วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มานุษยวิทยากับการศึกษาภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างและวาทกรรม นัฐวุฒิ สิงห์กุล

มานุษยวิทยากับการศึกษาภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างและวาทกรรม
“ภาษา” เป็นตัวกำหนดความคิดของมนุษย์หรือเป็นสิ่งที่จำลองความคิดของมนุษย์ ยังคงเป็นคำถามและข้อถกเถียงที่หาคำอธิบายต่างๆได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด กระนั้นก็ตามในสภาวะปัจจุบันเราจะพบว่า “ภาษา” ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ มีพลังอำนาจและอิทธิพลอย่างมหาศาลในทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระแสโลกาภิวัฒน์ที่สรรพสิ่งต่างๆมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันได้อย่างกว้างขวางรวดเร็วทั้งข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีและทุน ทำให้พลังอำนาจที่ไร้ขอบเขตของโลกมีอิทธิพล อย่างมหาศาลและครอบงำทั่วทุกพื้นที่  แน่นอนว่าโลกทุกวันนี้ มนุษย์ทุกที่ล้วนสามารถสื่อสารหรือเข้าใจรับรู้กันได้ด้วยภาษาและกฎเกณฑ์ชุดเดียวกัน ที่เราเรียกกันว่า “พูดภาษาเดียวกัน” แม้จะอยู่คนละทวีปหรือคนละซีกโลกก็ตาม
นักมานุษยวิทยาเริ่มให้ความสนใจกับแนวคิดแบบโครงสร้างนิยม(Structuralism)  เป็นที่นิยมและแพร่หลายในแวดวงวิชาการมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่6(ดูธเนศ วงษ์ยานนาวา,2528)  ซึ่งนักมานุษยวิทยาแนวโครงสร้างนิยมให้ความสนใจกับการศึกษาภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง(Structural linguistics) ในการใช้ข้อมูลทางการสื่อสาร(Communication)ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษา สัญญะ  สัญลักษณ์  เพื่อทำความเข้าใจปรากฎการณ์ทางสังคมวัฒนธรรม  แนวคิดแบบโครงสร้างนิยมโดยหลักการแล้ว ปฎิเสธความเป็นองค์ประธานของมนุษย์(subject) โดยเชื่อว่าแท้จริงแล้วมนุษย์ไม่ได้อยู่ในสภาวะขององค์ประธานอันอิสระแต่อย่างใด แต่มีความสัมพันธ์และขึ้นอยู่กับลักษณะที่เรียกว่าโครงสร้าง(Structure) ที่เป็นโครงสร้างที่อยู่เหนือกาละเทศะ(เวลาและสถานที่) ซึ่งครอบคลุมและครอบงำมนุษย์อยู่ในปัจจุบัน
นักมานุษยวิทยาที่สำคัญอย่าง Claude Levi-Strauss นักจิตวิเคราะห์อย่างJacque Lacan นักปรัชญาและวรรณดีวิจารณ์อย่างJacques Derrida นักสัญวิทยาอย่าง Roland Barth และแม้แต่นักปรัชญาประวัติศาสตร์อย่าง Michel  Foucault  ต่างก็ได้รับอิทธิพลจากความคิดของสำนักโครงสร้างนิยม เพียงแต่ว่าบางท่านได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับหน่วยสัญญะคือ รูปสัญญะและความหมายสัญญะที่แตกต่างกัน  ในขณะที่สำนักโครงสร้างนิยมจะให้ความสำคัญกับความหมายสัญญะ(Signified)  อันเป็นเรื่องของระบบคิด  แต่สำนักหลังโครงสร้างนิยม(Post-structuralism)จะให้ความสำคัญกับรูปสัญญะ(Signifier) มากกว่าเพราะเชื่อว่ารูปสัญญะสามารถปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระจากความหมายสัญญะที่ดำรงอยู่แล้วล่องลอยไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นรูปสัญญะหรือความหมายสัญญะก็ตาม ล้วนแต่เป็นผลมาจากการถูกกำหนดให้เป็นทั้งสิ้น(arbitrary)ไม่ได้เป็นธรรมชาติแต่อย่างใด อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างความหมาย(Signifiance)มากกว่าการให้ความสำคัญกับโครงสร้าง/รหัส ดังเช่นที่สำนักโครงสร้างนิยมกระทำกัน
ความคิดของนักคิดสกุลโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยม  มองว่ามนุษย์เป็นเพียงร่างทรงของภาษาหรือโครงสร้างชุดหนึ่งที่กำกับอยู่ มนุษย์ไม่ได้อยู่ในฐานะที่เป็นองค์ประธานของสรรพสิ่งต่างๆอีกต่อไป มนุษย์จึงถูกลดทอนสถานภาพและบทบาทในการเป็นผู้กระทำและถูกกระทำไปพร้อมๆกัน  ผู้ที่มีอิทธิพลต่อสำนักคิดโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยม ที่สนใจศึกษาในเชิงสัญศาสตร์(Semiotic)หรือสัญวิทยา(semiology) ก็คือ Ferdinan de Saussure   นักภาษาศาสตร์ชาวสวิส  ซึ่งได้พัฒนาศาสตร์ของการศึกษาที่เรียกว่า ภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง(Structural Linguistics)  โดยโซซูร์ ได้เสนอให้แยกสิ่งที่เรียกว่า  ภาษา(Language) และถ้อยคำ คำพูด(speech)หรือ ภาษา(Langue)และ การใช้ภาษา(Parole) ออกจากกัน เพื่อ เป็นหน่วยในการศึกษาวิเคราะห์ โดยเขาให้ความสำคัญกับกับสิ่งที่เรียกว่า ระเบียบกฎเกณฑ์ที่ทำให้คำพูดหรือเสียงที่เปล่งออกมามีความหมาย ดังนั้น ภาษาจึงเกี่ยวพันในสองด้านคือ ด้านสังคม(Social)และด้านปัจเจกบุคคล(Individual) พูดง่ายๆก็คือ เรื่องของภาษาประกอบด้วยเรื่องที่เป็นระเบียบกฎเกณฑ์ของภาษากับผู้ใช้ภาษา และด้วยความที่ภาษา(Language)ในนัยของโซซูร์ก็คือระบบองค์รวม(System/Holism) ที่มีความสมบูรณ์ในตัวเองและมีกฎเกณฑ์ในการจำแนกแยกแยะสิ่งต่างๆ  ซึ่งแตกต่างจากรูปสัญญะ/ ตัวหมาย(signifier)หรือการใช้ภาษา(Parole) ที่มีความแตกต่างหลากหลาย อาจเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ใช่สิ่งเดียวกันก็ได้ ดังนั้นสถานะของภาษา(Langue)จึงค่อนข้างมั่นคงมากกว่าเรื่องของการใช้ภาษา(Parole)ที่เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล อีกทั้งสิ่งที่จะทำให้การสื่อสารในสังคมเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อผู้ใช้ภาษาอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ชุดหนึ่ง ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าโซซูร์ให้ความสำคัญกับเรื่องของรูปแบบ(form) มากกว่าเนื้อหาสาระ(substance) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำนักโครงสร้างนิยมยึดถือ  แต่อย่างไรก็ตามทั้งรูปแบบและเนื้อหาจะต้องทำงานประสานกันขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ เพราะหากมีเฉพาะรูปแบบไม่มีเนื้อหารูปแบบก็ว่างเปล่า หากมีเฉพาะเนื้อหาแต่ขาดรูปแบบ เนื้อหาก็หมดความหมาย เช่นหมากรุก เป็นหมากรุกได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในตารางและอยู่ภายใต้กติกาของหมากรุก  และตัวหมากแต่ละตัวที่มีความแตกต่างกัน มีค่าที่ต่างกัน และการเดินบนตารางที่ต่างกันตามกฎระเบียบของการเล่นหมากรุก เป็นต้น
ภาษาจึงเป็นเรื่องของ “ระบบคุณค่าชุดหนึ่งที่สังคมกำหนดขึ้นมาไม่ได้มีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง”  แต่เป็นเรื่องของการถูกกำหนดให้เป็น(the arbitrary of the sign) ไม่ได้เป็นธรรมชาติแต่อย่างใด ซึ่งอาจเป็นทั้งเรื่องของการถูกกำหนดให้เป็นในระดับรูปสัญญะและความหมายสัญญะเช่น คำว่าห-ม-า กับ ความคิดเกี่ยวกับสัตว์ประเภทเคไนน์มีสี่เท้ามีหางและเห่าได้ที่เรียกว่าหมาหรือในระดับรูปสัญญะด้วยกันเองเช่น  ม้า กับ Horse หมา กับ Dog เป็นต้น ดังนั้นการศึกษาภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างของโซซูร์  การที่จะเข้าใจการถูกกำหนดให้เป็นของสัญญะ  เราต้องค้นหากฎเกณฑ์ที่เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้น เพราะมนุษย์จะต้องพูดหรือสื่อสารภายใต้กฎเกณฑ์ชุดหนึ่ง ซึ่งรูปสัญญะในความเห็นของโซซูร์ไม่ได้ล่องลอยได้อย่างอิสระแต่รูปสัญญะจะต้องได้รับการยอมรับและขึ้นอยู่กับชุมชนที่ใช้ภาษา(Linguistic community) นั่นก็หมายความว่า ระบบของภาษานั้นมีอิทธิพลหรืออำนาจที่จะร้อยรัดให้สิ่งต่างๆดำรงอยู่ได้ ดังนั้นระบบ กฎเกณฑ์ สถาบันทางสังคมจึงมีความสำคัญอย่างมิอาจปฎิเสธได้ และด้วยเหตุที่ภาษาเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรูปสัญญะกับความหมายสัญญะ ที่เกิดจากการถูกกำหนดให้เป็นและทำให้สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันเข้ามามีความเกี่ยวข้องกันโดยผ่านระบบภาษา ทำให้ความหมายของภาษามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้นักมานุษยวิทยานำวิธีการศึกษาภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาวิเคราะห์และอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมในปัจจุบันมากขึ้น
นักมานุษยวิทยาแนวโครงสร้างนิยมชาวอังกฤษ Claude Levi-Strauss  ที่สนใจศึกษาวัฒนธรรม พิธีกรรมและนิทานปรัมปราของชนพื้นเมืองที่ยังไม่มีภาษาเขียนใช้  และถือว่าสิ่งเหล่านี้คือภาษาแบบหนึ่ง ซึ่งเขามีความคิดที่ไม่แตกต่างจากSaussure และได้อิทธิพลมาจากสำนักคิดภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างอย่าง Ronan Jacobson อยู่ไม่น้อย(อ้างจากไชยรัตน์;2545) เขาเชื่อว่าภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อความคิดกันนั้นมีโครงสร้างที่แน่นอน นั่นคือมีโครงสร้างชุดหนึ่งกำหนดกำกับให้เป็นอยู่หรือมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงร้อยรัดกัน เนื่องจากความคิดของมนุษย์ที่ทำงานในลักษณะเดียวกันนั้น เป็นการให้ความหมายและความเข้าใจในลักษณะของคู่ตรงข้าม(Binary opposition)  ที่มนุษย์สามารถผลิตความหมายเมื่อเขานึกถึงสิ่งตรงกันข้าม ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ –วัฒนธรรม ดิบ-สุก ผู้ชาย-ผู้หญิง รูปธรรม-นามธรรม เป็นต้น  ซึ่งแสดงให้เห็นความตั้งใจของเขาที่จะสืบค้น ความรู้และหา ความหมายที่มาจากมนุษย์ไปสู่ภาษา /โครงสร้างที่เป็นเสมือนระเบียบกฎเกณฑ์ ที่กำกับให้เกิดความหมายขึ้นมา ดังเช่น นิทานปรัมปรา ความหมายจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้เล่าหรือประสบการณ์อันช่ำชองยาวนาน เพราะผู้เล่าก็มีฐานะเป็นเพียงร่างทรงที่ตอกย้ำกฎเกณฑ์/รหัสของนิทานปรัมปราที่กำหนดการเล่าเรื่องโดยที่ผู้เล่าไม่รู้ตัว ซึ่งLevi-strauss ถึงแม้ว่าจะถูกมองว่าเป็นพวกรูปแบบนิยม(formalism) แต่วิธีคิดของเขาก็ท้าทายกับวิธีคิดแบบรูปแบบนิยม โดยมองว่า ความหมายเกิดขึ้นจาก ความแตกต่างระหว่างรูปแบบกับเนื้อหา รูปแบบเป็นรูปแบบได้เพราะไม่ใช่เนื้อหา เช่นเดียวกับเนื้อหาเป็นเนื้อหาสาระได้เพราะไม่ใช่รูปแบบ นั่นคือเขามองที่ความแตกต่างและความสัมพันธ์ที่ไม่ได้แยกเป็นรูปแบบเนื้อหาอย่างแข็งทื่ออย่างที่พวกรูปแบบนิยมปฎิบัติกัน
Levi-Strauss ได้นำเสนอความคิดเรื่อง รูปสัญญะที่ล่องลอยหรือFloating Signifier  โดยเขามองว่าความหมายเป็นเรื่องของรหัสกฎเกณฑ์ ซึ่งในตัวของรหัสกฎเกณฑ์เองไม่มีความหมาย แต่เป็นตัวกำหนดความหมาย ดังนั้นความหมายจึงมิใช่สิ่งที่เกิดจากเนื้อในของข้อความที่ส่ง เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่รู้มาก่อนก็พูดไม่ถูกพูดไม่ได้ ด้วยไม่มีรหัสกฎเกณฑ์กำหนดให้พูดเรื่องนั้น นั่นคือเมื่อเผชิญกับสิ่งที่ไม่รู้มาก่อน ความหมายสัญญะก็ไม่มี ทำให้รูปสัญญะไม่มีอะไรมาเกาะเกี่ยว จึงล่องลอยไปเรื่อยๆจนกว่าจะพบความหมายที่จะเข้ามาเกาะยึด เนื่องจากรหัส/กฎเกณฑ์ /สัญญะ ที่กำหนดการรับรู้ของเราค่อนข้างจำกัดมาก สิ่งที่เราไม่รู้ คิดไม่ถึง คิดไม่ได้มีอยู่อย่างมากมาย เนื่องจากเราไม่มีรหัสในเรื่องนั้นๆเมื่องเราไม่รู้ก็พูดถึงสิ่งนั้นไม่ได้ ลำพังรูปสัญญะอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอแต่จะต้องมีความหมายสัญญะด้วย  แต่เนื่องจากรูปสัญญะมักก้าวไม่ทันความหมายสัญญะเพราะมีสิ่งที่เราไม่รู้มากมาย ทำให้สร้างรูปสัญญะขึ้นมาไม่ทัน ดังนั้นจึงต้องมีสิ่งที่เรียกว่า รูปสัญญะที่ล่องลอย หรือข้อความอันเป็นที่ยอมรับในชุมชนที่ใช้ภาษานั้นแต่ปราศจากความหมายที่แน่นอนชัดเจน
สิ่งที่เห็นได้จากความคิดของLevi-Strauss ก็คือเขาให้ความสนใจในระดับของการให้ความหมาย(Signification) ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่ตายตัวของรูปสัญญะ(Signifier)กับความหมายสัญญะ(Signified) หรือตัวหมาย กับตัวหมายถึง แต่มันเกี่ยวข้องกับหลักการของการให้และสร้างความหมายว่าเป็นอย่างไร และทำไมมนุษย์จึงผลิตความหมายอย่างนั้น โดยไม่ยึดติดกับความหมายที่สมบูรณ์แบบ แต่มองความเป็นไปได้ที่จะเกิดความหมาย ด้วยวิธีการให้คุณค่าและใช้ต้นทุนที่แตกต่างกัน ดังเช่น เมื่อเวลาเราค้นหาศัพท์ในพจนานุกรม  เราจะพบว่าตัวพจนานุกรมเองก็อธิบายศัพท์คำหนึ่งด้วยศัพท์อีกคำหนึ่ง หรือมากกว่า ซึ่งทำให้เราอาจต้องค้นหาคำศัพท์อื่นๆเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าแม้เราจะพยายามหาความหมายของคำมากมายเพียงใด ท้ายที่สุดเราจะพบว่า ในสังคมวัฒนธรรมต่างๆก็มีความหมายแตกต่างไปจากความเข้าใจของเราเป็นอันมาก
หากจะเปรียบเทียบกับนักสัญวิทยาชาวฝรั่งเศส อย่าง Roland Barthes(1950-1980)  ที่ได้พัฒนาแนวทางการศึกษาภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง ที่มองความหมายเป็นเรื่องของความแตกต่างตรงกันข้ามไม่ได้เกิดจากเนื้อในของสิ่งนั้นๆแต่อย่างใด ความเป็นคู่ตรงกันข้ามเป็นตัวกำหนดความหมาย ความหมายจึงมีลักษณะเป็นพลวัตรไม่หยุดนิ่ง มีการผสมผสาน ต่อเติมของสัญญะภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์หรือที่Derrida เรียกว่าการเล่นของรูปสัญญะ(The Play Signifier) หรือที่Barthes เรียกว่าการผจญภัยของสัญญะที่เป็นการศึกษากระบวนการสร้างความหมายของสัญญะที่ไม่สิ้นสุด(อ้างจากไชยรัตน์,2545)  ซึ่งสัญญะในความหมายของBarthes กว้างขวางกว่าเรื่องภาษามาก เพราะมันเป็นหน่วยของการสื่อความหมายที่แตกต่างหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหาร สบู่ ผงซักฟอก หอไอเฟล ของเล่น ไวน์ นิตยสาร เหตุการณ์น้ำท่วม ฯลฯ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าสรรพสิ่งต่างๆในสังคมล้วนเป็นสัญญะได้ทั้งสิ้น และความหมายของสัญญะเหล่านี้ไม่ได้เป็นธรรมชาติแต่อย่างใด แต่มันผูกรัดเชื่อมโยงกับรหัสกฎเกณฑ์ชุดหนึ่งที่เรียกว่า ระบบวัฒนธรรมในสังคมนั้น Barthes มองว่าการที่สรรพสิ่งต่างๆในสังคมกลายเป็นสัญญะนั้น เป็นกระบวนการสร้างมายาคติ(Mythology) ที่ทำให้เกิดมายาคติ(Myth)  และกลายเป็นธรรมชาติหรือสิ่งที่ปกติธรรมดาของคนในสังคมที่ยอมรับมันอย่างไม่ตั้งคำถาม เป็นความคิดที่สอดรับกับระบบของอำนาจของสังคมที่มนุษย์อาศัยอยู่  มายาคติจึงเป็นสิ่งที่Barthes ใช้ศึกษาวิเคราะห์ในเชิงสัญวิทยา เพราะเขาเชื่อว่า ตัวมายาคติก็คือตัวกำหนดการรับรู้ของคนในสังคม ความจริงความหมาย ที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ธรรมชาติแต่เป็นผลผลิตของสังคม และดำรงอยู่ในระดับการรับรู้ของมนุษย์ บทบาทหน้าที่ของมายาคติจึงไม่ใช่เรื่องของการปิดบัง อำพราง ปกปิด แต่อย่างใด เพียงแต่มันเป็นเรื่องของการบิดเบือนที่ทำให้มองไม่เห็นหรือไม่เห็นอย่างที่มันเป็นมากกว่า   Barthes ให้ความสำคัญกับรหัส(Code) ที่กำหนดความคิด ประสบการณ์ของมนุษย์ การสร้างรหัสต้องอาศัยภาษา ถ้าไม่มีภาษาก็ไม่มีรหัส รหัสเป็นเรื่องของการคิดค้นและตกลงร่วมกัน ภาษาจึงประกอบด้วยรหัสมากมายซึ่งเกิดจากการความสัมพันธ์ที่ไม่ได่ฃ้เกี่ยวข้องกันระหว่างรูปสัญญะกับความหมายสัญญะ ความหลากหลายของรหัสนี้เองเป็นสิ่งที่ถูกเรียกว่า “รูปสัญญะที่ล่องลอย”  ดังนั้นรหัสจึงไม่มีความหมายบริสุทธิ์หรือสมบูรณ์ในตัวเองแต่อย่างใด แต่ถูกกำกับอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ทำให้การสื่อสารเป็นไปได้  ซึ่งต่อมาBarthes ได้หันเข้ามาสู่แนวทางการศึกษาหลังโครงสร้างนิยม ที่พูดถึงเรื่องตัวบท(Text)  กระบวนการสร้างโครงสร้างและความหมายที่ไม่รู้จักจบสิ้น Barthes ได้แสดงให้เห็นว่า รูปสัญญะไม่จำเป็นต้องมีความหมายสัญญะ แต่มันสามารถสร้างความหมายของตัวเองได้อย่างไม่รู้จักจบสิ้น ทำให้บาร์ธ ก้าวข้ามจากวิธีการศึกษาแบบสัญวิทยามาสู่หลังโคงสร้างนิยม( อ้างจากMoriarty,1991,PartIIและไชยรัตน์,2545) โดยให้ความสำคัญกับตัวบทและการวิจารณ์ตัวบท เขามองว่าผู้แต่งผู้เขียนไม่ได้สื่อความคิดของตนออกมาในตัวบท แต่เป็นเพียงผู้ประกอบสร้าง แต่งเติมตัวบทโดยนำเอาคำต่างๆในภาษาในวัฒนธรรมมาผสมผสานกัน ให้เกิดความหมายขึ้นมา โดยการสร้างความหมายจากการอ้างอิงกับคำอื่นๆ เหมือนกับพจนานุกรม ดังนั้นผู้แต่งจึงไม่ได้มีอำนาจในการผูกขาดเบ็ดเสร็จ แต่สังคมประวัติศาสตร์หรือรูปสัญญะของตัวบทต่างหากที่สามารถสื่อสร้างความหมายได้ด้วยตัวเอง  Barthes จึงให้ความสนใจกับกระบวนการสร้างความหมาย(Signifiance) โดยเฉพาะความสำคัญของรูปสัญญะ มากกว่าความหมายสัญญะ ที่สามารถปลดปล่อยตัวเองได้อย่างอิสระจากความหมายสัญญะเดิมที่ดำรงอยู่ และล่องลอยไปเพื่อสร้างความหมายใหม่ให้กับตัวบทได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด  ซึงมโนทัศน์เรื่องตัวบทที่เปิดกว้าง ก็ไม่แตกต่างจากแนวคิดเรื่องรูปสัญญะที่ล่องลอย ที่ผู้อ่านสามารถสร้างตัวบทใหม่ สร้างความหมายใหม่จากการอ่านของตนเอง  สิ่งที่ช่วยในการวิเคราะห์ความเป็นรูปสัญญะที่ล่องลอย ของบาร์ธ ก็คือ ระบบของมายาคติ ในการสื่อความหมายซึ่งมีสองระดับคือความหมายตรงหรือความหมายตามภาษา(denotation)กับความหมายแฝงหรือความหมายของมายาคติ(Connotation)ซึ่งเป็นระดับที่อยู่เหนือภาษา  สิ่งที่น่าสังเกตก็คือสัญญะ ในระบบความหมายที่1(ภาษา)สามารถถูกสลายความหมายลงและกลายเป็นรูปสัญญะที่ว่างเปล่าในระบบความหมายชุดที่2 (มายาคติ) เพื่อสื่อความหมายอีกอย่างได้ ระบบการสร้างความหมายชุดที่2 นี่เอง คือรูปสัญญะที่ล่องลอยซึ่งทำให้สรรพสิ่งไม่สามารถมีความหมายที่สมบูรณ์ยุติเด็ดขาด ดังนั้นสัญญะสามารถจะทำให้หมดความหมายหรือว่างเปล่า และกลายมาเป็นรูปสัญญะในอีกระบบเพื่อรอคอยการผสมกับความหมายสัญญะชุดใหม่ Barthes ได้นำเสนอวิธีการอ่านมายาคติ3 แบบ(อ้างจากไชยรัตน์,2545) ที่ผู้ศึกษาจะนำมาประยุกต์ใช้กับการวิเคราะห์ความเป็นรูปสัญญะที่ล่องลอย คือ
1.การอ่านในระดับของรูปสัญญะที่ความหมายถูกทำให้ว่างเปล่า(Empty Signifier) ด้วยการปลดปล่อยความหมายให้เป็นไปตามตัวอักษร เหมือนกับการอ่านในระดับแรกของการวิเคราะห์รูปสัญญะที่ล่องลอย ที่คนในสังคมยอมรับและเอารูปสัญญะที่มีคุณค่าชุดหนึ่งอยู่ แต่เปล่ากลวงความหมายมาใช้
2.การอ่านในระดับของรูปสัญญะที่มีความหมายสมบูรณ์(Full Signifier) ซึ่งเป็นการอ่านเพื่อดูความบิดเบือนระหว่างรูปสัญญะกับความหมายสัญญะ โดยในการวิเคราะห์ความเป็นรูปสัญญะที่ล่องลอย จะดูที่การหยิบฉวย แย่งชิงและใส่ความหมายเข้าไปให้รูปสัญญะของคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งอาจเหมือนกัน แตกต่างกัน สมดุลกลมกลืนหรือขัดแย้งกันก็ได้
3.การอ่านในระดับรูปสัญญะกลายเป็นมายาคติ โดยไม่แยกรูปสัญญะกับความหมายสัญญะออกจากกัน เพื่อหาระบบการสร้างความหมายเช่นเดียวกับการวิเคราะห์ความเป็นรูปสัญญะที่ล่องลอย เพื่อค้นหากระบวนการสร้างความหมายสร้างคุณค่า และเปิดเผยให้เห็นอุดมการณ์บางอย่างที่อยู่เบื้องหลัง
ดังนั้นการวิเคราะห์ตัวบทโดยวิธีการอ่านมายาคติของบาร์ธ จึงมีความสำคัญยิ่งในการศึกษาทางมานุษยวิทยา โดยเฉพาะนักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาแนวหลังโครงสร้งนิยมที่ได้หันมาให้ความสนใจกับการศึกษาวาทกรรม ที่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความรู้ ความจริงและอำนาจที่เราเชื่อว่าบริสุทธิ์และยอมรับในสังคม ดังที่ Jacques Lacan ได้กล่าวว่า “...social bonds are founded by Discourse” ( อ้างจากDescombes ,หน้า101) นั่นก็คือ การผูกพันทางสังคม ถูกสถาปนาขึ้นมาด้วยวาทกรรม หากเราจะมองว่ากฎเกณฑ์รูปแบบของภาษาที่เราใช้ร่วมกันอย่างสมดุลย์ราบเรียบ เป็นสิ่งที่ถูกกดทับ ปิดกั้น ความขัดแย้งรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นวาทกรรมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทำให้เราต้องหันกลับมาตั้งคำถามทบทวนกับประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยความจริงความรู้  และทำให้สิ่งต่างๆเหล่านี้กลายเป็นธรรมชาติ ความชอบธรรมซึ่งก็คือมายาคติแบบหนึ่ง ที่มีเรื่องของปฎิบัติการทางวาทกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  ดังนั้นหากพูดในความหมายของฟูโกต์ วาทกรรมก็คือสนามแห่งการต่อสู้ช่วงชิงที่เป็นกฎเกณฑ์ หรือตัวกำหนดความจริง ความรู้ และสิ่งที่เราพูด (Statement)ซึ่งตัวฟูโกต์ นั้นก็ได้ให้ความสำคัญกับภาษาเป็นอย่างมาก เพราะ”วาทกรรมทำให้ระบบการพูดหรือการเขียนในสังคมเป็นไปได้” (Foucault,1970;79-80) เนื่องจากวาทกรรมคือตัวกำหนดกฎเกณฑ์ ในการพูดการเขียนไม่แตกต่างจาก Langue/Code ในความหมายของโซซูร์และบาร์ธ  สิ่งที่น่าสนใจก็คือ วาทกรรมเป็นมากกว่าเรื่องภาษา/คำพูด เพราะมันมีสิ่งที่เรียกว่าภาคปฎิบัติการของวาทกรรม(Discursive Practices) ซึ่งเป็นเรื่องของความคิด ความเชื่อ จารีต และสถาบันต่างๆในสังคมที่ผลิตซ้ำและส่งผ่านวาทกรรมเหล่านั้น แม้ว่าวาทกรรมในตัวมันเองนั้นสามารถที่จะสร้างสรรพสิ่งต่างๆขึ้นมาได้แต่ก็อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ชุดหนึ่งที่กำหนดการดำรงอยู่การเปลี่ยนแปลง การสูญหาย เลือนหาย การปรากฏของสรรพสิ่งต่างๆ  วาทกรรมจึงเป็นเรื่องของความแตกต่างหลากหลาย ความเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน ไม่สัมพันธ์กันแต่ต้องมาอยู่ร่วมกัน(Foucault,1978;100) วาทกรรมจึงทำหน้าที่เก็บกด ปิดกั้น และเปิดเผยบางอย่างไปพร้อมกัน  และเป็นสิ่งที่สลายความเป็นองค์ประธานและผู้กระทำของมนุษย์ให้กลายเป็นผู้ถูกกระทำไปพร้อมกันด้วย  การศึกษาวิเคราะห์วาทกรรมจึงมีความสำคัญในการศึกษาเรื่องอำนาจ ความรู้ ความจริงที่พวกเรายึดถืออย่างสนิทใจในสังคมปัจจุบัน อย่างน้อยวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ฟูโกต์ เรียกว่าGenealogy เป็นการศึกษาที่ไม่ได้วางอยู่บนเงื่อนไขของลำดับเวลา แต่ค้นหารอยแยกความแตกต่างหลากหลายเพื่อกลับไปหาจุดเริ่มต้นในอดีตและทำความเข้าใจวาทกรรมแห่งยุคสมัย “เพื่อปลดปล่อยความรู้ทางประวัติศาสตร์จากการจองจำของความเป็นองค์ประธานเพื่อที่จะจัดวางพวกเขา”  ที่สำคัญก็คือ การสะท้อนให้เห็นถึงภาคปฎิบัติการของวาทกรรมและเทคนิคของการสร้างตัวตน(Technologies of the self) ที่เกิดจากอำนาจในการสร้างความจริงความรู้ของวาทกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมหรือแม้แต่ร่างกายของมนุษย์เองก็ตาม วาทกรรมจึงเป็นสิ่งที่ถูกแย่งชิงเพื่อครอบครอง และให้ความหมาย เพื่อสร้างอำนาจ ความรู้ ความจริงและอัตลักษณ์ในสังคม
สำหรับเรื่องของรูปสัญญะที่ล่องลอยนั้น ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในนักทฤษฎีหลายๆสาขาวิชา ซึ่งมีนัยที่แตกต่างจาก Saussure  ซึ่งเน้น.ในเรื่องของความหมายสัญญะ ว่าเป็นตัวกำหนดรูปสัญญะในฐานะที่รูปสัญญะหนึ่งตัวต่อความหมายหนึ่ง  นักทฤษฎีหลังโคงสร้างนิยมอย่างลากอง เห็นว่าความหมายสัญญะหนึ่งอาจมีหลายรูปสัญญะ ที่สื่อถึงความคิดเดียวกัน ทำให้มองว่าความหมายเป็นเรื่องที่ไม่หยุดนิ่งตายตัวและไม่มีความสมบูรณ์เด็ดขาด ซึ่งไม่แตกต่างจากรูปสัญญะที่ล่องลอยของเลวี่ สเตร้าท์ หรือ Derrida ก็มองว่ารูปสัญญะและความหมายสัญญะที่เป็นอิสระต่อกัน รูปสัญญะหลายตัวสามารถสื่อความหมาย/ความคิดถึงสิ่งเดียวกันได้ หรือรูปสัญญะตัวหนึ่งสามารถสื่อความหมายความคิดที่หลากหลายได้ นั่นคือลักษณะที่เรียกว่าการพลิ้วไหวของสัญญะ(Play of Signifier) มีนัยไม่แตกต่างจากรูปสัญญะที่ล่องลอย  ที่มีการสร้างและสื่อความหมายที่ไม่รู้จบ อย่างที่Barthes เรียกว่าSignifiance หรือการประยุกต์ใช้ของ Jeans Baudrillard   ซึ่งสนใจศึกษาสัญญะในทางเศรษฐศาสตร์ และได้นำเสนอความคิดเกี่ยวกับSimulation ที่มองโลกปัจจุบันว่า วัตถุสิ่งของสินค้า ไม่ได้สร้างความหมายให้เกิดขึ้นอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ใช้สอย(Use-Value) หรือคุณค่าในการแลกเปลี่ยน(Exchange value) ซึ่งสรรพสิ่งต่างได้หลุดลอยออกไปจากฐานะที่เป็นจริงหรือแหล่งอ้างอิงได้ สู่การเป็นสัญญะตัวหนึ่งที่ล่องลอย เพื่อรอผสมแลกเปลี่ยนกับสัญญะตัวอื่นๆและสร้างความหมายใหม่ขึ้นมา ซึ่งการผสมแลกเปลี่ยนก็สัมพันธ์กับการเลือกใช้รหัสกฎเกณฑ์ชุดหนึ่ง เช่นอัตรแลกเปลี่ยนเงินตรา โบดิยาร์ด ได้วิเคราะห์ระบบสัญญะในสังคมปัจจุบันประกอบด้วยแหล่งอ้างอิง(Referent) รูปสัญญะ(Signifier) และความหมายสัญญะ(Signified) โดยที่สังคมสมัยใหม่ระบบสัญญะได้พัฒนาไปในระดับที่รูปสัญญะและความหมายสัญญะสามารถจะสร้างสรรค์ตัวเองได้อย่างเป็นอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องมีของจริงมารองรับ นี่คือประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การล่องลอยของสัญญะและการเปล่ากลวงทางความหมายของสัญญะที่เสมือนกับสำเนาของเอกสารที่ถ่ายติดต่อกันเรื่อยๆจนเบลอและเลือนลางจากของจริงไม่สามารถหาต้นตอได้
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เรื่องของการศึกษาภาษาและวาทกรรมในฐานะที่เป็นระบบ/กฎเกณฑ์เป็นรหัสและสัญญะแบบหนึ่ง ที่ทำให้บทสนทนาหรือการสื่อสารในสังคมดำรงอยู่ได้ ในแง่หนึ่งนอกจากจะเป็นการทำความเข้าใจกระบวนการสร้างและสื่อความหมายแล้วยังเปิดเผยให้เราเห็นถึงมายาคติและวาทกรรมที่ครอบงำและยอมรับอยู่ในสังคม โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบัน ที่รูปสัญญะและความหมายสัญญะไม่สื่อความต่อกันมากขึ้น รูปสัญญะจึงกลายสภาพเป็นสัญญะที่ว่างเปล่าและเป็นเสมือนพื้นที่แห่งอำนาจ ที่แต่ละฝ่ายพยามจะเข้ามาช่วงชิง ฉกฉวยหรืออธิบายใส่ความหมายให้กับความเปล่ากลวงนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนา เรื่องสิ่งแวดล้อม หรือการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นหัวข้อที่ผู้ศึกษาสนใจ สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ แม้ว่ารูปสัญญะที่ล่องลอยจะเปล่ากลวงจากความหมายแต่ไม่เปล่ากลวงทางคุณค่า เพราะการที่คนกลุ่มต่างๆยอมรับและนำมาใช้โดยไม่ตั้งคำถามกับมัน ก็ย่อมแสดงว่ามันมีคุณค่าในตัวของมันระดับหนึ่ง แต่ในฐานะที่ผู้ศึกษาเป็นนักมานุษยวิทยา ก็พยามที่จะทำความเข้าใจกระบวนการสร้างคุณค่า การใส่ความหมายให้กับมัน  รวมถึงมองมันเป็นสนามปฎิบัติการหนึ่งของกระบวนการทางอำนาจ เพื่อแย่งชิงความหมายและสร้างวาทกรรมให้คนในสังคมยอมรับ โดยเฉพาะประเด็นของการแย่งชิงทรัพยากรใต้พื้นดินอีสาน โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ที่วาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Developmen) กำลังเป็นประเด็นสำคัญที่หลายกลุ่มได้นำไปใช้ในการอ้างสิทธิและความชอบธรรมในเรื่องของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งต่อไปผู้ศึกษาก็จะได้กล่าวถึงกระบวนการสร้างมโนทัศน์และคุณค่าที่ทำให้คำๆนี้ได้รับการยอมรับและพูดถึงอย่างแพร่หลายในกระแสของการพัฒนาของโลกในปัจจุบัน รวมทั้งการการช่วงชิงความหมายของคนกลุ่มต่างๆที่อยู่ในสนามปฎิบัติการนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...