วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การเกิดขึ้นของสังคมศาสตร์กับบริบททางประวัติศาสตร์ (การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์) โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

จากคำกล่าวของ Hollinger (1994)  ที่ว่า “สังคมศาสตร์  เกิดขึ้นภายในบริบทสังคมและวัฒนธรรมที่ใหญ่มากที่เรียกว่ากระบวนการเข้าสู่ภาวะความทันสมัย (Modernization) และ สังคมศาสตร์สมัยใหม่โดยเฉพาะสังคมวิทยาคือสิ่งที่กำเนิดขึ้นจากความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเข้าใจและการเข้ามายึดจับกับภาวะความทันสมัย(Modernity)”
“The social sciences arose within a larger social and cultural context called modernization (p.1). และ “Modern social science, especially sociology, is born out of a concern to understand and come to grips with modernity (p. 25) 
                ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจคำว่า  กระบวนเข้าสู่ภาวะความทันสมัย (Modernization) ที่อธิบายถึงกระบวนการที่ซึ่งสังคมแบบดั้งเดิมเป็นสิ่งที่ถูกเปลี่ยนแปลงไปยังสังคมทันสมัย เมื่อพูดถึงสังคมแบบดั้งเดิมหรือก่อนยุคสมัยใหม่(Pre-modern)ก็จะเริ่มตั้งแต่ยุคที่มนุษย์เริ่มอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มและมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติและ พึ่งพาธรรมชาติ เป็นสังคมแบบชนเผ่า รวมกันเป็นกลุ่ม มีวิถีชีวิตแบบล่าสัตว์หาของป่าที่ใช้เทคโนโลยีแบบง่ายที่ไม่ซับซ้อน แต่ก็ค่อยๆพัฒนาและสร้างสรรค์วัฒนธรรมและอารยะธรรมของตัวเองขึ้นมา เนื่องจากความสัมพันธ์กับธรรมชาติทำให้สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อความคิดและการปฎิบัติเกี่ยวกับตัวเองของมนุษย์ เช่น ความเชื่อในสิ่งที่มีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ  มีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกและความอุดมสมบูรณ์ การสร้างระบบคุณธรรมและศีลธรรมในการอยู่ร่วมกันแล้วค่อยๆพัฒนาไปสู่ศาสนา ระบบเศรษฐกิจ การเมืองที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
                ความน่าสนใจของการพัฒนาระบบความคิดของมนุษย์ คือการเริ่มสำนึกเกี่ยวกับตัวเองในลักษณะของปัจเจกชน ที่เกิดจากการสั่งสมเรียนรู้โลกและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว ดังเช่นประวัติศาสตร์ของมนุษย์สะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางความคิดของมนุษย์ ที่เริ่มปลดปล่อยตัวเองจากสิ่งที่มองไม่เห็นซึ่งมีอำนาจเหนือชีวิตของพวกเขา เช่น ศาสนา พระเจ้า อันเริ่มต้นจากนักปรัชญาในยุคของกรีกที่เริ่มตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ เช่น ธรรมชาติของมนุษย์ ความเป็นมนุษย์  โดยเฉพาะประเด็นเรื่องกายกับจิต ชีวิตกับจิตวิญญาณ ชีวิตหลังความตาย  รวมถึงเรื่องทางสังคม เช่น ความเป็นพลเมือง การค้า การเมืองการปกครอง และเสรีภาพ  ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนตัวของสังคมเข้าไปสู่สังคมแบบทันสมัยหรือสังคมสมัยใหม่ ตั้งแต่ยุคแสงสว่างทางปัญญา ยุคพื้นฟูศิลปวัฒนธรรม การเกิดขึ้นของตลาดทุนนิยม การเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ในยุโรป การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์  การปฏิวัติเกษตรกรรมและการปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมทั้งกระบวนการกลายเป็นเมืองที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรม ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน ทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การเมืองแบบประชาธิปไตย การให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเติบโตของจำนวนประชากร วัฒนธรรมบริโภค และความหลากหลายของความเชื่อทางศาสนา ดังที่กล่าวกันว่ายุคแห่งแสงสว่างทางปัญญา (Enlightenment) เป็นยุคสมัยที่ได้สร้างกรอบแนวความคิดใหม่เกี่ยวกับมนุษย์ สังคมและธรรมชาติซึ่งท้าทายความคิดพื้นฐานเดิม โลกทัศน์แบบเดิมที่ครอบงำมนุษย์โดยเฉพาะความเชื่อทางศาสนาในยุคคริสต์เตียน การสงสัยต่อบทบาทของผู้มีอำนาจ การปลดปล่อยตัวเองออกจากศาสนา เริ่มต้นสำรวจโลกเพื่อตัวเอง รวมถึงความสนใจในเรื่องของเหตุผลและธรรมชาติ(ภาวะของสิ่งต่างๆที่เป็นอยู่)  ดังนั้นการใช้เหตุผลสามารถสร้างธรรมชาติของมนุษย์และสังคมได้ ประสบการณ์ที่โหดร้ายและป่าเถื่อนของสงครามศาสนา(สงครามครูเสด)ได้ทำให้มนุษย์หันความสนใจมาที่วิทยาศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยการใช้เหตุผลและข้อโต้แย้งจะทำให้มนุษย์มองเห็นความจริงของสิ่งต่างๆ สังคมก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมของมนุษย์ก็จะดีมากขึ้น เกิดการสร้างแนวคิดต่างๆที่ให้ความสำคัญกับจิตที่เป็นอิสระ เช่น เดการ์ต ที่พูดถึงจิตที่คิดได้ สำนึกรู้ได้ดำรงอยู่ได้โดยปราศจากร่างกายเพราะร่างกายคือสิ่งที่กินที่ หรือจอห์นล็อค ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเดการ์ตที่มองเรื่องประสาทสัมผัสที่ช่วยในการเรียนรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกและ การสะท้อนกลับ (Reflection)ที่ช่วยในการเกิดความรู้ภายในจิตเอง เป็นต้น
                ในความคิดดังกล่าวข้างต้นได้ถอดรื้อเจตจำนงที่อยู่ภายใต้ความรู้และอำนาจของพระเจ้ามาสู่เจตจำนงที่อิสระของมนุษย์ มีการพูดถึงประเด็นเรื่องของเจตจำนงเสรีที่นำมาใช้ในทางการเมือง เริ่มตั้งคำถามกับระบบศักดินา ระบบกษัตริย์ที่อ้างถึงอำนาจที่ชอบธรรมที่สัมพันธ์กับศาสนาและพระเจ้า เกิดการปฏิวัติทางการเมืองของประชาชน เช่น การปฏิวัติในฝรั่งเศส ทำให้ช่วงหลังปฏิวัติฝรั่งเศสส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในทุกๆด้านของมนุษย์ เช่น ศิลปะ ความคิด สังคม อุตสาหกรรม ศาสนา ที่สัมพันธ์กับลักษณะสำคัญร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงคือ ลักษณะของความเป็นปัจเจกบุคคล ที่เน้นประสบการณ์และอารมณ์ ส่งผลให้เกิดลัทธิปัจเจกชนนิยมและโรแมนติก แต่ในความเป็นจริงเสรีภาพและความเจริญทางวัตถุในสังคมอุตสาหกรรมไม่ได้ช่วยทำให้มนุษย์มีความสุข  รวมทั้งวีถีชีวิตแบบใหม่ที่สร้างความขัดแย้งแตกต่างกัน การอธิบายหรือทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงต้องหาความรู้ ปรัชญาและวิธีการอธิบายใหม่ที่มีความลุ่มลึกและซับซ้อนกว่าวิธีคิดแบบเดิม
จนกระทั่งในช่วงศตวรรษที่19 ที่ความคิดทุกอย่างในโลกถูกสร้างให้เป็นทฤษฎีและจัดระบบหมวดหมู่แยกย่อยออกจากกัน ทั้งเรื่องศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมและการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมเป็นสิ่งที่ถูกสร้างให้เป็นแนวคิดและทฤษฎีเพื่อให้สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงที่มีความซับซ้อนได้ การเปลี่ยนแปลงของสังคมแบบดั้งเดิมสู่สังคมสมัยใหม่ที่เริ่มประมาณศตวรรษที่  17 ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเฟื่องฟูอย่างมากในช่วงของศตวรรษที่19 ส่งผลอย่างมากต่อการปฏิรูปทางสังคม โดยใช้ความรู้หรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาชีวิตมนุษย์และสังคม ทั้งแนวคิดทางจิตวิทยา การเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยและศาสตร์ทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
การเกิดขึ้นของสังคมศาสตร์จึงเกิดขึ้นจากความต้องการทำความเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย (Modernization) ที่สัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของระบบตลาดแบบทุนนิยม (Capitalism) การเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ (New Nation State) และอิทธิพลของการเติบโตเฟื่องฟูของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอิทธิพลของฟิสิกส์แบบนิวตัน (Newtonian Physics) ที่สามารถพยากรณ์ ทำนายสิ่งต่างๆได้อย่างมั่นคงและแม่นยำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญจากอิทธิพลจากวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์แบบนิวตันในยุคของความทันสมัย ที่มีพื้นฐานความคิดในลักษณะดังนี้
1.             กระบวนการในยุคสมัยใหม่ ผลิตความคิดเกี่ยวกับภววิสัย (Objectivity)และอัตตวิสัย (Subjectivity) เพื่อสร้างคุณค่าหรือมาตรฐานที่เป็นกลาง
2.             ความเชื่อในเรื่องของเหตุผล (Reason) ที่เป็นแนวทางหรือวิถีทางของการจัดการเกี่ยวกับความรู้
3.              ความรู้เชิงประจักษ์ (Empiricism) ที่ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและโลกทางสังคมของมนุษย์มีพื้นฐานอยู่บนความจริงเชิงประจักษ์ สิ่งต่างๆที่มนุษย์รับรู้ผ่านผัสสะของอวัยวะในร่างกาย (Sense Organ)ของพวกเขา
4.             ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Science) ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของวิธีการทดลอง (Experiment) ที่เกิดจากการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่17 ที่ช่วยแผ่ขยายความรู้ของมนุษยชาติ
5.             ความเป็นสากลนิยม (Universalism) ที่เหตุผลและวิทยาศาสตร์สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ด้วยกฏและหลักการเดียวกัน โดยวิทยาศาสตร์ทำหน้าที่ผลิตกฏเกณฑ์ทั่วไปที่ใช้อธิบายทุกอย่างได้อย่างเป็นสากลโดยปราศจากข้อยกเว้นต่างๆ ซึ่งเป็นอิทธิพลจากฟิสิก์แบบนิวตัน และเชื่อว่าวิทยาศาสตร์คือความก้าวหน้า ที่จะสร้างความสุขและความสมบูรณ์ให้กับมนุษยชาติ
6.             ความเป็นปัจเจกชนนิยม (Individualism) ที่มีอิทธิพลและทำลัทธิปัจเจกชนนิยมถูกใช้ในทางการเมือง ศิลปะและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจแบบปัจเจกชนนิยมสมัยใหม่ (Modern economic individualism)
7.             การเน้นเรื่องทางโลก ความสุขทางกาย (Secularization) โดยเฉพาะขั้วที่เน้นเรื่องร่างกายหรือขั้วทางกาย การพัฒนาทางวัตถุที่ครอบงำหรือมีอิทธิพลต่อขั้วทางจิตที่ไม่สามารถพัฒนาได้ เกิดประเด็นทางศีลธรรม คุณธรรมและจริยธรรม
ข้อเท็จจริงก็คือ ภาวะของความทันสมัยไม่ได้นำมนุษย์ไปสู่ความก้าวหน้า ความสุขและความสมบูรณ์แบบอย่างที่มนุษย์คาดหวังต่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่าเป็นความรู้ที่มีเหตุผล ถูกต้องแม่นยำและใช้ได้อย่างเป็นสากล แต่ในทางตรงกันข้ามปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม ปัญหาความเลื่อมล้ำความไม่เท่าเทียมกัน ปัญหาการทำสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคของโมเดิร์น ทำให้เกิดการวิพากษ์ โต้แย้ง ถกเถียงและเผชิญหน้ากับสิ่งที่เรียกว่ายุคของแสงสว่างทางปัญญาหรือยุครู้แจ้ง (Enlightenment) ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อลักษณะทางการเมืองและวัฒนธรรมของยุโรปตั้งแต่ช่วงค.ศ. 1800  ทำให้ความรู้แบบเดิมมีข้อจำกัดและไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นได้ ส่งผลให้เกิดความต้องการความรู้แบบใหม่ที่มีพลังอำนาจในการอธิบายมากกว่าความรู้ ปรัชญาแบบเดิมที่อธิบายปรากฏการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันไม่ได้ ทำให้เกิดการพัฒนาวิธีการ แนวคิดและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์เพื่อรองรับกับบริบทที่เฉพาะรวมทั้งการออกแบบความรู้เหล่านี้เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหาและปรากฏการณ์ในบริบทที่มีความเฉพาะนี้
ดังนั้นสังคมศาสตร์จึงถูกพัฒนาในยุคโมเดิร์น ในบริบทของสังคมสมัยใหม่ และการทำความใจเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของสังคมศาสตร์จึงต้องทำความเข้าใจผ่านบริบทของกระบวนการก้าวเข้าสู่ความทันสมัย (Modernization) ที่สัมพันธ์กับการสร้างวิธีคิด แนวคิด ทฤษฎี สมมติฐาน และความคาดหวังที่จะสร้างความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์และสังคมวิทยา เพื่อสนับสนุนความเข้าใจและการควบคุมของสังคมสมัยใหม่
                พวกนักคิดทฤษฎีหลังสมัยใหม่มีข้อวิจารณ์ว่า สังคมศาสตร์ที่ถูกพัฒนาในศตวรรษที่17-18 ล้าสมัยเกินไปที่จะอธิบายความซับซ้อนของสังคมในปัจจุบัน เพราะแนวคิดและทฤษฎีต่างๆทางสังคมศาสตร์ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้บริบททางสังคมและวัฒนธรรมในสมัยนั้นซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันมาก การเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนทำให้ความรู้เดิมที่มีอยู่อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมไม่ได้ เช่น วิกฤตการณ์ของโลกและสังคม ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต การทำสงคราม ที่ไม่ทำให้สังคมก้าวหน้าและสันติสุข จิตวิทยาที่ไม่สามารถอธิบายส่วนที่ปราศจากเหตุผลและไร้จิตสำนึกที่มีบทบาทต่อพฤติกรรมของมนุษย์  สังคมวิทยาที่ไม่สามารถอธิบายความเลื่อมล้ำและความมั่งคั่งที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะชนชั้นหนึ่งได้  หรือเศรษฐศาสตร์ที่ก้าวมาถึงจุดที่ระบบทุนนิยมเติบโตจนไม่สามารถควบคุมได้
                สิ่งที่น่าสนใจคือ การเกิดระบบ ระเบียบวิธีของสาขาวิชา(Discipline) ในการศึกษาสังคมศาสตร์ช่วงปลายศตวรรษที่19 ที่ได้แยกแนวทางออกเป็น 2 แบบ แบบแรกคือ สังคมศาสตร์แบบ Nomothetic Social Sciences ซึ่งความคิดทางสังคมศาสตร์ช่วงแรกจะอยู่ภายใต้อิทธิพลทางความคิดแบบนิวตันในการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม (Social Phenomena) บางทีเรียกว่า “Hard Science” แบบที่สอง การพัฒนาสังคมศาสตร์แบบใหม่ ที่เน้นย้ำการศึกษาที่ไม่เป็นเส้นตรง(Nonlinearity) การศึกษาที่มีความซับซ้อน(Complexity) การปฏิเสธการวัดค่าหรือกำหนดจากสูตรทางคณิตศาสตร์ รวมทั้งให้ความสำคัญกับจุดเด่นของการตีความในเชิงคุณภาพมากกว่าความแม่นยำในเชิงปริมาณ ซึ่งเรียกว่า “Soft Sciences”  ซึ่งเป็นแนวทางหรือความรู้ใหม่ทางสังคมศาสตร์ที่เข้ามาท้าทายความรู้แบบเดิมในช่วงหลังปีค.ศ.1945 เกิดการศึกษาและพัฒนาความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ เช่นการศึกษาอดีตในแง่ของประวัติศาสตร์ การศึกษาระบบตลาดหรือเศรษฐศาสตร์ การศึกษารัฐหรือรัฐศาสตร์ การศึกษาประชาสังคม หรือสังคมวิทยา เกิดการเรียนการสอนสังคมวิทยาในมหาวิทยาลัยต่างๆ
ดังนั้นการเรียนรู้บริบททางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคม มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจแนวคิดทางสังคมศาสตร์อย่างมาก โดยมีคำอธิบายใน 3 ประเด็นดังนี้คือ
ประเด็นแรก บริบททางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคม ทำให้เรามองเห็นการก่อร่างและการก่อกำเนิดของความคิดทางด้านสังคมศาสตร์ที่วางอยู่บนปัจจัยและพื้นฐานของบริบททางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมที่มีความเฉพาะ เราไม่สามารถทำความเข้าใจสังคมศาสตร์ได้โดยละเลยหรือมองข้ามบริบททางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคมที่สนับสนุน ส่งเสริม การประกอบสร้างวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ให้เกิดขึ้นในสังคมโลกได้
ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 18 ประมาณช่วงปี ค.ศ. 1700 ยุโรปถือว่าเป็นประตูเริ่มต้นของกระบวนการก้าวเข้าสู่ความทันสมัย (Modernization) ที่เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนผ่านจากเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรมของยุโรป ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิวัติเกษตรกรรมที่พัฒนาเครื่องจักรแลเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับจำนวนประชากร จนกระทั่งเกิดการปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่2 ในยุโรปที่เรียกว่าเป็นยุคของเหล็ก (Age of Steel)  มีการนำเหล็กมาใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆ  เช่น การทำรางรถไฟเพื่อการขนส่งที่รวดเร็ว การสร้างเรือและสิ่งก่อสร้างในอุตสาหกรรม เพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงปีค.ศ. 1850 ประเทศต่างๆในยุโรปเกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของกระบวนการผลิตสินค้าชนิดใหม่และการค้นพบทรัพยากรและพลังงานแบบใหม่ เช่น การค้นพบกระแสไฟฟ้าที่เข้ามาแทนที่พลังงานความร้อนจากไอน้ำที่ได้จากถ่านหิน ที่สัมพันธ์กับความก้าวหน้าและการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยพัฒนาและปรับปรุงวิธีการและรูปแบบการผลิต รวมทั้งการปฏิวัติระบบการขนส่งที่รวดเร็วมากขึ้น เกิดระบบโทรเลข ไปรษณีย์ โทรศัพท์ การขนส่ง ที่สามารถติดต่อสื่อสารอย่างรวดเร็วและทะลายระยะห่างของโลกในเชิงพื้นที่และเวลา ทำให้สินค้าและบริการสามารถส่งต่อและเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็วแม้ในพื้นที่ห่างไกล การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ในหลายๆประเทศของยุโรป แต่ในขณะเดียวกันการเติบโตดังกล่าวก็ส่งผลกระทบทางด้านสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม กระบวนการกลายเป็นเมือง รวมทั้งการเกิดขึ้นของชนชั้นทางสังคม เช่นชนชั้นกรรมาชีพที่รวมตัวเป็นสหภาพที่เข้มแข็ง และชนชั้นกลางที่เริ่มมีบทบาทในทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง ในศตวรรษที่19 ถูกมองว่าเป็นศตวรรษของชนชั้นกลาง ( Bourgeois Century )โดยเฉพาะในยุโรปตะวันตก ที่สร้างมาตรฐานใหม่ของชีวิตสัมพันธ์กับความสะดวกสบายและสุขภาพที่แข็งแรงซึ่งสัมพันธ์กับบทบาทของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่สำคัญอย่างเช่น พ่อค้าและแพทย์ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วและสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เกิดการพึ่งพากลุ่มวิชาชีพต่างๆในสังคม เช่น วิศวกร นักกฎหมาย  นักบัญชีและนักการธนาคารมากขึ้น ที่ส่งผลต่อทั้งการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของผู้หญิงและผู้ชายในการทำงาน บทบาทของคนจากภาคเกษตรกรรมที่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมในเมือง  ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนและความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถจะทำความเข้าใจและอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างชัดเจน
ดังนั้นบริบททางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ที่เปลี่ยนแปลงไปที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องหาความรู้ใหม่ๆที่จะมาอธิบายการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนผ่านทางสังคม อย่างเช่น August Comte ที่อธิบายพัฒนาการและประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่มีความแตกต่างและการก้าวผ่านจากสังคมที่เรียบง่ายไปสู่สังคมที่มีความซับซ้อน หรือสังคมแบบล้าหลังไปสู่สังคมแบบศิวิไลซ์ จากความเชื่อภูตผีเวทมนต์ ศาสนาไปสู่วิทยาศาสตร์ โดยความรู้ทางสังคมศาสตร์ในช่วงต้นก็ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของวิทยาศาสตร์ ที่พวกเขาเชื่อว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) จะช่วยยืนยันถึงความก้าวหน้าของมนุษยชาติ อิทธิพลของวิทยาศาสตร์ที่มีพลต่อความคิดเรื่องชีววิทยา โดยเฉพาะความคิดเรื่องวิวัฒนาการ การเลือกสรรโดยธรรมชาติของชาร์ล ดาร์วินที่มองเรื่องของการดำรงอยู่ของผู้ที่เหมาะสมหรือสมบูรณ์ที่สุด  เกิดแนวคิดแบบ Social Darwinism ที่มองว่าสังคมของมนุษย์ก็เหมือนกับสังคมของพืชและสัตว์ ความอ่อนแอและความยากจนในสังคมจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับการดำรงอยู่ ซึ่งนำไปสู่ลัทธิล่าอาณานิคมในแอฟริกา และเอเชีย รวมทั้งแนวคิดเรื่องเชื้อชาตินิยมที่มีความแตกต่างของเชื้อชาติและสีผิวที่ด้อยกว่าคนตะวันตกผิวขาว รวมถึงความเป็นผู้ชายและผู้หญิงที่นำไปสู่ความแตกต่างและไม่เท่าเทียมกันในบทบาทหน้าที่ทางสังคม เป็นต้น
ประเด็นที่สอง บริบททางประวัติศาสตร์สะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์ ปัญหาและวิกฤตการณ์ของมนุษย์และสังคม สังคมศาสตร์เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวเพื่ออธิบายและทำความเข้าใจสังคม เช่นในช่วง ปีค.ศ.1900 ที่มนุษย์เริ่มกระอักกระอ่วน สับสนกระวนกระวายใจเกี่ยวกับตัวเอง สังคมยุโรปความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ที่เริ่มจากอิทธิพลทางศาสนา คริสต์ศาสนาที่มองว่าตัวมนุษย์มีสองสภาพ คือ มนุษย์ที่สร้างขึ้นจากวิญญาณอันอมตะ ความเมตตาจากพระเจ้าที่สูงส่ง มีเลือดเนื้อ มีความเห็นแก่ตัวและมีบาปกับอิทธิพลของยุครู้แจ้งหรือยุคแสงสว่างทางปัญญาที่มองว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่สามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปสู่ความสมบูรณ์ได้ ด้วยเหตุผลและความรักในตัวเองเป็นพื้นฐาน ปัญหาสำคัญในช่วงยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม ยุคสงครามโลกสองครั้ง ที่สะท้อนความล้มเหลวและเสื่อมถอยของสังคม  นักทฤษฎีทั้งหลายพยายามตั้งคำถามและหาคำตอบว่า มนุษย์จะปรับตัวเองให้เข้ากับสังคมและสภาพแวดล้อมที่กำลังเสื่อมถอยได้อย่างไร ปัญหาต่างๆที่มนุษย์เผชิญ ได้นำมนุษย์ไปสู่ภาวะของความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะความเครียด โรคประสาท และโรคจิตประเภทต่างๆ ดังนั้นการทำความเข้าใจตัวมนุษย์จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้เกิดการพัฒนาความคิดทางด้านจิตวิทยาของนักจิตวิทยาสำคัญ ตัวอย่างเช่นซิกมันด์ ฟอรยด์ที่พัฒนาเรื่องจิตวิเคราะห์ ภายใต้การมองมนุษย์ในแง่ของสิ่งมีชีวิตที่ถูกกำหนดด้วยอวัยวะต่างๆเหมือนเครื่องจักรกลที่ซับซ้อน เช่นเดียวกับความรู้สึกของมนุษย์ที่ถูกกำหนดโดยไม่รู้สึกตัวจากประสบการณ์เมื่อครั้งเป็นเด็กทารก หรือนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่ทำความเข้าใจว่ามนุษย์มีความคิดและการกระทำที่เป็นผลกระทบจากสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่ภายนอกตัวมนุษย์แต่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของมนุษย์ เช่นเดียวกับการเจริบโตของอุตสาหกรรมในลิเวอร์พูลของอังกฤษที่ดึงดูดให้หนุ่มสาวชาวนาเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ความแออัดในเมืองและปัญหาสังคมต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะต้องหาคำอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวจากแนวคิดและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์
ประเด็นที่สาม การทำความเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคมที่ก่อร่างสร้างความรู้และทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ สามารถทำให้เราวิพากษ์และทบทวนทฤษฎีและความรู้เหล่านั้นว่ามันถูกสร้างในบริบทเงื่อนไขที่เฉพาะของใคร สังคมไหน ยุคสมัยไหน และเพื่ออะไร และสามารถนำมาปรับใช้กับบริบททางสังคมที่มีความเฉพาะหรือแตกต่างจากบริบทและช่วงเวลาที่สร้างทฤษฎีเหล่านี้ขึ้นมาได้หรือไม่ เช่น แนวคิดของมาร์กซิสต์ในบริบทของสังคมที่กำลังเกิดกระแสแบบสังคมนิยม(Socialism) ที่วิพากษ์โต้แย้งสังคมแบบทุนนิยม การขูดรีดแรงงาน ความไม่เท่าเทียม เมื่อเปรียบเทียบกับบริบทของสังคมไทย วิถีการผลิตแบบเอเชียติก (Asiatic Mode of production) ที่เป็นสังคมเกษตรกรรม มากกว่าจะเป็นกลุ่มชนชั้นกรรมมาชีพหรือแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือแนวคิดแบบประชาธิปไตยที่พัฒนาขึ้นในฝรั่งเศส เป็นประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศสแต่อาจไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทย หรือช่วงปลายศตวรรษที่20 ต่อต้นศตวรรษที่21 ที่โลกอยู่ในสภาวะไร้พรมแดนของพื้นที่และเวลา ภายใต้กระแสของโลกาภิวัตน์ ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ในการอธิบายสังคมจึงต้องมีความซับซ้อนและลึกมากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
อ้างอิงจาก
Capra Fritjof  (1982)  The Turning point : Science,Society and Rising Culture. USA: Bantam Book.
Hollinger Robert (1994) Posmodernism and The Social Sciences A Thematic Approach. SAGE Publication Thosand Oasks New Delhi.
Mudimbe V.Y (1996) Open the social sciences : report of the Gulbenkian commission on the restructuring of the Social Sciences. California : Standford University Press.
Roger Backhouse and Philippe Fontaine (2010) The History of Social Sciences since 1945. New York:  Cambridge university press.
Thomas  F.X  Noble et al. (2011) Western Beyond Boundaries Civilization. USA : Wadsworth Cengage learning.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...