ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ชาวไร่ชาวนา ความสัมพันธ์ที่แยกไม่ขาดจากเรื่องการเมือง โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 

                            ชาวไร่ชาวนา ความสัมพันธ์ที่แยกไม่ขาดจากเรื่องการเมือง

ความหมายของ ชาวไร่ชาวนา ไม่ได้เป็นแค่เพียงผู้ผลิตทางด้านการเกษตร หรือปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงคนทั้งประเทศ และต่างประเทศเท่านั้น แต่ความเป็นชาวนามีพัฒนาการที่สัมพันธ์กับเรื่องทางเศรษฐกิจ การเมือง ทั้งในเรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจ การต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เรียกว่า  ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่  หรือขบวนการชาวนา เพราะชาวนาได้ผนวกตัวเองเข้ากับรัฐชาติสมัยใหม่ ความเป็นชาวนา จึงสัมพันธ์กับความเป็น พลเมือง (Civil) ของรัฐชาติในปัจจุบัน

การต่อสู้ของชาวนาชาวไร่ โดยเฉพาะในแถบภาคอีสาน จึงเป็นการต่อสู้ที่ใช้อัตลักษณ์ทางชาติพันธ์และวัฒนธรรมของตัวเองในการเคลื่อนไหว โดยมีศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวอยู่ที่รัฐบาล นโยบายการพัฒนา การกดขี่ ไม่เป็นธรรม วิกฤตการณ์การรวมอำนาจทางการเมืองไว้ที่ศูนย์กลาง (Keyes 1977: 284) ที่เริ่มตั้งแต่กบฏผีบุญในสมัยรัชการที่ห้า กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นภาคอีสาน จนมาถึงการเดินขบวนประท้วง ของคนยากจน ชาวไร่ชาวนา กรณีได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น ชาวบ้านเขื่อนปากมูล สมัชชาคนจน สมัชชาเกษตรกรรายย่อย  สมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสาน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีและอื่นๆ ซึ่งข้อเรียกร้องที่สำคัญก็คือ เรื่องที่ดิน  หนี้สิน  วิถีชีวิตชุมชน และ สิ่งแวดล้อม  เป็นต้น

จากการเคลื่อนไหวข้างต้นเป็นการต่อสู้นอกระบบการเลือกตั้ง แต่เป็นการต่อสู้ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องของ การเมือง นโยบายและการพัฒนา ที่มีผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตของชาวไร่ชาวนาเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาพืชผล เรื่องผลผลิต หรือแม้แต่การแสวงหาแหล่งพลังงานต่างๆในประเทศ ก็ล้วนเข้ามาสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและชุมชนที่พวกเขาอาศัย เนื่องจากชาวนาชาวไร่เป็นเจ้าของหลัก เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่และมีหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ไว้ ไม่ให้ถูกทำลายและเสียสมดุลกับระบบนิเวศซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตของชาวไร่ชาวนาเหล่านี้

ความสัมพันธ์เหล่านี้ล้วนอยู่บนเงื่อนไขของวิถีชีวิตเกษตรกรรม การหาพื้นที่ราบลุ่มติดแม่น้ำเพื่อทำการเพาะปลูก ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน  อารยะธรรมในแถบภาคอีสานจึงเกิดขึ้นบริเวณแม่น้ำ เช่น ลำน้ำมูล ลำน้ำชี  ลุ่มน้ำสงคราม หรือแม่นำโขง เป็นต้น ถ้าในภาคกลางก็คือบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญในเขตที่ราบลุ่มภาคกลาง บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ จึงเป็นแห่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล รวมถึงเป็นแหล่งอารยะธรรมและมีผู้คนจากที่ต่างๆอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างแน่นหนา

                        กรอบการมองและการวิเคราะห์

ชาวนาและความเป็นชาวนา

จากนิยามของความเป็นชาวไร่ชานา (Peasantry)ที่เรียนกันมาตั้งแต่สัปดาห์แรกที่น่าสนใจและนำมาใช้วิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของชาวนาชาวไร่ในสังคมสมัยใหม่นี้ ก็คือ คำนิยามของ Eric Wolf (1967) ที่นิยามว่าชาวนาเป็นประชากรที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกและเป็นผู้ที่ตัดสินใจอิสระในการเพาะปลูก 

          ดังนั้นจากนิยามดังกล่าวการจัดแบ่งประเภทถูกทำให้ครอบคลุมถึงเกษตรผู้เช่านา (Tenants) และผู้เช่านาโดยจ่ายค่าเช่านาด้วยผลผลิต (Share Cropper) รวมถึงชาวนาที่มีที่ดินและเครื่องไม้เครื่องมือเป็นของตัวเอง ความเป็นชาวนาจะดำรงอยู่ตราบเท่าที่พวกเขาอยู่ในสถานภาพ ที่ตัดสินใจได้เองว่าจะผลิตพืชผลอย่างไร แต่คำถามที่ตามมาโดยทันทีก็คือ ชาวนาสามารถควบคุมสิ่งที่พวกเขาผลิตได้มากแค่ไหน (ถ้าสิ่งเหล่านี้อยู่ภายใต้การควบคุมของสภาพดินฟ้า อากาศ น้ำ แมลงศัตรูพืชหรือแม้แต่ราคาของมันในระบบตลาด)

          ปัจจัยที่ทำให้ ชาวนาสมัยใหม่ในสังคมเกิดขึ้นคือ การต่อสู้ของพวกเขาที่ถูกกำหนดหรือวางรูปแบบ ในท่ามกลางเส้นทางที่จะก้าวไปสู่ภาวะสมัยใหม่ ชาวนาจึงกลายเป็นทั้งพลเมือง พลังของการขับเคลื่อนการปฏิวัติทางสังคม เป็นกลุ่มหัวก้าวหน้า และกลุ่มอนุรักษ์นิยม

1.ชาวนาในฐานะของความเป็นพลเมือง ดังปรากฏจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครอง การใช้อำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เช่น การยื่นฎีการ้องทุกข์ และการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะในช่วงยุคสมัยของการพัฒนา ในช่วงทศวรรษที่1960 หรือช่วงประมาณปีพ.ศ.2503 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(ฉบับที่1ในช่วงปี 2504-2509) เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ

แต่การทำความเข้าใจชาวนาชาวไร่ของประเทศไทย ก็ควรที่จะย้อนขึ้นไปมองชาวนาชาวไร่ ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณายาสิทธิราช มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ในช่วงปีพ.ศ. 2475 บริบททางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ของชาวไร่ชาวนาในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ได้ปรากฏให้เห็นเหตุการณ์สำคัญๆในการเคลื่อนไหวหรือลุกขึ้นมาต่อสู้ของชาวนาชาวไร่ เช่น กบฎผู้มีบุญหรือกบฏชาวนาในภาคต่างๆในสมัยรัชการที่5 ที่เกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิรูประบบการบริหารปกครองประเทศและภูมิภาค แบบมณฑลเทศาภิบาล เพื่อควบคุมส่วนภูมิภาคและรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง  รวมถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างเจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นพวกศักดินาเดิมหลังยกเลิกระบบไพร่-ทาส และชาวไร่ชาวนาซึ่งเป็นพวกไพร่และทาสเดิม กลายเป็นคนยากจนขัดสนในสังคม เกิดซ่องโจร ชุมเสือ มากมายในช่วงของการก่อตัวของรัฐไทย ดังที่ปรากฏเรื่องราวของเสือใบ เสือฝ้าย เป็นต้น

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากความต้องการรวมศูนย์อำนาจดังกล่าว ทำให้รัฐไทยก็มีฐานะไม่แตกต่างจากพวกล่าอาณานิคม แต่เป็นนักล่าอาณานิคมภายใน (Internal Colonizer) ที่มีความเมตตาต่อชาวไร่ชาวนา มากกว่าระบบอาณานิคมของประเทศเมืองขึ้นอื่นที่อยู่รายรอบ   รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมือง และเศรษฐกิจโลกในช่วงกลางศตวรรษที่19 ได้ชักนำรัฐไทยเข้าไปผูกพันกับระบบเศรษฐกิจของโลก โดยกลายมาเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกภายนอก มากกว่าการผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเองเป็นหลักดังเช่นอดีต โดยระบบเศรษฐกิจและองค์กรแบบชาวนา ที่อยู่ภายใต้ระบบการเกณฑ์แรงงานของศักดินาถูกยกเลิกและยัดเหยียดหรือแทนที่ ความเป็นพลเมืองของรัฐไทย และกลายเป็นตัวแสดงหลักตัวใหม่ของรัฐไทยผ่านการบุกเบิกและปฏิรูปที่ดินจำนวนมากเพื่อใช้ในการผลิตข้าว (อ้างจากผาสุกและBiker 1995) ดังนั้นชาวนาจึงถูกสร้างขึ้นโดยรัฐไทยสมัยใหม่ด้วยการล่าอาณานิคมที่ดินในช่วงปลายศตวรรษที่19 มากกว่าจะมองว่าชาวนานั้นมีอยู่แต่เดิมมาแล้ว

แม้ว่ารัฐจะส่งเสริมการปฏิรูปที่ดินให้อยู่ในมือของชาวไร่ชาวนา รวมถึงการตัดสินใจในการใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าว แต่ในทางตรงกันข้าม รัฐไม่ได้ช่วยปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตอย่างเท่าเทียม  เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในแถบที่ราบล่มแม่น้ำภาคกลาง รัฐเป็นผู้จำหน่ายเทคโนโลยีมากกว่า เช่น ปุ๋ย ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ องค์การการค้าปุ๋ย ที่จำหน่ายปุ๋ยให้กับสมาชิก หรือการปล่อยเงินกู้เพื่อซื้อเครื่องไม้เครื่องมือทางด้านการเกษตร เช่นรถไถ รวมถึงการปล่อยให้บริษัทเอกชนข้ามชาติเข้ามาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเช่น ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงได้ เช่น มอนซานโต้ ไบเออร์ เป็นต้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการก่อตัวของทุนนิยมในรัฐชาติสมัยใหม่ของไทย ซึ่งการพัฒนาการเกษตรก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว และการกระจายการถือครองที่ดินไม่เคยไม่เท่าเทียม เกิดชนชั้นใหม่ในกลุ่มผู้มีอาชีพทำนา คือชาวนารวย ชาวนาระดับกลาง และชาวนายากจน ซึ่งมีความแตกต่างกันในเรื่องของการครอบครองปัจจัยการผลิต เช่นที่ดิน เงินทุน เทคโนโลยี เป็นต้น

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (2535)ท้าทายความคิดและมุมมองของพวกอนุรักษ์นิยม ที่มองว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณายาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เป็นเพราะสมาชิกทหารจำนวนน้อยและผู้ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศเท่านั้นที่คิดต่อต้านระบบดังกล่าว แต่ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การต่อสู้เคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ในชนบท ที่ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ ทั้งในเรื่องการถูกข่มขู่คุกคาม ภาวะหนี้สิน ภาวะไร้ที่ดิน เป็นจำนวนมาก ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวล้วนถูกผลักดันจากนักการเมืองท้องถิ่นและปัญญาชนที่ไปศึกษาและรับรู้ปัญหาในภาคชนบท ดังที่เราเห็นวารสารและจุลสารของนักศึกษา สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยออกมาจำนวนมาก เพื่อบรรยายถึงสภาพปัญหา สิ่งที่เขาได้ไปพบเห็นในชนบท เช่น ฝุ่นฟุ้งที่อีสาน เป็นต้น

คุณูปการสำคัญของการปฏิวัติหรือการเปลี่ยนแปลงแม้ว่าจะสร้างอำนาจให้กับประชาชนมากขึ้น ผ่านการเลือกตั้งผู้แทนราษฏรของตัวเอง แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ถึงอำนาจของผู้นำคณะราษฎร ซึ่งเป็นแกนหลักของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่พยายามผลักดันนโยบายการปฏิรูปที่ดิน เพื่อดึงที่ดินออกจากมือกษัตริย์ และรวบรวมที่ดินมาไว้ที่ส่วนกลางซึ่งก็คือรัฐ แต่นโยบายดังกล่าวแน่นอนว่าถูกคัดค้านโดยกษัตริย์ พวกอนุรักษ์นิยม (ขุนนางหรือศักดินาเดิมที่เคยเป็นเจ้าของที่ดิน) และส.ส.อีสาน ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนที่ยากจนที่สุดในประเทศ รวมถึงการต่อต้านงบประมาณอันมหาศาลของฝ่ายทหาร

การคัดค้านในครั้งนั้นก็ได้นำไปสู่คู่ของความขัดแย้งที่สำคัญคือ ประชาชน ปัญญาชน กับทหาร ซึ่งแน่นอนว่าขบวนการปฏิรูปสังคมของกลุ่มปัญญาชน  คนทั่วไปและชาวไร่ชาวนา ย่อมถูกปราบปรามและสกัดกั้นโดยกลุ่มทหาร ทำให้ทหารมีบทบาทสำคัญในทางการเมืองไทยมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2  โดยใช้วาทกรรม ที่ว่าด้วยความเป็นคอมมิวนิสต์ ป้ายสีกลุ่มคนเหล่านี้ว่าเป็นคนที่ต้องการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย มีการออกกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิตส์ และลงโทษผู้ที่คิดว่าเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยวิธีการรุนแรง คนไหนที่มีความคิดต่อต้านก็มองว่าพวกนี้หัวคอมมิวนิสต์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วภูมิภาคที่ถูกมองแบบนี้มากที่สุดก็คือ ภาคอีสาน เพราะบริเวณแถบเทือกเขาภูพานเป็นแหล่งที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  ซึ่งนำไปสู่บทบาทของชาวนาในระดับที่สอง ซึ่งเรียกว่า

2.ชาวนาในฐานะที่เป็นพลังของการปฏิวัติ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การต่อสู้ของขบวนการชาวไร่ชาวนา มีความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เนื่องจากชาวนาถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุด และการต่อสู้อย่างรุนแรงระหว่างทหารกับขบวนการคอมมิวนิสต์ก็เกิดขึ้นที่ภาคอีสาน

ปรากฏการณ์การเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาความยากจนที่รุนแรงเรื้อรังมานานพร้อมๆไปกับภาวการณ์สูญเสียที่ดิน รวมทั้งประวัติศาสตร์อันยาวนานร่วมกันของกบฏชาวนาที่ต่อต้านรัฐ การตอบโต้ของประชาชนในเขตที่ราบสูง อันเนื่องมาจากการแพร่กระจายของระบบทุนนิยมและการขยายตัวของอำนาจรัฐในพื้นที่ ทั้งในเรื่องของการจัดเก็บภาษีและการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินในเขตป่ามาเป็นของรัฐ การเข้ามาบุกรุกของคนภายนอกซึ่งก็คือรัฐ กับผู้ที่เป็นเจ้าของซึ่งมีหน้าที่ปกป้องทรัพยากรของพวกเขาซึ่งก็คือ ชาวบ้าน จนกระทั้งรัฐพบว่าการปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงได้ใช้นโยบายผ่อนปรนในช่วงปี พ.ศ. 2523  สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์  ที่เปิดโอกาสให้ปัญญาชน คนหนุ่มสาวกลับใจมาร่วมกันพัฒนาประเทศ

ในช่วงนี้ถือว่าเป็นยุคเบ่งบานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เกิดกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมากที่ทำหน้าที่เคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ทำให้เกิดลักษณะชาวนาในแบบที่สามคือ

3.ชาวนาในฐานะที่เป็นกลุ่มก้าวหน้า การเกิดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเติบโตของขบวนการชาวนา โดยเฉพาะในประเทศโลกที่สาม  ที่มีเงื่อนไขและข้อจำกัดทางด้านเศรษฐกิจบีบบังคับทำให้พวกเขาต้องลุกขึ้นต่อสู้  และเป็นพลังของการปฎิวัติ  แม้ว่าในความเป็นจริงก็ยังมีข้อถกเถียงกันระหว่างพวกนักมาร์กซิสต์ ว่า แท้จริงแล้วชาวนาไทยเป็นดังเช่นกรรมกรหรือชนชั้นกรรมาชีพในสังคมคอมมิวนิสต์หรือไม่ เนื่องจากข้อจำกัดบางอย่าง เช่นอุดมการณ์ของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  ระบบศักดินาและพระพุทธศาสนา ที่ทำให้การก่อรูปของจิตสำนึกแบบชาวนาไม่เกิดขึ้น ซึ่งแต่งต่างจากสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีจุดกำเนิดจากกลุ่มแรงงานอพยพชาวจีน และการครอบงำของพรรคจีน

อาจกล่าวได้ว่าในช่วงนี้แม้ขบวนการชาวนาจะไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลได้ แต่การต่อสู้ทางการเมืองเรื่องปากท้องและเรื่องของวิถีชีวิตก็ยังคงเหนียวแน่นอยู่ รวมถึงการที่ชาวนาได้เปลี่ยนแปลงกลายไปเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่ของพรรคการเมือง ในระบอบการเลือกตั้งที่เป็นทางการ  โดยการผสานผลประโยชน์ตัวเองเข้ากับผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งทุกพรรคการเมืองก็หวังจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในภูมิภาคนี้ ซึ่งมีชาวไร่ชาวนาผู้ยากจนจำนวนมาก ทำให้นโยบายของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยเน้นไปที่การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน การแก้ปัญหาความยากจน การช่วยประกันราคาพืชผล เป็นต้น

4. ชาวนาในฐานะที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม เช่นลูกเสือชาวบ้านและขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะสิ่งที่สะท้อนในงานของ Bowie (1997) การตอกย้ำความเป็นรัฐชาติและการเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนระดับล่าง  เพื่อปกป้องสถาบันหลักของชาติ ซึ่งก็คือ การก่อกำเนิดของกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน  ซึ่งมีสมาชิกหลักก็คือชาวนาชาวไร่ โดยมีจำนวนสมาชิกลูกเสือชาวบ้านกว่า 5 ล้านคน ทั่วประเทศ  ที่เคยชักนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในปี 2519 บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยแกนหลักของการสังหารก็คือตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดตั้งลูกเสือชาวบ้าน โดยเป้าหมายของการจัดตั้งลูกเสือชาวบ้านของขบวนการฝ่ายขวาก็คือ การต่อต้านของขบวนการกลุ่มก้าวหน้า หรือขบวนการฝ่ายซ้าย ของนักศึกษา กรรมกรและชาวนา รวมทั้งเป้าหมายของฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายก็อยู่บนผลประโยชน์ของกลุ่มที่แตกต่างกัน โดยฝ่ายซ้าย มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมทั้งหมด ภายใต้ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ในขณะที่ฝ่ายขวา มุ่งสนองผลประโยชน์และรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำส่วนน้อย

 

1.การมองความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจการเมืองที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรกรรมในปัจจุบัน ผ่านบริบทต่างๆ ได้แก่

1.1 โลกาภิวัฒน์กับการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรกรรม  คำถามสำคัญก็คือ อะไรคือธรรมชาติของพัฒนาการทุนนิยมที่สัมพันธ์กับพัฒนาการของสังคมเกษตร?

          ธรรมชาติของพัฒนาการทุนนิยมกับพัฒนาการของสังคมเกษตร  โดยมองว่าการเติบโตและการพัฒนาของภาคการเกษตรสมัยใหม่ ถูกอธิบายและเชื่อมโยงในฐานะที่เป็นกลไกลสำคัญของกระบวนการพัฒนาระบบทุนนิยม โดยภาคเกษตรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคชนบทถือว่าเป็นสิ่งตกค้างทางด้านประวัติศาสตร์  ที่ขัดขวางการก้าวเร็วหรือการเลื่อนลำดับของกระบวนการพัฒนาประเทศ

          แนวความคิดที่สำคัญคือ แนวคิดเรื่อง การทำให้ทันสมัย (Modernization) เป็นกรอบที่ถูกใช้ในการศึกษาในกลุ่มพวกมาร์กซิสต์ ที่สนใจการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง ในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งการศึกษาเรื่องการจำแนกความแตกต่าง (Differentiation) ระหว่างกลุ่มต่างๆของชาวนาของชาวนาในระดับหมู่บ้าน  กระบวนการที่ชาวนาถูกเปลี่ยนให้เป็นชนชั้นกรรมาชีพ (Proletariatization) อันเนื่องมาจากการถือครองที่ดินลดลง และปัญหาความยากจนที่เพิ่มมากขึ้น ได้ผลักดันให้คนหนุ่มสาว เข้าไปสู่การเป็นแรงงานรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงเทพมหานคร

          รวมถึงสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตภาคการเกษตร ซึ่งเป็นการเกษตรแบบยังชีพไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่อุตสาหกรรมอาหารได้กลายเป็นภาคการผลิตหลักทางเศรษฐกิจของหลายๆประเทศ ปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย  จึงมีพื้นฐานอยู่บนเรื่องของการเกษตรหรือการเพาะปลูก ซึ่งความหมายของอุตสาหกรรมอาหาร ไม่ใช่แค่ภาคการผลิตหลักในระดับการค้าโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับเรื่องของเทคโนโลยีทางด้านการเกษตร เช่น การตัดต่อทางพันธุกรรม (GMO) วัคซีนไข้หวัดนก และอื่นๆ   

          แต่ถึงอย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศไทยของเรา จะเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อการส่งออก  ในช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปีพ.ศ.2540 ซึ่งทำให้สินค้าการเกษตรเป็นสินค้าที่สำคัญของประเทศ แต่ส่วนแบ่งระหว่างรายได้และผลประโยชน์อันมหาศาลเหล่านี้ก็ไม่ได้ตกอยู่ในมือของชาวนาชาวไร่ระดับล่างอย่างแท้จริง เพราะข้อมูลในเชิงประจักษ์ระบุว่า การกระจายความมั่งคั่งกับชาวนากลุ่มต่างๆในภาคชนบทหรือภาคการเกษตรดังกล่าวไม่เคยสมดุล  เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิต และมูลค่าการส่งออกทางด้านการเกษตร ตกอยู่ในมือของกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ ชาวนารายใหญ่ และกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นที่มีผลประโยชน์

          การทำความเข้าใจสังคมชาวไร่ชาวนา ซึ่งอยู่ในระดับจุลภาคจึงไม่สามารถทำให้เราเข้าใจมิติความสัมพันธ์ การเปลี่ยนแปลงและสภาพปัญหาของสังคมชาวไร่ชาวนาที่สลับซับซ้อนในปัจจุบันได้ หากเราไม่สามารถเชื่อมโยงกับภาพใหญ่หรือภาพในระดับมหภาค ที่เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของชาวนาเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจและตลาดของโลก ซึ่งตอกย้ำให้เห็นพลังของทุนข้ามพนมแดน หรือกระบวนการโลกาภิวัตน์ ที่นำไปสู่ภาพของความทันสมัย (Modernity) พร้อมๆกับการเกิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า วิกฤตของความทันสมัย (Crisis of modernity) เมื่ออัตลักษณ์ตัวตนและโลกทัศน์ของชาวไร่ชาวนามีความย้อนแย้ง ขัดแย้งระหว่างวิถีชีวิตแบบเก่า (Tradition) และ วิถีชีวิตแบบใหม่ ที่ต้องเข้าไปสัมพันธ์กับเมือง กระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นเมือง (Urbanization) ท่ามกลางกระบวนการผลิตซ้ำของสื่อทางโทรทัศน์วิทยุ ที่ทำให้คนหนุ่มสาวในสังคมเกษตรกรรมอยากสัมผัสและมีวิถีชีวิตที่สะดวกสบายเหมือนคนเมือง

1.2 รูปแบบของการรวมกลุ่มทางการเมือง เช่นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่อิงบนฐานของชนชั้น (Class Base Politics) ซึ่งนำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ (New Social Movement) โดยมีตัวแบบหลัก 3 แบบในการมองประวัติศาสตร์ชาวนาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เช่น กบฎชาวนาในสังคมไทยช่วงศตวรรษที่19  หรือชาวนาในฐานะชนชั้นปฏิวัติในยุคของการพัฒนาหลังสงครามโลกครั้งที่2     และชาวนาในฐานะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในสังคมสมัยปัจจุบัน

เราอาจมองการเคลื่อนไหวของชาวนาภายใต้กรอบทางแนวคิดและทฤษฎีได้เป็น 4 ลักษณะ

1.ชาวนาในฐานะเป็นผู้มีบทบาททางประวัติศาสตร์ (Peasant as a Historical Actor)ซึ่งปรากฏให้เห็นบทบาทของชาวนาในประวัติศาสตร์พัฒนาการทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงจากสังคมศักดินามาสู่สังคมประชาธิปไตย จากไพร่ทาส มาเป็นชาวนา ชาวไร่ เกษตรกร หรือพลเมืองของประเทศไทย

2.ชาวนาในฐานะกลุ่ม (Peasant as a Group) เป็นกลุ่มทางการเมืองในปัจจุบันที่อ้างอิงมาจากจัดแบ่งประเภทตามอาชีพ ไม่ว่าจะเรียกว่ากลุ่ม ชาวนา (Peasant) หรือ เกษตรกร (Farmer) ก็สามารถใช้แทนกันได้อยู่เสมอ ชาวนาที่อยู่ท่ามกลางกลุ่มอื่นๆที่ได้ทำให้ชาวนามีความเข้มแข็งและอ่อนแอ ในการแข่งขันของชาวนาในสนามทางการเมือง ระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจกระบวนการทำให้ทันสมัยทางการเมือง (Political Modernization) และกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย (Democratization) จากวัฒนธรรมการเมืองแบบไพร่ฟ้า มาสู่ วัฒนธรรมการเมืองที่ผูกโยงอยู่บนเรื่องของสิทธิหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ในฐานะพลเมืองของรัฐชาติไทยสมัยใหม่

          3.ชาวนาในฐานะชนชั้น (Peasant as a Class) เป็นการมองที่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวความคิดมาร์กซิสต์  ที่มองชาวนาเข้ามาสัมพันธ์กับชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเคลื่อนไหวหรือการปฏิวัติตามแนวความคิดของมาร์กซ์ (Marx) โดยปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการปฏิวัติและการเคลื่อนไหวของชนชั้นชาวนาก่อตัวขึ้นก็คือการพัฒนาการของระบบทุนนิยม ซึ่งทำลายระบบแบบรวมหมู่ ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ประเพณีพิธีกรรมท้องถิ่น รูปแบบการผลิต ซึ่งสร้างความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการผลักดันตัวเองให้เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม การโยกย้ายแรงงาน เข้าไปรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม ที่ทำให้เขาเปลี่ยนไปเป็นชนชั้นกรรมาชีพ หรือ การเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวนาที่มีชนชั้นกรรมาชีพเป็นผู้นำหลักในการปฏิวัติ

กาเปิดประเด็นของพวกมาร์กซิสต์ ในเรื่องของความแตกต่างระหว่างกลุ่มต่างๆของชาวนาชาวไร่ในภาคชนบท โดยใช้ฐานทางด้านเศรษฐกิจจะทำให้เรามองเห็นความแตกต่างของชาวนามากขึ้น รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐ ชาวนา  และนายทุน การครอบงำอุดมการณ์ของรัฐผ่านเครื่องมือทางอุดมการณ์ เช่น โรงเรียน ที่ให้ภาพของความล้มเหลวหรือกระบวนการปฏิวัติของชาวนาที่เลือนหายไป

4.นำไปสู่ข้อสุดท้าย ที่ชาวนาไม่ใช่กลุ่มที่หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ปัจจุบัน หรือเป็นกลุ่มเล็กๆหนึ่งที่อยู่ท่ามกลางกลุ่มอื่นๆอีกมากมาย แต่ชาวนาชาวไร่เป็นประเด็นพลังทางการเมืองที่สำคัญ ในการต่อสู้เคลื่อนไหวในสังคมสมัยใหม่ ทั้งเรื่องของการพัฒนา สิ่งแวดล้อม ทำให้ชาวนามีฐานะเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบัน (Peasant as a Social Movement) โดยการปฏิเสธลัทธิเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด (Economic Determination) ซึ่งอิงอยู่บนฐานของชนชั้น โดยการพูดถึงเรื่อง เศรษฐกิจแบบศีลธรรม (Moral Economy)  ที่จิตสำนึกของชาวนาผูกโยงกับเรื่องของศีลธรรม จริยธรรม  ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา  รวมถึงการชูประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ (Identity) ของขบวนการเคลื่อนไหว ทั้งในเรื่องของภูมิปัญญาชาวบ้าน และทางเลือกใหม่ของการพัฒนา ที่อยู่บนฐานคิดที่เรียกว่า การเมืองของระบบนิเวศน์ หรือ นิเวศวิทยาการเมือง (Political Ecology)  ซึ่งเน้นมิติทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองของชาวนา

ขบวนการชาวนาร่วมสมัย  ชาวนา  เกษตรกร คนยากจน ผู้ลงคะแนนเสียง

          การวิพากษ์ปรากฏการณ์ร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในสังคมไทย  โดยเชื่อมโยงบทบาทและหน้าที่ของชาวนาในสังคมสมัยใหม่ ในการเป็น 1) ชาวนาผู้มีบทบาทหน้าที่ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ในเวทีการเมืองที่ใช้เงินซื้อเสียง 2) การเติบโตของขบวนการนิเวศวิทยาการเมืองในสังคมไทย 3) การก่อตัวและการล่มสลายของสมัชชาคนจน  ซึ่งเป็นองค์กรชาวนาร่วมสมัยที่มีบทบาทมากที่สุดในสังคมในอดีต ทั้งการเดินขบวนชุมนุมเรียกร้อง รูปแบบการต่อสู้และอื่นๆ จนกระทั่งถูกสลายการชุมนุมในช่วง นายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในสมัยที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งกินข้าวของสมัชชาคนจนหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาให้กับชุมชน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ  ทำไมนายกรัฐมนตรีท่านนี้กลายเป็นขวัญใจของคนอีสานและคนจน ซึ่งทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวไร่ชาวนาในภาคอีสานอ่อนกำลังลง

          ชาวนาในฐานะผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ถูกจัดตั้งขึ้นในการเมืองที่ใช้เงินซื้อเสียง (Peasant as organized voter in money politics)

เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยช่วงปีพ.ศ.2519  หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทางเศรษฐกิจและการเมือง  ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งของประชาชน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในช่วงปีพ.ศ.2523 ที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอุตสาหกรรม จากนโยบายอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าไปสู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ซึ่งนำไปสู่การเกิดกิจการธุรกิจที่หลากหลาย ที่ดึงดูดให้ชาวนาเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในกิจกรรมภายในภาคการเกษตรและภายนอกการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหลายชนิดนอกจากการปลูกข้าว โดยตอบสนองต่อภาคการตลาด ความต้องการของระบบตลาด  พืชเศรษฐกิจสำคัญเช่น กระเทียม  ยาง มันสำปะหลังและหัวหอมเป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมภายนอกภาคการเกษตร นอกฤดูกาลทำนาเช่นการไปเป็นแรงงานรับจ้างในเมือง  ในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหาร อิเล็กโทนิกส์  การเติบโตในภาคการส่งออกในช่วงปี1980-1990 ได้กระตุ้นให้มีความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น

ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งตั้งแต่ปีพ.ศ.2519 แต่ก็ยังเป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ เพราะอำนาจบางอย่างยังตกอยู่ที่มือของทหาร ซึ่งมักจะได้รับเชิญไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและมหาดไทย ร่วมกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงการที่ทหาร ตำรวจ สามารถใช้อำนาจในการปฏิวัติรัฐประหารได้อย่างเต็มที่ โดยอ้างเหตุผลเรื่องของการคอร์รัปชั่นของรัฐบาล และการซื้อเสียง การทุจริตในการเลือกตั้ง มาเป็นข้อมูลตัดสินใจในการทำรัฐประหาร

แต่ประเด็นปัญหาเรื่องการทุจริตและการซื้อเสียงก็ไม่ได้หมดไป การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจทำให้เกิดการเมืองแบบใหม่ คือ การเมืองที่ใช้เงิน เป็นฐานของอำนาจ การได้คะแนนเสียงสนับสนุนจำนวนมากในการเลือกตั้ง เพื่อจัดตั้งรัฐบาล การเมืองของการใช้เงินเกิดขึ้นในช่วงที่ประชาธิปไตยของการเลือกตั้ง กลายเป็นรูปแบบเดียวที่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ  โดยเฉพาะการเลือกตั้งในปีพ.ศ. 2522 ได้สร้างผู้นำทางการเมืองกลุ่มใหม่ที่มีรากฐานอยู่ในชนบท รวมถึงการเติบโตของกลุ่มธุรกิจที่ให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบหรือมีผลประโยชน์ร่วมด้วย

งานของสุจิต บุญมังกร (1966) ได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมืองที่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับเขตชนบท  หรืองานศึกษาของอนุสรณ์ ลิ่มมณี (1999)  ที่ชี้ให้เห็นถึงข้อมูลจำนวนเงินหมุนเวียนอันมหาศาลในพื้นที่ของชนบทในช่วงของการเลือกตั้ง  ฤดูการหาเสียง ช่วงโค้งสุดท้าย หรือคืนหมาหอน  ทีสะท้อนเสียงของคนในเมืองและสื่อมวลชน เกี่ยวกับการเมืองที่ใช้เงินซื้อเสียงและแนวโน้มของรัฐบาลในการคอร์รัปชั่น เมื่อได้รับการเลือกตั้งเข้าไปแล้ว

ภาพของชาวชนบทที่สัมพันธ์กับเรื่องทางการเมืองสะท้อนให้เห็นความเฉื่อยชา การง่ายต่อการครอบงำของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในชนบท รวมทั้งความไม่มีจิตสำนึกทางการเมืองของคนชนบท โดยเชื่อมโยงคำอธิบายกับเรื่องของเศรษฐกิจความยากจน และการด้อยการศึกษาของคนกลุ่มนี้

หรืองานของอเนก เหล่าธรรมทัศน์ (1996) ก็สะท้อนให้เห็นภาพความขัดแย้งระหว่างการเมืองของภาคเมืองและภาคชนบท โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องการสร้างสายความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้าน ผู้นำหมู่บ้านกับหัวคะแนน ซึ่งหัวคะแนนเหล่านี้อาจเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมือง แต่เป็นบรรดาผู้มีบทบาทในชุมชน เช่น เป็นผู้นำชุมชน   เจ้าที่ดิน เจ้าของร้านค้าหรือครู และอบต.เป็นต้น

หัวคะแนนเหล่านี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน ที่มีความสัมพันธ์โยงใยระหว่างสายตระกูลหรือเครือญาติเดียวกัน ซึ่งปรากฏอย่างชัดเจนในการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งผู้ที่มีญาติพี่น้องมากก็มักจะได้รับตำแหน่งทางการเมือท้องถิ่น รวมถึงถ้าพบว่ามีญาติพี่น้องตัวเองลงสมัครก็มักจะไม่ลงแข่งขันด้วย หัวคะแนนเหล่านี้เป็นเสมือนกับผู้แนะนำนักการเมืองคนนั้นๆให้คนในหมู่บ้านรู้จัก รวมถึงเป็นผู้ถ่ายทอดบอกเล่าถึงสภาพปัญหาและความต้องการของหมู่บ้านกับนักการเมือง ที่จะนำไปสู่ขั้นตอนการเจรจาต่อรอง ที่นักการเมืองจะต้องนำเสนอนโยบายหรือให้ความหวังกับชาวบ้านว่า เมือได้เป็นส.ส.แล้วจะตอบแทนชาวบ้านอย่างไร เช่น งบประมาณการพัฒนาต่างๆ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้ก็เสมือนกับสภาวะที่ชาวนาชาวไร่ ต้องเสี่ยงในการตกลงใจเลือกหรือตัดสินใจลงคะแนนให้กับนักการเมืองผู้นั้น แม้ว่าจะให้เงินหรือไม่ให้เงินก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะมีการแจกเงินให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ชาวบ้านทุกคนก็รับ เพราะถือว่าเป็นของฟรีได้มาเปล่าๆ  อาจกล่าวได้ว่าเรื่องเงินแม้จะเข้ามาเกี่ยวพันกับการเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวกำหนดการเลือกนักการเมืองผู้นั้น เนื่องจากในการเลือกตั้งแต่ละครั้งมีการแข่งขันกันสูง มีการแจกจ่ายเงินแทบจะทุกพรรค แต่พรรคที่มีนโยบายดีเท่านั้นที่ประชาชนจะตัดสินใจเลือกคนนั้นมาเป็นผู้แทน

          รวมทั้งเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในท้องถิ่น พร้อมกับการจัดหาสวัสดิการสังคมต่างๆให้กับชาวบ้าน ดังนั้นการควบคุมฐานคะแนนเสียง และสร้างหลักประกันรับรองคะแนนเสียงของผู้สมัครในพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบด้วย

เหตุการณ์ที่น่าสนใจก็คือในช่วงปีพ.ศ. 2535 ที่การเมืองแบบใช้เงินขยายตัวมากขึ้น ก็เกิดการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนชุดแรกนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2519 โดยมีชนชั้นกลางให้การสนับสนุนรัฐประหารครั้งนี้ ที่เราเรียกว่า ม็อบมือถือ ซึ่งรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ไม่ได้มีฐานเสียงมาจากคนในเมือง แต่ฐานเสียงสำคัญคือ ชาวไร่ชาวนาในชนบท ซึ่งข้อกล่าวหาที่มีต่อรัฐบาลชุดนี้ก็คือ การคอร์รัปชั่นขนานใหญ่

ภาพดังกล่าวจึงสะท้อนความขัดแย้งของการเมืองไทยร่วมสมัย เมื่อคนเลือกรัฐบาล ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่กับคนที่ขับไล่เป็นคนละกลุ่มกัน โดยที่มุมมองต่อประชาธิปไตยของทั้งสองกลุ่มก็ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง โดยที่คนในชนบทเลือกตัวแทนของพวกเขา ที่พวกเขาสามารถฝากความหวังไว้ได้ ทั้งในเรื่องของปากท้อง การอุปถัมภ์ค้ำจุนในด้านต่างๆ  การจัดสวัสดิการต่างๆ ในขณะที่คนในเมือง เลือกผู้แทนตามแบบอุดมคติ ที่ต้องเป็นนักบริหาร หรือนักกฎหมายมืออาชีพ มีความรู้การศึกษาดี สามารถเจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเชื่อมั่นในเรื่องของผู้มีความรู้ มีการศึกษา เท่านั้นที่สามารถที่จะนำพาประชาธิปไตยไปสู่เส้นทางที่สมบูรณ์ได้  ในขณะที่คนจน ชาวไร่ชาวนา เป็นผู้ที่ทำลายมาตรฐานดังกล่าวลงไป วิธีการก็คือ การรณรงค์ให้ความรู้ในเรื่องสิทธิหน้าที่ และการไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง  หรือนอนหลับทับสิทธิ์ ไม่ตื่นตัวทางการเมือง ถูกชักจูงได้ง่าย และอื่นๆ ซึ่งกลายเป็นภาพลักษณ์และตัวตนของคนอีสานไปโดยปริยาย

          การล่มสลายของประชาธิปัตย์ในอีสาน การเกิดขึ้นของประเด็น นายกของคนอีสาน จากความหวังใหม่ ชาติพัฒนา ถึงนายกเพื่อคนจน พรรคไทยรักไทย

          จากนโยบายเงินผัน การหว่านเงินลงสู่ชุมชนในสมัย มรว..คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ เพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ  จนมาถึงนโยบายปัจจุบันที่เรียกว่า ประชานิยม ทั้งโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค เอสเอ็มแอล กองทุนหมู่บ้านละหนึ่งล้าน หนึ่งอำเภอหนึ่งด็อกเตอร์ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และอื่นๆ  เป็นสิ่งที่สร้างกระแสให้คนชั้นกลางและคนระดับรากหญ้าเทคะแนนให้กับพรรคไทยรักไทยถล่มทลายถึง 19 ล้านเสียง โดยเฉพาะในภาคอีสาน ซึ่งมีฐานเสียงสำคัญอยู่ที่ชาวนาชาวไร่  ทำให้บรรดาพรรคการเมืองที่เคยครองฐานเสียงในภาคอีสาน เช่น ชาติพัฒนา ความหวังใหม่ หรือประชาธิปัตย์ ไม่สามารถมีสามาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ภาคอีสานได้ จากที่ชาวอีสานเคยเทคะแนนเลือกพรรคความหวังใหม่และชาติพัฒนา ที่ชูนโยบายนายกของคนอีสาน  จนได้คะแนนเสียงอย่างล้นหลาม แต่เหตุการณ์ที่ปรากฏก็คือ นโยบายที่ผ่านมาของพรรคการเมืองดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับคนระดับล่างหรือชาวไร่ชาวนาได้อย่างแท้จริง  รวมไปถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นกันอย่างมโหฬาร ซึ่งทำให้ผลประโยชน์ตกอยู่ในมือของคนบางกลุ่มเท่านั้น นายกคนซื่อที่ชื่อ ชวน หลีกภัย อันเนื่องมาจากความเจ็บปวดจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศในช่วงที่ผ่านมากระแสการทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐบาลชุดที่แล้ว การโอบอุ้มคนรวยมากกว่าคนจน ดังจะเห็นได้จากเมื่อเศรษฐกิจแบบฟองสบู่แตก คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนรวย นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต่างๆ แต่คนจนไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง  ได้นำมาสู่การเลือกตั้งนายกที่มีภาพของความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา แต่ชาวบ้านก็ยังบอกเล่าให้ฟังว่า ชวนซื่อสัตย์ไม่กินแต่คนอื่นๆพรรคก็กิน  สุดท้ายผลประโยชน์ก็ไม่ตกลงไปยังชาวบ้านระดับล่าง  การประกาศตัวของพรรคไทยรักไทยในช่วง ปีพ.ศ.2540 นายกคนรวย นักธุรกิจ ไม่โกงกิน  รวมถึงคนในยุค 14 ตุลาคม 2516 และ6 ตุลาคม 2519 ทำให้ได้รับคะแนนเสียงของชนชั้นกลาง เช่น นักธุรกิจ พ่อค้า นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน นักศึกษา และคนชั้นล่างอย่างท่วมท้น  ภายใต้การนำเสนอนโยบายสำคัญๆต่างๆเพื่อช่วยเหลือคนในระดับรากหญ้า เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้าน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เอสเอ็มแอล สามสิบบาทรักษาทุกโรค หนึ่งโรงเรียนหนึ่งคอมพิวเตอร์และอื่นๆ ซึ่งเป็นนโยบายประชานิยมที่หว่านลงไปในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนรากหญ้าชาวไร่ชาวนา ได้สัมผัสกับสิ่งที่เขาต้องการในชีวิต ภายใต้ระบอบทุนนิยมที่เงินกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างชีวิตของพวกเขาให้ดีกว่าเดิม ผ่านการซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ  และดูเหมือนกับว่าสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ได้สัญญาไว้มันได้ทำให้เกิดขึ้นจริง แม้ว่าพลังอำนาจดังกล่าวของการเป็นเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพียงพรรคเดียว จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าอภิมหาคอร์รัปชั่น การโกงกินกันเป็นเครือข่ายระดับกว้าง ตั้งแต่เครือญาติพี่น้อง ถึงกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆทมทั้งในประเทศและนอกประเทศ การแก้ไขกฎหมายฉบับต่างๆเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ตัวเองและพวกพ้อง โดยใช้เสียงข้างมากในสภา ซ่างทำให้สามารถผ่านกฎหมายได้โดยง่าย รวมถึงพลังอำนาจที่เข้มแข็งเหล่านี้ทำให้หน่วยงานอิสระ องค์กรต่างๆที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำการตรวจสอบความโปร่งใสหรือเอาผิดบรรดานักการเมืองที่คอร์รัปชั่นได้  สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้พรรคไทยรักไทยกลายเป็นพรรคขวัญใจประชาชนที่เข้มแข็ง เพราะในช่วงที่บริหารประเทศอยู่แทบจะไม่มีการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน หรือชาวไร่ชาวนาเข้ามาในกรุงเทพฯเลย จนกระทั่งการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล สุริยะใส กตะศิลา  อ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำกฟภและอื่นๆ ได้นำไปสู่การเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชั่น ในเรื่องต่างๆ ทั้งสนามบิน เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด หรือกรณีการขายหุ้นหรือซุกหุ้น รวมถึงกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน อย่างประชาธิปัตย์หรือชาติไทย  ไม่ยอมส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง  และนำไปสู่กรณีการว่าจ้างพรรคอื่นให้ลงสมัครของไทยรักไทย จนนำไปสู่การยุบพรรค ซึ่งทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารโดยทหาร นำโดยพลเอกสนธิ บุญรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น จะเห็นได้ว่าชาวนาชาวไร่ก็ไม่ได้มีส่วนในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงประเทศแต่อย่างใด แม้ว่าประชากรรากหญ้าเหล่านี้มีส่วนตัดสินใจในการเลือกตั้ง เพื่อชี้ขาดผู้บริหารประเทศ แต่อำนาจดังกล่าวก็ล้วนมาจากปลายกระบอกปืน และทหาร ที่อ้างเงื่อนไขของชาติ ความสงบสุขของประเทศ และสถาบันที่เคารพ สุดท้ายไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร คนระดับรากหญ้าซึ่งเป็นชาวไร่ชาวนาก็ถูกมองภาพว่าเป็นคนด้อยพัฒนา โง่ไร้การศึกษา ถูกชักจูงได้ง่าย และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยเกิดความสั่นคลอน ภายใต้วัฒนธรรมของการซื้อเสียง ดังเช่น กรณีของการลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมีจำนวนถึง10 ล้านเสียง คือคนที่อยู่ในภาคชนบท ที่เป็นเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา

                ชาวนาในปัจจุบันจึงไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ แต่ก็มีฐานะเป็นผู้กระทำ ในการเคลื่อนไหว และต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรของตัวเองกับภาครัฐ และกลุ่มทุนข้ามชาติ  เกิดปรากฏการณ์นิเวศวิทยาการเมืองหรือการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม ร่วมกับนักพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ นักวิชาการในและนอกท้องถิ่น รวมทั้งภาคประชาสังคมต่างๆที่ร่วมกันเคลื่อนไหว

 

หนังสืออ้างอิงฺ

Anek Laothamatas .1996 “A Tale of two Democracies :Conflict Perceptions of Elections and Democracy in Thailand.” In The Politics of Elections inSoutheast Asia, ed.by R.H.Tylor.Cambridge University press.

Baker ,Chris 2000. “Thailand ,s Assembly of the poor:Blackground,Drama,Reaction.” South east Asia Research.8:1,5-29.

Bowie,Katherine A. 1997.Ritual of National Loyalty : An Anthropology of the State and the Village Scout Movement in Thailand.New York: Columbia University Press.

กนกศักดิ์ แก้วเทพ บทวิเคราะห์สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยชาวนายุคใหม่.กรุงเทพฯ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2530.

ผาสุก พงษ์ไพจิตร. ชาวนา รัฐ ทุน : มุมมองจากสากล ในผาสุก พงษ์ไพจิตร และสังศิต พิริยะรังสรรค์(บรรณาธิการ).พลวัตรไทย:มุมมองจากเศรษฐศาสตร์การเมือง .กรุงเทพฯ ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2534

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับการเมืองในการปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรและขบวนการชาวนาในสังคมไทยปัจจุบัน: ข้อสังเกตเชิงวิพากษ์  ฟ้าเดียวกัน ปีที่1 ฉบับที่1 มกราคม-เมษายน 2546.

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะ...

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile D...