วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทของสังคมไทย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

การพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทของสังคมไทย

                เมื่อประเทศไทย เป็นสนามที่โลดแล่นของวาทกรรมการพัฒนามาตั้งแต่ช่วงเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่1 (..2504-2509) ที่มีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเข้าสู่ระบบทุนนิยมเต็มรูปแบบ มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล ซึ่งทำให้เกิดสภาวะความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมถูกทำลายอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าประเทศไทยก็มิอาจหลีกเลี่ยงจากสภาวะวิกฤตที่ประเทศต่างๆทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของการพัฒนา ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นตามมากับปัญหาสิ่งแวดล้อมคือ ปัญหาสังคมและวัฒนธรรมที่ถูกละเลยเนื่องมาจากการเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว จนกระทั่งปี2530 ที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์วัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือUNESCO ได้ประกาศให้เป็นทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาทางวัฒนธรรม(ตั้งแต่พ..2531-2540)และในปีเดียวกันนี้ประเทศไทยก็ประกาศเป็นปีแห่งการพัฒนาว่าด้วยวัฒนธรรมของประเทศไทยด้วย จะเห็นได้ว่าแนวคิดของการพัฒนาได้เริ่มมองมิติอื่นๆที่นอกเหนือจากมิติเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันเกิดจากกระแสความคิดของตะวันตก ที่หันมาตั้งคำถามกับการพัฒนาควบคู่ไปกับการคำนึงถึงเรื่อง จริยธรรม(Ethic)หรือจิตใจ  ซึ่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตซ้ำวาทกรรมการพัฒนามายาวนานก็ไม่ปฎิเสธที่จะนำระบบความคิดและคุณค่าดังกล่าวเข้ามาปรับใช้ในสังคมไทยซึ่งมีพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมมาตั้งแต่อดีต  แน่นอนว่าจริยธรรมในแบบตะวันออกกับตะวันตกย่อมมีความแตกต่างกันในการอธิบายและตีความ ไม่แตกต่างจากการนำคำศัพท์ในภาษาอังกฤษ มาอธิบายความ หรือแปลความหมายในภาษาไทย แม้คำไทยที่พยายามจะสร้างรูปสัญญะและความหมายให้เหมือนกับคำภาษาต่างประเทศที่เป็นรากเหง้าดั้งเดิมเพียงใด ก็ไม่อาจทำได้สมบูรณ์ เพราะระบบคุณค่าและความหมายที่ใส่เข้าไปในคำๆนั้นย่อมมีตรรกะหรือกฎเกณฑ์/ระบบภาษาชุดหนึ่งที่แตกต่างและมีบริบทที่เฉพาะแบบหนึ่ง
            ในบริบทของประเทศไทย การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ถูกนำเข้ามาโดยนักวิชาการ[1] นักคิดนักปรัชญาและนักพัฒนา ในช่วงเวลาที่ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ และแนวทางกาพัฒนาได้กลายเป็นเป้าหมายและยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน ในช่วงแรกเริ่มอาจกล่าวได้ว่าผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันคำนี้ให้เป็นที่รู้จักยอมรับอย่างแพร่หลายก็คือ น..ประเวศ วะสี[2]  .ศิวรักษ์[3]และท่านเจ้าพระคุณพระธรรมปิฎก โดยเฉพาะท่านเจ้าพระคุณพระธรรมปิฏก ที่ได้พยายามนำเสนอแนวคิดแบบตะวันตกในทรรศนะของพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการนำเอาแนวความิดแบบตะวันตกมาประยุกต์ใช้ให้มีความสอดคล้องกับสภาพของสังคมไทย อย่างเช่นในปี2531 ที่องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้เป็นปีทศวรรษเพื่อการพัฒนาทางวัฒนธรรมของโลก พระธรรมปิฎกได้แสดงปาฎกถา ในหัวข้อวัฒนธรรมกับการพัฒนา ที่ได้กล่าวถึงการแสวงหาทางเลือกแนวทางการพัฒนาแบบใหม่ๆที่เน้นเรื่องของระบบคุณค่า ความงามและจริยธรรมในทางพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา  ดังจะเห็นได้จากงานของท่านในช่วงปี 2532-2536 ที่ท่านได้พยามทำให้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งแนวทางในการพัฒนาประเทศ ที่จะทำให้การพัฒนาสอดคล้องสมดุลย์ ระหว่างตัวเองกับผู้อื่น ธรรมชาติระบบนิเวศน์ และเทคโนโลยีเพื่อความอยู่ดีกินดีของมนุษย์(พระธรรมปิฎก;2532;2533) หรือในช่วงปี2536 ที่มีการประชุมว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาEarth Summit ที่ริโอเดอเจเนโร ประเทศบราซิล ท่านเจ้าพระคุณพระธรรมปิฎก ได้รับคำอารธนาเชิญของหมอประเวศ วะสี ซึ่งได้ตั้งหัวข้อและกำหนดการสัมมนาเรื่อง พระพุทธศาสนากับการพัฒนาที่ยั่งยืน”   โดยในตอนต้นของหนังสือเล่มนี้ นพ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ปาฎกถานี้ว่า
            เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในโลกตะวันตก แต่ยังดูเหมือนยังไม่เข้าใจชัดเจนว่าว่าจะทำอย่างไรกันแน่ โดยที่ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก เป็นนักปราชญ์ทางเอกพุทธศาสนา ที่รู้เท่าทันภูมิปัญญาตะวันตก มีความละเอียดประณีตทางปัญญา จึงเป็นคุณูปการแก่โลกที่ท่านได้ค้นคว้าเรียบเรียงเรื่องนี้ขึ้นมา อาจเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในแนวพุทธก็ได้”(ประเวศ วะสี ;คำนำหน้า6)
ต่อมาในปี2538 ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ การพัฒนาที่ยั่งยืนที่รวบรวมจากปาฎกถาเรื่องนิเวศวิทยาตามหลักพระพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่วันที่ 14 มกราคม 2536 ถือได้ว่าเป็นงานชิ้นสำคัญของท่าน และได้แสดงให้เห็นความตระหนักในทิศทางของการพัฒนาประเทศและโลกในอนาคต โดยชี้ให้เห็นความเป็นมาของแนวคิดการพัฒนายั่งยืน อันเกิดจากวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม การเพิ่มของประชากร และขีดจำกัดในการรองรับและปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อม ที่มีผลต่อเรื่องความยากจนและสภาพบรรยากาศของโลกทั้งหมดทั้งสิ้นล้วนแต่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้น   ซึ่งเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ได้กล่าวถึงความเป็นมาของแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ว่าเกิดมาจากรายงานของบรันท์แลด์ชื่อOur Common Future ที่ใช้ในการประชุมว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ที่ประเทศบราซิลและให้นิยามความหมายตามรายงานฉบับนี้ที่เป็นเรื่องของการประนีประนอมการใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมระหว่างรุ่น และท่านได้ให้ความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนในทัศนะของท่านว่าหมายถึง การพัฒนาที่เป็นบูรณาการ(Integrated) คือต้องทำให้เกิดเป็นองค์รวม(Holistic) ที่องค์ประกอบต่างๆมีความเกี่ยวข้องประสานกันและทำให้เกิดดุลยภาพ(Balance)เช่นการบูรณาการทางธรรมชาติแวดล้อมกับเศรษฐกิจ โดยท่านมองว่ามูลเหตุแห่งปัญหาที่ต้องแก้ก็คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ต้องนำมาใช้ให้สอดคล้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและนำเรื่องของจริยธรรม ความเป็นมนุษย์ มาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาด้วย นอกจากนี้ซึ่งผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งให้คำหล่านี้เข้ามาสร้างคุณค่าให้กับกระแสการพัฒนาแบบยั่งยืน ก็คือนักวิชาการอย่าง อ.เสน่ห์ จามริก ซึ่งจะเห็นว่าวาทะในงานของท่านหลายชิ้นได้ถูกอ้างอิงอย่างแพร่หลายในการศึกษาวิจัยเช่น องค์รวม บูรณาการ ภูมิปัญญา จริยธรรม ความเข้มแข็งทางปัญญา ได้กลายมาเป็นสูตรสำเร็จของการอ้างอิง แม้ว่านายแพทย์ประเวศ วะสี จะบอกว่า  แนวคิดของท่านเป็นเครื่องมือในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไม่ใช่เครื่องมือในวิเคราะห์สำหรับงานประเภทค้นคว้าวิจัยเนื่องจากถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนองเป้าหลายที่แตกต่างกัน(อ้างจากปริตตา,2548) แต่คำเหล่านี้ก็ได้กลายสภาพเป็นสัญญะที่ล่องลอยและถูกใช้ในความหมายที่หลากหลาย เป็นทั้งกรอบคิดในการวิจัยศึกษาและเป็นยุทธศาสตร์ในการต่อสู้เคลื่อนไหวที่นักวิชาการนักพัฒนาองค์กรภาคประชาชนได้นำไปใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ แนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ผลิตจากตะวันตกและส่งผ่านเข้ามาในเมืองไทย จะต้องถูกผนวก เพิ่มเติมคุณค่าชุดหนึ่งหรือลงพุทธคุณ เพื่อให้ผสานสอดคล้องกับหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ที่มีสถานะไม่แตกต่างจากวิทยาศาสตร์ในเชิงกระบวนการคิดการตั้งสมมติฐาน การทดลอง เช่นเดียวกับการค้นหาเหตุแห่งปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหา หรือเหนือกว่าวิทยาศาสตร์ในเรื่องของจิตวิญญาณ จิตใจ คุณธรรม และจริยธรรม ซึ่งได้ช่วยให้ความคิดดังกล่าวมีความเหมือนหรือแตกต่างจากแบบตะวันตก และมีคุณค่าชุดหนึ่งที่คนในสังคมให้การยอมรับ
            สิ่งที่น่าวิเคราะห์ต่ออีกอย่างหนึ่งก็คือแนวทางของการพัฒนาที่เป็นคู่ขัดแย้งกับกระแสการพัฒนาหลัก ไม่ว่าจะเป็นแนวเศรษฐศาสตร์การเมืองหรือวัฒนธรรมชุมชน  ได้ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการพัฒนาที่สุดขั้วเกินไปและสอดคล้องกับสภาพสังคมวัฒนธรรมปัจจุบันหรือไม่ ในเมื่อเศรษฐศาสตร์การเมืองก็มองปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเมืองเป็นหลักในการวิเคาะห์เปลี่ยนแปลง  ส่วนวัฒนธรรมชุมชน ก็ยึดมั่นในเรื่องของความดีงามทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวบ้าน ฮีต12คอง14และประเพณีเพื่อการพึ่งตนเองและต้านทานกับกระแสทุนนิยมและโลกาภิวัฒน์ที่รุกเร้าเข้ามา ซึ่งค่อยๆเลือนหายและเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตภายใต้การพัฒนา ทำให้แนวทางของพระพุทธศาสนา จึงเป็นสิ่งที่เสมือนมัชฌิมาปฎิปทาหรือทางสายกลางในการแก้ปัญหา และด้วยลักษณะความเป็นวิทยาศาสตร์(ดูได้จากแนวคิดท่านพระพุทธทาส พระธรรมปิฎ;2532)ทำให้สามารประยุกต์ใช้กับแนวคิดของตะวันตกที่อยู่บนฐานความคิดแบบวิทยาศาสตร์ มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับพื้นฐานของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์แบบพุทธ เกษตรกรรมแบบพุทธ พุทธเกษตร  ที่สามารถเชื่อมโยงและมองเหตุแห่งปัญหาอย่างเชื่อมโยงเป็นมรรคผลเช่นเดียวกับความคิดเรื่ององค์รวม(Holism)และบูรณาการ(integration)ของตะวันตก
            ในแวดวงวิชาการ ภาครัฐและนักพัฒนานักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม  แนวความคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญในการเสวนาและเป็นยุทธศาสตร์ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศและการสร้างสถาบันต่างๆที่รองรับกับวาทกรรมดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสำนักนโยบายและแผน การตั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี2545 การออกพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในปี2535 การตั้งคณะทำงานวาระภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือแม้แต่การบรรจุแนวคิดดังกล่าวเข้าไว้ในรัฐธรรมนูญ[4]และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ[5] การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงกลายเป็นเป้าหมายหลักการสำคัญในการวางแผนการพัฒนาให้สอดคล้อง ซึ่งเราจะเห็นได้จากการพยามให้ความหมายของการพัฒนายั่งยืนในองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคณะทำงานวาระประชาชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  นักการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ และนักพัฒนา ได้พยายามหาข้อยุติทางด้านนิยามความหมายเพื่อให้เกิดผลอย่างชัดเจนและนำไปสู่การ ปฎิบัติ โดยได้ให้นิยามต่างๆดังนี้
            การพัฒนาอย่างยั่งยืนในบริบทไทยเป็นการพัฒนาที่ต้องคำนึงถึงความเป็นองค์รวมของทุกๆด้าน อย่างสมดุลบนพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของไทย ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม ด้วยความเอืออาทร เคารพซึ่งกันและกัน เพื่อความสามารถในการพึ่งตนเองและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียม”(คณะทำงานวาระประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอ้างจากสุริชัย,2546)
            “...ความหลากหลายและความเชื่อมโยงสัมพันธ์ทั้งหมดทำให้เกิดความสมดุลย์หรือความยั่งยืน นี่คือธรรมชาติและกฎของธรรมชาติ การเข้าธรรมชาติและปฎิบัติธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเป็นปกติ หรือสมดุลหรือยั่งยืนหรือศานติ”(หมอประเวศ วะสี ,2536)
            “คำว่าพอเพียงหมายถึงความสมดุลภายในตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจซึ่งคือจุดรวมของความพอดี ส่วนคำว่ายั่งยืนกำหนดได้ด้วยใจ..”(ระพี สาคริก,2545)
            “การบริหารจัดการ ที่คำนึงด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน” (ประพัฒน์ ปัญญญาชาติรักษ์,2546)
            “ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่สมบัติของคนรุ่นเราเท่านั้น แต่ยังคงเป็นสมบัติที่จะตกทอดถึงคนรุ่นหลังด้วย ดังนั้นอนาคตของประเทศไทย จึงขึ้นอยู่กับกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาดของคนรุ่นเรา”(นายกฯทักษิณ ชินวัตร)
            “หลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืนคือ การพัฒนาที่คึงถึงขีดจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ คำนึงถึงความเป็นองค์รวม ใช้เทคโนโลยีที่สร้างสรรค์”(สำนักงานคณะกรรมการพัฒน์ฯ,2547)
            “ ยั่งยืนคือมั่น คือยืนยาว เกษตรยั่งยืนคือจังเฮาเฮ็ดนากิน”(แม่สา ดวงปาโคตรอายุ74 ปีชาวบ้านโนนสมบูรณ์,2548)         
ดังนั้นเราจะเห็นว่า  คำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทของสังคมไทย ได้ถูกนำมาใช้หลากหลายความหมาย ภายใต้การให้คุณค่าชุดหนึ่งที่มีร่วมกัน เพราะรากเหง้าความหมายของคำว่ายั่งยืน ซึ่งเป็นคำไทยมีนัยในทางบวก หมายถึงความมั่นคง ยืนยง[6] ที่เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ปรารถนาและยอมรับ และสามารถนำคำๆนี้มาใช้ร่วมกับคำอื่นๆได้ เช่น ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน การจัดการที่ยั่งยืน การพัฒนาที่ยั่งยืน ธรรมาภิบาลที่ยั่งยืน หรือแม้แต่ในขบวนการเคลื่อนไหวของเกษตรกรรมที่ยั่งยืนที่ถูกกล่าวถึงกันอย่างแพร่หลาย ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรองค์กรพัฒนาเอกชน หรือภาคประชาชนที่ได้เปิดพื้นที่ของเกษตรกรรมรูปแบบต่างๆ เช่นวนเกษตร เกษตรพอเพียง เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เกษตรกรรมธรรมชาติ พุทธเกษตร ที่เป็นเสมือนแนวทางอันนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต เป็นต้น[7] คำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทไทยจึงมีสภาพไม่ต่างจากรูปสัญญะที่ล่องลอย เปล่ากลวงทางความหมาย เนื่องจากมีความหมายที่กระจัดกระจาย ไม่สามารถที่จะหาความหมายที่ยุติเด็ดขาดได้ แต่มันก็สะท้อนถึงคุณค่าและความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวงศาคณาญาติทางความหมายที่มาเกาะเกี่ยวสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็น ภูมิปัญญา[8]  องค์รวม บูรณาการ สันติ  สมดุลย์ พอเพียง ยั่งยืนยาวนาน คงทนถาวร ความเอื้ออาทร การมีส่วนร่วม[9] ความเคารพ ความหลากหลาย[10] การพึ่งตนเองและอื่นๆ คำต่างๆเหล่านี้ ล้วนมีรากเหง้า มาจากฐานคิดในเรื่องพระพุทธศาสนา ที่เป็นเรื่องของธรรมชาติ จิตวิญญาณ คุณธรรมและจริยธรรม  ความเป็นไทยที่ต้านทานกับกระแสะวันตกและดูเหมือนจะสามารถปรับตัวให้สอดคล้องสมดุลย์กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันด้วย อันมีมูลเหตุมาจากการสูญเสียจิตวิญญาณ คุณธรรม จริยธรรม ความสงบสุขมั่นคง ภูมิปัญญาและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมองและแก้ปัญหาแบบแยกส่วน การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงรวมคุณค่าความหมายต่างๆที่ดีงามเข้ามาไว้ในในตัวของมันทั้งความหมายที่มีนัยของรากเหง้าจากตะวันตก เช่น การพัฒนา การบริหารจัดการ บูรณาการ องค์รวม และความหมายที่ถูกต่อติมผ่านระบบคิดโลกทัศน์แบบตะวันออก เช่น ภูมิปัญญา มั่นคงถาวร พอเพียง พึ่งตนเอง เป็นต้น ซึ่งในปัจุบันการพัฒนาที่ยั่งยืนได้กลายเป็นสิ่งที่นักพัฒนา นักสิ่งแวดล้อม นักการเมือง นักธุรกิจ  นักวิศวกร สื่อมวลชน ข้าราชการ และคนกลุ่มอื่นๆ เข้ามาใช้พื้นที่ในสนามแห่งนี้ร่วมกัน  ดูเหมือนคำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนจะสามารถผสมผสานกลมกลืน สิ่งที่แตกต่างขัดแย้งกัน เข้ากันไม่ได้ให้หันหน้าเข้าหากัน ภายใต้ยุทธศาสตร์เป้าหมายร่วมกันแม้ผลประโยชน์เบื้องหลังจะแตกต่างกันอย่างมากมายเพียงใดก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของนักเรียนทางมานุษยวิทยา ที่จะต้องศึกษาองค์ความรู้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงกลไกลทางอำนาจในการสร้างคุณค่า ให้ความหมายที่กลุ่มต่างๆเข้ามาใช้สนามหรือพื้นที่ของวาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบัน ซึ่งสุดท้ายแล้วเราอาจจะพบว่ามันก็ไม่แตกต่างจากมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นและมีความเปล่ากลวงในตัวของมันเอง เพียงแต่ว่ามันสามารถที่จะถูกสถาปนาและสร้างอำนาจความชอบธรรมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่คนทั่วไปยอมรับและไม่ปฎิเสธการพัฒนาดังกล่าว โดยมีสถาบันต่างๆมารองรับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยและพัฒนา  เป็นต้น ที่ทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืนได้กลายเป็นสนามปฏิบัติการทางอำนาจที่มีคนกลุ่มต่างๆเข้าไปใช้อย่างแพร่หลาย



[1] โดยเฉพาะนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมโดย ที่มีการจัดสัมนาวิชาการของคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อการพัฒนาอย่างยั่งยืน(Sustainable Development) ทางเลือกใหม่ในการแก้ปัญหาในปี2534ซึ่งน่าจะเป็นการประชุมเรื่องแรกเกี่ยวกับแนวคิดนี้  ที่ได้พยายามระดมแนวคิดจากนักวิชาการนักพัฒนาในการแสวงหาทางเลือกในการพัฒนา แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก ดูได้จากเอกสารการประชุม วันที่14-15 กุมภาพันธ์ 2534
[2] นับว่าท่านมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการนำเสนอยุทธศาสตร์ในการพัฒนาของชาติให้สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นภูมิปัญญของชาติเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชาติ(ดูตัวอย่างการสรุปงานบางชิ้นของนพ.ประเวศ วะสีในงานของอ.ปริตตา, 2548)
[3] ผู้มีบทบาทสำคัญอีกท่านหนึ่งในการสำรวจองค์ความรู้ของสังคมไทยที่จะต้านทาน ปรับตัวให้สอดคลองกับแนวคิดตะวันตกหรือกระแสโลกในปัจจุบันโดยแสวงหาภูมิปัญญาไทย ท่านได้จัดตั้งวาสารปาจารยสารและสถาบันสันติประชาธรรม(ดูรายละเอียดของการเสวนาของสถาบันปรีดี พนมยงค์ เรื่ององค์ความรู้กับสังคมไทย,2529)
[4] รัฐธรรมานูญแห่งราชอาณาจักรไทย2540 มาตร79 ระบุว่า รัฐจะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวนบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลรวมทั้งมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนควบคุมและจำกัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัยสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงมาตราที่46 ที่ชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟูจาฃีต ประเพณี ภูมิปัญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและชาติและมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและสมดุล
[5] ตัวอย่างเช่นแผนพัฒนาฯฉบับที่9 การพัฒนาที่พอเพียง กำหนดว่าวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศที่กำหนดให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและสังคมที่เข้มแข็งมีคุณภาพ แก้ปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตโดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องนำการพัฒนา
[6] ในอักขรภิธานศัพท์ ของหมอบรัดเลย์ พ..2416 กล่าวว่า ความยั่งยืน หมายถึง มั่นคง คือแน่นอน เหมือนว่าวคุลาที่เขาชักคว้ากับอีป้าว อีป้าวมันแทงทะลุก็ไม่ตกนั้นว่า ยั่งยืน อย่างหนึ่งคนไม่พูดมุสา ไม่พุดเท็จ ไม่พูดโกหก พูดได้ความจริงถึงจะซักถามก็ไม่พูดกลับถ้อยคำว่า เขาพูดจายั่งยืน
[7] หาอ่านได้จากอนุสรณ์ อุณโณ(2545) เรื่องขบวนการเกษตรกรรมยั่งยืนในสังคมไทยและการเมืองของานเขียนเกษตรกรรมยั่งยืนซึ่งศึกษาขบวนการเคลื่อนไหววาทกรรมเกษตรกรรมยั่งยืน ที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนคุณค่าและวิธีการจัดการทรัพยากร โดยศึกษาผ่านงานเขียนด้านเกษตรกรรมที่ยั่งยืนทั้งของภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน
[8] ดูตัวอย่างการประยุกต์ใช้แนวคิดในเรื่องนี้จากภูมิปัญญาชาวบ้านกับการพัฒนาที่ยั่งยืนโดย นพ.ประเวศ  วะ สี,2536
[9] ดูตัวอย่างการประยุกต์ใช้แนวคิดการมีส่วนร่วมกับประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ของสถาบันพระปกเกล้า,2544
[10] ความหลากหลายทางชีวภาพก็จัดเป็นเครือญาติของการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้อนุสัญญาที่ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ทำให้มนุษย์หันกลับมาตระหนักเรื่องความหลากหลาย การเลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยวและมาปลูกพืชที่หลากหลายซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของคนท้องถิ่นเรื่องการเพาะปูลก เรื่องป่าและสมุนไพร ที่อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาและเรื่องของสิทธิบัตร(ดูได้จากงานของอ.ยศ สันสมบัติ,2542 สุรชัย หวั่นแก้ว,2545)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...