ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พื้นที่ และสถานที่ กับการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

เนื่องในวาระครบรอบ 4 ปี การประกาศพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม หรือพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ของชาวกะเหรี่ยงโพล่ว บ้านพุเม้ยง์ อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี ผมนึกถึงงานของ Yi-Fu Tuan เรื่อง Space and Place: The Perspective of Experience (1977) Yi-Fu Tuan เป็นนักภูมิศาสตร์มนุษย์ ที่สนใจในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสถานที่และพื้นที่ หนังสือเล่มนี้สำรวจว่า “พื้นที่” (space) และ “สถานที่” (place) ไม่ได้เป็นเพียงลักษณะทางกายภาพ แต่ยังมีมิติทางวัฒนธรรม อารมณ์ และจิตวิทยาที่มนุษย์มอบความหมายให้กับพื้นที่ เขาอธิบายความแตกต่างระหว่าง Space vs. Place ว่า Space หมายถึงพื้นที่ที่กว้างใหญ่ คลุมเครือ และยังไม่มีความหมายชัดเจนิในขณะที่ Place คือพื้นที่ที่ถูก “แปลง” ให้มีความหมาย ผ่านประสบการณ์ ความทรงจำ และการกระทำของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น ห้องว่างเปล่า (space) อาจกลายเป็น “บ้าน” (place) เมื่อมนุษย์เข้าไปอยู่และสร้างความผูกพัน ประเด็นที่เป็นหัวใจหลักคือ การสร้างความหมายของสถานที่ โดยมนุษย์สร้างความหมายให้กับสถานที่ผ่านประสบการณ์ เช่น การอยู่อาศัย การทำงาน และพิธีกรรม ทำให้สถานที่สามารถสะท้อนความทรงจำส่วนบุคคลหรือประวัติศาสตร์ของกลุ่มคน นอกจากนี้ยังเกิดความสัมพันธ์ทางอารมณ์กับสถานที่ เพราะมนุษย์สามารถรู้สึกผูกพัน รัก หรือกลัวสถานที่ได้ ตัวอย่างเช่น บ้านเกิดเมืองนอนที่เป็นบ้านที่อยู่มาตั้งแต่เกิดอาจมีคุณค่าทางอารมณ์แม้จะยากลำบากในการอยู่อาศัยก็ตาม แนวคิดสำคัญที่ Yi-Fu Tuanใช้คือ 1. Topophilia (ความรักในสถานที่) เป็นคำที่ Yi-Fu Tuan ใช้อธิบายความรักหรือความผูกพันของมนุษย์ที่มีต่อสถานที่ ตัวอย่างเช่น การที่คนรักป่าเขาหรือท้องทะเล เพราะสถานที่เหล่านี้ทำให้พวกเขารู้สึกสงบและมีอิสระ รวมทั้งให้ทรัพยากรในการดำรงชีวิต 2. Place-Making (การสร้างสถานที่) การกระทำของมนุษย์ที่เปลี่ยนพื้นที่ว่างให้กลายเป็นสถานที่ที่มีความหมาย ตัวอย่างเช่น การตกแต่งบ้านหรือจัดงานเฉลิมฉลองในพื้นที่หนึ่งเพื่อสร้างความทรงจำฃ 3. Time and Place (เวลาและสถานที่) ที่ชี้ว่า สถานที่หนึ่ง ๆ มีความหมายที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ตัวอย่างเช่น วัดโบราณที่เคยเป็นสถานที่ทางศาสนา อาจกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว 4. Experience (ประสบการณ์) ประสบการณ์ของมนุษย์เป็นสิ่งที่ทำให้พื้นที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมและส่วนบุคคล ตัวอย่างเชิงรูปธรรมในงานของ Yi-Fu Tuan เช่น บ้านและความทรงจำ เช่น ห้องในบ้านที่ครอบครัวมักใช้เวลาร่วมกัน เช่น ห้องครัวหรือห้องนั่งเล่น กลายเป็น “สถานที่” ที่ผูกพันกับความทรงจำ ในสังคมชนบท บ้านยังสะท้อนถึงสถานภาพทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย หรือกรณีเมืองใหญ่ ย่านในเมือง เช่น ไชน่าทาวน์ (Chinatown) หรือย่านศิลปะ (art district) แสดงให้เห็นถึงการสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนในพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะ หรือย่าน Brick Lane ในลอนดอนที่สะท้อนวัฒนธรรมของผู้อพยพชาวบังกลาเทศ กรณีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อย่างเช่น วัดหรือโบสถ์ที่กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จากการประกอบพิธีกรรมและความเชื่อทางศาสนาฃ ตัวอย่างเช่นพระธาตุดอยสุเทพในเชียงใหม่ ที่เป็นจุดหมายของผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยว กรณี ธรรมชาติและพื้นที่สาธารณะ เช่น อุทยานแห่งชาติหรือสวนสาธารณะกลายเป็นสถานที่ที่เชื่อมโยงมนุษย์กับธรรมชาติ หรือ Central Park ในนิวยอร์ก เป็นพื้นที่พักผ่อนที่สำคัญของคนเมือง แนวคิดและตัวอย่างของ Yi-Fu Tuan ช่วยทำความเข้าใจว่าทำไมมนุษย์จึงผูกพันกับสถานที่บางแห่ง สามารถใช้เป็นกรอบแนวคิดในการศึกษาวัฒนธรรม พื้นที่ และอัตลักษณ์ของกลุ่มคน การเชื่อมโยงแนวคิดจาก “Space and Place: The Perspective of Experience” ของ Yi-Fu Tuan กับการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ในไทย ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์บนที่ราบ บนที่สูง ชาวเลอฝและอื่นๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับพื้นที่และสถานที่ได้ในหลายมิติ โดยเฉพาะในบริบทของการสร้างอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และการต่อสู้เพื่อสิทธิในพื้นที่ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะกรณีของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีการสร้างความหมายให้กับสถานที่ผ่านความเชื่อ ประสบการณ์ และพิธีกรรม อย่างเช่น กรณีพื้นที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Forest) ของชาวกะเหรี่ยง (Karen) ในประเทศไทย โดยชาวกะเหรี่ยงมองป่าไม่ใช่แค่ทรัพยากรธรรมชาติ แต่เป็นพื้นที่ที่มีจิตวิญญาณและความเชื่อเกี่ยวกับบรรพบุรุษ ดังนั้นการสูญเสียพื้นที่ป่าจากการพัฒนาหรือรัฐยึดคืน อาจนำไปสู่การสูญเสียอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่ผูกพันกับพื้นที่ ดังนั้นการปกป้องพื้นที่ป่าที่ทำกิน ที่เพาะปลูก ที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ ผ่านประเพณีวัฒนธรรม ต่างๆ รวมถึงการประกาศพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ก็เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขายึดถือที่เชื่อมโยงกับพิธีกรรม จิตวิญญาณและสิ่งแวดล้อม การสร้างพื้นที่ใหม่ไปเช่น พื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ พื้นที่ทางเศรษฐกิจมี่ซื้อขายสินค้า เช่น ผ้าพื้นเมืองทอกี่เอวกะเหรี่ยง ขนมหมี่สิ งานหัตถกรรมและอื่นๆ พื้นที่ที่สร้างขึ้นใหม่ (place-making) ที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านี้ ก็เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจ และยังเป็นจุดที่วัฒนธรรมชนพื้นเมืองผสมผสานกับความทันสมัย ดังนั้นการสร้างพื้นที่ขายสินค้าพื้นเมือง เช่น ผ้าทอ หรือเครื่องประดับพื้นถิ่น คือสิ่งที่สะท้อนอัตลักษณ์และวัฒนธรรมผ่านเศรษฐกิจ พื้นที่อยู่อาศัยและการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดิน การที่พื้นที่กลายเป็นสถานที่สำคัญผ่านการอยู่อาศัยและประสบการณ์ระยะยาว ดังเช่นการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินของชาวบ้านพุเม้ยง์ อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี ชาวกะเหรี่ยงถือว่าป่า ไร่หมุนเวียนและพื้นที่เจดีย์เจ้าวัด เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและวัฒนธรรม การถูกกีดกันออกจากพื้นที่ป่า พื้นที่วัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาตามนโยบายรัฐ โดยอ้างการอนุรักษ์ป่า ส่งผลต่อการสูญเสียทั้งพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่ทางวัฒนธรรม ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมีการต่อสู้เพื่อสิทธิในพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ทางศาสนา การเรียกร้องพื้นที่ทางจิตวิญญาณ พื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ชาวกะเหรี่ยงใช้เรื่องไร่หมุนเวียน พื้นที่ป่า แม่น้ำ และเจดีย์ เป็นพื้นที่สำคัญในการประกอบพิธีกรรมทางจิตวิญญาณ เช่น พิธีกรรมการไหว้เจดีย์ ปักสะเกิ่งในไร่ข้าว ในแม่น้ำ ในพื้นที่บ้านและอื่นๆ การมีพื้นที่เหล่านี้ทำให้พวกเขาดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้ได้อย่างมั่นคง ผมขอร่วมยินดีและเฉลิมฉลองในโอกาสพิเศษนี้ ปีที่ 4 และก้าวสู่ปีต่อๆไปอย่างมั่นคงครับ เสียดายผมติดภาระกิจหลักสูตร เลยไม่ได้ไปร่วมงานเฉลิมฉลองด้วยครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะ...

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile D...