พื้นที่ สถานที่ในมุมมองทางมานุษยวิทยา กับ พื้นที่วัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธุ์ โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล
เนื่องด้วยใกล้จะถึงวาระครบรอบการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ หรือพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมของชาวบ้านพุเม้ยง์ ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี ผมจึงอยากหยิบยกงานที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ุกับการออกแบบการสร้างพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์มาเชื่อมโยง ให้เห็นภาพชัดเจน และร่วมเฉลิมฉลองโอกาสพิเศษ ผ่านงานเขียนขิ้นนี้
หนังสือชื่อ The Anthropology of Space and Place: Locating Culture ผู้เขียนคือSetha M. Low และ Denise Lawrence-Zúñiga ตีพิมพ์ประมาณปี2003 ข้อดีของหนังสือเล่มนี้คือ เป็นงานวิจัยเชิงลึกที่เชื่อมโยงมิติทางวัฒนธรรม สังคม และการเมืองเข้ากับพื้นที่และสถานที่ ใช้ตัวอย่างจากหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก ทำให้เห็นความหลากหลายและความซับซ้อนของการสร้างความหมายในพื้นที่
หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมบทความเชิงวิชาการที่สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม พื้นที่ (space) และสถานที่ (place) จากมุมมองทางมานุษยวิทยา โดยเน้นการศึกษาว่ามนุษย์สร้างความหมายต่อพื้นที่และสถานที่อย่างไรในบริบททางสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน แนวคิดหลักของหนังสือมี่น่าสนใจคือ
1. พื้นที่และสถานที่ในมิติวัฒนธรรม โดยผู้เขียนมองว่า พื้นที่ (space) มีลักษณะเป็นนามธรรม เป็นพื้นที่ว่างที่ยังไม่มีความหมายเฉพาะในขณะที่สถานที่ (place) นั้น เกิดขึ้นเมื่อพื้นที่ได้รับความหมายจากมนุษย์ ไม่ว่าจะผ่านกิจกรรม พิธีกรรม หรือประสบการณ์ส่วนตัวและส่วนรวม
2. การสร้างความหมายในพื้นที่ มนุษย์สร้างความสัมพันธ์กับพื้นที่ผ่านสัญลักษณ์และการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เช่น การสร้างบ้าน พื้นที่ชุมชน หรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนัันวัฒนธรรมเป็นตัวกลางที่ทำให้พื้นที่ธรรมดาๆ กลายเป็นสถานที่ที่มีคุณค่าและความหมายพิเศษ
3. การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่และสถานที่ ภายใต้อิทธิพลของโลกาภิวัตน์ เมือง และการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้พื้นที่ดั้งเดิมถูกเปลี่ยนแปลงไป เช่น การเปลี่ยนพื้นที่ชนบทเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว
4. อำนาจและพื้นที่ ในหนังสือผู้เขียนสำรวจว่าอำนาจและการเมืองมีบทบาทอย่างไรในการกำหนดพื้นที่และการใช้งาน เช่น การแบ่งแยกพื้นที่ของคนรวยและคนจน หรือการแย่งชิงพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์
ผมคิดว่าตัวอย่างเชิงรูปธรรมจากหนังสือที่น่าจะทำให้เราเห็นภาพชัดคือตัวอย่างของขุมชนต่างๆ ที่สะท้อนการจัดวางตัวเอง การให้ความหมายต่อพื้นที่ และอำนาจที่ปะทะกันในพื้นที่ ตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น
1. พื้นที่สาธารณะในเมือง โดย Setha M. Low สำรวจพื้นที่สาธารณะในเมืองใหญ่ เช่น สวนสาธารณะและย่านการค้า ว่าถูกออกแบบและควบคุมเพื่อสะท้อนโครงสร้างอำนาจและการจัดระเบียบสังคม
2. พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่าในเม็กซิโก โดย Denise Lawrence-Zúñiga ศึกษาวิธีที่ชนเผ่าท้องถิ่นในเม็กซิโกสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ผ่านพิธีกรรมและสัญลักษณ์ โดยเชื่อมโยงกับตำนานและความเชื่อพื้นบ้าน เขาใช้การศึกษาหมู่บ้านชาวพื้นเมืองในเม็กซิโก แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น โบสถ์และจัตุรัสกลางหมู่บ้าน ถูกใช้เป็นศูนย์กลางของพิธีกรรมและเทศกาลสำคัญ การวางตำแหน่งของโบสถ์และบ้านเรือนในหมู่บ้านมีความเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องเทพเจ้าและธรรมชาติ เช่น การตั้งโบสถ์ไว้ใกล้ภูเขาที่ถูกมองว่าเป็น “ภูเขาศักดิ์สิทธิ์” เมื่อพื้นที่เหล่านี้เริ่มถูกแปรเปลี่ยนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรมดั้งเดิมถูกลดบทบาทลงในกระบวนการบริโภควัฒนธรรม
3. การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของแรงงานข้ามชาติ ผู้เขียนได้มีการศึกษากลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เปลี่ยนแปลงพื้นที่ในเมืองใหญ่ เช่น การปรับพื้นที่ให้เหมาะกับวิถีชีวิตของพวกเขา
4. ตลาดในชนบทของแอฟริกา ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าตลาดในพื้นที่ชนบทไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ค้าขาย แต่ยังเป็นพื้นที่ของการสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ทางสังคม
5.พื้นที่สาธารณะในเมืองนิวยอร์ก (Setha M. Low) ซึ่ง Setha M. Low วิเคราะห์สวนสาธารณะ เช่น Bryant Park ในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สะท้อนการต่อสู้เชิงอำนาจระหว่างกลุ่มชนชั้นต่างๆ ซึ่ง Low ชี้ให้เห็นว่า แม้สวนสาธารณะจะถูกมองว่าเป็น “พื้นที่เปิด” สำหรับทุกคน แต่กลับมีการออกแบบและการจัดการที่จำกัดการเข้าถึงของบางกลุ่ม เช่น คนไร้บ้าน คนเร่ร่อน เป็นต้น รวมทั้งการจัดพื้นที่ใหม่ให้มีร้านอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกที่หรูหรา เปลี่ยนสวนให้กลายเป็นพื้นที่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและคนชนชั้นกลาง มากกว่าที่จะเป็นพื้นที่ของคนทุกชนชั้น
6. บ้านและอัตลักษณ์ในย่านชานเมืองสหรัฐอเมริกา ซึ่ง Lawrence-Zúñiga ศึกษาการออกแบบบ้านและบริเวณในย่านชานเมือง พบว่าการออกแบบสะท้อนอัตลักษณ์ของผู้อยู่อาศัย ตัวอย่าง เช่น การตกแต่งสนามหน้าบ้านด้วยพุ่มไม้หรือป้ายชื่อครอบครัว เป็นวิธีที่ผู้อยู่อาศัยสร้าง “สถานที่” ที่มีความหมายส่วนตัว ในเวลาเดียวกัน กฎระเบียบของสมาคมเจ้าของบ้าน (Homeowners’ Association) มีบทบาทจำกัดเสรีภาพของผู้อยู่อาศัยในการสร้างอัตลักษณ์บางอย่าง เช่น ห้ามติดตั้งของตกแต่งที่ “ดูแปลก” น่าเกลียดและดูคุกคาม เป็นต้น
4. ตลาดพื้นเมืองในโบลิเวีย กรณีพื้นที่ตลาดในเขตชนบทของโบลิเวียไม่ได้เป็นแค่สถานที่ค้าขาย แต่ยังเป็นจุดศูนย์กลางของความสัมพันธ์ทางสังคมตัวอย่างเช่น ตลาดในวันอาทิตย์ถือเป็นพื้นที่ที่คนจากหมู่บ้านใกล้เคียงมารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนไม่เพียงสินค้า แต่ยังรวมถึงข่าวสารและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชุมชน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาด เช่น การเข้ามาของธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้พื้นที่นี้เริ่มสูญเสียบทบาททางวัฒนธรรม
5. พื้นที่ของผู้อพยพในแคลิฟอร์เนีย โดยการศึกษาพื้นที่ที่ผู้อพยพในแคลิฟอร์เนียใช้ชีวิต เช่น อพาร์ตเมนต์และย่านการค้า พบว่าผู้อพยพสร้างความหมายให้พื้นที่โดยปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับวัฒนธรรมของพวกเขา ตัวอย่าง เช่น การปรับเปลี่ยนอพาร์ตเมนต์ให้เป็นพื้นที่รวมตัวของครอบครัวใหญ่ หรือการเปิดร้านขายอาหารพื้นเมืองที่กลายเป็นศูนย์กลางชุมชน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ช่วยให้ผู้อพยพสามารถสร้างอัตลักษณ์และความรู้สึก “บ้าน” ในต่างแดน แม้จะอยู่ในพื้นที่ที่แปลกแยกจากบริบทเดิม
6. พื้นที่ของคนไร้บ้านในซานฟรานซิสโก้ โดย Setha M. Low ศึกษาว่าคนไร้บ้านใช้พื้นที่ในเมืองเพื่อสร้างความหมายและความรู้สึกของ “บ้าน” ตัวอย่าง เช่น การจัดพื้นที่ใต้สะพานหรือในสวนสาธารณะให้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราว โดยมีการจัดพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนรวมในกลุ่ม ซึ่ง Low ชี้ให้เห็นว่าการจัดการพื้นที่เหล่านี้สะท้อนความพยายามของคนไร้บ้านในการสร้างอัตลักษณ์และการต่อต้านการควบคุมจากรัฐ
เมื่อเราลองเอาแนวคิดนี้มามองการจัดการพื้นที่ในประเทศไทยสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ หรือการออกแบบพื้นที่ในชุมชนเมือง ชุมชนชนบท ชุมขนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่น การประกาศพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม หรือ พื้นที่วัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธุ์ สามารถทำได้ผ่านการเน้นย้ำความสำคัญของการให้ความหมายทางวัฒนธรรมและบทบาทของพื้นที่ในฐานะเครื่องมือสร้างอัตลักษณ์และความยั่งยืนทางวัฒนธรรม ดังนี้
1. พื้นที่ในฐานะเครื่องมือสร้างความหมายทางวัฒนธรรม ภาวะที่พื้นที่ (space) กลายเป็นสถานที่ (place) เมื่อได้รับความหมายทางวัฒนธรรม สามารถนำมาปรับใช้ในการกำหนด “พื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม” ตัวอย่างเช่น การกำหนดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ศาลเจ้าหรือภูเขาที่ชนเผ่าชาติพันธุ์มองว่าเป็น “ศูนย์กลางจิตวิญญาณ” ให้เป็นพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษที่คุ้มครองการใช้งานตามประเพณีเดิม
2. การออกแบบที่สะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม การที่พื้นที่ได้รับการสร้างขึ้นเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เช่น การสร้างสถาปัตยกรรม การกำหนดสัญลักษณ์ในพื้นที่ เช่น ศาลาวัฒนธรรม เจดีย์เจ้าวัด และอื่นๆ ในบริบทของกลุ่มชาติพันธุ์ การประกาศพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษควรมีการออกแบบหรืออนุรักษ์พื้นที่ให้สะท้อนลักษณะเฉพาะ เช่น การอนุรักษ์บ้านเรือน การวางผังหมู่บ้าน หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของกลุ่ม
3. การคุ้มครองพื้นที่ในเชิงสิทธิและความเป็นธรรม ภายใต้การวิพากษ์อำนาจที่ครอบงำพื้นที่ เช่น การเปลี่ยนพื้นที่ของคนกลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกจัดการโดยกลุ่มภายนอก สำหรับพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม การวางกรอบนโยบายควรให้สิทธิการบริหารจัดการพื้นที่อยู่ในมือของกลุ่มชาติพันธุ์เอง เพื่อป้องกันการถูกยึดครองหรือบิดเบือนความหมาย
4. การสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนา การอภิปรายเรื่องการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ดั้งเดิมให้กลายเป็นพื้นที่สมัยใหม่ที่ตอบสนองต่อเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาตลาดหรือพื้นที่ท่องเที่ยว สำหรับพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ การพัฒนาควรอยู่บนพื้นฐานของการอนุรักษ์ เช่น การสนับสนุนเศรษฐกิจของกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านการอนุรักษ์สินค้าพื้นบ้าน การจัดงานเทศกาลประเพณี หรือการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ไม่ทำลายอัตลักษณ์ และจัดตามช่วงเวลาของพิธีกรรมจริงๆ เพื่อคงไว้ซึ่งความหมาย ความศักดิ์สิทธิ์ เป็นพื้นที่สะท้อนอัตลักษณ์ การสืบสานทางวัฒนธรรม และเป็นพื้นที่เรียนรู้จากคนข้างนอก ด้วยความเคารพ
เช่นเดียวกับกรณีศึกษาจากชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ในจีน ที่มีตัวอย่างการประกาศพื้นที่อนุรักษ์วัฒนธรรมในเขตปกครองตนเองชนชาติทิเบต (Tibetan Autonomous Region)การคุ้มครองพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น วัดและภูเขาที่เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม โดยรัฐบาลจีนกำหนดให้เป็นพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรม แม้ง่าจะยังปัญหาเรื่องของการจัดการพื้นที่ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยรัฐ ส่งผลให้วัฒนธรรมท้องถิ่นบางส่วนถูกแปรเปลี่ยนเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมากกว่าจะเคารพในวัฒนธรรม
หรือ การคุ้มครองพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่าในประเทศไทย เช่น การกำหนดเขตพื้นที่ป่าแม่แจ่มในเชียงใหม่ เป็นเขตคุ้มครองของชุมชนชาติพันธุ์ชาวปกาเกอะญอ เพื่อรักษาสถานที่ประกอบพิธีกรรมและป่าอันเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ป่าดังกล่าวไม่ได้เป็นแค่ทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังเป็น “สถานที่” ที่เชื่อมโยงความเชื่อและจิตวิญญาณของคนในชุมชน รวมทั้งการสร้างพื้นที่พิพิธภัณฑ์ชนพื้นเมือง การจัดตั้งพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ เช่น พิพิธภัณฑ์ชนเผ่าลาหู่ในแม่ฮ่องสอน ที่เน้นแสดงความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดวางสถาปัตยกรรมบ้านเรือนดั้งเดิม การใช้วัสดุธรรมชาติสิ่งที่สำคัญคือการทำให้พิพิธภัณฑ์เป็น “พื้นที่ของคนใน” มากกว่าพื้นที่แสดงเพื่อผู้มาเยือนอย่างเดียว
ข้อเสนอแนะนำสำหรับพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธุ์ตามความคิดของผมก็คือ
1. การมีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่และการกำหนดขอบเขตควรเกิดจากการพูดคุยและทำงานร่วมกับคนในชุมชนการออกแบบควรได้รับการพัฒนาร่วมกับชุมชนชาติพันธุ์ เพื่อให้แน่ใจว่าพื้นที่นี้สะท้อนความต้องการและความคาดหวังของคนในชุมชน
2.การศึกษาและการบอกเล่า โดยพื้นที่วัฒนธรรมควรมีส่วนที่อธิบายประวัติศาสตร์และความสำคัญในมุมมองของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นพื้นที่ของการส่งเสริมความรู้และการศึกษา พื้นที่วัฒนธรรมควรเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่ช่วยให้คนรุ่นใหม่และผู้มาเยี่ยมชมเข้าใจวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ
3.การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้หรือแหล่งน้ำที่ถือเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณ เชื่อมโยงกับมิติความยั่งยืน ซึ่ฃการออกแบบควรใช้ทรัพยากรท้องถิ่นและเคารพต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างพื้นที่ที่มีความยั่งยืนในระยะยาว
4. การยอมรับการเปลี่ยนแปลง พื้นที่ควรยืดหยุ่นพอที่จะปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตในยุคปัจจุบัน แต่ยังคงรักษาแก่นของวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ให้คนอยู่ได้ และวัฒนธรรมก็ดำรงอยู่ได้ ประสานความคิดของคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่อย่างลงตัว
5. การสะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ควรเน้นรูปแบบสถาปัตยกรรม การตกแต่ง และการใช้สัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ความเชื่อ และประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ รวมทั้งการผสมผสานความร่วมสมัยและดั้งเดิม แม้ว่าควรให้ความสำคัญกับรากเหง้า แต่พื้นที่ควรรองรับกิจกรรมและการใช้งานที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน
สรุป การออกแบบพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ควรคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความต้องการเฉพาะของชุมชน และบริบททางสังคม-ประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้สามารถสร้างพื้นที่ที่สะท้อนอัตลักษณ์และความภูมิใจในวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างแท้จริง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น