วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2566

มานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วรรณนาแบบสะท้อนย้อนคิด (Ethnography Reflexivity) โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 มานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วรรณนาแบบสะท้อนย้อนคิด (Ethnography Reflexivity)

               Tony L. Whitehead (2002:1-28) ได้เขียนในหนังสือ What is Ethnography?: Methodological,Ontological,and Epistemological  Attribute เขาอธิบายว่างานชาติพันธุ์วรรณนาหมายถึง การศึกษาด้วยวิธีการที่ง่ายและไม่ซับซ้อนแต่มีคุณสมบัติในเชิงภววิทยา(ontological)และอภิปรัชญา(Epistemological)ในตัวเอง เป็นการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic approach)ในการศึกษาระบบวัฒนธรรม การศึกษาบริบททางสังคมวัฒนธรรม(Socio-cultural context) กระบวนการ(Process)และการให้ความหมาย(Meaning)ภายในระบบวัฒนธรรม เป็นการศึกษาระบบของวัฒนธรรมจากมิติของคนใน(Emic)และคนนอก(Etic) เป็นการศึกษาที่พึ่งพาอย่างมากกับการทำงานภาคสนาม(Fieldwork) เป็นกระบวนการที่มีความยืดหยุ่นสูง(Highly Flexible)และสร้างสรรค์(Creative) เป็นกระบวนการของการตีความ(Interpretive) การสะท้อนย้อนคิด(Reflexive)และการประกอบสร้าง(Constructivist) เป็นสิ่งที่ต้องการการบันทึกประจำวัน (Diary) และการปฎิบัติการที่ต่อเนื่องผ่านการบันทึกสนาม(Fieldnotes) และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นโลกของประชากรที่อาศัยอยู่ร่วมกันในบริบทของการบรรยายหรือพรรณนากรณีศึกษาที่ลุ่มลึก(Human contexts of thickly described case studies) รวมทั้งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เปิดกว้างไม่ใช่การสืบค้นที่เคร่งครัดตายตัวแบบการทดลองที่มีการควบคุม 

             ในขณะเดียวกันชาติพันธ์วรรณนาเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามหรือวิพากษ์ฐานคิดปรัชญาแบบประจักษ์นิยมที่พัฒนาจากวิทยาศาสตร์ ที่ถูกนำมาใช้ในการวิจัยในเชิงปริมาณและการใช้สถิติในทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์และความคิดแบบธรรมชาตินิยมที่มองว่าโลกทางสังคมควรที่จะถูกศึกษาในสถานะเชิงธรรมชาติที่ไม่ถูกรบกวน ดังนั้นธรรมชาติดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมา ที่มองว่าความจริงต้องเป็นสัจจะ เป็นกฏเกณฑ์สากลที่เป็นหนึ่งเดียว ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่วิธีการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณนา เป็นสิ่งที่เน้นอยู่บนวิธีคิดแบบประกอบสร้าง(Constructivism)และสัมพัทธนิยมทางวัฒนธรรม (Cultural relativism)ที่เชื่อมโยงกับความเข้าใจในมุมมองและพฤติกรรมของคนที่ศึกษา ที่ทำให้นักชาติพันธุ์วรรณนาให้โครงร่างเกี่ยวกับผู้คนที่ถูกประกอบสร้างโลกทางสังคม(Constructing the social world)ที่นำไปสู่การตีความของพวกเขาและการกระทำบนพื้นฐานของการตีความเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น (Atkinson and Hammersley,1995:11)

           ก่อนการเกิดรูปแบบของการทำงานทางชาติพันธุ์วรรณนาแบบสมัยใหม่ งานชาติพันธุ์วรรณนาได้ถูกพัฒนาโดยวิชาการทางด้านมานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรมในช่วงปลายศตวรรษที่19ถึงต้นศตวรรษที่20  ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลพื้นฐานของ กลุ่มชนพื้นเมือง ดังเช่น งานศึกษาของ Bronislaw Malinowski (1992) ที่เริ่มต้นทำงานภาคสนามในหมู่เกาะโทรเบียนด์ ที่ได้ให้ภาพชีวิตทางสังคมของชนพื้นเมืองชาวเกาะนี้ในทุกแง่มุม นักมานุษยวิทยาในช่วงนั้นที่มีอิทธิพลและใช้วิธีการภาคสนามในการศึกษาและรวบรวมข้อมูลคือ Franz Boas ,Malinowski และ Radcliffe Brown และงานทางชาติพันธุ์วรรณนาเป็นความคิดสำคัญของพวกเขา ที่มีกระบวนการรวบรวมข้อมูลภาคสนามเบื้องต้น (Firsthand data) โดยนักมานุษยวิทยาเหล่านี้และบรรยายพรรณนาออกมาเกี่ยวกับลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมของสังคมชุมชนดั้งเดิมที่ดำรงอยู่ ปรากฏการณ์ของงานชาติพันธุ์วรรณนาก่อนช่วงศตวรรษที่20 ถูกเชื่อมโยงกับความสนใจของชาวตะวันตกที่มีต่อคนที่ไม่ใช่ตะวันตก (non-western) การศึกษาวัฒนธรรมของสังคมอื่น(other)ที่แตกต่างจากวัฒนธรรมของตัวเอง (Atkinson and Hammersley,1995:9) ซึ่งต่อมาก็มีการประยุกต์ใช้วิธีการทางชาติพันธุ์วรรณนาโดยนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยากับการสืบค้นและศึกษาสังคมของพวกเขาเอง เช่นงานศึกษาของกลุ่ม Chicago School of Sociology ที่นำมาใช้ศึกษาชีวิตอันหลากหลายของสังคมเมือง ชุมชนแออัดหรือสลัม(Ghettos) ไม่ใช่สังคมชนบทหรือชนพื้นเมืองอย่างที่เคยเป็นมา การศึกษาวัฒนธรรมของอาชีพ องค์กร และกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน ซึ่งนับว่าเป็นลักษณะสำคัญของงานชาติพันธุ์วรรณนาในช่วงศตวรรษที่ 20(Atkinson and Hammersley,1995:9)

       ในช่วงศตวรรษที่ 19 ประเด็นวิวาทะและความขัดแย้ง  ระหว่างการพยายามประยุกต์แนวคิดแบบประสบการณ์นิยมหรือประจักษ์นิยม (Empiricist conception) ของวิทยาศาสตร์แบบบริสุทธิ์(Natural Sciences) กับการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ ในขณะที่อิทธิพลที่เกิดขึ้นจากสำนักศาสตร์แห่งการตีความ (Hermeneutic) ในการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ที่แตกต่างจากวิทยาศาสตร์แบบฟิสิกส์ในการทำความเข้าใจการกระทำของมนุษย์และสถาบันทางสังคมที่พวกเขาสามารถจัดวางประสบการณ์และความรู้ทางวัฒนธรรมขอพวกเขาเอง ซึ่งเป็นการก้าวข้ามความพยายามค้นหากฏเกณฑ์ที่เป็นสากล (Universal Laws)ในแนวทางของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติไปสู่การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เฉพาะ (Particular phenomena) ในบริบทของประวัติศาสตร์ทางสังคม (Socio-historical context) ในวิชาการทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  ที่สะท้อนให้เห็นกรปะทะกันของกระบวนทัศน์แบบประจักษ์นิยม (Positivist Paradigm) กับกระบวนทัศน์แบบการตีความหมาย (Interpretive/Hermeneutic Paradigm) ในงานศึกษาทางชาติพันธุ์วรรณนา (Atkinson and Hammersley,1995:250)

        ดังนั้นชาติพันธุ์วรรณนาคือการศึกษาเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ทางสังคม พฤติกรรมและการรับรู้ที่เกิดขึ้นภายในกลุ่ม,ทีม ,องค์กรและชุมชน ที่นำไปสู่การพรรณนา (Descriptions) เกี่ยวกับผู้คน วัตถุหรือเหตุการณ์ในช่วงเวลาและสถานที่เฉพาะ  โดยภาระหน้าที่ของนักชาติพันธุ์วรรณนาคือการนำไปสู่เอกสารทางวัฒนธรรม (to document the culture) ในมุมมองและการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คนในพื้นที่ต่างๆ  เป้าหมายสำคัญคือการเข้าไปข้างใน (get inside) สู่วิถีทางที่ผู้คนแต่ละคน แต่ละกลุ่มมองเห็น รับรู้และเข้าใจต่อโลกที่พวกเขาดำรงอยู่ (Hammersley,1992) ชาติพันธุ์วรรณนาจึงเป็นทั้งกระบวนการ (Process) และผลลัพธ์ (outcome) ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทั้งในแง่ของระเบียบวิธี (Methodology) ที่นำไปสู่การเขียนอธิบายในงานด้านชาติพันธุ์วรรณนา ซึ่งถือว่าเป็นรากเหง้าสำคัญของมานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรมที่เน้นย้ำยู่บนการศึกษาชุมชนขนาดเล็กที่มีความเชื่อและการปฏิบัติทางวัฒนธรรมร่วมกัน

        Filed and Morse (1985) อธิบายว่าชาติพันธุ์วรรณนาคือวิธีการที่เฉพาะที่เป็นการพัฒนาแนวความคิดที่นำไปสู่การทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์จากมุมมองหรือจุดยืนของคนใน(emic point of View)ต่อมาในช่วงทศวรรษ1970-1980 กระแสของการสะท้อนกลับ(Reflexive Turn) ได้กลับมาหาวิชาการทางด้านมานุษยวิทยาอีกครั้งหนึ่งพร้อมๆกับกระแสของแนวคิดแบบโพสโมเดิร์นที่มีอิทธิพลต่อการศึกษา การเขียนงานชาติพันธุ์วรรณนาและการทำงานภาคสนามทางมานุษยวิทยา โดยเฉพาะการตีพิมพ์หนังสือสำคัญสองเล่มคือ The Writing Culture :the politics and politics of ethnography ของ Clifford and Marcus (1986) และ Anthropology as cultural critiques ของ Macus and Fisher (1986) พร้อมกับการสนับสนุนของนักคิดสายสตรีนิยม(Feminism)และลัทธิต่อต้านอาณานิคม (anti-colonialism) ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจของงานชาติพันธุ์วรรณนาที่วางอยู่บนเชื้อชาติ และเพศสภาพของผู้ศึกษาและผู้เขียนงานทางชาติพันธุ์วรรณนา

              การสะท้อนย้อนคิด (Reflexivity) คือความสัมพันธ์ของผู้วิจัยที่ร่วมแบ่งปันกับโลกของพวกเขาและพวกเธอ(ผู้ถูกศึกษา)ที่นักวิจัยเข้าไปสืบค้น เรียนรู้หรือสัมผัสกับพวกเขา/พวกเธอเหล่านั้น (Scott Reeves,2008:53) การสะท้อนย้อนคิดคือส่วนประกอบที่สำคัญในการทำงานเชิงชาติพันธุ์วรรณนาทีเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ของนักชาติพันธ์วรรณนา(Ethnographer)กับผู้ให้ข้อมูล(Participants)ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางจริยธรรมและความลื่นไหลของความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่เกิดขึ้นนี้   รวมทั้งการสะท้อนย้อนคิดก็คือการแสดงรูปแบบของการอธิบายพรรณนาของนักมานุษยวิทยาที่เป็นความคิดและประสบการณ์ที่สามารถเป็นสิ่งที่ถูกใช้โดยผู้อ่าน(Reader)ในการตัดสินผลกระทบที่เป็นไปได้และอิทธิพลของสิ่งต่างๆที่มีผลต่อการศึกษา

          Freshwater and Rolfe (2001) ได้อธิบายถึงอิทธิพลของสำนักหลังทันสมัย (Postmodernism)ที่เกี่ยวข้องกับการสะท้อนย้อนคิด (Reflexivity) เกี่ยวกับการวิพากษ์ข้อผิดพลาดของกระบวนการวิจัยแบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่เป็นเสมือนหน้าต่างที่ไม่ถูกบานที่จะเปิดไปสู่ความจริงภายนอก (External Reality) มันเป็นเพียงความจริงด้านเดียวเท่านั้นที่ถูกอ้างถึงท่ามกลางความหลาหลาย นี่คือสิ่งที่สะท้อนว่าหน้าที่ของนักวิจัยไม่ใช่การแสดงการวิเคราะห์ในเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับโลกแต่เป็นการเปิดโอกาสสำหรับผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยหรือผู้ที่ถูกศึกษาวิจัยที่จะบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาเอง ด้วยตัวพวกเขาเอง รวมถึงการสะท้อนความสัมพันธ์ของตัวผู้วิจัยกับตัวบท(Text) หรือผู้ที่ถูกศึกษา ที่สงผลต่อกระบวนการวิจัยและผลลัพธ์ที่ได้อันสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เกิดขึ้น รวมถึงอำนาจในงานเขียนทางชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnography Authority)ปรากฏการณ์ที่เกิดของงานชาติพันธุ์วรรณนาสมัยใหม่ ทั้งชาติพันธุ์วรรณนาแบบสะท้อนกลับ (Reflexive Ethnography), ชาติพันธุ์วรรณนาโดยตัวเอง(Autoethnography),การบรรยายพรรณนาส่วนตัว (Personal Narrative) ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ประสบการณ์ของผู้เขียนงานชาติพันธุ์วรรณนาในปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่ศึกษาและสนามของการศึกษากลายเป็นเนื้อหาสำคัญที่ได้รับความสนใจมากขึ้น

        ดังนั้นการผลิตงานวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาประกอบด้วยความซับซ้อนและหลากหลาย ที่ผสมผสานทั้งบทสนทนา คำพูด อารมณ์และความรู้สึก  ปฎิกริยาตอบโต้และความต้องการของบุคคล กระบวนการที่ซับซ้อนเหล่านี้สะท้อนการจัดการความคิดของนักชาติพันธุ์วรรณนา การเรียบเรียบและจัดวางสิ่งเหล่านี้ลงบนกระดาษ  ผ่านการกลับมาสะท้อนย้อนคิดของนักชาติพันธุ์วรรณนาในบริบทของเหตุการณ์ สถานการณ์ อุปสรรคและข้อจำกัดที่นำมาสู่ข้อสรุปในการเขียนอธิบายทางชาติพันธุ์วรรณนาในขั้นตอนสุดท้ายซึ่งในกระบวนการของการศึกษาภาคสนามนอกจากการศึกษาผ่านข้อเท็จจริงผ่านการบอกเล่า การให้ข้อมูลของผู้ถูกศึกษา แต่ผู้ศึกษาต้องพิจารณาเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้รับอย่างรอบด้าน ผ่านการสะท้อนกลับเกี่ยวกับปรากฏการณ์ เหตุการณ์และเงื่อนไขต่างๆที่เกิดขึ้นในสนามที่มีผลต่อข้อมูลที่ได้รับ ทั้งประเด็นในแง่เพศสภาพ ชาติพันธุ์ ชนชั้นหรือภาษาที่มีผลต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ศึกษาและผู้ถูกศึกษาและจัดวางความสัมพันธ์และบทบาทอย่างเท่าเทียม..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...