วันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

โพสต์โมเดิร์น(Postmodern approach) กับการศึกษาประเด็นว่าด้วยผู้หญิงและการขายบริการทางเพศ (Sex workers) โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

โพสต์โมเดิร์น(Postmodern approach) กับการศึกษาประเด็นว่าด้วยผู้หญิงและการขายบริการทางเพศ (Sex workers)
วิธีคิดแบบโพสต์โมเดิร์นในการมองอัตลักษณ์ ตัวตนของผู้หญิงลาวอพยพที่เข้ามาขายบริการ ต้องทำความเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นถูกประกอบสร้างขึ้นอย่างหลากหลาย ที่สัมพันธ์กับประสบการณ์ของชีวิต การนำเสนอตัวตนหรือการเปิดเผยความจริงบางส่วนรวมทั้งความจริงที่ไม่ปรากฏหรือไม่เปิดเผย ที่อยู่ภายใต้การครอบงำของความรู้ อำนาจและวาทกรรมชุดต่างๆที่ไหลเวียนอยู่ในสังคม วาทกรรมเหล่านี้จะถูกประกอบสร้าง ถูกให้ความหมายและถูกตีความอย่างแตกต่างหลากหลายในบริบททางประวัติศาสตร์ การเมืองและสังคมและสะท้อนผ่านทางภาษา ดังนั้นแนวความคิดแบบโพสต์โมเดิร์นจึงต้องถอดรื้อ (Deconstruction) วิพากษ์ (Critical) ตัวบท (Text)ภาษา(Language/Dialogue)และวาทกรรม (Discourse)ที่ผลิตความรู้และอำนาจ ซึ่งกดทับ ปิดปังซ่อนเร้นตัวตนของผู้หญิงเหล่านี้
กระแสแนวคิดสตรีนิยมแบบโมเดิร์น ให้คำอธิบายว่าทำไมผู้หญิงต้องถูกกดทับ ขูดรีด มองความสัมพันธ์ของเพศสภาพที่ค่อนข้างมั่นคงซึ่งมองแบบวัตถุวิสัย (Objectivity) สตรีนิยมแบบโพสต์โมเดิร์น มองความเป็นอัตวิสัย (Subjectivity) ที่ความสัมพันธ์ของเพศสภาพเกี่ยวข้องกับความรู้ อำนาจและการปฏิบัติที่มีความเลื่อนไหล ซับซ้อน ขัดแย้งหรือย้อนแย้งกัน
ตัวตนของ Sex Worker จึงมีสถานะของการเป็นทั้งการเป็นผู้กระทำและถูกกระทำไปพร้อมกัน ดังเช่นการมอง Sex worker เช่นเดียวกับ ผู้กระทำการ (Agency) ซึ่งเป็นผลลัพธ์และทางเลือกภายใต้การครอบงำของระบบเศรษฐกิจ การแสวงหาความมั่นคงให้กับตัวเองและครอบครัวผ่านการขายเรือนร่างในระบบตลาดและอุตสาหกรรมการขายบริการที่ทำให้ทุกอย่างเป็นสินค้า มีมูลค่ามีราคาสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้  และมีความหมายที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันภายใต้ปฏิสัมพันธ์ของตัวตนของSex Worker กับระบบตลาด ระบบทุนนิยมและผู้ซื้อบริการที่มีความต้องการ ที่สร้างความหมายต่อการเป็น Sex worker คือคนที่ให้บริการทางเพศ (Sexual Services) กับผู้บริโภค (Consumer) อีกทั้ง Sex worker รวมถึงกลุ่มคนที่ถูกว่าจ้างในเรื่องทางเพศทั้งนักแสดงหนังโป๊ นักระบำเปลื้องผ้า ผู้ให้บริการเซ็กส์โฟนและโสเภณี (Dank,1999)
โดยในประเด้็นที่ผู้เขียนสนใจ คือการใช้คำว่า Sex Worker ให้เฉพาะเจาะจงลงไปโดยอ้างถึงผู้หญิงผู้ซึ่งมีส่วนร่วมในการติดต่อเกี่ยวข้องกับเรื่องของเพศสัมพันธ์ในรูปแบบของการซื้อขาย(ให้ค่าจ้างตอบแทน)  รวมทั้งSex worker คือ ผู้หญิงผู้ซึ่งเลือก(Chosses) ที่จะขายบริการทางเพศ (Sell Sexual Services)กับผู้ชายอย่างฉับพลันทันทีและแลกเปลี่ยนกับเงินโดยตรง หรือยาเสพติด อาหารหรือสิ่งของในการดำรงชีพอื่นๆ
การสร้างทางเลือกที่วางอยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของอำนาจ Agency ซึ่งหมายถึง การใช้ทางเลือกภายใต้ตำแหน่งที่อยู่ต่ำกว่า (Subordinate position) ผู้หญิงมีทางเลือกในเรื่องของอาชีพ Sex workerจึงมีลักษณะของ Agency เพราะว่าพวกเธอเลือกหรือสมัครใจที่จะทำอาชีพนี้ ที่ทำให้ผู้หญิงเลือกอาชีพ sex work บนพื้นฐานของเหตุผลที่หลากหลายของสภาวการณ์ ความพึงพอใจ เงื่อนไขข้อจำกัดและสภาพแวดล้อมของแต่ละปัจเจกบุคคล
ผู้หญิงเหล่านี้มีประสบการณ์ที่หลากหลายทั้งประสบการณ์ชีวิตความเป็นแม่ ลูกสาว ภรรยา การเข้าสู่การเป็น Sex worker รวมถึงประสบการณ์ทางด้านสุขภาพและความเจ็บป่วยที่สัมพันธ์กับการขายบริการทางเพศ  แม้กระทั่งความเจ็บป่วยดังกล่าวยังสัมพันธ์กับเรื่องของระบบสุขภาพ นโยบายสุขภาพที่ทำให้พวกเขากลายเป็นคนป่วย หรือร่างกายที่เจ็บป่วย เชื้อโรคที่ต้องควบคุมป้องกัน
 วาทกรรมแบบโพสต์โมเดิร์น (Postmodern discourse)
แนวความคิดแบบโพสต์โมเดิร์น คือความพยายามถอดรื้อ ตั้งคำถาม สงสัย เกี่ยวกับความเชื่อ ที่สัมพันธ์กับความจริง ความรู้ อำนาจ ตัวตน (The Self) และภาษา โดยเฉพาะสิ่งที่เป็น Representation ที่อ้างว่าสะท้อนความจริง โดยเฉพาะเสียงจากผู้มีอำนาจที่ผูกขาดความรู้ความจริง เช่น เสียงของแพทย์ที่ยืนยันอยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ เสียงของราชการหรือรัฐที่ผูกโยงกับเรื่องของกฎหมาย การเมือง ความมั่นคง เสียงของนักเศรษฐศาสตร์ที่อ้างถึงระบบตลาดและระบบทุนนิยมที่ครอบงำ และเสียงที่กดทับอื่นๆ โดยการเปิดพื้นที่ให้เสียงเล็กเสียงน้อยได้เล็ดลอดและเปิดเผยตัวตนออกมา เช่นเสียงของผู้หญิง เสียงของคนชายขอบ เสียงของคนดำ เสียงของผู้ถูกกดขี่ เป็นต้น
 เสียงของผู้ขายบริการ (Voice of the sex worker)
การสร้างวาทกรรมทางเลือกที่สะท้อนหรือสร้างความหมายที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องของภาษา ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน  ซึ่งแนวคิดแบบโมเดิร์น ที่มีวิธีคิดแบบคู่ตรงกันข้ามที่แยกอย่างชัดเจนระหว่างความสูงความต่ำ ความดำความขาว ความดีและความเลว จนไม่มีพื้นที่ตรงกลางหรือพื้นที่ก้ำกึ่งระหว่างคู่ตรงกันข้ามดังกล่าว หรือลักษณะที่เป็นทั้งสองขั้วรวมกัน ในขณะที่วิธีคิดแบบโพสต์โมเดิร์นเป็นการมองพ้นไปจากคู่ตรงกันข้ามดังกล่าว เช่น  คู่ตรงกันข้ามระหว่างตัวเอง (Self ) กับคนอื่น (Other) ที่จัดวางผู้หญิงให้กลายเป็นอื่นกับผู้ชายและสร้างอัตลักษณ์ของผู้หญิงที่ค่อนข้างมั่นคงแข็งตัวไม่ยืดหยุ่น เช่นความเป็นผู้หญิง, Heterosexual หรือ ถูกกดทับ รวมถึงมุมมองว่าผู้หญิงอ่อนแอและพาหะนำโรค ดังนั้นวิธีคิดแบบโพสต์โมเดิร์นต้องการถอดรื้อ ความหมายที่สร้างความเป็นอื่นเหล่านี้ เปิดเผยความซับซ้อนที่คนมองไม่เห็นหรือเสียงที่ไม่เคยได้ยิน ดังนั้นวาทกรรมทางเลือก การสร้างความหมายที่หลากหลายผ่านภาษา ตัวอย่างเช่น งานของ Laurie Bell (1987) ที่มองกระบวนการกลายเป็นชายขอบของ Sex worker และ Prostitute ในการสร้างชุดของคู่ตรงกันข้ามหรือความเป็นอื่น ในความเป็นผู้หญิงเลวซึ่งเป็นคู่ตรงกันข้ามของวาทกรรมผู้หญิงดีและผู้หญิงเลว (การแบ่งแยกความคิดเรื่อง Self กับ Other)
การประกอบสร้างความหมายของความเป็นผู้หญิงดีและผู้หญิงเลวที่เกี่ยวข้องกับบริบท เช่น ความเป็นผู้หญิง แม่และภรรยาของเธอที่บ้าน ที่ใช้ชีวิตกับลูกและสามี ในความสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียว กับการกลายเป็นผู้หญิงเลวหรือการเป็นอื่นซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์แบบขายบริการทางเพศกับผู้ชายแปลกหน้ามากมาย การถูกครอบงำด้วยวาทกรรมทางศีลธรรมและข้อปฏิบัติของเพศวิถี ภายใต้การหันเหเบี่ยงเบนทางเพศวิถี
การเคลื่อนย้ายความหมายของผู้หญิงไปยัง sex work กับ การค้ามนุษย์ผู้หญิงไปยัง prostitution ของผู้หญิงประเทศกำลังพัฒนาที่สะท้อนให้เห็นสิ่งที่เรียกว่า Agency และ Victimatization  ซึ่งทำให้เห็นความซับซ้อนที่มากกว่าการมองภายใต้ความคิดแบบโมเดิร์นที่มองเรื่องดังกล่าวว่าเป็นผลมาจากระบบทุนนิยมที่ผู้ชายเป็นผู้ครอบงำ โดยมองความเป็น subjectivity ที่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของทั้ง sex worker และ prostitutes ที่เลื่อนไหลมากกว่าที่จะคงที่ตายตัว
การวิเคราะห์ผู้หญิงที่เคลื่อนย้ายหรืออพยพจากลาวไปยังประเทศไทยเพื่อมาเป็น sex work โดยมองจากจุดยืนแบบPostmodernและตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างอำนาจที่สนับสนุนค้ำจุน ความรู้ที่ประกอบสร้างความจริงของสิ่งเหล่านี้และความหมายที่ผลิตออกมา
งานเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ของSex worker ที่เน้นย้ำอยู่บนพื้นฐานและอัตลักษณ์ความเป็น sex worker มากกว่าที่จะมองว่าพวกเธอเป็นผู้หญิง แม่ ลูกสาว พี่สาว น้องสาว พลเมืองและแรงงานอพยพที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย แนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์น เปิดพื้นที่ให้กับอัตลักษณ์ที่เลื่อนไหลหลากหลายของผู้หญิงกลุ่มนี้รวมถึงเพศวิถีที่หลากหลายด้วย รวมทั้งการสร้างและสะสมทุนผ่านร่างกายในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ทำให้เข้าใจการประกอบสร้างความเป็นหญิงขายบริการที่หลากหลาย
งานเขียนที่เกี่ยวข้องกับการสรุปเหมารวมและการมองประเด็นเรื่องโสเภณีกับการค้ามนุษย์ ได้ถอดหรือเปลื้องความเป็นผู้กระทำการ(Agency)ของผู้หญิงเหล่านี้ออกไป ดังนั้นเราต้องกลับมาฟังเสียงของผู้หญิงเหล่านี้ที่หลากหลาย (Multi voice มากกว่า Single Voice)  ผ่านการสะท้อนประสบการณ์ของพวกเธอเอง
ตัวอย่างเช่น เสียงของผู้หญิงและSex worker ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา เสียงของผู้หญิงผิวดำ ผิวขาว เสียงของผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ เสียงของผู้หญิงแรงงานอพยพลาว กัมพูชา พม่า เสียงของผู้หญิงแรงงานอพยพที่ผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย ผู้หญิงที่สมัครใจขายและถูกบังคับให้ขาย ซึ่งเป็นเสียงของความพึงพอใจและความเจ็บปวด (Pleasure and pain) ดังเช่นเสียงของsex workers อาจจะสะท้อนความระทมจากการถูกกดทับภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง เสียงของ sex workers  อาจสะท้อนความต้องการ ความปรารถนา ความพึงพอใจที่บ่อยครั้งมักจะไม่ปรากฏในทฤษฎีหรือชุดของวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาผู้หญิงเหล่านี้ รวมทั้งเสียงของ sex worker เปิดเผยประสบการณ์ อารมณ์ ความรู้สึก ตัวตน ร่างกายและความจริงของพวกเขา

งานศึกษาเกี่ยวกับผู้หญิงขายบริการส่วนใหญ่จะเน้นเปรียบเทียบSex workerในประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศโลกที่สาม แต่ในความเป็นจริงระหว่างประเทศโลกที่สามหรือประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันก็มีความแตกต่าง เช่น Sex worker ลาว พม่า กัมพูชา กับ ไทยที่มีสถานะที่ไม่เท่าเทียมกันก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...