วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2566

แมรี่ดักลาส กับแนวคิดเรื่องความสกปรก ความสะอาดกับมุมมองทางมานุษยวิทยา Mary Douglas โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล



ผมไม่เคยเหนื่อยกับงานแต่เหนื่อยกับระบบที่ควบคุมการทำงานมากกว่า.. ผมไม่ได้สมบูรณ์แบบ ไม่ได้เก่งอะไร แค่คนที่มีความกระหายใคร่อยากรู้ตลอดเวลาเท่านั้นเอง คิดอย่างเดียวว่าถ้าอยากรู้ก็ต้องอ่าน …และเอาสิ่งที่อ่านมาเผยแพร่ให้คนที่สนใจ ผมรู้ว่ามีนักศึกษาติดตามเฟสและบล๊อกของผม ผมจึงใช้พื้นที่นี้ สร้างไอเดียและมุมมองในการมองปรากฏการณ์ทางสังคม ผมมองว่ามันคือการสอนแบบหนึ่ง ..

  ผมขอเริ่มจากคำกล่าวของแมรี่ ดักลาสที่ว่า  “The human body is alway treated as an image of society”. หรือร่างกายมนุษย์ได้รับการปฏิบัติในฐานะภาพลักษณ์ของสังคมเสมอมา....และผมก็รู้ว่ามีนักศึกษาที่ตามโพสต์ ตามบล็อกผม ผมก็อยากถ่ายทอดสิ่งที่อ่าน เพื่อเผยแพร่ความรู้…และให้ไอเดียทางมานุษยวิทยา ผมมองว่ามันก็คือ การสอนแบบหนึ่ง

      ร่างกายมนุษย์สัมพันธ์กับเรื่องของความสะอาดและความสกปรกที่เชื่อมโยงกับภาวะชายขอบ ความเป็นอันตรายและความเจ็บป่วย ในฐานะของสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความคิดและการปฏิบัติที่มีต่อเรื่องดังกล่าว ดังที่แมรี่ ดักลาสบอกว่า  “ที่ใดมีสิ่งสกปรก (Dirt) ที่นั่นย่อมมีระบบ(System) สิ่งสกปรกถือเป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากการจัดลำดับและการจำแนกแยกประเภทของสสารหรือสิ่งต่างๆอย่างเป็นระบบ ไปจนถึงการสร้างกฏเกณฑ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิเสธองค์ประกอบบางอย่างที่ไม่เหมาะสม”....

     เมื่อร่างกายคือสิ่งที่สะท้อนภาพลักษณ์ของสังคมวัฒนธรรม เป็นอุดมคติของสังคม ดังนั้นการจะเปลี่ยนแปลงสังคมวัฒนธรรม เราต้องเปลี่ยนแปลงระบบวิธีคิด ในการจัดการสิ่งต่างๆ ดังที่แมรี่ ดักลาสได้กล่าวว่า “If you want to change the culture, you will have to start by changing the organization” หรือ ถ้าคุณต้องการจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม คุณจะต้องเริ่มต้นโดยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดระเบียบทางสังคมวัฒนธรรมเสียก่อน

       ในหนังสือของ แมรี่ ดักลาว เรื่อง  Purity and Danger: An Analysis of the Concepts of Pollution and Taboo (1966) หากพิจารณาจากสังคมในอดีต สังคมดั้งเดิม (Primitive Societies) จัดเป็นสังคมที่ไม่ได้มีการแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างความบริสุทธิ์ (Purity) และความเป็นมลทิน( Pollute)อย่างชัดเจน แต่สำหรับสังคมตะวันตกมีความแตกต่างอย่างชัดเจนมากกว่า ระหว่างสิ่งที่สกปรกและสิ่งที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นกฎศักดิ์สิทธิ์ (Sacred rules) จึงเป็นกฎเกณฑ์ที่ปกป้องความเป็นพระเจ้า ความบริสุทธิ์ของพระเจ้าและสกัดความไม่สะอาดที่เป็นอันตรายในการติดต่อสื่อสารกับพระเจ้าหรือตัวแทนของพระเจ้าแบบสองทาง...

   ในสังคมดั้งเดิม แนวความคิดเรื่องข้อห้าม ความสะอาด ความสกปรกและความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่ถูกบรรจุเข้าไปในตัวตนของผู้คน  ภายใต้แนวคิดที่มีการแบ่งแยกเกี่ยวกับวัตถุ บุคคลหรือสถานที่ มีความเกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์ หรือภาวะของความไม่สะอาดที่ถูกส่งออกหรือถ่ายทอดจากผู้คนที่ไม่บริสุทธิ์หรือมีมลทินที่ร่างกายจะต้องมีการสัมผัสกับผู้คนหรือวัตถุนั้นทำให้ผู้คนหรือวัตถุนั้นแปดเปื้อนหรือสกปรก ในขณะเดียวกับหากตัววัตถุนั้นมีคุณลักษณะที่สกปรก มีการสัมผัสกับร่างกายทางกายภาพที่สะอาดกับวัตถุที่สกปรกนั้น ก็จะที่ถือว่าร่างกายนั้นไม่สะอาด รวมทั้งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของความไม่สะอาดจากวัตถุหรือการกระทำนั้นไปยังร่างกายของคนนั้นหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บางอย่างได้ ตัวอย่างเช่น ในศาสนาคริสต์นั้น ความไม่สะอาดดังกล่าวจะไม่แทรกซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งผ่านเข้าไปสู่วิญญาณข้างในของมนุษย์ด้วย  แมรี่ ดักลาสเน้นย้ำว่าเพื่อที่เราจะเข้าใจสังคมอื่น ๆ ในเรื่องของสิ่งต้องห้ามและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างเต็มที่นั้น เราต้องหันมาพินิจพิเคราะห์หรือทำความเข้าใจสิ่งที่ตัวเราเองทำก่อนหรือปฏิบัติอยู่ก่อนเริ่มต้นด้วย...เราจะมองเห็นระบบที่มันจัดการควบคุมตัวเราอยู่

    แมรี่ ดักลาส ได้ทำการรื้อถอนความเข้าใจผิดที่มีทัศนะแบบเน้นยุโรปเป็นศูนย์กลางที่เป็นสากลว่า   พิธีกรรมต่างๆโดยเฉพาะพิธีกรรมเพื่อความสะอาดถูกกำหนดขึ้นโดยมีความคิดเรื่องสุขอนามัย สุขวิทยาหรือสุขลักษณะเป็นเป้าหมาย การหลีกเลี่ยงเนื้อหมูในศาสนาอิสลามมักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ถูกสุขลักษณะและเป็นสิ่งที่พึงกระทำ หรือการใช้น้ำหอม หรือกลิ่นของธูปเทียน กำยานหรือเครื่องจุดในพิธีกรรมบางอย่าง เป็นไปเพื่อการปกปิดกลิ่นตัวธรรมชาติ แทนที่จะถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของควันแห่งการบูชายัญหรือการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากกว่า 

     ดักลาสยังยอมรับว่ามีความคล้ายคลึงกันอย่างมากระหว่างพิธีกรรมในยุโรปกับพิธีกรรมดั้งเดิมโดยหลักการละเว้นหรือการห้ามปฏิบัติ ในขณะเดียวกันก็มีรากฐานที่แตกต่างกันด้วย หากแยกพิธีกรรมในยุโรปตามความคิดเรื่องสุขอนามัย (hygiene) และพิธีกรรมดั้งเดิมตามระบบความเชื่อทางสัญลักษณ์ (symbolism) นั้น  พิธีกรรมความสะอาดของยุโรป (European rituals)พยายามที่จะฆ่าเชื้อโรค ในขณะที่พิธีกรรมความสะอาดแบบดั้งเดิม (primitive rituals) พยายามขับไล่วิญญาณชั่วร้าย อย่างไรก็ตามดักลาสระบุว่าคงไม่เพียงพอที่เราจะจำกัดความแตกต่างระหว่างพิธีกรรมแบบยุโรปและพิธีกรรมดั้งเดิมให้เป็นเพียงประโยชน์ด้านสุขอนามัยเท่านั้น...

    เธออ้างว่าแนวคิดสมัยใหม่เกี่ยวกับสิ่งสกปรกนั้นมีความหมายเหมือนกันกับการสร้างความรู้ในเรื่องเชื้อโรคและแบคทีเรีย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะนึกถึงสิ่งสกปรกในบริบทอื่นๆยกเว้นในบริบทของการเกิดโรค แต่หากเราขจัดความคิดของแบคทีเรียและสุขอนามัยออกจากแนวคิดเรื่องสิ่งสกปรกสิ่งที่เหลืออยู่ก็คือสัญลักษณ์ของสิ่งสกปรก ที่เป็นผลผลิตของระบบกฎเกณฑ์  (The product of a systematic order) และการจำแนกแยกประเภทของวัตถุสสาร (classification of matter)ในสังคม ..หากเราสามารถมองให้มากกว่าเรื่องเชื้อโรคและสุขอนามัยในความคิดและคำอธิบายเกี่ยวกับความสกปรก เราก็จะก้าวข้ามคำจำกัดความของสิ่งที่เรียกว่า “ความสกปรก” และเห็นมันในมิติที่หลากหลายซับซ้อน..

          ดักลาสเริ่มสร้างความคิดที่ว่า มนุษย์มีแนวโน้มที่จะจัดโครงสร้างวัตถุและสถานการณ์รอบตัวให้เป็นแบบแผนระบบที่มีการจัดระเบียบอย่างดี คนที่มีอายุมากขึ้นก็จะยิ่งมีความมั่นใจและประสบการณ์มากขึ้นในโครงสร้างของพวกเขา ตามหลักการนี้แล้วยิ่งประสบการณ์มีมากขึ้น ภาวะของความสอดคล้องกันภายในโครงสร้างก็จะยิ่งมีมากขึ้น เพราะพวกเขามีความมั่นใจมากขึ้นในประสบการณ์ที่มีมากขึ้นนั้น ส่งผลให้เมื่อแต่ละคนพบข้อเท็จจริงหรือแนวโน้มที่ขัดขวางต่อโครงสร้างที่พวกเขายอมรับ พวกเขาส่วนใหญ่จะเพิกเฉยต่อสิ่งนั้น สิ่งที่ถือว่าไม่บริสุทธิ์คือวัตถุหรือปรากฏการณ์ที่ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างทางสังคมหรือสัญลักษณ์ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ ภายใต้ภาวะของความเสี่ยง ความเป็นชายขอบ ความคลุมเครือ และอันตราย ดักลาสจึงเชื่อมโยงสิ่งสกปรกในฐานะของการเป็นรูปแบบหนึ่งที่สร้างการขัดจังหวะ ยับยั้งหรือทำลายระบบกฏเกณฑ์ ดังนั้นจึงต้องกีดกันสิ่งเหล่านั้น เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของระบบเอาไว้ ภายใต้การสร้างข้อห้ามหรือวิถีของการปฎิบัติที่เป็นระบบระเบียบขึ้นมาควบคุม...

  ดังนั้นในแง่หนึ่ง สิ่งที่เรียกว่าข้อห้าม สะท้อนให้เห็นความพยามที่จะสร้างคำนิยามหรือการให้คำจำกัดความต่อสิ่งที่เรียกว่าข้อห้ามหรือ Taboo ที่สามารถกล่าวจากการอ่านงานต่างๆได้ว่า Taboo ไม่ใช่แค่สิ่งที่ไม่สามารถนิยามได้อย่างชัดเจนหรือสิ่งที่ไม่สามารถทำได้เท่านั้น แต่มันยังรวมถึงสิ่งที่ทำให้เราไม่สามารถคิดเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างได้ด้วย ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อห้ามและความรู้สึกกลัวที่จะกระทำหรือละเมิดเกี่ยวกับมัน..

   คำว่า Taboo เป็นสิ่งที่ถูกหยิบยืมมาจากภาษาของเผ่า Tonga  ในกลุ่มของพันธมิตรของชนชาติพันธ์ุในหมู่เกาะแถบโพลีนีเซียน และเป็นสิ่งที่ถูกอ้างถึงในวาทกรรมหรืองานเขียนของชาวยุโรปที่ต้องขอบคุณกัปตันคุ้ก (Cook) ที่ถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ที่เขาพบจากชนพื้นเมืองออกมา..ทุกสิ่งเกี่ยวกับTaboo มักถูกบรรจุไปด้วยเรื่องเล่าของอำนาจของเวทมนต์ (Magical Power)  ในศตวรรษที่ 18  คำว่า Taboo เป็นสิ่งที่บ่งชี้เกี่ยวกับ Cult Ban หรือลัทธิพิธีเกี่ยวกับข้อห้ามหรือข้องดเว้น ที่เกี่ยวข้องกับการไม่สามารถสัมผัส การไม่สามารถทำ  ไม่สามารถกิน ไม่สามารถอยู่ รวมถึงเพศวิถีที่ไม่สามารถยอมรับได้ ที่เชื่อมโยงกับศักดิ์สิทธิ์ ความชั่วร้ายและคำสาปแช่ง โดยคำศัพท์และคำอธิบายเกี่ยวกับ Taboo ได้ถูกปะทะและเผชิญหน้า กับนักเดินทาง นักสำรวจที่หลากหลายที่เข้ามาในเกาะต่างๆของโอเชียเนียและกลายเป็นข้อค้นพบเริ่มแรกที่สุดของนักสำรวจชาวยุโรป ที่กลายเป็นสิ่งที่ตื่นเต้นน่าแปลกใจ แปลกประหลาดสำหรับคนต่างถิ่นโดยเฉพาะนักมานุษยวิทยา 

    Tabu / Taboo คือการรับรู้ ความเข้าใจและการควบคุมเกี่ยวกับพฤติกรรม การกำหนดเกี่ยวกับรูปแบบของการประพฤติปฎิบัติ และในท้ายที่สุดมันจะกลายเป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของกลุ่มสังคม กัปตันคุ้ก ประสบความสำเร็จกับการบ่มเพาะเมล็ดพันธ์ของชนพื้นเมืองบนดินแดนของชาวยุโรปแต่ในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงหรือแตกต่างออกไป นี่คือสิ่งที่ถูกซึมซับย่างรวดเร็วไปยังสังคมที่เจ้าระเบียบ (Puritan society) ในยุควิกตอเรียน ของอังกฤษ สิ่งที่น่าสนใจคือ Taboo ถูกเชื่อมโยงกับความคิดแบบ Protestantism, Colonialism, Bourgeoisie ที่ผลิตชุดคำของข้อห้ามที่แตกต่างหลากหลายจากความหมายดั้งเดิมของคนพื้นเมือง

  ซิกมันด์ ฟรอยด์ เชื่อว่า คำศัพท์เกี่ยวกับ Taboo มี 2 ความหมายที่ตรงกันข้ามกันคือ อย่างแรก มันถูกนิยามเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ (Sacred) ที่จะต้องเสียสละอุทิศตนเพื่อเข้าถึงความศักดิ์สิทธิ์ มันคือสิ่งที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ เป็นทั้งอันตรายและเป็นข้อห้ามกับความไม่บริสุทธิ์ (เน้นพื้นที่ทางศาสนาและพิธีกรรม) อย่างที่สอง  Taboo มีลักษณะเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่เป็นสากล (พบได้ในที่ต่างๆทั่วโลก) ที่แสดงตัวมันเองเกี่ยวกับข้อห้าม ข้อปฏิบัติและความเคร่งครัดที่ไม่ถูกลดทอนกับเรื่องของเทพเจ้า ความศักดิ์สิทธิ์ และข้อห้ามทางศีลธรรม แต่มันคือข้อห้ามในชีวิตประจำวันทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องศาสนา

    ประเด็นเหล่านี้สามารถนำมาใช้อธิบายกับสถานการณ์หลายอย่างในสังคม เช่นการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและความเจ็บป่วยของผู้คนในยุคปัจจุบัน ทั้งการสวมหน้ากาก การเว้นระยะห่าง การใช้เจลแออลกอฮอล์ การล้างมือ ล้างผัก การปรับเปลี่ยนหรือควบคุมพฤติกรรมจากการบริโภค ผลผลิตที่สะอาด ไม่สะอาด มีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ ที่สร้างให้เกิดTaboo แบบใหม่ๆและการปฎิบัติของผู้คนในยุคNew Normal หรือภาวะความบริสุทธิ์กับการไหว้พระธาตุหรือเจดีย์ รวมถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา …เป็นต้น


อ้างอิงจาก  Mary Douglas In Purity and Danger: An Analysis of the Concepts of Pollution and Taboo (1966)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...