ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

อารมณ์กับการข้ามพรมแดน โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 อารมณ์กับประเด็นการข้ามพรมแดน... มิติทางมานุษยวิทยา

มโนทัศน์ข้ามพรมแดน (transnationalism) เป็นสิ่งที่ถูกนิยามโดยนักมานุษยวิทยา ว่าเป็นเช่นเดียวกับกระบวนการทางสังคม(social process)ที่ซึ่งผู้อพยพได้สร้างสนามทางสังคมที่แผ่ขยายข้ามพรมแดนรัฐชาติและเชื่อมโยงระหว่างประเทศแผ่นดินเกิด(original countries)และแผ่นดินของประเทศที่ผู้อพยพข้ามพรมแดนเข้ามาอาศัยและทำงานอยู่ (Basch, Glickschiller and Szanton-Blanc,1994) โดยบุคคลที่อพยพข้ามพรมแดนสัมพันธ์กับความเข้มข้นของปฏิสัมพันธ์ของพวกเขา ทั้งกับผู้คน เหตุการณ์ในแผ่นดินแม่(homeland) ที่สร้างการเน้นย้ำเกี่ยวกับมิติทางอารมณ์ของการข้ามพรมแดนให้เป็นไปได้มากที่สุด (Davidon,J.,and L.Bondi,2004) ดังนั้นการเคลื่อนไหวของผู้คน(mobility) ไม่สามารถหลีกเลี่ยงกับการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ในเชิงอารมณ์ (emotional relation)ทั้งกับผู้คนและเหตุการณ์ซึ่งถูกเชื่อมโยงเข้ากับประเด็นทางเชื้อชาติ(racism) ชาติพันธุ์(Ethnicity) และชาตินิยม(nationalism) เข้าด้วยกัน (Ahmed,2004) โดยแนวคิดข้ามวัฒนธรรม ให้ความสนใจกับพื้นที่ใหม่ของการเคลื่อนย้าย (The new space of mobility) และการแลกเปลี่ยนทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมืองที่ซึ่งผู้อพยพและผู้ลี้ภัยทางการเมืองรวมถึงผู้ถูกเนรเทศได้สร้างสนามทางสังคมที่เชื่อมโยงกับชุมชนที่ถูกทำลายหรือถูกควบคุมของพวกเขากับชุมชนใหม่.....
Appadurai ได้อธิบายเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายของผู้คนหรือมิติทางชาติพันธุ์ (Ethnoscape) และการข้ามท้องถิ่น (translocality) ที่มีคุณค่าในการคิดที่นำไปสู่ส่วนประกอบในพลวัตรของพื้นที่แห่งการเคลื่อนย้ายใหม่นี้ ethnoscape อ้างถึงภูมิทัศน์ของบุคคล (landscape of person)ผู้ซึ่งประกอบสร้างการก้าวข้ามโลก (The Shifting world) (Appadurai 1990;7) ภูมิทัศน์หรือภูมิศาสตร์เหล่านี้รวมถึงปฏิบัติการทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และความคิดอุดมการณ์ที่เป็นสิ่งที่ถูกแลกเปลี่ยนในกระบวนการของการข้ามพรมแดน ส่วนการข้ามท้องถิ่น (Translocality )อธิบายถึงชุมชนที่ถูกรื้อถอนทำลายที่กลายเป็นสิ่งที่ถูกบังคับให้ต้องแผ่ขยายเคลื่อนย้าย เช่นเดียวกับภาพสะท้อนของพื้นที่ของการเคลื่อนย้ายใหม่ (Appadurai,1996)
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ของการข้ามผ่าน ถือเป็นแหล่งที่ให้ความเข้าใจพื้นฐานของชีวิตประจำวัน กิจกรรมและความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้อพยพ ที่ทำให้เห็นการดำรงชีวิตและการอาศัยอยู่ของคนข้ามแดน สอดคล้องกับที่พัฒนา กิติอาษา(2545) ชี้ให้เห็นว่ามานุษยวิทยาต้องหันมาให้ความสนใจกับประสบการณ์และชีวิตของผู้คนที่เดินทางข้ามผ่าน(people in transit) มากขึ้น ที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของชีวิตคนเดินทาง พรมแดนและกระบวนการเคลื่อนย้ายรวมทั้งการให้ความหมายต่อการข้ามพรมแดนของผู้คนเหล่านั้น(พัฒนา กิติอาษา,2545:111)
ในขณะเดียวกันผู้อพยพก็มักจะพบความขัดแย้งในตัวของพวกเขาเองภายใต้กระบวนการของความพยายามสร้างความเป็นรัฐชาติหรือกระบวนการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้ลักษณะทางเชื้อชาติที่มีความแตกต่างหลากหลายในพรมแดนของรัฐชาติ ดังนั้นกระบวนการของการข้ามพรมแดนแบบใหม่จึงเน้นย้ำอยู่บนเรื่องของอารมณ์ ดังเช่น ความท้าทายทางอารมณ์ของแรงงานอพยพที่ต้องเผชิญ การเชื่อมโยงความทรงจำและความสำนึกของผู้ผลัดถิ่นไปยังแผ่นดินเกิด สภาวะอิหลักอิเหลื่อหรือคลุมเครือของความรู้สึกในการเป็นคนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในประเทศอื่นๆ ที่สะท้อนให้เห็นการตอบสนองของประชาชนพลเมืองที่เป็นเจ้าบ้านในอารมณ์ทางลบกับการปรากฏของแรงงานอพยพในประเทศของพวกเขา.. ประสบการณ์ความทุกข์ยากลำบากที่แรงงานอพยพและผู้ลี้ภัยต้องเผชิญ ภายใต้การปะทะกันของความรู้สึกของการเป็นเจ้าของบ้าน(host)และความเป็นคนแปลกหน้า(stranger)เป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างและแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกัน (Ahmed,2004) ดังนั้นอารมณ์จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ของประสบการณ์การอพยพหรือภาวะเชิงอัตวิสัยในกระบวนการข้ามถิ่น...
Zlatko Skrbis (2008) ชี้ให้เห็นว่าทฤษฎีเกี่ยวกับการข้ามพรมแดนและการอพยพ มีความผิดพลาดกับความไม่สนใจที่จะรวมเอาประเด็นทางด้านอารมณ์เข้ามาศึกษาและควรเน้นย้พเกี่ยวกับประเด็นเรื่องนี้รวมถึงเรื่องของความสัมพันธ์ทางอำนาจ (power relation) ด้วย จนกระทั่งในปัจจุบันที่มีการศึกษาในสนามทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยาและภูมิศาสตร์ที่เริ่มต้นสำรวจและให้ความสำคัญกับการให้ความหมายของอารมณ์สำหรับประสบการณ์การอพยพข้ามพรมแดนมากขึ้น โดยเรื่องราวของผู้อพยพ (Migrant Story) เชื่อมโยงกับประสบการณ์ของการปรับตัว (adjustment ) การตั้งถิ่นฐาน (Settlement) การโหยหาอดีต(nostalgia) และการแตกกระจายของความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Shattered sense of belonging) การรื้อฟื้นใหม่ (renew) ความสูญเสีย(loss) การถูกเลือกปฏิบัติ (discrimination) การถูกตีตรา (stigma) การเริ่มต้นใหม่ (new beginning)และโอกาสใหม่ (new opportunities)ทั้งหมดคือแหล่งกำเนิดที่มีผลเกี่ยวกับอารมณ์ของผู้คนข้ามพรมแดน (Skrbis,2008,236) ซึ่งตัวเขายืนยันถึงการสืบค้นมิติทางด้านอารมณ์อย่างเป็นระบบจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำคัญอย่างมาก
ดังนั้นคำถามสำคัญคือประสบการณ์ของการทำงานทางอารมณ์(emotion work)ของผู้อพยพข้ามพรมแดนมีความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประธาน(subject)ของผู้อพยพกับความเป็นรัฐชาติ (nation state)ในดินแดนที่พวกเขาเข้าไปอาศัยอยู่หรือไม่ การข้ามพรมแดนจึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกด้วย
อ้างอิง
1.พัฒนา กิติอาษา (2545)คนข้ามแดน:นาฏกรรมชีตและการข้ามพรมแดนในวัฒนธรรมอีสาน.
วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 15 ฉบับที่ 1. นครราชสีมา : คลังปัญญา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
2.Ahmed, S. (2004). The cultural politics of emotion. Edinburgh: Edinburgh University Press.
Appadurai, A. (1990). Disjuncture and difference in the global cultural economy. Public Culture 2, no. 2: 1 24.
3.Appadurai, A. (1996). Modernity at large: Cultural dimensions of globalization. Minneapolis: University of Minnesota Press.
4. Basch, L., N. Glick-Schiller, and C. Szanton-Blanc. (1994). Nations unbound:Transnational projects, postcolonial predicaments, and deterritorialized nationstates. Amsterdam, The Netherlands: Gordon and Breach Science Publishers.
5. Davidson, J., and L. Bondi. 2004. Spatializing affect; affecting space: An introduction. Gender, Place and Culture 11, no. 3: 373 4.
6. Skrbis, Z. (2008). “Transnational Families: Theorising Migration, emotions, and belonging”. Journal of Intercultural studies, 29(3): 231-246.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะ...

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile D...