ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ทฤษฎีและการวิจัยวัฒนธรรมในยุคหลังสมัยใหม่ โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 ทฤษฎีและการวิจัยวัฒนธรรมในยุคหลังสมัยใหม่

ปัญหาของการมองทฤษฎีเป็นคำตอบ

การเปลี่ยนผ่านจากยุคที่เรียกว่า สมัยใหม่ (Modernism) ในสังคมตะวันตก  ที่เรียกว่า ยุคแห่งการรู้แจ้ง Age of Enlightenment  ในช่วงปลายศตวรรษที่17 ทำให้เกิดกระแสของการค้นคว้าวิจัยหรือการหาคำตอบต่อความรู้และข้อสงสัยต่างๆของมนุษย์  ทิศทางหรือแนวโน้มของการวิจัยในช่วงแรก จึงให้ความสำคัญกับข้อค้นพบที่เรียกว่า ทฤษฎี ในลักษณะที่เป็นเสมือนคำตอบสำเร็จรูป  ซึ่งหมายถึงสิ่งที่เราคิดว่ามีคำตอบอยู่แล้ว มีเนื้อหาสาระเป็นอย่างไร จากมุมมองหรือกรอบทางทฤษฎีที่ถูกกำหนดในทำนองนี้แล้ว  ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปถกเถียงหรือโต้แย้งทางทฤษฎี แค่ตรวจสอบทฤษฎีบางส่วนเท่านั้น สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือ เทคนิควิธี ลักษณะการเก็บข้อมูล รูปแบบการเก็บข้อมูลและความน่าเชื่อถือของข้อมูล

การให้ความสำคัญเกี่ยวกับทฤษฎีเป็นตัวตั้ง ทำให้การศึกษาวิจัยมีมุมมองเชิงเดี่ยว (Linear perspective) คือมองไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างตายตัวเท่านั้น เช่นเดียวกับกระบวนการพัฒนาของยุคสมัยใหม่ที่เน้นเรื่องความทันสมัย ปัญหาคือเมื่อ มโนภาพหรือความคิดแบบรวบยอด (Concept) ที่มาจากทฤษฎีต่างๆ ว่าเป็นความคิดสากล ที่สามารถนำไปใช้อธิบายสังคมใดก็ได้ในโลกนี้ เพราะเราคิดว่าไม่มีความแตกต่างกัน  กระบวนการคิดเหล่านี้ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของทฤษฎีที่กำกับวิธีการวิจัยที่เราได้รับอิทธิพลมาโดยตลอด

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทฤษฎีในยุคสมัยใหม่ไม่ได้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด แม้ว่าในช่วงนั้นจะถือว่าเป็นแนวทางกระแสหลัก แต่ก็มีทฤษฎีสมัยใหม่บางทฤษฎีที่พยายามตอบโต้หรือโต้แย้งทฤษฎีกระแสหลัก เช่น ทฤษฎีมาร์กซิสต์ ที่พยายามโต้แย้ง หรือมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น (Contradictions) เกี่ยวกับความคิดกระแสหลัก เช่นพูดถึงการครอบงำ ความไม่เท่าเทียม ชนชั้นและการขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน รวมถึงวิพากษ์ระบบทุนนิยม เป็นต้น

การติดกับดักความคิดแบบคู่ตรงกันข้าม

โดยเฉพาะปัญหาของการวิจัยที่ติดอยู่กับหน่วยของการวิเคราะห์  ซึ่งดำรงอยู่ในลักษณะของคู่ตรงกันข้ามตลอดเวลา  เช่น เมืองกับชนบท เป็นความคิดแบบคู่ตรงกันข้ามที่เรามักติดกับดัก ระหว่างความล้าหลัง กับความเจริญ ปัจเจกชนกับสังคม อุตสาหกรรมกับธรรมชาติและอื่นๆ รวมถึงกับดักของการเน้นหน่วยของชุมชนหมู่บ้านกับรัฐ  ที่ผูกโยงอยู่กับความเชื่อในพลังศักยภาพของหน่วยใดหน่วยหนึ่ง เช่น เชื่อในศักยภาพของชุมชน ก็มองลงไปที่ท้องถิ่น ถ้าเชื่อในโครงสร้างของระบบ ก็ให้ความสำคัญกับพลังอำนาจของการบริหารจัดการ อำนาจของรัฐมากกว่า เป็นต้น

การติดกับดักแบบคู่ตรงกันข้าม ทำให้เกิดสภาวะการชะงักงันของการขับเคลื่อนหรือการพัฒนาการวิจัยให้มีความก้าวหน้า  ซึ่งคู่ตรงกันข้ามมีหลายคู่  แต่คู่ที่เป็นปัญหาในเชิงทฤษฎีและการวิจัยเป็นอย่างมาก ก็คือ คู่ตรงกันข้ามของสิ่งที่เรียกว่า เป็นโครงสร้าง (Structure) กับตัวมนุษย์ในฐานะผู้ปฎิบัติการ (Agency) หมายความว่า ความคิดในเรื่องของโครงสร้างถือว่าอยู่ในระดับใหญ่หรือระดับมหภาพ กับอีกด้านหนึ่งที่เป็นตัวมนุษย์ ไม่ใช่ปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ทว่าเป็นปฏิบัติการทางสังคม (Social Actor) ซึ่งอาจหมายถึงกลุ่มคนก็ได้ ในแง่นี้ Agency หมายถึงกลุ่มชนชั้น กลุ่มทางสังคม เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนพิการ กลุ่มคนที่เป็นโรคเอดส์ เป็นต้น

ในแง่กับดัก มันนำไปสู่ความชะงักงันในแง่ที่ว่า เราไม่มั่นใจว่า เราควรให้ความสำคัญแก่สิ่งใดมากกว่ากัน ระหว่างโครงสร้าง และตัวของมนุษย์ผู้ปฏิบัติการที่เป็นกลุ่มก้อนเหล่านี้ การติดอยู่ในกับดักทำให้เราละเลยที่จะศึกษาวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในลักษณะที่สลับซับซ้อนมากขึ้น เหมือนเราต้องการทันสมัยหรือเลียนแบบสังคมตะวันตกที่ก้าวหน้ามากกว่า ปัญหาเดียวก็คือ  ทำอย่างไรเราจึงจะหลุดพ้นจากสังคมประเพณี สังคมแบบดั้งเดิม สังคมแบบศักดินา หรือสังคมแบบใหม่ เข้าสู่สังคมทันสมัยหรือสังคมสมัยใหม่  เราจึงคิดว่าสังคมสมัยใหม่เป็นทางออกเดียว และเป็นคำตอบที่สำเร็จรูป วิธีคิดดังกล่าวถือได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญ เพราะเมื่อเราเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง การพัฒนาที่เรามักมองในแง่ที่ว่าทำให้ดีขึ้น กลับกลายเป็นว่า การพัฒนาที่เข้ามาก็ไม่ได้ดีเสมอไป บางด้านอาจดีขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงในเชิงวัตถุต่างๆ คนอาจมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่อาจนำไปสุ่ประเด็นปัญหาใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้นก็ได้

การที่เราจะหลุดพ้นออกจากทฤษฎีและวิธีการวิจัยที่มีรากเหง้าอันได้รับมาจาก ยุคสมัยใหม่นั้น  เราต้องเท่าทันและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงอันสลับซับซ้อน ของสังคมที่เรียกว่า หลังสมัยใหม่  ที่โลกมีการเชื่อมโยงพรมแดนอย่างกว้างขวาง ไร้ขอบเขต การเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว  การเลี่ยนแปลงก็ไม่ได้เกิดขึ้นในทิศทางเดียวกัน  มีความหลากหลายแตกต่างกัน ทั้งทางด้านความคิด ความเชื่อ การเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ผู้คนในแต่ละพื้นที่จึงมีความแตกต่างหลากหลายไม่เหมือนกัน

ทฤษฎีในฐานะที่เป็นวิธีคิด

ทฤษฎีหรือแนวคิด หลังสมัยใหม่ มองว่า ทฤษฎีไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป ที่ตายตัวอีกต่อไป และทฤษฎีไม่ใช่สิ่งที่เป็นสากล ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก เพราะเมื่อก่อนเราคิดถึงทฤษฎี เรานึกว่าเราพยายามหาคำตอบจากทฤษฎีว่าเขาตอบเอาไว้อย่างไร เราจะได้เอามาตรวจสอบดูว่าใช้ได้หรือไม่อย่างไร

          ทฤษฎีจึงควรจะมีลักษณะเป็นการเสริมวิธีคิด เสริมมุมมอง ความเข้าใจต่อเรื่องบางเรื่องที่เราศึกษา ทฤษฎีจึงเป็นเครื่องมือทางความคิด ที่พร้อมจะนำไปใช้ทำความเข้าใจต่อความเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนแปลงไป มีความหลากหลาย สลับซับซ้อนมากมายในยุคสมัยใหม่ได้เพียงพอหรือไม่

ดังนั้นเมื่อเรามีวิธีคิด ก็ต้องรู้จักวิธีใช้  โดยมีวิธีวิทยาในการใช้วิธีคิดเหล่านั้น

วิธีวิทยาคือ ความพยายามที่จะโยงแนวความคิดต่างๆเพื่อนำไปใช้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปหรือเคลื่อนไหวอยู่ เพราะปัญหาทางสังคมและปัญหาของมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งตายตัวที่เราจับต้องได้ แต่เป็นกระบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นถ้าวิธีการหรือมุมมองของเราหยุดนิ่ง เพราะคิดว่ามีคำตอบอยู่แล้ว ก็จะไม่ได้อะไรเลย  แต่ถ้าเราคิดว่า เราไม่มีคำตอบอะไร เรารู้เพียงว่าเราจะมองปัญหานี้อย่างไร มีวิธีคิดอย่างไร แล้วก็พยายามเสริมสร้างวิธีวิทยา คือ พยายามจัดระบบ จัดความเชื่อมโยงในการทำความเข้าใจ  ก็จะทำให้เราศึกษาวิจัยได้มากกว่า

เช่น ภาพที่มอง คือภาพอะไร คุณเห็นอะไรในภาพที่ปรากฏ

ถ้า ตอบว่า แว่นตา ก็แสดงว่า คุณอาศัยข้อมูลเชิงประจักษ์ในสิ่งที่คุณเห็นมากกว่า ในขณะเดียวกันคุณก็มองข้ามหรือละเลย  มองไม่เห็นสิ่งอื่น เพราะความคิดในสังคมทับซ้อนกันอยู่ แว่นตาก็อาจมีความหมายหลายอยู่ การใช้ความคิดบางอย่างมาอธิบายสิ่งที่คุณมองเห็น กระบวนการนี้เรียกว่า Problematic หรือ ลักษณะที่เป็นการหาเรื่อง ทำให้เป็นปัญหา  เช่น ถ้าคุณตั้งคำถามว่า แว่นตา มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมคนถึงใช้มัน ถ้าคุณถามต่อว่า แว่นตาของใคร ใครเป็นคนใช้ นักวิชาการ ชาวบ้าน คนแก่  เป็นแว่นสายตายาว หรือสายตาสั้น แว่นตานั้นยี่ห้ออะไร ใช้วัสดุอะไร ทำไมทำแบบหัตถกรรมไม่ได้ ต้องทำเป็นสินค้าอุตสาหกรรม ราคาเท่าไหร่ ประเด็นหลักในการวิจัยในการวิจัยจึงอยู่ที่การตั้งคำถาม ดังจะเห็นได้ว่า แว่นตา มีมิติทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรามองเห็นแค่แว่น

          แนวคิดทฤษฎีหลังสมัยใหม่ จึงให้ความสำคัญกับเรื่องของความหลากหลาย (Diversity) ที่ใช้ในหลากหลายแวดวงวิชาการ เช่น สายวิทยาศาสตร์ก็พูดถึง ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) หรือในทางสังคมศาสตร์ ก็พูดถึง เรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Cultural Divestity)หรือพหุวัฒนธรรม (MultiPlural Culturalism )นั่นคือ เราไม่สามารถมองสังคมว่าผสมผสานกลมกลืนในลักษณะที่เป็นหนึ่งเดียวหรือแบบเดียวกันทั้งหมด เช่นมองว่าสังคมชนบท สังคมไทยก็เหมือนกัน ทั้งวิถีชีวิต ชาติพันธุ์ ที่เป็นการมองข้ามข้อเท็จจริง ที่ว่า สังคมไม่ได้สร้างจากคนกลุ่มเดียว แต่สร้างขึ้นมาจากความหลากหลาย

ความหลากหลายอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ หากเรามองว่า คนที่แตกต่างจากเราเป็นคนอื่น ไม่ใช่พวกเรา พวกเขา ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมาก หรือคำว่า ชาวเขา ชาวดอย ชาวป่า ชาวเขมร ชาวลาว ก็สร้างความแตกต่างและความขัดแย้งให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน หากเรามองแบบเข้าข้างตัวเอง มองว่าเราเหนือกว่าคนอื่น ทันสมัยกว่า ดีกว่าคนอื่น ก็สะท้อนว่า เรายังคงยึดติดกับบรรทัดฐานสากลแบบเดิม ที่ต้องการสร้างความเป็นหนึ่งเดียว มาตรฐานเดียว  มุมมองเชิงเดี่ยว โดยผ่านตัวเราเป็นคนตัดสิน

ดังนั้นทฤษฎีในแนวหลังสมัยใหม่ จึงให้ความสำคัญแก่ลักษณะที่เป็นนามธรรมที่มีความซับซ้อน หรือความจริงที่ซ้อนทับกันอยู่อย่างมากมาย (Multiple Layers of reality)

วิธีคิดเชิงซ้อนในเงื่อนไขของบริบท

แนวคิดทฤษฎีหลังทันสมัยให้ความสำคัญอย่างมากกับวิธีคิดที่คำนึงถึงบริบทที่เกี่ยวข้อง (Contextualization)ซึ่งสำคัญพอๆกับการเชื่อมโยงความคิด ดังเช่น เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปจนมีลักษณะแตกต่างหลากหลายมากขึ้น แต่เรายังติดอยู่กับความคิดในการอธิบายสิ่งต่างๆที่เป็นสากล คิดว่าคำตอบเดียวสำเร็จรูปใช้ได้ทั่วไปหมด ก็อาจเป็นปัญหาอย่างมาก ว่าคำตอบนั้นจะสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ หรือไม่สามารถอธิบายความเป็นจริงได้ ในทางมานุษยวิทยาให้ความสำคัญแก่บริบท ที่เริ่มศึกษาจากสังคมเล็กๆ สังคมย่อยๆ  เราให้ความสำคัญแก่บริบทของสังคมที่เฉพาะเจาะจง เนื่องจากมีวัฒนธรรมที่ต่างออกไป เป็นวัฒนธรรมที่เราไม่เข้าใจ ถ้าเราเอามาตรฐานความคิดของเราเป็นหลักในการศึกษา ในลักษณะที่เรียกว่า สายตาของคนนอก (Etic View) ก็ยากที่จะเข้าใจวัฒนธรรมที่เราไม่รู้จัก  ดังนั้นเราต้องลองมองเข้าไปในมุมมองของเขาก่อน ด้วยการสนใจมุมมองขนาดย่อยที่เฉพาะเจาะจงเหล่านี้ แล้วพยายามถอดออกมาจากสายตาของคนใน (Emic View)หรือให้มุมมองของคนที่เราศึกษา โดยไม่ใช้มุมมองของเราเป็นใหญ่ เราจึงเริ้มต้นศึกษา

ความรู้ในฐานะความสัมพันธ์เชิงอำนาจและมายาคติ

การยึดติดมุมมองด้านเดียวของผู้วิจัยถือว่าเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะเราเชื่อว่า การวิจัยแปลว่า นักวิจัยจะต้องเป็นใหญ่ เป็นผู้กำหนดทุกสิ่งทุกอย่างในกระบวนการวิจัย การหาคำตอบ รวมถึงข้อสรุปต่างๆ ดังนั้นผู้วิจัยจึงเที่ยวไปวิจัยใครต่อใครมากมาย และมองว่าผู้ที่เราศึกษา คือผู้ที่รอการวิจัย ทั้งๆที่เขาก็เป็นคนเช่นเดียวกับเรามีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์เหมือนกัน เมื่อเรามีประสบการณ์ในการทำวิจัยจำนวนมาก เราจะพบว่า ชาวบ้านไม่ใช่ผู้ที่เราวิจัยเขาเท่านั้น บางครั้งเขายังวิจัยเราด้วย เขาวิเคราะห์เราด้วยว่าเราเป็นใครมาจากไหน แล้วเขาก็เลือกให้คำตอบตามสิ่งที่เขาสรุปว่าเราเป็นใคร

การที่เรายึดติดกับมุมมองที่เป็นสากล แล้วพยายามวิเคราะห์วิจัยเขาฝ่ายเดียว ทำให้ความรู้ที่ได้จากผลการวิจัยดังกล่าว  นอกจากไม่ช่วยสร้างความเข้าใจแล้ว บางครั้งอาจกลายเป็นการสร้างสิ่งที่เราเรียกว่า ภาพตัวแทน (Representation) ซึ่งก็เป็นปัญหามากในวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เพราะเมื่อเราไปวิจัยชาวบ้าน แทนที่เราจะเข้าใจชาวบ้านเรากับไปสร้างภาพชาวบ้านขึ้นมาอีกภาพหนึ่ง

ภาพชาวบ้านนั้นบางทีมาจากปัญหาในเรื่องกับดักของคู่ตรงกันข้าม เช่น เรามองสังคมชาวบ้านในเชิงอุดมคติ เป็นสังคมแบบเก่าที่เราถวิลหา อยู่กับธรรมชาติ ไม่ติดต่อพึ่งพากับโลกภายนอก เราก็พยายามรักษาแช่แข็งภาพเหล่านี้เอาไว้  เพราะเราอยู่ในสังคมเมืองที่แย่กว่า เต็มไปด้วยมลพิษ สิ่งแวดล้อม ปัญหาต่างๆ มันก็ตอกย้ำการรักษาความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจแบบเดิมอย่างไม่เสื่อมคลาย

ภาพที่เราได้จากการศึกษาชาวบ้าน แทนที่จะเป็นภาพจริง ที่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา กับกลายเป็นภาพที่หยุดนิ่งถูกแช่แข็งเอาไว้ให้เป็นภาพตัวแทน ที่ไม่มีประโยชน์อะไร แค่สร้างความซาบซึ้งใจให้กับตัวเอง สิ่งเหล่านี้เรียกว่า มายาคติ (Myth)

เช่น มายาคติเกี่ยวกับหมู่บ้านชนบท  ภูเขา ทุ่งนา วัวควาย การหาอยู่หากิน ประเพณีแปลกๆ  บ้านไม้ หลังคามุงจาก และอื่นๆ  ทำให้เรามองข้ามละเลยที่จะตั้งคำถาทมกับกระบวนการโลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนแปลงของชุมชน เราละเลยเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน สิทธิเชิงซ้อน จำนวนวัวควายที่ลดลง จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ระบบนิเวสน์เสื่อมโทรมจากการใช้สารเคมี การอพยพของแรงงาน อินเตอร์เน็ตในหมู่บ้าน ค่านิยมแบบตะวันตก สิ่งอำนวยความสะดวก การมีสามีต่างชาติและอื่นๆ ที่สลับซับซ้อนในชุมชน หรือนี่คือภาพที่เราคิดเกี่ยวกับชนบท ที่เราได้รับการฝังหัวมาตลอดว่า ล้าหลังในเรื่องต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และต้องพัฒนา

 

 

การสร้างมายาคติ เกี่ยวกับสิ่งที่เราไม่รู้จัก สังคมที่เราไม่รู้จัก แต่ว่าพยายามจะไปศึกษาแล้วก็สร้างมายาคติขึ้นขึ้นมา มายาคติถือเป็นปัญหาในวงการวิชาการ เพราะเกิดจากมุมมองของวิธีคิด ที่เราไปยึดติดกับอะไรที่เป็นสากล ในขณะที่สิ่งต่างๆมีความหลากหลายผิดแผกกันไป แต่เราไม่พยายามเข้าใจตรงจุดนี้ และก็ไม่เชื่อมโยงกับบริบทที่เป็นจริงสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การปะทะกันระหว่างโลกาภิวัตน์กับท้องถิ่น ทำให้สิ่งที่ได้จากการวิจัยเป็นเพียงภาพตัวแทนหรือมายาคติของผู้วิจัยเอง

          ดังนั้นการหาความรู้ตามแบบหลังสมัยใหม่  จึงให้ความสำคัญแก่แง่มุมในเชิงวิธีคิด และความคิดที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ความคิดที่ว่า ความรู้เป็นการสร้างทางสังคม (Social Construction) หมายถึงว่า ความจริงแล้ว ความรู้ ความเข้าใจและทฤษฎีต่างๆที่เราเชื่อหรือเรารู้ ล้วนไม่ได้มีอยู่แล้ว แต่แรกเริ่ม และไม่ใช่ความจริงที่เราควรจะจับยึดไว้อย่างมั่นคง และก็ไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปที่ตายตัว แต่ทว่ามันคือความคิดที่แต่ละสังคมสถาปนาขึ้นมาหรือสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานของความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบหนึ่ง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการอธิบายความสัมพันธ์นั้น เช่น เราสร้างความหมายของความคิดบางอย่างขึ้นมา  เช่น เรื่องการพัฒนา เรื่องเพศ หรือกรรมสิทธิ์และอื่นๆ ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นแนวทางหรือเครื่องชี้ทางความคิด (Mind Mapping)เพื่อให้เรารู้ที่จะตั้งคำถามและปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไร ความคิดเหล่านี้จึงไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปที่มีอยู่แล้ว

นอกจากวิธีคิดในเรื่องของการสร้างความคิดแล้ว ยังมีอีกด้านหนึ่งของความคิดก็คือ การรื้อถอนความคิด (Deconstruction) ตามปกติเวลาเราศึกษาวิจัยแล้ว เราไม่สาสารถเข้าถึงความจริงในตัวมันเองได้ เพราะความจริงถูกเคลือบด้วยภาพตัวแทนหรือมายาคติมากมาย ถ้าเรามองลงไปแล้วยึดติดแค่ภาพตัวแทนหรือมายาคติที่มีอยู่แล้ว โดยที่เราไม่รื้อถอนว่ามันสร้างขึ้นมาได้อย่างไร หรือไม่พยายามที่จะตั้งคำถามกับกระบวนการสร้างภาพตัวแทนหรือมายาคติเหล่านั้นแล้ว ภาพตัวแทนหรือมายาคติอย่างนั้นก็จะครอบงำเรา การเข้าถึงความจริงของเราก็เป็นการเข้าถึงได้แค่ภาพตัวแทนหรือมายาคติ แต่ยังไม่ถึงความจริงที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นจึงเป็นปัญหาการวิจัยที่มักพบอยู่เสมอ เช่น กรณีผู้หญิงกับพระธาตุดอยสุเทพ มันคือข้อห้ามที่สอดคล้องกับหลักทางพระพุทธศาสนา เป็นคึดหรือฮีตที่ผู้หญิงและคนล้านนายึดถือปฏิบัติมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน โดยไม่คัดค้านหรือต่อต้านแต่เต็มใจ กับดักตรงนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะสลัดทิ้งให้หลุดได้ง่ายๆ เพราะความจริงทางสังคมชุดนี้ได้หล่อหลอมมาเป็นระยะเวลานาน

 

          คำถามสำคัญ ไม่ใช่อยู่ที่ว่าผู้หญิงควรจะเข้าไปไหว้พระธาตุหรือไม่ แต่น่าจะอยู่ที่ความรู้อะไรที่เบียดขับหรือกั้นพื้นที่ของผู้หญิงกับพระธาตุให้แยกจากกัน

          ถ้าเราให้ความสำคัญแก่วิธีคิดในเรื่องของการสร้างความหมายทางสังคม หรือการพยายามรื้อถอนการสร้างความหมายเหล่านั้น เราจะตั้งคำถามต่อความหมายที่เคลือบแฝงอยู่ในข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทั้งภาพและเสียง ซึ่งเราเก็บเอามาวิเคราะห์ทุกครั้ง เมื่อเราไปเห็นชาวบ้านเขามีวัวควายกี่ตัว  เราคิดว่าสิ่งที่เราเห็นเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์  ซึ่งเราสามารถเก็บมาวิเคราะห์ได้ แต่มันไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น เพราะภาพทุกภาพที่ปรากฏ เสียงทุกเสียงที่ได้ยิน อาจถูกเคลือบด้วยความหมาย ความรู้ ความเข้าใจ อะไรอีกมากมาย  บางทีเราต้องรู้ว่าคนที่เราไปสัมภาษณ์นั้น แม้ว่าจะมีวัวควายอยู่แล้ว แต่ควายนั้นอาจไม่ใช่ของเขาก็ได้ เขาอาจรับมาเลี้ยง หรือเป็นคนที่รับจ้างเลี้ยง อาจจับฉลากได้ แสดงว่ามีความสัมพันธ์ซ้อนทับกันอยู่อีก เพราะความเป็นจริงยังผูกติดกับเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจบางอย่างด้วย

 

            ดังนั้น ถ้าเรามองภาพที่แปรากฎแล้วถือว่าเป็นข้อเท็จจริง โดยคิดว่า ภาพทีปรากฏเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์อย่างเดียว และไม่สนใจว่ามีความหมายซ้อนทับไปบนข้อเท็จจริงที่เราคิดว่าเป็นเชิงประจักษ์นั้นทั้งๆที่ยังมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมซ้อนทับอยู่อีกมากมาย แต่ถ้าเรายังไม่สามารถแจกแจงความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ หรือรื้อถอนออกมาว่ามีความหมายอะไรอยู่บ้าง ภาพที่ปรากฏที่เราเห็นก็เป็นได้แค่ มายาคติที่เราคิดหรือภาพมายาที่เรามองเห็นเท่านั้น

 

วาทกรรมในการวิจัยกับการช่วงชิงความหมาย

            วิธีคิดเกี่ยวกับการสร้างความหมายทางสังคมมีความสำคัญมาก เพราะเกี่ยวโยงผูกพันอยู่กับความสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างแนบแน่น  ดังที่เราจะพบเห็นในปัจจุบันว่า สิ่งที่เป็นความรู้ความเข้าใจหลายอย่าง มีลักษณะที่เราเรียกว่าเป็นวาทกรรม (Discourse) ในความหมายว่า การผลิตความรู้ หรือการสร้างความรู้ แล้วก็บอกว่า ความรู้นี้เป็นความจริงอันเดียว  ความรู้เช่นนั้นถือว่าเป็นวาทกรรม ผู้ที่นิยามความรู้ก็จะอยู่ในฐานะได้เปรียบในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

            ตัวอย่างการนิยามของรัฐเกี่ยวกับการพัฒนา ว่าจะทำให้ดีขึ้น นี้ก็ถือว่าเป็นวาทกรรมการพัฒนา ที่อาจส่งผลกระทบให้คนบางกลุ่มแย่ลงไปได้ และนำไปสู่การต่อสู้คัดค้านโดยการสร้างนิยามความหมายขึ้นมาใหม่ หรือการต่อสู้ช่วงชิงความหมายเพื่อให้พ้นจากการครอบงำทางอำนาจที่กระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่  อาจกล่าวได้ว่า ความหมายที่เรานิยามเป็นความจริงอย่างเดียวเท่านั้น  อย่างนี้เรียกว่า เป็นวาทกรรม เพราะเป็นการพยายามจะสถาปนาความเป็นจริง ซึ่งเป็นการสร้างความจริงด้วยการนิยามความหมายบางอย่าง เมื่อวาทกรรมเป็นการนิยามความหมายให้กลายเป็นความจริง เช่น เรานิยามคำว่า การพัฒนา นำไปสู่การจัดลำดับประเทศออกเป็นประเทศกำลังพัฒนา ประเทศด้อยพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้นำไปสู่การต่อสู้แข่งขันและการพัฒนาประเทศไปสู่ลำดับขั้นที่สูงกว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวาทกรรมที่สร้างความหมายของคำว่า ประเทศพัฒนา ที่สะท้อนให้เห็นภาวะเงื่อนไขในเชิงอำนาจ ซึ่งอาจมีความแตกต่างหรือมองเห็นไม่ตรงกัน เช่นบางคนบอกว่า เราควรพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ อยู่แบบอเพียง ไม่ต้องดิ้นตามคนอื่นๆ  ตรงนี้เองที่ข้อมูล ความรู้ต่างๆที่เราเชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ อาจถูกโต้แย้งและช่วงชิงความหมายระหว่างกัน เพื่อต่อรองหรือปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกันและกัน

            ยกตัวอย่างง่ายๆอย่างคำว่า พอเพียง ถามว่าความพอเพียงของใครคือความรู้ ความจริง ความพอเพียงของในหลวง ความพอเพียงของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ ความพอเพียงของชาวนา ชาวบ้านธรรมดา และอื่นๆ หรือความพอเพียงของเรา เป็นความจริงหรือความเข้าใจบางส่วนของบางคนในคนหมู่มากเท่านั้น  วาทกรรมเหล่านี้มีความแตกต่างกันระหว่างคนจน คนรวย หรือคนที่ไม่เท่าเทียมกัน ในหมู่บ้านชุมชน สังคม ไม่ได้มีคนเท่ากันหมด มุมมองของคนรวย คนจนย่อมแตกต่างกัน

            ดังนั้นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ จึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่ประจักษ์ เพราะยังซ้อนทับไว้ด้วยวาทกรรม  ซึ่งต้องอาศัยการรื้อถอนหรือการศึกษาวิเคราะห์ก่อนเอาไปใช้  ดังนั้นการวิเคราะห์จึงควรทำไปพร้อมกับการลงวิจัยภาคสนาม ไม่ใช่เก็บข้อมูลเสร็จแล้วค่อยเอามาวิเคราะห์  เนื่องจากเวลาที่เรามองอะไรต่างๆก็อาจมีวาทกรรมหรือภาพตัวแทนแฝงอยู่ หรืออาจเป็นมายาคติซ้อนทับกันอยู่เต็มไปหมด ถ้าปรากฏว่าเรายังไม่ได้รื้อถอนในขณะนั้น เราแค่ไปเก็บเอามาเท่าที่เราเห็น เราก็จะไม่ได้อะไรเลยนอกจากภาพตัวแทนหรือมายาคติบางอย่าง ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานในการวิจัยทางสังคมศาสตร์

            ดังนั้นการวิจัยทางสังคมไม่ใช่แค่เรื่องของระเบียบวิธีวิจัยเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของวิธีวิทยา ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิดเกี่ยวกับความหลากหลาย ความซับซ้อน การคำนึงถึงบริบท  การสร้างความหมายและวาทกรรม ล้วนต้องพยายามสร้างความเกี่ยวโยงกัน ตรงนี้เองที่ต้องอาศัยวิธีวิทยาอีกอย่างหนึ่งควบคู่ไปด้วย เพื่อการทบทวนและตรวจสอบข้อมูล ที่เรียกว่า การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)

            จุดเริ่มต้นสำคัญจึงไม่ใช่แค่การเก็บรวบรวมข้อมูล แต่เป็นการตั้งคำถามและการโต้เถียง ตามการวิจัยในแนวทางของทฤษฎีหลังสมัยใหม่ เราเรียกวิธีนี้ว่า การใคร่ครวญหรือการคิดทบทวน (Reflexivity) หมายความว่า ในการศึกษาวิจัยคงต้องมีลักษณะของการวิพากษ์วิจารณ์ และการวิจารณ์ตัวเองด้วย ไม่ใช่การมองอะไรในทิศทางเดียว แต่ต้องมองคล้ายกับการตอบโต้กันไปมา การทบทวนจะช่วยสะท้อนความคิด พร้อมทั้งตรวจสอบและโต้แย้งอยู่ในตัวเองตลอดเวลา

            ดังนั้นการวิจัยจึงไม่ใช่แค่การไปเก็บข้อมูล แต่เป็นเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องมีปฏิกิริยาโต้ตอบกันหลายขั้นตอนในทุกระดับ ตั้งแต่ขณะอยู่ที่ภาคสนาม จนถึงตอนที่กลับมาวิเคราะห์ทบทวนภายหลัง ไม่ใช่การการตั้งตัวเองเป็นใหญ่ในฐานะผู้วิจัย ขณะที่สิ่งที่เราวิจัย เราไม่ได้ใส่ใจหรือใยดีกับความรู้ความเข้าใจของคนที่เราศึกษาเลย จึงเป็นปัญหาอย่างมาก ซึ่งเกิดจากการละเลยให้ความสำคัญกับตัวผู้ปฏิบัติการ แต่ให้ความสำคัญกับโครงสร้างมากเกินไป จนทำให้เราเข้าใจว่า โครงสร้าง ความคิด หรือแนวคิดที่เรายึดติดนั้นมีความสำคัญ จนกลายเป็นคำอธิบายสำเร็จรูปไปทุกอย่าง เราจึงไม่ได้ใส่ใจในมุมมองหรือความคิดความเข้าใจของผู้อื่น ซึ่งเป็นคนที่เราเข้าไปศึกษา ตรงนี้ทำให้เราไม่ได้งานวิจัยที่เข้าใจความจริงที่เคลื่อนไหวอยู่ ได้เพียงแค่ภาพตัวแทนหรือมายาคติบางอย่างเท่านั้น

กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อสร้างความคิดใหม่

            การวิจัยทางสังคมและวัฒนธรรมถือเป็นกระบวนการของการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ไม่ใช่นักวิจัยหรือใครจะเป็นพระเอกหรือนางเอกคนเดียว แต่เป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนและถกปัญหาร่วมกัน (Dialogue) การใช้วิธีการในลักษณะของการเรียนรู้ร่วมกัน ก็สามารถสกัดเอาปัญหาบางอย่างออกไปได้ เนื่องจากการวิจัยไม่ใช่แค่เรื่องที่นักวิจัยจะพรรณนาไปตามที่มองเห็นเท่านั้น ขณะเดียวกันการวิจัยก็ไม่ใช่ไปไกลถึงขนาดที่บางคนเชื่อว่าคำตอบของชาวบ้านเป็นคำตอบของการวิจัย ซึ่งเป็นปัญหาอีกด้านหนึ่งเช่นเดียวกัน เพราะนักวิจัยที่เน้นที่ชาวบ้านพูดทุกอย่าง ในลักษณะที่ว่าคำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน แบบนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน และยิ่งเอาคำตอบของชาวบ้านมาเป็นคำตอบของการวิจัยด้วย ยิ่งเป็นไปปัญหาเพิ่มขึ้นอีก ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่จำเป็นต้องวิจัยเพราะมีคำตอบอยู่แล้ว

            ดังนั้นกระบวนการวิจัยที่เน้นลักษณะของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ต้องให้ความสำคัญแก่การตอบโต้ การโต้เถียง กระบวนการตรงนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิธีวิทยาบางอย่าง ในเรื่องของกระบวนการวิจัย นั้น เราเน้นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participation Action Research) นั่นคือ นักวิจัยไม่สามารถทำคนเดียวได้ แต่ต้องช่วยกันในลักษณะเป็นสหวิทยาการให้มากขึ้น รวมทั้งการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของผู้ที่เคยถูกวิจัยด้วย เป็นกานวิจัยแบบเครือข่าย เพื่อให้เกิดพลังของการเปลี่ยนแปลง

 

ตัวตนของการเคลื่อนไหวและปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน

            แม้ว่าทฤษฎีหลังสมัยใหม่มาจากตะวันตก แต่ไม่ได้มาพร้อมคำตอบสำเร็จรูปตายตัว เพียงแต่ใช้วิธีคิดและมุมมองใหม่ๆ เพื่อที่เราจะเข้าไปศึกษาวิจัยหรือสร้างมุมมองหรือวิธีคิดนั้นขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะทฤษฎีหลังสมัยใหม่ให้ความสนใจและความสำคัญกับอัตลักษณ์หรือการมีตัวตน (Identity) ตอดจนกระบวนการสร้างตัวตนของผู้คน (Construction of Identity) อัตลักษณ์ในทฤษฎีหลังสมัยใหม่แตกต่างจากเอกลักษณ์ เพราะหมายถึงการนิยามตัวตนของตัวเอง ไม่ใช่การถูกนิยาม เช่น ที่แฝงอยู่ในความหมายของเอกลักษณ์ ความคิดเรื่องอัตลักษณ์จึงช่วยให้เข้าใจมุมมองที่แตกต่างในสังคมได้มากขึ้น

            หากการเคลื่อนไหวของการสร้างหน่วยของความเป็นตัวตนเหล่านี้ไม่ชัดเจน ผู้คนทั้งหลายก็จะมองข้าม มองไม่เห็น เช่น หากคนจนไม่รวมตัวกันเป็นกลุ่มองค์กร  ผู้คนในสังคมก็ไม่รู้ปัญหาของคนกลุ่มเหล่านี้  และไม่เข้าใจถึงความชอบธรรมในการอ้างถึงสิทธิ์ การเข้าถึงสิทธิ์  การออกมาเรียกร้องสิทธิ การเรียกร้องดังกล่าวเป็นกระบวนการของการสร้างความมีตัวตน การสร้างพื้นที่แห่งอำนาจของพวกเขา  ดังนั้นการวิจัยทางสังคมศาสตร์ จึงควรเป็นกระบวนการเรียนรู้ ที่จะต้องศึกษากระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไปด้วย เพื่อช่วยปรับวิธีคิดให้ตรงกับบริบทที่เป็นจริงของสังคมที่ศึกษามากขึ้น

            ในกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา มีการสร้างความมีตัวตนของกลุ่มคนต่างๆอย่างหลากหลาย เช่น การออกมาต่อสู้ เคลื่อนไหวและเรียกร้องสิทธิของสตรี  เป็นการเรียกร้องการมีตัวตนรูปแบบต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกฎหมายต่างๆ สิทธิต่างๆ ซึ่งถือได้ว่าคือการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เคยแฝงอยู่ในวาทกรรม ภาพตัวแทน และมายาคติต่างๆ ในลักษณะที่เรียกว่า เป็นการเมืองของอัตลักษณ์ ถ้าแนวความคิดหรือวิธีวิจัยของเราไม่สามารถจะเข้าใจการก่อร่างเพื่อสร้างความมีตัวตนใหม่ๆที่เรียกว่าเป็น Emerging Identity ซึ่งกำลังเคลื่อนไหวอยู่ แต่นักวิจัยมองไม่เห็น งานวิจัยก็ไม่สามารถสร้างหรือผลิตความคิดใหม่ๆขึ้นมาได้

            ในทุกสังคม กลุ่มคนต่างๆไม่ได้ปล่อยชีวิตไปตามถากรรมหรือยอมรับสภาพของการครอบงำอย่างเดียว  ทว่ายังมีการเคลื่อนไหวซึ่งมีนัยทางการเมือง เพื่อที่จะแสดงความมีตัวตนมากขึ้นด้วย แต่ถ้างานวิจัยของเราศึกษาเรื่องเดิมๆที่มีผู้ศึกษาอยู่แล้ว ก็จะไม่ช่วยให้เราเข้าใจความเคลื่อนไหวใหม่ๆหรือความคิดในตัวตนใหม่ๆเหล่านี้ได้

            การจะเข้าใจความเคลื่อนไหว เราต้องอาศัยวิธีคิดที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ คือ เรื่องการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน (Everyday life in Practices) ซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องของวาทกรรม ที่ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้กระบวนการครอบงำ ซึ่งต้องเผชิญกับกระบวนการตอบโต้การครอบงำ (Dominant and Resistant) แม้ว่าวิธีคิดในกาศึกษาปฏิบัติการนั้นอาจไม่มีคำตอบอะไรให้ชัดเจน นอกจากแสดงให้เห็นนัยการเคลื่อนไหวที่ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ จุดนี้ถือว่า เป็นการทะลุกับดักคู่ตรงกันข้าม  ระหว่างโครงสร้าง กับตัวผู้ปฏิบัติการ

            การเชื่อมโยงความคิดระหว่างโครงสร้างกับตัวผู้ปฏิบัติการ เป็นความคิดสำคัญที่ได้จากข้อเสนอของปิแอร์ บูดิเยอร์ (Pierre Boudieu) นักสังคมศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ในเรื่องของปฏิบัติการ เสนอว่า ในการศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจความเคลื่อนไหว ต้องสนใจที่ปฏิบัติการของกลุ่มคนต่างๆ ในการเคลื่อนไหวเพื่อปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ปฎิบัติการดังกล่าวแสดงออกมาในรูปของปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน และการเคลื่อนไหวรูปแบบใหม่ทางสังคม เช่น การศึกษาในเรื่องของการวมกลุ่มกันขึ้นมา  และการต่อสู้เรียกร้องสิทธิต่างๆ ในความเกี่ยวโยงระหว่างโครงสร้างกับปฏิบัติการก็มีเรื่องความซับซ้อนของอุดมการณ์ แนวคิด และระบบต่างๆมากมายแทรกอยู่ด้วย แต่ความซับซ้อนเหล่านี้แสดงออกให้เห็นได้ชัดเจนในปฏิบัติการที่กลุ่มคนต่างๆ เลือกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันในบริบทต่างๆ

 

วิธีวิทยาของวิธีคิดในการตั้งโจทย์การวิจัย

1.การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางทฤษฎีกับประเด็นปัญหาในการวิจัย

            ศาสตร์ทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ไม่สามารถคิดจากความว่างเปล่าได้ เพราะทฤษฎีเป็นการสะสมความรู้ที่ผ่านมา แล้วสรุปเป็นการสังเคราะห์ในภาพกว้าง ดังนั้นถ้านักวิจัยรู้จักผสมผสานทางทฤษฎีก็จะช่วยทำให้สามารถมองเห็นประเด็นปัญหาได้อย่างหลากหลาย ในวงวิชาการปัจจุบันอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางทฤษฎีที่เรียกว่าการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) หากนักวิจัยยึดติดกับกับแนวความคิดใด ความคิดหนึ่ง ก็อาจตกประเด็น หรือติดกับประเด็นใดประเด็นหนึ่งมากเกินไป จนมองประเด็นต่างๆแบบตายตัว ซึ่งก็ไม่ช่วยให้ตั้งประเด็นคำถามในการวิจัยใหม่ๆได้  โดยเฉพาะการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางทฤษฎีจากแบบสมัยใหม่นิยม (Modernism) ซึ่งให้ความสำคัญกับแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากวิทยาศาสตร์  มาเป็นแบบหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) นอกจากนี้นักวิจัยต้องสนใจเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Cultural Diversity) ทั้งนี้เพราะในสังคมหนึ่งๆ ไม่ได้มีวัฒนธรรมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอไป แต่มีการสะสมและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมที่ต่างกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจมิติทางวัฒนธรรมต่างๆ และสามารถเปิดใจกว้างในการตั้งคำถามได้ดีขึ้น

            การศึกษามิติทางวัฒนธรรม ต้องศึกษาในลักษณะที่เป็นกรณีศึกษา เพราะว่ามีลักษณะเจาะจงในบริบทเฉพาะ (Specific Context)ดังนั้นในการตั้งโจทย์การวิจัย บริบทจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนักวิจัยไม่สามารถตั้งโจทย์การวิจัยแบบล่องลอยอยู่ในอากาศโดยไม่รู้ว่าสิ่งที่พูดออกไปนั้นอยู่ที่ไหน หากนักวิจัยคิดโจทย์จากภาพใหญ่โดยไม่ใส่ใจในบริบทที่เกี่ยวข้อง ก็จะมองปัญหาในลักษณะที่เฉพาะเจาะจงไม่ได้  ขณะที่การวิจัยนั้นให้ความสำคัญแก่ลักษณะที่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้มีจุดเน้น เพราะถึงที่สุดแล้วการวิจัยทางสังคมศาสตร์จะต้องลงไปวิจัยในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และวิจัยในกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายหรือประเด็นเป้าหมายไม่ใช่เป็นเพียงกรสำรวจอย่างกว้างๆดังเช่นที่สำนักงานสถิติแห่งชาติมักวิจัยเท่านั้น

2.วิธีคิดในการอธิบายทางสังคมศาสตร์

            ประเด็นปัญหาทางสังคมและวัฒนธรรมส่วนใหญ่ไม่ได้ผูกติดอยู่กับภาพปรากฏ ที่มองเห็นเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับมิติของความหมาย (Meaning) ซึ่งผู้คนในสังคมมักมองแตกต่างกัน ดังนั้นถ้าผู้วิจัยไม่เข้าใจความหมายที่แฝงอยู่  ก็จะมองเห็นเพียงปรากฏการณ์ของปัญหาจากมุมมองของตนเอง ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นในสังคมและวัฒนธรรมที่ต้องการศึกษาก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้การอธิบายจึงควรเน้นความสำคัญของการค้นหาความหมายให้กว้างมากขึ้น

            โดยทั่วไปในทุกสังคมและวัฒนธรรมย่อมสร้างความหมายต่างๆกัน เพื่อสื่อสารถึงด้านที่สลับซับซ้อนของความเป็นมนุษย์ ซึ่งแตกต่างจากพฤติกรรมและปรากฏการณ์ที่มองเห็นได้ เพราะเกี่ยวกับความรู้สึก อารมณ์ของความเป็นมนุษย์ อันแสดงถึงความสลับซับซ้อนของวัฒนธรรมและยังแฝงไว้ด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่างๆ ในแง่ที่มีผลต่อการตีความหมายของการแสดงออกของพฤติกรรมต่างๆ เช่น บางสังคมสร้างความหมายว่า ผู้หญิงตามธรรมชาติมีอารมณ์อ่อนไหว แต่แท้ที่จริงแล้วแฝงนัยของอำนาจในการควบคุมพฤติกรรมของผู้หญิงเอาไว้ให้อยู่ในกรอบที่กำหนดโดยผู้ชาย ในฐานะของผู้มีเหตุผลที่ควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่า ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้น

 

 

                         Woman                                          Man

                         Emotion                                           Reason

                       Subordinate                                    Dominant

            การอธิบายในทางสังคมศาสตร์ ยังมีความหมายรวมถึงการพยายามสร้างความเข้าใจ (Understanding) ต่อเรื่องที่ศึกษานั้นๆด้วย ซึ่งหมายถึงการหาความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันในเชิงคุณภาพหรือความคิด ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างความหมายกับคุณค่า กับความสัมพันธ์ทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทและเงื่อนไขของสังคมในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น การอธิบายการเคลื่อนไหวของชาวบ้านปากมูลในการต่อต้านเขื่อน นักวิจัยคงไม่อธิบายด้วยเหตุผลของการเรียกร้องค่าชดเชยเท่านั้น แต่ต้องทำความเข้าใจความคิดของชาวบ้าน ซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณค่าที่ชาวบ้านเคยผูกพันในวิถีชีวิตในแม่น้ำมูน พร้อมทั้งการเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นธรรมต่างๆในบริบทที่ชาวบ้านถูกทำลายวิถีชีวิตด้วย

    ความคิดสำคัญที่สุดในการอธิบายทางสังคมศาสตร์ยังต้องประกอบด้วยมิติในเชิงวิพากษ์ (Critical dimension) เพราะสิ่งที่นักวิจัยมอง อาจไม่ได้แปลว่าต้องเหมือนกันหมด ดังนั้นสิ่งที่นักวิจัยอยากได้จากการสร้างองค์ความรู้ในการทำวิจัยก็คือ นักวิจัยอยากรู้ว่าสิ่งที่รู้มาแล้วนั้นต่างกันหรือขัดแย้งกันกับสิ่งที่เข้าใจแต่เดิมอย่างไร ถ้าวิจัยแล้วตอกย้ำความเข้าใจเดิมอยู่ตลอดเวลา ก็อาจจะนำไปสู่คำถามว่า จะวิจัยไปทำไม เพราะการวิจัยมีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนมิติและมุมมองด้วย ถ้าไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อสิ่งที่ทำไป ก็ย่อมไม่ได้อะไรใหม่ๆขึ้นมา

ดังนั้นก่อนที่จะลงมือทำการวิจัยนักวิจัยจะต้องทำการทบทวนถึงสิ่งเหล่านี้ ในการอธิบายทางสังคมศาสตร์ รวมทั้งสามประเด็นต่อไปนี้ซึ่งต้องเอามาคิดคำนึงด้วยคือ

1.การวิจัยทางสังคมศาสตร์ไม่ได้มุ่งบรรยายเฉพาะภาพปรากฏเท่านั้น แต่ต้องการวิเคราะห์ภาพที่เห็นนั้นมากกว่า โดยการค้นหาต้นตอหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดภาพปรากฏเช่นนั้น ซึ่งมักมองไม่ค่อยเห็น เพราะสาเหตุเหล่านั้นจะอยู่เบื้องหลัง ดังนั้นการตั้งโจทย์ในการวิจัยจึงต้องพยายามค้นหาหลักการหรือตรรกะที่รองรับอยู่ (Underlying Logic)

 

คำถาม ภาพนี้คือภาพอะไร หากคำตอบก็คือ ภาพ ผู้หญิง(แก่)ทอผ้า ถ้าคำตอบเป็นเช่นนี้ก็เป็นเพียงการบรรยายเฉพาะสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น แต่ถ้าตอบแบบค้นหาต้นตอ จะต้องคิดต่อว่า ทำไมผู้หญิงแก่ทอผ้า ผู้หญิงสาวหายไปไหน ทำไมต้องทอผ้า ผ้าเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตอย่างไร ทอผ้าไว้ให้ลุกชายเวลาบวช ทอผ้าไว้ใช้งานแต่งงาน ทอผ้าไว้ห่อศพตัวเอง การทอผ้าจึงเหมือนกระบวนการเปลี่ยนผ่าน และกระบวนการขัดเกลาให้เป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์ มันสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ทางอำนาจทางเพศอย่างไร

          2. ในการศึกษาวิจัยบางครั้ง นักวิจัยอาจยึดติดกับภาพตัวแทน (Representation) ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อปิดปังภาพที่เป็นจริงจนทำให้มองเห็นภาพปรากฏเป็นไปตามภาพตัวแทน ตัวอย่างเช่น สังคมในปัจจุบันมักสร้างภาพตัวแทนของสังคมชนบทว่า มีเศรษฐกิจแบบยังชีพเรียบง่าย มีวิถีชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติ  ผู้คนมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การสร้างภาพเช่นนี้ย่อมนำไปสู่ปัญหา เพราะภาพดังกล่าวอาจเป็นภาพที่บิดเบือนจากความจริงก็เป็นได้ เพราะสังคมชนบทในปัจจุบันก็มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น บางแห่งกำลังจะล่มสลาย พึ่งตัวเองไม่ได้ มีความขัดแย้งกัน หากนักวิจัยไม่ใส่ใจค้นคว้าหาความจริง ยังยึดติดกับภาพตัวแทน โดยไม่สนใจศึกษาค้นคว้าให้ลึกลงไปว่าภาพนั้นถูกสร้างได้อย่างไร หรือสร้างด้วยเงื่อนไขอะไร นักวิจัยก็จะหลงทางในการตั้งคำถามในการวิจัย อันจะนำไปสู่การค้นหาความหมาย การสร้างความเข้าใจและการวิพากษ์วิจารณ์ได้

 

 

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะ...

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile D...