ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การเคลื่อนตัวของแนวคิดและการศึกษาทางมานุษยวิทยา โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 แนวคิดปรากฏการณ์วิทยา phenomenology คืออะไร ต่างจากประสบการณ์นิยม Empirical ไหม ซึ่งมักเป็นคำถามที่นักศึกษาสนใจที่จะถาม ตลอดและยากจะหาคำอธิบายได้อย่างชัดเจนในเวลาอันสั้น...เพราะการอธิบายต้องย้อนกลับไปถึงนักปรัชญาที่วิพากษ์ถกเถียงกันเรื่องนี้ หลักๆเท่าที่เคยอ่านก็มี เอ็ดมันดู ฮุสเซิล,มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ ,มัวร์รี แมงโลพอตี้ และฌอง ปอล ซาร์ต

ศัพท์ที่เรามักเจอในงานเหล่านี้มีหลายคำ เช่นจิตสำนึก การพุ่งไปของจิตสำนึก วัตถุที่สำนึกพุ่งไป การแขวน การใส่วงเล็บ มนุษย์ปลายเปิด โลกแห่งชีวิต เป็นต้น
ฮุสเซิ่ล บอกว่าในประสบการณ์นิยม ความเชื่อมโยงกับผัสสะในการรับรู้ของมนุษย์มีข้อจำกัดในการรับรู้โลกของมนุษย์ แต่มนุษย์รับรู้โลกด้วยจิตสำนึกที่มากกว่าเรื่องของผัสสะแบบพวกประสบการณ์นิยม
เรามองเห็นรถด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลัง ใต้ท้องรถเพียงด้านใดด้านหนึ่งที่เรายืน แต่นั่นไม่ได้สำคัญเท่ากับว่าเราสามารถคิด จินตนาการถึงด้านอื่นๆที่รวมกันเป็นรถได้แม้จะมองไม่เห็นทุกด้านของมันก็ตาม...
การอธิบายด้านที่เรามองไม่เห็น การก้าวข้ามข้อจำกัดในเรื่องของประสบการณ์ การเชื่อมโยงจินตนาการกับสิ่งที่มองเห็น ดังนั้นความสำนึกจึงเชื่อมโยงกับวัตถุในโลกภายนอกที่ปรากฏ เช่นแม้ว่าในบางครั้งเราจะนึกถึงสิ่งที่อาจไม่มีอยู่จริงแต่เรารับรู้ร่วมกันว่ามันคือสิ่งนั้น เช่น ผีกระสือ พญานาค แซนตาคอส จนถึงม้ายูนิคอร์น แต่เราก็รู้ได้ว่าสิ่งเหล่านี้มันต้องมีลักษณะแบบไหน เพราะสำนึกเราได้พุ่งไปหาสิ่งนั้น สำนึกจึงเชื่อมสัมพันธ์กับมนุษย์ วัตถุ การยืนยันถึงการมีอยู่ของวัตถุ การเชื่อมโยงมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์...
ผมนึกถึงงานที่ชื่อ the mushroom at the end of the world ของAnna Tsing นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ที่การถ่ายทอดงานเขียนย่อมเกี่ยวโยงกับภูมิหลัง ประสบการณ์ผู้เขียน คุณแม่ของAnna Tsing เป็นคนจีนที่อพยพไปอเมริกันภายใต้การสอดส่องดูแลจากFBI เช่นเดียวกับลูกหลานเชื้อสายจีน-อเมริกันคนอื่นๆในประเทศอเมริกาที่ดำรงอยู่ภายใต้ความหลากหลาย การผสมผสานแต่ก็ยังคงดำรงรากเหง้าของตัวเองอย่างมั่นคง....
งานชิ้นนี้ แม้จะเป็นงานเขียนทางมานุษยวิทยาที่เชื่อมโยงกับเศรษฐศาสตร์ ผ่านการตีแผ่ เชื่อมโยงชีวิตของเห็ดมัตซึทาเกะ ที่เราคุ้นชินในอาหาร เครื่องดื่มสุขภาพและอื่นๆ เธอเล่าเรื่องเห็ดในป่าดิบชื้นที่โอเรกอน สหรัฐอเมริกา โดยการเชื่อมโยงชีวิตของนักเก็บเห็ด ผู้บริโภค พ่อค้า ระบบธุรกิจ ผู้ผลิตแปรรูป แต่พระเอกของเรื่องนี้คือเห็ดมัตซึตาเกะ ที่มีธรรมชาติของมัน การกำเนิดเติบโตโดยธรรมชาติ การไม่สามารถเอาไปเพาะปลูกได้เหมือนเห็ดชนิดอื่นๆที่ทำให้มันหายากราคาแพงในที่ต่างๆของโลก กระบวนการเกิดขึ้นในป่าที่เฉพาะ แม้แต่ป่าในโอเรกอนที่อเมริกา ซึ่งเคยได้รับผลกระทบและเสื่อมโทรมจากการทำลายของมนุษย์ แต่เห็ดเหล่านี้กลับเติบโตได้อย่างมากมาย
การเคลื่อนย้ายของเห็ดสัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของระบบทุนนิยม การเคลื่อนที่ของผู้คนที่เก็บเห็ดทั้งคนผิวขาว ผิวสี นักเก็บเห็ดเป็นคนในเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อพยพมาจากลาว เวียดนาม กัมพูชาที่อพยพข้ามน้ำข้ามทะเลมาอาศัยและทำงานในอเมริกา ในขณะที่ส่วนหนึ่งของนักเก็บเห็ดคือคนจาวผู้ผ่านประสบการณ์การเดินทาง การเป็นทหารไปรบในสงครามเวียดนาม ทั้งสองกลุ่มต่างก็เป็นคนที่มีประสบการณ์ของการเคลื่อนที่ เคลื่อนย้ายเหมือนกัน...
เห็ดที่เป็นวัตถุก็เสมือนสิ่งที่มีความหมายหลากหลาย ไม่ใช่แค่นัยของสินค้าในระบบทุนนิยม การเป็นของหายากในป่า ธรรมชาติที่ควบคุมหรือสร้างมันขึ้นมาลอกเลียนแบบได้ยาก ตัวของคนเก็บเห็ดที่เป็นนักเดินทาง นักหาสมบัติ นักแสวงโชคมากกว่าแรงงานในระบบเศรษฐกิจดังนั้นเห็ดจึงไม่ได้มีคุณค่าหรือมูลค่าในทางเศรษฐกิจ แต่คือเกียรติยศหรือความสำเร็จของนักเดินทางที่ค้นหาขุมทรัพย์....
การเกิดขึ้นของเห็ดมัตซึทาเกะสัมพันธ์กับปฎิสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ การตัดไม้ในป่าในช่วงเริ่มต้น แม้ว่ามนุษย์ไม่ได้ตระหนักความสัมพันธ์กับเห็ด แต่กิจกรรมดังกล่าวก็สร้างการเติบโตของเห็ด ในขณะเดียวกัน เห็ดชนิดนี้ก็ขัดขืนต่อต้านกับระเบียบของการเพาะปลูกที่อยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์เช่นกัน แต่การเกิดขึ้นของมันล้วนต้องอาศัยการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ ความน่าสนใจคือเมื่อมองไปที่ระบบทุนนิยมที่เข้ามาครอบงำเหนือชีวิตของมนุษย์ ในฐานะผู้ทำลาย ผู้สร้างผลกระทบที่ทำให้มนุษย์สยบยอมต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ภาวะต้องนี้ก็เปืดให้เห็นวิธีการเอาตัวรอดและการดำรงอยู่กับการเปลี่ยนแปลงได้. ...งานเขียนของเธอจึงเป็นการเปิดให้เห็นเสียงของสปอร์ (the voice of a spore)การเปรียบเทียบทฤษฎีทางมานุษยวิทยาผ่านเรื่องเล่าที่มาจากจุดยืนของ point of view of a spore.....
เธอได้เล่าว่าในการสัมภาษณ์ที่โคเปเฮเกน มีคนตั้งฉายาเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ที่เธอทำว่าคือ mushroom sociology หรือสังคมวิทยาว่าด้วยเห็ด ทุกคนหัวเราะและคิดว่าเหลวไหล ตัวเธอก็ไม่เคยได้ยินว่ามีสังคมวิทยาว่าด้วยเห็ด แต่ความจริงที่น่าสนใจก็คือ สังคมวิทยา มานุษยวิทยาก็มักละเลยเพิกเฉยกับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (non-human) ในการศึกษา...
สิ่งที่เราในฐานะนักมานุษยวิทยาน่าจะได้จากงานชิ้นนี้คือสไตล์หรือกลวิธีการเขียนงานชาติพันธุ์วรรณาของAnna tsingh การผสมผสานแนวคิดต่างๆในงานเขียนทั้ง มานุษยวิทยา เรื่องแนววิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ (Anthropology, science fiction and historical ) โดยเฉพาะงานช่วงหลังของเธอที่สนใจแนวคิดเกี่ยวกับยุคที่การดำรงอยู่และพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศของโลก(Anthropocene) และวิกฤตการทำลายล้างระบบนิเวศ (ecological destruction)
ดังที่เธอบอกวิธีการทำงานสนามของเธอว่า เธอพยายามจดทุกสิ่งบันทึกทุกสิ่งที่เกิดขึ้นที่เธอพบเจอ ที่สร้างให้เห็นจุดได้เปรียบที่ความคิดของเราเดินทางได้เร็วและอิสระมากกว่ามือของเรามาก
“...I tried to hold on to the immediacy of notetaking by first recording everything that happened to me. The advantage of this is that your thoughts can travel faster and more freely than your hand”
ต้องอ่านให้จบ...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะ...

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile D...