ประวัติศาสตร์ของผู้หญิงในวัฒนธรรมการเกษตร
ภาพที่พบบนผนังถ้ำในพื้นที่ต่างๆ
โดยเฉพาะในเขตภาคอีสาน เช่น ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ผาแต้ม
ภูวัวจังหวัดอุบลราชธานี
มักจะเป็นภาพที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตและพิธีกรรมความเชื่อของคนดั้งเดิม
แต่ภาพที่น่าสนใจมากที่สุดน่าจะเป็นภาพของการหาอาหาร ล่าสัตว์และการเพาะปลูกของคนดั้งเดิม
ดังเช่นตัวอย่างภาพ ควาย วัว หมา ภาพต้นข้าว พาลไถหรือคันไถ
รวมถึงสัตว์ชนิดต่างๆที่มนุษย์ล่ามาเป็นอาหาร เช่นปลา
ที่พบที่ผาแต้มหรือบริเวณชายฝั่งทะเล รวมทั้งเครื่องมือการประมง
หรือเป็นสัตว์ที่พวกเขาเคารพบูชา เช่นกบ ซึ่งยังปรากฏมาจนถึงปัจจุบันในลายตีนซิ่นของผู้หญิงลาวและผู้หญิงอีสานบางชาติพันธุ์
หรือภาพพิธีกรรมที่ปรากฏอยู่ในกลองมโหระทึก
รวมถึงภาพผู้หญิงที่เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญงอกงาม การสืบเผ่าพันธุ์
การให้กำเนิด
ดังเช่นความเชื่อปัจจุบันเกี่ยวกับพระแม่โพสพ แม่นางธรณี
ภาพที่น่าสนใจก็คือการร่วมกันล่าสัตว์
เช่น ต้อนช้างป่าหรือวัวควายป่า เพื่อนำมาเลี้ยงและใช้เป็นแรงงานในภาคการเกษตร
เช่นศิลปะถ้ำบนเขาสามร้อยยอด
สอดคล้องกับการสำรวจของนักโบราณคดีที่ออกสำรวจศิลปะถ้ำ
แล้วเชื่อว่า บริเวณนี้เคยมีการเพาะปลูกจริง และยังถือได้ว่า
สอดคล้องกับภาพสัตว์เลี้ยงประเภทวัวควาย ที่พบในผนังถ้ำหลายแห่ง
รวมถึงพิธีกรรมของเจ้านายชั้นสูงในการกวาดต้อนสัตว์ป่า เช่นกวาดต้อนช้างเข้าเพนียด
หรือการไล่ต้อนควายป่า ในวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน
ภาพของการทำนาเพาะปลูกข้าว
ที่พบในภูถ้ำผาหมอนน้อย มีภาพการเพาะปลูกข้าว เขียนเป็นข้าวเรียงแถว โดยการวางกอข้าววอย่างเป็นระเบียบ
โดยเชื่อว่าน่าจะเป็นข้าวที่เกิดจากการปักดำ นอกจากนี้ที่เขาภูพาน สกลนคร
ยังมีภาพสลักคล้ายกับกำลังดำนา หรือภาพหมาซึ่งเป็นสัตว์ชนิดแรกที่มนุษย์สามารถทำให้เชื่องโดยการเลี้ยงเป็นสัตว์บ้านได้
นอกจากนี้ยังพบเครื่องมือการเกษตรอื่นๆที่ปรากฏ
เช่น จอบและไถและผาล ที่ถ้ำผาลายภูผายนต์
ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าในยุคที่มีศิลปะถ้ำจำนวนหนึ่งนั้นได้ทำการเพาะปลูกแล้วมีข้าวเป็นอย่างน้อย
ซึ่งเชื่อว่าการเพาะปลูกเป็นที่มาของอาหารสำคัญในดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่อดีต
บทบาทและความสำคัญของผู้หญิงในอดีต
ในบทความของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์
(อ้างจากปรานี วงษ์เทศ) ในเรื่องพุทธกับไสย์
ได้กล่าวถึงบทบาทของผู้หญิงในทางพระพุทธศาสนามีน้อยลง และด้อยกว่าเพศชายเป็นอันมาก
เมื่อสิ่งที่เป็นความเชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ หรือไร้เหตุผลในการอธิบายที่เรียกว่า
ไสย์ ลดน้อยลงไป เนื่องจากการแทนที่ด้วยวิธีคิดในเชิงของตุผล
พระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกันเป็นเรื่องของเหตุผล ระหว่าง
เหตุของปัญหาหรือต้นตอของปัญหา และการแก้ไขปัญหาหรือดับทุกข์ ที่เรียกว่า อริยสัจ4
คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ทำให้เกิดสำนึกว่า
ไสย เป็นรองพุทธ ทั้งที่แต่เดิมความเชื่อทั้งสองดำรงอยู่ด้วยกัน
เนื่องจากในอดีต
เมื่อชุมชนหมู่บ้านมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ
ผู้หญิงถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญและผู้นำในทางพิธีกรรม
การติดต่อกับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ผู้หญิงเป็นทั้งคนทรง ม้าทรง ม้าขี้ เค้าผี หรือผู้สืบผีประจำตระกูล
เป็นผู้ฟ้อนรำผีฟ้า เป็นหมอตำแย หรือหมออื่นๆที่ต้องใช้พิธีกรรมในการรักษาพยาบาล
ดังนั้นบทบาทของผู้ชายและผู้หญิงจึงมีความเท่าเทียมกัน ในแง่ที่ว่า ผู้หญิงกราบตีนพระ
ส่วนผู้ชายก็ต้องกราบผู้หญิงในฐานะร่างทรงเหมือนกัน (ปรานี วงษ์เทศ:2549) ความเชื่อเรื่องไสย
มีอยู่ทั่วไปในดินแดนสุวรรณภูมิ
ซึ่งศาสนาผู้นับถือผีเป็นที่แพร่หลายในหมู่ชาวนาชาวไร่
ชาวชนบทหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แม้ว่าสายตาของคนเมือง
หรือส่วนกลางจะมองว่าเป็นเรื่องงมงาย ไร้เหตุผล หลอกลวงหรือเป็นพิธีกรรมของพวกพ่อมด
หมอผี ก็ตาม
แต่คนส่วนใหญ่ในสังคมชาวไร่ชาวนาก็ยังนับถือคู่กับพุทธอยู่ตลอดเวลา
ผู้หญิงผู้ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและผู้พิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
บทบาทของผู้หญิงในฐานะผู้ผลิต
ผู้บริโภค ผู้อนุรักษ์ และผลิตซ้ำความหลากหลายทางชีวภาพในทางการเกษตร เพราะผู้หญิงเป็นผู้ปกป้องเมล็ดพันธุ์พืชมาหลายพันปี
(Seed
Custodians) โดยเฉพาะในอินเดีย
ผู้หญิงชนบทเป็นผู้มีบทบาทและองค์ความรู้ในการดูแลปศุสัตว์มาช้านาน
รวมถึงเรื่องของการเพาะปลูก ซึ่งผู้หญิงจะมีความรู้เรื่องภูมิอากาศ ฤดูกาล สภาพอากาศ ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และดิน รวมถึงเรื่องของการคัดเลือกเมล็ดพันธ์
การให้น้ำ การดูแลรักษาโรค ศัตรูพืช การพรวนดิน การตัดแต่งกิ่ง
ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปผลิตภัณฑ์
ดังนั้นความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นพื้นฐานทางการเมืองของสตรีและเชิงนิเวศด้วย
เมื่อเรื่องการเมืองของผู้หญิงก็เป็นเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพของธรรมชาติ ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดแบบปิตุลาธิปไตย (Patriarchy) ที่ใช้บรรทัดฐานของผู้ชายในการกำหนดคุณค่าของสิ่งต่างๆ
การทำลายความแตกต่างหลากหลายท่ามกลางความเป็นหนึ่งเดียวและให้ความสำคัญกับลำดับชั้น
(Hierachy)ทำให้ผู้หญิงตกอยู่ในสภาวะที่ต้อยต่ำและถูกกีดกันออกจากกระบวนการพัฒนาและการตัดสินใจในทางการเมือง
เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
ความคิดเกี่ยวกับผู้หญิงในสุวรรณภูมิ
ปรากฏในนิทานปรัมปรา
หรือภาพเขียนเกี่ยวกับผู้หญิงในภูมิภาคนี้ จะเน้นลักษณะของความเป็นแม่
ผู้ให้กำเนิดชีวิต สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ หรือเป็นผู้ที่มีอำนาจ หรือเป็นผู้ที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติหรือผู้นำพิธี
เช่นความเชื่อเรื่องพระแม่โพสพหรือแม่ธรณีของกลุ่มไท-ลาว
การเปลี่ยนแปลงบทบาทและหน้าที่ของผู้หญิงในปัจจุบัน
กับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ศาสนาสมัยใหม่
รวมทั้งค่านิยมสมัยใหม่ของโลกตะวันตก ภายแนวความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่
ลัทธิล่าอาณานิคม รวมถึงกระแสการเรียกร้องของสตรีในการขอมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย
และพัฒนาความสามารถให้ทัดเทียมกับผู้ชาย
รวมถึงการขอให้เปิดพื้นที่ของผู้ชายให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทและใช้พื้นที่มากขึ้น
เช่นในทางการเมือง การปกครอง หรือเศรษฐกิจ
ทำให้ความเชื่อและพิธีกรรมที่ผู้นำหรือมีส่วนร่วมในพิธีกรรมส่วนใหญ่ที่เป็นผู้หญิงในประเพณีพิธีกรรมดั้งเดิมของอุษาคเนย์
เช่น การนับถือผีปู่ย่า ผีฟ้า เจ้าแม่นางเทียม
หรือผีนัต การนับถือผีมดผีเม็ง โนรา โรงครูทางภาคใต้ของไทย เป็นต้น
ดังบันทึกที่ปรากฏในนิทานปรัมปราในภูมิภาคนี้ เช่น นางใบมะพร้าว พระทองนางนาค
ที่เกี่ยวกับหญิงพื้นเมืองและนางพญาของอาณาจักรฟูนัน (อ้างจากปรานี วงษ์เทศ : 2549)
หรือตำนานนางเลือดขาวของภาคใต้ที่ถูกยกให้เป็นแม่อยู่หัวเลือดขาว ที่มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นแทนตัวนางไว้ที่สทิงพระ
จังหวัดสงขลา และมีพิธีกรรมเฉลิมฉลองพระพุทธรูปทุกปี
ที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของผู้หญิงในภาคใต้ ที่เป็นเจ้าของที่ดิน
ผู้รับมรดกที่ดินผ่านทางสายแม่
ฐานะของผู้หญิงจึงมีเกียรติและผู้หญิงที่ต้องรับผิดชอบต่อวงศ์ตระกูล โดยเฉพาะการจัดการทรัพยากร
ควบคุมปริมาณและกำหนดชนิดของสัตว์น้ำที่จะจับ รวมทั้งการดูแลรายรับรายจ่าย
เศรษฐกิจของครอบครัว และรักษาสายสัมพันธ์ทางเครือญาติ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ
การควบคุมดูแลศาสนาพื้นเมืองของผู้หญิง
ที่ตรงกันข้ามกับผู้ชายที่นับถือศาสนาที่มาจากภายนอก ผู้ชายจึงต้องการศาสนาใหม่
ที่จะช่วยให้มีสถานภาพสูงกว่าสถานภาพเดิมในความเชื่อทางประเพณี ศาสนาใหม่จึงถูกควบคุมด้วยผู้ชาย
แตกต่างจากศาสนาผู้หญิงที่มีคำสอนว่าผู้หญิงมีสถานะต่ำกว่าชายและมีมลทิน
แต่ก็สามารถผ่านการเชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนาได้ ด้วยความเป็นแม่และการทำบุญ
อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้หนังสือตัวอักษรของผู้หญิงซึ่งแม้ไม่ไดบวชในพระพุทธสาสนาแต่ก็สามารถท่องบทสวดมนต์ได้
สิ่งที่เห็นหรือสะท้อนจากการนับถือผีของกลุ่มคนในสุวรรณภูมิก็คือ
ศาสนาความเชื่อที่เป็นของผู้หญิงมักเกิดในสังคมที่ผู้หญิงมีบทบาทในการควบคุมทรัพยากร
เช่น ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย รวมทั้งโครงสร้างครอบครัว ระบบเครือญาติ
การสืบเชื้อสายฝ่ายแม่
แม้ว่าสังคมปัจจุบัน ด้วยอิทธิพลของพระพุทธศาสนาเองที่ทำให้
ศีลธรรมทางเพศเกิดความไม่เท่าเทียม
ยกย่องเพศชาย มีการเลือกปฏิบัติ แต่ในสังคมชาวไร่ชาวนาในภาคอีสาน
ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ความสัมพันธ์ระหว่างบทบาทชายหญิงในแนวราบ
(Horizontal
Relation)
การเป็นคนทรง การใช้ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์
ความเชื่อเรื่อง ความเป็นแม่ที่เหนือกว่าเรื่องทั้งปวง
เช่นคำกล่าวที่ว่าพระพุทธเจ้านั้นทรงเหมือนมารดา ส่วนพระธรรมคำสั่งสอนเปรียบเหมือนน้ำนมของมารดา
ดังที่ปรากฏในชาดก เกี่ยวกับความกตัญญูของพระโพธิสัตว์ที่ปรนนิบัติแม่
แม้ว่าในการศึกษาของนักวิชาการหลายท่านเช่น
อาจารย์ อคิน รพีพัฒน์
เกี่ยวกับเรื่องระบบอุปถัมภ์
จะชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ในสังคมไทยในแนวดิ่งอย่างชัดเจน ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย
ลูกพี่กับลูกน้อง
ที่เป็นความสัมพันธ์ภายใต้การจัดสรรหรือให้ประโยชน์
และความผูกพันจงรักภักดีระหว่างสองฝ่าย ซึ่งโดยทั่วไปในสังคมไทยจะมีความสัมพันธ์ทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ
ไม่ว่าจะเป็นผู้อุปถัมภ์- ผู้ใต้อุปถัมภ์
ผู้ใหญ่- ผู้น้อย ลูกพี่-ลูกน้อง ข้าราชการ-ราษฎร และอื่นๆ
เป็นตัวอย่างของการศึกษาในแนวดิ่งจำนวนมาก โดยที่ความสัมพันธ์ในแนวนอน
เป็นความสัมพันธ์ในโครงสร้างวัฒนธรรมและสังคมไทย ที่ยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก
และในบางครั้งแนวความคิดเรื่องความสัมพันธ์ในแนวดิ่งก็ไม่อาจใช้อธิบายปรากฏการณ์ในบางสังคมวัฒนธรรมได้ชัดเจน
อย่างเช่น งานของอาจารย์สุริยาและพัฒนา
(2536) พูดถึงพิธีกรรมการเลี้ยงผีต้นน้ำ ของคนในชุมชนต่างๆ ที่ใช้ลำน้ำเดียวกัน
ใช้ป่าเดียวกัน ที่ดินสาธารณะเดียวกัน ความสัมพันธ์จึงเป็นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
มีผลประโยชน์ร่วมกัน หรือรวมกันเป็นเครือข่ายเดียวกัน
รวมทั้งมีความคิดปละพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรมร่วมกัน
ซึ่งได้ใช้โอกาสพิเศษเฉพาะในรอบปีในการประชุม พบปะสังสรรค์กัน
ผ่านเร่าองของพิธีกรรมดังกล่าว ทำให้ความสัมพันธ์แนวนี้เป็นความสัมพันธ์ในแนวราบ
ดังปรากฏผ่านวิถีชีวิตของผู้หญิงอีสาน ผ่านเรื่องของกระบวนการทอผ้า
ที่สะท้อนให้เห็นกระบวนการเปลี่ยนผ่าน (Transition )
และการขัดเกลาทางสังคม (Socialization)
ตัวอย่างเช่นเด็กผู้หญิงต้องเรียนรู้กระบวนการทอผ้าตั้งแต่เด็ก
และการที่ผู้หญิงอีสานจะแต่งงานได้จะต้องรู้จักทอผ้าเป็น เพื่อไว้ทอให้สามีและลูก
รวมถึงผ้าห่อศพตัวเอง
นอกจากนี้ในทางพระพุทธศาสนา
บทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของผู้หญิงอีสานก็คือการทอผ้าซิ่นไหม
เพื่อใช้ห่อคัมภีร์ในทางพระพุทธศาสนา
ที่สะท้อนบทบาทและหน้าที่ของผู้หญิงในทางพระพุทธศาสนาที่มีความสำคัญในชุมชน
การทอผ้าซิ่นก็คล้ายกับการทอทุงหรือธงผะเหวด ในงานบุญเทศน์มหาชาติ บุญผเวส
หรือการทอผ้าไหม เป็นชุดผ้าเหลือง เป็นสบง จีวร อังสะ รัดประคด หรือชุดขาว
สำหรับพิธีบวชนาคของลูกชาย
ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเกื้อกูลกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิง
โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นตัวเชื่อม
ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าฐานคิดทางวัฒนธรรมของคนพื้นเมืองอีสาน
ไม่ได้มองเรื่องเพศในมิติความสัมพันธ์ทางอำนาจหรือการเอารัดเอาเปรียบ
ความสัมพันธ์เหล่านี้นี่ที่ทำให้ชุมชนอีสานดำรงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้
โดยไม่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างเพศเหมือนสังคมอื่นๆ นอกจากนี้กระบวนการทอผ้าจึงเป็นเสมือนวิธีการเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของครอบครัวและชุมชน
เช่น การทำบุญในพระพุทธศาสนา การค้าขายผ้าเพื่อเลี้ยงครอบครัว
การให้กำเนิดและเลี้ยงดูสมาชิกใหม่ของชุมชน
ดังนั้นบทบาทของผู้หญิงในสังคมอีสานจึงมีลักษณะของการเกื้อกูลกันระหว่างเพศชายและหญิง
โดยที่สถานภาพของผู้ชายไม่ได้ต้อยต่ำกว่าเพศหญิงแต่อย่างใด
แม้ว่าในปัจจุบัน พัฒนาการของทุนนิยม
ทำให้ผู้หญิงต้องปรับเปลี่ยนบทบาททางสังคมของผู้หญิงอีสาน การติดต่อกับโลกภายนอก
การเข้าไปสัมพันธ์กับระบบตลาดรวมถึงความทันสมัยที่เข้ามาในชุมชน
การได้รับการศึกษาที่สูงมากขึ้น ทำให้หนุ่มสาวส่วนใหญ่หันหลังให้กับหมู่บ้านและอาชีพเกษตรกรรม
ที่ต้องอาศัยปัจจัยทางธรรมชาติ น้ำฝน เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์
หรือราคาข้าวที่ผันพวนไปตามราคาของกลไกลตลาด
และอิทธิพลของสื่อที่สะท้อนภาพความเจริญของเมือง ความทันสมัย อาหาร ดนตรี
เครื่องสำอาง ความสวยงามและเทคโนโลยีต่างๆที่ทำให้คนหนุ่มสาวชนบทต้องการอพยพออกจากหมู่บ้าน
ไปหางานทำ โดยมีพื้นฐานสำคัญที่ต้องยึดถือก็คือ เรื่องของความกตัญญู
การทดแทนบุญคุณ ดังนั้นการเข้ามาแสวงหาเงินและงานในกรุงเทพฯ
จึงเป็นความสัมพันธ์ในทางอ้อมกับภาคเกษตรกรรม ที่คนหนุ่มสาวต้องการหาเงินเมาให้พ่อแม่
พี่น้องเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำนา ทั้งซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย จ้างแรงงาน และอื่น
โดยแลกเปลี่ยนกับความมั่นคงทางอาหารที่ครอบครัวจะได้รับจากการปลูกข้าวเพื่อบริโภค
รวมถึงแรงงานหนุ่มสาวเหล่านี้ ที่เข้ามาทำงานในเมืองหลวงไม่ว่าจะเป็นงานในโรงงาน
งานก่อสร้าง รับจ้าง ขายอาหารและอื่นๆ
ซึ่งจะต้องขนข้าวสารเข้ามาในกรุงเทพฯเพื่อทุ่นค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตร
ปัญหาผู้หญิงในสังคมเกษตรกรรม
โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์และการล่วงละเมิดสิทธิทางเพศ
เหตุการณ์ผู้หญิงอินเดียสูญหายจำนวนนับล้านคน
จากการสำรวจสำมะโนประชากร อันเนื่องมาจากเหตุผลสำคัญต่างๆ เช่น การทำแท้ง
การฆ่าทารกแต่กำเนิดเมื่อรู้ว่าลูกเป็นผู้หญิง หรือการทอดทิ้งลูกผู้หญิงให้อดตาย
ตัวเลขของผู้หญิงเอเชียใต้ที่สูญหายในราว 72 ล้านคน จึงน่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง หรือกรณีของประเทศจีน
ที่พยายามสร้างนโยบายการมีลูกคนเดียว (One Child Policy) ในปี
ค.ศ. 1979 เพื่อลดปัญหาจำนวนประชากร ไม่ให้ล้นประเทศ
ได้ทำให้ความสมดุลระหว่างเพศสูญหายไป เมื่อครอบครัวจีน
ส่วนใหญ่ต้องการมีลูกชายมากกว่าลูกสาว เพราะระบบสังคม
มีความเชื่อว่าการมีบุตรชายแห่งมังกรดีกว่าการมีลูกผู้หญิง
ที่เหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน ทำให้เมื่อมีการนำนโยบายนี้มาใช้ 10 ปี
การฆ่าลูกผู้หญิงก็ยังคงดำรงอยู่อย่างรุนแรงมากขึ้น และส่งผลมาถึงปัจจุบัน
ที่มีปรากฏการณ์พ่อแม่ที่มีลูกชายประกาศหาลูกสะใภ้หรือหาคู่ให้ลูกชายของตนเอง
เพื่อสืบสกุล เนื่องจากเกิดปัญหาขาดแคลนเพศหญิง
ในหลายประเทศของเอเชีย การมีลูกผู้หญิงถือว่ามีค่าน้อยมาก
โดยเฉพาะประเทศที่ยากจนและด้อยพัฒนาในแถบเอเชียใต้ ที่การปฏิบัติต่อลูกผู้หญิง
มีความแตกต่างจากลูกผู้ชาย ทั้งการเลี้ยงอาหาร การดูแลยามเจ็บป่วย
รวมถึงการส่งเสียเลี้ยงดูด้านการศึกษา จากตัวเลขทางสถิติ ประเทศปากีสถาน
ผู้หญิงที่รู้หนังสือมีจำนวนเพียง 23 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งแตกต่างจากเพศชายมีจำนวนมากกว่า 49 เปอร์เซ็นต์ และในกลุ่มอายุ 1-4 ขวบ
อัตราส่วนการเสียชีวิตของเด็กผู้หญิงสูงกว่าเด็กผู้ชาย ประมาณ12 เปอร์เซ็นต์
คนเอเชีย เชื่อถือว่า เด็กและหญิง
เป็นคนครอบครัวมาช้านาน แม้ว่าโครงสร้างกฎหมายของหลายๆประเทศยอมรับสิทธิของคนกลุ่มน้อย
คนวรรณะต่ำและสตรี แต่ในความเป็นจริงแล้ว
อุดมคติหรือแบบแผนทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับผู้หญิงที่ฝังรากลึกในสังคม ตัวอย่างเช่นจีน
ภายหลังชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี ค.ศ. 1949 แม้ว่าจีนจะจำกัดการกดขี่
ความไม่เสมอภาคทางเพศ การมีภรรยามากกว่า 1
คน การขายบริการทางเพศและการค้าหญิง แม้ว่านโยบายโฆษณาชวนชื่อดังกล่าวจะดูดี
แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่เป็นเช่นนั้น การค้าเด็กผู้หญิงในตลาดเสรีก็เพิ่มมากขึ้น
เมื่อจีนมีนโยบายผ่อนคลายมาตรการควบคุมทางเศรษฐกิจเมื่อปลายปี 1970
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าผู้หญิงได้รับการปฏิบัติเหมือนทรัพย์สมบัติ
และต้องพึ่งพาผู้ชายทั้งทางรายได้และทางสังคม
อีกทั้งมีโอกาสน้อยมากในการเลือกทางเดินชีวิตภายนอกขอบเขตของบ้าน
สังคมบีบบังคับให้ผู้หญิงยอมรับสภาพทางสังคมของตนเอง และธรรมชาติทางเพศของตนเอง สำหรับผู้หญิง การแต่งงานของผู้หญิง
กลายเป็นช่องทางนำไปสู่การทำมาหากิน และการเพิ่มสถานภาพทางสังคม
ในพื้นที่หลายแห่งที่ด้อยการพัฒนาในเอเชีย เช่น เนปาล
ผู้หญิงไม่มีสิทธิในทรัพย์สินพื้นฐานและมรดก
หรือแม้แต่จะมีสิทธิทำงานแบบมีเงินเดือน ซึ่งแตกต่างจากผู้หญิงในประเทศที่พัฒนาแล้ว
มีโอกาสที่จะทำงานดีๆข้างนอกบ้าน และได้รับค่าตอบแทนดี
ในประเทศไทย บุตรสาวเป็นผู้ถูกกำหนดให้ดูแลบ้าน
เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พ่อแม่คาดว่าว่าเด็กจะต้องตอบแทนคุณ ผ่านแนวคิดเรื่อง “ค่าน้ำนม” หรือ “ค่าสินสอด” เช่น ที่ฟิลิปินส์
เด็กผู้หญิงมีความรับผิดชอบต่อการชดใช้หนี้บุญคุณ แก่พ่อแม่ ที่จีน
เด็กเป็นหนี้บุญคุณพ่อแม่ที่ให้ชีวิตแก่พวกเขา
ความรับผิดชอบและความสำนึกในหน้าที่ของตัวเองถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ในสังคมไทยเรียกว่า
“ความกตัญญู”
ซึ่งต้องตอบแทนด้วยการเลี้ยงดูพ่อแม่
ด้วยการให้เงินจุนเจือครอบครัว
หรือเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจกรรมด้านการเกษตร ตัวอย่างเช่น บางชุมชนในไต้หวัน
มีทัศนคติให้อภัยกับหญิงสาวที่ให้ความช่วยครอบครัวด้านการเงิน
แม้ว่าเงินเหล่านี้จะได้รับจากการค้าประเวณีก็ตาม ดังนั้น สถานภาพของผู้หญิงจึงสัมพันธ์กับผู้ชาย คือถ้าไม่เป็นของชายคนใดคนหนึ่ง
ก็เป็นของชายทุกคนที่เรียกว่าโสเภณี
แต่การแต่งงานไม่ใช่ข้อผูกมัดระหว่างคนสองคน
เพศชายกับเพศหญิง แต่เป็นการผูกมัดทาง เศรษฐกิจสังคมระหว่างครอบครัว ระบบเครือญาติ
ของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
ดังนั้นความบริสุทธิ์ของผู้หญิงจึงมีค่ามีความสำคัญ
ดังเราจะเห็นคำกล่าวที่ว่า อย่าชิงสุกก่อนห่าม รักนวลสงวนตัว
ต้องมีความเป็นกุลสตรี
ในสังคมเกาหลีความบริสุทธิ์ของสาวพรหมจารีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในระบบค่านิยมของชาวเอเชีย ดังสุภาษิตเกาหลีที่ว่า “พรหมจรรย์ของผู้หญิงมีค่าเท่าชีวิต”
ซึ่งคล้ายกับความคิดของชนชั้นกลางในอังกฤษสมัยวิกตอเรียที่จำแนกความสวยความงาม
ความดี ความเลว ผู้หญิงดี กับผู้หญิงเลว
ซึ่งทำให้ผู้ชายใช้ตราหน้าผู้หญิงได้ว่าเป็นผู้หญิงไม่ดีหรือโสเภณี
รวมทั้งใช้ควบคุมผู้หญิงในสังคม หญิงเลวก็คือผู้หญิงที่อยู่นอกระบบครอบครัว
ผู้ชายไม่ว่าใครก็สามารถครอบครอง หรือใช้เธอได้
ในกรณีของผู้หญิงที่มีพรหมจรรย์ย่อมไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ การสูญเสียพรหมจรรย์จากการแต่งงาน
เป็นสัญลักษณ์ของการมีเจ้าของ
แต่การสูญเสียพรหมจรรย์นอกการสมรสกลายเป็นพฤติกรรมนอกรีต ได้รับการติเตียนหรือรังเกียจจากคนอื่นในสังคม
ดังนั้นการครอบงำความคิด
เกี่ยวกับเรื่องพรหมจรรย์ ศักดิ์ศรี และตำแหน่ง
ภายในระดับชั้นทางอำนาจของผู้ชายอย่างแยกไม่ออก ความประพฤติของผู้หญิง
ความสามารถของครอบครัวในการปกป้องดูแลเธอ ความสามารถของตัวเธอเองที่จะแต่งงานแบบมีหน้ามีตา
ซึ่งเป็นปัจจัยบ่งชี้กำหนดสถานภาพของครอบครัวและอำนาจของผู้ชาย
ตัวอย่างเช่นในประเทศปากีสถาน
เกียรติของผู้ชายและครอบครัวของเขาจะต้องธำรงไว้อย่างมั่นคง
โดยใช้กระบวนการควบคุมเพศหญิงเป็นฐานสำคัญ ดังนั้นการฆ่าเด็กผู้หญิงโดยพี่ชายหรือน้องชาย
หรือพ่อสังหาร จึงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในปากีสถาน
เมื่อรู้ว่ามีเพศสัมพันธ์หรือลักลอบมีเพศสัมพันธ์โดยมิชอบ ดังเช่น เมื่อปีพ.ศ.
1996 มีจำนวนผู้หญิงที่ถูกสังหารถึง 66 ราย
พรหมจรรย์ จึงถือเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์
แต่ถ้าถูกข่มขืน ผู้หญิงเหล่านี้ก็จะกลายเป็นสิ่งมีตำหนิหรือกลายเป็นของเสีย
แม้แต่การถูกข่มขืน ดังเช่นเหตุการณ์ในประเทศบังคลาเทศ ระหว่างการทำสงครามเพื่อแยกตัวออกจากปากีสถานในช่วงปี
ค.ศ.1970 ที่มีรายงานว่า ทหารปากีสถานข่มขืนผู้หญิงและเด็กหญิงชาวบังคลาเทศกว่า
30,000 คน ดังนั้นการข่มขืน กลายเป็นเครื่องมือและยุทธวิธีในการทำสงคราม
เนื่องจากผู้หญิงและสตรีเป็นเกียรติยศแห่งสังคมและสถานภาพของผู้ชาย
การข่มขืนถือเป็นการโจมตีแกนหลักของสังคมบังคลาเทศ
หลังสงครามชาวบังคลาเทศเรียกผู้หญิงเหล่านี้ ว่า บิรังโกนา
ซึ่งภายหลังสงครามทางการออกแถลงการณ์ยกย่องพวกเธอว่าเป็นวีรสตรี แต่ในส่วนตัวก็กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นผู้หญิงที่ไม่บริสุทธิ์ ครอบครัวบางครอบครัวหันหลังให้ลูกสาว น้องสาว
พี่สาว แม่และภรรยา ที่โดยข่มขืน พวกเธอไม่มีบ้านอยู่ เพราะครอบครัว
รับไม่ได้กับความอับอายที่จะให้ผู้หญิงซึ่งมีมลทินอยู่ภายใต้ชายเดียวกัน
และหลายรายต้องกลายมาเป็นโสเภณี
สำหรับในสังคมไทยแล้ว อาจกล่าวได้ว่า
สถานภาพของผู้หญิง จะผูกโยงอยู่กับเรื่องของบุญคุณ การตอบแทนบุญคุณ ในการควบคุมพฤติกรรมระหว่างเครือญาติ
ซึ่งมีผลต่อการปฏิบัติของพ่อแม่ต่อลูกชายและลูกสาว ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ
แม่และลูก อันได้แก่ ความกตัญญู
การตอบแทนบุญคุณ ที่มีฐานคิดว่า การให้กำเนิดเป็นบุญคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นหนี้ที่ลูกต้องจ่ายคืนแก่พ่อแม่นี้
มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมากระหว่างลูกชายกับลูกสาว
ลูกชายสามารถตอบแทนบุญคุณได้ง่ายดายด้วยการบวชเรียน หรือบวชทดแทนบุญคุณ
เพื่อให้ลูกชายได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์
และเป็นหนทางของการสร้างบุญอันยิ่งใหญ่
เพราะลูกชายเท่านั้นที่สามารถบวชได้
ผู้หญิงไม่มีวันที่จะบวชได้ ลุกสาวจึงไม่มีหนทางที่จะตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ได้อย่างผู้ชาย จึงตอบแทนด้วยการทำงานให้ การดูแล
จุนเจือเงินทองให้กับพ่อแม่ ทั้งโดยการต่างงานกับชาวต่างชาติ
หรือการเข้าไปเป็นสาวโรงงานในกรุงเทพฯ
รวมถึงการทำอาชีพอื่นๆที่จะทำให้ได้เงินมาจุนเจือครอบครัว
ดังนั้น
การที่ผู้หญิงมีสถานภาพทางเพศในระดับต่ำกว่า
ทำให้ผู้หญิงถูกปิดโอกาสในการเข้าถึงทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งต้องอาศัยฐานการศึกษาเป็นตัวช่วย
ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ในภาคอีสานหรือภาคชนบทจะได้รับการส่งเสริมการศึกษาค่อนข้างน้อย
มักจะออกจากโรงเรียนทันทีเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับ ในขณะที่พ่อแม่จะพยายามส่งเสริมให้ลูกผู้ชายได้เรียนต่อ หน้าที่ในการหาเงินส่งเสียพี่น้องผู้ชาย
จึงเป็นของลูกผู้หญิง ที่จะต้องทำงานเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว
เพื่อที่ลูกชายเหล่านั้นเมื่อประสบความสำเร็จแล้วจะกลับมาลี้ยงดูเกื้อหนุนตัวเองเป็นการตอบแทน
หนทางหนึ่งที่ลูกผู้หญิงจะตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ได้
ก็คือ การแต่งงานกับผู้ชายที่มีทรัพย์สินซึ่งสามารถจะนำมาจุนเจือครอบครัวพ่อแม่ได้
ผู้ชายอาจเป็นคนร่ำรวยหรือมีอิทธิพลทางการเมือง หรือเป็นแค่คนธรรมดาที่ทำงานหนัก
หาเงินได้ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่เน้นไปที่เรื่องของความขยัน ดังคำกล่าวที่ว่า “แม้ไม่มีอะไรพร้าขัดหลังมาอันเดียวก็ยกให้”
โดยการแต่งงานของไทย ฝ่ายหญิงสามารถเรียกค่าสินสอดได้
โดยถือว่าค่าสินสอดเป็นค่าน้ำนม ที่ฝ่ายชายต้องมอบให้กับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง
แต่เหตุผลที่จริงแล้วก็คือสิ่งที่ผู้หญิงต้องตอบแทนบุญคุณของแม่นั่นเอง
ในสังคมไทยอาจกล่าว
สถานภาพของผู้หญิงแตกต่างกันตามชนชั้นที่ผู้หญิงเป็นสมาชิกอยู่
ระหว่างผู้หญิงในชนชั้นสูงและผู้หญิงในชนชั้นกระดุมพี ที่ถูกหล่อหลอมด้วยอุดมการณ์
ค่านิยมทางสังคมที่ผู้ชายเป็นผู้กำหนดหรือสังคมสร้างขึ้นเพื่อไม่ให้ผู้หญิงเกลือกกลั้วกับชนชั้นอื่นที่ต่ำต้อยกว่า
เพื่อสงวนไว้สมบัติกับชนชั้นต่อไป ค่านิยมดังกล่าวเช่น รักนวลสงวนตัว
คุณสมบัติของกุลสตรี ในขณะที่ชนชั้นสูงถูกกดบังคับทางเซ็กส์
ผู้หญิงในสังคมเกษตรกรรมมีบทบาทและสถานภาพทางสังคมเท่าเทียมหรือบางครั้งสูงกว่าผู้ชายโดยเฉพาะภายใต้โครงสร้างสังคมหมู่บ้านภาคอีสาน
ทรัพย์สมบัติจะสืบเชื้อสายทางฝ่ายแม่ การแต่งงานต้องแต่งแบบผู้ชายเข้าบ้าน
เพื่อมาเป็นแรงงานในการเพาะปลูกในที่ดินของตนเอง
ในหนังสือ Thai woman in
the global labor force ; comsuming desires,contested selves(1999)
ของ mary Beth mills ที่สะท้อนให้เห็นการเคลื่อนไหวของอัตลักษณ์และวิถีชีวิตผู้หญิงอีสานหรือผู้หญิงชนบทไทยยุคใหม่
โดยเฉพาะความปรารถนาและวิถีการดำเนินชีวิตของผู้หญิงชนบท
ที่มีความยอกย้อนและขัดแย้งกับบรรทัดฐาน ในความสำนึกแห่งตัวตน (Subjectivity) และการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของความเป็นผู้หญิงชนบทแบบเก่า (Tradition
female identity)
ซึ่งสังคมหมู่บ้านได้กำหนดไว้ให้กับลูกผู้หญิง
แม้ว่าบรรทัดฐานสำหรับลูกผู้หญิงแบบเก่าเหล่านี้จะถูกท้าทายโดยกระแสความทันสมัยนิยม
แต่มันยังคงมีอิทธิพลต่อระบบคิดและโลกทัศน์ของผู้คนในสังคมไทยยุคปัจจุบัน
ความน่าสนใจของงานชิ้นนี้คือ
การหลุดออกไปจากกรอบของการมองหรือการศึกษาผู้หญิงไทย
ที่ถูกกดขี่ภายใต้ระบบอุตสาหกรรม ธุรกิจการขายบริการทางเพศ
แต่เป็นงานศึกษาผู้หญิงไทยภายใต้วิธีการทางมานุษยวิทยา
ที่มองผู้หญิงนอกเหนือบริบทอุตสาหกรรมการค้าประเวณี
แต่มุ่งศึกษาชีวิตของผู้หญิงไทยที่ย้ายถิ่นจากหมู่บ้านในชนบทอีสานไปเป็นแรงงานรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองหลวง โดยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าว
มากกว่าขอบเขตทางด้านประชากรศาสตร์ ที่เป็นเรื่องของรายได้ ภาวการณ์ว่างงาน
ความอดอยาก ยากจน
ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงชนบทอพยพไปสู่เมือง แต่เป็นมุมมองในทางมานุษยวิทยาที่วิเคราะห์ในแนวเศรษฐศาสตร์การเมืองและการตีความทางวัฒนธรรม
ที่สัมพันธ์กับสภาวะความเป็นสมัยใหม่ โดย Mill ได้เข้าไปศึกษาในหมู่บ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งหมู่บ้านนี้มีการอพยพย้ายถิ่นของคนหนุ่มสาว
โดยเธอได้ติดตามผู้หญิงเหล่านี้ที่ย้ายถิ่นออกจากหมู่บ้านไปยังโรงงาน
ในเขตกรุเทพมหานคร โดยศึกษาเรื่องการปรับตัวของพวกเธอในการชี้วิตอยู่ในเมืองหลวง
รวมถึงการเชื่อมโยงกับบริบทของโลกาภิวัตน์และทุนนิยมโลก
ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านอีสานทุกๆด้าน ทั้งทางด้านการผลิต
การบริโภค สำนึกเกี่ยวกับตัวตน และการแสดงออกทางอัตลักษณ์ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศ
ความเป็นหญิงเป็นชาย ของหญิงสาวชาวอีสาน พ่อแม่และคนในหมู่บ้าน
สาเหตุที่ทำให้หญิงสาวชนบทชาวอีสานอพยพไปหางานทำจำนวนมากก็คือ
การขยายตัวของระบบทุนนิยม และกระแสของลัทธิบริโภคนิยม โดยการแสวหาแรงงานราคาถูกจากประเทศกำลังพัฒนา
ภายใต้ระบบการผลิตแบบทุนนิยม ทำให้แรงงานผู้หญิงกลายเป็นแรงงานราคาถูกกว่าแรงงานผู้ชาย
ที่เป็นที่ต้องการของนักลงทุน
ในขณะเดียวกันอิทธิพลองสื่อสมัยใหม่
ก็เป็นสิ่งที่กระตุ้นผู้หญิงสาวในชนบทรุ่นใหม่มีความต้องการที่จะเลียนแบบหรืออยากมีรูปลักษณ์
ผู้หญิงทันสมัยเช่นเดียวกับนางแบบสมัยใหม่
หรือดาราบนจอโทรทัศน์ Mill บอกว่า บริบททางวัฒนธรรมมีผลต่อการตัดสินใจย้ายถิ่นออกจากหมู่บ้านไปทำงานรับจ้างในเมืองหลวงของหญิงสาวชนบทอีสาน
เป็นเรื่องของความต้องการทำหน้าที่เป็นลูกที่ดี เพราะสังคมไทยตีกรอบไว้ว่าลูกสาวที่ดีจะต้องตอบแทนบุญคุณพ่อแม่โดยการเลี้ยงดูท่านเมื่อยามแก่ชรา
ในขณะที่ลูกชายได้รับการคาดหวังให้ตอบแทนบุญคุณด้วยการบวชในพระพุทธศาสนา
ดังนั้นการไปทำงานเมืองหลวงจึงเป็นโอกาสที่จะได้ส่งเงินนกลับบ้านเลี้ยงดูพ่อแม่
และส่งเสียน้องๆได้เรียนหนังสือ
สิ่งที่น่าสนใจในความคิดของMill ก็คือ
นอกจากการมองว่าในขณะที่หญิงสาวชนบทมองการย้ายถิ่นไปทำงานรับจ้างในเมืองหลวงเป็นวิถีทางที่ช่วยให้พวกเธอได้ทำหน้าที่ตอบแทนบุญคุณในฐานะลูกสาวที่ดี
แต่ในอีกด้านหนึ่ง การย้ายถิ่นก็คือความฝันของพวกเธอที่อยากจะสุขสบาย
ความใฝ่ฝันที่จะได้เป็นเจ้าของเสื้อผ้า เครื่องประดับ
และสัมผัสกับความบันเทิงในรูปแบบที่หลากหลายได้กลายเป็นความจริงขึ้นมา
เมื่อพวกเธอมีรายได้เป้นของตนเอง
ซึ่งทำให้หญิงสาวเหล่านี้มีโอกาสบริโภคสินค้า
ที่มีความหมายในเชิงของสัญลักษณ์ที่ให้ภาพลักษณ์ความเป็นคนทันสมัยแก่ผู้บริโภค โดยเชื่อว่าเมืองหลวงเป็นศูนย์กลางของความทันสมัย
การได้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงทำให้พวกเธอรู้สึกว่าตัวเองมีวิถีชีวิตแตกต่างไปจากเดิม
หรือมีภาพลักษณ์ที่ห่างไกลจากการเป็นหญิงชนบทเชยๆ
ดังเช่นตัวอย่างของเพลงลูกทุ่งชื่อ คุณลำไย
ที่สะท้อนถึงความฝันและความปรารถนาของผู้หญิงชนบทในยุคปัจจุบันที่ไม่ต้องการให้คนอื่นมองว่าตัวเอง
บ้านนอก หรือเชย ล้าสมัยอีกต่อไป
ในความเห็นของ Mill สะท้อนให้เห็นลักษณะตัวตนของผู้หญิงเป็น สองด้านคือ
1.ในด้านของตัวของตัวเอง (Agency)
คือมีอำนาจในการที่จะสร้างตัวตนใหม่ของตัวเองโดยผ่านการเลือกบริโภคสินค้าที่ต้องการ
2.ผู้หญิงชนบทที่มาทำงานในภาคอุตสาหกรรม
กำลังตกเป็นเหยื่อ (Victim) ของระบบตลาดทุนนิยม
เพราะจริงๆแล้วโอกาสที่หญิงสาวเหล่านี้จะวิ่งตามความฝันของตัวเองและการทำให้ความฝันเป็นจริง
ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขหลายประการ เช่น ไค้ค่าแรงที่ต่ำ การทำงานแบบกะ เข้าๆออกๆ
การทำโอที ทำให้ไม่มีเวลาว่างในการดูแลตัวเอง หรือผักผ่อนหย่อนใจ นอนดึกตื่นเช้า
รวมถึงสภาวะความตึงเครียดและลำบากใจเมื่อต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการมีภาพลักษณ์ของผู้หญิงทันสมัยกับผู้หญิงสมัยเก่า
นอกจากนี้ความต้องการที่จะเป็นคนสมัยใหม่ไม่ได้เกิดจากตัวของหญิงสาวหรือชายหนุ่มของหมู่บ้านที่อพยพย้ายถิ่นไปทำงานในเมืองหลวงเท่านั้น
แต่พ่อแม่ก็มีส่วนสำคัญ ในการกระตุ้นให้เกิดความต้องการดังกล่าว
พร้อมกับความต้องการของตัวเองที่จะบริโภควัตถุที่เป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย เช่น การมีบ้านทรงสมัยใหม่
มีเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน มีมอร์เตอร์ไซค์ รถยนต์นั่ง เพราะในสังคมหมู่บ้านอีสานปัจจุบันให้ความนับถือกับการมีหน้ามีตา
ความร่ำรวยทางวัตถุเป็นสำคัญ
ทำให้ต้องดิ้นรนเพื่อแสวงหาวัตถุราคาแพงและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
เพื่อจะได้รับการยอมรับนับถือจากเพื่อนบ้าน
พ่อแม่จึงสนับสนุนให้ลูกสาวย้ายถิ่นไปทำงานในกรุงเทพฯ เพื่อจะได้ส่งเงินมาให้พ่อแม่สร้างบ้านและซื้อสินค้าทันสมัย
ดังเช่นปรากฏการณ์ล่องใต้ของคนเหนือ และอีสานเข้ากรุง เป็นต้น ความล้มเหลวของภาคเกษตรกรรม
การเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาวะความเป็นเมือง ความเฟื่องฟูของภาคอุตสาหกรรม
การเติบโตของวัฒนธรรมการท่องเที่ยว และระบบทุนนิยม รวมถึงกระบวนการกลายเป็นสินค้า
บทบาทของผู้หญิงจึงลดต่ำลง และไร้อำนาจในการควบคุมทรัพยากรและการต่อรอง
ผู้หญิงอีสานในสังคมชาวไร่ชาวนากับค่านิยมเรื่องการมีสามีเป็นชาวต่างชาติ
(เมียฝรั่ง)
ประวัติศาสตร์ของคำว่า เมียฝรั่ง
นักวิชาการเช่น อาจารย์รัตนา บุญมัธยะ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบท
มหาวิทยาลัยมหิดล เชื่อมโยงกับคำว่าเมียเช่า ที่เกิดขึ้นในช่วงของสงครามเวียดนาม
ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ค่อนข้างดูถูก เหยียดหยาม
อาจารย์รัตนาเลี่ยงมาใช้คำว่าภรรยาฝรั่ง เพื่อเป็นการให้เกียรติผู้หญิงเหล่านี้ โดยมองว่าตัวของฝรั่งก็คือขุมทรัพย์ที่มีชีวิต
ทัศนคติทางลบต่อผู้ชายไทย เช่น อดๆอยากๆ
อยู่กับผัวคนไทยได้แต่ทำนา อยู่กับแดดกับทุ่งนา
โดยผู้หญิงเหล่านี้ เมื่อได้สามีเป็นคนต่างชาติและอพยพไปอยู่ต่างประเทศพร้อมสามี
ก็มักจะกลับมาแนะนำเพื่อนของสามีที่เป็นชาวต่างชาติเข้ามารู้จักกับญาติที่เป็นผู้หญิง
ทั้งสาวและวัยกลางคน
ที่อาจจะเป็นหญิงบริสุทธิ์หรือเป็นแม่ม่ายที่เคยแต่งงานมาแล้ว
ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่คนสาวหรือผุ้หญิงในหมู่บ้านบางหมู่บ้านได้สามีเป็นชาวสวิสเซอร์แลนด์จำนวนมากในจังหวัดร้อยเอ็ด
การแต่งงานของผู้หญิงอีสานกับชาวต่างชาติ จึงเป็นเสมือนการดิ้นรนต่อสู้
และการแสวงหาโอกาสของผู้หญิงที่มีความรู้น้อย ได้เงินเดือนน้อย
หรือคนที่มีชีวิตคู่ล้มเหลว ต้อทำงานขายบริการ จะได้มีโอกาสมีหน้ามีตา
และได้รับการยอมรับในสังคม ซึ่งสอดรับกับความต้องการของคนต่างชาติซึ่งมีเงินทองมาก
ที่ต้องการภรรยาเป็นคนไทย คนอีสาน เป็นคนเอาใจเก่ง น่ารัก
ปรนนิบัติอย่างไม่ขัดตกบกพร่อง
ซึ่งแตกต่างจากในวัฒนธรรมของพวกเขาที่พูดถึงเรื่องความเสมอภาคทางเพศ
การช่วยเหลือตนเอง
สถานที่นัดพบหรือเจอกับคนต่างชาติ
มีทั้งพื้นที่สาธารณะเช่นในสถานเริงรมย์ ไนต์คลับ บาร์ หรือในพื้นที่ทางอินเตอร์เน็ต
ผ่านบริษัทจัดหาคู่ หรือผ่านนายหน้า ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่าย
ตั้งแต่70,000-150,000 บาท (อ้างจากรัตนา บุญมัธยะ)
ซึ่งการหาคู่ด้วยวิธีการเช่นนี้ก็ต้องเสี่ยงดวง ว่าจะเจอคนดีหรือคนไม่ดี
แต่ถ้าหากเจอคู่รักที่ดี จากผู้หญิงหน้าตาไม่สะสวย หรือผิวกร้านดำก็อาจกลายเป็นซินเดอเรอร่าได้
การใช้ชีวิตในต่างประเทศกับสามีฝรั่ง
ต้องเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ทั้งในแง่ของภาษา อาหาร การเข้าสังคม
หรือแม้แต่ครอบครัวของฝ่ายสามี
แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การไม่ลืมท้องถิ่น
ความกตัญญูและการตอบแทนคุณแก่พ่อแม่ การส่งเงินกลับมาสร้างสร้างบ้านหลังใหญ่
การส่งเงินส่งเสียพี่น้องให้ได้เรียนหนังสือ หรือการทำกฐินผ้าป่ามาร่วมกันสร้างวัด
ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ซึ่งทำให้คนที่มีสามีฝรั่งมีหน้ามีตาในสังคม ซึ่งน่ากังวลว่า
ค่านิยมเหล่านี้ได้ส่งผ่านมาถึงเด็ก วัยรุ่น หรือคนมีการศึกษาหลายคนที่อยากมีสามีฝรั่งและอยากสุขสบาย
เนื่องจากการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาประเทศ
ไม่ได้แก้ปัญหาความต้องการทางเศรษฐกิจของชาวบ้านได้อย่างแท้จริง ทำให้หญิงอีสาน
ต้องหาช่องทางที่จะทำให้ตนมีความสุขสบายทางวัตถุ และเดินรอยตามพี่ป้า นาอา
ที่มีสามีเป็นชาวต่างชาติ
ซึ่งน่าสนใจว่าสังคมชาวไร่ชาวนาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วมาก
ในแง่ที่การส่งออกผู้หญิงไทยไปในต่างแดน ไม่ใช่การขายบริการทางเพศ
แต่เป็นการมีสามีเป็นคนต่างชาติ ได้ทำให้พวกเธอยกสถานะภาพของตัวเองให้สูงขึ้น
รวมถึงลูกที่เกิดมา แม้ว่าจะเป็นลูกผสมแต่ก็มีความสามารถพูดได้หลายภาษา
รูปแบบความสัมพันธ์ภายใต้ระบบโลกาภิวัตน์ ความผูกพันกับบ้านเกิดหรือมาตุภูมิ
กับชุมชนที่ตัวเองไปตั้งรกรากตามสามีที่ต่างประเทศ
ที่ผู้หญิงอีสานเชื่อมตัวเองกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวระหว่างท้องถิ่นกับโลก
อีกทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนภาคการเกษตรที่มีความสำคัญ
รวมถึงด้านศาสนาและการพัฒนาหมู่บ้าน
ที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของผู้หญิงในสังคมชาวไร่ชาวนาในปัจจุบัน
หนังสืออ้างอิง
พัฒนา
กิตติอาษา
, แม่ญิงสิต่ำหูก สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
Vandana
Shiva
, Woman Indiginious Knowledge and Biodiversity Conservation ในหนังสือ
Ecofeminism
รัตนา
บุญมัธยะ
, เมียฝรั่ง วาราสารพหุลักษณ์ลุ่มน้ำโขง
ปราณี
วงษ์เทศ.ผู้หญิงในอุษาคเณย์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น