ตีความหนังทางมานุษยวิทยา เรื่อง Camp on the wind’s road แคมป์บนถนนแห่งสายลม ของ Nattahiya Kharlamova โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล
หนังเรื่องที่สองที่ดูในเทศกาลหนังทางมานุษยวิทยา เรื่อง Camp on the wind’s road แคมป์บนถนนแห่งสายลม ของ Nattahiya Kharlamova ผู้สร้างหนังสารคดีชาวรัสเซีย
หนังเรื่องนี้เปิดเรื่องด้วยพิธีกรรมบางอย่างของครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่ง (ผมมารู้ว่าเป็นชาวTuvan ในช่วงที่มีการกล่าวถึงซุบของตูวาน “Tuvan Soup” ในพิธีเกี่ยวกับคนตาย) ที่กระทำผ่านร่างทรงผู้หญิงที่ทำหน้าที่เรียงกองไม้ มีจานที่บรรจุด้วยช็อกโกแลต ลูกกวาดสีต่างๆ ขนม แอ๊ปเปิ้ล และมีใบไม้สีเขียนวางคลุมด้านบนจากนั้นเธอก็จุดไฟให้ควันสีขาวพัดโหมตามแรงของสายลมที่เข้ามาปะทะกองไฟ ระหว่างนั้นเธอก็จะมีการราดน้ำนม และผงสีขาวลงไปบนกอเพลิง เธอมองกองไฟที่กำลังค่อยๆมอดลง ผู้หญิงคนนั้นที่ทำหน้าที่เป็นร่างทรง เธอกล่าวคำว่า “จงดูแลพวกปศุสัตว์ รักษาปศุสัตว์เอาไว้” ก่อนที่จะมีเสียงฟ้าฝ่า เมื่อเสร็จพิธีครอบครัวนั้นก็นั่งรถขับออกไป...
ฉากต่อมาตัดมาที่ภาพของแคมป์หรือบ้านของชาว Tuvan ครอบครัวหนึ่งที่อยู่ในเขตไซบีเรียนของประเทศรัสเซีย ฉากนี้พูดถึงคำพูดของผู้หญิงที่ชื่อเบลัคมา (Belakmaa) ผู้หญิงที่ต้องดูแลแม่และน้องชายของเธอภายใต้ฟาร์มปศุสัตว์ที่มีทั้งม้า แกะและวัวที่พ่อเธอทิ้งไว้ให้ เธอเป็นผู้หญิงที่ต้องเข้มแข็งและดูแลทุกอย่างในแคมป์ เธอต่อว่าแม่ของเธอว่าเป็นคนหัวโบราณและบ่นพร่ำถึงธรรมเนียมปฏิบัติอันบ้าบอและคร่ำครึ และการเลี้ยงอาหาร การกินเหล้ากันในกลุ่มของพี่น้องตั้งแต่วันที่พ่อจากไป คนพวกนี้บางคนขโมยม้าของเธอ กินเหล้าเมามายและทิ้งของมากกมายให้เธอต้องทำความสะอาด ขณะที่เธอเช็คถูทำความสะอาด แม่ของเธอก็พยุงตัวเองด้วยไม้เท้าเดินออกไป เธอบ่นไปด้วยว่า “แค่บอกว่ากินเหล้าไหมจะได้อารมณ์ดีก็มาตะคอก” พร้อมกับเสียงของผู้ชายคนหนึ่งที่น่าจะมาทำงานในแคมป์บอกว่า ยายผมก็ 94 ปีแล้ว ไม่ยอมตายซะที ตาของผมตายไปแล้ว”
ฉากในหนังตัดมาที่ภาพของห้องภายในบ้าน ในขณะที่กลุ่มผู้ชายในบ้านกำลังคุยกันเล่นอย่างสนุกสนาน เบลัคมาก็จ้องมองดูภาพของพ่อเธอบนโต๊ะกลางบ้าน ภาพชายชราที่ใบหน้าเต็มไปด้วยหนวดเคราและผมสีขาว เธอจุดไปในตะเกียงที่วางไว้ใกล้รูปถ่ายของพ่อ ที่มีถ้วยน้ำ ถ้วยอาหารวางอยู่ข้างๆ เธอพร่ำบ่นถึงความขยันที่ไม่เพียงพอของเธอ ที่ปล่อยให้น้ำมันตะเกียงของพ่อหมดและไม่ได้ซื้อมาเพิ่มเติมให้ เธออยากให้เขามาเข้าฝันว่าเป็นอย่างไร เธอเคยบอกกับพ่อของเธอว่าเธอจะเข้มแข็งและไม่ร้องไห้ แต่มันก็ยากที่ผู้หญิงอย่างเธอจะทำได้ เธอยังยอมรับความจริงไม่ได้ว่าพ่อของเธอได้ตายไปแล้ว…แต่เธอก็ยังคงจดจำได้ดีว่าเขาชอบกินนมข้นหวานมาก...ความทรงจำต่อคนที่จากไปไม่เคยหายไปจากชีวิตเรา..
หากวิเคราะห์ฉากในหนังมีสัญญะต่างๆที่ถูกใส่ให้พวกเราได้ตีความหมายมากมาย โดยเฉพาะควันและฝุ่น ที่มีมาตั้งแต่ต้นเรื่อง ควันหรือฝุ่นที่ฟุ้งกระจายจากแรงลมที่พัดกระหน่ำในเขตพื้นที่ห่างไกลที่หญิงสาวชาว Tuvan ซึ่งตั้งแคมป์อยู่กับครอบครัวของเธอ แม่ น้องชายและสามีของเธอ อีกทั้งยังต้องดูแลฝูงสัตว์ในทุ่งกว้างระหว่างหุบเขา ควันที่พัดตามแรงลมจนมองไม่เห็นสิ่งต่างๆ ควันที่ปิดปังการมองเห็นความจริงบางอย่าง การทำให้บางอย่างพร่ามัว เลือนลาง เช่นเดียวกับความไม่มั่นใจในชีวิตที่จะต้องเผชิญ ...ควันไม่ใช่แค่สิ่งเชื่อมโยงกับสิ่งเหนือธรรมชาติหรือจิตวิญญาณในฐานะของสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่เหนือธรรมชาติตามการวิเคราะห์พิธีกรรม แต่ควันยังมีนัยยะของชีวิตที่ถูกควบคุม ถูกทำให้ภาวะของชีวิตถูกบั่นทอนลงไป ดังเช่นตอนที่ผู้ชายคนหนึ่งได้พูดถึงผลการตรวจสุขภาพของเขา ที่พบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับไตและปอดจากนิโคตินหรือบุหรี่ที่สูบเข้าไป หรือสามีของเบลัคมาที่ชื่อ ชิมิต ที่แอบไปสูบกัญชาระหว่างเดินทางเข้าไปในเมือง ทำให้เกิดการทะเลาะกันระหว่างเบลัคมากับสามีชองเธอ.. ในฉากเราจะเห็น ลม ฝุ่นและควันที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติที่มีพลัง ควันเชื่อมโยงกับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับคนตาย ควันเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ รวมถึงควันในการหุงหาอาหารเพื่อการเฉลิมฉลองและเลี้ยงชีวิตของผู้คนในแคมป์....
ภาพของลม ฝุ่นและควัน ถูกนำเสนอซ้ำๆในฉากต่างๆ ในขณะเดียวกันก็สลับด้วยฉากที่สะท้อนสัจธรรมของโลกของผู้อ่อนแอ ที่ย่อมมีโอกาสพ่ายแพ้และล้มตายลงไปได้เสมอ ดังเช่นฉากที่น้องชายของเบลัคมา กำลังต้อนฝูงแกะออกมาแล้วก็ชี้ไปที่แกะตัวอ้วนว่าจะเอาแกะตัวนั้นมาทำอาหาร แต่สุดท้ายเขาไม่สามารถจับแกะตัวนั้นได้ แกะวิ่งหายไป แต่ในขณะเดียวกันก็มีแกะผอมโซตัวหนึ่งที่วิ่งไม่ทันตัวอื่นและยังหยุดอยู่ที่หน้าคอกแกะ แกะตัวนี้จึงกลายเป็นอาหารของมนุษย์ผู้เข้มแข็งในมื้อนั้นไป...
ในฉากที่เบลัคมานั่งสูบบุหรี่ในบ้าน มองดูฝนที่กำลังตกและเป็นห่วงสามีที่ต้องเดินทางเข้าไปในเมือง เบลัคมาได้ร้องกลอนที่เคยเรียนท่อนหนึ่งว่า “Wind You’re Powerful and Strong you Command the Cloud a long…” กลอนท่อนนี้ถูกกล่าวถึงซ้ำๆ ย้ำว่า “ลมเจ้าช่างทรงพลังและเข้มแข็ง สั่งหมู่เมฆให้พัดพาไป” ฉากหนึ่งระหว่างที่เธอคุยกับน้องชาย เธอได้เล่าเรื่องราวของพ่อ ผู้ที่ไม่เคยแม้แต่จะหยาบคายกับเธอและคนในครอบครัว พ่อที่คนทรงบอกว่าเขาขี่ม้าตัวที่ฆ่าไปหลังจากพ่อตาย ม้าตัวสีเทา ที่พวกเขาไม่ควรจะฆ่ามันในช่วง 7 วันหลังจากพ่อตาย เธอบอกว่าเธอคิดถึงพ่อของเธอมาก เธออยากฝันถึงพ่อของเธอ...
ฉากหนึ่งที่ผมคิดว่าค่อนข้างทำให้ผู้ดูได้คิดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับแง่มุมของชีวิตและความตาย เป็นฉากของผู้ชายที่ต้อนฝูงสัตว์กลับมาที่คอก เขาลงมาจากอานของม้าตัวสีดำ หลังจากนั้นเขาก็ต่อยไปที่ใบหน้าของม้าตัวนั้น พร้อมทั้งถุยน้ำลายและใช้คำพูดหยาบคายต่อว่าม้าตัวนี้ไม่สามารถต้อนฝูงสัตว์ได้แล้ว คงต้องหาตัวใหม่มาเปลี่ยน ทั้งที่ในอดีตมันมีความสำคัญอย่างมาก สะท้อนวิธีคิดมุมมองต่อเรื่องภาวะของการมีประโยชน์และความไร้ประโยชน์ การมีหน้าที่และการไร้หน้าที่ของสิ่งต่างๆที่สัมพันธ์กับเรา... เราทุกคนมักลืมไปว่าเราเคยเป็นเด็กก่อนที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหนึ่งที่เรากลายเป็นผู้ใหญ่เราจะเข้าใจถึงมุมมองตอนเป็นเด็กของเรา ความคิดที่เป็นกำแพงกั้นของการเปิดใจยอมรับความแตกต่าง ว่าครั้งหนึ่งเราเคยคิดหรือมีมุมมองต่อตัวผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสกับตัวเรา ในแง่ประเพณีดั้งเดิมกับความทันสมัย ภายใต้มุมมองที่เรายึดโยง การมองความเป็นอื่นของสิ่งต่างๆ ภาพนี้ตอกย้ำให้เห็นชัดในฉากที่เบลัคมา บอกกับสามีของเธอว่าห้ามสูบกัญชาแต่สามีก็ว่าเธอก็พูดตอบว่าตัวเธอก็สูบบุหรี่เหมือนกันนี่ เบลัคมาก็ตอบโต้สามีของเธอว่า “เธอสูบกัญชาไม่ได้เด็ดขาดแต่บุหรี่ไม่เป็นไรนิดหน่อยเอง”
การปะทะให้เห็นความย้อนแย้งกันเองระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า หรือแม้แต่คนรุ่นใหม่ด้วยกัน ที่แม้ว่าพวกเขาจะมีความแตกต่างกันตามช่วงวัย แต่ประสบการณ์ของการเผชิญกับความตายของคนอันเป็นที่รักคือสิ่งที่พวกเขาสัมผัสถึงอารมณ์และความรู้สึกร่วมกันบางอย่างภายใต้ความโศกเศร้าและการสูญเสีย แม้เบลัคมาจะบ่นว่าแม่สูงอายุของเธอที่พร่ำแต่เรื่องอดีตประเพณีพิธีกรรมที่ไร้สาระ แต่ตัวของเบลัคมาเองก็ยังคงคิดถึงพ่อที่จากไปและเชื่อในพิธีกรรมที่กระทำผ่านร่างทรง ด้วยความเชื่อว่าจะได้อยู่ดีมีความสุข มีเงิน มีอาหาร ปศุสัตว์มีความปลอดภัย ดังเช่นครอบครัวเธอจัดงานศพโดยเชิญร่างทรงจากสมาคมร่างทรงมาที่แคมป์ มีเพียงร่างทรงที่มีพลังแข็งแกร่งที่สามารถจะมาแก้ปัญหาให้ครอบครัวและนำพาดวงวิญญาณของพ่อเบลัคมาไปสู่ปลายทางได้ ดังที่แม่ของเบลัคมาพูดว่า “ถ้าเราไม่มีร่างทรงคงไม่มีทุ่งหญ้า ไม่มีฝูงสัตว์” ครอบครัวของเธอจึงนำร่างทรงที่สวมหนังสัตว์ที่ตัว กำลังตีกลอง และเดินสั่นกระดิ่ง พร้อมทั้งถือถาดควันเดินไปรอบๆเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายในบ้านเรือน ในคอกสัตว์ ในยานพาหนะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงร่างกายของคนที่อยู่ในแคมป์ พวกเขาเชื่อว่าพิธีกรรมเหล่านี้จะนำมาซึ่งความสุข ความร่ำรวย ความมีโชคดีในชีวิตของตัวเองและครอบครัว...ความเชื่อดังกล่าวสอดคล้องกับจิตวิญญาณของชาวตูวานที่เชื่อว่า วิญญาณของผู้ตายจะต้องได้รับการเลี้ยงดูและส่งต่อให้จนถึงที่สุด โดยเฉพาะในระยะเวลา 49 วันของความตาย ที่จะมีพิธีกรรมฉลองเลี้ยงส่งดวงวิญณาณของผู้ตามตามความเชื่อทางวัฒนธรรมของเผ่าตูวาน...
ฉากสุดท้ายที่หน้าหลุมฝังศพของพ่อ เธออุ้มลูกน้อยของเธอเข้ามายังสุสาน ..เธอเล่าว่าเธอเคยถามพ่อว่า “ฉันเห็นถนน ถนนที่โรยด้วยกรวด ฉันควรทำอย่างไรดี ทำอย่างไรกับม้าที่เลี้ยง ทำอย่างไรกับที่นี่ดีพ่อ” พ่อเธอตอบว่า “ถึงมันจะยากลำบากแต่ก็ต้องเดินหน้าต่อไป” “It will be hard , but you have to keep going” เธอบอกกับพ่อเธอว่า “พ่อไม่รู้หรอกว่ามันลำบากแค่ไหน” เธอว่าพ่อของเธอยื่นมือมา พร้อมกับบอกว่า “งั้นก็มากับพ่อ”เธอตอบว่า “ยังไม่ถึงเวลานะพ่อ ลูกสาวฉันยังเล็กยังไปไม่ได้หรอก” พ่อหันมาแล้วพูดว่า “ทุกอย่างจะลงตัวเองทั้งเรื่องม้าและเรื่องอื่นๆ” ฉากจบแสดงให้เห็นสายลมบนพื้นถนนที่เต็มไปด้วยฝุ่นฟุ้งจากลมที่พัดกระหน่ำ แต่ในขณะเดียวกันภายใต้ภาพลางๆ ก็ปรากฏภาพของผู้ชายขี่ม้าสีน้ำตาลเดินย่องผ่านกลุ่มฝุ่นควันที่ฟุ้งกระจายอยู่ในสายลม ที่ทำให้เกิดคำถามว่าเขาคือคนหรือวิญญาณของพ่อเบลัคมากันแน่ แต่แน่นอนว่าลมคือสิ่งที่พาบางอย่างเข้ามาและหายไป..
เมื่อดูหนังก็ต้องย้อนมาดูบริบททางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ที่สร้างผ่านเรื่องราวของตัวละครในเรื่องหากจะพูดถึง วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ Tuvans ที่เป็นกลุ่มคนเคลื่อนย้ายและเลี้ยงสัตว์ในไซบีเรีย ก็อดจะนึกถึงงานของ Konstatinos Zorbas ที่เขียนงานเรื่อง The origins and Reinvention of Shamanic Retaliation in Siberian city (Tuva Republic Russia) ที่ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่า The Phenomenon of occult violence หรือปรากฏการณ์ของความรุนแงที่ซ่อนเร้นลึกลับ ที่เชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องพ่อมด หมอผี ร่างทรง ที่เรียกว่า Sorcery หรือ Withcraft ในวัฒนธรรมของTuvan ประเพณีดั้งเดิมของชนพื้นเมืองที่เรียกว่า Shaman Religion หรือศาสนาแห่งร่างทรง ที่มีพลังถึงขนาดที่กฏหมายเข้าไปแทรกแซงหรือควบคุมคำตัดสินของร่างทรง หมอผีไม่ได้ ภายใต้สิ่งที่เรียกว่าความรุนแรงที่ซ่อนเร้น ที่เป็นสิ่งทึ่ยึดถือและปฏิบัติในพรมแดนหรือพื้นที่ชายขอบของอำนาจรัฐ ที่ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงยุค Post-Soviet ที่สงคราม ภาวะความตึงเครียด อดอยากและความเลวร้ายส่งผลต่อพื้นที่ต่างๆที่อยู่ห่างไกลจากเมืองศูนย์กลางของเศรษฐกิจอย่างเช่นเมืองของชนเผ่า Tuvan ทำให้ Shamanic as a politically marginalized practice หรือร่างทรงเป็นเสมือนการปฏิบัติที่เป็นชายขอบในทางการเมืองที่ทรงพลังอำนาจในท้องถิ่น
อำนาจเหล่านี้มันเติบโตและทำงานพร้อมกับประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้ความไม่เท่าเทียมในการพัฒนาและการเข้าถึงนโยบายของรัฐ ที่ทำให้อำนาจดั้งเดิมในชุมชนมันยังดำรงอยู่ได้พร้อมกับอำนาจสมัยใหม่ อย่างน้อยมันก็มีหน้าที่ในการตอบปัญหาหรือแก้ปัญหาบางอย่างให้กับชุมชนหรือกลุ่มคนที่ไร้อำนาจ คำถามจึงไม่ใช่อยู่ที่อำนาจนี้ดีหรือไม่ดี แต่อยู่ที่การตั้งคำถามต่อการดำรงอยู่ของอำนาจ มันถูกสร้าง ถูกผลิตและถูกยอมรับอย่างไร มันมีการปะทะตอบโต้ต่อรองหรือต่อต้านในชีวิตประจำวันหรือไม่ ผมว่า หนังเรื่องนี้มันทำให้เรามองพิจารณาและไม่ตัดสินทุกอย่างแบบฟันธงว่า สิ่งเหล่านี้มีอยู่หรือไม่มีอยู่จริง? หรือควรดำรงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงหรือไม่? ควรเลิกเชื่อหรือไม่?หนังเรื่องนี้ก็ดีสำหรับผมและสำหรับคนที่ชอบตีความครับ...นี่ผมยังไม่ได้พูดถึงเรื่องเพศภาวะนะครับ
"ตราบใดที่เรามีความฝัน เราย่อมมีความหวัง ความฝันกับความจริง ไม่ได้แบ่งแยกกันอย่างเด็ดขาด บางครั้งความฝันกับความจริงมันก็เป็นสิ่งเดียวกัน"
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น