วิชาหนึ่งในมานุษยวิทยาการแพทย์ที่เรียนมา วิชาย่อยที่ผมชอบคือจิตวิทยา...ส่วนหนึ่งจากการอ่านทบทวนงานที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดแต่ก็มีมุมมองให้วิพากษ์และตั้งคำถามเชื่อมโยงกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมและความเป็นมนุษย์ หากว่างจะะยอยเอาแนวคิดมานุษยวิทยาการแพทย์ที่เรียนและอ่านมาลง
...ความเครียด (Stress) สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเจ็บป่วยได้อย่างไร...
ความเครียดเป็นแนวความคิดที่มีพื้นฐานมาจากความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต ที่มองว่า ความรู้สึกหรืออารมณ์สามารถส่งผลต่อสุขภาพหรือความเจ็บป่วยทางร่างกายได้ ยิ่งในปัจจุบันแบบแผนของความเจ็บป่วยได้เปลี่ยนแปลงจากการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อ (Infectious disease) มาสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดเชื้อและโรคเรื้อรัง ( Non-infectious and Chronic Illness) ที่ทำให้ประเด็นในเรื่องของความเครียดถูกนำมาอธิบายอย่างกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งความเครียดมีข้อสมมติฐานว่า เกี่ยวข้องกับคุณภาพของสิ่งเร้าหรือสิ่งที่มากระตุ้นจากภายนอก เช่น ภาวะกดดันจากการทำงาน หรือความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการอ้างอิงกับเรื่องของการตอบสนองต่อสิ่งเร้า เช่น การทำงานที่เป็นสาเหตุของความเครียด รวมทั้งการมองว่าความเครียดเป็นผลลัพธ์จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้า (Stimulas)และการตอบสนอง (Response) ดังนั้นความเครียดจึงมีความสัมพันธ์กับสุขภาพและความเจ็บป่วยใน 2 ลักษณะคือ
1. ความเครียดมีผลทางตรงโดยผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ที่นำไปสู่ความเจ็บป่วย
ความเครียดเป็นเรื่องของอารมณ์เชิงลบที่มีผลโดยตรงต่อกระบวนการทำงานของร่างกาย ในสภาวะความเครียดร่างกายของมนุษย์จะมีการตอบสนองเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการกระทำที่อาจเกิดขึ้นในรูปของการหนีหรือต่อสู้ กระบวนการตอบสนองทางร่างกายในสภาวะเครียดมีอยู่ 2 ระบบที่สัมพันธ์ควบคู่กันคือ The sympathetic-adrenal medullary system และ The pituitary adrenocoetical system ที่เป็นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติและระบบต่อมไร้ท่อ โดยการทำงานของสมองส่วนที่เรียกว่า Hipothalamus ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการตอบสนองต่อความเครียด หรือเป็นศูนย์กลางทำงานในสภาวะเครียด โดยการควบคุมการทำงานของระบบอัตโนมัติและกระตุ้นการทำงานของต่อม Pituitaryที่มีผลต่อการยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ดังนั้น ความเครียดจึงเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย (Stress as a cause of Illness) โดยความเครียดทางจิตใจมีผลกับระบบการทำงานของร่างกายโดยเฉพาะระบบฮอร์โมน ตัวอย่างเช่น เวลาเกิดความเครียด ร่างกายจะมีกลไกที่ทำให้ฮอร์โมนไหลออกมาจากส่วนต่างๆของร่างกายเพื่อให้เกิดพละกำลังความสามารถหรืออะไรบางอย่างที่มากกว่าในภาวะปกติมาขับดันตัวเราเพื่อให้เอาชนะความกดดันนั้นไปได้ แต่ผลจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในร่างกายจะส่งผลต่อต่อมไร้ท่อ ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไตหรือต่อมใต้สมอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายตามมา เช่น อาการหัวใจเต้นแรง ใจสั่น นอนไม่หลับ น้ำหนักลดรวมทั้งอารมณ์ที่แปรปรวนบ่อยๆ
2.ความเครียดเป็นผลทางอ้อมโดยผ่านทางพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับความเจ็บป่วย
ความเจ็บป่วยเกิดขึ้นจากพฤติกรรมเสี่ยงที่มีผลจากความเครียด ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องของสุขภาพ เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด เป็นต้น บางครั้งพฤติกรรมเหล่านี้จะมีเพิ่มสูงมากขึ้นเมื่อมนุษย์ต้องประสบกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ทำให้เครียด (สิ่งเร้าที่กระตุ้นจากภายนอกที่นำไปสู่กระบวนการตอบสนองต่อสิ่งเร้า) ที่นำไปสู่ความเจ็บป่วยของร่างกาย เช่น การดื่มสุราอย่างหนัก จนไม่รับประทานข้าว ไม่หลับนอนหรือไม่ออกกำลังกายก็จะนำไปสู่ความทรุดโทรมของร่างกายและความเจ็บป่วยขึ้นได้ นอกจากนี้ความเครียดมีความสัมพันธ์กับการลดลงของความเจ็บป่วย (Stress and the reduction of morbidity) เช่น การลดความเครียดจะช่วยลดระดับอารมณ์และพฤติกรรมตัวอย่างเช่น ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่มีความเครียดร่างกายจะสามารถสร้างภูมิคุ้นกันได้มากขึ้นกว่าผู้ป่วยที่มีความเครียดสูง ดังนั้นการสนับสนุนทางสังคมจึงมีผลกับการลดความตึงเครียดและลดอาการเจ็บป่วยในขณะเดียวกันความเจ็บป่วยเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด (Illness as a stressor)ด้วยได้เช่นกัน เช่นการต้องนอนพักรักษาตัวเป็นเวลานานๆ หรือการรับการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยเคมีบำบัดจะพบว่าผู้ป่วยจะมีความทุกข์ทรมานและความเครียดสูง เป็นต้น
ตัวอย่างงานศึกษา เช่น Hinkle และ Plummer (1952 ) พบว่า พนักงานในบริษัทขายโทรศัพท์ ที่ขาดงานบ่อยๆเนื่องจากเจ็บป่วย มักพบว่าไม่ค่อยมีความสุขในชีวิต เครียดและเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่ไม่รุนแรงมากกว่ากลุ่มที่ไม่ค่อยขาดงานบ่อยถึง 12 เท่า งานศึกษาของ Grossarth-Maticek และคณะ(1985,1988)พบว่าผู้ที่มีบุคลิกที่มีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งมีลักษณะคือ มีการเก็บกดอารมณ์ เป็นคนที่ไม่สามารถจะแก้ไขความเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้ นำมาซึ่งความสิ้นหวัง หมดทางเยียวยา และตามมาด้วยความซึมเศร้า และเจ็บป่วย เขาและคณะยังพบด้วยว่า คนที่มีเหตุมีผล ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงอัตราตายของ คนไข้มะเร็ง คนไข้โรคหัวใจ และคนไข้เส้นเลือดสมองตีบหรือแตก Williums (1989 : 13) พบว่าความก้าวร้าวของคนที่มีบุคลิกแบบเอ เป็นตัวชี้ถึงการเป็นโรคหัวใจ และเพิ่มอัตราตายจากมะเร็งและโรคต่างๆ เป็นต้น
ดังนั้นเรื่องของการตอบสนองต่อความเครียดของร่างกายเป็นเรื่องสลับซับซ้อน การศึกษาส่วนใหญ่จะอยู่ในสาขาวิชา Psychoneuroimmunology ที่จะศึกษาในแง่มุมต่างๆเช่น ความสัมพันธ์ของอารมณ์ในด้านลบ ความซึมเศร้า (Depression) ความโดดเดี่ยว (Loneliness) ความสิ้นหวัง(Hopelessness)ต่อการเกิดโรค การศึกษาที่ได้ให้คำตอบต่อคำถามต่างๆ เช่น สิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดจะต้องเป็นสิ่งที่เผชิญอย่างเรื้อรัง ซ้ำซาก เป็นประจำ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หรือเป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว การตอบสนองทางสรีระวิทยาต่อความเครียดจะมีลักษณะของความจำเพาะนอกจากนั้นยังมีปัจจัยเรื่องเพศ อายุ สถานะทางเศรษฐกิจ ทางสังคม รวมทั้งการมีโรคต่างๆที่เกิดขึ้นร่วมด้วย การศึกษาส่วนใหญ่จึงยังไม่สามารถแสดงความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างเหตุการณ์ในชีวิตที่ทำให้เกิดความเครียดต่อการเกิดโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างลึกซึ้งเท่าใดนัก
***หนังสืออ้างอิง***
สุรีย์ กาญจนวงศ์ 2551 จิตวิทยากับสุขภาพ นครปฐม :คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Grossarth-Maticek, R., Eysenck,H. J. and Vetter, H.1988. Personality type, smoking habit and their interaction as predictors of cancer and coronary heart disease, Personality and Individual Differences,9:479.
Grossarth-Maticek, R., Bastiaans, J. and Kanazir, D.T. 1985. Psychosocial factors as strong predictors of mortality from cancer, ischemic heart disease and stroke: The Yugoslav prospective study, J. Psychosom. Res., 29:167.
Hinkle,L.E.,Jr. and Plummer, N. 1952. Life stress and industrial absenteeism, Ind.Med.Surg.,21:363
Willium, R. 1989. The Trusting Heart: Great News About Typ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น