วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2564

ร่างกายและการสัก โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 ผมได้หนังสือจากน้องชายที่เป็นอัยการส่งมาให้ เกี่ยวกับเรื่องของการสักอีสาน ที่เป็นหนังสือนิทรรศการภาพถ่ายการสักขาลาย ที่ศิลปะดังกล่าวปรากฏผ่านเรือนกายของผู้สูงอายุที่เป็นเจ้าของร่างกาย หนังสือเล่มนี้สวยและให้ภาพถ่ายเพื่อเก็บเป็นเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สิ่งที่น่าเสียดายคือลวดลายที่ปรากฏในภาพ ที่สามารถนำไปวิเคราะห์เชื่อมโยงถึงความหมายในเชิงสัญลักษณ์ได้หากมีการศึกษาที่ลึกซึ้ง ผมเองเลยอยากเขียนเชื่อมโยงกับสิ่งที่ตัวเองเคยอ่านเรื่องราวของการสักในทางวิชาการมาบ้าง...

        ประวัติศาสตร์ของการสัก เป็นสิ่งที่หาร่องรอยชัดเจนได้ยาก แม้ว่าคำศัพท์ของคำว่าการสัก (Tattoo) เป็นสิ่งที่ไม่ได้ปรากฏจนกระทั่ง James Cook เดินทางไปที่เกาะโพลีนีเซียนในช่วงศตวรรษที่18 (Jill A. Fisher,2002) โดยการนำน้ำหมึกมาประทับลงบนเรือนร่างมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน

    Jones (2000) เสนอว่าคำศัพท์ในสมัยกรีก มีการใช้คำว่าการตีตราหรือStigma(ta) ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นเกี่ยวกับการสักและบ่งชี้ว่าการสักคือสิ่งที่มีมาอย่างยาวนานและถูกส่งผ่านไปยังยุคโรมัน โดยการเชื่อมโยงระหว่างคำว่า tattooing กับ Stigma คือสิ่งที่มีคุณค่ายึดโยงกันอยู่ในปัจจุบัน โดยความหมายของคำว่าStigmaในอังกฤษ คือเครื่องหมายของการสัก (Mark of Tattooing)พร้อมกับการตีความหมายของมัน สะท้อนให้เห็นว่าการให้ความหมายของการตีตราในทุกวันนี้อาจจะมาจากการปฏิวัติเกี่ยวกับเรื่องของการสักในยุคโบราณ วัฒนธรรมของการสักปรากฏในที่ต่างๆทั่วโลก ทั้งวัฒนธรรมการสักในอียิปต์ วัฒนธรรมการสักของโรมัน วัฒนธรรมการสักของชวอะบอริจิ้นและเมารี และอื่นๆที่สะท้อนให้ความหมายและความเชื่อที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องของการสัก

   วิถีทางของการสักเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับในสังคมกรีก ที่เป็นเรื่องของการลงโทษ(punitive)และการกระทำในเชิงของความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ในสังคมของกรีกเชื่อมโยงคำว่า Stigma กับการแข่งขันกันในกลุ่มของเพื่อนบ้าน ที่บ่งชี้ให้เห็นความสำคัญและลำดับชั้นทางสังคม ที่เกี่ยวข้องกับการลดระดับทางสังคม(Degrade) และการตีตรารวมทั้งการเป็นเครื่องหมายที่ถูกใช้สร้างความเป็นอื่น(Others)ภายในวัฒนธรรมของกรีกเช่นเดียวกับความเป็นอาชญากร(Criminal)และการเป็นทาส(Slaves)...

   หากจะลองใช้แนวคิดร่างกายทางสังคม (The Social body) มาเป็นกรอบของการวิเคราะห์  ที่มีมุมมองต่อร่างกายในฐานะที่เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ (natural symbol) ของเรื่องต่างๆทั้งมิติทางสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง โดยมีความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติ สังคมและวัฒนธรรม โดยการตีความวิพากษ์จะเน้นที่การหาความหมายระหว่างโลกทางสังคมและธรรมชาติ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนถึงความเป็นมาและความสัมพันธ์ทางสังคมในบริบทต่างๆ ดังเช่น งานศึกษาของ Terence Turner (1935–2015) ในงานที่มีชื่อเสียงของเขาเกี่ยวกับการศึกษาผิวหนังของสังคมในหนังสือ The Social Skin (1980) ที่เขาได้ทำการอฝหยิบยกวลีสำคัญของ ชอง ชาร์ค รุสโซ ที่กล่าวว่า มนุษย์คือสิ่งที่เกิดมาอย่างเปล่าเปลือยแต่ในทุกๆที่ล้วนมีเสื้อผ้า “Man is born naked but is everywhere in clothes” นั่นคือความสำคัญของวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ สำหรับเทอร์เนอร์นั้น พื้นผิวของร่างกายแสดงประเภทหรือขอบเขตที่มีร่วมกันทางสังคมที่กลายมาเป็นกระบวนการทางสัญลักษณ์ที่สัมพันธ์กับภาพสะท้อนของการขัดเกลาทางสังคม คุณค่าทางสังคมที่ปรากฏออกมาผ่านเนื้อตัวร่างกาย (Turner, 1980: 112)

   การสักในแต่ละสังคมวัฒนธรรม จะมีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไปและมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เช่น ในคริสต์ศาสนาห้ามมีการสัก เพราะพระเจ้าไม่ได้สร้างมนุษย์มา การสักทำให้เกิดการหลงใหล(Fetishism) และการบูชาวัตถุ ในสังคมกรีกสักเฉพาะใบหน้าของทาส ชาวเมารีในออสเตรเลียมักมีรอยสักในใบหน้าหรือในอดีต คนไทยสักเลขข้อมือเพื่อระบุมูลนาย กับการสักท้องแขน หน้าผาก เพื่อความอยู่ยงคงกระพันป้องกัน ป้องกันภันตรายจากหอกอาวุธ การลักขาลายเพื่อแสดงถึงความเป็นชายชาตรี รวมถึงใช้ในทางเมตตามหานิยม เป็นต้น ดังที่ปรากฏในบันทึกเรื่องราวของชนเผ่าต่างๆในโลก

    เรื่องการสัก ที่เป็นเสมือนภาพวาด บาดแผล หรือแผนที่ ที่จำลองลกทัศน์แบบจักรวาลวิทยา ความคิดความเชื่อของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สัญลักษณ์ทางศาสนา พระพุทธรูป ไม้กางเขน สัญลักษณ์สัตว์ เช่น เสือ มังกร หรือในสังคมไทยก็นิยมสักพวกเสือเผ่น ฉัตรเก้ายอด หนุมาน งู และอื่นๆ  กรณีที่พอเป็นหลักฐานชัดเจนในสมัยโบราณ ก็เช่น ลายของพวกคนไตกลุ่มอ้ายลาวในแถบมณฑลยูนาน  ทีมีบันทึกในจดหมายเหตุราชวงศ์ฮั่น ที่ระบุถึงประเพณีการสักรูปมังกร ซึ่งสอดคล้องกับตำนานนิทานปรัมปราเกี่ยวกับเรื่องการกำเนิดจากบรรพบุรุษที่เป็นพี่น้องมังกรเก้าตัว (พรชัย ตระกูลวรานนท์ ,2541:163) ที่เป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่มบรรพบุรุษ เชื้อสาย เครือญาติหรือ Totem เดียวกันของกลุ่มชาติพันธุ์ ...

     ดั้งนั้นในการสักบนเรืองร่าง เราสามารถพิจารณาและตีความการสักได้ 4 ลักษณะคือ ลักษณะแรก การสักเป็นงานศิลปะชาวบ้าน (Folk Art) ที่รับอิทธิพลจากประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้าน และแรงบันดาลใจส่วนตัวของผู้สักกับลักษณะที่สอง รอยสักเป็นเครื่องดึงดูดและแสดงออกซึ่งความหมายของการกระตุ้นเร้าอารมณ์ทางเพศ (Erotic Significance) เช่น การสักบนแผงหน้าอกของผู้ชาย หรือสักสีสดบนผิวกายของผู้หญิง ที่นิ่มนวลและไวต่อการสัมผัส ลักษณะที่สาม การสักมีฐานะเป็นเครื่องบ่งชี้ทางสังคม (Social Significance) เช่น การสักเครื่องหมายทาส ไพร่ว่าสังกัดไหน หมู่ทหาร โสเภณี นักโทษ ลักษณะที่สี่ ที่การสักเป็นเครื่องรางเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ (Shamanist Significance)สุดท้ายคือลักษณะที่ห้า เป็นการสักในสังคมร่วมสมัย ที่เกี่ยวข้องกับใจรัก (Passion) และความสวยงาม (Beauty) ที่เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล

การสักจึงเชื่อมโยงกับความหมายของตัวปัจเจกบุคคลและการให้คุณค่าในทางสังคมวัฒนธรรม

อ้างอิง

The Social Skin in HAU: Journal of Ethnographic Theory

Article  by Terence Turner 1980

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...