วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การเชื่อมโยงระหว่างสังคมศาสตร์กับปรัชญาวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

การเชื่อมโยงสังคมศาสตร์ กับ ปรัชญาวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ (วิทยาศาสตร์แบบเดการ์ต และ ฟิสิกส์ แบบนิวตัน
                หนังสือจุดเปลี่ยนหรือ Turning Point ของ Frijof Capra สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลัก คือส่วนแรก เขาต้องการชี้ให้เห็นว่า ภาวะวิกฤติ(Crisis)เป็นหัวใจหรือโอกาสของการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ วิกฤตที่ว่า ทั้งเทคโนโลยี พลังงาน การบริโภคที่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงโครงสร้างทางวัฒนธรรม และระบบคุณค่าที่ผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวไป ที่ทำให้เกิดทัศนะการมองสิ่งต่างๆแบบแยกส่วน ซึ่งเป็นต้นตอของสิ่งที่เรียกว่าวิฤตการณ์ของมนุษยชาติและโลกอย่างแท้จริง ส่วนที่สอง เข้าให้ความสำคัญกับการก่อกำเนิดและลักษณะของกระบวนทัศน์ 2 แบบ ได้แก่วิทยาศาสตร์แบบเดิมตามแบบเดการ์ตและฟิสิกส์แบบนิวตันกับวิทยาศาสตร์ใหม่ตามหลักของควอนตัมฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์แบบเก่าที่ทำให้เกิดการมองโลกแบบแยกส่วน การมองโลกเป็นเครื่องจักรที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนต่างๆที่รวมกัน ในขณะที่ฟิสิกส์แบบควอนตัม มองปรากฏการณ์ต่างๆที่ปราศจากการดำรงอยู่ของตัวตนที่แน่นอนและเชื่อมกันอยู่โดยไม่อาจแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด ที่ทั้งสองแบบให้คำอธิบายความจริงที่ต่างกัน และมนุษย์สามารถใช้ความรู้ทั้งสองแบบในการเข้าถึงความจริงได้เล่มสุดท้าย เขาเสนอทัศนะแม่บทที่ไม่ใช่แค่การปฏิวัติวัฒนธรรมใหม่แต่เป็นเรื่องของจุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษที่หันมาสนใจกระบวนการของความเป็นตะวันออก (Esternization) ซึ่งแตกต่างจากทัศนะแบบดั้งเดิมที่สร้างวิกฤตการณ์ต่างๆและรับใช้การแผ่ขยายอำนาจของตะวันตก (Westernization)ซึ่งครอบงำทางการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยีและวัฒนธรรม โดยเฉพาะความรู้ต่างๆที่มนุษย์ใช้ในการดำรงชีวิตและสร้างความเจริญก้าวหน้า  
โดย ในส่วนที่สองได้พูดถึงทัศนะและลักษณะของปรัชญาวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่เป็นแม่แบบที่มีอิทธิพลต่อความรู้ของมนุษย์และความก้าวหน้าของโลก อยู่ 2 แบบคือ วิทยาศาสตร์แบบเดการ์ต และฟิสิกส์แบบนิวตัน ที่มีลักษณะที่แตกต่างกันดังนี้
                วิทยาศาสตร์แบบเดการ์ต เริ่มต้นจากการตั้งข้อสงสัยอย่างถึงรากถึงโคน การตั้งข้อสงสัยกับทุกสิ่งทั้งความรู้ต่างๆที่สืบทอดต่อกันมา หรือการรับรู้จากประสาทสัมผัสต่างๆ หรือแม้แต่ข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวตนของตัวเองว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เขาสงสัยจนถึงจดที่ไม่สามารถสงสัยได้อีกต่อไป ซึ่งนำไปสู่ความคิดเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของตัวเขาเองในฐานะผู้คิด ดังที่เขากล่าวว่า เพราะฉันคิดจึงมีตัวฉัน ที่เดการ์ตนำไปสรุปธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ก็คือความคิด และสิ่งต่างๆที่เรารับรู้อย่างแจ่มชัดและแน่นอนเท่านั้นคือความจริง ที่เรียกว่า “ญาณทัศนะ” วิธีการหาความรู้ของเดการ์ตใช้วิธีการของญาณทัศนะและการนิรนัยโดยการวิเคราะห์จำแนกแจกแจง ความคิดและปัญหาออกเป็นชิ้นๆและจัดเรียงขึ้นใหม่ภายใต้ระเบียบวิธีการเชิงตรรกะหรือเรียกว่าทัศนะแบบลดส่วนซึ่งเป็นแก่นแกนของความคิดแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ที่สามารถทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนด้วยการย่อส่วนลงมาศึกษาองค์ประกอบย่อยต่างๆของปรากฏการณ์นั้นๆ
                ความคิดแบบเดการ์ตจึงให้ความสำคัญกับความคิดที่ช่วยทำให้ความหมายของจิตใจมีความสำคัญและเด่นชัดเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เป็นวัตถุโดยเฉพาะกาย ซึ่งทำให้เขาแยกระหว่างกายกับจิตซึ่งเป็นอิทธิพลของวิธีคิดแบบทวิลักษณ์นิยมที่สำคัญของเขา ที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกความคิดและการปฏิบัติในสังคม เช่น จิตแพทย์ที่สนใจจิตมากกว่าร่างกาย แพทย์ที่ละเลยจิตใจโดยให้ความสำคัญกับการรักษาทางร่างกาย งานที่ใช้สมองสำคัญกว่างานที่ใช้ร่างกาย แรงงาน หรือความรู้ทางวิชาการที่แบ่งแยกระหว่างเรื่องของวัตถุกับจิตใจ เช่น วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของวัตถุ จิตใจเป็นเรื่องของมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นต้น หรือแยกระหว่าง Hard Science กับ Soft Science หรือแนวคิดแบบ Atomistic Model และ Organic Model
                นอกจากนี้แนวคิดแบบเดการ์ต มองว่าเอกภพของวัตถุคือเครื่องจักร ไม่มีอะไรนอกเหนือเครื่องจักร ไม่มีชีวิตและจิตวิญญาณ ธรรมชาติก็ดำเนินไปตามกฎทีมีลักษณะเป็นกลไก มีลำดับขั้น มีระเบียบ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ต้องอาศัยวิธีการสังเกตอย่างเป็นระบบ มีการทดลอง มีทฤษฎีที่กำหนดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติทุกอย่าง ดังนั้นธรรมชาติจึงเป็นเหมือนเครื่องจักรที่สมบูรณ์และถูกควบคุมด้วยกฏเกณฑ์แบบกลไกที่แน่นอน(กฏเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์) ซึ่งทำให้วิทยาศาสตร์มีอำนาจในการควบคุมและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ จึงรวมทั้งพืช สัตว์และมนุษย์ก็ถูกลดทอนเป็นเพียงเครื่องจักรชนิดหนึ่ง เช่นร่างกายทางชีวิวทยาของมนุษย์ถูกลดทอนให้เห็นการทำงานแบบเครื่องจักร ผ่านการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆและการเคลื่อนไหวของร่างกาย ที่สะท้อนให้เห็นว่าร่างกายของมนุษย์มีส่วนที่เป็นวิญญาณแห่งเหตุผลที่อยู่ในร่างกายเชิงวัตถุที่ห่อหุ้มด้วยเนื้อหนังและอวัยวะต่างๆ
                ในเวลาต่อมาแนวคิดฟิสิกส์แบบนิวตัน ได้สร้างความก้าวหน้าและความแม่นยำในทางคณิตศาสตร์ที่มากกว่าวิทยาศาสตร์แบบเดการ์ตและกาลิเลโอ โดยเฉพาะการค้นพบกฏของการเคลื่อนที่ของวัตถุที่เป็นของแข็งภายใต้อิทธิพลของแรงโน้มถ่วงที่สามารถใช้กฏดังกล่าวนี้อธิบายวัตถุต่างๆในระบบสุริยะจักรวาล ตั้งแต่ผลไม้ ก้อนหินจนถึงดาวเคราะห์ นิวตันได้ผสมผสานวิธีการของฟรานซิส เบคอน ที่เน้นวิธีแบบประจักษ์นิยมและอุปนัย กับแนวคิดของเดการ์ตที่ใช้วิธีการของเหตุผลและนิรนัย ที่เน้นความสำคัญของการทดลองที่ต้องตีความอย่างเป็นระบบและกฏเกณฑ์หลักที่มาจากการนิรนัยจะต้องมีหลักฐานของการทดลองมารองรับ
                ความคิดแบบนิวตันในเรื่องกลศาสตร์ มองว่าปรากฏการณ์ทางกายภาพจะถูกลดส่วนเหลือเพียงการเคลื่อนที่ของอนุภาคซึ่งเกิดจากแรงดึงดูดระหว่างกัน ที่สัมพันธ์กับแรงโน้มถ่วง ผลจากแรงนี้ที่มีต่ออนุภาคและวัตถุต่างๆสามารถอธิบายด้วยหลักคณิตศาสตร์ ผ่านสมการการเคลื่อนที่ของนิวตัน ทั้งการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ กระแสน้ำขึ้นน้ำลง หรือปรากฏการณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับแรงโน้มถ่วงของโลก ระบบคณิตศาสตร์แบบนิวตันเกี่ยวกับโลกได้กลายเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับความจริงที่ถูกต้องที่สุดและมีอิทธิพลต่อวิธีคิดทางวิชาการแขนงต่างๆในยุคนั้น
                เมื่อมองย้อนลงไปที่ประวัติศาสตร์ของยุโรปและประวัติศาสตร์ของโลกจะพบว่า การปฏิวัติทางการเมือง เศรษฐกิจ และทางสังคม (ปฏิวัติเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อวิถีชีวิต รสนิยมและการบริโภครวมถึงชนชั้นทางสังคม) ทำให้ประชาชนมีตัวตน เสรีภาพและมีอำนาจมากขึ้น พร้อมๆกับปัญหาและความขัดแย้งที่มีมากขึ้น วิธีคิดแบบเดิมไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งกฏเกณฑ์ที่ครอบงำสิ่งเหล่านี้ ที่ต้องสร้างพื้นที่และต้องการการอธิบายสังคมในเชิงลึกมากกว่าเดิม ที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของสังคมศาสตร์ ดังนั้นสังคมแบบใหม่ต้องการความรู้แบบใหม่ที่มีความแม่นยำถูกต้อง (Positive) ภายใต้การรับเอารูปแบบวิธีคิดแบบฟิสิกส์นิวตัน (Newtonian Physics) ที่ทรงอิทธิพลทางความรู้ในช่วงเวลานั้น มาประยุกต์ใช้กับศาสตร์แห่งสังคม (Science of Society) โดยเฉาะสิ่งที่นักสังคมวิทยาอย่างออกุส ก๊อมต์ (August Comte) เรียกว่าฟิสิกส์สังคม (Social Physic) โดยการสร้างกฎของสังคมที่เป็นสากล (universal laws of society) ที่สะท้อนให้เห็นอิทธิพลความคิดทางวิทยาศาสตร์ที่สัมพันธ์กับความรู้และการก่อตัวของศาสตร์ที่เรียกว่าสังคมศาสตร์ ทั้งการศึกษา การวิจัย รวมถึงสาขาวิชาต่างๆ เช่น จิตวิทยา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา เศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์
                ตัวอย่างเช่น ในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ การศึกษาสิ่งที่เป็นอัตวิสัย(Subjectivity)และวัตถุวิสัย (Objectivity) ในการศึกษาวิจัย ความสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้กับผู้ที่ถูกรู้ ความจริงที่มีตัวตนที่วัดได้ ปรากฏการณ์ทางวัตถุที่จะเชื่อได้ว่าเป็นความจริงแท้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อตัดอคติของผู้สังเกตออกไป ซึ่งเป็นการแยกผู้สังเกตออกจากสิ่งที่สังเกต แยกผู้รู้จากสิ่งที่ถูกรู้ และการทำให้เกิดสภาวะความเป็นวัตถุวิสัยที่สามารถจะวัดได้ ด้วยการตัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ หรือตัดส่วนที่เป็นอัตวิสัยที่เป็นเรื่องของตัวจิต อารมณ์ ความรู้สึกออกไป ซึ่งวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เดการ์ตและนิวตันเข้ามามีอิทธิพลในเรื่องของการทดลอง (Experiment) การสร้างและออกแบบสอบถาม ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงกลุ่มตัวอย่างโดยผู้ศึกษาไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มตัวอย่างหรือสิ่งที่ศึกษาโดยตรง
                วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์แบบนิวตันและเดการ์ต ทำให้การศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆถูกลดทอนให้เหลือหนึ่งสาเหตุหนึ่งผลกระทบ (one cause one effect) และสร้างหรือกำหนดตัวแปรอิสระตัวแปรตามเพื่อทดสอบสมมติฐาน โดยใช้สูตรการวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อหาความสัมพันธ์ของตัวแปร ทั้งการสร้างไดอะแกรมเพื่ออธิบายความสัมพันธ์ ที่เป็นการมองความสัมพันธ์แบบเส้นตรงซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของการวิจัยเชิงปริมาณ
                มโนทัศน์หลักที่ได้รับอิทธิพลจากวิทยาศาสตร์แบบเดการ์ตและฟิสิกส์แบบนิวตันได้ก่อร่างสร้างสังคมศาสตร์ภายใต้กรอบคิดดังกล่าว ในขณะเดียวกันก็ได้ถูกโต้แย้งโดยฟิสิกส์สมัยใหม่ที่มองว่าสสารไม่ได้คงที่หรือหยุดนิ่งเหมือนวิธีคิดวิทยาศาสตร์แบบเดการ์ตหรือฟิสิกส์แบบนิวตัน ที่มองว่าถ้าเป็นคลื่นก็คือคลื่น ถ้าเป็นอนุภาคก็คืออนุภาค แต่มองลักษณะที่เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เป็นพลวัตรและไม่ได้มีโครงสร้างที่ตายตัวในธรรมชาติ เช่น อิเลคตรอนไม่ได้มีคุณสมบัติในตัวมันเองที่ปราศจากจิตของมนุษย์ ที่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สังเกตกับสิ่งที่ถูกสังเกต ซึ่งปรากฏในงานวิจัยเชิงคุณภาพในการศึกษาสังคมและวัฒนธรรม
                วิธีคิดวิทยาศาสตร์แบบเดการ์ตหรือฟิสิกส์แบบนิวตัน มีอิทธิพลต่อความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ ตัวอย่างเช่น ในวิชาการทางจิตวิทยา ความคิดทางจิตวิทยาของฟรอยด์ เน้นอยู่บนอิทธิพลทางชีววิทยา สัญชาตญาณและจิตใต้สำนึก โดยฟรอยด์แบ่งแยกออกเป็น 3 ส่วนคือ จิตไร้สำนึกที่เป็นสัญชาตญาณคือ อิด (Id) ส่วนที่เป็นเหตุผลของจิตคืออีโก้ (Ego)หรืออัตตะ และส่วนที่เป็นสติสัมปชัญญะหรืออยู่เหนืออัตตะ (Super Ego) หรือเมื่อฟรอยด์อธิบายเกี่ยวกับแรงขับดันทางสัญชาตญาณโดยเฉพาะแรงขับดันทางเพศ และแรงต้าน(แรงกิริยาและแรงปฏิกิริยา) ก็สะท้อนให้เห็นวิธีคิดฟิสิกส์แบบนิวตันที่วัตถุต่างๆมีปฏิกิริยาและผลกระทบต่อกันและกันโดยผ่านแรงต่างๆ เช่น ฟรอยด์พูดถึงแรงขับทางเพศ ที่คล้ายคลึงกับนิวตันที่พูดถึงแรงโน้มถ่วง ซึ่งทำให้เห็นอิทธิพลของแบบจำลองทฤษฎีกลไกตามแบบของนิวตัน หรือในแง่ของประเด็นเรื่องจิตวิเคราะห์ที่สัมพันธ์กับการรักษาความเจ็บป่วยทางจิตด้วยกระบวนการทางจิตวิเคราะห์ (Psycho-analysis) ที่แยกผู้รักษากับผู้ป่วยออกจากกัน ที่เป็นกระบวนการแบ่งแยกจิตกับวัตถุออกจากกันภายใต้อิทธิพลทางความคิดแบบเดการ์ต แนวคิดวิทยาศาสตร์แบบวัตถุวิสัย ที่ใช้วิธีการเฝ้าสังเกตและแยกตัวเองออกจากผู้ป่วย เพื่อวิเคราะห์กระบวนการของจิตโดยไม่สนใจเกี่ยวกับร่างกายของผู้ป่วย เช่นเดียวกับหมอที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับร่างกายมากกว่าเรื่องของจิตใจของผู้ป่วย เป็นต้น
                ขณะเดียวกัน จิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ก็มุมมองในลักษณะของความจริงที่ถูกกำหนดด้วยกฏบางอย่าง เช่นเดียวกับแนวคิดฟิสิกส์แบบนิวตัน ที่ทองว่าเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาทุกอย่างล้วนมีสาเหตุที่แน่นอน และมีผลที่แน่นอนตามมาด้วย  โดยสภาวะทางจิตทั้งหมดของปัจเจกบุคคลถูกกำหนดจากสภาพเงื่อนไขแรกเริ่ม ที่พัฒนาเริ่มต้นในวัยเด็กในขั้นต่างๆ เช่น ขั้นของปาก ขั้นของทวารหนักๆความขัดแย้ง สัญชาตญาณการมีชีวิต สัญชาตญาณความตาย หรือปมขัดแย้งต่างๆในวัยเด็ก เช่น ปมออดิปุส เป็นต้น
                อิทธิพลแนวคิดช่วงหลังฟรอยด์ เริ่มมองว่า สังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมช่วยกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งคล้ายกับการศึกษาและการค้นพบของนักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยา ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับมุมมองมนุษย์ในสองลักษณะคือ
                1.ความสนใจมนุษย์ในเชิงปัจเจกบุคคล ที่ถูกนิยามความหมายเช่นเดียวกับ ตัวตน (Self) และกฏแห่งพฤติกรรมมนุษย์ (Rule of Behavior) สอดคล้องกับวิธีคิดหรือสมมติฐานของฟิสิกส์แบบนิวตัน (Newtonian physics) ในช่วงก่อนศตวรรษที่17 การศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ สามารถยอมรับและให้พื้นที่กับนักสังคมศาสตร์ในการศึกษา ทำความเข้าใจ ทำนายและควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ได้
                2. มนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลที่เป็นผลผลิตของสังคม ชุมชนของเขา และพวกเขาสามารถตระหนักเกี่ยวกับตัวตนของเขาในบริบทของสังคมชุมชนนั้น ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเพลโต (Plato) อริสโตเติล( Aristotle) และ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx)    
วิชาการทางสังคมศาสตร์(เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่หมายรวมถึงวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รวมถึงวิชาประวัติศาสตร์ด้วย) ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์ที่อ่อนที่สุดในบรรดาศาสตร์ทั้งหลาย แม้ว่าสังคมศาสตร์พยายามจะทำให้แนวคิดและทฤษฎีของตัวเองได้รับการยอมรับโดยนำเอาทัศนะ กรอบความคิดแม่บทแบบเดการ์ตและนิวตันมาใช้ โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องการลดส่วน แยกย่อยและการมองแบบกลไก ส่งผลให้ศาสตร์ทางด้านสังคมศาสตร์แยกขาดออกจากกันเป็นส่วนๆ เช่นเศรษฐศาสตร์ที่สนใจมิติทางเศรษฐกิจที่แยกขาดจากการเมืองและสังคม หรือการเมืองที่เน้นการเมืองการปกครองมากกว่าจะสนใจพลังทางเศรษฐกิจพื้นฐาน ทำให้นโยบายการพัฒนาประเทศก็แยกขาดระหว่างนโยบายทางการเมือง นโยบายทางเศรษฐกิจ และนโยบายทางสังคม ทั้งๆที่สังคมศาสตร์ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ บริบททางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่เฉพาะ แต่สิ่งเหล่านี้กับถูกครอบงำด้วยกระบวนทัศน์หลักของนิวตันและเดการ์ต
                วิชาเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวข้องกับการผลิต การกระจาย และการบริโภค โดยกำหนดว่าสินค้าชนิดใดมีคุณค่า และสร้างมูลค่าของการแลกเปลี่ยนที่สัมพันธ์ของสินค้าและบริการ ดังนั้นคุณค่าที่สามารถวัดปริมาณได้ ที่อยู่ในรูปของเงินตราจึงทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์มีความเป็นวิทยาศาสตร์ที่กำหนดได้อย่างแม่ยำภายใต้สูตรทางคณิตศาสตร์ ผ่านความต้องการซื้อ(Demand) และความต้องการขาย(Supply) สินค้าและบริการในระบบตลาดเสรีที่กำหนดราคา ซึ่งสัมพันธ์กับแนวคิดของอดัม สมิธ ในทฤษฎีมูลค่าที่กำหนดแรงงาน ความสมดุลของอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งเป็นทฤษฎีทางเศรษฐกิจที่ได้รับอิทธิพลจากฟิสิกส์แบบนิวตัน ภายใต้แนวคิดว่าด้วยความสมดุลระหว่างแรง (แรงผลักดันของความต้องการซื้อและความต้องการขาย) กฎแห่งการเคลื่อนที่ (การเคลื่อนไหวของราคาสินค้าในทางเศรษฐศาสตร์ ยิ่งราคาสูงความต้องการก็จะยิ่งน้อยลง) และวิทยาศาสตร์แบบภววิสัยแบบนิวตัน (ในทางเศรษฐศาสตร์ก็จะมองว่า มูลค่ากำหนดแรงงาน) ที่มองว่ากลไกตลาดมีดุลยภาพที่สมบูรณ์เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย สินค้าและราคา ซึ่งมีการปรับตัวที่สอดคล้องกันอย่างมีดุลยภาพ โดยแสดงการอธิบายผ่านเส้นกราฟของอุปสงค์และอุปทาน ที่นำไปสู่การทำนายและพยากรณ์พฤติกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ได้
                วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์คลาสสิคในทัศนะแม่บทของเดการ์ตและนิวตัน คือเรื่องของ กฎธรรมชาติ (Law of nature) หรือ กฎของเหตุและผล (Causal Laws) ระบบที่มีดุลยภาพ โลกที่คงที่มั่นคง เที่ยงตรงภายใต้กฏเกณฑ์ที่เป็นสากล ปัญหาคือ ถ้าความทันสมัยคือความสุขและความเจริญก้าวหน้า ทำไมความไม่เท่าเทียมและการทำสงครามจึงยังดำรงอยู่ แสดงว่าโลกที่ดำรงอยู่ไม่แน่นอน มีพลวัตร เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นโลกที่หลากหลายมิติและเป็นโลกที่ซับซ้อน โลกที่ไม่ใช่โลกของตะวันตกอย่างเดียว แต่เป็นโลกของตะวันออก รวมถึงโลกที่ไม่ใช่ของคนผิวขาวแต่เป็นโลกของคนผิวสี ชนพื้นเมือง คำอธิบายที่พยายามสรุปรวมอย่างเป็นสากล จึงไม่สามารถอธิบายได้ในบริบทที่มีความเฉพาะ
                ในช่วงศตวรรษที่19 เกิดสิ่งที่เรียกว่าสังคมศาสตร์ในสาขาต่างๆคือประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา และรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ซึ่งรองรับการการพัฒนาและเติบโตของยุโรป ในขณะเดียวกันชาวยุโรปก็พบว่า ในโลกยังมีกลุ่มคนและโครงสร้างทางสังคมที่แตกต่างจากตัวเอง โดยเฉพาะคนกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นชนเผ่า (Tribe) กลุ่มชาติพันธุ์(Ethnic Group) หรือเชื้อชาติ(Race) ลักษณะทางชีวภาพ ที่มีความแตกต่าง  เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีการบันทึก การเขียน และอารยะธรรมยังหล้าหลังกว่าชาวยุโรปตะวันตก  ส่งผลให้คนยุโรปเริ่มหาประสบการณ์ใหม่กับผู้คนนอกสังคมยุโรป ทำให้ต้องมีสาขาวิชาที่เรียกว่ามานุษยวิทยา ที่เริ่มต้นจากการปฏิบัติเชิงสำรวจ การเดินทาง และการเป็นเจ้าหน้าที่ของประเทศอาณานิคมที่รองรับกับอำนาจของชาวยุโรป มานุษยวิทยาในช่วงเวลานั้นจึงอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาร์ล ดาร์วิน ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในทฤษฎีทางสังคม เขาได้สร้างแนวคิดเรื่องของการดำรงอยู่ของคนที่เหมาะสมที่สุด หรือการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดที่ไปไกลมากกว่าเรื่องของการกำเนิดและประเด็นทางชีววิทยาของมนุษย์ แต่ถูกใช้ในทางสังคมและการเมือง โดยเฉพาะ แนวคิดแบบอาณานิคม ที่เชื่อมโยงประเทศทั้งหลายเข้าสู่การพัฒนาโดยมีสังคมยุโรปเป็นต้นแบบ ประเทศที่ไร้อารยะธรรม หรือชนพื้นเมืองจึงต้องพัฒนาและก้าวสู่ความศิวิไลซ์ อันนำไปสู่การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม เพื่อก้าวเข้าสู่ความทันสมัย
                มานุษยวิทยาในช่วงแรกจึงสัมพันธ์กับทฤษฎีแบบวิวัฒนาการที่เป็นเส้นตรง ประวัติศาสตร์สากลของมนุษยชาติที่มีกฏเกณฑ์แบบเดียวกันคือ ขั้นตอนของการพัฒนาที่เริ่มต้นจากง่ายไปสู่ความซับซ้อน จากความล้าหลัง ป่าเถื่อน อนารยะไปสู่สังคมแบบอารยะธรรมหรือศิวิไลซ์ หรือแม้แต่หัวใจสำคัญของการศึกษาทางมานุษยวิทยา โดยเฉพาะการทำงานสนาม (Field work) หรือการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม ก็อยู่บนฐานของความรู้เชิงประจักษ์ ดังนั้นความรู้และความเข้าใจสังคม วัฒนธรรมเหล่านี้สัมพันธ์กับการปฏิวัติวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการขยายตัวของเทคโนโลยีการเดินเรือ การสร้างเข็มทิศ แผนที่ เพื่อสำรวจ และแผ่ขยายทุนนิยม ที่สัมพันธ์กับเรื่องของวัตถุดิบ ตลาดและแรงงาน โดยเฉพาะการสร้างสิ่งที่เรียกว่า อาณานิคม  โดยอิทธิพลแบบดาร์วิน  ที่ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตพันธุ์ต่างๆ โดยการเชื่อมโยงกับความเป็นมาของมนุษย์ โดยเฉพาะการแปลงหรือกลายพันธุ์ตามหลักวิวัฒนาการและการคัดเลือกพันธุ์โดยธรรมชาติ ได้สร้างความคิดว่าด้วยตะวันตกกับไม่ใช่ตะวันตก ผู้ชายผิวขาวกับผู้หญิง  ที่แสดงให้เห็นลักษณะที่แตกต่างในแง่ความแข็งแรง เฉลียวฉลาด และกล้าหาญ กับ ความอ่อนแอ โง่ และเฉื่อยชา ที่คนกลุ่มแรกสามารถเข้ามาควบคุมจัดการและมีอำนาจเหนือคนกลุ่มที่สองได้ ดังเช่น บรอลินอว์มาลีนอฟสกี้ที่ไปศึกษาชนพื้นเมืองในหมู่เกาะโทรเบียน เพื่อประโยชน์ในการวางนโยบายของเจ้าอาณานิคม โดยเฉพาะอาณาจักรของอังกฤษที่กำลังแพร่ขยายอาณานิคมในแอฟริกา (British’s African Empire)
                แนวคิดทฤษฎีทางมานุษยวิทยาในระยะแรกเริ่มสะท้อนให้เห็นวิธีคิดแบบลดทอนและแยกส่วนแบบเดการ์ต ที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดทางชีววิทยา ที่มองเรื่องขององคาพยพที่มีชีวิตทำงานคล้ายเครื่องจักรซึ่งประกอบด้วยชิ้นส่วนต่างๆที่แยกขาดออกจากกัน เช่นทฤษฎีแบบโครงสร้างหน้าที่นิยม ที่มองสังคมและปรากฏการณ์ต่างๆออกเป็นส่วนๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ลักษณะทางกายภาพ ชีวภาพซึ่งดูเหมือนว่าจะมีลักษณะการมองแบบองค์รวมแต่ก็ยังคงแยกส่วนในการอธิบาย แม้แต่การศึกษาวัฒนธรรมก็มีลักษณะแยกส่วน กระจัดกระจาย  เช่น วัฒนธรรมตะวันตก วัฒนธรรมตะวันออก วัฒนธรรมญี่ปุ่น วัฒนธรรมเกาหลี วัฒนธรรมอเมริกัน ที่ไม่ได้แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงหรือการดำรงอยู่ร่วมกัน ความไม่สมดุลทางวัฒนธรรม นำไปสู่ความขัดแย้งและปัญหาต่างๆ ดังเช่น การแพทย์แบบสมัยใหม่ กับการรักษาแบบพื้นบ้าน กลายเป็นคนละส่วน คนละโลกทัศน์ที่แยกขาดจากกัน ทำให้มองไม่เห็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงอย่างสมดุลกันของกาย จิตและวิญญาณ การแพทย์เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์แบบวัตถุวิสัย(objectivity)ซึ่งไม่เกี่ยวกับการตัดสินคุณค่าในทางศีลธรรม เป็นต้น ดังนั้นให้คุณค่ากับบางสิ่งหรือมีทัศนะของการมองเพียงมิติเดียวหรือด้านเดียว ย่อมส่งผลกระทบต่อประเด็นทางด้านสุขภาวะ สุขภาพและความเจ็บป่วยของมนุษย์
                สิ่งที่น่าสนใจคือกระแสปัจจุบันของสังคมศาสตร์สมัยใหม่ ที่สัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของควอนตัมฟิสิกส์ ฟิสิกส์ใหม่ โต้แย้งกับวิทยาศาสตร์แบบเดการ์ตและฟิสิกส์แบบนิวตัน ได้ตั้งคำถามกับวิธีคิดในเชิงกลศาสตร์แบบเก่าที่เน้นลักษณะและพฤติกรรมของส่วนย่อยที่กำหนดความเป็นไปของส่วนทั้งหมดที่เป็นผลมาจากวิธีคิดเชิงวิทยาศาสตร์แบบลดทอนและแยกส่วนของเดการ์ต แต่กลศาสตร์แบบควอนตัมมองว่าองค์รวมทั้งหมดจะกำหนดพฤติกรรมของส่วนย่อย ตัวอย่างเช่น การศึกษาฟิสิกส์เกี่ยวกับอะตอม มองว่าความสำนึกของมนุษย์ มีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในกระบวนการสังเกตทดลอง มีความสัมพันธ์กับการกำหนดคุณสมบัติของปรากฏการณ์ที่ถูกสังเกต ผู้สังเกตไม่ใช่ส่วนสำคัญในการสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ของอะตอมเท่านั้น แต่มีส่วนสำคัญอย่างจำเป็นและปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนทำให้เกิดคุณสมบัติเหล่านั้นขึ้นมาด้วย เช่นเดียวกับการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมที่ญาณวิทยาของความรู้เชื่อมโยงกับกระบวนการรู้ ว่าเราอยากรู้อะไรแล้วเราใช้เครื่องมืออะไรในการเข้าใจหรือรับรู้สิ่งเหล่านั้น ความรู้ที่เกิดขึ้นก็จึงเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้ สิ่งที่ถูกรู้และวิธีการในการรู้  ดังนั้นการมองแบบฟิสิกส์ใหม่ทำให้เรามองปรากฏการณ์ต่างๆที่ไม่หยุดนิ่งคงที่ อยู่โดดและเป็นอิสระจากสิ่งอื่นๆ แต่มอว่าปรากฏการณ์นั้นๆมีการเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง มีปฏิกิริยาต่อกันเป็นเครือข่ายโยงใยที่ซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆและสามารถเปลี่ยนแปลงรูปไปมาได้
                จากทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เราเห็นว่าวิชาการทางสังคมศาสตร์มีความสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์แบบเดการ์ตและฟิสิกส์แบบนิวตัน ที่ถูกนำมาเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และตัวตนและพฤติกรรมของมนุษย์ รวมทั้งอิทธิพลของวิทยาศาสตร์แบบเดิมที่กำลังถูกท้าทายด้วยวิทยาศาสตร์ใหม่ โดยเฉพาะควอนตัมฟิสิกส์ซึ่งสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนวิธีคิด ความเข้าใจและการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่มีความซับซ้อนในปัจจุบัน ซึ่งโลกทัศน์เชิงกลไกแบบเดการ์ตอธิบายไม่ได้หรือไม่ครอบคลุม ผ่านการมองสิ่งต่างๆอย่างเป็นองค์รวมและเป็นระบบ มองความแตกต่างที่สัมพันธ์สอดคล้องซึ่งกันและกัน โดยอธิบายความแตกต่างในแต่ละด้านแต่ละระดับโดยไม่ลดส่วนปรากฏการณ์ของระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับหนึ่ง ตัวอย่างเช่น การอธิบายปรากฏการณ์การบริโภค ในระดับครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่นและโลก ความเป็นตะวันออก ตะวันตกที่เชื่อมโยงกัน โดยท้องถิ่นอาจต่อสู้ต่อรอง หรือเป็นส่วนหนึ่งของโลก หรือท้องถิ่นก็อาจเป็นตัวแทนของโลกก็ได้ เช่นเดียวกับโลกที่ครอบงำท้องถิ่น หรือในขณะเดียวกันโลกก็ประกอบด้วยท้องถิ่น ต้องพึ่งพาท้องถิ่น และโลกอาจเป็นภาพสะท้อนความเป็นท้องถิ่นที่ประกอบสร้างความเป็นโลก ดังนั้นโลกและท้องถิ่นจึงไม่สามารถแยกออกจากการได้อย่างเด็ดขาด เป็นต้น

 อ้างอิง
Capra Fritjof  (1982)  The Turning point : Science,Society and Rising Culture. USA: Bantam Book.
Hollinger Robert (1994) Posmodernism and The Social Sciences A Thematic Approach. SAGE Publication Thosand Oasks New Delhi.
Mudimbe V.Y (1996) Open the social sciences : report of the Gulbenkian commission on the restructuring of the Social Sciences. California : Standford University Press.
Roger Backhouse and Philippe Fontaine (2010) The History of Social Sciences since 1945. New York:  Cambridge university press.
Thomas  F.X  Noble et al. (2011) Western Beyond Boundaries Civilization. USA : Wadsworth Cengage learning.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...