กลุ่มศึกษาทาง มนุษยวิทยาการแพทย์ (Medical Anthropology)
ครอบคลุมประเด็นที่หลากหลายเกี่ยวกับสุขภาพ การเจ็บป่วย การรักษา
และระบบสุขภาพในมุมมองทางสังคมและวัฒนธรรม
ซึ่งผมคิดว่าสามารถแบ่งประเด็นสำคัญได้ดังนี้ 1. วัฒนธรรม สุขภาพ และความเจ็บป่วย
กลุ่มนี้เน้นศึกษาความหมายของสุขภาพและการเจ็บป่วยในแต่ละวัฒนธรรม
ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรค เช่น การแพทย์พื้นบ้าน
(Traditional Medicine) และการแพทย์แผนปัจจุบัน มุมมองของแนวคิดนี้
มองว่าการรับรู้สุขภาพและการเจ็บป่วยไม่ได้เป็นเรื่องสากล
แต่มีรากฐานจากวัฒนธรรมและความเชื่อของแต่ละกลุ่ม ตัวอย่าง
การมองว่าการเจ็บป่วยเป็นผลจาก “กรรม” ในบางสังคมที่นับถือพุทธศาสนา เช่น ประเทศไทย
ลาว พม่า และกัมพูชา เป็นต้น การใช้สมุนไพรและพิธีกรรมในระบบการแพทย์พื้นบ้าน เช่น
การรักษาด้วยหมอผีในกลุ่มชาติพันธุ์ ตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Byron Good
ที่วิเคราะห์ว่าการบรรยายความเจ็บป่วยของผู้ป่วยในแต่ละวัฒนธรรมมักสะท้อนค่านิยมสังคมนั้น
จุดเน้นอยู่ที่วัฒนธรรมและความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การมองว่าโรคเกิดจากอะไร เช่น
ในบางวัฒนธรรมเชื่อว่าโรคเป็นผลจากวิญญาณ ผี
หรือพลังเหนือธรรมชาติรวมทั้งความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุและการรักษาโรคที่แตกต่างกัน
เช่น การรักษาด้วยสมุนไพร พิธีกรรม หรือการแพทย์แผนปัจจุบัน เป็นต้น 2.
การแพทย์กับโครงสร้างสังคม มุมมองทางการแพืย์ภายใต้ความไม่เท่าเทียมในระบบสุขภาพ
(Health Inequality) การเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มชายขอบ (เช่น ผู้ยากไร้
ชนกลุ่มน้อย ชนพื้นเมือง) รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ระบบเศรษฐกิจ
และการจัดการสุขภาพ การแพทย์และระบบสาธารณสุขมักสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น
ความแตกต่างในการเข้าถึงการรักษาระหว่างชนชั้น, เพศสภาพ, ชาติพันธุ์
หรือพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ตัวอย่าง ในหลายประเทศ
คนจนมักมีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพต่ำกว่าเมื่อเทียบกับคนรวย
กลุ่มนี้มีมุมมมองว่า สุขภาพเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยปัจจัยทางสังคม เช่น ชนชั้น
ความยากจน และการเข้าถึงทรัพยากรทางการแพทย์ ตัวอย่างเช่นการศึกษาของ Paul Farmer
พบว่าโรคติดต่อ เช่น HIV และวัณโรค แพร่กระจายรุนแรงในกลุ่มผู้ยากไร้
เนื่องจากไม่มีทรัพยากรในการรักษา
หรือการศึกษาผลกระทบของระบบสุขภาพต่อกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น
ชาวพื้นเมืองอเมริกันที่เผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ
จุดเน้นคือการมองความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพ เข่น
โรคติดเชื้อมักแพร่กระจายรุนแรงในกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ยากไร้ ผู้พลัดถิ่น
หรือชนกลุ่มน้อย หรือการเข้าถึงการรักษาที่จำกัดในกลุ่มคนจนหรือพื้นที่ชนบท
ผลกระทบของโรคต่อโครงสร้างสังคม เข่น โรคระบาดไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการเสียชีวิต
แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจ การเมือง และความสัมพันธ์ในชุมชน เช่น การระบาดของ COVID-19
ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงสังคมและการทำงาน 3. ชีวการแพทย์
(Biomedicine) และอำนาจ
กลุ่มนี้มีการตั้งคำถามต่อบทบาทของการแพทย์แผนปัจจุบันในฐานะเครื่องมือของอำนาจ
รวมถึงการแพทย์แผนปัจจุบันในบริบทโลกาภิวัตน์ ชีวการแพทย์ (Biomedicine)
ไม่ได้เป็นแค่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์
แต่เป็นเครื่องมือที่สะท้อนอำนาจและอุดมการณ์ในสังคม ตัวอย่างเช่น
การตั้งคำถามต่อความเป็นกลางของการวินิจฉัยโรคที่มีอคติเชิงเพศ เช่น
การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าในผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย เช่นเดียว กับแนวคิดของ Michel
Foucault วิเคราะห์ว่าระบบการแพทย์มีบทบาทในการ “ควบคุม”
ร่างกายมนุษย์และทำให้เกิดการจัดระเบียบทางสังคม มุมมองการตีตราและการเลือกปฏิบัติ
ผู้ป่วยโรคติดเชื้อมักถูกตีตรา เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS
มักเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในหลายวัฒนธรรม การตีตรานี้ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อผู้ป่วย
แต่ยังทำให้คนในสังคมไม่กล้าเข้ารับการตรวจหรือรักษา 4. สุขภาพจิตและวัฒนธรรม
กลุ่มนี้ เน้นการรับรู้และจัดการสุขภาพจิตในแต่ละสังคม
ประเด็นการตีตราทางสังคมต่อผู้ป่วยโรคจิตเวช
รวมถึงการศึกษามิติทางวัฒนธรรมของภาวะความทรงจำเสื่อม เช่น งานของ Arthur Kleinman
ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตและความผิดปกติทางจิตในแต่ละสังคมสะท้อนระบบความคิด
ตัวอย่างเช่นงานของ Arthur Kleinman ในการศึกษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในจีน
พบว่าอาการทางจิตเวชมักถูกมองเป็น “อาการทางกาย” มากกว่า เช่น ปวดหัวหรืออ่อนเพลีย
หรือการตีตราผู้ป่วยจิตเวชในบางสังคมที่ยังมองว่าโรคจิตเป็นผลจาก “ผีเข้า”
สุขภาพจิตและวัฒนธรรม
เป็นประเด็นที่มนุษยวิทยาและจิตวิทยาวัฒนธรรมศึกษาเพื่อทำความเข้าใจว่า
สุขภาพจิตและความเจ็บป่วยทางจิตได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอย่างไร
ทั้งในแง่ของการนิยาม การแสดงออกของอาการ และวิธีการรักษา
ประเด็นสำคัญในสุขภาพจิตและวัฒนธรรม
โดยการนิยามสุขภาพจิตในแต่ละวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน
ความหมายของสุขภาพจิตไม่ได้เป็นสากล
วัฒนธรรมแต่ละแห่งมีกรอบแนวคิดที่แตกต่างกันเกี่ยวกับสิ่งที่ถือว่าเป็น “ปกติ” หรือ
“ผิดปกติ” ตัวอย่างเช่น ในวัฒนธรรมตะวันตก
สุขภาพจิตดีอาจหมายถึงความสามารถในการควบคุมอารมณ์และความคิด แต่ในวัฒนธรรมเอเชีย
สุขภาพจิตอาจเชื่อมโยงกับการรักษาความกลมเกลียวในครอบครัว
การแสดงออกของความผิดปกติทางจิตในแต่ละวัฒนธรรม
ความผิดปกติทางจิตอาจแสดงออกในลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ความวิตกกังวล
ในบางวัฒนธรรมอาจแสดงผ่านอาการทางกาย เช่น ปวดท้องหรือปวดหัว (somatization)
โรคซึมเศร้า ในวัฒนธรรมบางแห่งอาจถูกมองว่าเป็น “การสูญเสียวิญญาณ”
โรคทางจิตที่เฉพาะเจาะจงในวัฒนธรรม (Culture-Bound Syndromes)
โรคทางจิตบางประเภทเกิดขึ้นเฉพาะในบริบทวัฒนธรรม เช่น อโมก (Amok)
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่การแสดงความรุนแรงและพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างฉับพลัน
หรือ คอร์โร (Koro) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความเชื่อว่าของลับกำลังหดหายหรือถูกดูดเข้าไปในร่างกาย
ผลกระทบของบริบททางสังคมและวัฒนธรรมต่อสุขภาพจิต
วัฒนธรรมมีบทบาทในการกำหนดสิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงหรือการสนับสนุนสุขภาพจิต เช่น
ความคาดหวังในบทบาทเพศ ความกดดันทางสังคม เช่น การแข่งขันในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม
ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เช่น การอพยพและการพลัดถิ่น
แนวทางการรักษาในบริบททางวัฒนธรรม
วิธีการบำบัดที่เหมาะสมอาจแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม เช่น
การใช้การบำบัดด้วยพิธีกรรม การนั่งสมาธิ หรือการใช้ยาแผนปัจจุบัน
ตัวอย่างการรักษาความเจ็บป่วยทางจิตในบางสังคมอาจต้องอาศัยผู้นำทางศาสนาหรือหมอพื้นบ้านควบคู่กับจิตแพทย์
ตัวอย่างกรณีศึกษา เช่น ความเครียดจากการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรม (Acculturative
Stress) เช่น
ชาวอพยพและผู้อพยพมักประสบปัญหาสุขภาพจิตเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมบ้านเกิดและวัฒนธรรมใหม่
เช่น ความเหงา การเหยียดเชื้อชาติ และการปรับตัว หรือโรคซึมเศร้าในญี่ปุ่น
ในญี่ปุ่นการพูดถึงโรคซึมเศร้ายังถูกมองว่าเป็นสิ่งที่น่าอับอาย
ผู้ป่วยมักแสดงอาการทางกายแทนอาการทางจิต เช่น อ่อนเพลียเรื้อรัง รวมทั้ง
ความเชื่อเรื่องวิญญาณในไทย
โดยในวัฒนธรรมไทยความผิดปกติทางจิตบางครั้งถูกอธิบายว่าเกิดจาก “ผีเข้า” หรือ
“วิญญาณร้าย” ซึ่งนำไปสู่การรักษาด้วยพิธีกรรม เช่น การทำบุญหรือพิธีขอขมา
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ โรค PTSD ในผู้ลี้ภัย ผู้ลี้ภัยจากสงครามหรือภัยธรรมชาติ
มักประสบปัญหาสุขภาพจิต เช่น PTSD
ที่ได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ในอดีตและการขาดการสนับสนุนในสังคมใหม่
แนวคิดสำคัญที่เกี่ยวข้อง 1. Cultural Relativism in Mental Health
สุขภาพจิตควรได้รับการเข้าใจในบริบทของวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง
เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดสินจากมาตรฐานวัฒนธรรมอื่น 2. Explanatory Models of Illness
(Arthur Kleinman) วิธีการที่ผู้ป่วยและผู้ให้การรักษาเข้าใจโรคและการรักษา
อาจแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม 3. Global Mental Health
แนวคิดที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบสุขภาพจิตในประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด
โดยให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมท้องถิ่น 4. Stigma and Mental Health
การตีตราผู้ป่วยจิตเวชมีความรุนแรงมากในบางวัฒนธรรม
ซึ่งอาจส่งผลต่อการรักษาและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย 5. Cross-Cultural Psychiatry
ศึกษาเปรียบเทียบปัญหาสุขภาพจิตและการรักษาในบริบทวัฒนธรรมต่างๆ 5.
สุขภาพและเพศภาวะ (Gender and Health) มุ่งเน้นบทบาทของเพศในประเด็นสุขภาพ เช่น
สุขภาพผู้หญิง สุขภาพของกลุ่ม LGBTQ+
หรือการศึกษาประเด็นเพศในบริบทของการให้บริการสุขภาพ
บทบาทของเพศในการเข้าถึงและรับบริการสุขภาพ รวมถึงอคติในระบบการแพทย์ ตัวอย่างเช่น
การศึกษาความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงในระบบสาธารณสุข
ก็ต้องออกไปเที่ยวเปิดหูเปิดตาบ้างไหมล่ะไม่ได้อยู่แต่กลับบ้าน
การวิเคราะห์สุขภาพของกลุ่ม LGBTQ+ เช่น
การขาดการสนับสนุนในระบบสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศ 6. มนุษยวิทยาโรคติดเชื้อและโรคระบาด
ภายใต้การระบาดของโรค เช่น HIV/AIDS, COVID-19 และผลกระทบทางสังคม
การตอบสนองต่อโรคระบาดในแต่ละวัฒนธรรม การระบาดของโรคสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางสังคม
วัฒนธรรม และการเมือง ตัวอย่าง การแพร่ระบาดของ COVID-19
แสดงให้เห็นช่องว่างทางสุขภาพระหว่างคนรวยและคนจน ดังเช่นงานของ Emily Martin
ศึกษาการแพร่ระบาดของ HIV/AIDS ผ่านมุมมองวัฒนธรรม
มนุษยวิทยาโรคติดเชื้อและโรคระบาดมุ่งศึกษาโรคติดต่อในบริบททางวัฒนธรรม สังคม
การเมือง และเศรษฐกิจ
โดยให้ความสำคัญกับการที่โรคระบาดไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ทางชีวภาพ
แต่ยังเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางอำนาจ การตีตรา และความเหลื่อมล้ำในสังคม
บทบาทของการแพทย์และการจัดการโรคระบาด เช่นการวิเคราะห์บทบาทขององค์กรระหว่างประเทศ
เช่น WHO และรัฐบาลในการจัดการโรค
การพิจารณานโยบายที่อาจสร้างผลกระทบต่อกลุ่มชายขอบ เช่น การบังคับกักตัวผู้ติดเชื้อ
ตัวอย่าง การระบาดของ HIV/AIDS เช่น งานของ Paul Farmer
วิเคราะห์ว่าโรคนี้แพร่กระจายรุนแรงในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น เฮติ
ซึ่งคนยากจนขาดการเข้าถึงการรักษา หรือการตีตราผู้ป่วย HIV ในหลายสังคม
ทำให้ผู้คนกลัวการเปิดเผยสถานะการติดเชื้อ การระบาดของ Ebolaฃ
การศึกษาการแพร่ระบาดของ Ebola ในแอฟริกา
พบว่าความเชื่อในท้องถิ่นเกี่ยวกับผีและวิญญาณส่งผลต่อการรับมือโรค
รวมทั้งความไม่ไว้วางใจต่อบุคลากรทางการแพทย์จากภายนอกทำให้เกิดการต่อต้านการรักษา
COVID-19 มนุษยวิทยาได้วิเคราะห์ผลกระทบของโรคระบาดต่อวิถีชีวิต เช่น
การทำงานจากที่บ้าน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค การตีตราผู้ป่วย COVID-19
และการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้กลุ่มเปราะบางในสังคมเผชิญความลำบากมากขึ้น
วัณโรค (Tuberculosis) การศึกษาความเชื่อในชุมชนเกี่ยวกับโรควัณโรค
พบว่าในหลายพื้นที่ ผู้ป่วยถูกมองว่ามีความ “อ่อนแอ” ทางศีลธรรม
รวมทั้งการเข้าถึงยาและการรักษาเป็นปัญหาใหญ่ในพื้นที่ห่างไกล
แนวคิดสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น แนวคิด Biopower (Michel Foucault)
การควบคุมโรคระบาดสะท้อนการใช้อำนาจในการจัดการร่างกายของประชากร เช่น การกักตัว
มาตรการฉีดวัคซีน แนวคิด Structural Violence (Paul Farmer)
ความรุนแรงที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยตรง แต่จากโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เท่าเทียม
เช่น การขาดการเข้าถึงการรักษา หรือแนวคิด One Health Approachฃ
ที่เน้นการเชื่อมโยงสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
เพื่อเข้าใจการเกิดโรคติดเชื้อในบริบทกว้าง 7. สุขภาพโลก (Global Health)
เน้นความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นและโลกในประเด็นสุขภาพ นโยบายสุขภาพระดับโลก
และผลกระทบในระดับท้องถิ่น การจัดการสุขภาพในบริบทโลกาภิวัตน์ ตัวอย่าง
การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรสุขภาพโลก (WHO) และรัฐที่ยากจน เช่น
ผลกระทบของโครงการฉีดวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนาที่ถูกวิจารณ์ว่าเน้นเป้าหมายเชิงตัวเลขมากกว่าความยั่งยืน
8. เทคโนโลยีและสุขภาพ
เน้นศึกษาเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์และผลกระทบต่อสังคม
การศึกษาเกี่ยวกับการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และเทคโนโลยีชีวภาพ
บทบาทของเทคโนโลยีในระบบสุขภาพ ตัวอย่าง การศึกษา telemedicine ในพื้นที่ชนบท หรือ
งานของ Margaret Lock เรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะและผลกระทบเชิงจริยธรรม
การแพทย์สมัยใหม่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย
แต่ยังรวมถึงเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ, การปลูกถ่ายอวัยวะ,
และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวินิจฉัย รวมทั้งการใช้ wearable devices
ในการติดตามสุขภาพ การปลูกถ่ายอวัยวะและเทคโนโลยีทางการแพทย์งานของ Margaret Lock
เรื่อง “Twice Dead”
ศึกษาการปลูกถ่ายหัวใจในแง่มุมจริยธรรมและการท้าทายแนวคิดเรื่องความตาย
รวมทั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด
กำลังเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเรื่องการรักษาและสุขภาพ 9.
ความเป็นธรรมชาติและหลังมนุษย์ในสุขภาพ (Posthumanism and Health)
เป็นการพิจารณาสุขภาพผ่านมุมมองที่เชื่อมโยงมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บทบาทของสัตว์ พืช
และสิ่งแวดล้อมในกระบวนการบำบัด
การมองสุขภาพผ่านกรอบที่ก้าวข้ามการมุ่งเน้นแค่มนุษย์ ตัวอย่าง
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สัตว์เลี้ยง และสุขภาพในสังคมร่วมสมัย
การวิเคราะห์โรคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม เช่น
การเกิดโรคซิก้าจากยุงที่แพร่กระจายในพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย
ประเด็นนี้ในมนุษยวิทยาการแพทย์เน้นศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สิ่งแวดล้อม
และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่มีผลต่อสุขภาพ โดยไม่ยึดถือว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลาง
(posthumanism) แต่เน้นบทบาทของ “หน่วยตัวแทน” ต่าง ๆ เช่น สัตว์, จุลินทรีย์,
เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ที่เชื่อมโยงกันในการสร้างสุขภาพหรือโรค
ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้มองว่า สุขภาพที่เชื่อมโยงกับสิ่งมีชีวิตอื่น
สุขภาพมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว
แต่มีความสัมพันธ์กับสัตว์และสิ่งแวดล้อม เช่น โรคที่มาจากสัตว์ (Zoonotic
Diseases) เช่น COVID-19 หรือไข้หวัดนก รวมทั้ง
บทบาทของจุลินทรีย์ในระบบภูมิคุ้มกันและการย่อยอาหาร แนวคิดหลังมนุษย์
(Posthumanism) ท้าทายการมองมนุษย์เป็นผู้ควบคุมสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ที่เป็นความคิดดั้งเดิม ตัวอย่างเช่น การยอมรับว่าเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียสามารถ
“กำหนด” วิถีชีวิตมนุษย์ในระดับโลก ตัวอย่างเช่น การแพร่ระบาดของ COVID-19
โรคนี้ไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ทางชีวภาพ
แต่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์ (เช่น
การบริโภคสัตว์ป่า) หรือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์-เทคโนโลยี เช่น
การใช้แอปติดตามผู้ติดเชื้อ หรือกรณี Gut Microbiome
ที่มีงานวิจัยเกี่ยวกับจุลินทรีย์ในลำไส้ (gut microbiota)
ที่มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพ เช่น การย่อยอาหาร, สุขภาพจิต, และภูมิคุ้มกัน
โดยการมองว่าจุลินทรีย์เหล่านี้ไม่ใช่แค่ “ผู้อยู่อาศัย” แต่เป็น “ตัวแทนร่วม”
ที่ช่วยสร้างสมดุลสุขภาพ แนวคิดนี้เน้นการบูรณาการสุขภาพของมนุษย์ สัตว์
และสิ่งแวดล้อม เช่น การศึกษาโรคระบาดที่เชื่อมโยงสัตว์ป่า การทำเกษตรกรรม
และสุขภาพมนุษย์ แนวคิดสำคัญที่เกี่ยวข้อง 1. Posthumanism
ที่การท้าทายแนวคิดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง
และมองสุขภาพในฐานะผลลัพธ์ของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์
(non-human actors) 2. Actor-Network Theory (ANT)
โดยการมองสุขภาพว่าเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันของมนุษย์และตัวแทนอื่น ๆ เช่น
เทคโนโลยี, จุลินทรีย์, และสิ่งแวดล้อม 3. Ecological Anthropology
ที่วิเคราะห์ว่าสุขภาพของมนุษย์ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
10. นิเวศวิทยาสุขภาพ (Health Ecology)
เน้นการเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพมนุษย์กับระบบนิเวศ
ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ
ความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพในเขตเมืองใหญ่
การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การมองสุขภาพผ่านกรอบนิเวศน์วิทยา ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงในสิ่งแวดล้อม เช่น
การตัดไม้ทำลายป่า หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์โดยตรง ตัวอย่างคือ การแพร่กระจายของโรคเขตร้อน เช่น
ไข้มาลาเรีย ไปยังพื้นที่ใหม่เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น
อันนี้เป็นแค่การลองทบทวนคร่าวๆให้ผู้สนใจในประเด็นสุขภาพมีมุมมองที่ใบ้ในการวิเคราะห์หรืออธิบาย
ปรากฏการณ์และความเจ็บป่วยทางสุขภาพ
เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา... ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่ หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น.. การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร.. ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น