วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2564

ความรักผ่านมุมมองนักมานุษยวิทยา โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 ความรักในทัศนะของข้าพเจ้า

“รักนั้นเป็นฉันใด ใคร ใครบ้างจะรู้..”(คำขึ้นต้นในเพลงรัก ของ ธีร์ ไชยเดช)

    ความรักคืออะไร คำถามนี้ค่อนข้างตอบยาก หากจะตอบแบบโรแมนติกก็คงบอกว่ารักคือการให้ รักคือความสวยงามรักคือการไม่ครอบครอง ถ้าหากตอบแบบพวกลัทธิสงสัยนิยมหรือ ก็คงตั้งคำถามเกี่ยวกับความรักว่า รักแท้มีจริงหรือไม่. ..บางพวกที่ต่อต้านความคิดแบบแก่นสารนิยม (essentialism) อาจปฏิเสธว่ารักแท้ไม่มีมีแต่สิ่งที่เกิดจากการประกอบสร้าง .. แต่หากเรามองว่ามันเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึกที่มันแกว่งไปมา ขึ้นลง เดี๋ยวมี เดี๋ยวหาย เดี๋ยวรัก เดี๋ยวเลิก มันคือสิ่งที่อยู่ภายใน วัดยาก เข้าใจยาก..มันก็ยิ่งตอบยากไปอีกเมื่อมันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เป็น self experience คนมีความรักเท่านั้นถึงจะเข้าใจความรัก คนอกหักเท่านั้นถึงจะรู้ถึงสิ่งที่เรียกว่าความเจ็บปวด..

     เอาเป็นว่าในทัศนะของผมความรักมันคือส่วนประกอบที่อาจจะเล็กหรือใหญ่ในชีวิตของคนทุกคน ไม่ว่าคุณจะรักตัวเอง  รักคนอื่น รักสัตว์ รักต้นไม้ รักพ่อแม่  รักโลก รักธรรมชาติ หรือรักข้างเดียว รักสังคม รักประเทศ รักสถาบัน มันก็คือความรักทั้งสิ้น..

    หากจะลองเรามิติทางวัฒนธรรมมาอธิบายเรื่องความรักก็คงจะน่าสนใจไม่น้อย ว่ามันจะทำให้เราเข้าใจต่อความรักได้มากน้อยขนาดไหน..

      ตั้งแต่ยุคโบราณ ในสังคมกรีก โรมัน อินเดีย ต่างมีการอธิบายความรักเชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ (sacred) อย่างศอพระศิวะ ( ถูกเรียกว่าความรักสีดำเนื่องจากการที่พระศิวะกลืนกินพิษเพื่อไม่ให้ตกบนโลกทำลายมนุษย์ในช่วงกวนเกษียรสมุทรเพื่อสร้างน้ำอมฤต เลยทำให้คอมีสีดำและมีงูพันรอบคอ) การก่อเกิดเทพที่เกี่ยวข้องกับความรักชื่อว่ากามเทพของอินเดีย กรือเทพเจ้าคิวปิดของกรีก ...ความคิดเหล่านี้เชื่อมโยงกับอภิปรัชญาของนักปราชญ์ ชนชั้นสูง หรือขุนนาง  ที่พยายามสร้างและเชิดชูความสัมพันธ์ทางเพศของตนไว้บนฐานปิระมิดอันสูงสุด  ความพยามที่จะต้องสร้างให้เกิดนิยามความรักในเผ่าพันธ์ุหรือฐานันดรเดียวกัน เพื่อสิ่งที่สมบูรณ์ ดีงามและบริสุทธิ์  ในทางตรงกันข้ามหากเป็นความสัมพันธ์ทางเพศที่คนเหล่านี้มีกับคนที่ต่ำกว่าเช่นทาส เชลย หรือคนรับใช้จะเป็นเรื่องของการกดขี่ และมองคู่ความสัมพันธ์เหล่านี้เป็นไปเพื่อการบำบัดกามรมณ์หาใช่ความรักแต่อย่างใดไม่...

     ความรักเคลื่อนตัวพร้อมกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมหรือพัฒนาการทางสังคม ที่ทำให้ความหมายและการปฏิบัติต่อเรื่องความรักเปลี่ยนแปลงไป  เอาตั้งแต่ยุคก่อนเกิดรัฐ สังคมล่าสัตว์หาของป่า ความสัมพันธุ์ของผู้คน ซึ่งไม่แน่ใจได้ว่ามีสิ่งที่เรียกว่าความรักหรือไม่ อาจมีไม่มีก็ได้ หรือเป็นความต้องการแรงขับทางเพศที่เป็นกลไกตามธรรมชาติ แต่มีเรื่องของเพศสัมพันธ์แน่ๆการมีความสัมพันธ์ทางเพศเป้าหมายเพื่อผลิตสมาชิกเป็นแรงงานในการล่าสัตว์หาของป่า  เด็กส่วนใหญ่ถือเป็นสิ่งร่วมกันของสังคม ระบบครอบครัวและระบบเครือญาติ ในขณะที่สังคมแบบศักดินา ความสัมพันธ์ของคนในสังคม ทำให้เกิดความเป็นเจ้าของที่เฉพาะ  เช่นลูกมีฐานะเป็นสมบัติของพ่อแม่ ไพร่ห้าจ้าแผ่นดินคือสมบัติของประชาชน..ความรักของหนุ่มสาวกลายเป็นสิางต้องห้าม ในด้านหนึ่งเพื่อไม่ให้เกิดการปฏิเสธการคลุมถุงชนแบะการขัดขืนการเป็นเมียของเต้านายหรือขุนนาง การให้อิสระกับความรักของคนหนุ่มสาวที่เน้นอารมณ์มากเกินไปมันจึงไม่เป็นการดีนัก เพราะมันควรจะเป็นของที่คนบางกลุ่มเท่านั้นที่จะโปรดปรานได้..

     ดังนั้นความรัก ในสังคมศักดินาจึงกลายเป็นค่านิยมของการเป็นเครื่องประดับเสริมบารมีของชนขั้นนำ ที่เชื่อมโยงกับการกดขี่ทางเพศของผู้ชาย รักในแบบที่ต้องเป็นรักต่างเพศเท่านั้น เพราะถ้าไม่ใช่รักต่างเพศก็ไม่สามารถบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ทางสายเลือดของผู้ชายเข้าไปผสมกับผู้หญิง เพื่อสร้างสมาชิกใหม่ได้ ..ความคิดดังกล่าวสร้างมาตรฐานต่อเรื่องความรัก และทำให้ความรักบางอย่างกลายเป็นสิ่งน่าขยะแขยง ปกปิดและซ่อนเร้น 

   จนกระทั่งสังคมได้ก้าวเข้าสู่ทุนนิยมเสรี ที่นับเนื่องจากการพังทลายลงของศักดินาในยุโรป ทำให้วิธีคิดและการปฏิบัติเรื่องของความรักและกามรมณ์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอุดมคติและการเสพสุขของผู้คนในสังคมทุนนิยมเสรี  ความรักเป็นเรื่องของการร่วมเพศและเป็นทุกอย่างในชีวิต ความต้องการความรัก ก็นำไปสู่ธุรกิจ การทำให้ความรักและกามรมณ์กลายเป็นสินค้าที่สามารถหาซื้อได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย โดยไม่ต้องใช้เวลาเพื่อบ่มเพาะความรักได้ ความรักคือวาทกรรม เพราะมันคือสิ่งที่มีทั้งความรู้และอำนาจ มันทำให้คนมีอำนาจ ไร้อำนาจ สยบยอม เป็นคนที่เชื่องหรือเชื่อฟัง มองไม่เห็นความจริงบางอย่าง ดังที่ว่าความรักทำให้คนตาบอด

   ความรักเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ที่ต้องมีการจัดการและการวางท่าที หากเราแสดงหรือปลดปล่อยความรู้สึกออกมามากเกินไป  ย่อมจะเกิดปัญหา เช่น การแสดงความรักฉันท์ชู้สาวที่มากจนเกินงาม การแสดงความรักต่อบุคคลที่ไม่ถูกยอมรับทางสังคม เช่น พระกับฆาราวาส อาจารบ์กับลูกศิษย์ พี่กับน้อง  และอื่นๆ ในสังคมบ้านเรา ความรักถูกจัดการภายใต้ระบบคิดเรื่องกาละและเทศะ ความเหมาะสมในเชิง บุคคล เวลาและสถานที่

   ความรัก มักถูกอ้างเพื่อสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง เข่น ความเป็นรักเดียวใจเดียว รักพวกพ้อง รักลูกน้อง รักประชาชน เพียงแต่หากมองให้ลึก เราจะเห็นว่า ความรักที่เอ่ยออกมาเช่นนี้ ได้สร้างวาทกรรมและความชอบธรรมเพื่อให้เกิดการยอมรับและอ้างสิทธิ์ในการจัดการชีวิตคนอื่น

    ความรักไม่ใช่คำถามเชิงปรนัย คำตอบของความรักจึง ไม่ได้มีแค่ คำตอบว่า รักกับไม่รัก  ความรักเป็นกระบวนการที่มีการพัฒนาตัวเองไม่ใช่แค่เชิงปริมาณว่า รักมาก รักน้อย รักเท่าไหร่ รักกี่คน แต่มันคือ เรื่องเชิงคุณภาพหรืออัตนัยด้วย ปัญหาคือคนส่วนหนึ่งไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้  มักเร่งเร้าเอาคำตอบเกี่ยวกับความรักที่เขื่อว่ามีอยู่จริงภายใต้การวัดหรือจับต้องได้ ว่ารักหรือไม่รัก. การแสดงออกซึ่งความรักที่มองเห็น ...  ในขณะเดียวกันเขาคนนั้นก็อาจสับสน และไม่เข้าใจความรู้สึกของตัวเอง ดังที่เราจะเจอบางคนที่มักจะบอกว่า  “จะว่ารักก็ใช่ หรือจะไม่รักก็ไม่เชิง” ความสับสนเหล่านี้เลยเป็นปัญหาของสิ่งที่เรียกว่าความรักที่เกิดจากการไม่รู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเอง  ความรู้สึกที่ว่ามันก็ไม่ใช่แค่ระดับของความพึงพอใจมากน้อย แต่ยังเกี่ยวพันถึงความพอใจในคุณภาพด้วย..

    เอาเป็นว่าความรักเป็นทั้งสิ่งสวยงาม สร้างสรรค์ ให้พลังในการดำรงชีวิต ในแง่หนึ่งความรักก็มีอานุภาพในการทำลาย การสูญเสียตัวเอง  การสูญเสียเวลา ทุนทรัพย์ ภายใต้ความรู้สึกเต็มใจที่จะเสียเพื่อแลกกับความรัก บางคนใช้ความรักในการสร้างการเรียนรู้ ร่วมกัน รักสร้างอำนาจในการต่อรอง เราสองเท่ากัน ไม่มีใครเหนือกว่าใครในความรัก รักไม่มีเจ้าชายเจ้าหญิงมีแต่มนุษย์ธรรมดา  รักคือการเรียนรู้ความไม่สมบูรณ์เพื่อทำให้มันสมบูรณ์มากขึ้นเช่นนั้นเอง รักไม่มีพรมแดน ไม่มีเพศ ไม่เฉพาะมนุษย์ รักกับกามรมณ์ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่เชื่อมโยงกันได้ ในทางหนึ่งความรักมันก็มีได้โดยปราศจากกามรมณ์...เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...