หนังสือคลาสสิคชื่อ The Cheyenne Way: Conflict and Case Law in Primitive Jurisprudence ผู้เขียนคือ Karl N. Llewellyn และ E. Adamson Hoebel ปีที่ตีพิมพ์ครั้งแรกคือ 1941
ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ ที่ผมว่าน่าสนใจคือ หนังสือเล่มนี้ถือเป็นผลงานบุกเบิกในสาขา มานุษยวิทยากฎหมาย (Legal Anthropology)
ศึกษาระบบกฎหมายดั้งเดิมของชนเผ่าไชแอนน์ (Cheyenne) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองอเมริกัน โดยใช้วิธีวิเคราะห์กรณีศึกษา (Case Law)โดย ผู้เขียนรวมแนวคิดทางกฎหมายสมัยใหม่เข้ากับการศึกษาเชิงมานุษยวิทยา ทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่ากฎหมายดั้งเดิมไม่ใช่ระบบที่ล้าหลัง แต่เป็นระบบที่ซับซ้อนและสอดคล้องกับโครงสร้างทางสังคม
รายละเอียดและแนวคิดสำคัญในหนังสือ
1. มุมมองที่แตกต่างเกี่ยวกับกฎหมายในโลกตะวันตก กฎหมายมักถูกมองว่าเป็นชุดของกฎเกณฑ์ที่กำหนดโดยรัฐ แต่สำหรับชนเผ่าไชแอนน์ กฎหมายคือ ระบบทางสังคม ที่พัฒนาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งและรักษาความสงบ
ชาวไชแอนน์ไม่ได้มี “ผู้พิพากษา” หรือ “ระบบศาล” ในแบบรัฐสมัยใหม่ แต่ใช้วิธีการที่ยึดตามข้อตกลงของชุมชน
2. แนวคิดเรื่องกรณีกฏหมาย( Case Law ) ของชนเผ่า ผู้เขียนศึกษาและรวบรวมกรณีข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเผ่า และแสดงให้เห็นว่าวิธีแก้ปัญหาในแต่ละกรณีนั้นสร้างมาตรฐานหรือ แบบอย่าง (precedents) ที่คนในชุมชนใช้เป็นแนวทางในอนาคต กฎหมายดั้งเดิมของไชแอนน์ไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ดำรงอยู่ในรูปแบบของ จารีตประเพณี และ ความทรงจำร่วมกัน
3. กระบวนการระงับข้อพิพาท
ระบบของชาวไชแอนน์ใช้การประชุมชุมชน (Council of Forty-Four) ซึ่งประกอบด้วยผู้นำเผ่าที่ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิก ผู้นำเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน ช่วยหาข้อตกลงระหว่างคู่กรณี โดยคำนึงถึงความสงบสุขของชุมชนเป็นหลัก
4. บทบาทของจารีตประเพณีและคุณธรรมในกฎหมาย กฎหมายของไชแอนน์มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อเรื่อง คุณธรรม และ การฟื้นฟูความสมานฉันท์ มากกว่าการลงโทษ แนวคิดนี้แตกต่างจากกฎหมายตะวันตกที่มักเน้นการลงโทษเพื่อยับยั้ง (Deterrence)
หนังสือ The Cheyenne Way มีตัวอย่างเชิงรูปธรรมหลากหลายที่แสดงถึงระบบกฎหมายดั้งเดิมของชนเผ่าไชแอนน์ ซึ่งออกแบบมาเพื่อรักษาความสงบในชุมชนและฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางสังคม ตัวอย่าที่น่าสนใจเช่น
กรณีการลักขโมย เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักขโมยในชุมชน ชาวไชแอนน์จะไม่เน้นการลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการกักขังหรือประหารชีวิต วิธีแก้ปัญหาคือ การให้ผู้กระทำผิดคืนของที่ขโมยไป และต้องแสดงความสำนึกผิดต่อหน้าชุมชน ดังนั้น หากผู้กระทำผิดยอมรับผิดและคืนของ ความสมานฉันท์จะถูกฟื้นฟู และสมาชิกคนอื่น ๆ จะถือว่าคดีจบสิ้น
กรณีการฆาตกรรม
ในกรณีที่มีการฆาตกรรม ผู้นำเผ่าจะประชุมเพื่อหารือและกำหนดข้อตกลงร่วมกันระหว่างครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้กระทำผิด โดย ผู้กระทำผิดอาจต้องจ่ายค่าชดเชย (Compensation) ในรูปของสัตว์เลี้ยง เช่น ม้า เพื่อไถ่ถอนความผิด กระบวนการนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อแก้แค้น แต่เพื่อสร้างความยุติธรรมและฟื้นฟูความสงบในชุมชน
กรณีการละเมิดข้อตกลงในกลุ่ม ในสถานการณ์ที่ชายคนหนึ่งในเผ่าไชแอนน์ละเมิดข้อตกลงที่ทำไว้กับผู้อื่นในชุมชน เช่น การไม่ส่งคืนม้าหลังการยืม วิธีการแก้ไขก็คือ ชุมชนจะเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยสมาชิกที่ได้รับการเคารพในเผ่าจะเป็นผู้จัดการเรื่อง โดยผู้กระทำผิดจะต้องคืนทรัพย์สิน และในบางกรณีอาจต้องมอบสิ่งของเพิ่มเติมเพื่อชดเชย เช่น ม้าหรือเครื่องประดับ เพื่อแสดงความสำนึกผิด ผลลัพธ์จากการใช้การตัดสินแบบนี้คือ การไกล่เกลี่ยจะมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูความไว้วางใจ ไม่ใช่การลงโทษ โดยชุมชนให้ความสำคัญกับการสร้างสันติภาพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งต่อเนื่อง
กรณีการผิดประเวณี ในสถานการณ์ที่ชายคนหนึ่งถูกจับได้ว่ามีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับภรรยาของชายอื่น ซึ่งเป็นการละเมิดศีลธรรมและกฎของชุมชน วิธีการแก้ไขของชุมชนคือ ผู้กระทำผิดต้องขอโทษต่อสามีของหญิงสาวและต่อหน้าชุมชน เพื่อชดเชยความเสียหาย ผู้กระทำผิดอาจต้องจ่ายค่าชดเชยในรูปของม้าหรือสิ่งของมีค่าให้แก่สามีของหญิงสาว ผลลัพธ์ก็คือชุมชนยอมรับการแก้ปัญหานี้เพราะมุ่งเน้นการสร้างฉันทามติระหว่างคู่กรณี รวมทั้งการหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น เช่น การแก้แค้นหรือการดวลกัน
กรณีการกีดกันทางสังคม (Social Ostracism) ในสถานการณ์ที่หากมีสมาชิกในเผ่าที่กระทำผิดซ้ำซาก เช่น ลักขโมยหรือทำร้ายคนอื่น โดยไม่แสดงความสำนึกผิด วิธีการแก้ไขของชุมชนคือ ชุมชนอาจเลือกกีดกันบุคคลนั้นออกจากการเข้าร่วมพิธีกรรมสำคัญ หรือไม่ให้บุคคลนั้นมีสิทธิในกิจกรรมของชุมชน บุคคลนั้นจะรู้สึกถึงผลกระทบจากการขาดการสนับสนุนทางสังคม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ การกีดกันเป็นการลงโทษในเชิงสัญลักษณ์ที่ส่งผลต่อจิตใจมากกว่าร่างกาย ที่ส่งผลให้บุคคลที่ถูกกีดกันมักพยายามปรับปรุงพฤติกรรมเพื่อกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
กรณีข้อพิพาทเรื่องทรัพยากร (เช่น น้ำและที่ดิน) สถานการณ์คือ สองครอบครัวในเผ่าเกิดข้อพิพาทเรื่องสิทธิการใช้น้ำในพื้นที่เดียวกัน วิธีการแก้ไขของชุมชนคือ ผู้นำในชุมชน (Council of Forty-Four) จะเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย โดยสอบถามข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่ายผู้นำอาจกำหนดให้ทั้งสองครอบครัวใช้ทรัพยากรร่วมกันตามเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกัน เช่น สลับกันใช้น้ำคนละวัน ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ชุมชนรักษาความสงบเรียบร้อยได้โดยไม่ต้องใช้กำลังบังคับหรือสร้างความขัดแย้งเพิ่มเติม วิธีการนี้สะท้อนถึงความยืดหยุ่นของระบบกฎหมายดั้งเดิม
กรณีการแก้ไขความขัดแย้งในกรณีสงครามระหว่างเผ่า เช่นสถานการณ์เกิดการปะทะกันระหว่างชาวไชแอนน์และชนเผ่าใกล้เคียง ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตของสมาชิกทั้งสองฝ่าย วิธีการแก้ไขคือตัวแทนของชนเผ่าจะเจรจากันเพื่อหาข้อตกลง เช่น การส่งมอบม้าหรือสิ่งของมีค่าเป็นค่าชดเชยให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต ข้อตกลงอาจมีพิธีกรรมเพื่อแสดงการคืนดี เช่น การแลกเปลี่ยนของขวัญ หรือการร่วมกินอาหารในพิธี ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ กระบวนการเหล่านี้ช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างเผ่า และลดความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามครั้งใหม่
ดังนั้นตัวอย่างเชิงรูปธรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ระบบกฎหมายของไชแอนน์ เป็นระบบที่มุ่งเน้น การสร้างฉันทามติและการฟื้นฟูความสัมพันธ์ มากกว่าการลงโทษอย่างรุนแรง การแก้ปัญหาในชุมชนเป็นกระบวนการที่เปิดกว้างและใช้วิธีที่สอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับการออกแบบระบบกฎหมายในยุคปัจจุบัน
บทบาทของ “Council of Forty-Four” ในการจัดการความขัดแย้ง ในชุมชนนี้โดย ผู้นำ 44 คนในชุมชนมีบทบาทสำคัญในการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้ง พวกเขาไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาด แต่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเสียงส่วนรวม ดังนั้นความสำเร็จของกระบวนการยุติธรรมขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้นำในการสร้างฉันทามติ
บทเรียนจากหนังสือในมุมมองกฏหมายร่วมสมัย
1. กฎหมายคือวัฒนธรรม
หนังสือแสดงให้เห็นว่ากฎหมายไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือของรัฐ แต่เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงความเชื่อ ค่านิยม และความสัมพันธ์ทางสังคม
2. การสร้างความยุติธรรมแบบฟื้นฟู (Restorative Justice)
กระบวนการของไชแอนน์เน้นการฟื้นฟูความสัมพันธ์มากกว่าการลงโทษ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมในวงการกฎหมายสมัยใหม่
3. บทบาทของผู้นำในสังคมดั้งเดิม
ระบบของไชแอนน์ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของผู้นำชุมชนในการสร้างความไว้วางใจและรักษาความสงบ
โดย สรุป หนังสือ The Cheyenne Way เป็นหนังสือที่แสดงให้เห็นถึงความลึกซึ้งของระบบกฎหมายในสังคมดั้งเดิม โดยชี้ให้เห็นว่ากฎหมายไม่ได้มีแค่ในรัฐสมัยใหม่ แต่ยังปรากฏในวัฒนธรรมที่ไม่มีระบบลายลักษณ์อักษร ผู้เขียนเชื่อมโยงระหว่างมานุษยวิทยาและกฎหมายสมัยใหม่ได้อย่างแยบยล ทำให้หนังสือเล่มนี้ยังคงเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญในสาขามานุษยวิทยากฎหมายจนถึงปัจจุบัน
เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา... ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่ หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น.. การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร.. ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น