แนวคิดมานุษยวิทยาระลึกรู้เป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจความสัมพันธ์ระหว่างสังคมมนุษย์และความคิดของมนุษย์
(พิมพวัลย์,2555) ในขณะเดียวกันนักมานุษยวิทยากลุ่มหนึ่งสนใจสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์และการตีความหมายที่สะท้อนให้เห็นความสนใจศึกษาวัฒนธรรมในความหมายที่มากกว่าการเป็นวัตถุของการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์
แต่ให้ความสำคัญกับความคิดและมุมมองของผู้คน ในทัศนะแบบคนใน
โดยเฉพาะการทำความเข้าใจระบบความคิด การให้ความหมายต่อผู้คน
สุขภาพและความเจ็บป่วยในวัฒนธรรมต่างๆ ในฐานะที่สุขภาพและความเจ็บป่วยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม
ที่วัฒนธรรมไม่ได้เป็นแค่ความคิดที่อยู่ในหัวของมนุษย์แต่แทรกตัวอยู่ในสัญลักษณ์ต่างๆที่อยู่รอบตัวมนุษย์
Clifford Geertz ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับสัญลักษณ์ว่า
สัญลักษณ์คืออะไรก็ตาม การกระทำ เหตุการณ์คุณลักษณะหรือความสัมพันธ์
ที่ใช้เป็นสื่อแนวความคิด (Conception) ซึ่งแนวความคิดคือ
ความหมายของสัญลักษณ์ (อคิน,2551:77) ดังนั้นสัญลักษณ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตในทางสังคมทุกรูปแบบ เพราะเป็นรูปแบบของความคิดที่สัมผัสได้
เป็นข้อสรุปของประสบการณ์ที่เรามองเห็น เป็นรูปธรรมของความคิด ทัศนะในการตัดสินใจ
ความปรารถนาและความเชื่อของมนุษย์ ทำให้ความหมายของสัญลักษณ์มีลักษณะเป็นส่วนรวม
ที่คนในสังคมรับรู้ร่วมกัน และใช้สัญลักษณ์ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน
รวมทั้งวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เกิดจากการสั่งสมและการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดประสบการณ์ในชีวิตมนุษย์
อาจกล่าวได้ว่าสัญลักษณ์เป็นตัวกลางในการส่งผ่านความหมาย การกระทำระหว่างคนในสังคม
สัญลักษณ์เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม
ดังนั้นวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นความหมายและการปฎิบัติเกี่ยวกับโรค
Clifford Geertz ได้นำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจ 2 ประเด็น อย่างแรกคือ เรื่องแบบแผนของวัฒนธรรม (Cultural Pattern) หรือชุดของสัญลักษณ์ (Set of Symbol) ที่มีสองประเภทคือ
ตัวแบบของ (Model of) และตัวแบบสำหรับ (Model for) ตัวแบบของ คือ
การสร้างโครงสร้างของสัญลักษณ์ขึ้นมาเลียนแบบสิ่งที่ไม่ใช่สัญลักษณ์ซึ่งอาจจะหมายถึงสิ่งที่เป็นจริง
(Model of Reality) ดังนั้นสัญลักษณ์ถูกสร้างขึ้นมาจากความจริงหรือจำลองความจริงขึ้นมา
เพื่อให้เรารู้จักหรือเข้าใจความจริง
ดังนั้นหน้าที่ของนักมานุษยวิทยาคือการแยกระหว่างความจริงกับสิ่งที่คนให้ความหมายต่อความจริงนั้น
Greetz อธิบายว่า แบบแผนทางวัฒนธรรมมีลักษณะสองด้านคือ
การให้ความหมายแก่สิ่งที่เป็นจริงทางสังคมและทางกายภาพโดยปรับรูปร่างของตัวแบบให้เหมือนสิ่งที่เป็นจริง
“Model of” กับ
การปรับรูปร่างของสิ่งที่เป็นจริงให้เหมือนตัวแบบ “Model For”(อคิน,2551:81) ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สิ่งที่สำคัญในการทำความเข้าใจระบบสัญลักษณ์คือการทำความเข้าใจความคิดของมนุษย์ที่สร้างรูปแบบจำลองหรือสัญลักษณ์ขึ้นมาโดยเลียนแบบจากสิ่งที่เป็นจริง
ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เป็นจริงก็ถูกสร้างภายใต้ตัวแบบที่มนุษย์คิดขึ้น
อาจกล่าวได้ว่า ตัวแบบคือสิ่งที่วางแนวทางหรือความสัมพันธ์ทางกายภาพและทางสังคมของมนุษย์ อย่างที่สอง คือ เรื่องทัศนะคนในและคนนอก ซึ่งGreetz
กล่าวถึงแประสบการณ์ไกลตัวและประสบการณ์ใกล้ตัว
ที่แบ่งแยกระหว่างประสบการณ์ใกล้ตัวที่เป็นประสบการณ์ของผู้ให้ข้อมูลที่นิยามสิ่งที่ตัวเขาเองหรือคนในสังคมเขามองเห็น
รู้สึกอย่างเดียวกัน
และประสบการณ์ไกลตัวซึ่งเป็นประสบการณ์ของเราในฐานะผู้ศึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ Greetz
เน้นย้ำให้เราวิเคราะห์ เสาะหารูปแบบของสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นคำพูด
รูปจำลอง สถาบันและพฤติกรรม การกระทำ
เพื่อทำความเข้าใจว่าพวกเขาในแต่ละแห่งมีการมองตัวเองและนำเสนอตัวตนของตัวเองต่อคนอื่น
รวมทั้งตัวตนของเขาในสังคมเป็นอย่างไร
โลกของความจริงสัมพันธ์กับโลกของภาษาหรือความหมายที่เป็นการประกอบสร้างทางสังคม
บางครั้งสังคมสร้างความหมายและความจริงให้กับสรรพสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวมนุษย์ผ่านระบบภาษาและสัญลักษณ์ ในประเด็นทางด้านสุขภาพและความเจ็บป่วย
การทำความเข้าใจหรือการมองคน
มองความเจ็บป่วยเปลี่ยนผ่านจากเรื่องของโครงสร้างมาสู่เรื่องของประสบการณ์ของความเจ็บป่วยที่นำไปสู่การอธิบายและวิธีการรักษาที่มีความเฉพาะ
ความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรมสุขภาพจึงมีพื้นฐานจากความแตกต่างของวิธีคิด โครงสร้างทางความคิดที่เป็นตัวกำกับ
สิ่งที่เป็นนามธรรมนี้จะสะท้อนให้เห็นผ่านสัญลักษณ์และภาษา เช่น การให้ชื่อโรค
การจัดกลุ่มโรค ที่สร้างความหมายและสถาปนาความจริงแก่สิ่งเหล่านั้น
นักมานุษยวิทยาที่มีบทบาทสำคัญคือ Artur Khlienman
ที่เสนอว่าระบบการแพทย์เป็นระบบวัฒนธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีสัญลักษณ์
ความหมายและตรรกะภายในตัวเอง (โกมาตร,2545: 8) Klienman
กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า รูปแบบของการอธิบาย (Explanatory
Model/EM) ที่ได้ให้โครงสร้างความคิดภายในตัวของปัจเจกบุคคลที่จำแนกแยกประเภทปัญหาทางสุขภาพและความเข้าใจในความเจ็บป่วย
การบาดเจ็บและความพิการของพวกเขาออกมา (Veena,2007:2) โดยเขาได้จำแนกแยกแยะระหว่างโรค
(Disease) ที่เป็นความผิดปกติของกระบวนการและกลไกลทางร่างกายของผู้ป่วย(Explantory
Model ของแพทย์) และความเจ็บป่วย (Illness)
ซึ่งเป็นความผิดปกติที่เกิดจากการรับรู้หรือประสบการณ์ความเจ็บป่วยที่ผู้ป่วยตีความเอง
(Explanatory Model ของผู้ป่วย) เช่นเดียวกับงานของ Byron
Good
ที่พูดถึงโครงสร้างเครือข่ายความหมายและสัญลักษณ์ของความเจ็บป่วย (Semantic
Illness Network)ที่หมายถึงเครือข่ายของคำศัพท์ (Word) สถานการณ์ (Situation) การบ่งชี้อาการของโรค (Symptom)และความรู้สึก (Feeling) ที่สัมพันธ์กับความเจ็บป่วยและการให้ความหมายของผู้ป่วยหรือ”The
Sufferer” (Good,1977:40) โดยให้ความสำคัญกับระบบสัญลักษณ์หลัก
(Core System)[1]
ในการให้ความหมายเกี่ยวกับโรคหัวใจอ่อนแรง (Hearth Distrees)ในวัฒนธรรมของชาวอิหร่าน
ที่สัมพันธ์กับระบบสัญลักษณ์และการให้ความหมายแบบอิสลาม (Islamic)ซึ่งเป็นความจริงในวัฒนธรรมสุขภาพของสังคมชาวอิหร่าน
สิ่งที่สอดคล้องกันระหว่าง Klieman และ Good คือ โรคภัยไข้เจ็บ (Disease) คือสิ่งที่ไม่ได้ดำรงอยู่จริงแต่มีอยู่จริงในรูปแบบของการอธิบาย
(Klieman 1973 quoted by Good 1994:53) ดังนั้นโรคและความเจ็บป่วยเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไม่ใช่แค่เพียงการแสดงออกซึ่งความเจ็บป่วยเท่านั้นแต่มันคือสิ่งที่สะท้อนความหมายและความจริงของมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้น
แน่นอนว่าความจริงดังกล่าวเป็นความจริงที่หลากหลาย การทำความเข้าใจความหมายและการตีความสุขภาพและความเจ็บป่วยก็ต้องมีมิติ
มุมมองที่หลากหลาย
การทำความเข้าใจสัญลักษณ์และความหมายเกี่ยวกับสุขภาพและความเจ็บป่วยในฐานะส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม
ทำให้เราเข้าใจการพิจารณาความเจ็บป่วยว่า สาเหตุของความเจ็บป่วยเกิดจากอะไร
และเมื่อรับรู้แบบนี้เขาทำอะไรหรือไปหาใครเพื่อเยียวยารักษาอาการเจ็บป่วยเหล่านั้นให้หายไป
ดังที่ Kleinman บอกว่าโรคหรือความเจ็บป่วยเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่สะท้อนความหมายและความจริงของมนุษย์เกี่ยวกับโรคและความเจ็บป่วย
ถือว่าเป็นสิ่งสร้างทางวัฒนธรรมซึ่งแตกต่างกับการประกอบสร้างความจริงเกี่ยวกับโรคและความเจ็บป่วยทางการแพทย์หรือทางคลินิก
[1]
แนวความคิดเรื่องแกนสัญลักษณ์
(Core Symbol)ของ
Byron Good คล้ายกับคำอธิบายของวิกเตอร์
เทอเนอร์ (Victor Turner)
ที่พูดถึงสัญลักษณ์หลัก (Dominant Symbol) ที่จัดการความหมายของพิธีกรรมในสังคมก่อนอุตสาหกรรม
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น