วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

กระบวนทัศน์ทางสังคมศาสตร์ โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 อยากเขียนก็เขียน เพื่อบันทึกเรื่องราว มุมมองต่างๆของตัวเองต่อปรากฏการณ์ทางสังคม จริงๆมีเรื่องอยากเขียนในช่วงนี้หลายเรื่องแต่ติดที่ต้องทำหลักสูตรให้ผ่าน และได้เห็นข้อจำกัดและข้อวิพากษ์บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรที่ต้องดำเนินตามกรอบแบบสากลและภายใต้วิธีคิดแบบปฏิฐานนิยมเพื่อให้ก้าวสู่มาตรฐาน ที่สร้างคำถามและข้อรบกวนจิตใจของคนทำหลักสูตรมากๆ ...

ผมขอเริ่มจากเรื่องเล่าตามสไตล์การเขียนงานทางมานุษยวิทยาเพื่อให้เห็นวิวาทะของสิ่งที่เรียกว่าความรู้และความจริงของคนกลุ่มต่างๆภายใต้กระบวนทัศน์ที่ต่าง
“ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านคนหนึ่งกำลังคุยกับนักวิชาการเกษตรและนักวิศวกร”
นักการเกษตร : “พันธุ์ข้าวนี้เราทดลองกันมาแล้วว่าให้ผลผลิตดี ปริมาณข้าวต่อไร่ค่อนข้างสูงถ้าเทียบกับพันธุ์ข้าวอื่นๆ ยิ่งใช้ปุ๋ยเพิ่มผลผลิต ผลผลิตยิ่งดี”
นักวิศวกร: “เดี๋ยวมีเหมืองก็เจริญ มีปุ๋ยให้ใช้ ผลกระทบไม่ต้องห่วง เรามีการคำนวณตามหลักการที่เรียนมา แผ่นทรุดจากการทำเหมือง เราคำนวณโดยสูตรทางวิศวกร จะทรุดแค่ปีละ2-3 เซ็นติเมตรเท่านั้น มันน้อยมาก ชาวบ้านไม่รู้สึกหรอก”
แม่เฒ่าของหมู่บ้าน : “ลูกทั้งสองช่วยคำนวณต้นทุนของชีวิตให้ยายหน่อย เมื่อคืนยายนอนไม่หลับ เสียงระเบิด เสียงขุดเจาะเหมืองมันดังในหัว ยายรู้สึกไม่สบายกายใจ ข้าวก็ไม่อยากกิน ความเจริญ จีดีพีอะไร ค่าภาคหลวงจากการทำแร่ ยายไม่อยากได้หรอก อยากได้ชีวิตยายแบบเดิมคืนมามากกว่า ยายไม่เอาเหมืองแร่ เข้าใจยายหน่อย...”
Steve n Weinberg นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล พูดถึงกรณีการโกหก หลอกลวง ในการจำแนกแยกแยะระหว่างความตรงกันข้ามของนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและนักสังคมศาสตร์ ในประเด็นการต่อต้านความคิดในเชิงเหตุผล(anti-rationalism ) และความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับบริบท (Relativism) ในการศึกษาทางด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งทำให้เขาถูกวิจารณ์วิธีคิดของเขาและนักวิทยาศาสตร์ที่คิดแบบเขาว่าคุณกำลังพร่ำพรรณนาและสมาทานถึงฟิสิกส์อนุภาคมากเสียจนลดทอนสาระสำคัญ เนื้อหา คุณสมบัติในเชิงทฤษฎีและระเบียบวิธีของศาสตร์อื่นๆในลักษณะที่เรียกว่า reductionist view of science ...
ดังที่ Michael Holquist and Robert shulman (1996) ได้ชี้เอาไว้ในหนังสือของเขา รวมถึงชี้ให้เห็นการเข้ามาทบทวนตรวจสอบงานทางสังคมศาสตร์โดยนักวิทยาศาสตร์มากขึ้น ในขณะที่งานของนักวิทยาศาสตร์กับถูกตรวจสอบจากนักสังคมศาสตร์น้อยมาก ไม่ค่อยนิยมทำกัน อาจจะเพราะว่านักสังคมศาสตร์ เคารพในความแตกต่างของวิธีคิด วิธีการศึกษาและมุมมองของการมองโลกที่แตกต่างกัน การปะทะกันของคนที่สมาทานวิธีคิดแบบใดแบบหนึ่งไม่แตกต่างจากสิ่งที่ฟูโก้เรียกว่าล การเมืองว่าด้วยเรื่องความเป็นจริงของสังคม (Society ‘s truth politics)
ในความจริงทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์มีทั้งจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง ที่พื้นฐานของศาสตร์ทั้งสองก็มีมิติมุมมองที่แตกต่างกัน...จุดที่น่าสนใจคือ ความเป็นสังคมศาสตร์ที่เป็นคุณูปการในการทำความเข้าใจโลกและสังคม วิทยาศาสตร์ต้องการสร้างทฤษฎีในการอธิบายและคาดการณ์สิ่งต่างๆ ในขณะที่สังคมศาสตร์ก็ให้แง่มุมในการวิเคราะห์เชิงสะท้อนย้อนคิด (Reflexive analysis) การอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับค่านิยมหรือคุณค่า(discussion of value) ให้ความสนใจกับผลประโยชน์ อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ต่อสิ่งต่างๆที่วิธีคิดแบบปฎิฐานนิยมมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความมีเหตุผลไม่ปลอดจากอคติและไม่เป็นกลาง ...
จากวิธีคิดฟิสิกส์แบบนิวตัน ทวิลักษณ์แบบเดการ์ต จนถึงแนวคิดเรื่องควอนตัม ผมขอยกแนวคิดของ Sorokin (1937) ที่พูดถึงการเหวี่ยงกลับของระบบคุณค่า 3 อย่างที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อารยธรรมโลก...
โดยในวิธีคิดแบบแยกส่วน มองว่าวัตถุคือสิ่งที่มีอยู่จริง มีตัวตน สัมผัส วัดมันได้ จับต้องมันได้ ส่วนจิต คือ สิ่งที่เป็นอัตวิสัย subjectivity เกี่ยวโยงกับเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ในวิธีคิดแบบประจักษ์นิยมการจะวัดสิ่งเหล่านี้จึงต้องทำให้มันเป็น วัตถุวิสัย objectivity เสียก่อน แต่ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนคุณสมบัติแบบนั้น ก็เสมือนตัดสายสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ต้องตัดตัวแปรที่เป็นด้านอารมณ์ความรู้สึกออกไป หรือทำให้อารมณ์ ควมรู้สึกสามารถวัดได้ ....
แนวคิดแบบควอนตัมหรือ connecting of thing ระหว่างผู้สังเกตกับสิ่งที่สังเกต โลกไม่สามาถถูกจำแนกแยกออกเป็นส่วนๆ ที่อยู่ได้อย่างอิสระและอยู่รอดด้วยตัวมันเอง การมองสรรพสิ่งที่ต้องไม่แยกขาดจากกัน แต่พึ่งพิงซึ่งกันและกัน ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำคัญอย่างยิ่ง...
เหตุอย่างหนึ่งมักเกี่ยวเนื่องกับอีกอย่างหนึ่งเสมอ ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ลงไปให้ลึก เช่น การใช้ยาแก้ปวด มันทำให้ระดับของความปวดของเราน้อยลง หรือทำให้เราอดทนกับความเจ็บป่วยน้อยลงกันแน่ หรือ การมีสิ่งอำนวยความสะดวกทำให้เราทุ่นเวลาและรวดเร็ว หรือทำให้เราใช้เวลาอีกแบบหรือส่งผลต่อชีวิตในเรื่องการใช้เวลา สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เรียกว่า interconnection...
ความสำคัญจึงอยู่ที่การพยายามปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการมองสิ่งต่างๆใหม่ การพิจารณากระบวนทัศน์ต่างๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล อาจทำให้เห็นการพึ่งพากันเพื่อการสร้างสรรค์.....
ศาสตร์ทางด้านสังคมศาสตร์ก็ไม่ได้ปฎิเสธความเป็นวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด อย่างศาสตร์ด้านสังคมวิทยาก็คือ ก็มีการนำวิธีการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์มาเป็นรากฐานของการพัฒนาศาสตร์ให้เกิดการยอมรับ ที่ใช้กระบวนการตั้งสมมติฐาน การสังเกต การทดลอง การวิเคราะห์ประมวลผลมาใช้ในการศึกษาสังคม ความรู้ต่างๆในสังคมที่สามารถอธิบายได้ด้วยวิธีการสังเกตการณ์และจัดประเภทปรากฏการณ์ต่างๆอย่างเป็นระบบและเชื่อมโยงความสัมพันธ์กัน ตามหลักการของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ บุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาแนวคิดนี้คือ ออกุส ก๊อมต์ (August Comte: 1798-1857) นักปรัชญาและสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส ที่เขียนวิธีการศึกษาแนวนี้ไว้ใน Philosopher of Science..
ผมมองว่าสถานะของวิชาสังคมศาสตร์ ถูกต้องแล้วที่จะต้องทบทวนและยืนยันตัวเอง ให้อยู่บนจุดที่สร้างคุณค่าในแง่ของพื้นที่ในกิจกรรมสร้างสรรค์ทางปัญญา และสามารถนำไปสู่การปฎิบัติได้จริง การเป็นศาสตร์ที่สามารถชี้ให้เห็นปัญหา ความเสี่ยง รวมทั้งความเป็นไปได้ต่างๆในฐานะที่พวกเราเป็นปัจเจกหรือสมาชิกของสังคมล้วนต้องเผชิญโดยเฉพาะการนำความรู้ในศาสตร์ไปสนับสนุนหรือสร้างประโยชน์ในปฎิบัติการของชีวิตทางสังคมและการเมืองอย่างมีพลัง...
***แวดวงวิชาการจะเติบโตก้าวหน้ามาก หากนักวิชาการจะกล้าพิจารณาประเด็นปัญหาที่กว้างขวาง หรือนักวิชาการต่างๆเปิดประตูรับฟังทัศนะของคนอื่นที่มิได้อยู่ในแวดวงวิชาการของตัวเองบ้าง..
###มานุษยวิทยาสอนให้มองคน มองสังคม มองวิถีชีวิต และวัฒนธรรมเพื่อเข้าใจคนอื่นและเข้าใจตัวเอง เข้าใจศาสตร์ตัวเอง เข้าใจศาสตร์อื่น อย่างไม่มีอคติ ...ความจริงแท้ไม่มี มีแต่การประกอบสร้าง ความจริงนั้นไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว แต่มีหลายมิติ ความคิดที่เป็นสากลจริงๆแล้วไม่สามารถอธิบายได้เหมือนกันในทุกบริบท..งานทางสังคมศาสตร์ไม่ได้ต้องการสูตรสำเร็จหรือคำตอบที่เบ็ดเสร็จตายตัว แต่ต้องการให้ผู้อ่านคิดและตัดสินด้วยหัวใจ อำนาจอยู่ที่ตัวผู้อ่าน ไม่ได้อยู่ที่ผู้เขียน ขึ้นอยู่กับว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ มองว่าใช่หรือไม่ใช่ จริงหรือไม่จริง..ถกกันได้เต็มที่เลย ในสังคมแห่งความต่าง การเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ ความจริงของผม ความจริงของคุณ มันสามารถเป็นสิ่งเดียวกันได้ไหม หรือไม่ได้ ไม่มีวัน...ความจริงของใครก็เป็นอย่างนั้น ไม่ยอมเปลี่ยน เราแค่ยอมรับว่า..มีความแตกต่างมีความจริงหลายชุดบนโลกใบนี้..บางทีหากคนต่างGen มานั่งคุยกัน หากคุยด้วยปัญญา ด้วยเหตุผลและเปิดใจ เราอาจจะได้เรียนรู้ความคิดของกันและกัน ความเห็นที่แตกต่าง และนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมที่ดีขึ้นในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...