วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สัญญะ สัญวิทยา และสัญศาสตร์





การศึกษาเกี่ยวกับสัญญะ เป็นสิ่งที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องของภาษาและความคิด ภายใต้ข้อถกเถียงกันว่า เราเรียนรู้ภาษาก่อนที่เราจะพัฒนาความคิด ที่แสดงให้เห็นความสำคัญว่า ภาษากำหนดความคิดในหนทางของเราเกี่ยวกับโลกที่เป็นเหมือนโครงสร้าง หรือความคิดของเราเองต่างหากที่กำหนดโลกและสร้างสัญลักษณ์ทางภาษาขึ้นมา อันนำไปสู่การตั้งคำถามทางปรัชญาเกี่ยวกับเรื่องความคิดของมนุษย์ที่เป็นคุณสมบัติที่ติดตัวมาแต่กำเนิด  ที่เป็นคุณสมบัติธรรมชาติของการเรียนรู้ของเราที่พึ่งพาอยู่บนประสบการณ์ อันมีรากฐานมาจากแนวความคิดของเพลโต(Plato)เรื่องรูปแบบทางความคิด(Ideal Forms) ที่เรารับรู้ก่อนประสบการณ์อื่นๆมากมาย ของวัตถุที่แท้จริงของธรรมชาติมนุษย์ เช่นเดียวกับความรู้แรกเริ่มที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด ในอีกแนวทางอริสโตเติล(Aristotle) บอกว่า ความรู้แห่งโลก (Knowledge of World) เป็นสิ่งที่ได้รับจากภาพประทับ ที่เราได้รับมาจากความรู้สึกความเข้าใจของเรา ซึ่งแตกต่างจากเรื่องความคิดที่ติดตัวมาแต่กำเนิดที่อ้างอิงกับการมีอยู่ของความรู้ที่แน่นอนในตัวของมนุษย์ ที่เป็นคนละด้านกับ อริสโตเติล อธิบายเกี่ยวกับความคิดของเด็กเกิดใหม่ที่เรียกว่า Tabula Rasaในภาษาละติน ที่เหมือนกับคำว่า Blank Tablet ( อ้างจากChapman:2000 ) เหมือนแผ่นกระดานที่ว่างเปล่า หรือกระดาษที่สะอาด  เด็กเกิดขึ้นมาพร้อมกับการปราศจากความรู้ อันนำไปสู่แนวทางการศึกษาที่แตกต่างของพวกเหตุผลนิยม(Rationalist) เช่นความคิดของไลป์นิซ(Leibniz) ที่มองว่าข้อมูลจากความรู้สึกเข้าใจของเรา ไม่เพียงพอในการให้ความรู้เกี่ยวกับโลก ที่ต่อมาค้านท์(Kant) ได้อ้างว่า ประเภทชนิดที่แน่นอนของความรู้เริ่มแรก ที่พวกเขาได้รับ ค่อนข้างจะมีมาก่อนประสบการณ์  ในขณะที่อริสโตเติลค่อนข้างจะมีอิทธิพล กับพวกประสบการณ์นิยม(Empiricist) อย่างเช่น จอห์น ล็อค(John Lock) ก็มองว่าพื้นฐานส่วนหนึ่งทางความคิด ความเข้าใจของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่ความรู้ทั้งหมดได้รักษาไว้ในประสบการณ์ของพวกเขา อันนำไปสู่การศึกษาเกี่ยวกับภาษาและสัญญะที่มีอิทธิพลมากในปัจจุบัน ในฐานะที่เป็นสิ่งที่กำหนดความคิด สร้างความหมายให้กับมนุษย์
       การศึกษาเกี่ยวกับสัญศาสตร์หรือสัญวิทยา มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยกรีก ที่คำศัพท์ของสัญญะ ถูกใช้ว่า Semeion  หรือ ในภาษาละตินว่า Pural ta semeia   คำว่า Semiotikos หมายถึงการสังเกตเกี่ยวกับสัญญะ ผู้ซึ่งตีความหมายหรือคาดเดาความหมายของพวกเขา   โดยการเขียนแรกเริ่มที่น่าเชื่อถือ เริ่มต้นจาก ฮิปโปเครต(Hippocrates) และพาเมนิเดส(Parmenides) ในศตวรรษที่5ก่อนคริสตกาล ที่นำไปสู่การบรรยายของนักเขียนโรมัน ที่ชื่อซิเซโร(Cicero)แควงติเลียน(Quintillian) ที่เขียนในช่วงคลาสสิค ที่ใช้ชุดของ Semeion เช่นเดียวกับคำเหมือน (Symnonym ) และคำว่า Tekmerion กับความหมายถึง เอกสารหลักฐาน(Evidience) ข้อพิสูจน์(proof) หรือการบ่งชี้อาการของโรค(Symptom) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มั่นคงถาวร มีลักษณะชั่วคราว ของการขาดหรือไม่ปรากฎ(Absent) ที่ปิดปังอำพรางทัศนะมุมมองอันแท้จริง(Chapman:2000) ดังเช่นตัวอย่างคลาสสิค ของควัน(Smoke)เช่นเดียวกับสัญญะของไฟ หรือเมฆ ที่เป็นตัวบ่งชี้พายุฝนที่กำลังจะเกิดขึ้น สำหรับกะลาสีเรือ หรือร่างกายที่อุณหภูมิร้อนขึ้น ผิวที่มีสีแดง เป็นสิ่งที่บ่งบอกความเจ็บป่วยของร่างกาย ตัวอย่างเหล่านี้เป็นวัตถุที่เราสามารถสังเกตเห็นได้โดยตรง  และเป็นสิ่งที่แสดงความรู้สึกด้วย เช่นหน้าแดงเพราะอาย หน้าบูดเบี้ยวเพราะความเจ็บปวด สิ่งเหล่านี้ถูกบรรยายอย่างแพร่หลายในยุคกลาง เช่นเดียวกับการบ่งชี้หรือวินิจฉัยอาการของโรคของหมอหรือนักฟิสิกส์ในยุคกลาง
       ในช่วงต่อมาความคิดเกี่ยวกับสัญญะ ได้ส่งผ่านความตั้งใจกับการศึกษาภาษา การแสดงออกทางภาษาและการติดต่อสื่อสารของนักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ และนักปรัชญาชาวอเมริกัน ที่ได้ประกาศชัยชนะของกระบวนการศึกษาเชิงสัญญะในปรัชญาความรู้ปัจจุบันที่ แวงซ็องต์ เดสก๊อมต์(Vincent Descomb:1986) ได้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านแนวความคิดทางปรัชญาใน3 ระดับคือ
                        1.ความคิดเรื่องปรากฎการณ์วิทยา(Phenomenological) ที่มีชัยชนะอยู่บน ปรัชญาของการเป็นตัวแทน (Philosophy of representation) ที่ความคิด ความรู้เป็นสิ่งที่ถูกเข้าใจในวัตถุสิ่งของ(Know thing) ที่นำไปสู่การเป็นตัวแทน
                        2.ความคิดเรื่องศาสตร์เกี่ยวกับการตีความ(Humeneutic) ที่มีชัยชนะอยู่เหนือการดำรงอยู่ของเทววิทยา(onto-theology) ซึ่งเชื่อว่า มนุษย์ไม่ได้มีความคิดที่บริสุทธิ์ที่นำไปสู่ขอบเขตทางความจริงที่นิรันดร์ เหตุผลของเราไม่สามารถที่จะมีส่วนร่วมกับความเข้าใจที่สมบูรณ์ได้ มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความก้าวหน้าของกระบวนการตีความหมาย การตัดสินใจทุกสิ่งของเราไม่ว่าอะไรก็ตาม  
                        3.ความคิดเรื่องสัญวิทยา(Semiological) ที่มีชัยชนะอยู่เหนือ อภิปรัชญาของการอ้างอิง (Referent) ที่เชื่อว่าความหมาย ไม่ใช่ความสัมพันธ์กับวัตถุที่เป็นอิสระจากการอ้างอิง แต่มาจากความสัมพันธ์ของมันกับสัญญะอื่นๆในระบบปิด เราสามารถสรุปว่า สัญญะอ้างอิงถึงสภาวะความคลุมเครือ ไม่แน่นอนตายตัวของความสมบูรณ์ พร้อมกับสัญญะอื่นๆ


การเปลี่ยนผ่านทางปรัชญาความรู้ทั้งสามระดับ มีความสัมพันธ์กับการถกเถียงความคิด เกี่ยวกับเรื่องความเป็นองค์ประธานของมนุษย์ (The Human Subject ) ที่ถูกครอบงำโดยแนวความคิดทางปรัชญาแบบเดสการ์ต ที่บอกว่า เพราะฉันคิดจึงมีตัวฉัน แต่ปรัชญาของนักสัญวิทยา ที่เน้นลงไปที่ตัวโครงสร้างทางภาษา ได้ทำลายความเป็นศูนย์กลางของมนุษย์ ที่ตัวของมนุษย์เคลื่อนไหว และมีชีวิตท่ามกลางสัญญะหรือภายใต้โครงสร้างทางภาษา  ตัวของมนุษย์จึงไม่ใช่องค์ประธานที่คิดได้ในตัวเอง แต่ตัวมนุษย์กลายเป็นร่างทรงของสัญญะ(Sign)หรือบทความ(Text) ที่ถูกเขียนอยู่ตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่มีอิทธิพลมาจากแนวคิดเรื่องภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างของนักสัญวิทยาทั้งสองท่านคือ โซซูร์ และเพิร์ซ ที่ผู้เขียนจะได้แสดงให้เห็รนความคิดของทั้งสองท่านและความแตกต่างในการนำมาประยุกต์ใช้ศึกษาและวิเคราะห์ในเรื่องของสัญญะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...