ยากับตัวตน มองผ่านการใช้ยาจิตเวช ผ่านหนังสือ Pharmaceutical Self ขอฃ Jenkins และคณะโดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล
หนังสือชื่อ Pharmaceutical Self: The Global Shaping of Experience in an Age of Psychopharmacology (2015) บรรณาธิการประกอบด้วย Janis H. Jenkins และ Laurence J. Kirmayer หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมบทความที่สำรวจผลกระทบของยาจิตเวชและยาประเภทอื่น ๆ ที่มีต่อประสบการณ์ส่วนตัวของผู้คน อัตลักษณ์ (self) และความสัมพันธ์ในสังคมในบริบททางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ดังส่วนหนึ่งของหนังสือที่บอกว่า
“Psychopharmaceuticals are not merely tools for addressing biological dysfunction but have become embedded in the narratives of identity and selfhood in ways that reshape how individuals understand their emotional and social lives.” (ยาจิตเวชไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการแก้ไขความผิดปกติทางชีววิทยา แต่ยังฝังอยู่ในเรื่องเล่าของอัตลักษณ์และความเป็นตัวตน ซึ่งส่งผลต่อวิธีที่บุคคลเข้าใจชีวิตทางอารมณ์และสังคมของตนเอง)
คำกล่าวนี้สอดคล้องกับชื่อหนังสือคือ Pharmaceutical Self ที่สะท้อนให้เห็นผลกระทบของยาต่ออัตลักษณ์และความเป็นตัวตนของผู้ป่วยหรือผู้ใช้ยา
แม้ว่าจะเป็นงานชิ้นหนึ่งที่ผมมองว่าเป็นงานมานุษยวิทยาการแพทย์ที่มีลักษะเป็น Pharmaceutical Anthropology ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของมานุษยวิทยาแพทย์ที่ศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของยาและเภสัชภัณฑ์ในมิติสังคม วัฒนธรรม การเมืองและเศรษฐกิจ โดยเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างการผลิต การกระจาย การบริโภคยา และผลกระทบที่ยาเหล่านี้มีต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ในบริบทต่าง ๆ
ในหนังสือมีการใช้แนวคิดและคำศัพท์เฉพาะหลายคำ ซึ่งเป็นคำศัพท์เฉพาะที่ใช้เพื่ออธิบายเกี่ยวกับยาที่ใช้ เช่น แนวคิดของ “psychotropic medications” หรือ Psychopharmaceuticals ใช้เพื่ออธิบายยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและจิตใจ เช่น ยาต้านเศร้า (antidepressants) หรือยาต้านความวิตกกังวล (anti-anxiety medications) ซึ่งอาจถูกใช้ในลักษณะที่ทำหน้าที่ “บรรเทา” ความทุกข์ในชีวิตประจำวันโดยไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจน
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดเรื่อง Pharmaceutical Self ซึ่งเป็นแนวคิดที่อธิบายผลกระทบของยาที่มีต่ออัตลักษณ์และความเป็นตัวตนของผู้ใช้ หรือแนวคิด Biomedicalization การที่กระบวนการทางการแพทย์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการใช้ยารักษาอาการที่ไม่ได้จัดว่าเป็นโรคในอดีต อาทิเช่น การใช้ยาต้านเศร้า (Antidepressants) สำหรับความทุกข์ในชีวิตประจำวัน, การใช้ยา ADHD ในกลุ่มผู้ใหญ่ (Off-Label Use), ยากระตุ้นการนอนหลับและการตื่น (Sleep Aids and Wakefulness Drugs), การใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อความงามหรือการต่อต้านวัย (Anti-Aging Hormone Therapy), การใช้ยาคลายวิตกกังวล (Anti-Anxiety Medications) เพื่อการใช้ชีวิตประจำวัน, ยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ (Sexual Performance Enhancers, การใช้ยาปรับอารมณ์ (Mood Stabilizers) ในผู้ไม่มีการวินิจฉัยทางการแพทย์, การใช้ยาลดน้ำหนัก (Weight Loss Medications) ในคนที่ไม่ได้เป็นโรคอ้วน เป็นต้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือ การเปลี่ยนการรับรู้เกี่ยวกับสุขภาพและความปกติ การเพิ่มความต้องการยาที่ไม่จำเป็น รวมถึงการสร้างมาตรฐานใหม่ที่กดดันให้คนต้อง “สมบูรณ์แบบ” ตามเกณฑ์ของสังคม
จุดเด่นของหนังสือ ผมมองว่าหนังสือเล่มนี้ให้มุมมองหลากวัฒนธรรมเกี่ยวกับการใช้ยา หนังสือเน้นการเปรียบเทียบการใช้ยาจิตเวชในบริบททางวัฒนธรรมที่แตกต่าง เช่น อินเดีย แอฟริกา และสหรัฐฯ ที่นำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจ ภาพสะท้อนถึงอำนาจของบริษัทยาในการกำหนดวิธีการรักษาโรคและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ “ตัวตน” ของผู้ป่วย ซึ่งครอบคลุมมิติด้านสังคมและจริยธรรม อาทิเช่น ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงยา และผลกระทบทางสังคมของการบริโภคยา ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ของยาจิตเวช ดังเช่นตอนหนึ่งของหนังสือที่บอกว่า
“The globalization of psychopharmaceuticals brings into focus the intersection of corporate interests, cultural values, and individual experiences, highlighting the unequal distribution of both access and meaning across diverse societies.” (โลกาภิวัตน์ของยาจิตเวชเผยให้เห็นจุดตัดระหว่างผลประโยชน์ขององค์กร คุณค่าทางวัฒนธรรม และประสบการณ์ส่วนบุคคล ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมทั้งในแง่ของการเข้าถึงและความหมายในสังคมต่างๆ)
“The pharmaceutical self is shaped not only by medical necessity but also by societal pressures, corporate marketing, and cultural narratives about health, happiness, and productivity.”(ตัวตนทางเภสัชภัณฑ์ถูกกำหนดไม่เพียงแต่ด้วยความจำเป็นทางการแพทย์ แต่ยังถูกกำหนดด้วยแรงกดดันทางสังคม การตลาดขององค์กร และเรื่องเล่าทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับสุขภาพ ความสุข และประสิทธิภาพ) นั่นคือภาพสะท้อนผลของยาต่ออัตลักษณ์ตัวตนในระดับโลกด้วย
แนวคิดสำคัญในหนังสือที่น่าสนใจคือ
1. Pharmaceutical Self แนวคิดนี้มุ่งเน้นไปที่ว่า เภสัชภัณฑ์มีบทบาทในการสร้าง “ตัวตน” หรือ “อัตลักษณ์” ของบุคคล อย่างไร เช่น การรับรู้ถึงตนเอง ความรู้สึกต่อชีวิต และการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
ยาจิตเวช เช่น ยาต้านเศร้าหรือยารักษาอาการจิตเภท ถูกมองว่าเป็นตัวกลางในการ “ควบคุม” อารมณ์หรือพฤติกรรม และมีผลต่อการกำหนดว่าใครคือ “คนปกติ” และ “คนป่วย”
2. Psychopharmacology and Globalization การแพร่หลายของยาจิตเวชทั่วโลกสะท้อนถึงกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งบริษัทยายักษ์ใหญ่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดวิธีการรักษาโรคทางจิตเวช รวมถึงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคในบริบทวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
3. Cultural Variation in Pharmaceutical Use แม้ว่ายาชนิดเดียวกันจะถูกใช้ทั่วโลก แต่ความหมาย การรับรู้ และผลกระทบทางสังคมของยาเหล่านี้จะแตกต่างกันไปตามบริบททางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น บางสังคมอาจมองว่ายาเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” หรือ “ยาวิเศษ” ในขณะที่บางสังคมอาจมองว่ายาคือเครื่องมือของการควบคุม
4. The Ethical and Moral Implications
หนังสือยังตั้งคำถามถึงความยุติธรรมทางสังคม เช่น การเข้าถึงยาในประเทศกำลังพัฒนา และผลกระทบต่อประชากรกลุ่มเปราะบาง
ตัวอย่างรูปธรรมจาก Pharmaceutical Self: The Global Shaping of Experience in an Age of Psychopharmacology แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของการใช้ยาจิตเวชในบริบททางวัฒนธรรมและสังคมที่แตกต่างกัน โดยในหนังสือมีการเน้นถึงผลกระทบเชิงอัตลักษณ์และมิติทางวัฒนธรรมที่ยาเหล่านี้สร้างขึ้นในแต่ละบริบท ตัวอย่างรูปธรรมจากหนังสือที่น่าสนใจเช่น
1. วัฒนธรรมการใช้ “ยาต้านเศร้า” ในอินเดีย
“In urban India, antidepressants are often used not only as remedies for clinical depression but also as enhancers of productivity and tools for managing the demands of modern life.” (ในเมืองใหญ่ของอินเดีย ยาต้านเศร้าไม่ได้ถูกใช้เพียงเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า แต่ยังเป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเครื่องมือในการจัดการกับความต้องการของชีวิตสมัยใหม่)
จากบทหนึ่งในหนังสืออธิบายถึงการใช้ยาต้านเศร้าในอินเดีย โดยชี้ให้เห็นว่าในขณะที่บริษัทยาพยายามสร้างตลาดใหม่ในประเทศกำลังพัฒนา ความเข้าใจเรื่อง “โรคซึมเศร้า” ยังไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความเชื่อดั้งเดิมในสังคมอินเดีย
โดยผู้คนบางกลุ่มใช้ยาเพราะเชื่อว่าสามารถช่วยเพิ่ม “ความสามารถ” ในการทำงาน มากกว่าที่จะมองว่ายาคือวิธีการรักษาโรค
ในอินเดีย ยาต้านเศร้าถูกใช้ไม่เพียงเพื่อรักษาอาการซึมเศร้า แต่ยังเป็น “เครื่องมือช่วยชีวิต” สำหรับคนทำงานในเมืองใหญ่ ตัวอย่างเช่น พนักงานออฟฟิศในมุมไบที่ระบุว่า เขาใช้ยาต้านเศร้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและจัดการกับความกดดันในชีวิตประจำวัน ในขณะเดียวกัน การใช้ยาถูกวิจารณ์ว่าเป็นการ “กลบปัญหา” ที่แท้จริง เช่น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมหรือการขาดสวัสดิการที่เหมาะสม
ดังนั้นบทบาทของยาต้านเศร้าหรือยาคลายเครียดในอินเดียถูกมองว่าไม่เพียงแต่ใช้เพื่อการรักษา แต่ยังทำหน้าที่ “เสริมสร้างชีวิต” (enhancing life) โดยมีคำว่า “mood enhancers” หรือ “life-balancing medications” ที่ปรากฏในงานเขียนเชิงการตลาดของบริษัทยา เพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าการใช้ยาเหล่านี้สามารถนำไปสู่ชีวิตที่สมดุลและมีความสุขมากขึ้น
2. การใช้ยารักษาโรคจิตเภทและการแพร่กระจายของยาจิตเวชในแอฟริกาใต้
ในชุมชนชนบทของแอฟริกาใต้ ยารักษาโรคจิตเภทถูกมองว่าเป็น “ของขวัญจากโลกตะวันตก” แต่ในขณะเดียวกันก็มีการผสมผสานกับความเชื่อทางจิตวิญญาณและการรักษาแบบดั้งเดิม
ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยรายหนึ่งระบุว่า เขาใช้ยาแผนปัจจุบันเพื่อควบคุมอาการหลอน (hallucinations) แต่ยังคงพึ่งพาผู้นำพิธีกรรมทางจิตวิญญาณในการรักษา “รากเหง้า” ของโรคที่เชื่อว่าเกิดจากวิญญาณบรรพบุรุษ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าการรักษาในแอฟริกามักไม่แยกระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์ดั้งเดิม อีกทั้งตัวอย่างในแอฟริกาชี้ให้เห็นว่า บริษัทยามักใช้โครงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นเครื่องมือในการแนะนำยาใหม่เข้าสู่ตลาดท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงยาเหล่านี้มักถูกจำกัดเฉพาะคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมทางสังคมด้วย
3. การใช้ยารักษาโรคจิตเวชและความขัดแย้งต่อเรื่องดังกล่าวในสหรัฐอเมริกา
ในบริบทของสหรัฐฯ การใช้ยารักษาโรคจิตเวช เช่น การใช้ยาเช่น Ritalin ในกลุ่มเด็กที่มีสมาธิสั้น (ADHD) ยาแก้สมาธิสั้น (ADHD) และยารักษาโรคจิตเภท ถูกมองว่าเป็นการ “จัดระเบียบ” ตัวตน (self-regulation) เพื่อให้เข้ากับมาตรฐานทางสังคม การศึกษาและการทำงาน
ตัวอย่างครอบครัวหนึ่งในสหรัฐฯ ระบุว่าการให้ลูกชายใช้ Ritalin ทำให้เด็กสามารถมีสมาธิและประสบความสำเร็จในโรงเรียน แต่ในขณะเดียวกันผู้ปกครองก็รู้สึกไม่สบายใจเพราะมองว่ายาทำให้ลูก “สูญเสียความเป็นตัวเอง” ดังเช่นตัวอย่างในหนังสือที่บอกว่า
“Parents often feel conflicted about medicating their children for ADHD, as it seems to normalize their behavior while raising questions about the loss of individuality and the ethics of control.” (ผู้ปกครองมักรู้สึกขัดแย้งกับการให้ลูกใช้ยา ADHD เนื่องจากยาช่วยทำให้พฤติกรรมของเด็กเป็นปกติ แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างคำถามเกี่ยวกับการสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองและจริยธรรมของการควบคุม)
หนังสือวิเคราะห์ว่าการใช้ยา ADHD ในสหรัฐฯ ไม่เพียงเป็นการรักษาโรค แต่ยังสะท้อนถึงแรงกดดันทางวัฒนธรรมที่เน้นความสำเร็จส่วนบุคคล รวมทั้งหนังสือยังชี้ให้เห็นว่า การใช้ยาจิตเวชในสหรัฐฯ มักได้รับอิทธิพลจากโฆษณาของบริษัทยา ซึ่งสร้างภาพลักษณ์ว่ายาคือ “คำตอบสุดท้าย” ของทุกปัญหาสุขภาพจิต
4. ยาต้านเศร้าและอัตลักษณ์ของผู้หญิงในญี่ปุ่น
ในญี่ปุ่น ผู้หญิงบางกลุ่มที่ใช้ยาต้านเศร้า (antidepressants) รายงานว่าการใช้ยาไม่ได้ช่วยเพียงบรรเทาอาการทางจิต แต่ยังช่วย “สร้างภาพลักษณ์ของความเข้มแข็ง” ที่เข้ากับบทบาททางสังคม เช่น การเป็นแม่หรือพนักงานที่มีประสิทธิภา ซึ่ง วัฒนธรรมญี่ปุ่นที่เน้นความอดทนและการซ่อนความอ่อนแอ ทำให้ผู้หญิงหลายคนยอมรับการใช้ยาเพื่อรักษา “ความสมบูรณ์แบบ” ในสายตาผู้อื่น แม้ว่าจะมีความขัดแย้งภายในตัวเองเกี่ยวกับการพึ่งพายา
5. การแพร่กระจายของยาต้านวิตกกังวลในบราซิล
ในเมืองใหญ่ของบราซิล เช่น ริโอเดจาเนโร ยาต้านวิตกกังวล (anti-anxiety medication) ได้รับความนิยมในหมู่คนชั้นกลาง โดยเฉพาะผู้หญิงที่ทำงาน การใช้ยาเหล่านี้ถูกเชื่อมโยงกับความกดดันทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น การต้องดูแลครอบครัวและทำงานเต็มเวลา ในขณะเดียวกัน บริษัทยาใช้การตลาดที่เน้น “การมีชีวิตที่สมดุล” และ “ความสุข” เพื่อกระตุ้นการใช้ยา ซึ่งส่งผลให้ยากลายเป็นส่วนหนึ่งของ “การบริหารจัดการชีวิต”
6. การทดลองยารักษา HIV ในประเทศกำลังพัฒนา
การทดลองยาในประเทศอย่างเคนยาและอินโดนีเซีย ชี้ให้เห็นว่าบริษัทยาข้ามชาติใช้โครงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อเข้าถึงกลุ่มตัวอย่างสำหรับการทดลองยา ผู้ป่วยในบางพื้นที่ยอมเข้าร่วมโครงการทดลอง เพราะมองว่าเป็นโอกาสเดียวที่จะได้รับการรักษา แม้จะรู้ว่าผลกระทบระยะยาวของยาอาจไม่เป็นที่รู้จัก
บทสรุปที่ได้จากตัวอย่างเหล่านี้ ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า เภสัชภัณฑ์ไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือทางการแพทย์ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงอำนาจ ความเชื่อ และวัฒนธรรม ในแต่ละบริบท
แนวคิด Pharmaceutical Self จึงชี้ให้เห็นว่า ยาส่งผลกระทบต่ออัตลักษณ์ของบุคคลและการมองตนเองในสังคม ตัวอย่างเช่น คนที่ใช้ยาอาจรู้สึกว่าตนเองกลายเป็น “คนที่ดีขึ้น” หรือ “เหมาะสมกับสังคมอีกทั้งประเด็นเหล่านี้สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบกรณีศึกษาในสังคมต่างๆและนำไปวิเคราะห์ต่อได้อย่างน่าสนใจ เช่น
1. ผลกระทบของยาต่อการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ การที่ผู้ป่วยเปลี่ยนพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพหลังการใช้ยา
2. อิทธิพลของบริษัทยา บทบาทของการตลาดและการสร้าง “ความต้องการ” ทางสังคม
3. ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและยา การที่ยาเดียวกันถูกตีความแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม
ผมว่าประเด็นเหล่านี้มีความน่าสนใจไม่น้อย และน่าจะเป็นปรเด็นที่นำไปถกเถียงในมิติเศรษฐศาสตร์สุขภาพ หรือ ประเด็นความไม่เท่าเทียมความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพได้ดีมากทีเดียว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น