ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การอ่านงานคลาสสิคทางมานุษยวิทยาเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องร่างกาย โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 ผมถือเป็นความท้าทายและเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่ได้กลับมาอ่านงานคลาสสิคของ อีมิล เดอไคม์ คาร์ล มาร์กซ์และจอร์ก ซิมเมล ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน ถกเถียง เปิดใจยอมรับและรับฟังความคิดระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น..และพิจารณาว่าสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้ เรารู้จริงไหม เข้าใจมันไหม การแลกเปลี่ยนถกเถียงกันคือการเรียนรู้ที่ดี ผมชอบการสอนแบบนี้นะที่อ่านมาคุยและไม่มีสไลด์ แบบที่เคยสอนมาหลายปี..

นักศึกษาปริญาโทคนหนึ่งเปิดประเด็นคำถามในชั้นเรียนว่า นักสังคมวิทยาทั้ง3 คนที่อาจารย์ให้ผมอ่านไม่ได้พูดถึงร่างกาย และนำเสนอแนวคิดว่าด้วยร่างกาย อาจารย์ให้อ่านทำไมครับ ผมไม่เข้าใจ..
ผมเลยตอบนักศึกษาคนนั้นกลับไปว่า มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือครับ ผมก็อ่านเหมือนคุณ ทำไมผมจึงเข้าใจหรือมองเห็นไม่เหมือนกัน ทั้งที่อ่านตัวบทเดียวกัน...คุณอ่านงานของมาร์กซ์หรือเองเกลเรื่อง German Ideology และ Manuscript คุณไม่คิดว่ามนุษย์ผลิตตัวเองให้เข้าไปสู่การเป็นแรงงานหรือครับ การเป็นแรงงานมันสัมพันธ์กับร่างกาย หรือ ความต้องการของร่างกายเกี่ยวกับวัตถุภายนอก เชื่อมโยงกับวิถีการผลิตของพวกเขาเพื่อการยังชีพ ซึ่งมือและหัวเป็นเสมือนอวัยวะของแรงงานที่มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของพวกเขา...(ผมยกประโยคในหนังสือภาษาอังกฤษบางส่วนให้ฟัง) มันก็เกี่ยวโยงกับเรื่องร่างกายนะครับ
อีมิล เดอไคม์พูดถึงความสัมพันธ์ของโลกธรรมชาติและโลกทางสังคม หากคุณได้อ่านงานthe elementary forms of religious life ร่างกายมันไม่ใช่สิ่งที่บรรจุพลังอำนาจที่ส่งผ่านระหว่างรุ่น ของพลังที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สัมพันธ์กับการปรากฏของวัฒนธรรมหรือกฏเกณฑ์เชิงสัญลักษณ์หรอกหรือครับ มันก็คือปฎิสัมพันธ์ของร่างกายกับสังคมที่เดอไคม์วิเคราะห์ อย่างชัดเจน..
สุดท้ายจอร์จ ซิมเมล พูดถึงปฎิสัมพันธ์ทางสังคม ที่ร่างกายเป็นพื้นที่ของการผลิตเกี่ยวกับรูปแบบทางสังคม วัฒนธรรม ในงาน individuality and social form ของเขา ลองอ่านดูนะครับ เขาพูดถึงการประกอบสร้างของประสบการณ์ที่แฝงฝังในร่างกาย แนวโน้มในเชิงอารมณ์กับรูปแบบทางสังคมวัฒนธรรม เช่น การแต่งงานคือการแสดงออกของความรัก อารมณ์ของปัจเจกบุคคล แต่แรงกระตุ้นที่หนุนเสริมเหล่านี้ถูกทำให้หายไปและถูกมองข้าม รวมทั้งรูปแบบของการแต่งงานที่แสดงถึงความคาดหวังที่ไม่สมมาตรหรือไม่สมดุลกันระหว่างตัวปัจเจกบุคคลกับสังคมและการถูกจำกัดหรือถูกขุมขังในเชิงปฎิสัมพันธ์ของความเป็นสามีและภรรยาเท่านั้น
บทสรุปของผมต่อนักศึกษาคือว่าการทำความเข้าใจแนวคิดของนักสังคมวิทยายุคแรกๆ มันทำให้เรามองเห็นเรื่องร่างกายกับสังคมที่เป็นข้อถกเถียงสำคัญมาถึงปัจจุบัน ที่พัฒนาการศึกษาร่างกายจากยุคคลาสสิคเคลื่อนเข้ามาสู่แนวคิดร่วมสมัยที่พูดถึงมากกว่าเรื่องของการประกอบสร้างทางสังคมเท่านั้น แต่มันกลับมาให้ความสำคัญกับร่างกายที่รู้สึก ร่างกายที่มีอารมณ์ การอธิบายผัสสะในเชิงร่างกาย อัตวิสัย ตัวตน ประสบการณ์ชีวิตและการแฝงฝังของร่างกาย การเมืองเรื่องร่างกาย แนวคิดความเป็นผู้กระทำการ แฮบิทัสและทุนทางร่างกาย หรือแนวคิด structuration ที่ต้องการทำลายวิธีคิดแบบทวิลักษณ์ในทฤษฎีทางสังคม หรือแม้แต่การอธิบายร่างกายในเชิงชีววิทยาและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงร่างกายกับเครื่องจักร สุดท้ายผมได้แต่บอกว่า..นั่นเพราะคุณยังอ่านไม่เข้าใจ ยังตีความสิ่งที่เขานำเสนอไม่ได้ชัดเจน คุณไม่ได้อ่านทั้งหมด และอ่านเพียงบางส่วนมาเท่านั้น ผมจึงต้องเน้นให้คุณอ่านทฤษฎีต่างๆทั้งคลาสสิคทั้งร่วมสมัยเพื่อให้สามารถคิดและนำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมเกี่ยวกับร่างกายและเพศวิถีได้อย่างเหมาะสม.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะ...

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile D...