบ้านหลายราย
พ.ศ.2537         บริษัทเอพีพีซี มั่นใจว่าค้นพบแหล่งแร่โพแทชปริมาณมหาศาล จึงได้ทำการขุดเจาะเพิ่มอีก 360 หลุม เป็นหลุมเกลือ 160 หลุม หลุมน้ำ 200 หลุม จึงตัดสินใจที่จะพัฒนาเป็นแหล่งแร่ในเชิงพาณิชย์ โดยการกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้าน ในเขตบ้านหนองตะไกร้ หนองนาเจริญ เพื่อเป็นที่ตั้งโรงงาน จำนวน 2,500 ไร่ ในราคาไร่ละ 60,000-100,000 บาท
พ.ศ.2539         มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทเอพีพีซี ซึ่งผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยที่เคยมีสัดส่วนหุ้มมากกว่า ได้มีการขายหุ้นให้กับบริษัทข้ามชาติจากประเทศแคนาดา เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และรัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังก็เข้ามาถือหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์
พ.ศ. 2540        บริษัทเอเชียแปซิฟิกโปแตช คอร์เปอร์เรชั่นจำกัด ทำการสำรวจแล้วเสร็จในพื้นที่ 25 ตารางกิโลเมตร ที่ได้รับสิทธิสำรวจ
พ.ศ.2541         คณะรัฐมนตรีผ่านร่างพระราชบัญญัติแร่ ฉบับแก้ไข ปีพ.ศ. 2510 ที่เสนอโดยกรมทรัพยากรธรณี โดยแก้ไขเกี่ยวกับประเด็นเรื่องแดนกรรมสิทธิ์และการทำเหมืองใต้ดิน
30ธันวาคม พ.ศ.2541    บริษัทเอพีพีซี เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เพื่อรายงานความก้าวหน้าของโครงการและชี้แจงเรื่องการทำเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี
13 เมษายน พ.ศ.2542    บริษัทเอพีพีซี ได้ประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและสภาตำบลหนองไผ่ เพื่อปรึกษาเรื่องการจัดประชุมและประชาสัมพันธ์กับชาวบ้านในพื้นที่ตำบลหนองไผ่
15-16 ม.ค.พ.ศ.2542     บริษัทเอพีพีซี  เข้ามาประชาสัมพันธ์โครงการเหมืองแร่โพแทช กับชาวบ้านในพื้นที่ตำบลหนองไผ่ โดยมีการจัดเลี้ยงโต๊ะจีน ล้มวัวและมีการจ้างหมอลำซิ่งมาแสดงให้ชาวบ้านชม ที่บ้านหนองตะไกร้ ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
9 เมษายน พ.ศ.2542      บริษัทเอพีพีซี เข้ามาประชาสัมพันธ์โครงการกับชาวบ้านในเขตตำบลห้วยสามพาด กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี ที่ศาลาวัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์
พ.ศ.2543         นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายเบอร์นาร์ด กีรูซ  เอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย และนายเจอร์รี่ ไรท์ ประธานกรรมการบริษัทเอพีพีซี ได้ร่วมกันปิดป้ายส่วนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติของบริษัท ที่หนองนาตาล  ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543     รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบริษัทเอพีพีซี ที่ได้ว่าจ้างบริษัททีม คอนซัลติ้ง จำกัดเป็นผู้ทำการศึกษา ได้ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม  ในช่วงของการได้รับอาชญาบัตรสำรวจ ทั้งที่พรราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมปีพ.ศ.2535 กำหนดให้ยื่นในช่วงการขอประทานบัตร แต่บริษัทยื่นก่อน
พ.ศ.2543-2544            ร่างพรระราชบัญญัติแร่ที่กรมทรัพยากรธรณีเสนอแก้ไขต่อสภา มีความเห็นที่แตกต่าง ทำให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่วมของสองสภาคือวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 24 คน มาพิจารณาอีกครั้ง
ตุลาคม พ.ศ. 2544         องค์กรพัฒนาเอกชน โดยเครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน เข้ามาให้ข้อมูลกับชาวบ้านในพื้นที่ เกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ในประเด็นเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชนแลพะพระราชบัญญัติแร่ที่มีการแก้ไข
5 พ.ย. พ.ศ.2544           ตัวแทนชาวบ้านจากกิ่งประจักษ์ศิลปาคม จำนวน 15 คน เข้าร่วมประชุมในกรณีปัญหาโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ที่เกี่ยวกับการแก้ไขพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510 ที่กำลังเข้าสู่คณะกรรมาธิการร่วม โดยมีตัวแทนจากกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม อ.จอน อึ้งภากรณ์ สว.กรุงเทพฯ  อ.รตยา จันทรเสถียร และอ.ไพโจน์ พลเพชร นักสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมาย ที่ตึกมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กรุงเทพฯ
18 พ.ย. พ.ศ.2544         องค์กรพัฒนาเอกชนร่วมจัดเวทีเสวนา สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่ศาลาวัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์ โดยมีชาวบ้านจาก 10 หมู่บ้านมารับฟัง และมีวิทยากรเช่น ศ.สิวรักษ์
19 พ.ย. พ.ศ.2544         ตัวแทนชาวบ้านจากกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จำนวน 12 คน เข้ายืนหนังสือต่อกรรมาธิการร่วมสองสภา ซึ่งมีพ.อ. สมคิด ศรีสังคม เป็นประธาน เพื่อคัดค้านต่อร่างพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 ฉบับแก้ไข และร่วมเข้าชี้เฃแจงแสดงข้อคิดเห็นต่อร่างกฎหมายนี้
30 พ.ย. พ.ศ. 2544        นักพัฒนาเอกชน และนักวิชาการท้องถิ่น เข้าให้ข้อมูลกับองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด เพื่อลงมติเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทช ซึ่งที่ประชุมโดยองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าต้องการให้มีโครงการเกิดขึ้นในพื้นที่

17 ม.ค. พ.ศ. 2545        ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีอย่างเป็นทางการโดยตัวแทนชาวบ้านจาก 16 หมู่บ้าน 3 ตำบล คือ ตำบลห้วยสามพาด ตำบลนาม่วงกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม และตำบลหนองนาคำ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี จำนวน 60 คน ร่วมประชุม ที่ศาลาวัดอรุณธรรมรังษี โดยมีสีประจำกลุ่มคือสีเขียวใบตองอ่อน แทนความหมายของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
24 ม.ค. พ.ศ. 2545        มีการประชุมใหญ่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ และเลือกประธาน  ซึ่งก็คือ พ่อประจวบ แสนพงษ์ เป็นประธานกลุ่ม รองประธานคือ นายนิกร หิรัญรัตน์ บ้านหนองนาคำ นายปัญญา โคตรเพชร บ้านสะอาดนามูล  นายศรีนวล ทิพย์สุวรรณ บ้านโนนทรายฟอง เป็นเลขานุการและนางมณี บุญรอด และนายบุญมา บาริศรี เป็นเหรัญญิก นอกจากนี้ก็มีคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนจากหมู่บ้านต่างๆรอบโครงการ เพื่อคัดค้านเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี และดำเนินการขึ้นป้ายคัดค้านโครงการละติดธงสัญลักษณ์สีเขียวในแต่ละหมู่บ้าน
29 ม.ค. พ.ศ.2545         ยื่นหนังสือต่อสถานทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย เพื่อประณามการกระทำของบริษัทเอพีพีซีที่เข้ามาแทรกแซงการแก้ไขพระราชบัญญัติแร่ที่ละเมิดสิทธิชุมชนคนไทย
20-21ม.ค. พ.ศ.2545     โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูป (คสร.) อบนมกฎหมายให้กับตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี จำนวน 40 คน ที่โรงแรมต้นคูณ อุดรธานี
7-10 ก.พ. พ.ศ.2545      แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวน 60 คน ศึกษาดูงานกรณีปัญหาและการต่อสู้ของชาวบ้านอนุรักษ์ลำน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และชาวบ้านบ่อนอก หินกูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
13 มี.ค. พ.ศ.2545         ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุมกับหอการค้าจังหวัด เพื่อชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตช และรับฟังความคิดเห็นของหอการค้าจังหวัดต้อโครงการนี้ ก่อนที่จะเข้าชี้แจงต่อเทศบาลตำบลโนนสูง
18-19 มี.ค. พ.ศ.2545    ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่บำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ร่วมกับคณะกรรมาธิการร่วม เพื่อศึกษาการทำเหมืองแร่โพแทช
14-16 มี.ค. พ.ศ. 2545   เดินรณรงค์ครั้งที่1 เพื่อบอกเล่าข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ให้กับหมู่บ้านต่างๆรอบโครงการในตำบลหนองไผ่ ตำบลโนนสูง ตำบลนาม่วง อำเภอเมืองและตำบลห้วยสามพาด กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม
1-2 เม.ย. พ.ศ.2545       ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจำนวน 900 คน จาก 16 หมู่บาน ชุมนุมกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านทางนายชัยพร รัตนนาคะ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเรียกร้องให้จังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากโครงการเหมืองแร่โพแทช โดยมีตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมเป็นกรรมการชุดนี้ด้วย
30 เม.ย. 2545               คณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแร่ลงพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านและดูสภาพพื้นที่
7-8 พ.ค. 2545              แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รัฐบาลถอดถอน ยับยั้งและยกเลิก ร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับนี้ซึ้งละเมิดสิทธิชุมชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ
11 พ.ค.พ.ศ.2545          ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ออกรายการวิทยุชุมชนสกลนคร โดยมีแกนนำชาวบ้าน พ่อประจวบ แสนพงษ์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานีและกฎหมายแร่ รวมถึงการนำสื่อพื้นบ้านคือหมอลำ มาร้องกลอนลำเกี่ยวกับเหมืองแร่โพแทชออกอากาศด้วย
10-12 มิ.ย. พ.ศ.2545    แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เข้าฝึกอบรมเรื่องสิทธิ กฎหมาย การเมืองภาคประชาชน และการเจรจาต่อรอง รวมถึงการแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหากับตัวแทนชาวบ้านเหมืองแร่คลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี ชาวบ้านบ่อนอกหินกูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และชาวบ้านน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ที่อาศรมดอนแดง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
31-1มิ.ย. พ.ศ.2545       บริษัทเอพีพีซี ได้เข้ามาติดต่อขอเช่าที่บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไผ่ แต่ถูกชาวบ้านปฏิเสธ จึงได้มาเช่าสถานที่บริเวณบ้านหนองตะไกร้ ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวดอุดรธานี บริเวณโรงเลื่อยไม้เก่า ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสถานที่ตั้งโรงงาน
22 ธันวาคม พ.ศ.2545    กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ครั้งที่1
ช่วงปลายปีพ.ศ.2545     พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ฉบับแก้ไขได้ผ่านความเห็นชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 119 ตอนที่ 128ก ลงวันที่31 ธันวาคม 2545 เรียกว่า พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่5 ) พ.ศ.2545 แม้ว่าชาวบ้านจะยืนคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่ากฎหมายแร่ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญก็ตัดสินว่าพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2545 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

มกราคม 2546               ชาวบ้านกว่า 1,000 คนชุมนุมประท้วงที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการำพิจารณารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี
29 มี.ค.พ.ศ. 2546         มีการจัดสัมมนาโครงการเหมืองแร่โพแทช  จังหวัดอุดรธานี ปัญหาและแนวทางแก้ไข เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2546 ที่อาคารสถาบบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ มาให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะ รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ที่เข้าไปร่วมรับฟัง
ช่วงปี 2547ถึงปัจจุบัน     หลังจากมีเวทีสัมมนา ชาวบ้านก็เริ่มที่จะเคลื่อนไหวด้านนโยบายน้อยลง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการใช้วัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อระดมทุน เช่นการทำนารวม และจัดบุญกุ้มข้าวใหญ่ เนื่องจากในช่วงนี้บริษัทเอพีพีซี ต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใหม่พร้อมกับการทำกิจกรรมอื่นๆกับชุมชน และการเปลี่ยนแปลงของบริษัทในช่วงเดือนมิถุนายนปี พ.ศ. 2549 ที่ได้ทำการขายหุ้นทั้งหมดให้กับบริษัทอิตาเลียนไทย เดเวลล็อปเม้นต์ จำกัด เข้ามาดำเนินการต่อ รวมทั้งการต้องยุ่งอยู่กับคดีฟ้องร้องของแกนนำชาวบ้าน  กรณีการรื้อถอนหมุดปักเขตทำเหมืองแร่ ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและบริษัท ทำให้ชาวบ้านถูกตั้งข้อหาทำลายทรัพย์สินและต้องขึ้นโรงพัก และขึ้นศาลเป็นประจำ สิ่งที่น่าสนใจในการเคลื่อนไหวประเด็นวิชาการสาธารณะของชาวบ้านในช่วงปี 2548-2550 คือ การชูประเด็นเรื่องเกลือ โดยนักพัฒนาเอกชน นักวิจัยอิสระ ที่มีการให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการเกลืออุตสาหกรรมบ้านดุง บ้านม่วง และมีการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการจัดการนโยบายสาธารณะเรื่องเกลืออีสาน รวมถึงการจัดงานมหกรรมสืบสานภูมิปัญญาเกลือพื้นบ้าน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2550 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ที่เป็นการเปิดประเด็นเรื่องเกลือขึ้นมาสู้กับเหมืองแร่โพแทชของกลุ่มทุนข้ามชาติ





[1] การทำนาเกลือทะเลแบบตากตามชายฝั่งทะเล คือ การนำน้ำเกลือจากทะเล เข้ามาตากบริเวณแปลงนาที่จัดเตรียมไว้ โดยจะมีนาเชื้อ นาปลง นาประเทียบน้ำ ซึ่งทำกันมากแถบจังหวัดสมุทรสาครสมุทรสงครามและเพชรบุรี
[2] การใช้คำว่าโพแทชหรือโปแตช สำหรับผู้เขียนบทความนั้นจะใช้ทั้งสองคำนี้ ตามที่มีคนกลุ่มต่างๆใช้กันในการสนทนา การเขียนคำนี้ในหนังสือ เอกสารต่างๆ ในความจริงคำว่าโพแทชเป็นการอ่านออกเสียงทับศัพท์ภาษาอังกฤษและลาติน ตามหลักราชบัณฑิตยสถานและอักขรานุกรมศัพท์ทางธรณีวิทยาและแร่ธาตุ ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญในทางภาษาและธรณีวิทยาร่วมกันกำหนดขึ้น ส่วนคำว่า โปแตชเป็นคำที่ชาวบ้านและคนในพื้นที่ส่วนใหญ่เรียกกัน เพราะออกเสียงได้ง่ายในสำเนียงภาษาไทยและเป็นคำที่นักพัฒนาเอกชนเข้ามาให้ข้อมูลใช้คำๆนี้เป็นหลัก ในส่วนของผู้ศึกษาใช้จะเขียนตามคำที่คนเรียกหรือสิ่งที่ใช้ในเอกสาร ซึ่งอาจมีการสลับกันตามแต่ผู้ใช้ ให้เข้าใจว่าคือแร่ชนิดเดียวกัน คือโพแทชเซียม
[3] คำว่าสิ่งที่ถูกกล่าวถึง ในแง่นี้ใช้ในความหมายของฟูโกที่พูดถึงเรื่อง Problematisation หรือกระบวนการกลายเป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงหรือกล่าวถึง ของบรรดาบุคคลผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ที่สัมพันธ์กับสิ่งที่ฟูโกเรียกว่า Statement
[4] องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ ที่กล่าวถึงคือ เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน ซึ่งอยู่ในเครือข่ายขอองคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
[5] กลุ่มทุนข้ามชาติคือ บริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่นจำกัด ของประเทศแคนานา ปัจจุบันถูกซื้อหุ้นโดยบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเม้นต์เข้ามาดำเนินกิจการต่อในช่วงปี2549
[6] แร่โพแทช หรือโพแทชเซียมคลอไรท์ เป็นแร่ธาตุ1ใน3 ที่มีความสำคัญต่อพืช ร่วมกับฟอสฟอรัสและไนโตรเจน ประโยชน์ของมันใช้ทำปุ๋ยเคมีเป็นหลัก และโพแทชจะอยู่ร่วมกับเกลือหินและโซเดียมคลอไรท์  โดยโพแทชก็จะมีหลากหลายชนิดที่พบในอุดรธานีมี2 ชนิดคือ ซิลวิไนท์และแคลนาไลต์ แคลนาไลต์จะบริสุทธิ์น้อยว่ามีสีน้ำตาลแดง ส่วนซิลวิไนท์เป็นแร่ที่ตลาดโลกต้องการ มีความบริสุทธิ์มากถึง96-98เปอร์เซนต์มีสีขาว
 [7] คำนินามของแร่ หมายถึง การกำหนดความหมายของแร่ ในพระราชบัญญัติแร่(ฉบับที่5) ..2545 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ..2510 โดยเพิ่มนิยามคำว่า ทำเหมืองใต้ดินระหว่างคำว่า ทำเหมือง และขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน
[8] แดนกรรมสิทธิ์ หมายถึงเขตแดนแห่งสิทธิในการใช้ประโยชน์ ในพระราชบัญญัติแร่ พ.. 2545 ในมาตราที่88/3 บอกว่า การทำเหมืองใต้ดินผ่านใต้ดินของที่ดินที่มิใช่ที่ว่าง หากอยู่ในระดับความลึกจากผิวดินไม่เกินหนึ่งร้อยเมตร ผู้ยื่นคำขอประทานบัตรต้องแสดงหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ผู้ขอจะมีสิทธิทำเหมืองในเขตที่ดินนั้นได้
[9] กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ตั้งขึ้นเมื่อวันที่17 มกราคม พ.ศ.2546 โดยการรวมตัวกันของชาวบ้านจำนวน 20 หมู่บ้าน ในพื้นที่4 ตำบล สองอำเภอ คืออำเภอเมืองและกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม (ปัจจุบันยกฐานะเป็นอำเภอแล้ว) จังหวัดอุดรธานี
[10] บริษัทเอเชียแปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด, การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองแร่โปแตช, (กรุงเทพฯ: ทีมคอนซัลติ้งเอนจิเนียร์,2542), น. 2-3.
[11] สุชาติ สุขสะอาด แนวทางจัดการอุตสาหกรรมเกลือสินเธาว์แบบยั่งยืน: กรณีศึกษา อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี. (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชานโยบายและการจัดการทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกริก,2544), น. 22.
[12] ฮีต12 คอง 14 คือวิถีปฏิบัติหรือจารีตของคนอีสาน ซึ่งบางครั้งอาจเรียกว่าเป็นกฎหมายของคนอีสานก็ว่าได้ โดยมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพิธีกรรมในรอบปีที่ชาวอีสานได้ประพฤติ ปฎิบัติและพิธีกรรมดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับเรื่องของเกลือซึ่งเป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมนั้น
[13] สัมภาษณ์นางใจ ระเบียบโพธิ์ วันที่ 10 พฤษภาคม 2545
[14] สัมภาษณ์นางสา ดวงปาโคตร ชาวบ้านโนนสมบูรณ์  วันที่ 15 เมษายน 2546
[15] สัมภาษณ์นายสุวรรณ ระเบียบโพธิ์ ชาวบ้านอุ่มจาน วันที่ 10 พฤษภาคม 2545
[16] สัมภาษณ์นางกองมา ซูบุญมี ชาวบ้านขางัว  วันที่ 3 กรกฎาคม 2548
[17] ฮ้าน แปลว่า สิ่งก่อสร้างทำจากไม้ หรือเหล็ก ยกพื้น เช่น เวที เช่น หมอลำขึ้นฮ้านหรือ เล้าไว้ใส่ข้าวหรือฟางเลี้ยงวัว ควาย เช่น เอาข้าวขึ้นเล้า เอาฟางขึ้นฮ้าน
[18] สัมภาษณ์แม่ทองสี ยอดวัน วันที่ 7 กรกฎาคม 2548
[19] ดังที่แม่บุญมา กองบุญชู เล่า เกี่ยวกับประวัติแม่นางเพียว่า   แม่นางเพียแก้ว รักษาอยู่บ่อเกลือ ไม่ได้ผัวจักเถื่อ(สักที) เฮ็ดทำบักไม้เป็นหัวควย ( อวัยวะเพศชาย ) ดอกบัวท่านชอบ เราทำดอกใหญ่ ดอกบัวใหญ่ๆ ถูกใจเพิ่น เพิ่นกะเสกให้เกลือหลายๆ ดอกบัวก็คือปลัดขิก  ท่านไม่มีผัวสักที เป็นสาวแก่ มีตำนานว่าไว้ ถ้าผู้ใดไม่ทำตามก็จะตาย  เกลือล้มกลิ้งลงตาย  หมอดูก็ว่า แม่นางเพียเอาไปแล้ว เอาไปเป็นคนใช้ท่าน เขาว่าทำไม่ถูก ไม่ได้เอาไม้นั้นให้ ตำนานมันมีกำเนิดมาเลยแต่พ่อแต่แม่ ไปขุดเอาขี้บ่อ ไปไหว้แม่นางเพียแก้ว แม่กวาดขี้บ่อเคยได้เงินหัวช้าง ฝังดินแต่ดึกดำบรรพ์
[20] สิ่งที่เรียกว่าวิญญาณบรรพบุรุษ เป็นวิญญาณที่เกี่ยวข้องกับเครือญาติหรือสายเลือด ดังที่พ่อสุวรรณ ระเบียบโพธิ์ เล่าว่าแม่แกตายอยู่ที่นี่ ตู้เพียเป็นย่าแก เพราะตู้เพียเอาแม่แกไปอยู่ด้วย แกบอกว่าแม่แกสิ้นใจตายที่บ่อเกลือตอนแดดร้อนๆ
[21] สัมภาษณ์นางมณี บุญรอด วันที่ 28 เมษายน 2549.
[22] ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม วันที่ 6 .. 2522, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่96 ตอนที่21 ฉบับพิเศษ (19 กุมภาพันธ์), น. 12.
[23] บริษัทเอเชียแปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด,การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองแร่โปแตช,(กรุงเทพฯ: ทีมคอนซัลติ้งเอนจิเนียร์), น. 2-3.
[24]เอเชียแปซิฟิกโปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด, คู่มือเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี (กรุงเทพฯ : เอเชียแปซิฟิก ,2548), น.2. ที่พูดถึง ประกาศของอุตสาหกรรมเลขที่ อก.0304/08930 เชื้อเชิญให้บุคคลอื่นยื่นคำขอสิทธิ์สำรวจและผลิตแร่โพแทชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
[25] คำแถลงของ Donald Hauge  วิศวกรเอพีพีซี: ปีพ.ศ.2544
[26]  สัมภาษณ์นายสำราญ วงษ์ใสสา วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546
[27] สัมภาษณ์นางสา ดวงปาโคตร วันที่27 กรกฎาคม 2549
[28]  สัมภาษณ์นายสำราญ วงษ์ใสสา วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546
[29] บันทึกการประชุมให้ข้อมูลชาวบ้านโครงการเหมืองแร่โพแทช อุดรธานี วันที่28 ตุลาคม2545 ณ ศาลาวัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์ (ตรงกับวันออกพรรษา)

[30] สัมภาษณ์ นางทองสี ยอดวัน อายุ 72 ปี วันที่ 3 กรกฎาคม 2548
[31] สัมภาษณ์ นางใจ ระเบียบโพธิ์ อายุ 55 ปี วันที่ 22 พฤษภาคม 2545
[32] สัมภาษณ์นางบุญซ่อน พรมศรีจันทร์  วันที่ 30 มิถุนายน 2549

[33] อ.ศุภชาติ รุ่งโรจน์ นักวิชาการจากลำปาง ที่เข้ามาอบรมเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูป ของ คสร. ในเรื่องของสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในการต่อสู้เคลื่อนไหว โดยอาจารย์มักจะยกตัวอย่างกรณีของเหมืองแม่เมาะลำปาง ในประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมกับชาวบ้าน
[34]สัมภาษณ์นางสา ดวงปาโคตร  วันที่ 16 มกราคม 2546
[35] สัมภาษณ์นางมณี บุญรอด  วันที่ 28 เมษายน 2548
[36] อาจารย์สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์  วันที่ 29 มีนาคม 2546
[37] อ้างอิงจาก การสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำหนองหาน ที่เป็นผู้เล่านิทานของคนในหมู่บ้าน3 คนคือ พ่อบุญตา จันทรเสนา อายุ 67 ปี ชาวบ้านอุ่มจาน เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2544 พ่อทองดี จันทรเสนา ชาวบ้านสวนมอญ อายุ 78 ปี วันที่3 กรกฎาคม 2548 และพ่อตู้แขก บุญจันทร์  อายุ 65 ปี วันที่ 24 พฤษภาคม 2545 จากการสังเกตพบว่าเป็นผู้มีความเป็นปราชญ์และผู้เชี่ยวชาญทางพระพุทธศาสนา สามารถอ่านภาษาบาลีได้ เขียนภาษาอีสานโบราณได้ รวมถึงเล่าตำนานต่างๆ ได้ เช่นปู่สังกะสาย่าสังกะสี ตำนานน้ำเต้าปรุง มีการเขียนบันทึกเรื่องราวไว้เป็นหนังสือ และสามารถท่องกลอนลำให้ฟังเกี่ยวกับตำนานดังกล่าวได้

[38] กลุ่มนิเวศน์วัฒนธรรมศึกษา ซีดีชุด ออนซอนเสียว รวมบทกลอนลำบันทึกประวัติศาสตร์ การต่อสู้และพิษภัยจากอุตสาหกรรมเกลือบนแผ่นดินอีสาน โดยศิลปินบุญยัง แคนหนอง ติ้ม แคนหนอง และสงวน พรประจักษ์
[39] กรุงเทพธุรกิจ (1 ตุลาคม 2546) ; 10 กรุงเทพธุรกิจ (14 ธันวาคม 2545): 6 และ ผู้จัดการรายวัน (29 พฤษภาคม 2545) ; 9
[40] รวบรวมเหตุการณ์จากเอกสารและประสบการการพัฒนากับชาวบ้านในช่วงนั้น ซึ่งผู้ศึกษาได้บันทึกเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆของชาวบ้านเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้นักข่าวและผู้สนใจที่ลงมาศึกษาพื้นที่ในช่วงที่ผู้ศึกษาเป็นนักพัฒนาเอกชนในพื้นที่โครงการตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2544-2546

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...