วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประเด็นวิเคราะห์งานศึกษากรณีเหมืองแร่ในอีสาน


สรุปประเด็นที่ได้จากการสังเคราะห์งานวิจัย งานศึกษาเครือข่ายเหมืองแร่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเด็นการศึกษาวิจัยในเรื่องของเครือข่ายเหมืองแร่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ในพื้นที่ตำบลห้วยสามพาด ตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี กลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ ในพื้นที่ตำบลนาดินดำ ตำบลนาอาน ตำบลนาโป่ง  ตำบลน้ำสวย อำเภอเมือง และตำบลท่าสะอาด อำเภอนาแห้ว  จังหวัดเลย และกลุ่มคนรักบ้านเกิด  ในพื้นที่ภูทับฟ้า ภูเหล็ก ภูซำป่าบอน ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย และกลุ่มรักษ์ภูผาป่าไม้ ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภูหนองบัวลำภู และสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ ที่ตำบลวังสะพุง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ประเด็นของการศึกษาพบว่า งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเครือข่าย ที่เครือข่ายทำเองมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับงานศึกษาที่เกิดจากหน่วยงานหรือองค์กรภายนอก ส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านทำเองจะเป็นข้อมูลที่เป็นเอกสาร แผ่นพับที่ใช้ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลประเด็นปัญหาในพื้นที่ ประเด็นที่น่าสนใจที่พบก็คือ
1.                                     งานวิจัยมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาของการต่อสู้และสถานการณ์ของการต่อสู้ เช่น บางเครือข่ายมีระยะเวลาในการต่อสู้ยาวนาน และเป็นประเด็นที่น่าสนใจก็จะได้รับความสนใจและมีกลุ่มคนเข้ามาศึกษาเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่กลุ่มเหล่านี้ก็จะเป็นบทเรียนให้กับกลุ่มอื่นๆที่กำลังมีการเคลื่อนไหวต่อสู้ เช่น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและกลุ่มคนรักบ้านเกิด ที่เป็นกรณีให้กับกลุ่มอื่นๆที่มีการเคลื่อนไหว เช่น กลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ ที่เริ่มก่อตั้งและเคลื่อนไหวเมื่อปี2551 เพื่อยับยั้งการขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่ของบริษัทภูเทพจำกัด สำหรับ สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะของคุณลำปาง บุญหนัก ที่ต่อสู้มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่เมื่ออาจารย์ประเวียน บุญหนักที่คัดค้านเรื่องโรงโม่หินในจังหวัดเลยถูกยิงเสียชีวิต กลุ่มของคุณลำปาง บุญหนัก จึงเป็นกลุ่มที่คอบเป็นพี่เลี้ยง อบรมประสานให้กับกลุ่มอื่นๆที่มีความเดือดร้อนจากการทำเหมืองและกิจการโรงโม่ แม้ว่าในปัจจุบันทางกลุ่มนี้จะเน้นไปที่เรื่องของป่าไม้และที่ดินเป็นหลัก เช่นเดียวกับกลุ่มรักษ์ภูผาป่าไม้ ที่เคลื่อนไหวมาอย่างยาวนาน และปัจจุบันสถานการณ์ก็อยู่ในช่วงที่ศาลมีคำสั่งระงับการดำเนินกิจการต่างๆเกี่ยวกับเหมืองแร่ในพื้นที่ โดยในปัจจุบันกลุ่มชาวบ้านที่นี่กลายเป็นครูให้กับพื้นที่อื่นๆและทำงานเคลื่อนไหวเรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ในชุมชนร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ให้กับเยาวชน
2.                                     งานวิจัยมีความสัมพันธ์ระหว่างประเด็นปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการต่อสู้เคลื่อนไหวในพื้นที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐและกลุ่มทุนต่างๆ ทำให้งานวิจัยและงานศึกษาในพื้นที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมทรัพยากรธรณี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของเหมืองแร่ และปริมาณทรัพยากรแร่ธาตุ รวมถึงบริษัทที่ปรึกษาในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่จัดทำการศึกษาในประเด็นต่างๆของพื้นที่ที่สัมพันธ์กับการทำเหมืองแร่ในเรื่องลักษณะทางกายภาพ ดิน น้ำ ป่าไม้ สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ น้ำ เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมน้ำบาด รวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาล โดยเฉพาะกรณีของเหมืองแร่ทองคำ ที่บ้านนาหนองบง ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่มีงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารพิษ เช่น สารหนู ตะกั่ว แคดเมียม ไซยาไนด์ และแมงกานีสในแหล่งน้ำอุปโภค บริโภคและเข้าสู่กระแสเลือดของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลเคลื่อนไหวต่อสู้กับกลุ่มทุนที่เข้ามาประกอบกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่ และเป็นข้อมูลสำคัญที่ชี้ใช้เห็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดขึ้น
3.                                     งานวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรในพื้นที่กับเครือข่ายที่มีประเด็นปัญหา ประเด็นนี้ถือว่าสำคัญเพราะชี้ให้เห็นความร่วมมือระหว่างเครือข่ายกับพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง เช่นสถาบันการศึกษาในพื้นที่หรือประชาสังคมของจังหวัด โดยจะเห็นว่างานวิจัยที่ถูกผลิตจากสถาบันการศึกษาและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ขับเคลื่อนประเด็นปัญหาในพื้นที่มีอยู่จำนวนหนึ่ง เช่น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ก็จะมีพันธมิตรจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีลงมาศึกษาและนำเสนอบทความเกี่ยวกับมิติทางสังคมวัฒนธรรม ความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่เกี่ยวกับโครงการและประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเกลือและโพแทช รวมถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เข้ามาศึกษาประเด็นปัญหาหรือประชาสังคมจังหวัดที่ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเรื่องเกลือและสุขภาพ เป็นต้น  ในขณะเดียวกับประเด็นของเหมืองแร่ที่จังหวัดเลยได้ถูกศึกษาโดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย ที่เน้นศึกษาประเด็นเรื่องคุณภาพน้ำบนดิน ใต้ดิน จากการปนเปื้อนของกระบวนการแต่งแร่ ในขณะที่บางพื้นที่ทีไม่มีสถาบันการศึกษา เช่น จังหวัดหนองบัวลำภู มีงานศึกษาน้อยมากที่พบหรือเป็นประเด็นของหัวข้อวิทยานิพนธ์
4.                                     งานวิจัยที่สัมพันธ์กับประเด็นปัญหา จากการรวบรวมงานศึกษาพบว่า มีประเด็นศึกษาในหลากหลายมิติ ทั้งในเรื่องของมิติทางสังคมวัฒนธรรม เช่นข้อมูลพื้นฐานของชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมพื้นบ้านที่เป็นเครื่องมือในการต่อสู้   ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการและกลุ่มทุนที่จะเข้ามาประกอบกิจการเหมืองแร่และโรงโม่  เช่นรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การศึกษาความเป็นไปได้ของการประกอบกิจการ  ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่น การทำรายงานผลกระทบทางด้านสุขภาพ และรายงานการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ ดิน น้ำ และการปนเปื้อนของสารเคมีสู่กระแสเลือดของชาวบ้าน รวมถึงประเด็นทางด้านสิทธิชุมชน รัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแร่ สุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประเด็นเรื่องการเคลื่อนไหวต่อสู้ในพื้นที่
5.                                     จากการรวบรวมงานศึกษา สิ่งที่ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นในงานศึกษาวิจัยก็คือ งานศึกษาและงานวิจัยที่ถูกดำเนินงานโดยเครือข่ายในลักษณะวิจัยไทบ้านหรือชาวบ้านเป็นนักวิจัยหลัก ส่วนใหญ่จะเป็นการวิจัยที่มีหน่วยงานภายนอกรับผิดชอบเป็นหลัก เช่นองค์กรพัฒนาเอกชน หรือหน่วยงานที่ได้รับทุน ที่มีการดึงชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม เวทีเสวนา เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านจะมีลักษณะของการเป็นผู้ให้ข้อมูลเป็นหลัก การวิจัยและพัฒนาในประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากแกนนำและกลุ่มของเครือข่ายเองในพื้นที่ยังมีน้อยและจำกัด รวมทั้งไม่ค่อยเห็นงานวิจัยที่เป็นลักษณะร่วมกันระหว่างรัฐกับชาวบ้าน เนื่องจากมุมมองหรือทัศนคติบางอย่างที่ทำให้ชาวบ้านมองรัฐเป็นฝ่ายตรงกันข้ามและสนับสนุนกลุ่มทุนเบื้องหลัง ทำให้การวิจัยร่วมกันมีน้อย ทำให้ไม่เกิดการประสานหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างรอบด้าน
จากงานศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายที่ต่อสู้เคลื่อนไหวในพื้นที่ พบประเด็นที่สำคัญก็คือ สิ่งที่ถูกนำเสนอในงานศึกษาและวิจัยที่มาจากหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหา สะท้อนให้เห็นแนวโน้ม ทิศทางของข้อมูลที่สัมพันธ์กับการต่อสู้เคลื่อนไหวของชาวบ้านในอนาคต รวมทั้งสะท้อนให้เห็นภาพสะท้อนของการนำเสนอประเด็นและปัญหาที่ชัดเจนแตกต่างกัน ระหว่างการศึกษาของรัฐ บริษัทเอกชน หน่วยงานวิชาการ สถาบันการศึกษา และชาวบ้าน ดังจะเห็นได้ว่า งานของรัฐ ที่ทำโดยหน่วยงานวิชาการในภาครัฐ เช่น กรมทรัพยากรธรณี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน  และสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของโครงการพัฒนาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธรณีวิทยาและเหมืองแร่ โดยจะให้ข้อมูลลักษณะทางกายภาพ ปริมาณแร่สำรองและยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการแร่ธาตุใต้ดิน รวมถึงขั้นตอนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการยื่นขอประทานบัตรและอาชญาบัตร สำหรับดำเนินกิจการและสำรวจ กฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่นพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม พระราชบัญญัติแร่ และการดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม งานในส่วนนี้ใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรม เทคโนโลยีและธรณีวิทยา จากกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญทำให้งานของกลุ่มนี้ค่อนข้างมีเรื่องของเทคนิคและข้อมูลในเชิงปริมาณมาก น่าสังเกตว่างานเหล่านี้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการดำเนินโครงการที่กลุ่มทุนหรือผู้ประกอบกิจการจะนำไปใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการตัดสินใจทำโครงการ ก่อนที่จะจ้างนักวิชาการที่เปิดบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาประเด็นทางสิ่งแวดล้อมสังคมและสุขภาพในพื้นที่ที่จะดำเนินโครงการ
งานของบริษัทกลุ่มทุนก็จะเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ ลักษณะโครงการ ผังโครงการ รูปแบบการดำเนินโครงการ การทำเหมืองแร่ กระบวนการผลิตต่างๆ   ผลประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับจากโครงการ รวมทั้งการคาดการณ์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและแนวทางแก้ไข ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลที่ว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาสำรวจและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีข้อมูลพื้นฐานต่างๆของชุมชน  สภาพธรณีวิทยา แหล่งน้ำและทรัพยากรในพื้นที่ รวมถึงมิติทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี สังคมวัฒนธรรมและข้อมูลเกี่ยวกับชุมชน หน่วยงานต่างๆที่อยู่รอบโครงการ โดยส่วนใหญ่ข้อมูลที่นำเสนอจะเอื้อกับการดำเนินโครงการและชี้ให้เห็นผลประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับมากกว่าเรื่องผลเสียหรือผลกระทบจากการดำเนินโครงการดังกล่าว
ในขณะเดียวกันหน่วยงานวิชาการในสถาบันการศึกษา และในหน่วยงานสาธารณสุขที่เข้ามาทำการศึกษาในประเด็นเรื่องคุณภาพดินและน้ำ การวัดหาสารปนเปื้อนที่เข้าสู่ร่างกาย ก็จะทำโดยเทคนิคที่มีความเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถิติ งานเหล่านี้มีความชัดเจนทางสถิติ ข้อมูลในเชิงปริมาณตัวเลข  เช่น การปนเปื้อนของสารพิษสู่แหล่งน้ำบนดิน ใต้ดินและเข้าสู่กระแสเลือดของคนในพื้นที่ ทำให้รู้ว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้ความรู้ทางเทคนิควิทยาการชั้นสูง เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเหล่านี้ไม่สามารถเห็นด้วยตาเปล่า สิ่งที่น่าสนใจก็คือสถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่เกิดปัญหา เช่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย ที่มาศึกษาประเด็นเรื่องของคุณภาพกินและน้ำรอบพื้นที่ทำเหมืองแร่ งานเหล่านี้ถือว่าเป็นมุมมองและข้อมูลที่จะช่วยชาวบ้านในการต่อสู้เคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องสิทธิของชุมชนในแง่สุขภาพ แต่ปัญหาก็คือ การศึกษาเฉพาะจุดทำให้พบปัญหาเฉพาะจุด ไม่สามารถให้ปัญหาโดยรวมได้ สิ่งที่ได้จากผลการศึกษาก็คือ การห้ามใช้น้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ดังกล่าว และตักเตือนให้บริษัทตรวจสอบและระมัดระวังการปนเปื้อนของสารเคมีจากโรงงานลงสู่ชุมชน แต่ไม่สามารถนำไปสู่การยุติโครงการของกลุ่มทุนในพื้นที่ได้
ในขณะที่ข้อมูลจาการศึกษาวิจัยขององค์กรเอกชนและภาคประชาสังคม ถือว่าเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการร่วมมือในการนำเสนอประเด็นปัญหา เช่น โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี งานที่กลุ่มอนุรักษ์ขับเคลื่อนกับพันธมิตรเครือข่าย เป็นประเด็นที่เชื่อมโยงในประเด็นนโยบายสาธารณะเช่นเรื่องของเกลือกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ มิติทางสังคมวัฒนธรรม ที่เชื่อมโยงสภาพทางชีวภาพกายภาพของพื้นที่ เช่น ที่ดิน ป่าไม้ หนองน้ำ วิถีเกษตรกรรม รวมถึงความเชื่อท้องถิ่น ที่สร้างพลังของการต่อสู้เคลื่อนไหวและต่อต้านกับกระแสการพัฒนาที่เข้ามา เรื่องของสิทธิชุมชน สิทธิตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมถึงเรื่องของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและข้อมูลทางด้านสุขภาพที่จะเป็นข้อมูลพื้นฐานของการต่อสู้ เช่นเดียวกับเครือข่ายต่อต้านเหมืองแร่ที่จังหวัดเลย ที่มีงานวิจัยของสำนักงานสุขภาพแห่งชาติร่วมกับนักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน ในพื้นที่ที่นำเสนอประเด็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากการทำเหมือง โดยมีข้อมูลพื้นที่ปัญหา การสัมภาษณ์ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เชื่อมโยงกับข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของจังหวัด ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งทรัพยากรธรณี เพื่อชี้ให้เห็นพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ต่างๆที่เกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ โดยนำข้อมูลการศึกษาเรื่องของสุขภาพ การปนเปื้อนของสารเคมีสู่แหล่งน้ำกินน้ำใช้ในชุมชน มาเชื่อมโยงให้เห็นความเดือดร้อนและการละเมิดสิทธิชุมชน ในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิทธิในน้ำ อาหาร การแประกอบอาชีพและสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการให้ข้อมูลอย่างรอบด้านในประเด็นต่างๆ ซึ่งใช้เป็นข้อมูลในการต่อรองและต่อสู้กับกลุ่มทุนได้
สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายที่คิดว่า ยังมีการศึกษาวิจัยน้อยและไม่ค่อยปรากฏมีดังนี้คือ
1. การถอดบทเรียนของการต่อสู้ของภาคประชาชน หรือเครือข่ายที่ทำการต่อสู้ในประเด็นปัญหาต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นจุดแข็งจุดอ่อนและเป็นบทเรียนสำหรับชาวบ้านกลุ่มอื่นๆในการต่อสู้เคลื่อนไหว ซึ่งงานลักษณะอย่างนี้จุดแข็งคือ บทเรียนของเครือข่ายที่ต่อสู้อย่างยาวนาน สามารถมองเห็นการเคลื่อนไหว ปัญหา อุปสรรค จุดแข็ง จุดอ่อนและถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านั้นสู่สมาชิกในกลุ่มหรือเครือข่ายต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา หรือสนับสนุนให้กระบวนการเคลื่อนไหวขับเคลื่อนต่อเนื่องไปอย่างมั่นคงและเป็นบทเรียนสำหรับเครือข่ายอื่นๆ
2. ประเด็นที่ศึกษาเชิงลึกในแง่มุมกฎหมาย ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม  การจัดการความคัดแย้ง หรือกรณีตัวอย่างของคดีความทางด้านสิ่งแวดล้อมที่จะสามารถนำมาใช้เป็นกรณีศึกษาของการเคลื่อนไหวและการแก้ปัญหาทางด้านคดีความของชาวบ้านที่เคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
3. ประเด็นในเรื่องของวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นในเชิงลึกและเป็นการศึกษาของคนในพื้นที่เอง ที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์สอดคล้องพึ่งพาระหว่างวิถีชีวิต ความเชื่อ และประเพณีท้องถิ่นกับสิ่งแวดล้อม ที่สัมพันธ์กับกระบวนการพัฒนาหรือโครงการลงทุนของรัฐและเอกชนที่กำลังจะเข้ามา เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเคลื่อนไหวและการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการนั้นๆ
4. ประเด็นเชิงลึกเกี่ยวกับสภาพปัญหา ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ชุมชนประสบและสังเกตการณ์ด้วยตัวเอง ยังมีค่อนข้างจำกัด  รวมทั้งการสังเกตการณ์การจัดการสิ่งแวดล้อมและการแก้ไขปัญหาในเรื่องของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบริษัท ที่ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาโดยหน่วยงานภายนอก  ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ถ้านำมาใช้ร่วมกับข้อมูลของนักวิชาการในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิในพื้นที่ก็จะทำให้มีพลังมากขึ้น
5.งานของเครือข่ายที่เกิดขึ้นใหม่ยังน้อย เนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์ ควรจะมีพี่เลี้ยงในการผลักดันสนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยในประเด็นปัญหาของพื้นที่ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชนในมิติทางสังคมวัฒนธรรม ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมสุขภาพรวมถึงสิทธิและกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานของการเคลื่อนไหวต่อสู้ในพื้นที่ ดังจะเห็นได้ว่าพื้นที่เคลื่อนไหวที่เข้มแข็งส่วนใหญ่จะมีงานวิชาการในแง่มุมต่างๆมารองรับและนำเสนอประเด็นสู่สาธารณะเป็นจำนวนมาก
สรุปประเด็นเคลื่อนไหวของเครือข่ายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่จะเป็นแนวทางการเคลื่อนไหวในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะเมื่อกรมทรัพยากรธรณีทำยุทธศาสตร์การจัดการแร่ออกมาและเปิดเผยข้อมูลทางธรณีวิทยาของแต่ละจังหวัดในภาคอีสาน ว่ามีแหล่งแร่ชนิดใด อยู่บริเวณไหนและมีปริมาณสำรองเท่าไหร่ เพื่อเป็นช่องทางให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาประกอบกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่ ส่งผลให้แนวโน้มเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินจะมีมากขึ้นและรุนแรงมากขึ้น อันเนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินบริเวณที่ราบสูงอีสานมีปริมาณมากและมีมูลค่ามหาศาลในทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประเด็นในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินกลายเป็นประเด็นที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างจากการเคลื่อนไหวในอดีต ที่จะเป็นเรื่องของการต่อสู้เรื่องเขื่อน น้ำ และที่ดินทำกินเป็นส่วนใหญ่ โดยมีคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) สมัชชาคนจนและสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกยอ.อีสาน) เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนหลัก จนเมื่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มเหล่านี้น้อยลง ประเด็นเรื่องการจัดการทรัพยากรแร่จึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นมา นับตั้งแต่เรื่องเกลือจนถึงแร่ชนิดอื่น ที่มีการทำเหมืองแบบตาก ต้มและละลาย จนถึงเหมืองแร่แบบใหม่ที่ใช้วิธีการขุดอุโมงค์ใต้ดิน เนื่องจากการเปิดประเด็นของโครงการเหมืองแร่โพแทช
ในปัจจุบันประเด็นของการเคลื่อนไหวในเรื่องนโยบายแร่ ได้นำไปสู่การตรวจสอบกระบวนการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบริษัทและกลุ่มทุนต่างๆที่ทำเสร็จแล้วและกำลังจะดำเนินการจัดทำอยู่ซึ่งขาดกระบวนการมีส่วนร่วมและการรับรู้ของคนในพื้นที่ เพื่อให้เริ่มดำเนินการจัดทำรายงานใหม่ตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และรวมกลุ่มของชาวบ้านในพื้นที่ปัญหาต่างๆที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งการเชื่อมโยงประเด็น เรื่องน้ำ ที่ดิน ปัญหาดินเค็ม และเกษตรอินทรีย์มาใช้ในการเคลื่อนไหวต่อสู้กับเรื่องเหมือง ทำให้กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรชาวบ้านในพื้นที่ปัญหาเรื่องดังกล่าว สามารถเชื่อมโยงประเด็นปัญหาเพื่อต่อสู้และขับเคลื่อนร่วมกันอีกครั้งรวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาคต่างๆ รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายระดับชาติเช่น กลุ่ม Mining Watch เพื่อเรียนรู้และต่อสู้ร่วมกัน จนกลายเป็นพันธมิตรทางสิ่งแวดล้อม เป็นเครือข่ายทางสิ่งแวดล้อมที่รวมกรณีปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ป่าไม้ แร่ธาตุ รวมทั้งเรื่องสิทธิชุมชน ที่สำคัญและมีบทบาทในการเคลื่อนไหวในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเข้มแข็งปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...