วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ร้านโชว์ห่วยกับร้านสะดวกซื้อ ในกระแสวัฒนธรรมการบริโภค นัฐวุฒิ สิงห์กุล

ตั้งใจว่าวันนี้จะไม่เข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้อนม ขนมปัง ซาลาเปา แฮม ไส้กรอก อย่างที่เคยทำในช่วงเวลาที่ไม่ได้ทำกับข้าวและอยากกินอะไรง่ายๆ เลยตั้งใจจะอุดหนุนร้านโชว์ห่วยในหมู่บ้านสักหน่อย พอเดินเข้าร้าน เจ้าของร้านบอกว่า "ไส้กรอก แฮมเบอร์เกอร์ เกี๊ยวน้ำ มีนะ บริการอุ่นให้ด้วย" ผมเลยเดินเข้าไปข้างในจนสุดร้าน ก็มองเห็นตู้จำหน่ายสินค้าของบริษัทยักษ์ใหญ่รายหนึ่งวางอยู่ ข้างๆมีเตาไมโครเวฟสำหรับอุ่น ทั้งการวางชั้น สิ่งของในร้าน ไม่ต่างจากร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่อย่างดาษดื่นในเมืองไทย หรือนี่คือเรื่องของการปรับตัวหรือเป็นกลยุทธ์ใหม่ของบริษัทธุรกิจสินค้าและอาหารยักษ์ใหญ่ ที่ทำให้กลุ่มทุนขนาดเล็ก ขนาดกลางที่มีศักยภาพสามารถผันตัวเองจากร้านชำเล็กๆขยับเข้ามาใกล้ร้านสะดวกซื้อมากขึ้น
ผมไม่ได้มีอะไรมาก แค่รู้สึกว่าวัฒนธรรมของสินค้าและอาหารการกินที่เคยหลากหลายมันลดน้อยลงไป และเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ในครั้งหนึ่งวัยเด็กผมเดินเข้าร้านชำ ผมได้กินขนมแป้ง ขนมโก๋ ถั่วตัด  วันนี้อยากกินขนมแบบนี้ต้องขับรถไปกินที่ตลาดน้ำดอนหวาย นี่ยังไม่นับความสัมพันธ์ของผู้คนในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย การใช้บาร์โค๊ด การติดราคาสินค้า ที่ทำให้อำนาจต่อรองของเรากับผู้ขายน้อยลง
ทุกอย่างล้วนต้องเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และการกระทำทุกอย่างย่อมส่งผลถึงกันเสมอ นี่คือสัจธรรมที่ยอมรับ ก็ต้องโยนกลับมาที่ตัวเราซึ่งเป็นผู้บริโภค เราจะเป็นผู้บริโภคแบบเฉื่อยชา มีอะไรก็กินไปไม่ต้องคิดมาก อิ่มท้อง อร่อยพอ ไม่ต้องตั้งคำถามต่อสิ่งใดๆ ไม่ต้องสนใจเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อมหรือเรื่องสังคม หรือจะเป็นผู้บริโภคที่ชาญฉลาดรู้เท่าทัน เป็นผู้บริโภคที่มีอำนาจในการตัดสินใจในการเลือกและซื้อ รวมถึงรู้อะไรที่ไปให้ลึกกว่าตัวสินค้าที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง

ผมว่าผมสนุกกับการเข้าไปในร้านค้าต่างๆ ดูว่ามีสินค้าอะไรบ้าง มาจากไหน มีส่วนประกอบอะไร ต้นทางมันมาอย่างไร กระบวนการผลิตเป็นแบบไหน ใครเทกโอเวอร์ใคร จีเอ็มโอไหม น้ำตาลเยอะไหม เค็มไหม ส่งออกหรือนำเข้า อื่นๆ มันทำให้การซื้อสินค้าและการกินมีรสชาติ สนุกและมีชีวิตชีวากับการคิดและตั้งคำถามกับสิ่งที่เราบริโภค แม้ว่าเป้าหมายสุดท้ายคือการบริโภคอาหารเหล่านี้เข้าปากแล้วก็ตัดสินให้คุณค่ากับมันว่า อร่อยไหม ครั้งหน้าจะซื้อไม่ซื้ออีก แต่ถ้าเราสามารถบอกตัวเองได้ว่านอกเหนือจากความอร่อยมันมีอะไรที่ทำให้เราต้องซื้ออีก เช่น สะดวกกับช่วงเวลาที่เร่งรีบ เหมาะกับเงินที่มีในกระเป๋า หรือเป็นสินค้าของท้องถิ่นที่มาวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อต้องอุดหนุน สินค้าเหล่านี้เพื่อสุขภาพและอื่นๆ มันทำให้การบริโภคของเรามีความหมายมากขึ้นครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...