ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การเปลี่ยนผ่านของสังคมชาวไร่ชาวนาไทยในปัจจุบัน โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 การเปลี่ยนผ่านของสังคมชาวไร่ชาวนาไทยในปัจจุบัน

กรอบในการวิเคราะห์หรือการมองสังคมชาวไร่ชาวนาไทยที่สำคัญ ในปัจจุบัน ก็คือ การมองสังคมชาวไร่ชาวนาไทยในฐานะท้องถิ่นที่ปะทะต่อรองกับภายนอก ทั้งในเชิงของนโยบายการพัฒนาระดับประเทศ จนถึงระดับโลก โดยเฉพาะกระแสของสิ่งที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ (Globalization)  ที่เชื่อมต่อ และทำให้พรมแดนระหว่างโลก ประเทศ และท้องถิ่น เชื่อมโยงเข้าหากัน หรือที่เราเรียกว่า โลกยุคไร้พรมแดน

ปรากฏการณ์ที่สำคัญในโลกยุคหลังสมัยใหม่ (ในช่วงปลายศตวรรษที่19-20)

1.ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้นมา การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า และพัฒนา พร้อมๆไปกับระบบทุนนิยมแบบตลาดการค้าเสรี ที่แผ่ขยายอำนาจอย่างกว้างขวางมากขึ้นตามลำดับ  ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ เทคโนโลยีกลายเป็นเครื่องมือของนายทุน ในการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่าย  และเกิดกระบวนการทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า Americanization การมีวิถีชีวิตและการกินอยู่แบบอเมริกัน  หรือสูญหายของวัฒนธรรมตนเอง เมื่อวัฒนธรรมอเมริกันได้รุกล้ำเข้าไปในวัฒนธรรมอื่น ก็จะก่อให้เกิดการพังทลาย หรือเสื่อมสลายของวัฒนธรรมนั้น  ปรากฏการณ์ดังกล่าว นำไปสู่ ความสำนึกในทางชาติพันธุ์ สำนึกเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์ตัวเองจึงเกิดขึ้น

Appadurai Arjun (1990) เคยกล่าวไว้ว่า สำนึกในชาติพันธุ์เกิดขึ้นมาจากความกลัวว่าจะทำให้เหมือนกัน (Homogenization) ซึ่งเป็นการทำลายความแตกต่างหลากหลาย

คำถามที่สำคัญ ถ้าทุกอย่างถูกทำให้เหมือนกันหมด ทั้งวิถีชีวิต รูปแบบการบริโภค  จะมีประโยชน์เช่นไรกับการศึกษาทางมานุษยวิทยา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง วัฒนธรรม ภูมิปัญญา รากเหง้าของท้องถิ่น และอื่นๆ

ปรากฏการณ์ของความกลัวดังกล่าวแพร่หลายในปลายศตวรรษที่20  ที่จะเกิดปรากฏการณ์ของ Global Commoditization คือ การบริโภคสินค้าที่แผ่ขยายไปทั่วโลก

Appadurai ได้แยกลักษณะเศรษฐกิจวัฒนธรรมในโลกยุคไร้พรมแดน เป็น 5 ลักษณะ คือ

1.การแตกกระจายเผ่าพันธุ์ (Ethnoscapes) คือ ปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวถ่ายเทของกลุ่มคน (Moving Group) ประเภทต่างๆซึ่งปรารถนาที่จะย้ายตัวเองไปอยู่สถานที่แห่งใหม่ ภายใต้เงื่อนไข ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

2.การเข้าถึงด้วยระบบสื่อสารสนเทศ (Mediascapes) คือ ปรากฏการณ์ที่มนุษย์จากแหล่งต่างๆเข้ามาติดต่อสัมพันธ์กัน สิ่งที่กระตุ้นให้การติดต่อเป็นไปอย่างรวดเร็วและง่ายก็คือ  การสร้างระบบสื่อสารสนเทศ  ที่ใช้เทคโนโลยี ทำให้ข้อมูลข่าวสารกระจายอย่างรวดเร็วและเข้าถึงมนุษย์ในเวลาที่เท่าเทียมกัน

3.การมีชีวิตอยู่กับเทคโนโลยี  (Technoscapes) คือ การมีชีวิตผูกพีนอยู่กับเทคโนโลยี คือ การเข้าไปใกล้ชิดกับเทคโนโลยี  ที่ผ่านเข้ามาอย่างรวดเร็ว และมาจากหลากหลายแหล่ง

4.พลังอำนาจของระบบเงินตรา (Finanscapes) คือ ความสัมพันธ์ภายใต้ระบบของเงินตรา  และการสร้างอำนาจบนเงื่อนไขของระบบทุนนิยมโลก (Global Capital) ซึ่งครอบคุลมแพร่หลายไปทั่วโลก ผ่านระบบการค้าขายข้ามชาติ และการเปิดเสรีทางการเงิน

5.การสร้างภาพฝันต่อสิ่งต่างๆ (ideo-scapes) เกิดมาจากกระบวนการสร้างภาพความฝันของสื่อ ซึ่งสื่อทั้งหลายได้นำวาทกรรมและภาพลักษณ์ของชีวิตที่ปรากฏอยู่ใน ข่าวสาร และสินค้า บริการ  ออกสู่ผู้คนเป็นจำนวนมาก ภาพลักษณ์แห่งจินตนาการ ได้รวบรวมคุณค่า

เขาเชื่อว่าลักษณะทั้ง 5 ประการ ถูกสร้างขึ้นจากเงื่อนไขหลายประการ และแทรกซึม อยู่ในระดับต่างๆ  ตั้งแต่ ปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น และประเทศชาติ  ปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า  การสร้างโลกแห่งชุมชนในจินตนาการ (Imagined world) โดยเป็นปรากฏการณ์ที่มนุษย์ทั่วโลกสร้างสิ่งที่เป็นความฝัน ให้กลายเป็นความจริงขึ้นมา โดยที่ภาพลักษณ์แห่งจินตนาการ ได้รวมคุณค่าความหมายแบบ Enlightenment world-view เข้าไว้ด้วยกัน ภายใต้ความเชื่อถึง ชีวิตที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  การมีสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตย  ดังเช่น Appadurai  จินตนาการความคิดความฝันแบบ Global Cultural Flow คือ การกระโดดซ้อนทับกันไปมาของสิ่งที่เป็นปัจเจกบุคคล เครื่องจักรกล เงินตรา ภาพลักษณ์ และจินตนาการ

ดังนั้นปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการเชื่อมโนยงกันระหว่างโลกและท้องถิ่น ที่ห่างไกลกัน เข้าด้วยกัน  อาจเรียกได้ว่าเป็นลัทธิอาณานิคมใหม่ ภายใต้ระบบเทคโนโลยีและการสื่อสาร ที่เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร และการพึ่งพา ติดต่อ ช่วยเหลือกันทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม

2.ปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ  เรื่องระบบของความคิดที่แบ่งแยก หรือแยกขั้ว ที่มีอิทธิพลมาจาก นักคิดแนว Neoconservation หรือพวกอนุรักษ์นิยมใหม่ ซึ่งสนใจประเด็นปัญหาความขัดแย้งที่แบ่งออกเป็นสองด้าน  เช่น ประชาธิปไตยกับเผด็จการ  เหตุผลกับจารีต โดยที่แนวความคิดดังกล่าวมีอิทธิพลอย่างมากกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม ที่เชื่อในสิ่งที่ดีกว่ามาจากด้านที่ตรงกันข้าม หรือการชูความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท  ความเป็นพื้นบ้านกับเทคโนโลยี ปรากฏการณ์เหล่านี้ ทำให้เกิดกระแสการต่อต้านและการเคลื่อนไหว ในด้านตรงกันข้ามกับตัวเอง โดยเฉพาะการต่อต้านความเจริญก้าวหน้า ความทันสมัยหรือลัทธิทุนนิยม ในประเทศต่างๆ

3.ปรากฏการณ์เคลื่อนไหวในเรื่องเพศ โดยเฉพาะสิทธิสตรี  เกิดกระแสแนวคิดแบบเฟมินิสต์หรือแนวคิดแบบสตรีนิยม ในช่วงทศวรรษที่60 ซึ่งเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องเพศและบทบาทหน้าที่ทางเพศ  ทำให้มีการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงกลุ่มต่างๆ ทั้งผิวขาวและผิวสี ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา  ทำให้เกิดนักคิดแนวสตรีนิยมจำนวนมาก ที่เรียกร้องและวิพากษ์วิจารณ์สังคม และประวัติศาสตร์ที่ผู้ชายแสดงอำนาจและบทบาทเหนือผู้หญิง  ความคิดที่ชูประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิง นำไปสู่การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับตัวตนของผู้หญิง  โดยเฉพาะโครงสร้างทางสังคม ที่มีอิทธิพลต่อการควบคุมร่างกายและเพศของผู้หญิง

Michelle Z.Rosaldo นักมานุษยวิทยาที่สนใจในประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิง  ได้เขียนไว้ในหนังสือ Woman Culture and Society (1974) ว่า มนุษย์ในแต่ละแห่งจะมีวิธีรการแบ่งแยกระหว่าง Domestic Sphere และ Public sphere โดยมองว่า พรมแดนที่เป็นพื้นที่อาศัยหรือครัวเรือน Domestic Sphere จะเป็นพื้นที่ของผู้หญิง  ในขณะที่ พื้นที่สาธารณะ Public sphere จะเป็นพื้นที่ของผู้ชาย และในบางวัฒนธรรมผู้หญิงก็ได้รับการยกย่อง  ข้อสังเกตของ Rosaldo ทำให้เราพบว่า ในแต่ละวัฒนธรรมผู้หญิงก็จะมีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกันออกไป  ความแตกต่างหลากหลายนี่เองที่ได้สะท้อนให้เห็นบทบาทของผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้น ในโลกสมัยใหม่ ท่ามกลางการเรียกร้องสิทธิของคนกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่เพศชายเพศหญิง เช่น เกย์ เสลเบี้ยน กระเทย ทอม ดี้ หรือพวกเพศที่3 ซึ่งสะท้องให้เห็นการทะลายเส้นแบ่งในเรื่องพื้นที่ทางเพศ ในโลกยุคไร้พรมแดนหรือโลกาภิวัตน์

4. การสำนึกเกี่ยวกับคุณค่าของสิ่งแวดล้อม (Ecological Sensibility) นักมานุษยวิทยา สนใจเกี่ยวกับ Ecology และ Environment  มีการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับธรรมชาติเป็น 2 ลักษณะคือ

1. ลักษณะแรกให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ในฐานะเป็นเรื่องของปัจจัยการดำรงชีพ 

2. ธรรมชาติในฐานะปัจจัยหล่อหลอมให้มนุษย์สร้างลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมของตนขึ้นมา

Milton(1996) ตั้งข้อสังเกตว่า ความหมายของ Environmentalism  เป็นความหมายที่สังคมอุตสาหกรรมสร้างขึ้น  ทำให้ธรรมชาติกลายเป็นสิ่งที่ได้รับการปกป้อง คุ้มครอง และการดูแลเอาใจใส่ ตัวอย่างเช่น  โครงการอนุรักษ์ธรรมชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช  โดยเฉพาะถิ่นที่อยู่ของชนเผ่า เช่น ชาวป่าในหมู่เกาะบอร์เนียว  ปาปัวนิวกินี  ชาวอินเดียนในลุ่มแม่น้ำอะเมซอน เป็นต้น  วึ่งคนป่าเหล่านี้ก็จะถูกมองว่าเป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนพวกนายทุนที่ทำการตัดไม้ ยึดครองที่ดิน ก็จะถูกมองว่าเป็นพวกนักทำลายธรรมชาติ ดังนั้นความคิดเรื่อง Environmental sensibility คือ สำนึกรักสิ่งแวดล้อม จึงเป็นคู่ตรงกันข้ามกับ Environmental Exploitation คือ สำนึกแบบเอารัดเอาเปรียบและทำลายธรรมชาติ ซึ่งสำนักหลังนี้ เกิดขึ้นบนเงื่อนไขเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วโลก เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Biosphere Economy คือระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการใช้ทรัพยากรแบบชีวะมณฑล ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ หลายแห่งทั่วโลกเพื่อแสวงหาผลกำไร

Milton ยังบอกอีกว่า ความเชื่อเรื่องสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติที่พบในหมู่ชนพื้นเมือง เป็นการสร้างมายาคติ (Myth) ของนักอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตำนานความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง และอุตสาหกรรมที่น่ารังเกียจ การรักษาโลกคือการรักษาชีวิตของมนุษย์ให้ดำรงอยู่ เพราะโลกเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ทั้งหมด

5.เกิดลักษณะระบบสังคมโลก หรือ World –System  ตั้งแต่ กลางทศวรรษที่  80 เป็นต้นมา คำว่า Globalization หรือ โลกที่มีการเชื่อมต่อถึงกัน เกิดขึ้นในวงธุรกิจ การศึกษา สื่อสารมวลชน และการค้า ความหมายของระบบสังคมโลกหรือโลกเชื่อมต่อถึงกัน อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ ระเบียบ โครงสร้าง  ที่มีรากฐานอยู่บนเรื่องของ การค้าเสรี และการสร้างพันธมิตรระหว่างกันในเรื่องต่างๆ   โดยคุณค่าแบบ Globality หรือสำนึกแบบ Global-human ส่งผลให้ความหมายของการล่าอาณานิคม การทำให้เป็นตะวันตก (Westernization) และการทำให้เจริญก้าวหน้า (Civilization) มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

6.การเปิดพื้นที่ให้กับกระแส ท้องถิ่นนิยม (localism) มากขึ้นหลังจากที่กระแสหลักในการพัฒนาประเทศให้กับกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) มาโดยตลอด ดังที่อาจารย์เสน่ห์ จามริก  มองว่า กระแสท้องถิ่นนิยม ไม่ได้มีเพียงแค่การเอาตัวรอดหรือปกป้องตัวเองเท่านั้น หากแต่เป็นการเสนอทางเลือกหรือการสงวนพื้นที่ว่างให้กับความแตกต่างหลากหลาย ทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ดังนั้น องค์ความรู้และมุมมอง เกี่ยวกับท้องถิ่นนิยม เราควรจะพิจารณาอย่างไร

คำตอบก็คือ กระแสท้องถิ่นภิวัฒน์ไม่ได้เป็นคู่ตรงกันข้ามกับกระแสโลกาภิวัตน์  แต่กระแสชุมชนท้องถิ่นมีรากฐาน ทางทรัพยากร ภูมิปัญญา  พัฒนาการและประวัติศาสตร์ของตัวเอง วึ่งไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว เช่น ท้องถิ่นที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายทับซ้อนกันอยู่ และเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเอง ในทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ภูมินิเวศน์และวัฒนธรรม  รวมถึงสัมพันธ์กับภูมิภาค ชาติ นานาชาติและโลก อย่างแยกขาดจากกันไม่ได้ ดังนั้นเราไม่สามารถจะตัดขาดท้องถิ่นกับกระแสโลกิวัฒน์ได้เลย และทั้งสองด้านสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

Anthony Gidden  (1991:242) ได้อธิบายถึงกระบวนการเชื่อมโยงดังกล่าวว่า เป็นวิภาษวิธีระหว่างท้องถิ่นกับโลก (The Dialectic between the local and the global) ที่ชี้ให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ใดๆในระดับท้องถิ่น กับกระแสแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับโลก แทนที่เราจะมองแบบแยกขั้ว หรือคู่ตรงกันข้าม ท้องถิ่นจึงมีลักษณะเป็นชุมชนทางวาทกรรม ที่เป็นทั้งผู้กระทำและถูกกระทำ ท้องถิ่นไม่ได้ถูกนิยามหรือให้ความหมายโดยภายนอก เช่น รัฐ โลกาภิวัตน์ ระบบทุนนิยม แต่ยังสามารถนิยามความหมายด้วยตัวเอง เพื่อแสดงตัวตนของตนเองได้

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับโลกาภิวัตน์ นี่เอง ที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านของสังคมชาวไร่ชาวนา ในยุคปัจจุบัน ที่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องและรับกับกระแสโลก ไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวต่อต้านคัดค้านกระแสโลกที่เข้ามา เช่น กลุ่มชาวนาต่อต้านระบบทุนนิยมหรือเขตการค้าเสรี เป็นต้น

ประเด็นเรื่องโครงสร้างสังคมชาวไร่ชาวนาไทย

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีพื้นฐานมาจากสังคมเกษตรกรรม ทั้งรากฐานทางความคิดและความสัมพันธ์ทางสังคมต่างๆ   ดังที่เราเห็นได้จาก การแบ่งชั้นทางสังคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวความคิดพื้นฐานเรื่องโครงสร้างของอำนาจและชนชั้น ซึ่งมีข้อถกเถียงทางทฤษฎีต่างๆมากมาย เช่น

ทฤษฎีเรื่องโครงสร้างหลวม (Loosely Structured social system) ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเอมบรี (1950)  นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งเคยเป็นอุปทูตวัฒนธรรมแห่งสหรัฐอเมริกา (ดังที่ได้เขียนไว้ในเอกสารการสอนสัปดาห์ที่4) เขาได้กล่าวถึงลักษณะของสังคมไทยว่า มีโครงสร้างแบบหลวม ที่เปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคลมีพฤติกรรมที่ผันแปรอย่างไรก็ได้ โดยปราศจากการควบคุมทางสังคม โดยที่คนไทยในชนบทมีสิทธิหน้าที่ที่คลุมเครือ ระบบการแลกเปลี่ยนแรงงานก็ใกล้ชิดน้อยกว่าในญี่ปุ่น ความผูกพันก็ไม่ได้มีลักษณะสัมพันธ์ต่อกันในระยะยาว  ซึ่งต่อมาแนวคิดแบบโครงสร้างหลวมได้ถูกสานต่อโดย Sharp (1953) ซึ่งเขากล่าวว่า  ลักษณะสังคมไทยไม่เป็นรูปเป็นร่าง แทบจะขาดโครงสร้าง ดังที่ปรากฏให้เห็นในชุมชนบางชันที่เขาศึกษา    และงานศึกษาของ Phillips (1965) ได้บรรยายลักษณะบุคลิกและชุมชนบางชัน ว่า มีลักษณะเป็นปัจเจกชนต่างคนต่างดำเนินไปตามเจตนารมณ์ของตน  ชุมชนมีความสงบและไม่มีฝักฝ่ายหรือการต่อสู้แย่งชิงอำนาจอย่างที่ชาวนาอื่นๆเป็น อย่างที่ชุมชนชาวนาอื่นๆเป็น ในบางชั้นไม่มีชนชั้น กลุ่มอายุ กลุ่มอาชีพ กลุ่มเพื่อนบ้าน  หรือกลุ่มที่แสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่บ้าน ที่จะเป็นเครื่องมือทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกผูกพัน หรือเป็นบรรทัดฐานและหน้าที่ที่ชาวบ้านจะปฏิบัติตาม สถาบันทางเครือญาติในหมู่บ้านไม่ค่อยมีรูปร่างที่แน่นอน และความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติก็ไม่สม่ำเสมอ คาดการณ์ไม่ได้

หรือการศึกษาแนวนี้ที่ขยายต่อไปในสังคมชนบทภาคกลาง ในงานของ Piker (1969) ที่มองว่า หมู่บ้านชนบทไทยไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ถูกแบ่งและจัดตั้งโดยรัฐบาลกลาง กลุ่มเครือญาติแบบขยายไม่มี (Extended Family) กลุ่มสังคมในชนบทไม่มีความยืดยาว กลุ่มแลกเปลี่ยนแรงงานร่วมกันจะขึ้นอยู่กับความผูกพันของระยะเวลา และกิจกรรมทั้งสองฝ่ายไม่ถาวร

ดังนั้น แนวความคดเรื่องโครงสร้างหลวมที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นสภาวะที่ไร้โครงสร้างของชนบทไทย หรือโครงสร้างแบบหลวม ที่ทำให้ภาพชีวิตของคนชนบทดูเหมือนว่าจะไร้ระเบียบ  กฎเกณฑ์ บรรทัดฐาน และการควบคุมทางสังคมอย่างสิ้นเชิง และการดำรงชีวิตของคนในชนบทไทยปัจเจกชนจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ โดยไม่ต้องรับผิดชอบ หรือถูกควบคุมลงโทษจากชุมชนแต่อย่างใด  คำถามก็คือ ลักษณะสังคมที่ว่านี้ดำรงอยู่ได้อย่างไร  และสภาพชนบทจริงๆเป็นอย่างนั้นหรือไม่  ทั้งๆที่ในอดีตสังคมไทยมีระบบศักดินา ที่มีการแบ่งลำดับชั้นอย่างเคร่งครัด และสืบทอดต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน  ซึ่งแนวความคิดเรื่องโครงสร้างหลวมของสังคมไทย ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

โครงสร้างอำนาจและระบบเครือญาติ

          ความสัมพันธ์ของระบบเครือญาติในสังคมชาวไร่ชาวนา ในภาคชนบท เป็นแนวความคิดที่ได้รับการยอมรับ ใช้อ้างอิงและเป็นกรอบคิดในการศึกษาความสัมพันธ์ทางสังคมในชนบทของนักวิชาการอยู่ตลอดมา  ระบบเครือญาติ เป็นความสัมพันธ์ตามระดับแนวนอนที่เกิดขึ้นมาจากความจำเป็นในชีวิตจริงของชาวนาในด้านต่างๆ  ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ( Popkin 1979) เนื่องจากชนบทในอดีตมีข้อจำกัดเรื่องสภาพแวดล้อม ที่ทำให้บุคคลต้องร่วมมือกัน รวมถึงระบบเครือญาติจะเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือหรือให้หลักประกันในชีวิต การสะสมการบริโภค อีกทั้งยังทำหน้าที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางด้านบริการสังคม การป้องกันหมู่บ้าน การรักษาพยาบาล  การให้สวัสดิการแก่เด็กและคนชรา ทำให้จิตสำนึกเกี่ยวกับระบบเครือญาติมีรากเหง้าและสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง (กาญจนา 2527)

การนำเอาเรื่องของระบบเครือญาติมาใช้อธิบายทำความเข้าใจสังคมชนบทไทย  สามารถที่จะวิเคราะห์ได้ว่า ชุมชนหรือสังคมชนบทไทย เป็นชุมชนที่มีความเป็นอยู่อย่างกันเอง  มีความสนิทสนมชิดเชื้อกัน มีความสัมพันธ์แบบซึ่งหน้า เป็นชุมชนที่มีกลุ่มปฐมภูมิ (Primary Group) ซึ่งชุมชนที่อยู่รวมกัน มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องทัศนคติ และพฤติกรรมต่างๆ  ดังที่ ไพฑูรย์ (2515)  ได้ให้ลักษณะทั่วไปของชนบทไทย ดังนี้คือ

1.ชาวชนบทอยู่รวมกันแบบที่ทุกคนรู้จักกัน และติดต่อกันโดยตรง  ความสัมพันธ์และฐานะของบุคคลเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ

2.สังคมชนบทมีการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Mobility) น้อย การโยกย้ายการเปลี่ยนสถานภาพ (Status) ไม่ค่อยจะพบเห็น

3.ชาวชนบทมีโลกทัศน์เป็นคนหัวโบราณ (Conservative) ยึดมั่นอยู่ในประเพณีแบบเก่า  ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และต่อต้านของใหม่

4. ชาวชนบทมีความสัมพันธ์ในหมู่บ้านอย่างแน่นแฟ้น  เป็นแบบพวกเรา In-Group มีความสัมพันธ์กันตามประเพณีไม่มีเหตุผล (Non-rational) ชาวบ้านรู้จักกันหัวบ้านท้ายบ้าน รักใครก็รักกันทั้งหมู่บ้าน เกลียดกันก็ซุบซิบนินทาคนๆนั้นทั้งหมู่บ้าน

ดังนั้นสังคมไทยดังกล่าวข้างต้น จึงมีลักษณะสงบสุข ไม่มีความแตกแยก เพราะ อำนาจและการควบคุมในชุมชนเป็นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย การมองแบบไพฑูรย์ มีลักษณะแบบองค์รวม (Holism) และมีลักษณะแบบจินตนิยมหรือโรแมนติก (Romanticism) ที่มองเห็นแต่ภาพความสวยงาม แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ถูกนำเสนอจะเป็นพียงลักษณะด้านเดียวในสังคมชนบทเท่านั้น แม้ว่าความเป็นจริงด้านอื่นๆ อาจถูกมองข้ามหรือละเลยไป เช่น ประเด็นเรื่องความขัดแย้งในชุมชนเป็นต้น

Jack M.Potter มองว่า กลุ่มเครือญาติเป็นลักษณะสามัญทั่วไปของโครงสร้างสังคมชาวนาไทย  เช่นเดียวกับสุเทพ สุนทรเภสัช (2511)  ความสัมพันธ์ของครอบครัวและเครือญาติ เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมศาสนา และอื่นๆ  ในระดับที่ต้องการความร่วมมือของชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน  ในทางการเมืองเพื่อสะดวกในการปกครอง โดยการแบ่งเป็นกลุ่มครัวเรือน และอาศัยความสัมพันธ์ทางครอบครัวและเครือญาติ เป็นพื้นฐาน มีหัวหน้ากลุ่มมาจากผู้อาวุโส ผู้มีความรู้และคุณธรรม  รวมทั้งหัวหน้ากลุ่มเครือญาติจะรวมกันเป็นคณะปกครองหมู่บ้าน  มีการเลือกหัวหน้าหมู่บ้าน คณะกรรมการ  ซึ่งก็มักจะเป็นเครือญาติกัน ลูกบ้านก็จะประสานงานผ่านทางหัวหน้ากลุ่มเครือญาติต่างๆ

ลักษณะความสัมพันธ์แบบเครือญาตินี้ เมื่อพิจารณาในด้านการแลกเปลี่ยน  การแลกเปลี่ยนมักจะทำในลักษณะของความช่วยเหลือและพึ่งพาอาศัยกันเป็นหลัก ดังนั้นการตอบแทนในการแลกเปลี่ยนจึงเป็นเรื่องของการบริการตอบ หรือให้ของกำนัลที่เป็นสัญลักษณ์ มากกว่าจะให้เป็นเงิน  ลักษณะทางอำนาจก็เป็นแบบกระจายอำนาจออกไปตามกลุ่มเครือญาติ ในลักษณะที่เป็นแนวนอน โดยแหล่งที่มาของอำนาจคือความมีอาวุโส และมีคุณธรรม ที่ทำให้สังคมชนบทไทยมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พึ่งพาอาศัยกัน

ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของลักษณะเครือญาติในสังคมชาวไร่ชาวนา  คือ เรื่องของบุญคุณและการทดแทนบุญคุณที่เป็นเสมือนปัจจัยหลักที่กำหนดสิทธิและพันธกรณีระหว่างเครือญาติ มากกว่าที่จะเป็นความผูกพันทางสายโลหิต หรือระดับความสัมพันธ์ทางเครือญาติ โดยที่ปัจเจกบุคคล สามารถกำหนดขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่างญาติ ว่าจะใกล้ชิดครอบคลุมถึงกลุ่มใดบ้าง และความสัมพันธ์กับญาติจะมีระดับ และลักษณะอย่างไร  ซึ่งลักษณะของการตอกย้ำในเรื่องของบุญคุณ ทำให้ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ มีลักษณะคล้ายความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและระบบอุปถัมภ์  โดยที่ความแตกต่างในการปฏิบัติที่พ่อแม่ มีต่อลุกต่างเพศของตน ก็สัมพันธ์กับหลักการนี้เช่นกัน  เพราะลูกผู้ชายสามารถที่จะชดใช้หนี้บุญคุณแก่พ่อแม่โดยการบวชพระ ส่วนลูกผู้หญิงก็จะต้องชดใช้หนี้บุญคุณโดยการกระทำอื่นๆ เช่น การหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ช่วยเหลือพ่อแม่ หรือเรื่องของการให้ค่าสินสอด ค่าน้ำนมในการแต่งงานมีครอบครัว เป็นต้น

ในเรื่องความกตัญญู และลักษณะเครือญาติในสังคมไทย อคิน รพีพัฒน์: มองว่า คนไทยนับถือญาติทั้งสองฝ่าย (Bilateral) คือ การสืบวงศ์ตระกูลกระทำโดยถือเอาสายเครือญาติ ทั้งฝ่ายบิดาและมารดา  มีการบัญญัติศัพท์ที่ใช้เรียกเครือญาติ ซึ่งมุ่งจำแนกแยกแยะคนแต่ละชั่วอายุคนออกจากกัน  ลักษณะของครอบครัวเป็นทั้งแบบครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกจัดเป็นความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะแม่กับลูก

แกนของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก ถูกร้อยเรียง ผูกมัด ด้วยเรื่องของบุญคุณความกตัญญู กตเวที  คือ การสำนึกและจดจำความกรุณา การกระทำสิ่งที่เป็นการตอบแทนความกรุณาหรือประโยชน์ที่ผู้หนึ่งผู้ใดได้เคยหยิบยื่นให้แก่ตนไป ส่วนบุญคุณ เป็นเรื่องของความกรุณาหรือประโยชน์ที่ผู้หนึ่งผู้ใดทำให้หรือมอบให้ผู้อื่น และเป็นสิ่งที่ผู้รับหน้าที่จะต้องกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการตอบแทน  โดยทั่วไปเราจะถือว่า พ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณ  แต่เฉพาะแม่ที่มีบุญคุณอย่างล้นเหลือ  จนกระทั่งผู้เป็นลูกไม่สามารถทดแทนได้หมดสิ้น  เพราะเป็นทั้งผู้ให้กำเนิด และผู้ส่งเสียเลี้ยงดูบุตร ดังนั้นเมื่อลูกเติบโต ทำงานมีรายได้ก็จำเป็นต้องตอบแทน โดยการเลี้ยงดูบิดา มารดาของตนเมื่อยามแก่เฒ่า ถ้าผู้ใดไม่เลี้ยงดูก็ถือว่า เป็นคนอกตัญญู  ในฐานะผู้ที่ละเมิดหน้าที่ของตนเอง ผู้ที่ไม่ตอบแทนบุญคุณผู้อื่น เช่นเดียวกับการเป็นหนี้ไม่ใช้ ย่อมได้รับการตำหนิ ติเตียนโดยสังคม

การตอบแทนบุญคุณนี้ มีความผูกพันหรือสัมพันธ์กันในระยะยาว ทั้งเมื่อมีชีวิตอยู่ และเมื่อตายไปแล้ว ดังวจะเห็นได้จากความเชื่อทางพระพุทธสานา ที่ลูกหลานมีหน้าที่จะต้อง จัดเตรียมข้าวปลาอาหาร หรือภัตตาหาร เพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้กับพ่อแม่ที่ล่วงลับไปแล้ว  การทำบุญที่ทำกันมากคือ การทำบุญแจกข้าว การถวายผ้าป่า และกฐิน เวลาที่ถวายผ้าแก่พระสงฆ์จะมีการประกาศชื่อผู้ล่วงลับ โดยที่พระสงฆ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมการตายอย่างใกล้ชิด และเป็นผู้ส่งผ่านบุญกุศลไปถึงผู้ตายได้โดยตรง  เมื่อพ่อแม่ล่วงลับไปแล้วไม่อาจถวายผ้าไตรจีวรแก่พระสงฆ์ได้ หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากลูกที่มีชีวิตอยู่ แต่ตอนเมื่อมีชีวิตอยู่ก็สามารถเกาะชายผ้าเหลืองลูกขึ้นสวรรค์ได้ โดยผ่านทางลูกชายที่บวชนาคและอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ด้วยจุดนี่เองที่ได้สร้างภาระหน้าที่ให้กับบุตรสาว โดยเฉพาะบุตรสาวคนโต ที่จะต้องรับภาระในการดูแลน้องๆ ส่งเสียเลี้ยงดูในด้านต่างๆ  โดยเฉพาะด้านการศึกษา

ฉัตรทิพย์ นาคสุภา  ได้วิเคราะห์เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต ได้ใช้วิถีการผลิตแบบเอเชีย (Asiatic Mode of Production)  เป็นกรอบในการวิเคราะห์ ความสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านชนบทไทยกับปัจจัยภายนอก อีกด้านหนึ่งฉัตรทิพย์มองหมู่บ้านชนบทไทยว่า มีลักษณะความสัมพันธ์ทางเครือญาติ มีระบบเศรษฐกิจแบบพอยังชีพ ไม่ต้องพึ่งพาโลกภายนอก มีการผูกพันภายในสูง  มีความเชื่อร่วมกัน นับถือผีปู่ย่าตายายเดียวกันของหมู่บ้าน นับญาติและทำกิจกรรมร่วมกัน ยังไม่มีการแบ่งแยกทางชนชั้น  ความสัมพันธ์ทางการผลิตมีลักษณะคล้ายชุมชนสังคมนิยมบุพกาล เป็นชุมชนขนาดเล็ก ที่สมาชิกมีความเห็นอกเห็นใจช่วยเหลือกัน

ฉัตรทิพย์ มองว่า แม้ว่าหมู่บ้านชนบทจะมีความสัมพันธ์กับภายนอก แต่ชุมชนบทยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากสาเหตุ 3 ประการ

1.ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในอดีต โดยเฉพาะที่ดินว่างเปล่ามาก และเป็นที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ชาวบ้านสามารถนำทรัพยากรธรรมชาติ ออกมาชดเชนความหล้าหลังทางเทคโนโลยี และขูดรีดจากรัฐและระบบทุนนิยมได้ด้วย ทำให้ชาวบ้านสามารถต่อสู้และคงไว้ซึ่งการผลิตแบบดั้งเดิม ได้อย่างยาวนานและหมู่บ้านไม่ล่มสลาย

2.ลักษณะชุมชนหมู่บ้านที่ให้ความมั่นคง สมาชิกมีความเห็นอกเห็นใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้ชาวบ้านมั่นคงมีความสุข ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ไม่อยากแสวงหาระบบใหม่ ไม่ต้องคิดวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาว

3.ลักษณะพิเศษของรัฐและระบบทุนนิยม ไทย ซึ่งเข้าไปขุดรีดส่วยโดยตรงจากหมู่บ้าน แบบบังคับนอกกลไกลตลาด ทางเศรษฐกิจ  ทำให้พัฒนาการของรัฐ ชนชั้นระหว่างรัฐกับชาวบ้านล่าช้า อีกทั้งระบบทุนนิยมไทย ก็เป็นทุนนิยมที่ไม่เป็นอิสระจากรัฐ กับพึ่งพิงอำนาจการผูกขาดจากรัฐ และรับเอาจิตสำนึกแบบศักดินาเข้ามาในการติดต่อกับหมู่บ้าน  ขุดรีดส่วนเกินจากชนบทโดยเก็บค่าเช่านา และดอกเบี้ย ไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนวิถีการผลิตของหมู่บ้านเมืองน้อง มีเงินนับว่าเป็นน้อง มีทองนับว่าเนพี่งความส

ดังนั้นนักวิชาการที่มองความสัมพันธ์ของหมู่บ้านภายใต้ระบบเครือญาติ  มีลักษณะสำคัญร่วมกันคือ

1.หมู่บ้านเป็นองค์รวมที่เป็นเอกภาพไม่มีความขัดแย้ง

2.ไม่มีความแตกแยกในเรื่องของอำนาจ

3.ให้ความสำคัญกับความมีอาวุโส ความมีคุณธรรมเป็นด้านหลัก ส่วนเรื่องของความมั่นคั่ง เป็นด้านรอง

4.สังคมหมู่บ้านมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านต่างๆ เช่น ด้านการผลิต การป้องกันหมู่บ้าน และการให้สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล

5.โครงสร้างอำนาจเผป็นลักษณะการกระจายตามกลุ่มเครือญาติ

ลักษณะความสัมพันธ์แบบญาติและผู้ที่ไม่ใช่ญาติ

อันเนื่องมาจากบุญคุณเป็นสิ่งที่ถูกตอกย้ำ และการตอบแทนบุญคุณก็เป็นหน้าที่สำคัญ ในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ในหมู่ญาติ แทนที่จะเป็นความผูกพันทางสายโลหิตหรือลำดับชั้นความสัมพันธ์ทางเครือญาติ  แต่ความสัมพันธ์ถูกกำหนดผ่านการให้ความช่วยเหลือทางด้านต่างๆ ทั้งทางด้านการเงิน  ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ดังเช่นในหลายกรณีเราจะพบว่า ไม่เป็นความจริงเสมอไปที่คนในกลุ่มญาติเดียวกัน จะเข้าข้างญาติพี่น้องของตนเมื่อเกิดเรื่องขัดแย้งกับผู้อื่นๆ   เนื่องด้วยความมีบุญคุณ ทำให้ความสัมพันธ์แบบเครือญาติ มีลักษณะเหมือนเพื่อน หรือระบบอุปถัมภ์  ที่เน้นในเรื่องของบุญคุณ มากกว่าความเป็นเครือญาติ

เครือญาติสมมตติ

อาจกล่าวได้ว่า เครือญาติสมมติ ไม่ใช่เครือญาติที่แท้จริงที่มีความสัมพันธ์ทางด้านสายเลือด  แต่ลักษณะที่น่าสนใจคือการนำเอาศัพท์ทางเครือญาติมาใช้กับผู้ที่ไม่ใช่ญาติ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดกับคนอื่นๆ ที่เข้าใจว่าเป็นญาติกันจริง ดังกรณีตัวอย่าง บังโกบ ซึ่งเป็นผู้ที่อาจารย์รู้จักในช่วงของการไปฝึกงานที่หมู่บ้านแหลม ตำบลย่านตาขาว  อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ซึ่งอาจารย์ได้มีโอกาสไปพักอยู่เพื่อศึกษาชุมชนในระยะเวลาสั้นๆ ช่วง  1 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็ได้แวะเวียนไปอยู่ในหมู่บ้านอื่นๆ หลังจากที่อาจารย์ไปอยุ่ที่นั่นก็ได้เรียนรู้ชีวิตชาวประมง ได้ออกหาปลา คราดหอย กับบังโกบหลายครั้ง  จนสนิทสนมกันเป็นอย่างดี และบังโกบก็เคยพาอาจารย์ไปเที่ยวสถานที่ต่างๆในเมืองตรัง รวมถึงพาอาจารย์ไปเลี้ยงเบียร์ที่ชุมชนชาวพุทธหลายครั้ง หลังจากอาจารย์กลับไปศึกษาต่อก็ยังติดต่อกับบังโกบ รวมถึงลูกๆหลานๆของบังโกบ เรื่อยมา เสมือนหนึ่งว่าแป็นน้องสาวของตนเอง และนับถือบังโกบเหมือนพี่คนหนึ่ง จนกระทั้งได้รับจดหมายจากบังโกบที่ส่งมาให้อาจารย์ที่อุดรธานี ใจความที่น่าสนใจก็คือ

ถึง น้องต้น เป็นอย่างไรสบายดีไหว บังโกบสบายดี ตอนนี้ก็ทำงานคราดหอยหาเงินส่งลูกเหมือนเดิม คิดถึงต้นมาก อยากให้มาเทียวที่บ้านแหลม บังจะพาไปคราดหอย หาปลาด้วยกัน ช่วงนี้ปลาและหอยสมบูรณ์มากทีเดียว บังเพิ่งเขียนจดหมายฉบับแรก เพาะไม่เคยเขียน ต้นไม่เหมือนกับนักศึกษาคนอื่นๆที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่ยังระลึกถึงบัง ครอบครัวของบัง ชาวบ้านแหลมตลอดเวลา อยากให้ต้นลงมาเที่ยวช่วงนี้ สะตอ และลูกเหนียงกำลังมีมาก รักและคิดถึงน้องชายคนนี้เสมอ จากพี่บังโกบ

จากจดหมายข้างต้นจะเห็นได้ว่า อาจารย์ ไม่ได้เป็นญาติกับบังโกบทั้งทางสายเลือด รวมทั้งการนับถือศาสนาก็แตกต่างกัน ในฐานะของคนพุทธ และมุสลิม แต่ความสัมพันธ์ที่ปรากฏผ่านการเรียกชื่อ พี่ กับน้อง ดังจดหมายข้างต้น คือสิ่งที่เรียกว่า เครือญาติสมมติ ดังตัวอย่างคำกล่าวของคนไทยที่พูดว่า  มีเงินก็นับเป็นน้องมีทองก็นับว่าเป็นพี่ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่ไม่ได้เป็นเรื่องของสายเลือดล้วนๆ อย่างเดียว  แต่เป็นเรื่องของการช่วยเหลือ หรืออุปการะชั่วคราว เนื่องจากอาจารย์เคยช่วยเหลือ ลูกๆและหลานสาวของบังโกบ  ในเรื่องของเงินทุนการศึกษา หรือในช่วงเวลาที่ครอบครัวบังโกบ ประสบกับภาวะวิกฤต ซึ่งถึงแม้ว่าอาจารย์จะไม่ได้คิดอะไร นอกจากความต้องการจะช่วยเหลือ แต่ก็ได้สร้างความผูกมัดในเรื่องของ สิ่งที่เรียกว่า บุญคุณ โดยไม่รู้ตัว  เป็นต้น

โครงสร้างของระบบอุปถัมภ์

การเน้นในเรื่องของบุญคุณ ถือได้ว่าเป็นแก่นแท้ที่มีความสำคัญในระบบของเครือญาติ  เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ระบบความสัมพันธ์ทางเครือญาติมีความคล้ายคลึงกับความสัมพันธ์ของเพื่อนฝูงและระบบอุปถัมภ์   และเราอาจพบว่ามีความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์ทางเครือญาติได้  เช่น การรับบุตรบุญธรรมชั่วคราว กับความสัมพันธ์กับเครือญาติที่แท้จริง บางกรณีอยู่ในรูปของความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์  และการใช้ศัพท์เรียกชื่อ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเครือญาติ  เป็นเครื่องมือให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตัว  ดังเช่นที่เราได้ยินว่า บ้านพี่เมืองน้อง มีเงินนับว่าเป็นน้อง มีทองนับว่าเป็นพี่   แน่นอนว่าความสัมพันธ์ในรูปแบบของระบบอุปถัมภ์นำไปสู่ความสัมพันธ์ทางสังคม แบบ ลูกน้องลูกพี่ ผู้ใหญ่และผู้เดียว  ซึ่งเป็นพื้นฐานของการจัดระบบที่เรียกว่า บริวาร (entourage) ซึ่งบริวารได้แก่กลุ่มที่จัดตั้งขึ้นอย่างลดหลั่นตามลำดับชั้น อาจเรียกได้ว่าผู้อุปถัมภ์หรือผู้ใต้อุปถัมภ์  ซึ่งผู้อุปถัมภ์เปรียบดังหัวหน้าครอบครัวที่ต้องดูแลคนในครอบครัว ลูกหลาน  และเป็นพื้นฐานของลัทธิพ่อปกครองลูกในสังคมไทย ( Thai Paternalism) ซึ่งเป็นการรวมศูนย์อำนาจและไม่ค่อยกระจายอำนาจในการตัดสินใจให้กับผู้อื่น โดยเฉพาะกับผู้ใต้บังคับบัญชา แต่เมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาทำผิดก็จะต้องปกป้องคุ้มครอง  โดยอาจารย์อคินมองว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง นายกับไพร่ในอดีต ระหว่าง ข้าราชการ พ่อค้า และชาวนา ในปัจจุบันก็ดี ยังมีปัจจัยในการเอารัดเอาเปรียบในความสัมพันธ์นั้น

ดังนั้นภาพของความสัมพันธ์แบบระบบอุปถัมภ์ของอคิน รพีพัฒน์  ถึงแม้ว่าจะยังมองในด้านบวกเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีร่องรอยแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งและความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้อุปถัมภ์กับผู้ใต้อุปถัมภ์  เข่นเดียวกับ Scott  ก็เป็นนักวิชาการ ที่มีความเห็นเรื่องระบบอุปถัมภ์ ว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนสองกลุ่มที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้ทั้งสองฝ่าย  คือทั้งผู้อุปถัมภ์และผู้ใต้อุปถัมภ์ โดยมีปทัสสถานอยู่บนเรื่องของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  และความอยู่ดีกินดีของผู้อุปถัมภ์เป็นตัวกำหนด

Scott (1977) มองว่า โดยพื้นฐานแล้วแกนหลักของระบบอุปถัมภ์มีอยู่ 3 ประการ คือ

1.เป็นความสัมพันธ์ที่พัฒนาขึ้นมาระหว่างคนสองกลุ่ม ที่มีความไม่เท่าเทียมในด้านสถานะ ความมั่นคงและอิทธิพล

2.การก่อรูป และการคงออยู่ ของความสัมพันธ์ขึ้นอยู่กับการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ

3.พัฒนาการและการคงอยู่ของความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์จะใช้ความสัมพันธ์แบบซึ่งหน้า (Face to Face)

นอกจากความช่วยเหลือซึ่งกันและกันแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์กับผู้ใต้อุปถัมภ์ยังเป็นความสัมพันธ์ในเชิงของอำนาจ ดังที่ Popskin  (1979)มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้

อุปถัมภ์ กับผู้อยู่ใต้ระบบอุปถัมภ์  เป็นเรื่องของอำนาจ โดยที่ผู้อุปถัมภ์พยายามกีดกันไม่ให้ฝ่ายหนึ่งรวมตัวกัน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับตน และพยายามปิดกั้นทางเลือกต่างๆของผู้ใต้อุปถัมภ์

เช่นเดียวกับกาญจนา แก้วเทพ อธิบายไว้ในหนังสือ จิตสำนึกของชาวนา  ว่า ระบบอุปถัมภ์ เป็นความสัมพันธ์ที่แลกเปลี่ยนอย่างไม่เท่าเทียม ระหว่างสองกลุ่ม และเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อกัน  เพราะสิ่งที่เจ้านายประทานมาให้คือเรื่องของ การประทานมาด้วยความกรุณา แต่สำหรับสิ่งที่ลูกน้อง เสนอให้คือเรื่องของ การตอบแทน ซึ่งได้สร้างอุดมคติ อุดมการณ์ ที่แสดงให้เห็นว่าระบบอุปถัมภ์เป็นไปโดยธรรมชาติ และบางส่วนได้กลายเป็นค่านิยมประจำตัวของผู้น้อย บุญคุณต้องทดแทน หรือ อาสาเจ้านายจนตัวตาย อาสานายแต่พอแรง แต่เมื่อสังคมพัฒนาเป็นระบบของการแข่งขันมากกว่าอภิสิทธิ์ของเจ้านาย ระบบอุปถัมภ์ก็ปรับตัว ให้สอดคล้อง โดยเจ้านายใช้กลไกล 2 อย่างในการสร้างความสัมพันธ์ของระบบอุปถัมภ์ คือ

1.สร้างความรู้สึกให้เกิดในหมู่ผู้น้อยว่า ตานเองได้รับความกรุณาหรือเมตตาหรือโปรดปรานเป็นพิเศษ

2. จัดลำดับชั้นของอภิสิทธิ์ ในลักษณะการแลกเปลี่ยน คือถ้าใครซื่อสัตย์มากก็ได้รับรางวัลตอบแทนมาก เจ้าที่ดินจะยกให้ใครคนหนึ่งในท่ามกลางหมู่ผู้น้อยให้ขึ้นมาอยู่เหนือคนอื่น เมื่อคนนั้นแสดงความซื่อสัตย์ออกมา

คำถามก็คือลักษณะดังกล่าวไม่ปรากฏในสังคมอีสาน ที่มักจะมีระบบความสัมพันธ์ในแนวราบมากกว่า ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของวิทยากร เชียงกุล (2527) ที่บอกว่า การแผ่ขยายของระบบทุนนิยม ในชนบทภาคกลางทำให้ความแตกต่างทางชนชั้นในชนบทเพิ่มมากขึ้น อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะความแตกต่างทางชนชั้นของผู้เป็นเจ้าของ ผู้ควบคุมที่ดิน ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ กะบกลุ่มที่เป็นชาวนาไร้ที่ดิน หรือผู้เช่าที่ดิน เกิดการพัฒนาขึ้นสองชนชั้น  คือ พวกชาวนารวย พวกเจ้าที่ดิน กับชาวนาจนหรือชาวนาไร้ที่ดิน และกลุ่มคนที่อยู่ตรงกลาง คือ ชาวนาที่มีที่ดินขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือผู้ที่ต้องเช่าที่นาบางส่วน

อานันนท์ กาญจนพันธ์ (2527) แบ่งชนชั้นชาวนาออกเป็น 5 ชนนั้น คือ

1.       ชนชั้นชาวนารับจ้าง ซึ่งเป็นพวกไม่มีที่ดิน มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการรับจ้าง

2.       ชาวนายากจน มีรายได้จากที่ดินเล็กน้อย ซึ่งอาจเพียงพอต่อการยังชีพ แต่ก็หมิ่นเหม่ต่อการไม่พอกิน อาจจ้ะองเช่านาหรือไปรับจ้างเพื่อหารายได้เพิ่มเติม

3.       ชาวนากลางที่มีที่ดินของตนเองและเช่าบ้าง มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ พึ่งตนเองได้ ส่วนใหญ่จะใช้แรงงานในครัวเรือนแลกเปลี่ยนแรงงานกัน

4.       ชาวนารวย มีที่ดินให้ผู้อื่นเช่าบ้าง หรืออาจทำนาด้วยการว่าจ้างผู้อื่น รายได้ส่วนใหญ่มาจากการเกษตร

5.       นายทุนเจ้าของที่ดินมีที่ดินให้คนอื่นเช่า มีเงินให้กู้ และอาจประกอบกิจกรรมนอกเหนือด้านการเกษตร โดยตรงโดยการลงทุนซื้อรถแทร็กเตอร์ หรือเป็นพ่อค้าคนกลาง ทำโรงสีข้าวขนาดเล็ก

ประเพณีและพิธีกรรม

ประเพณีและพิธีกรรมในรอบปี ของสังคมชาวไร่ชาวนา มักจะเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ การหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของฤดูการ การทำการเกษตรและการเพาะปลูก หรือการเวียนว่ายตายเกิด โดยเฉพาะพิธีกรรมเกี่ยวกับการ เกิด การตาย แลพะการเปลี่ยนผ่าน เช่น การบวช  การต่างงาน  การโกนผม เป็นต้น

พิธีกรรมส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธีรรมชาติ ผีสาง เช่น ผีตาแฮก ผีปู่ตา ผีปู่ย่า หรือปู่แสะย่าแสะ การบวงสรวงบูชาผีบรรพบุรุษและผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา โดยหลักใหญ่ แล้วเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำการดเกษตร การประกอบอาชีพ และการใช้ชีวิต

ประเพณีที่สำคัญในสังคมชาวไร่ชาวนา ของภาคอีสาน อยู่ภายใต้ฮีตหรือจารีต ที่เรียกว่า   ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ โดยฮีตสิบสอง คือประเพณีที่ต้องประพฤติปฏิบัติในรอบปีทั้งสิบสองเดือน ที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ การเพาะปลูก ที่ผสมผสานความเชื่อทั้งผีและพุทธ ประเพณีที่สำคัญก็เช่น บุญคูณลาน บุญข้าวสาก บุญข้าวประดับดิน บุญข้าวจี่ บุญผเวส บุญบั้งไฟ  เป็นต้น สำหรับคองสิบสี่ ก็คือหลักยึด ข้อปฏิบัติต่อเรื่องต่างๆ เช่น สามี ภรรยา พ่อแม่กับลูก วัด บ้านกับเมือง

การเปลี่ยนแปลงของประเพณีพิธีกรรม เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางเทคโนโลยี และวิถีการผลิต ที่เน้นไปในเชิงพาณิชย์และการค้ามากขึ้น ทำให้เวลาในการประกอบพิธีกรรมลดน้อยลง ประเพณีไม่ได้ตอบสนองต่อความมั่นคงของชีวิต การลดความตึงเครียด แต่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ และการเมือง โดยเฉพาะการเข้ามาของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรมอย่างชัดเจน เช่น งานบุญบั้งไฟ  ที่มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

1. จากงานระดับหมู่บ้านที่ขอฟ้าขอฝนต่อพญาแถน กลายมาเป็นงานระดับตำบล อำเภอจังหวัด ระดับประเทศ ทำให้ชุมชนต่างๆต้องจัดเตรียมบั้งไฟให้สวยงามทั้งขบวนแห่ ขบวนฟ้อง การทำบั้งไฟเอ้ รวมถึงบั้งไฟแข่งขัน ซึ่งแสดงให้เห็นการรับใช้อุตวสาหกรรมของการท่องเที่ยวมากกว่าเรื่องของความมั่นคงทางสังคมชุมชนดังเช่นในอดีต

2. สัญลักษณ์ต่างๆที่ใช้ในงานพิธี เริ่มหายไป โดยเฉพาะสัญลักษณ์ทางเพศ เช่น ปลัดขลิก ลิงเด้าไม้ บักแด่น ที่ใช้หยอกล้อ หรือสื่อความหมายในเรื่องเพศต่อกันในพิธีกรรมเหล่านี้ ถูกมองว่าเป็นของลามกสกปรก ต้องเก็บไว้ ไม่ให้ปรากฏ กับสายตาของนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก รวมถึงประธานในพิธีเปิดที่เป็นผู้นำคนสำคัญหรือมีชื่อเสียง

3. การทำให้เส้นแบ่งระหว่างเพศ ชนชั้น สถานภาพ มีความชัดเจนมากขึ้น กว่าในอดีต ซึ่งพิธีกรรมบั้งไฟ จะแสดงให้เห็นถึงสภาวะกลับขั้ว ที่ผู้ชาย แต่งเป็นหญิง หยอกล้อเรื่องเพศกับเพศตรงกันข้ามได้ หรือการเล่นหัวกับคนเฒ่าคนแก่ หรือการโยนพระสงฆ์ลงโคลน งานมีลักษณะเป็นทางการและเคร่งครัดมากกว่าในอดีต ไม่ใช่พิธีกรรมขบถอีกต่อไผ

4. การใช้บั้งไฟเป็นเครื่องประกาศถึงอำนาจ ดังที่ปรากฏว่าผู้นำคนสำคัญของประเทศ เช่น พระบรมวงศานุวงศ์  ผู้นำทางการเมือง  หรือตัวแทนอำนาจรัฐ มาเป็นประธานในพิธีเปิด มอบถ้วยรางวัล มีสปอนเซอร์สินค้าชูกำลังให้การสนับสนุน เช่น เบียร์ลีโอ สิงห์ กระทิงแดง

5. ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในพิธีมากขึ้น และสำคัญมากในขบวนแห่ เช่น เป็นนางรำเซิ้ง ในอดีตเป็นเรื่องของผู้ชายล้วน ทั้งการร่ายรำ การกินเหล้า การแต่งกายแปลกๆ รวมถึงการทำบั้งไฟเพื่อใช้จุดเสี่ยงทาย

วิถีการผลิต และระบบการซื้อขายแลกเลี่ยน

วิถีการผลิตเป็นทั้งแบบพอยังชีพ และแบบเพื่อการค้า แต่ยังเน้นที่การบริโภคเป็นส่วนใหญ่ ในอดีตตาลาดไม่ได้มีความสำคัญกับชุมชนเท่าใดนัก ดังที่ Charles F. Keyes ตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งตลาดนัดของรัฐพัฒนาการในช่วงแรกของอีสานประสบความล้มเหลว รวมถึงตลาดที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนก็ไม่ค่อยได้รับความนิยม ประชาชนไม่ค่อยจับจ่ายซื้อของ เพราะมีลักษณะของการพึ่งพาตนเองสูง เช่น หาอาหารตามฤดูกาล ทอผ้าไว้ใช้เอง ปลูกพืชผักไว้บริโภค เป็นต้น ทำให้ชาวไร่ชาวนาไม่ค่อยพึ่งพาภายนอก บกเว้นของใช้บางอย่างที่ตัวเองผลิตไม่ได้ เช่น หม้อ หรือเกลือ เหล็ก มีด เป็นต้น การแลกเปลี่ยนโดยทั่วไปมีสามแบบคือ

1. การแลกเปลี่ยนแบบเท่าเทียม มีการแลกเปลี่ยนแบบทั่วไปและสมดุล  การปลกเปลี่ยนแบบนี้ อาจไม่มีทั้งที่ไม่ได้คาดหวังการตอบแทนกลับคืน เพราะเป็นเรื่องของการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องของอาหาร หรือเป็นการแลกเปลี่ยนที่เป็นเสมือนพันธะสัญญาที่จะให้ตอบแทนในภายหลัง หรือจะต้องตอบแทนภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น การแลกเปลี่ยนแบบวงแหวนกูล่า แบบ หมู่เกาะโทรเบรียนด์

2. การแจกจ่ายและกระจายผลผลิตและบริการกลับคืน คือความสัมพันธ์ที่มีการดูดกลืน หรือเอาส่วนหนึ่งของทรัพยากรของสมาชิกในชุมชนเข้ามาอยู่ในส่วนกลาง และแจกจ่ายกลับคืนให้กับคนในชุมชน เช่น งานบุญ งานบวช ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นทั้งอาหาร หรือสวัสดิการอื่นๆ เช่น เรื่องภาษี และสวัสดิการสังคมในรัฐสมัยใหม่

3. ระบบตลาด เป็นเรื่องของความต้องการในเชิงของอุปสงค์ อุปทานในระบบตลาด ที่ใช้ระบบเงินตราในการแลกเปลี่ยน ในการซื้อสินค้าและบริการ  การเข้ามาของระบบทุนนิยมและระบบต่างๆ ทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสินค้า มีคุณค่า มีราคา ทั้งร่างกายมนุษย์ในฐานะ แรงาน มนุษย์สามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ที่ดิน เงิน เครื่องจักร ทำให้ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีความรู้จากภายนออกมาก  รวมถึงการรับเอาวัฒนธรรมบริโภค การใช้สินค้าฟุ่มเฟือย เงินตราเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและขาดไม่ได้สำหรับชาวไร่ชาวนาในยุคปัจจุบัน พร้อมกับสภาวะปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาวะหนี้สิน ความยากจน เป็นต้น

 

หนังสืออ้างอิง

ยศ สันตสมบัติ, จากวานรถึงเทวดา,มาร์กซิสต์ และมานุษยวิทยามาร์กซิสต์. กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2530

อานันท์ กาญจนพันธุ์ สถานภาพปัญหาและแนวการศึกษาวิจัยเศรษฐกิจการเมืองของภาคเหนือ,” เอกสารสัมมนาทางวิชาการของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย,2527.

Appadurai, A. (1990). Disjuncture and difference in the global cultural economy. Public Culture 2, no. 2: 1 24.

Appadurai, A. (1996). Modernity at large: Cultural dimensions of globalization. Minneapolis: University of Minnesota Press.

James C. Scott The Moral Economy of the Peasant : Rebellion and Subsistence in South East Asia,1977.

Julian H. Steward, Evolution and Ecology : Essay on Social Transformation. Urbana : University of Illinois Press,1977.

Mavin Harris. Cultural Materialism The Strategie for a Science of Culture. Random House,1979

Giddens,  Anthony

1990 The consequences of modernity. Stanford: Stanford University Press.

1992 The transformation of intimacy: Sexuality, love and eroticism in modern societies. Stanford Stanford University Press.

 

 

 

 

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะ...

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile D...