วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

งานวิจัยเกี่ยวกับประเด็นเหมืองแร่ที่จังหวัดเลย


งานวิจัยที่เกี่ยวกับสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ  กลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ กลุ่มคนรักบ้านเกิด  จังหวัดเลยเกี่ยวกับโครงการทำเหมืองแร่ทองคำ ทองแดง เหล็กและแบไรต์
                งานวิจัยและงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายที่คัดค้านและต่อสู้เคลื่อนไหวกับการทำเหมืองแร่ทองคำ เหมืองทองแดง เหมืองเหล็กและเหมืองแบไรต์ที่จังหวัดเลย จากการรวบรวมเพื่อทบทวนและสังเคราะห์พบว่าจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่และระยะเวลาของการต่อสู้เคลื่อนไหว ซึ่งงานทั้งหมดมีประมาณ 25-30 ชิ้น ที่ส่วนใหญ่ดำเนินการศึกษาโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กรมทรัพยากรธรณี สาธารณสุขจังหวัดเลย บริษัทที่เข้ามาดำเนินกิจการเหมืองแร่ กลุ่มโครงการขับเคลื่อนสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคมละวัฒนธรรม รวมทั้งอาจารย์และนักศึกษาในสถาบันการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฎเลยและมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยงานวิจัยและงานศึกษาที่เกิดขึ้นจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ ลักษณะทางกายภาพและข้อมูลพื้นฐานและการต่อสู้เคลื่อนไหวของพื้นที่ รวมทั้งเรื่องของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ประเด็นข้อมูลทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชน
งานศึกษาข้อมูลพื้นฐานของตำบลเขาหลวงขององค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง(2552)ที่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตำบลเขาหลวง ว่ามีระยะห่างจำอำเภอวังสะพุงประมาณ 15 กิโลเมตร มีจำนวนทั้งหมด 13 หมู่บ้าน มีจำนวนประชาชน 9,536 คน ประกอบด้วยบ้านห้วยผุก บ้านกกสะทอน บ้านนาหนองบง บ้านแก่งหิน  บ้านนาซำแซง  บ้านขอนแก่น บ้านน้ำทบ บ้านนาหลวง บ้านยางเดี่ยว บ้านโนนสวรรค์ บ้านโนนผาพุงพัฒนา และบ้านภูทับฟ้าพัฒนา ภูมิประเทศของตำบลเขาหลวงเป็นภูเขาหลวง สลับที่ราบสูงและที่ราบเชิงเขาเล็กน้อย โดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-500 เมตร ป่าไม่มีลักษณะเป็นป่าเสื่อมโทรม และมีลำน้ำฮวยเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่วนสภาพเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รายได้หลักมาจากเรื่องของการเกษตร เช่นปลูกลูกเดือย ข้าวโพด มะขามหวาน มันสำปะหลัง และถั่วเหลือง ส่วนอาชีพเสริมคือขายสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยในชุมชนมีโรงสีขนาดเล็กจำนวน 11 แห่ง ร้านขายของชำจำนวน 32 แห่ง ปั้มน้ำมันหลอด 10 แห่ง มีโรงเรียน 7 โรง และวัด 11 แห่ง สถานีอามัยประจำตำบลห้วยหลวงมีสองแห่งคือที่บ้านขอนแก่นและบ้านห้วยผุก
ข้อมูลพื้นฐานขององค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ทำให้เข้าใจลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ตำบลเขาหลวง รวมถึงสภาพสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่ตำบลเขาหลวงซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการทำการศึกษาประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับชุมชนโดยรอบโครงการพัฒนาต่างๆในพื้นที่ โดยเฉพาะในเรื่องของผลกระทบจากเหมืองที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพ
ประเด็นศึกษาด้านเศรษฐกิจ
                รายงานสภาวะเศรษฐกิจการคลัง จังหวัดเลย ประจำเดือนมกราคม พ.ศ.2554 และไตรมาสที่4 2552 ที่ชี้ให้เห็นสภาวะเศรษฐกิจในการเกษตรและนอกภาคการเกษตรที่เป็นรายได้สำคัญของจังหวัดเลย สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การผลิตนอกภาคการเกษตร ในสาขาของเหมืองแร่และการย่อยหิน ในเดือนมกราคม 2554 พบว่า การผลิตเหมืองแร่และโรงย่อยหิน โดยรวมหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้วโดยพิจารณาจากการลดลงของปริมาณแร่เหล็กเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วที่ลดลงร้อยละ 53.70 ส่วนหนึ่งเป็นผลมามาจากการปราบปรามการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับแร่เถื่อนของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ในจังหวัดเลย ทำให้จังหวัดมีการชะลอการออกใบอนุญาตซื้อแร่เหล็ก และการออกใบอนุญาตขนแร่เหล็กไว้ก่อนจึงส่งผลให้ปริมาณแร่เหล็กลดลง ซึ่งสอดคล้องกับข่าวในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการจับกุมผู้ประกอบกิจการขุดแร่เถื่อนในจังหวัดเลย

ประเด็นศึกษาเรื่องเหมืองแร่
                ประเด็นของการศึกษาเรื่องเหมืองแร่ มีความสัมพันธ์ในเรื่องของช่วงเวลาและกลุ่มที่ทำการศึกษา โดยในช่วงตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544 จะเริ่มต้นจากการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี เพื่อสำรวจและหาแหล่งแร่ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ธาตุและเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนเข้ามาสำรวจและขอประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ จากนั้นในช่วงปีพ.ศ.2549ถึงปัจจุบัน ก็จะมีงานศึกษาของกลุ่มทุนที่จะเข้ามาประกอบกิจการการทำเหมือง เกี่ยวกับการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรายงานการศีกษาความเป็นไปได้ของการทำเหมืองแร่แบบต่างๆในพื้นที่จังหวัดเลย งานที่ศึกษาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการทำเหมืองแร่มีดังนี้
                กรมทรัพยากรธรณี(2544) ในเอกสารประชาสัมพันธ์เรื่อง แหล่งแร่ทองคำภูทับฟ้า ตำบลเขาหลวง อ.เภอวังสะพุง จังหวัดเลย อ้างจากhttp://www.dmr.go.th .เข้าเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2552 โดยเอกสารชิ้นนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำที่ภูทับฟ้า ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่ได้เริ่มทำการสำรวจเมื่อปีพ.ศ.2534 ในพื้นที่ของจังหวัดเลย เนื้อที่ 340,000 ไร่และเป็นแหล่งแร่ทองคำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถพัฒนาแหล่งแร่ดังกล่าวให้เป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ได้ โดยบริษัททุ่งคำ จำกัด ได้เริ่มทำการสำรวจทางธรณีวิทยาธรณีฟิสิกส์ และธรณีเคมี จนพบสินแร่ทองคำที่คุ้มค่าต่อการลงทุน ใน 3 พื้นที่ คือภูทับฟ้า ภูเหล็กและภูซำป่าคาว ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยที่แหล่งแร่ทองคำภูทับฟ้า มีปริมาณเนื้อหินปนแร่ทองคำปริมาณ 1 ล้านตัน โดยมีแร่ทองคำปริมาณ 5 ตันต่อหิน 1 ตัน ดังนั้นเหมืองแร่บริเวณนี้จึงมีทองคำ 5 ตัน มูลค่า 1,500 ล้านบาท โดยบริษัททุ่งคำ จำกัด ได้ยื่นขอสัมปทานจำนวน 6 แปลง เนื้อที่1,300 ไร่
                งานวิจัยข้างต้นสอดคล้องกับงานศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี(2544)   แผนที่ทรัพยากรแร่ แสดงพื้นที่แหล่งแร่ และพื้นที่ศักยภาพทางแร่ จังหวัดเลย. งานศึกษาวิจัยชิ้นนี้เป็นหนึ่งในโครงการของกรมทรัพยากรธรณีที่ดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติราชการ 4 ปี (พ.ศ.2548-2551 พ.ศ.2552-2555) เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรณีอย่างสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อจำแนกเขตทรัพยากรธรณีเพื่อสงวน อนุรักษ์และพัฒนาการใช้ประโยชน์  เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณีให้สอดคล้องกับศักยภาพ ข้อจำกัดและความต้องการของท้องถิ่นโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และสุดท้ายเพื่อเผยแพร่ให้ข้อมูลแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการพัฒนาทรัพยากรธรณีและสร้างความรู้ให้กับผู้สนใจร่วมกัน งานชิ้นนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะทางธรณีวิทยา หมวดหินและชุดดินที่เป็นต้นกำเนิดของแหล่งแร่ชนิดต่างๆในจังหวัดเลย รวมถึงพื้นที่เสี่ยงภัยทางธรณีวิทยาในจังหวัดเลย ที่น่าสนใจคือการให้รายละเอียดเกี่ยวกับทรัพยากรแร่ในจังหวัดเลย ที่มีแร่สำคัญ 9 ชนิดคือ ถ่านหิน ทองคำ ทองแดง เหล็ก แบไรต์ หินปูน หินประดับชนิดหนแกรนิต ยิปซัม และทรายก่อสร้าง โดยทรัพยากรแร่ธาตุในจังหวัดเลยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มแร่ คือ กลุ่มแร่เพื่อสาธารณูปโภคพื้นฐานและโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น หินปูน หินประดับแกรนิตและหินทรายก่อสร้าง กลุ่มแร่โลหะมีค่า เช่น ทองคำ กลุ่มแร่โลหะ เช่น เหล็กและทองแดง กลุ่มแร่อุตสาหกรรม เช่น ยิปซัมและแบไรต์ และกลุ่มแร่พลังงาน ได้แก่ถ่านหิน รวมทั้งให้รายละเอียดเกี่ยวกับแร่ชนิดต่างๆและพื้นที่ที่พบ เช่นแหล่งแร่โลหะทองคำ ที่พบ 2 แห่ง ที่ภูทับฟ้า ภูเหล็กและภูซำป่าบอน ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่บริษัททุ่งคำได้รับสัมปทานและแหล่งทองคำภูถ้ำพระ บ้านห้วยโตก ตำบลนาอาน อำเภอเมือง จังหวัดเลย หรือแหล่งแร่ทองแดง พื้นที่ภูหินเหล็กไฟ บ้านห้วยม่วง ตำบลนาดินดำ อำเภอเมือง จังหวัดเลย และภูทองแดง บริเวณบ้านห้วยโตก ตำบลนาอาน อำเภอเมือง จังหวัดเลย ของบริษัทภูเทพ จำกัดที่ได้รับสัมปทาน เป็นต้น
                ในงานชิ้นนี้บอกว่า ปริมาณแร่สำรองในพื้นที่ที่พบแหล่งแร่ดังกล่าวยังไม่ได้สำรวจพิสูจน์ให้ชัดเจนว่ามีปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งจะต้องมีการสำรวจและศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบปริมาณและความสมบูรณ์รวมทั้งศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการพัฒนาแหล่งแร่ก่อนจะลงทุนทำเหมืองแร่ ข้อมูลในงานชิ้นนี้จึงเป็นข้อมูลพื้นฐานให้กับกลุ่มทุนและบริษัทต่างๆที่จะเข้ามาสำรวจและประกอบกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่ของจังหวัดเลย
                เช่นเดียวกับประเด็นในรายงานหลักโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำฮวย(คิวน้อย) อำเภอเมือง จังหวัดเลย ของกรมชลประทาน (2549) ที่พูดถึงแนวคิดการกำเนิดของแหล่งแร่ทองคำ การทำเหมืองแร่ทองคำและแหล่งแร่ในจังหวัดเลย โดยพบว่ากระบวนการเกิดแร่ทองคำแบบปฐมภูมิ ที่พบบนรอยต่อระหว่างหินอัคนีกับหินอื่นๆเช่นหินปูน หินทรายและหินดินดาน ทำให้มีสายแร่ชนิดควอร์ตกับไพไรต์คาลโคไพไรต์ ที่พบมากในบริเวณภูเขาโล้น ซึ่งมีโอกาสพบสายแร่ทองคำในบริเวณดังกล่าว และมีสายแร่ควอร์ตกับแร่กาสีนาและสฟาเลอไรต์บริเวณภูช้าง ที่มีโอกาสที่จะพบแร่สังกะสีและตะกั่วสำหรับกระบวนการเกิดแร่แบบทุติยภูมิ เกิดจากการกระทำของน้ำฝนและกระแสการกัดเซาะหิน หินผุและดินของหินที่เป็นแหล่งต้นกำเนิดของแร่ทองคำแล้วถูกพัดพาลงสู่แหล่งน้ำทำให้เกิดลานแร่ทองคำในบริเวณที่มีทางน้ำไหลผ่าน   บริษัททุ่งคำ จำกัด มีกระบวนการผลิตหลายขั้นตอนและซับซ้อน โดยเริ่มจากการขุดดินและหินในพื้นที่สัมปทานวันละหลายตันเพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานบริเวณโรงเก็บแร่และแต่งแร่ เพื่อเขาสู่กระบวนการบดแร่ให้เป็นฝุ่นดินละเอียด เพื่อให้สินแร่ทองคำหลุดจากดินและหิน แล้วคัดขนาดเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการแยกแร่ทองคำ โดยใช้สารละลายไซยาไนด์ ในถังละลายขนาดใหญ่จำนวน 12  ถัง เพื่อดูดซับทองคำและแยกทองคำกับแร่อื่นๆ  จากนั้นก็นำเข้าสู่กระบวนการหลอมแร่ทองคำที่ได้เพื่อทำให้เป็นทองคำแท่ง ส่วนเศษดินและเศษหินที่เหลือจากกระบวนการแยกแร่จะนำเข้าไปสู่กระบวนบำบัดสารไซยาไนด์ แล้วนำไปทิ้งในบ่อกักเก็บขนาดใหญ่ที่มีระบบป้องกันการรั่วซึม โดยมีการเลี้ยงปลาเพื่อตรวจสอบปริมาณสารพิษตกค้าง ส่วนผลผลิตทองคำที่ได้จะถูกส่งไปที่ฮ่องกงเพื่อทำให้เป็นทองคำบริสุทธิ์ ส่วนสินแร่อื่นๆที่ปนกับแร่ทองคำ เช่นทองแดง เหล็ก จะขายในประเทศ
                สิ่งที่น่าสนใจคือ จังหวัดเลยเป็นแหล่งแร่ที่สำคัญของประเทศไทยตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ที่ระบุว่าในจังหวัดเลยมีแร่หลายชนิดกระจายอยู่ในจังหวัดเลย  เช่นแร่แบไรต์ สำรวจพบที่อำเภอเมือง อำเภอเชียงคาน  อำเภอปากชม และอำเภอท่าลี่จังหวัดเลย แมงกานีสพบที่อำเภอเชียงคานและผาขาว แร่ถ่านหินพบที่อำเภอนาด้วง แร่หินปูนพบในเขตอำเภอวังสะพุงและอำเภอเมือง  แร่เหล็ก สำรวจพบที่อำเภอเมืองและอำเภอเชียงคาน แร่ทองคำ พบที่อำเภอเมือง อำเภอวังสะพุงและอำเภอเชียงคาน แร่ทองแดง พบในเขตอำเภอเมือง แร่ยิปซั่ม พบในเขตอำเภอวังสะพุงและแร่หินประดับและหินแกรนิต พบที่อำเภอเมืองเลย อำเภอท่าลี่และอำเภอเชียงคาน รายงานชิ้นนี้ให้ภาพเกี่ยวกับเรื่องของทรัพยากรแร่ธาตุในจังหวัดเลยและกระบวนการทำเหมืองแร่ในพื้นที่จังหวัดเลยซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นในการทำความเข้าใจเรื่องเหมืองแร่
                สอดคล้องกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (2546) ของบริษัททุ่งคำ จำกัด ของเอสพีเอส คอนซัลติ้ง เซอร์วิส จำกัด เกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่และผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ โดยผลการศึกษาพบว่าในเรื่องเศรษฐกิจจะส่งผลทางด้านบวกในแง่ของการลดการว่างงานและส่งเสริมให้คนในชุมชนมีงานทำ จากการจ้างแรงงาน ทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้นและเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของพื้นที่ รวมทั้งรัฐบาลไทยก็จะได้รับผลตอบแทนจากค่าภาคหลวง ค่าธรรมเนียมและภาษีอากรผลกระทบในด้านสังคมในแง่ดีคือการทำให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีมากขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงอาชีพจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรมเนื่องจากการเข้ามาทำงานเกิดการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ในชุมชนรอบเหมืองของประชาชนในพื้นที่แต่ในขณะเดียวกันการประกอบกิจการเหมืองก็อาจส่งผลกระทบทางด้านลบต่อความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้ ในด้านเศรษฐกิจการทำเหมืองแร่เป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการ ชุมชนและประเทศชาติ ทำให้เกิดการเจริญเติบโตในทางเศรษฐกิจ  และผลดีต่อเศรษฐกิจของประชาชนในท้องถิ่น ทำให้เกิดการจ้างงานและคุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่วนผลกระทบทางด้านสุขภาพ แบ่งตามกิจกรรมและกลุ่มของผู้ได้รับผลกระทบ พบว่า ผลต่อสุขภาพของคนที่ทำงานในเหมืองทองคำ จะได้รับผลกระทบต่อเรื่องเสียงที่ดัง อาจส่งผลต่อการได้ยิน และอันตรายจากฝุ่นละอองจากกระบวนการผลิตแร่ที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งอันตรายจากสารพิษต่างๆในกระบวนการแต่งแร่ เช่นไซยาไนด์ อาจจะซึมเข้าสู่ร่างกายซึ่งผลกระทบเหล่านี้จะส่งผลต่อประชาชนที่อยู่ในชุมชนรายรอบเหมืองแร่ด้วย และจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนพื้นที่ พบว่า คนในชุมชนยังรับรู้เรื่องเกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำน้อย และคดหวังว่า การดำเนินการของเหมืองจะทำให้เกิดการจ้างงาน การพัฒนาอาชีพและพัฒนาชุมชน
                โดยงานศึกษาของบริษัทดังกล่าวสอดคล้องกับงานของอนุ กัลลประวิทย์  สำนักสิ่งแวดล้อม ในเรื่องการทำเหมืองทองคำที่จังหวัดเลย โดยนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการทำเหมืองทองคำที่ดำเนินการทำเหมืองโดยบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่จังหวัดเลยที่ได้ขออนุญาตจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และอ้างถึงข้อมูลจากสื่อหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับประจำวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 และสถานีโทรทัศน์ไทย พี. บี. เอส. รายการเปิดปมเมื่อวันที่    23 มีนาคม 2551 ได้รายงานว่า การทำเหมืองแร่ทองคำก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยรอบพื้นที่ประกอบการทำเหมือง เนื่องจากมีการปนเปื้อนของสารไซยาไนต์ ออกมาสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ (ห้วยน้ำฮวย) เกินค่ามาตรฐานมากกว่า 10 เท่า ต้นยางพาราที่ประชาชนปลูกมีโรค รา แมลง และใบหงิกงอ ผลผลิตตกต่ำ ตลอดจนทำให้สุขภาพของประชาชนใกล้เคียงมีอาการผื่นคันขึ้นตามตัว และ ไม่สามารถดื่มน้ำฝนได้ คาดว่ามีผลจากการทำเหมืองแร่ทองคำดังกล่าว และบริษัท ทุ่งคำ จำกัด      มีโครงการจะเปิดพื้นที่ทำเหมืองอีก 30,000 ไร่ ทำให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่มีขึ้น ผลกระทบดังกล่าวทำให้ชุมชนโดยรอบมีความเข้าใจว่าการทำเหมืองของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ว่าอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมใกล้เคียง แต่จากการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องพบว่า การทำเหมืองแร่ทองคำดังกล่าวเป็นการทำเหมืองแร่ในระบบปิดไม่มีการปล่อยน้ำออกสู่ภายนอก และยังไม่พบว่ามีการปนเปื้อนของสารพิษจากระบบออกสู่สิ่งแวดล้อม ดังนั้นบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ควรดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจให้แก่สาธารณชนโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ได้ทราบข้อเท็จจริงมากขึ้น   การทำเหมืองดังกล่าวมีความปลอดภัย   และมีมาตรการในการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมและสามารถลดผลกระทบได้  ควรมีความโปร่งใสกับประชาชนให้สามารถเข้าตรวจสอบได้ตลอดเวลาเพื่อสร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจที่ดีในการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ จำกัด
                สิ่งที่น่าสังเกตคือ งานศึกษาทั้งสองชิ้นนี้ ขัดแย้งกับการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพของน้ำผิวดินและใต้ดินของหน่วยงานราชการต่างๆที่ตรวจพบการปนเปื้อนของสารเคมีในกระบวนการแต่งแยกแร่ รวมทั้งงานวิจัยและศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่ในจังหวัดเลยถือเป็นประเด็นพื้นฐานเบื้องต้นที่นำไปสู่การศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประเมินความเป็นไปได้ของการทำเหมืองแร่รูปแบบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่
                ดังเช่นงาน การศึกษาความเป็นไปได้การทำเหมืองแร่แบไรท์แบบเหมืองใต้ดินที่บริษัท พีแอนเอสแบไรท์ ไมน์นิ่ง จังหวัดเลย ของ มานะ จาตุวรรณ (2552) ผู้ศึกษาศึกษาความเป็นไปได้ในการทำเหมืองใต้ดินแบบอุโมงค์หลายระดับ มาประยุกต์ใช้ในการทำเหมืองแร่แบไรต์ขนาดเล็ก โดยวิธีเก็บรวบรวมข้อมูลและแปลความหมายของการสำรวจที่ศึกษามาแล้วและเก็บข้อมูลข้อมูลทางด้านวิศวกรรมธรณีในภาคสนาม เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล ออกแบบเหมืองและประเมินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการทำเหมือง ผลการศึกษาพบว่า แหล่งแร่แบไรต์ในพื้นที่ที่ทำการศึกษา มีลักษณะเป็นสายแร่ที่วางตัวอยู่ในแนวเกือบดิ่ง หนาประมาณ 4 เมตรถึง 12 เมตร สายแร่โผล่ตามแนวสันเขาและมีความลึกจากผิวดินลงลงไปประมาณ 150 เมตร คุณภาพเชิงวิศวกรรม ธรณีของสายแร่และมวลหินข้างเดียวจัดอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำ การทำเหมืองใต้ดินแบบอุโมงค์ หลายระดับด้วยวิธีการเจาะระเบิดได้ถูกเลือกมาพัฒนาและทำเหมืองแร่ การพัฒนาใต้ผิวดินมีอุโมงค์ทางเข้าสำหรับขนส่งคนงาน เครื่องจักรและอุปกรณ์ทำเหมือง ซึ่งจะถูกขุดตามแนวราบที่เส้นความสูง 350 เมตร และเดินขนานไปตามสายแร่  งานศึกษาแนวนี้ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการตัดสินใจรูปแบบการทำเหมืองในพื้นที่จังหวัดเลย ว่ามีความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจและให้ประสิทธิภาพในการผลิตระดับสูง
                ในทางตรงกันข้าม จากเอกสารบันทึกการประชุมของคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาเรื่องร้องเรียนของราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ครั้งที่ 6/2553 วันพุธที่ 6 สิงหาคม 2553 ในระเบียบวาระที่3 เกี่ยวกับเรื่องพิจารณา ในเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัททุ่งคำ จำกัดในจังหวัดเลย  ที่สรุปจากการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล เช่น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี ได้ข้อเสนอแนะดังนี้  ปัญหาทางด้านเทคนิค โครงการเหมืองแร่ดังกล่าวต้องคำนึงถึงความพอใจของชาวบ้านนอกเหนือจากความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพราะแต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมแต่มีโลหะหนักอยู่ใต้พื้นดิน ซึ่งการทำเหมืองแร่เกิดจากระยะแรกของโครงการตั้งแต่การเปิดหน้าเหมือง การสร้างโรงแยกแร่ไม่ได้มีการป้องกัน ทำให้มีการเปิดหน้าดินธรรมชาติออกหมด และเกิดการชะล้างสารหนูและโลหะหนักลงในลำห้วยต่างๆ แม้ว่าบริษัทจะอ้างว่าการแยกทองคำต้องใช้สารไซยาไนด์เป็นตัวทำละลาย แต่ก็มีการป้องกันโดยการสร้างบ่อกักเก็บที่มีพลาสติกปูรองก้นบ่อเพื่อป้องกันการรั่วซึม แต่ก็มีการตรวจพบสารปนเปื้อนจำพวกแคดเมียมและแมงกานีสในแหล่งน้ำธรรมชาติเมื่อปีพ.ศ.2547-2549 โดยเฉพาะปี2549 ที่เริ่มเปิดเหมืองและยังมีระบบป้องกันที่ไม่ดีพอ ปีพ.ศ.2550 บริษัททุ่งคำ จึงได้ปรับเปลี่ยนเป็นการทำเหมืองปิดเพื่อป้องกันสารไซยาไนด์รั่วซึม ดังนั้นการเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้นในระยะเริ่มแรก และสามารถแก้โดยใช้กระบวนการตากแดดเพื่อสลายสารพิษ โดยขุดลอกดินโคลนออกจากลำห้วยแล้วนำไปเก็บไว้ในโรงเก็บกากแร่ ที่มีระบบป้องกันการรั่วซึมเพื่อแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง รวมถึงกรณีน้ำผุดหรือน้ำซับบริเวณด้านหลังบ่อ เก็บกากแร่ ซึ่งต้องแก้ปัญหาโดยการลอกตะกอนดินบริเวณดังกล่าว รวมทั้งใช้การสังเกตการณ์หรือตรวจสอบคุณภาพน้ำเพื่อป้องกันการรั่วซึม ทั้งนี้การตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพน้ำจากหน่วยงานต่างๆควรทำอย่างรวดเร็วและเปิดเผยผลต่อสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีปัญหาสังคม โดยเฉพาะการขาดความเชื่อถือในหน่วยงานราชการและบริษัททุ่งคำจำกัด ในเรื่องผลการวิเคราะห์น้ำ ซึ่งควรใช้หน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาที่ประชาชนยอมรับมาทำการศึกษาหาสาเหตุของการปนเปื้อนสารพิษดังกล่าว
                สำหรับปัญหาของชาวบ้านที่ร้องเรียนมีดังนี้ คือ น้ำผิวดินใต้ดินปนเปื้อนโลหะหนัก  ปัญหาการซื้อน้ำมาอุปโภคบริโภคเพราะประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องงดการใช้น้ำบริเวณรอบเหมือง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านที่ทำงานในเหมืองกับไม่ได้ทำงาน ปัญหาเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน พืชผลการเกษตรเสียหายและมีผลผลิตต่ำ ระบบป้องกันแก้ไขผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไม่ดี ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องเข้ามาดูแลปัญหาชาวบ้าน เช่นเรื่องสุขภาพ ชาวบ้านไม่อยากให้เหมืองดำเนินการต่อไป การทำงานของเครื่องจักรและการระเบิดหินส่งเสียงดังรบกวนชาวบ้าน รวมทั้งกองทุนประกันความเสี่ยง ต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ซึ่งไม่มีกฏหมายบังคับแต่เป็นเงื่อนไขของมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้เท่านั้น  ทำให้เกิดปัญหาการขังคับใช้กองทุนดังกล่าวเพื่อฟื้นฟูสังคมและสิ่งแวดล้อมเมื่อบริษัททุ่งคำเลิกกิจการไปแล้ว ดังนั้นการประกอบกิจการเหมืองแร่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสูง ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ
                งานชิ้นนี้จึงแตกต่างจากงานที่ศึกษาประเด็นเกี่ยวกับเหมืองแร่อื่นๆ ที่มักจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านบวกของโครงการเหมืองแร่และผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะงานศึกษาส่วนใหญ่เกิดจากบริษัทที่ประกอบกิจการเหมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเหมืองแร่

ประเด็นศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม
                                งานศึกษาของวนาพรรณ สุตบุญมา (2552) ในเรื่องการเฝ้าระวังคุณภาพของลำน้ำฮวย  เป็นวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษาสาขาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย พบว่ามีฟีนอลสูงสุด 4.8117mg/L ณ สถานีบ้านกกสะทอน ในเดือนสิงหาคม และพบว่ามีปริมาณสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ทุกเดือนในจุดเก็บตัวอย่างสถานีบ้านกกสะทอน พบปริมาณโครเมียมสถานีบ้านกกสะทอน บ้านภูทับฟ้า และบ้านนาหนองบง เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดทั้ง 3 สถานี ส่วนโลหะทองแดงและแมงกานีสพบเกินมาตรฐานบางจุดทั้งนี้เนื่องจากในพื้นที่ใกล้จุดเก็บตัวอย่างมีการปลูกพืชและมีการใช้ปุ๋ยเคมีประเภทปุ๋ยยูเรียเพื่อเร่งการเจริญเติบโตและมีขยะจำนวนมาก ในฤดูร้อนน้ำน้อยทำให้ความเข้มข้นของสารเคมีสูง ในจุดที่ SW2, SW4 , SW5 และSW6มีสาหร่ายคลุมผิวน้ำจำนวนมากในหน้าร้อนและน้ำมีกลิ่นเหม็นเล็กน้อยซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง นอกจากนี้ยังพบปริมาณโคลิฟอร์มแบคทีเรียเกินมาตรฐานจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะในชุมชนรอบเหมืองทองคำยังไม่มีระบบการเก็บขยะที่ถูกต้อง มีการทิ้งและเผาขยะริมแม่น้ำฮวยและมีการปล่อยน้ำเสียลงในแหล่งน้ำโดยไม่มีการบำบัดก่อน ส่วนคุณภาพน้ำบาดาลพบปริมาณโลหะหนักเกินมาตรฐานหลายจุด โดยเฉพาะเหล็กพบเกินมาตรฐานทุกจุดทุกฤดู พบแมงกานีสเกินมาตรฐานทุกจุดในฤดูฝนและฤดูหนาว และพบแคดเมียมเกินมาตรฐาน 3 จุดในฤดูฝนและฤดูร้อน ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะพื้นที่ในเขตตำบลเขาหลวงมีหินแกรโนไดโอไรด์ผุ (Weathered granodiorite) ซึ่งมีดินเหนียว แร่เหล็กและแมกนีเซียม คอร์ทและเฟลด์สปาร์ แทรกสลับ สามารถกักเก็บน้ำได้หรือเป็นชั้นอุ้มน้ำที่พบในระดับตื้น  เหล็กที่อยู่ในหินชนิดนี้อาจถูกชะละลายและซึมเข้าไปยังแหล่งน้ำใต้ดินได้ สอดคล้องกับงานศึกษาของศูนย์วิจัยน้ำบาดาล คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น(2552) และงานของวันเฉลิม จำนงบุญ (2552) ในเรื่องการวิเคราะห์หาคุณภาพน้ำและน้ำประปา ในชุมชนรอบเหมืองทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย พบว่าปริมาณเหล็กสูงสุดคือ 5.5158 mg/L ในเดือนมกราคม ณ สถานีเก็บตัวอย่างบ้านนาหนองบง (คุ้มใหญ่) ซึ่งปริมาณที่ตรวจพบจะอยู่ระหว่าง <0.59235.5158 mg/L ซึ่งเป็นค่าที่เกินมาตรฐาน ประกอบกับในพื้นที่เก็บตัวอย่างมีการใช้ปุ๋ยเคมีประเภทฟอสเฟตซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุให้ปริมาณแคดเมียมเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากปุ๋ยฟอสเฟตจะมีแคดเมียมเจือปนอยู่ โดยเปรียบเทียบกับผลการศึกษาปริมาณแคดเมียมในดินลุ่มน้ำไรน์ ของ Stigliani andAnderberg (1993) พบว่าปริมาณแคดเมียมเพิ่มขึ้นจากปี 1970 (350 g / hac) เป็นสองเท่า ในปี 1990 (700 g / hac)เนื่องจากมีการใช้ปุ๋ยฟอสเฟตจำนวนมาก เช่นเดียวกับผลการศึกษาของจันทร์แจ่ม ดวงอุปะ และคณะ (2550) ในรายงานผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำในลำน้ำฮวย มหาวิทยาลัยราชภัฎเลยที่พบการปนเปื้อนของสารเคมี เช่น ฟอสเฟต แคดเมียม แมงกานีส ในระดับที่เกินมาตรฐานในลำน้ำฮวยและลำน้ำสาขาของชุมชนที่อยู่รอบลำน้ำฮวย ซึ่งใช้น้ำจากแม่น้ำดังกล่าวในการอุปโภคบริโภคแต่ผลการศึกษาดังกล่าวยังไม่ได้เน้นย้ำหรือสรุปให้เห็นว่าผลกระทบดังกล่าวมาจากการดำเนินการของเหมืองแร่ แต่ผลการศึกษากับพยายามชี้ว่าเกิดจากการใช้ปุ๋ยฟอสเฟตในปริมาณมากและปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำบนดินใต้ดิน
งานศึกษาเรื่องของคุณภาพของน้ำผิวดินและน้ำบาดาลข้างต้น มีความแตกต่างจากงานศึกษาเกี่ยวกับคุณภาพของน้ำบนดินและใต้ดินที่สัมพันธ์กับเรื่องของการประกอบกิจกรรมเหมืองแร่ ดังเช่นงานศึกษาการวิเคราะห์คุณภาพน้ำในชุมชนรอบเหมืองทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวงสะพุง จังหวัดเลย ของรัศมี นนทีและคณะ (2552) นักวิจัยทั้งหมดอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย ที่วิเคราะห์คุณภาพน้ำบริเวณรอบเหมืองทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งได้ทำการวิเคราะห์น้ำผิวดิน 7 จุด น้ำบาดาล 6 จุด ใน 5 ชุมชน โดยเก็บตัวอย่างน้ำในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาวและฤดูร้อน  เพื่อวิเคราะห์หาไนเตรท-ไนโตรเจน ไซยาไนด์ แอมโมเนีย-ไนโตรเจนและซัลเฟต และทำการวิเคราะห์หาโลหะหนัก  เพื่อเปรียบเทียบกับคุณภาพน้ำใต้ดินให้สอดคล้องกับมาตรฐานตามประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฉบับที่8(พ.ศ.2537) และน้ำบาดาลเพื่อการบริโภคตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่12 (พ.ศ.2542)  พบว่าน้ำผิวดินทั้ง7 จุด อยู่ในประเภทแหล่งน้ำผิวดินที่มีปริมาณฟีนอล แอมโมเนีย-ไนโตรเจน และโคเมี่ยม เกินมาตรฐานทุกจุดและทุกฤดู มีทองแดงเกินมาตรฐาน 5 จุด ได้แก่แม่น้ำฮวย คุ้มห้วยเหล็ก และฝายน้ำล้นแม่น้ำฮวย บ้านภูทับฟ้า ในฤดูฝน แม่น้ำฮวย บ้านกกสะทอน แม่น้ำฮวย บ้านห้วยผุก ในฤดูหนาวและฤดูร้อน และลำห้วยเหล็ก บริเวณทุ่งนาเหนือเหมืองทองคำ ทั้ง 3 ฤดู มีแมงกานีสเกินมาตรฐาน  ส่วนน้ำบาดาลมีปริมาณเหล็กเกินมาตรฐานในทุกจุดทุกฤดู แมงกานีสเกินมาตรฐานทุกจุดในฤดูฝนและหนาว นอกจากนี้ยังพบแคดเมี่ยมเกินมาตรฐานทั้ง3 จุด ทั้งบ้านแก่งหิน ในฤดูร้อน บ้านนาหนองบง คุ้มใหญ่ และบ้านนาหนองบงคุ้มน้อย ในฤดูฝน ซึ่งผลการศึกษาสรุปว่า คุณภาพน้ำผิวดินและบาดาลบริเวณชุมชนรอบเหมืองทองคำไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ดังนั้นการจะนำน้ำมาใช้อุปโภคบริโภคต้องมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อน
สอดคล้องกับงานศึกษาของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 9 อุดรธานีในรายงานผลการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองแร่ทองคำ (2551) ได้ตรวจพบปริมาณสารแมงกานีสและไซยาไนด์ในลำน้ำฮวยเกินมาตรฐานน้ำผิวดิน นอกจากนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย ยังได้ประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองทองคำให้ระมัดระวังการใช้น้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ควรนำน้ำมาดื่มโดยตรงและไม่ควรนำน้ำมาใช้ประกอบอาหาร โดยในประกาศระบุว่า ผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำในพื้นที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลยของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ในระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 22551 พบว่า มีสารหนูในลำห้วยเหล็ก ในเขตพื้นที่บ้านกกสะทอนหมู่ 2 พบแมงกานีสในลำห้วยผุก ที่บ้านนาหนองบง หมู่ 3และพบแคดเมียมในระบบประปาบาดาลบ้านนาหนองบง (คุ้มน้อย) หมู่ 3 ซึ่งปริมาณสารที่พบสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและคุณภาพน้ำบริโภคของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พ.. 2543
                นอกจากนี้ยังมีการศึกษาของ โครงการสหวิทยาการบัณฑิตศึกษา สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(2547) ในรายงานเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาแหล่งแร่ทองคำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์วิจัยน้ำบาดาล (2552) ในรายงานผลปฏิบัติตามมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่ทองคำภูเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ประจำเดือนมกราคม พ.ศ.2552 คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ,งานศึกษาของกลุ่มเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย ที่นำเสนอในเอกสารประกอบการสัมมนาเปิดเวทีเชิงประเด็นเห็นปัญหาร่วมกัน กรณีเหมืองทองคำ จ. เลย วันที่ 1 ธันวาคม 2550 ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัด ,งานศึกษาของกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง รายงานผลการตรวจสอบปริมาณสารไซยาไนด์และโลหะหนักในแหล่งน้ำผิวดิน บ่อน้ำใช้ของประชาชน บ่อสังเกตการณ์ภายในเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ จำกัด และตะกอนดินบริเวณหมู่บ้านใกล้เคียง เมื่อวันที่ 24-25 มิถุนายน 2551 (เอกสารอัดสำเนา) , งานศึกษาของกรมควบคุมมลพิษ (2552) เรื่อง รายงานผลการตรวจสอบปริมาณสารไซยาไนด์และโลหะหนักในแหล่งน้ำผิวดิน บ่อน้ำใช้ของประชาชน และตะกอนดินบริเวณหมู่บ้านใกล้เคียงเหมืองแร่ทองคำของ บ. ทุ่งคำ จำกัด เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2552 (เอกสารอัดสำเนา) ที่ผลการศึกษาของกลุ่มดังกล่าวต่างสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของเรื่องสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพ จากการปนเปื้อนของสารเคมีที่เกิดขึ้นจากกระบวนการแต่งแร่ เช่น แคดเมียม ตะกั่ว สารหนูและแมงกานีสในปริมาณที่เกินมาตรฐานในหลายจุดและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ และสะท้อนให้เห็นว่า สารเคมีที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติสามารถแพร่กระจายลงสู่ดินและสะสมในดินและ สามารถสะสมในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต เช่น พืชและสัตว์ที่ดูดซึมน้ำที่มีสารเคมีปนเปื้อนเข้าไป และถ่ายทอดไปยังห่วงโซ่อาหารได้ดังนั้นจึงควรมีการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำตามแหล่งน้ำต่างๆที่ประชาชนใช้สำหรับอุปโภคบริโภค เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้มีคุณภาพเหมาะสมกับการนำไปใช้ และประชาชนในชุมชนมีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคอย่างปลอดภัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...