วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ปลายนิ้วสัมผัสเป็นสัมผัสตาย โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

ปลายนิ้ว : สัมผัสเป็นสัมผัสตาย
“เทคโนโลยีที่ทันสมัยก้าวหน้าทำให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างรวดเร็วและคนสามารถแชร์แบ่งปันข้อมูลข่าวสาร อารมณ์ความรู้สึกระหว่างกัน..แค่เพียงปลายนิ้วสัมผัส”
ในเวลาหนึ่งวัน การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารบนหน้าเฟสบุ๊คของเราในพื้นที่โซเชียลมีมากมายหลากหลาย ทั้งข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ข่าวสด มติชน ไทยรัฐ CNN BBC หรือข่าวสารข้อมูลเหตุการณ์ เรื่องราว กิจกรรมของเพื่อๆของเราในแต่ละวัน ...ที่ได้สร้างธรรมเนียมหรือวัฒนธรรมของการกดไลน์ กดแชร์  แสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่เราหรือคนอื่น UPDATE, UP STATUS หรือ POST ในแต่ละวัน หรือความสามารถที่จะโหลด แชร์ ดูคลิปแบบ Real Times ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีก็อาจจะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ของปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ช่วยเตือนคนอื่น หรือให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว จนไปถึงการสามารถติดตามตัวผู้กระทำความผิดได้ เป็นต้น แต่ข้อเสียก็มีเช่นกัน หากคลิปหรือข้อความนั้นถูกลดทอนความจริงลงไปจนแทบจะไม่เหลือ (หรือบางทีมันไม่มีความจริงอยู่แล้วตั้งแต่ต้น) หรือเอาความจริงบางส่วน หรือเล็กๆ มาตัดต่อ  ขยายความและผลิตซ้ำเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ เพื่อนำไปสู่การตีตรา การกล่าวหา การด่าทอ การเยาะเย้ยถากถางและความรู้สึกเกลียดชังอื่นๆมากมาย ซึ่งปรากฏให้เห็นบ่อยในโลกของสังคมออนไลน์.....
การเห็นบางส่วนโดยไม่เห็นทั้งหมดจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะมันทำให้เราจินตนาการ สร้างเรื่อง ปะติดปะต่อ ประกอบสร้างเรื่องราว ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความคิด อุดมคติและความรู้สึกของเราต่อเรื่องนั้นประกอบเข้าไปด้วย มันสามารถกลายเป็นเครื่องมือที่มีพลังอำนาจในการกระทำต่อคนอื่นได้ เหมือนกรณีตัวอย่างเช่นเราเห็นคนนอนอยู่หน้าบ้านเราแต่งตัวมอมแมมเสื้อผ้าขาด เราก็ตัดสินเบื้องต้นแล้วว่าคนคนนี้ต้องเป็นคนเมาและคนบ้า โดยที่เราอาจจะไม่ตั้งคำถามว่า เขาถูกทำร้ายหรือหนีออกมาจากบ้านหรือเปล่า  เมื่อเราคิดว่าเขาเป็นคนเมาหรือคนบ้า เราก็เลยปล่อยให้เป็นแบบนั้นหรือไล่เขาออกไปโดยสนใจที่จะพูดคุยไถ่ถามความเป็นมา ..... “
ย้อนกลับมาที่สังคมโซเชียล สิ่งที่น่าสนใจคือ เครือข่ายของความสัมพันธ์ดังกล่าวที่กระจายอย่างกว้างขวางไม่รู้จบ เริ่มต้นจากเราสู่เพื่อน จากเพื่อนเราสู่เพื่อนของเพื่อนเราอีกที และจากเพื่อนของเพื่อนเราสู่เพื่อนของเพื่อนของเพื่อนเราอีกทีไปเรื่อยๆ ดังกรณีของข่าวที่มีการแชร์ต่อกัน เป็นเรื่องของพ่อเลี้ยงข่มขืนลูกเลี้ยง โดยลูกกล่าวหาว่าแม่แท้ๆมีส่วนรู้เห็นและยินยอมให้พ่อเลี้ยงกระทำกับตัวเอง และยังทำร้ายโดยการใช้น้ำร้อนลวก เพราะความหึงหวง ในช่วงแรกที่มีการนำเสนอข่าวในวันแรกมียอดคนกดไลน์เกือบหนึ่งหมื่น ยอดแชร์อีกหลายร้อย ซึ่งในปัจจุบันน่าจะมากกว่านี้ และอีกหลายๆกรณีที่ความจริงยังต้องรอการพิสูจน์สืบค้นกันต่อไป แต่หลายคนก็ได้ตัดสินและให้คำตอบกับเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นแล้ว.... “กด ฉันต้องกดไลค์  ฉันต้องแชร์” ..... “เสพข่าว...ฟังมัน...อ่านมัน...กดไลน์...ไม่ต้องคิดอะไรมาก”....
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสารนับเป็นการพัฒนาที่ก้าวหน้าไปไกลมาก...จากหนังสือพิมพ์รายวันแบบกระดาษมาสู่หนังสือพิมพ์ออนไลน์ในปัจจุบันที่เราสามารถอ่านได้จากสมาร์ทโฟน ไอโฟน แท๊ปเล็ต และอื่นๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถเก็บรวบรวมและบันทึกข่าวและเหตุการณ์ต่างๆรวมถึงคลิปภาพและเสียงได้มากกว่าหนังสือพิมพ์ธรรมดาอย่างมหาศาลกว่าหลายเท่าตัว....และเราสามารถย้อนกลับมาอ่านเมื่อไหร่ก็ได้
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความรวดเร็วของการตัดสินคุณค่า พิจารณาเรื่องราวต่างๆ โดยไม่ต้องค้นหาพยานหลักฐานและสืบค้นข้อมูลหาความจริงใดๆทั้งสิ้น แต่เราสามารถใช้อำนาจบนปลายนิ้วมือตัดสินผู้คน เหตุการณ์ได้ผ่านปลายนิ้วสัมผัส ผ่านการกดไลค์ กดแชร์ แสดงความคิดเห็นอย่างดุเดือดเผ็ดร้อนต่อฝั่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับเรา...
กระบวนการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นไม่ใช่แค่การส่งผ่านข้อความ ภาษาแต่เกี่ยวโยงกับความคิด อารมณ์ความรู้สึกของเราที่มีต่อสิ่งเหล่านี้ด้วย.....
การกดไลน์ กดแชร์มันอาจจะรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันข้อมูลข่าวสารก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและถูกประกอบสร้างความจริงอยู่ตลอดเวลา วันนี้อาจใช่ พรุ่งนี้อาจไม่ใช่ วันนี้เป็นเรื่องจริง พรุ่งนี้เป็นเรื่องลวง เรื่องโอละพ่อ อย่างกรณีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งถูกข่มขืนและฆ่าที่ปาละเมาะ ซึ่งตอนเช้าเธอไปส่งพ่อของเธอที่ไร่มันสำปะหลังก่อนจะพบว่าเป็นศพ พ่อเธอคือผู้ต้องสงสัยและโดนกล่าวหาว่าข่มขืนลูกสาวตัวเอง สุดท้ายตำรวจตามจับคนร้ายได้ แต่สิ่งที่เขาเผชิญก็คือสายตาคนอื่นที่มองเขาเป็นอาชญากรเลวร้าย เพื่อนบ้านที่ไม่ยอมคบหาสมาคมด้วย หรือกระแสในโลกโซเชียลส่วนหนึ่งที่วิพากษ์และด่าทอพ่อเด็กอย่างสาดเสียเทเสียว่าอำมหิต ฆ่าข่มขืนลูกของตัวเองในช่วงที่ถูกกล่าวหา ถึงตอนนี้แม้จะจับตัวคนร้ายได้แต่บางอย่างมันได้ทำลายชีวิตและความรู้สึกของเค้าที่สูญเสียไปแล้วไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้เหมือนเดิมครับ....
                                                                                                                        


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...