วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มุมมองต่อเรื่องการเกิดและเทคโนโลยีสนับสนุนและช่วยการเจริญพันธุ์ โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 ประเด็นเรื่องของการเกิด ลักษณะและความหมาย มีความเชื่อมโยงกับประเด็นทางกฎหมายและจริยธรรม มิติทางสังคมวัฒนธรรม มุมมองต่อเรื่องของการแต่งงาน การมีบุตรและเครือญาติ ดังเช่น มิติการปฎิสนธิ ตามธรรมชาติ (ไข่กับสเปิร์ม)ทั้งที่กฎหมายรองรับและไม่รองรับ (สามีภรรยาที่สมรสตามกฎหมาย หรือกับผู้หญิงที่รับจ้างตั้งครรภ์ Baby Maker) รวมถึงการปฏิสนธิจากการข่มขืน การปฏิสนธิกับหญิงที่มีสามีแล้วกับชายชู้ เป็นต้น

มิติของการปฏิสนธิโดยอาศัยเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้าช่วย ART (Assisted Reproductive Technology) การผสมเทียมระหว่างอสุจิของสามี ไข่ของภรรยา ที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะเป็นการผสมบนโพรงมดลูกหรือหลอดแก้วก็ได้ หรืออาจจะใช้ไข่หรืออสุจิของคนที่ไม่ใช่สามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฏหมายก็ได้เพื่อให้กับหญิงที่พร้อม(การผสมเทียมมีทั้งการใช้สเปิร์มหรือไข่กับธนาคารที่คัดเลือกมา การทำGift การปฏิสนธิในหลอดแก้ว และอื่นๆ) หรือในมิติของการเกิดจากการเพาะพันธุ์ของเซลล์ ที่ไม่มีการปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิที่เราเรียกว่าโคลนนิ่ง ที่ทำให้เราเห็นความซับซ้อนของความสัมพันธ์ของมนุษย์กับการให้กำเนิดที่สัมพันธ์กับการพัฒนาเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ที่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้

      1. การทำความเข้าใจในประเด็นเรื่องนี้ควรพิจารณาถึงเทคโนโลยีอนามัยเจริญพันธุ์ เช่น การผสมเทียมเด็กในหลอดแก้ว การทำGift การฝากไข่ใน คำถามสำคัญที่จะต้องตั้งคำถามกับประเด็นเหล่านี้ คือ What Who Where When Why How อย่างเช่น  ใครฝากไข่ การแช่แข็งไข่หรือกระบวนการแช่แข็งเกิดขึ้นที่ไหน (ในคลินิก ในสถานพยาบาลหรือสถาบันเอกชนอื่นๆ) เมื่อใดที่ต้องแช่แข็ง(ช่วงวัย อายุ ) อะไรคือการแช่แข็งไข่ (ความหมาย) ทำไมต้องแช่แข็ง (การเติมเต็มความปรารถนาส่วนบุคคล ปัญหาทางสุขภาพ เช่น มะเร็ง ความต้องการทำงาน การแสวงหาคนที่ใช่ ) และแช่แข็งอย่างไร (รูปแบบวิธีการในการแช่แข็ง)

    2. การมองเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (ARTs) ในฐานะที่เป็นกระบวนการที่เรียกว่า การทำให้เป็นประเด็นทางการแพทย์ (Medicalization) ที่นำไปสู่การสร้างความรู้เกี่ยวกับเนื้อตัวร่างกายของผู้คนในเรื่องการเจริญพันธุ์ กระบวนการควบคุม สอดส่อง การจัดการเกี่ยวกับร่างกายของผู้คน โดยเฉพาะร่างกายของผู้หญิง ที่สามารถขยายความรู้เรื่องการแก้ปัญหาทางสุขภาพในเรื่องการเจริญพันธุ์ให้กับผู้คน กลายเป็นเรื่องของปัญหาสังคมในอนาคตได้เช่น สิทธิของการเกิดที่ถูกรับรองโดยกฎหมาย รวมทั้งประเด็นในอนาคตหากเรื่องของไข่และสเปิร์มสามารถซื้อขายกันในระบบตลาดได้ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการแก้ปัญหาในทางการแพทย์ที่นำไปสู่ไปปัญหาทางสังคม  ทั้งในแง่ของการซื้อขายในตลาด ที่ทำให้เกิดประเด็นของ Social Egg Freezing เป็นต้น

   3. การประกอบสร้างของความคิดว่าด้วยความเป็นแม่ (Construction of Motherhood) ที่สัมพันธ์กับวาทกรรม ความรู้ โครงสร้าง ที่ผลิตซ้ำความเป็นผู้หญิงที่ดี ความเป็นแม่ การอยู่ในสถาบันครอบครัวและการแต่งงาน ความสมบูรณ์ของครอบครัว แนวคิดเกี่ยวกับผู้หญิงที่ดี แม่ที่ดี และคำอธิบายเกี่ยวกับผู้หญิงเป็นสิ่งที่ถูกจัดเตรียมหรือการสร้างความพร้อมให้กับผู้หญิงในการเสียสละตัวเองเพื่ออนาคตที่ดีสำหรับลูกตัวเอง ที่สร้างแนวทางของระเบียบการควบคุมการใช้ชีวิตของผู้หญิง ในขณะที่มุมมองในแง่ของอัตวิสัยและความเป็นผู้กระทำการ ในแง่ของ การแช่แข็งไข่ อาจจะเป็นเครื่องมือที่ผู้หญิงทดลอง(Experiment) กับร่างกายของพวกเธอที่จะออกจากความรู้สึกในการรับผิดชอบต่อการผลิตสมาชิกและการตั้งครรภ์ที่สังคมพยามมอบหมายหรือวางภาระให้

  4. ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ของเทคโนโลยีเจริญพันธุ์กับเรื่องของชนชั้น (Class Implication) ความแตกต่างในประสบการณ์ของผู้หญิง ช่องว่างของประสบการณ์ในเรื่องของความเป็นแม่ การเลี้ยงดูเด็กระหว่างผู้หญิงที่ยากจนกับผู้หญิงที่ร่ำรวยที่แตกต่างกัน ความมีฐานะที่มั่นคงในทางเศรษฐกิจ มีการศึกษาที่สูง ที่สามารถนำไปสู่สถานภาพของการทำงานที่สูง รายได้ที่สูงขึ้น ในขณะที่ผู้หญิงที่อยู่ในสถานภาพต่ำและรายได้ต่ำ ในขณะที่ดูเหมือนเทคโนโลยีนี้จะสร้างความมีเอกสิทธิ์ให้กับผู้หญิง การทีอำนาจในการตัดสินใจเลือกในการให้กำเนิด ในขณะเดียวกันมันก็ Exclude ผู้หญิงอื่นๆที่ไม่สามารถจ่ายสำหรับการทำสิ่งเหล่านี้ที่มีราคาแพง.....ทำให้เทคโนโลยีนี้ถูกจำกัดกับกลุ่มผู้หญิงมีการศึกษาและชนชั้นกลางที่สามรถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ ในขณะที่ผู้หญิงทั่วไปในระดับล่างหรือในประเทศด้อยพัฒนา มีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ที่ทันสมัยนี้

    5. ประเด็นเรื่องของ Liberate หรือปลดปล่อยผู้หญิงจากการถูกควบคุม กดทับกับกระบวนการผลิตซ้ำหริการผลิตลูกที่สัมพันธ์กับร่างกายในเชิงชีววิทยาของผู้หญิง ในขณะเดียวกันมันก็คือการแก้ปัญหาทางการแพทย์ที่นำไปสู่ปัญหาทางสังคมที่ตามมา เช่นตลาดของการแช่แข็งของผู้หญิงวัยรุ่นที่ถูกเสริมแรงภายใต้วิธีคิดเรื่องความเป็นแม่ ที่ถูกทำให้กลายเป็นชะตากรรมธรรมชาติของผู้หญิง ดังนั้นหากเรามองปรากฏการณ์นี้ในลักษณะที่เป็น Ambiguous technology ที่สร้างความคลุมเครือ ภาวะอิหลักอิเหลื่อ หรือDilemma ที่มีลักษณะขัดแย้งกัน   การสร้างความรู้ที่เชื่อมโยงกับเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง ความสมบูรณ์ของร่างกายกับความสมบูรณ์เรื่องภาวะการเจริญพันธุ์ ภายใต้วาทกรรมของผู้หญิงที่มีสุขภาพดี (Healthy Women) ที่สะท้อนความมีสุขภาพที่ดีของผู้หญิง ที่จะรักษาศักยภาพของตัวเองในกระบวนการผลิตหรือการให้กำเนิด ผ่านการทำลายวงจรตามธรรมชาติในเส้นทางชีวิต (Life Course) การหยุดนาฬิกาทางชีววิทยา (Stop Biological Clock)

    6. ประเด็นเรื่องของสิทธิการเกิดและสิทธิเกี่ยวกับเนื้อตัวร่างกายที่สัมพันธ์กับเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ “ไข่ที่สมบูรณ์กับสเปิร์มที่ใช่” การประกันความเสี่ยง เก็บไว้ก่อน หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่นเจ็บป่วยหรือเป็นมะเร็ง รอเวลาที่พร้อม ยังสนุกกับการทำงาน อยากมีความมั่นคงในอาชีพ อยากเจอคนที่ใช่เพื่อสร้างครอบครัว

   7.มิติทางเพศสภาพ (Gender) และสตรีนิยม (Feminist) ให้มุมมองเกี่ยวกับการหนุนเสริมพลังและการกดขี่ผู้หญิงทีเป็นภาวะเหมือนเหรียญสองด้าน มาใช้ในการอภิปรายประเด็นเรื่องนี้  รวมถึงแนวคิดในการมองร่างกาย ร่างกายปัจเจก (Individual boy) ร่างกายทางสังคม (Social Body) การเมืองเรื่องของร่างกาย  (Body politics) ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับร่างกาย (Mindful Body) ที่สามารถเชื่อมโยง เพศวิถี เทคโนโลยีเจริญพันธุ์กับเรื่องร่างกายของผู้หญิงที่เป็นศูนย์ในเรื่องนี้

    คำถามที่สำคัญคือ เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นสิ่งถูกทำให้เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ(Gender) และการผลิตสมาชิกที่ผลิตซ้ำวาทกรรมและเพศสภาวะของผู้หญิงอย่างไร ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีเหล่านี้ก็อ้างถึงประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้คนที่ทุกข์ทรมานจากการตีตราทางสังคม การที่ร่างกายไม่สามารถมีบุตรหรือสร้างความชอบธรรมที่สมบูรณ์ สำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว หรือผู้หญิงโสดที่มีเพศวิถีแบบรักเพศเดียวกัน หรือไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศแต่อยากมีลูก เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีอนามัยเจริญพันธุ์เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมพลัง (ผู้หญิง) และการควบคุมเชิงการแพทย์ภายใต้กรอบคิดแบบชายเป็นใหญ่ (Patriarchal Medicine control)และตอกย้ำความคาดหวังภายใต้บรรทัดฐานแบบรักต่างเพศ (Heteronormative Expectation) เพื่อสร้างครอบครัว ที่สะท้อนอำนาจของการควบคุมสอดส่องโดยผู้ชาย ที่อยู่เหนือร่างกายและกระบวนการผลิตสมาชิกของผู้หญิง

 เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หรือARTs (Assisted Reproductive Technologies) คือ เครื่องมือของการกดขี่ภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่ (Instrument of Patriarchal  oppression )การอนุญาตยินยอมให้ความรู้แบบผู้ชายสถาปนาอำนาจที่เหนือกว่าในการควบคุมร่างกายของผู้หญิง การเกิดสิ่งที่เรียกว่า Overmedicalization ของการตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด การเลี้ยงดูเด็ก ในระบบการแพทย์แบบผู้ชายที่ครอบงำ โดยเฉพาะการรักษาประเด็นเรื่องของ Motherhood ที่เป็นศูนย์กลางของการทำให้ผู้หญิงทั่วโลกตกอยู่ภายใต้ความเป็นรองและมีอำนาจด้อยกว่าผู้ชาย เมื่ออยู่ในระบบของครอบครัวและการแต่งงาน เป็นต้น ในส่วนของความเป็นผู้หญิง ความเป็นผู้ชาย ไม่ได้ถูกกำหนดโดยธรรมชาติ แต่โดยวัฒนธรรม เนื่องจากธรรมชาติได้ทำให้ผู้หญิงถูกกำหนด หน้าที่ของการผลิตซ้ำเชิงร่างกาย (Reproductive Bodily function) ทั้งเรื่องของประจำเดือน การตั้งครรภ์ การเลี้ยงลูก การให้นม และการดูแลครอบครัว ที่กลายเป็นการจัดวางผู้หญิงให้ใกล้ชิดกับภาวะความเป็นธรรมชาติ ที่ถูกทำให้ยอมรับและคุ้นชินกับหน้าที่ดังกล่าว ที่ตรงกันข้ามกับผู้ชายที่อยู่ในด้านของการไม่ได้เป็นผู้ให้กำเนิดสมาชิก เป็นผู้จัดการและสร้างวัฒนธรรมทั้งในแง่ศิลปะ ศาสนา และอื่นๆ ที่มีอิสระ และเป็นผู้กดขี่มากกว่า ผู้หญิงที่เป็นผู้ถูกกดขี่และถูกควบคุม

8. ในประเด็นเรื่องขอ Post Modern Feminist แดริดาอธิบายเกี่ยวกับความหมายที่ถูกบรรจุไว้ในภาษา ที่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดแบบการเอาวัฒนธรรมที่เน้นตรรกะและเหตุผลเป็นศูนย์กลาง (Logocentric Culture) การปรากฏของความจริงที่พึ่งพาอยู่บนคำศัพท์ รูปสัญญะหรือสัญลักษณ์ต่างๆ ความคิดแบบชายเป็นใหญ่และการเอาลึงค์เป็นศูนย์กลาง แนวคิดเหล่านี้ได้สร้างระบบแบบคู่ตรงกันข้าม (Binary Opposition) ที่ได้สร้างตำแหน่งที่เป็นรองของผู้หญิง มดลูกผู้หญิงที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรของการผลิตสมาชิก การตอกย้ำภาพของเมียที่ดี แม่ที่ดีและลุกสาวที่ดี  ที่จำเป็นต้องถูกถอดรื้อ  โดยวิธีคิดแบบโพสต์โมเดิร์นเฟมินิสต์ สนับสนุนความคิดว่าด้วยความหลากหลาย (Multiplicity) ความเป็นพหุลักษณ์(Plurality)และความแตกต่าง(DIFFERENCE) โดยชี้ให้เห็นว่าไม่ได้มีวิถีเดียวในการเป็นผู้หญิงที่ดี (Good Women)

    รวมทั้งการค้นหาคำอธิบายว่าอะไรที่นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมของผู้คนในสังคม ความไม่เท่าเทียมทางเพศ วิพากษ์ถอดรื้อการเอาเหตุผลเดียวเป็นศูนย์กลาง  แต่สนับสนุนการก่อรูปของวาทกรรมที่หลากหลาย การถอดรื้อตัวText  สนับสนุนความเป็นองค์ประธานของผู้หญิง ดังนั้นเรื่องเพศ (Sex) ไม่ใช้สิ่งที่เป็นธรรมชาติ และไม่ใช่บางสิ่งที่ถูกกำหนดอย่างสมบูรณ์และสามารถกำหนดได้อย่างง่ายดาย แต่Sex คือส่วนหนึ่งของระบบการให้ความหมาย(Meaning)ที่ถูกผลิตผ่านภาษา ดังนั้นกลไกทางวัฒนธรรมใส่รหัสลงบนเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงพร้อมกับความหมาย รวมทั้งการวิเคราะห์การแสดงบทบาทโดยมองความสัมพันธ์ทางความรู้และอำนาจในการร่างหรือสร้างมุมมองของผู้หญิงเกี่ยวกับโลกทางสังคม

    Lacan และ Derrida เรียกว่า Masculine Feminine ที่ซึ่งความจริงของของผู้หญิง (Real Women) ไม่มี มีแต่ความเป็นผู้หญิงที่ผู้ชายมองเห็น  (The Woman that man see) นี่เพราะว่าคือความเป็นผู้หญิงภาใต้วาทกรรมของความเป็นผู้ชาย มันไม่ใช่ตัวผู้หญิงจริงๆ แต่กลายเป็นภาพสะท้อนของจินตนาการของผู้ชายต่อพวกเธอ ดังนั้นจะต้องเป็นผู้หญิงอย่างที่ผู้หญิงมอง (The Woman as Woman see)  ที่เรียกว่า Feminine Feminine ดังนั้นกระบวนการนี้จะเกิดได้ก็ต่อเมือ ผู้หญิงต้องหยุดใช้ภาษาของผู้ชาย (Masculine Language) เช่นแม่ที่ดี เมียที่ดี โดยใช้ภาษาของผู้หญิง รวมทั้งการพัฒนาเพศวิถีของผู้หญิง (Female Sexuality) และใช้สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการต่อสู้ต่อรอง

   9. ในแง่แนวคิดทฤษฎีว่าโครงสร้างและผู้กระทำการที่เชื่อมโยงการมองร่างกายในสองระดับ คือระดับแบบ Macroและ Micro โดยMicro  ความรู้สึกในความเป็นตัวตนและอัตลักษณ์ที่เกิดขึ้นภายในของปัจเจกบุคคลนั้นๆ เช่นในเรื่องของครอบครัว เรามีอิสระในการสร้างครอบครัวมากขึ้น ทั้งการให้ความหมาย การเลือกคู่ครอง การเลือกคู่ความสัมพันธ์ในแบบของเรา กับใครที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร เป็นการให้โอกาสใหม่กับตัวเอง เกิดกระบวนการสะท้อนย้อนคิด (Reflexive Project) เราต้องคิดใคร่ครวญตัวเองตลอดเวลา ต้องมีการตีความอยู่ตลอดเวลา

   การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่สามารถอธิบายในระดับ Micro ได้เพียงอย่างเดียวแต่ยังต้องเชื่อมโยงกบระดับ Macro ด้วย ในแง่ของรัฐและองค์กรทางสังคม ได้นำเสนอทางเลือกใหม่ๆที่กว้าวขวางมากขึ้นสำหรับคนในสังคม ที่ไม่ได้แยกขาดออกจากกันแต่มีความเกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ได้ เช่น การมีลูก กาคุมกำเนิด การใช้เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ การแต่งงาน  สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ขาดทั้งในระดับMacro และ Macro การมีความคิดต่อเรื่องของเพศสัมพันธ์และการแต่งงาน เชื่อมโยงกับเรื่องของศาสนา ทั้งความเสื่อม การตั้งคำถามต่อเรื่องศีลธรรมที่ศาสนากำหนด การเปิดพื้นที่ใหม่ๆทางศาสนา การตีความศาสนาใหม่ เพิ่มขึ้น ภายใต้การใช้เหตุผลและความรู้แบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งงาน การให้กำเนิด การรับรองบุตร และเรื่องเพศวิถี รวมทั้งประเด็นการต่อสู้เรียกร้องทางสังคม ภายใต้สิทธิในความเป็นผู้หญิง สิทธิทางเพศ สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ความหลากหลายทางเพศ ความเท่าเทียมทางเพศ (ที่เป็นเรื่องะดับโครงสร้าง Macro) แต่ในขณะเดียวกันก็เกี่ยวเนื่องกับความไม่พอใจต่อสิ่งเหล่านี้ ความไม่เป็นธรรม การกดขี่ขูดรีดทางสังคม ในชีวิตประจำวันของปัจเจกบุคคล (Micro)

          การเน้นย้ำโครงสร้างในประเด็นเรื่องของวาทกรรม ชุดความรู้ มีผลต่อมุมมองการรับรู้และการให้ความหมายและปฏิบัติการต่อการฝากไข่ การแช่แข็งไข่อย่างไร ปฏิบัติการของการฝากไข่ เชื่อมโยงกับชุดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ การแพทย์ อย่างไร รวมถึงมิติทางด้านประชากรที่เกี่ยวโยงกับอัตราการเกิด อัตราการตาย ภาวะวัยเจริญพันธุ์ เพราะมันทำลายสิ่งที่เรียกว่านาฬิกาทางชีวภาพ (Biological Cock) ในการเลื่อนชะลอ การแต่งงาน หรือการให้กำเนิดสมาชิก ความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับแนวคิดทางการแพทย์ กำกับควบคุมให้บุคคลเชื่อฟังและยอมตามอย่างไร ภายใต้ข้อมูลเชิงประจักษ์ จากการวิจัยการทดลอง ความรู้เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกาย สิทธิของผู้หญิง การอยู่เป็นโสดและอื่นๆ

          ในเรื่องของอัตวิสัยของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความรู้ที่ได้รับมา ประกอบกับบริบทแวดล้อมที่ก่อให้เกิดการกระทำต่างๆ รวมถึงสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม ความเป็นคนชนชั้นกลาง มีฐานะ การศึกษา เพราะเทคโนโลยีนี้เสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง  มีความเข้าใจในเทคโนโลยีที่สามารถประเมินความเสี่ยงได้ เป็นต้น ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า อัตวิสัยเป็นหน่วยพื้นฐานในการทำความเข้าใจการกระทำของบุคคล ที่เกิดจากการรับรู้ ความคิด ความรู้สึก รวมถึงวัฒนธรรมและสังคม การศึกษาเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ที่นำมาใช้ในการช่วยเหลือผู้คนจะทำให้เห็นภาพสะท้อนของอัตวิสัยและความรู้ทางวิทยาศาสตร์

 ความรู้ต่อร่างกาย ในทางชีววิทยา กายภาพและการผลิตสมาชิก การเข้าใจภาวะความเจ็บป่วย ความเสี่ยง การมีบุตรยาก การเป็นมะเร็งและอื่นๆ ความรู้ทางวัฒนธรรม ค่านิยมทางสังคมวัฒนธรรม การแต่งงาน การมีครอบครัว  ความรู้เหล่านี้ ทำให้ผู้คนได้รับความรู้ การนำความรู้ทางเทคโนโลยี ทางการแพทย์มาใช้จัดการเนื้อตัวร่างกาย เพื่อประกันความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิต ในขณะเดียวกันคำถามสำคัญที่น่าสนใจก็คือเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้เปลี่ยนแปลง คุณค่า ความหมายและรูปแบบของการดำรงชีวิต ผ่านปฏิบัติการเชิงอำนาจในรูปแบบทางการแพทย์ ในทางผัสสะ มันสูญเสียอารมณ์ความรู้สึกทางผัสสะไหม ในแง่ของคู่ความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ทางเพศ

          ดังนั้นประเด็นเรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วยมักจะถูกมองหรือทำให้เป็นปัญหาทางการแพทย์ (Medicalization) มากกว่าจะทำความเข้าใจเรื่องความไม่เป็นธรรม การกดขี่หรือความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ การเมือง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเพศและเพศวิถีที่เชื่อมโยงกับเนื้อตัวร่างกายของผู้คนในสังคม

Emily martin (1987)The  Women in the Body A Cultural Analysis  of Reproduction

Martin, L.J. (2010) Anticipation Infertility : Egg Freezing ,Genetic Preservation, and Risk.

Ortner,s. Is Female to male as nature is to culture  (1972)

Richard,S,E. (2013) Motherhood Rescheduled : New Frontier of Egg Freezing and the women who tried it.

Romain, T. (2012) Fertility, Freedom , Finally : Cultivating hope in the face of uncertain futures among egg freezing women.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...