ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

มานุษยวิทยา สาระสำคัญ การศึกษา และความท้าทาย มองผ่าน Anthropology :Why It Matters ของTim Ingold โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

“Human life is not lived in isolation but in a constant negotiation with the environment and others.” ในปัจจุบัน มีคำสำคัญที่นักมานุษย์ชอบใช้และมักเอ่ยถึงโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการผสมผสานกับสิ่งต่างๆ มากกว่าจะมองความเป็นศูนย์กลางของมนุษย์ และ ผลกระทบจากความทันสมัยและความก้าวหน้า รวมถึง เครื่องมือที่นักมานุษยวิทยาใช้ในการทำความเข้าใจคยามสัมพันธ์ที่ซับซ้อนนั้น เช่น Relationality (ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม) Cultural Diversity (ความหลากหลายทางวัฒนธรรม) Sustainability (ความยั่งยืน) Progress and Development (ความก้าวหน้าและการพัฒนา) Holism (มุมมององค์รวมในมานุษยวิทยา) และEthnography (การศึกษาชาติพันธุ์ วรรณนา และการทำงานภาคสนาม) ผมนึกถึงหนังสือ Anthropology: Why It Matters (2018)ของ Tim Ingold มุ่งเน้นการสำรวจบทบาทและความสำคัญของมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในโลกปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้เน้นให้ผู้อ่านเข้าใจว่า “มานุษยวิทยา” (Anthropology) มีความสำคัญอย่างไรในการทำความเข้าใจมนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในความสัมพันธ์ร่วมกับโลก หนังสือวิพากษ์แนวคิดที่มองมนุษย์แยกออกจากธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม และนำเสนอว่ามานุษยวิทยาคือการศึกษาชีวิตมนุษย์ในความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับวัฒนธรรม สังคม และโลกธรรมชาติ แนวคิดหลักในหนังสือเล่มนี้ สามารถดึงอออกมาได้หลายแนวคิดและมุมมองที่น่าสนใจ ที่พอสรุปได้มาคือ 1. มานุษยวิทยาเป็นการตั้งคำถามต่อความ “ปกติ” (Questioning Norms) ซึ่ง Ingold ชี้ให้เห็นว่ามานุษยวิทยาไม่ใช่การมองว่าโลกมีคำตอบแบบตายตัว แต่เป็นการตั้งคำถามต่อสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นปกติ เช่น ระบบเศรษฐกิจ การเมือง และวิทยาศาสตร์ แนวคิดสำคัญที่เขาท้าทายนักมานุษยวิทยาคือมานุษยวิทยาท้าทายกรอบคิดเดิมเพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดความเข้าใจใหม่ๆ ในสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น Ingold ชี้ให้เห็นว่าความสำคัญของมานุษยวิทยาคือการช่วยให้เราเข้าใจและตั้งคำถามต่อความเป็นมนุษย์ในเชิงลึก ( “Anthropology matters because it challenges us to rethink what it means to be human.”) รวมทั้ง มานุษยวิทยามีหน้าที่ไม่ใช่เพื่อแปลโลกให้เข้าใจแบบง่ายหรือผิวเผิน แต่เพื่อเปิดเผยให้เห็นความซับซ้อนที่แท้จริงของโลกต่างหาก นี่คือหน้าที่ของนักมานุษยวิทยา ( “The task of anthropology is not to simplify the world but to reveal its complexity.”) 2. การทำความเข้าใจโลกผ่านความสัมพันธ์ (Relationality) ซึ่ง Ingold เสนอว่ามนุษย์ไม่สามารถแยกออกจากธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมได้ ความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตอื่นๆ และมนุษย์ด้วยกันเองจึงเป็นหัวใจของมานุษยวิทยา ดังนั้นเราจึงควรมองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และโลกธรรมชาติไม่ใช่แยกส่วนแบบโดดๆ แก่นสำคัญของมานุษยวิทยาที่ว่า มนุษย์ดำรงชีวิตในความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบตัวเสมอ ดังนั้นมานุษยวิทยาจึงไม่ใช่ศาสตร์ของการวิเคราะห์เชิงปรัชญาในเชิงทฤษฎี แต่เป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริงของผู้คน โดยมีความสำคัญในฐานะศาสตร์ที่มองมนุษย์ในความสัมพันธ์กับโลก (“Anthropology is philosophy with the people in“) Ingold ท้าทายแนวคิดแบบดั้งเดิมที่มองว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งตายตัว โดยชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมคือกระบวนการที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา(“What we call culture is not a thing but a process of life.”) 3. การเรียนรู้จากผู้อื่น (Learning from Others) มานุษยวิทยาเป็นการเรียนรู้จากการใช้ชีวิตและการฟังเสียงของผู้อื่น โดยเฉพาะจากชุมชนที่มีวิถีชีวิตแตกต่างจากเรา แนวคิดสำคัญของเขาก็คือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองระหว่างวัฒนธรรม จุดมุ่งหมายของมานุษยวิทยาที่แตกต่างจากวิทยาศาสตร์อื่นๆ โดยนักมานุษยวิทยาไม่ได้เพียงสังเกตหรือวิจัยผู้คน แต่เปิดใจเรียนรู้จากพวกเขา (“The anthropologist does not study people but learns from them.”) 4. มานุษยวิทยาเพื่อโลกที่ดีขึ้น (Anthropology for a Better World) มานุษยวิทยามีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาที่โลกเผชิญ เช่น วิกฤตสิ่งแวดล้อม ความไม่เท่าเทียมทางสังคม และความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ดังนั้นมานุษยวิทยาจึงอยู่ในฐานะเครื่องมือในการสร้างความยุติธรรมและความยั่งยืนให้กับ ผู้คน สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในนิเวศทางสังคม วัฒนธรรม มุมมองของ Ingold เน้นว่ามานุษยวิทยาเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจในความแตกต่าง แต่ในขณะเดียวกันก็หาจุดร่วมเพื่อสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคตที่ดีร่วมกัน (“To think anthropologically is to engage with the world in a way that respects its diversity while seeking to find common ground.”) ผมชอบตัวอย่างเชิงรูปธรรมจากหนังสอเล่มนี้ หลายเรื่อง อาทิเช่น การตั้งคำถามต่อแนวคิดเรื่องความก้าวหน้า โดย Ingold ชี้ให้เห็นว่าความก้าวหน้า (Progress) ที่มักถูกกำหนดโดยโลกตะวันตก เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาจไม่เหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่นบางแห่ง ตัวอย่างเช่นในชุมชนชนพื้นเมืองในอเมซอนที่มีวิถีชีวิตพึ่งพิงธรรมชาติ ไม่ต้องการการพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบตะวันตก เพราะมันทำลายสมดุลของระบบนิเวศและวัฒนธรรมของพวกเขา ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ Ingold ยกตัวอย่างว่าการมองธรรมชาติในฐานะ “ทรัพยากร” ที่สามารถใช้ได้ตามใจชอบ เป็นผลจากแนวคิดแบบแยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติ แต่ในหลายวัฒนธรรม เช่น ชนเผ่าในแถบอาร์กติก มองธรรมชาติในฐานะคู่ชีวิตที่ต้องดูแลและเคารพ ตัวอย่างเช่น นักล่าชาวอินูอิตที่มีพิธีกรรมก่อนการล่าสัตว์เพื่อแสดงความขอบคุณต่อสัตว์ที่พวกเขาล่า การเรียนรู้จากชุมชนที่แตกต่าง Ingold เน้นว่ามานุษยวิทยาไม่ได้ศึกษาเพื่อ “ตัดสิน” หรือ “เปรียบเทียบ” วัฒนธรรมหนึ่งกับอีกวัฒนธรรมหนึ่ง แต่เพื่อเรียนรู้ เช่น การทำความเข้าใจว่าทำไมบางชุมชนถึงมองความมั่งคั่งไม่ใช่เรื่องของทรัพย์สิน แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ตัวอย่างเช่น ในชุมชน Melanesian การแลกเปลี่ยนของขวัญไม่ได้แสดงถึงทรัพย์สินส่วนบุคคล แต่เป็นวิธีการสร้างความสัมพันธ์และสถานะทางสังคม มานุษยวิทยากับประเด็นวิกฤตสิ่งแวดล้อม โดย Ingold เสนอว่ามานุษยวิทยาสามารถช่วยโลก ในการสร้างคยามเข้าใจว่ามนุษย์ในวัฒนธรรมต่างๆ มีวิธีการปรับตัวและจัดการกับธรรมชาติอย่างไร เช่น การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนฃ ตัวอย่างเช่น ชาวเกาะในแปซิฟิกที่พัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรน้ำและอาหารเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ บทบาทของมานุษยวิทยาในโลกสมัยใหม่คือความท้าทาย โดย Tim Ingold เสนอว่ามานุษยวิทยาไม่ได้เป็นเพียงวิชาที่ศึกษาอดีตหรือวัฒนธรรมไกลตัว แต่เป็นวิธีคิดและมุมมองที่ช่วยแก้ปัญหาในโลกปัจจุบัน เช่น ความไม่เท่าเทียม วิกฤตสิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกันของวัฒนธรรมที่แตกต่าง ดังนั้นมนุษย์ควรเข้าใจตนเองและโลกผ่านความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและเชื่อมโยงมากกว่าจะมองแบบแยกส่วน

ความคิดเห็น

  1. คิดและตั้งคำถามบ่อยๆเหมือนกันค่ะว่ามานุษยวิทยากำลังทำอะไรกันแน่ในโลกทุกวันนี้ เลยชอบบทความนี้มากเลย ว่าแต่ในเล่มนี้เขาได้พูดเรื่องการประยุกต์แนวทางการเข้าใจโลกแบบมานุษยวิทยาเข้ากับศาสตร์อื่น ๆ บ้างไหมคะ

    ตอบลบ
  2. ในหนังสือ “Anthropology: Why It Matters” ของ Tim Ingold ผู้เขียนได้กล่าวถึงมุมมองทางมานุษยวิทยาที่กว้างขวางและการพยายามเชื่อมโยงความเข้าใจโลกแบบมานุษยวิทยากับศาสตร์อื่นๆ อย่างชัดเจน Ingold ไม่เพียงแต่พูดถึงการทำความเข้าใจโลกแบบมานุษยวิทยาเท่านั้น แต่ยังเป็นการเสนอให้มานุษยวิทยาเป็นเครื่องมือที่ช่วยรวมศาสตร์อื่นๆ เข้าด้วยกันเพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นร่วมสมัย

    Ingold ชี้ให้เห็นว่ามานุษยวิทยาไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ในกรอบของสาขาวิชา แต่ควรมีบทบาทในการเชื่อมโยงความรู้จากหลากหลายศาสตร์ เพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การจัดการสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

    Ingold เสนอให้เรามองมนุษย์ในฐานะผู้มีปฏิสัมพันธ์และมีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติและโลกอย่างลึกซึ้ง เขาใช้แนวคิดจากสาขาต่างๆ เช่น ธรรมชาติวิทยาและปรัชญา เพื่ออธิบายวิธีที่มนุษย์ “เข้าไปอยู่ในโลก” แทนที่จะมองโลกจากภายนอก

    มานุษยวิทยาในฐานะการ “เรียนรู้กับ” ไม่ใช่แค่ “เรียนรู้จาก” Ingold เขาเสนอว่ามานุษยวิทยาไม่ควรมองเพียงแค่การศึกษา “มนุษย์อื่น” แต่ควรเป็นการมีส่วนร่วมในกระบวนการของการเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชนหรือกลุ่มต่างๆ

    ในหนังสื Ingold อภิปรายเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันระหว่างมานุษยวิทยากับสาขาอื่น เช่น การออกแบบ (Design Anthropology) วิทยาศาสตร์ (Science and Anthropology) ศิลปะ (Art and Anthropology) ทั้งนี้เพื่อสร้างวิธีคิดใหม่ๆ และช่วยแก้ปัญหาเชิงระบบที่ซับซ้อน

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะ...

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile D...