ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ตีความหนังเรื่อง This is not a Burial, It’s a Resurrection โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 วัฒนธรรมเป็นเรื่องของความหมาย การดำรงอยู่และการต่อสู้ท่ามกลางกระแสของการเปลี่ยนแปลง ...วัฒนธรรมล้วนมีการเปลี่ยนผ่าน มีช่วงเวลา มีการสูญหายไป มีการรื้อฟื้นและ มีการสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา ดังเช่นเหตุการณ์ที่ปรากฏให้เห็นในส่วนต่างๆของโลก ในหนังเรื่อง This is not a Burial, It’s a Resurrection ฉายภาพของฉากที่เกิดขึ้นในเมืองเล็กๆของเลโซโท ( Lesotho ) ซึ่งเลโซโทเป็นประเทศเล็กๆที่อยู่ในทวีปแอฟริกา มีพรมแดนติดกับประเทศแอฟริกาใต้ (South Africa) ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลและปกครองด้วยกษัตริย์หรือราชาธิปไตย ประเทศเลเซโทมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับแอฟริกาใต้ในฐานะของพันธมิตรทางเศรษฐกิจในการสร้างเขื่อนและอุโมงค์ขนส่งน้ำจากเลโซโทไปยังแอฟริกาใต้ รวมถึงการส่งออกแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมของประเทศแอฟริกาใต้ ในขณะที่ประเทศเหล่านี้ยังแห้งแล้ง ผลผลิตไม่เพียงพอต่อประชากรและมีความยากจน ด้วยความที่เป็นภูเขาที่ราบสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,400-1,800 เมตร และเป็นประเทศในแอฟริกาที่มีหิมะตก น่าสนใจว่าพวกเขาส่วนหนึ่งใช้ประโยชน์จากหิมะที่ละลายเป็นน้ำในการอุปโภคบริโภคทั้งที่สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ โดยผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้คือคือ Lemohang Jeremiah Mosese เป็นผู้อำนวยการสร้าง และ Nadja Dumouchel เป็น Story Editor และ หนังเข้าฉายปี 2019 ความยาวประมาณ 119 นาที แต่อัดแน่นด้วยเนื้อหาที่เข้มข้น สัญลักษณ์มากมายที่ให้ผู้ชมได้ตีความด้วยตนเอง..

มนุษย์ทุกคนล้วนเกิดมาภายใต้ร่างกายที่เปลือยเปล่า และผนวกตัวเองเข้ากับสายสัมพันธ์ทางธรรมชาติแห่งวัฏจักร ในเส้นทางแห่งการเดินทางของชีวิต ที่ล้วนเปลี่ยนแปลงตามเวลา ทั้งการเกิด แก่ เจ็บและตาย ทุกสังคมต่างก็มีความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณของผู้จากไป การเดินทางในโลกหลังความตาย ความเชื่อเกี่ยงกับโลกหน้า ความเชื่อเรื่องการเกิดใหม่ การฟื้นคืนชีพ การกลับชาติหรือการอวตารใหม่ของผู้แตกดับ...
ร่างกายของมนุษย์ล้วนเกี่ยวโยงกับธรรมชาติ ภายใต้สภาวะของการแทรกตัวและการตอกย้ำให้เห็นภาพของการเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ร่างกายที่เกิดจากธรรมชาติ เมื่อตายก็ย้อนกลับคืนสู่ธรรมชาติของความเชื่อทางคริสต์ศาสนาและพุทธศาสนา ที่บอกว่า “เกิดจากดินและกลับสู่ดิน” “การเกิดจากธาตุที่ประกอบรวมกันเข้า มีการแยกส่วนธาตุ กลับสู่ธรรมชาติ”...คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่าการตายคือการสิ้นสุด แต่ปรัชญาทางศาสนาบางกลุ่มเชื่อเรื่องการเดินทาง เขื่อเรื่องการฟื้นคืนชีพ เชื่อในเรื่องเป้าหมายสูงสุดคือการเอาชนะวงจรธรรมชาติ และเชื่อเรื่องการเกิดใหม่ การหาร่างใหม่ของจิต เป็นต้น มนุษย์เราล้วนเผชิญหน้ากับความตายอยู่ทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็น การเสื่อมสลายของเซลล์ในร่างกายที่เกิดขึ้นประจำทุกวัน แม้แต่การนอนหลับก็คือการตายชั่วขณะหนึ่งเช่นกัน หรือกระทั่งคนที่ไม่รับรู้ รู้สึกรู้สาหรือด้านชาต่อสิ่งใดๆ ก็เหมือนกับว่าคนๆนั้นได้ตายไปแล้ว หรือแม้แต่คนที่ยอมแพ้และไม่ต่อสู้กับอะไรแล้วในชีวิต พวกเขาเหล่านั้นก็เปรียบเสมือนกับคนที่ตายไปแล้วแม้ว่าจะยังหายใจอยู่ หรืออยู่ในสภาวะที่เรียกว่าตายทั้งเป็น ตายทั้งที่หายใจ...
ความเชื่อของมนุษย์บนโลกในที่ต่างๆ สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติกับการสำนึกแห่งตน การยึดโยงตัวเองกับผืนแผ่นดินที่อาศัยหรือบ้านเกิด การเชื่อมโยงขวัญกับร่างกาย ขวัญเดินทางไปไหนก็ต้องกลับมาสู่ร่างกายเพื่อให้ร่างกายปกติ ดังเช่น พิธีกรรมการฝังสายรกใต้พื้นดินของบ้านเพื่อให้นึกถึงถิ่นฐานบ้านเกิด หรือชาวกะเหรี่ยงบางกลุ่มมีการใส่รกของเด็กแรกเกิดลงในกระบอกไม้ไผ่ก่อนที่นำไปแขวนบนต้นไม้ ที่ร่างกายและจิตวิญญาณของเด็กเหล่านั้นจะเติบโตพร้อมกับต้นไม้ หรือการผูกรกที่เสาบ้าน เอาเอาอัฐิของบรรพบุรุษไว้ในบริเวณบ้านของตัวเอง เป็นต้น
การตั้งรกรากและความคิดเรื่องบ้าน เชื่อมโยงกับความรู้สึกเป็นชุมชนท้องถิ่น (locality) และความรู้สึกเป็นเจ้าของ (belonging) ที่สร้างสำนึก ประสบการณ์ ความทรงจำของผู้คนต่อพื้นที่ ความรู้สึกเป็นเจ้าของที่เสมือนวิธีการของการระลึกถึง การมีประสบการณ์ ความทรงจำร่วมเกี่ยวกับพื้นที่. ..ความเป็นเจ้าของได้สร้างความเข้าใจ ความรู้สึกเกี่ยวกับตัวเอง ชุมชนและทรัพยากร บ่อยครั้งที่นำไปสู่จินตนาการในเชิงร่างกาย (bodily image) การจินตนาการถึงอดีต และพื้นที่แห่งประสบการณ์ร่วมบางอย่าง ผ่านคำบอกเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ นิทานปรัมปราเกี่ยวกับพื้นที่ เหตุการณ์สำคัญ บรรพบุรุษและความเชื่อ...
ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ เชื่อมโยงกับชื่อบ้านนามเมือง เช่นชื่อหมู่บ้านทุ่งกำสรวล หรือทุ่งแห่งความสะอื้นไห้ (the plains of weeping) ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือเรื่องเล่าเกี่ยวกับพื้นที่ การถูกเรียกว่า ทุ่งสะอื้นไห้ เนื่องจากในอดีตการระบาดของกาฬโรคทำให้ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมาก การเดินทางไปโรงพยาบาลในเมืองที่ต้องผ่านทุ่งนี้ เมื่อมีคนตายเขาก็ฝังไว้ที่ผืนดินแห่งนี้เพราะไม่อยากทิ้งคนที่เขารักไว้ลำพังที่นี่ จึงเป็นที่มาของการตั้งถิ่นฐาน จนกระทั่งการเข้ามาของมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส ที่นำไปสู่การสร้างโบสถ์ร่วมกันของชาวบ้านและมิชชันนารีขึ้นที่นี่ และการสร้างระฆังที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของโบสถ์ในการส่งข้อความถึงพระเจ้า รวมทั้งการที่ผู้คนได้ละทิ้งหอกหรืออาวุธที่เคยใช้รบและฆ่ากันในสงครามเพื่อเข้าสู่ดินแดนแห่งคริสต์ศาสนา ความจริงพวกเขาไม่ได้เพียงแค่สละหอกที่เคยเป็นอาวุธปกป้องตัวเองเพื่อหลอมระฆัง แต่พวกเขายังได้สละวิถีชีวิต ความเชื่อแบบเดิมๆ เพื่อเปิดประตูเข้าไปสู่โลกใหม่ด้วย ภายใต้การสร้างความทรงจำใหม่ ความเชื่อใหม่ วิถีชีวิตแบบใหม่ มิชชันนารีได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านนี้ใหม่ว่า นาซาเรธา (Nasaretha ) ที่เป็นหมู่บ้านบริเวณหุบเขาของเขต เลโซโท (Lesotho) แต่ไม่ว่าจะเรียกอะไร พวกเขาก็เรียกที่นี่ว่าคือบ้าน (home)
เรื่องราวของหญิงม่ายชราวัย 80 ปีที่ชาวบ้านเรียกเธอว่า มันเทา(Mantoa)หรือชื่อจริงคือ Mary Twala Mhlongo หญิงชรารูปร่างผอมบาง ผู้เผชิญกับความเศร้าโศกจากการสูญเสียลูกชายเพียงคนเดียวของเธอ เธอเฝ้ารอการกลับมาของลูกชายที่ชื่อ โมลันตัว (Molantoa) เขาก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับหนุ่มสาวคนอื่นๆในหมู่บ้านของเธอ พวกเขาอพยพไปทำงานในเหมืองทองแดง ทองคำและเพชรที่แอฟริกาใต้เพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว เพื่อสร้างความเจริญเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศ บางคนได้กลับมาเยี่ยมบ้านในช่วงคริสต์มาส บางคนไม่ได้กลับ ดังเช่นลูกชายเธอที่ไม่ได้กลับมาและคงไม่ได้กลับมาบ้านเกิดอีกแล้ว เพราะเขาเสียชีวิตจากการทำงานในเหมืองแร่ ดังเช่นเดียวกับหนุ่มสาวอีกหลายคน การเสียชีวิตของผู้คนที่นี่เป็นเรื่องปกติ หากไม่เกิดจากโรคระบาด หรือภัยสงคราม ก็เกิดจากการทำงานภายใต้ความเจริญของอุตสาหกรรมและประเทศ แต่หากพวกเขารอดชีวิตกลับมาได้ ก็จะได้รับการต้อนรับดังเช่นวีรบุรุษในสงคราม หากต่างกันเพียงแค่มันไม่ใช่การรบเพื่อปกป้องดินแดนของตัวเอง แต่เป็นการรบกับความหิวกระหายของรัฐและนายทุนในการจัดการและแย่งชิงทรัพยากรซึ่งพวกเขาต้องทำงานอยู่ใต้ดินของเหมืองแร่..
ความรู้สึกโศกเศร้าและสูญเสีย ถูกตอกย้ำอีกครั้งเมื่อบ้านเกิด (homeland) ของเธอ ได้รับผลกระทบจากการนโยบายการพัฒนาเรื่องเขื่อน เธอและคนในชุมชนจะต้องอพยพโยกย้ายย้ายออกจากที่นี่เพื่อเข้าไปอยู่ในเมือง ก่อนที่จะดำเนินการสร้างเขื่อนและน้ำมหาศาลก็จะไหลเข้ามาท่วมบ้านเรือน พื้นที่เพาะปลูกรวมถึงหลุมฝังศพของบรรพบุรุษที่พวกเขารักและเคารพให้เลือนหายไป...
หญิงม่ายชรามันเทา ครั้งหนึ่งเธออยู่ในคณะของบาทหลวงและกลุ่มนักร้องคริสเตียนที่ทำหน้าที่ร้องเพลงและดูแลคนป่วยในชุมชน ภายใต้ศรัทธาที่แรงกล้าต่อพระเจ้า แต่หลังเหตุการณ์การสูญเสีย สามี ลูกชายและหลานของเธอ ทำให้เธอหมดหวังและสิ้นศรัทธาต่อพระเจ้า เธอเบือนหน้าหนีจากพระเจ้าที่เคยเป็นที่พึ่งของเธอ ดังฉากแรกที่เธอยืนอยู่หน้าบ้าน กรี๊ดร้องด้วยเสียงแหลมเล็กดูโหยหวน และเพ้อพร่ำว่าลูกชายของเธอไปไหน ใครพาเขาไป ทำไมเขาถึงไม่กลับมา เสียงที่ออกมาจากร่างชราที่พยามส่งผ่านความรู้สึกจากบ้านในหุบเขาของป่าสู่เมืองที่ลูกชายของเธอทำงานและเสียชีวิต สายตาของหญิงชราที่ทอดมองออกไปเบื้องหน้าอย่างไร้ความหวัง อัดแน่นด้วยความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวดบาดอย่างแสนสาหัส เพราะลูกชายเธอทำให้เธอศรัทธาในพระเจ้า ความเชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะปกป้องเขาในการทำงานที่เสี่ยงอันตรายแต่พระเจ้าก็ละทิ้งเขาไป เสียงที่ค่อยๆหายไป สอดรับกับสิ่งที่พูดถึงการปฏิเสธของหญิงม่ายชราที่จะพูดกับใครในช่วงของการไว้ทุกข์ ที่อาจเรียกว่า Silent contempt หรือความชิงชังที่ไร้เสียง..ฉากนี้บาดลึกลงไปในจิตใจของผู้ชมอย่างผมมาก...
ภายใต้สิ่งที่เรียกว่าการพัฒนา การเข้ามาของเขื่อน เราได้เห็นการปะทะกันระหว่างบทบาทของผู้นำชุมชน การโน้มน้าวของนักการเมือง ท้องถิ่น ความอ่อนแอของผู้นำทางจิตวิญญาณ การเข้ามาของพวกคนงานสร้างเขื่อน และการต่อสู้ของชาวบ้าน รวมถึงการสญเสียของนักต่อสู้...
การพัฒนาโดยการอ้างสิทธิและความชอบธรรมในการจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะที่ดิน สะท้อนให้เห็นอำนาจ การอ้างสิทธิ์และความรู้สึกของความเป็นเจ้าของ ความทรงจำ รวมถึงความสำนึกต่อถิ่นฐานบ้านเกิด ร่างของบรรพบุรุษ สายรกที่ฝังอยู่ใต้แผ่นดินเมื่อเกิด เมื่อตายร่างกายก็ฝากไว้กับแผ่นดินที่ห่อหุ้มปกป้องร่างกาย หญิงม่ายชราตั้งคำถามกับการพัฒนา หากจะย้ายพวกเธออกไป พวกเขาจะต้องขุดศพทั้งหมดไปกับเราด้วยเธอยืนยันและเธอเดินทางไปกระทรวงกิจการท้องถิ่น เพื่อพบรัฐมนตรีแต่สิ่งที่ได้คือคำแนะนำเกี่ยวกับการเขียนจดหมายร้องทุกข์แล้วหย่อนลงกล่องรับเรื่องร้องทุกข์เพื่อส่งให้ผู้มีอำนาจ ...ฉากหนึ่งที่เราเห็นได้จากการที่หญิงม่ายชรา ผู้นำชุมชน บาทหลวง และเพื่อนบ้านต่างช่วยกันเขียนจดหมายเพื่อส่งถึงกษัตริย์และผู้มีอำนาจ.. “เขียนแบบตรงๆไม่ต้องโรแมนติกมาก” ผู้นำชุมชนบอกกับหญิงชราและชาวบ้านว่าตามหลักการเราไม่ใช่เจ้าของที่ดิน ที่ดินเป็นของกษัตริย์เราทำอะไรไม่ได้ถ้าเขาต้องการ เพื่อการพัฒนา “Technically, this land, is the king’s land. It’s lent to us” เราสามารถครอบครองที่ดินได้เพียง 90 ปี พวกเราได้ทำสัญญาด้วยปากเปล่าและความไว้เนื้อเชื่อใจ...
แม้ว่าในภาพยนตร์ เราจะเห็นฉากที่พวกเขาจะช่วยกันเขียนจดหมายถึงกษัตริย์และรัฐมนตรี แต่ในเรื่องก็ไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่าจดหมายดังกล่าวไปถึงมือผู้มีอำนาจหรือไม่ คำตอบอยู่ในฉากของภาพยนตร์ที่ชาวบ้านต้องต่อสู้อย่างลำพังต่ออำนาจที่ใหญ่กว่าและพวกเขามองไม่เห็น ...ดังเช่นเหตุการณ์บ้านของหญิงม่ายที่ถูกเผาวอดทั้งหลัง ชายหนุ่มที่ถูกยิงตายในช่วงพิธีกรรมเฉลิมฉลองการเพาะปลูก ซึ่งไม่เห็นตัวผู้กระทำไม่ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดตอนกลางวันหรือกลางคืน ที่ส่งผลให้พวกเขาต้องยอมแพ้ และยินยอมที่จะละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเองเข้าไปสู่เมือง ดังเช่นฉากก่อนสุดท้ายที่พวกเขาบอกกล่าวขอโทษบรรพบุรุษที่หลุมศพ ร่วมกันร้องเพลงและเดินอพยพออกจากหมู่บ้านไป...The new home in the capital
แม้ว่าในฉากของหนังเราไม่เห็นตัวเขื่อนหรือสิ่งที่บอกว่าเขื่อนจะสร้างหรือไม่ จนไม่อาจฟันธงได้ว่าเขื่อนนี้สามารถสร้างเสร็จหรือไม่ แต่ฉากแรกน่าจะสะท้อนให้เห็นเรื่องเล่าของคนในพื้นที่เมืองที่อาจเป็นคนจากนาซาเรธา ฉากบาร์ในเมืองที่ผู้หญิงผู้ชายคนหนุ่มคนแก่เต้นรำ ดื่มเบียร์ภายใต้ดวงไฟคริสตัลทรงกลมที่แขวนบนเพดาน โต๊ะสนุ๊กเกอร์ที่วางกลางห้อง โซฟาที่เป็นที่นั่งดื่มและร้องเพลง ที่สลับกับเรื่องเล่าของชุมชนและหญิงม่ายชราที่ชื่อมันเทา โดยชายแต่งชุดพื้นเมืองที่เป่าเครื่องดนตรีพื้นเมืองสลับการเล่าเรื่องในภาพยนตร์เรื่องนี้
ในภาพยนตร์ เราได้มองเห็นมิติทางวัฒนธรรม มุมมองและบทบาทของผู้คนในพื้นที่ ไม่ว่าจะในพื้นที่ทางศาสนาของชุมชนพื้นเมืองของเลโซโท เราได้พบเห็นความจริงใจของนักการเมืองท้องถิ่น การโป้ปดและฉ้อฉล การกล่าวอ้างถึงความเจริญ ความก้าวหน้าในการพัฒนา การเป็นผู้นำสาร การเป็นตัวแทนของอำนาจ พร้อมกับการนำการเปล่งเสียงพร้อมๆกันว่า “เราจะต้องดีขึ้น ดีขึ้นจากการพัฒนา” ( Up with Development) เรากำลังเคาะประตูสู่โลกใหม่ “We are Knocking at the door of the modern world” ในขณะที่กำลังพูดหญิงม่ายชราก็เดินเข้าไปถามส.ส.คนนั้นว่า “แล้วหลุมศพจะทำอย่างไร” ส.ส. จำหญิงม่ายชราที่เคยไปร้องเพลงในงานศพแม่ของเขาได้ แล้วบอกกับเธอว่า “คุณต้องเลือกเอาว่าจะทำยังไงกับหลุมศพ แต่เราจะช่วยเหลือคนที่อพยพออกไป” ขณะเดียวกันภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำให้เราเกิดความเข้าใจหรือรู้สึกเกี่ยวกับรากเหง้าของอัตลักษณ์ของกลุ่มคนในพื้นที่เฉพาะทางประวัติศาสตร์ ภายใต้สำนึกของความเป็นท้องถิ่นและความเป็นเจ้าของพื้นที่ การแยกเขาออกจากพื้นที่ เสมือนการพรากพวกเขาออกจากความทรงจำ ความสำนึกเกี่ยวกับถิ่นฐานบ้านเกิด รวมถึงจิตวิญาณของความเป็นมนุษย์..
การพัฒนา สร้างอนาคตที่มองไม่เห็น สร้างความไม่แน่ใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ทั้งในแง่พื้นที่ใหม่ วิถีชีวิตแบบใหม่ ในชุมชนเมือง ทำให้ชาวบ้านที่นี่เกิดการตั้งคำถามต่อสิ่งที่ต้องเผชิญ เช่นถ้าฉันไปอยู่ในเมืองม้าฉันจะกินหญ้าที่ไหน... วิวาทะกับนักการเมือง นักพัฒนา ในการจัดการทรัพยากร ดังที่ชายชราคนหนึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่อธิบายคำว่าเฮคตรา (Hectra) ที่พวกเขาไม่เคยเข้าใจ มันทำอย่างไร ชายชราสะท้อนสิ่งที่เขาคิดเกี่ยวกับที่ดินที่กำลังจะถูกจัดการว่า “เรานึกว่าเราจะวัดกันด้วยปริมาณของผลผลิต ไม่ใช่เฮคตราหรือเอเคอร์ที่วัดพื้นที่ดิน ผมทำงานหนักบนผืนดินนี้ หาเลี้ยงครอบครัวของผมด้วยดินนี้” (I feed my family from this earth, the soil on this earth ) “แผ่นดินนี้คือของขวัญจากบรรพบุรุษของเรา” (This Soil was a gift from my mother) “เป็นมรดกให้ผม ให้ลูกหลานของผม แม้ว่ามันเล็กแต่มันเพียงพอกับครอบครัวของเรา”
My Home and My Grave ….คำพูดของหญิงม่ายชราที่กล่าวกับผู้นำชุมชนว่า ถ้าคุณไปจากที่นี่ อันเป็นพื้นที่ของบรรพบุรุษ คุณจงอย่าลืมว่าที่นี่ ร่างกายของเมียคุณ หลานของคุณ ลูกของคุณ รวมถึงพ่อแม่ของคุณล้วนต่างถูกฝังไว้อยู่ที่นี่ แต่คนทุกคนล้วนมีส่วนในการเปลี่ยนแปลง ดังเช่นฉากที่ผู้ชายคนหนึ่งย้อนเล่าความหลังถึงพ่อของเขาที่เคยไปเป็นคนงานรับจ้างตัดไม้ในป่าแห่งหนึ่งก่อนที่จะมีถนนเข้ามายังหมู่บ้าน...การปล่อยให้การพัฒนาเข้ามาและการสยบยอมต่อการพัฒนา...
ดังกรณีฉากที่ผู้หญิงคนหนึ่งที่พี่ชายของเธอป่วย โดยมีหญิงม่ายชรากับผู้นำศาสนา เข้ามาช่วยดูแลในช่วงที่เขาป่วย เธอบอกกับหญิงม่ายชราว่าเธอจะพาพี่ชายของเธอไปอยู่ในเมืองเพราะใกล้โรงพยาบาล อีกทั้งเธอก็ลาจนครบกำหนดแล้ว จำเป็นต้องกลับไปทำงานต่อ สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนที่นี่ก็กำลังเปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่ละทิ้งถิ่นฐานเพื่อความก้าวหน้าและสะดวกสบายกว่า ในขณะที่หญิงม่ายชราผูกพันอยู่กับที่นี่ เธอรู้จักทุกคนที่นี่ รวมถึงพืชพันธุ์ที่นี่ เธอบอกว่าฉันรู้จักสมุนไพรในทุ่งนี้ทุกชนิด เอามาใช้ทำยารักษาโรค ตั้งแต่ใช้แก้อักเสบ จนถึงยาที่ปรุงให้สามารถทำให้ฝนตกไม่แห้งแล้งได้ สามีของเธอ ลูกของเธอหลานของเธอฝังอยู่ที่นี่ รวมถึงร่างของหญิงม่ายชราที่เตรียมขุดหลุมฝังศพของเธอทั้งที่ยังไม่ตาย ที่แห่งนี้ที่เธอร่ำไห้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า…..เธอผูกพันเกินกว่าที่จะละทิ้งมันไปได้
ฉากสุดท้าย สิ่งที่ถูกบรรยายในฉากว่า ทุกคนล้วนเคยเห็นความตายมาแล้วทั้งนั้น แต่สิ่งที่เด็กคนหนึ่งที่เดินตามหญิงชรามา ชื่อของเธอแปลว่าลูกสาวที่ไร้พ่อแม่ได้พบเห็นในเหตุการณ์ครั้งนี้ ก็คือกระบวนการของการคืนชีพ ที่ไม่ใช่การคืนชีพของคนตาย แต่เป็นการฟื้นคืนชีพให้คนเป็น...จิตวิญญาณและการต่อสู้ของคนธรรมดาสามัญที่ต่ออำนาจกดทับที่กระทำราวกับมนุษย์ผู้นั้นเป็นเหมือนคนตาย ให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยศักดิ์ศรีของมนุษย์อีกครั้ง
ภายใต้เสียงตะโกนของพวกสร้างเขื่อนที่บอกหญิงม่ายชราว่า “อย่าเข้ามาในบริเวณนี้” แต่เธอไม่ฟังเสียงห้ามเหล่านั้น ยังคงเดินพยุงร่างกายที่เคลื่อนไหวได้ยากลำบาก ยกมือสองข้างเหนือหัวพร้อมกับร่างกายที่เปลือยเปล่าของหญิงชราเดินย้อนกลับไปยังหมู่บ้าน แหวกวงล้อมของชาวบ้านที่กำลังเดินขนย้ายสิ่งของสัตว์เลี้ยงเพื่ออพยพออกจากหมู่บ้านไป เด็กหญิงคนหนึ่งเดินตามหญิงม่ายชรา ที่เดินเข้าหากลุ่มที่สร้างเขื่อนอย่างไม่เกรงกลัว ชีวิตที่เหลือ ลมหายใจสุดท้ายที่มีของเธอพร้อมจะปกป้องพื้นที่ ไม่ใช่แค่เพียงพื้นที่ของชุมชนหมู่บ้านในเชิงภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณ พื้นที่ของบรรพบุรุษ การปลุกให้คนอื่นตื่นจากความหลับใหล ภาพการต่อสู้ด้วยร่างกายที่เปล่าเปลือยเช่นเดียวกับเด็กทารกที่เกิดใหม่ หญิงม่ายได้ลอกคราบหรือสลัดตัวเองออกจากอำนาจที่กดทับ เธอได้เอาชนะกับร่างกายที่เสื่อมถอยและสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นสิ่งผุผังหรือสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ดังที่มีการเปรียบเธอเหมือนผ้าขี้ริ้วเก่าที่ถูกทิ้งท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง พื้นที่ทางร่างกายที่ถูกสวมทับทั้งอิทธิพลทางศาสนา ธรรมเนียมประเพณีทางวัฒนธรรมและความทันสมัย แต่การเปลือยเปล่าก็คือการกลับไปสู่ธรรมชาติและจิตวิญญาณดั้งเดิม เช่นเดียวกับความสามารถของการเกิดใหม่และเติบโตทางจิตวิญญาณ การต่อสู้ของเธอ เปรียบเสมือนการปลุกเร้าจิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่ คนที่ยังมีลมหายใจแต่ไร้ซึ่งจิตวิญาณให้ลุกขึ้นมายืนหยัดด้วยตัวเองอีกครั้งหนึ่ง
ฉากสุดท้ายที่หญิงม่ายชราเดินเข้าหากลุ่มของผู้สร้างเขื่อนที่ตะโกนให้เธอไม่เข้ามาและกลับไป...ส่งผลทำให้ผู้คนที่กำลังอพยพและหันหลังให้กับถิ่นฐานเดิม ได้ย้อนกลับมาเช่นเดียวกับเธอ ฉากการต่อสู้ฉากแรกของภาพยนตร์ที่มีการปะทะกันของคนสองกลุ่ม รวมถึงฉากสุดท้ายที่เป็นฉากเดียวกันกับการเปิดเรื่อง...ทำให้เราต้องคาดเดาคำตอบของเรื่องนี้ว่าสรุปเขื่อนถูกสร้างไหม ชาวบ้านได้ย้ายออกไปหรือไม่ หนังเรื่องไม่ได้ชี้ให้เห็นข้อสรุปอย่างชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นการเล่าเรื่องที่บาร์ ที่คนแก่ คนหนุ่ม ผู้ชาย ผู้หญิง อยูในบาร์และเล่าเรื่องราวขอวหญิงม่ายเรโซโท น่าจะทำให้เห็นความเป็นตำนานของเธอที่ถูกเล่าขานและให้คนรุ่นหลังได้จดจำ...และตื่นรู้ “ ในนาซาเรธา เราจะได้ยินเสียงร่ำไห้และเสียงกระซิบของวิญญาณคนตายดังมาจากใต้น้ำลึก"
ในโลกของภาพยนตร์ก็จำลองโลกทางสังคม โลกของความจริง โลกของเหมืองในเลโซโทและแอฟริกาใต้ จำนวนของเขื่อนภายใต้นโยบายการพัฒนา การหายไปของชนพื้นเมือง การเปลี่ยนแปลงสู่ความทันสมัย ที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งสูญเสียชีวิต วัฒนธรรม ความทรงจำและจิตวิญญาณของพวกเขาไป...
เรื่องนี้สะท้อนความจริงที่ว่า เสียงสะอื้นไห้ไม่ใช่การสะอื้นไห้ของคนเป็นต่อคนตายเท่านั้นแต่ยังเป็นการสะอื้นไห้ของคนตายที่มีต่อคนเป็นด้วย...


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะ...

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile D...