ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ประสบการณ์ภาคสนามกับชุมกะเหรี่ยงที่บ้านป่าหมาก ประจวบคีรีขันธ์ โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

รถวิ่งผ่านเนินเขาอันสลับซับซ้อน ผ่านเส้นทางลาดยางสลับลูกรังอันคดโค้ง ขึ้นและลงตามระดับสูงต่ำของพื้นที่ มองผ่านกระจกรถเห็นภูเขาสูงทอดตัวยาวตลอดสองข้างทาง  มีไม้ขนาดกลางและเล็กขึ้นกันอยู่ไม่หนาแน่นมากนัก บางส่วนถูกถางถางพื้นที่สำหรับปลูกพืชจำพวกสับปะรดที่มีการปลูกจำนวนมาก จนมองเห็นแนวของการปลูกที่เรียงรายบนเนินเขาลูกเตี้ยๆหลายลูกซ้อนกันอยู่ บางส่วนปลูกไม้จำพวกปาล์ม และไม้ยางพารา ทั้งที่ยังไม่ได้กรีดและต้นยางที่ถูกกรีดยางแล้ว   รวมทั้งภาพของรถแทร็กเตอร์ที่ไถปรับพื้นที่เพื่อเตรียมการเพาะปลูก ภาพเหล่านี้ดูเหมือนจะสะท้อนวิถีชีวิตของคนที่นี่ที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้อิทธิพลของการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ในขณะเดียวกันภาพของธรรมชาติแบบเดิมก็ยังปรากฏให้เห็นได้เป็นช่วงๆ พวกเราขับรถผ่านลำธารหินน้ำใสที่ไหลลงมาจากยอดเขา ผ่านพื้นที่ ผ่านหมู่บ้านต่างๆ เมื่อรถแล่นสัมผัสน้ำที่ไหลเอื่อยเย็นลงมาจากยอดเขา หมู่ผีเสื้อสีสันสวยงามตัวเล็กๆ ก็บินว่อนแตกกระจายไปมาบนอากาศดูสวยงาม สองข้างของลำธารมีต้นไม้สีเขียวครึ้ม ทั้งต้นเล็ก ต้นใหญ่ รวมถึงไม้พุ่มจำพวกเฟิร์น ผักกูด ผักหนามที่ขึ้นอย่างหนาแน่นบริเวณลำธารใส และไม้ไผ่กอใหญ่ขึ้นสลับเป็นหย่อมๆ จนกระทั่งผ่านโค้ง มองเห็นธงชาติไทยอยู่ไม่ไกล ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าเรากำลังใกล้จะถึงหมู่บ้านป่าหมากที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางหุบเขา เราขับรถมาจนผ่านด่านตรวจของทหารพราน และเข้ามาบริเวณโรงเรียนบ้านป่าหมาก ที่ล้อมรอบด้วยภูเขาลูกเล็กๆ และกระท่อมของชาวกะเหรี่ยงที่รายล้อมอยู่โดยรอบ



พวกเราจอดรถบริเวณลานกว้างหน้าโรงเรียน ส่วนที่ตั้งของโรงเรียน และจะต้องเดินขึ้นไป บริเวณโรงเรียนเพราะตั้งอยู่บนที่สูง ซึ่งน่าจะเคยเป็นเนินเขาเตี้ยๆมาก่อน โรงเรียนเป็นโรงเรียนขนาดเล็กไม่ใหญ่มาก มีประมาณ 2 หลัง มีโรงอาหารหนึ่งโรง กิจกรรมในโรงอาหารตอนเช้าก็จะเคารพธรงชาติ ก่อนเข้าห้องเรียน ตอนกลางวันก็จะเป็นช่วงพักกินข้าว ซึ่งก่อนกินข้าวจะต้องตั้งฉาก ร้องเพลง ที่มีเนื้อหาว่า “เราคนไทยไม่ใช่คนป่า” ที่พูดถึงพระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าเกี่ยวกับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนและการดูแลชาวเขาเผ่าต่างๆในประเทศไทย และกล่าวเกี่ยวกับโครงการในพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน 8 โครงการ รวมทั้งแสดงความสำนึกในบุญคุณของข้าวและผู้มีจิตศรัทธามอบข้าวปลาอาหารเป็นอาหารกลางวันแก่เด็ก (คำลงท้ายจะพูดว่า ขอบคุณครับพระองค์ท่าน กับขอบคุณครับพ่อครัวแม่ครัว) ถัดไปจากห้องเรียนจะมีห้องพยาบาลหนึ่งห้องและบ้านพักครูตำรวจตระเวนชายแดนอยู่บริเวณด้านหลังของโรงเรียน 
จากคำบอกเล่าของอาจารย์โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนโรงเรียนบ้านป่าหมากบอกผู้เขียนว่า ที่นี่เปิดสอนในระดับประถมศึกษาหากจะเรียนระดับมัธยมศึกษาต้องลงไปเรียนข้างล่าง แต่เด็กที่นี่ส่วนใหญ่เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาก็จะลงไปหางานทำในจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดอื่นๆ ภายในโรงเรียนนอกจากอาคารเรียนแล้วจะมีศูนย์สาธิตการเกษตร ซุ้มเกลือไอโอดีน มีเล้าไก่ และมีบ่อเลี้ยงปลา รวมถึงแปลงผักสวนครัว เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอาหารกลางวันให้กับนักเรียนในโรงเรียน พื้นที่บริเวณเสาธงหน้าโรงเรียนมีลานปูนเพื่อใช้ทำกิจกรรมตอนเช้า เช่น เคารพธงชาติ การปฏิญาณตนเกี่ยวกับความจงรักภักดีต่อชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ และย้ำถึงโครงการต่างๆที่พระบรมวงศานุวงศ์ได้ริเริ่มและดำเนินการ รวมทั้งการแนะนำสั่งสอนเรื่องการเรียนและจริยธรรมของครูให้กับนักเรียน แต่ไม่มีการสวดมนต์ไหว้พระเนื่องจากกะเหรี่ยงที่นี่จะนับถือศาสนาที่แตกต่างกันไป ทั้งพุทธ และคริสต์ นอกจากนี้ภายในโรงเรียนจะมีป้ายทรงพระเจริญ รูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรูปของสมเด็จพระเทพฯที่เป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียนและเคยเสด็จพระราชดำเนินมาที่นี่เมื่อประมาณปีพ.ศ.2551  รวมถึงต้นขนุนเพชรขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านข้างของเสาธงที่พระองค์เคยมาปลูกพระราชทานเอาไว้ตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งโรงเรียน จนปัจจุบันขนุนต้นนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในบริเวณนี้

ครูตชด.กำลังเช็คชื่อนักเรียนชาวกะเหรียงหน้าเสาธง

“ผมรักพระองค์ท่านมาก ท่านเคยเสด็จมาที่นี่ ผมเคยมารับเสด็จ และท่านก็เคยปลูกต้นขนุนหน้าโรงเรียน ผมอยากถ่ายรูปพระองค์ท่าน” (คำสัมภาษณ์ของต้นเด็กชายชาวกะเหรี่ยง)


บริเวณหน้าโรงเรียนมีพระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าอยู่หัว

ผู้เขียนมาถึงพื้นที่ก่อนเวลา 13.00 น. จากนั้นก็พวกเราซึ่งเป็นคณะชุดแรกที่มาถึงที่นี่ ก็ช่วยกันเตรียมกางเต๊นท์บนลานกว้างใกล้กับลานจอดเฮลิคอปเตอร์และเก็บอุปกรณ์สำคัญสำหรับทำกิจกรรมมาไว้ที่ห้องเรียน และรอนักศึกษาอีกส่วนหนึ่งที่กำลังเดินทางขึ้นมาสมทบ กลุ่มนักศึกษากลุ่มสุดท้ายเดินทางมาถึงเวลา 16.00 น. เมื่อพร้อมกันแล้ว ทางพวกเราก็แนะนำตัวกับน้องๆ ที่ทางโรงเรียนจัดให้ จำนวน 30 คน น้องๆแต่ละคนรายงานชื่อจริงแบบไทยและชื่อเล่นแบบไทย ทั้งๆที่แต่ละคนมีชื่อเป็นภาษากะเหรี่ยงแต่พวกเขาเลือกที่จะพูดภาษไทยกับพวกเรา มากกว่าจะพูดภาษากะเหรี่ยงเพราะพวกเขาเลือกที่จะใช้ภาษาพื้นถิ่นกับกลุ่มของตัวเองซึ่งพวกเราฟังพวกเขาพูดไม่รู้เรื่อง แต่ก็ยังโชคดีหน่อยที่พวกเขาพูดภาษาไทยกับพวกเรา ทำให้เราสามารถสื่อสารกับพวกน้องๆได้ เรามารู้ตอนหลังว่า อาจารย์ที่โรงเรียนบอกให้เขาพูดภาษาไทยกับพี่ๆ(พวกเราที่เป็นคนนอก) พร้อมกำชับไม่ให้พูดภาษากะเหรี่ยงกับพวกเราเพราะกลัวว่าจะสื่อสารกันไม่ได้และกิจกรรมที่ทำจะไม่ราบรื่น 

นักศึกษากับลูกหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านที่นี่เลี้ยงหมูป่าไว้ที่ใต้ถุนเรือน

นักศึกษาช่วยกันกางเต๊น์โดยมีนักเรียนป่าหมากช่วย

ผู้เขียนกับนักเรียนป่าหมากที่เป็นไกด์แนะนำหมู่บ้าน

เด็กชาวไทยกะเหรี่ยง

เด็กชาวไทยกะเหรี่ยงกับแมว

ในช่วงเย็นเมื่อเด็กๆเริ่มคุ้นเคยกับผู้เขียนมากขึ้น หลังจากเราได้แนะนำตัวและพูดคุยถามไถ่ถึงวิถีชีวิตและการเรียนของเด็กกลุ่มนี้ เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมของที่นี่ค่อนข้างสวยงามมีภูเขาล้อมรอบ ผู้เขียนจึงหยิบกล้องถ่ายรูปของตัวเองมาถ่ายภาพ ภูเขา หมู่บ้านและต้นไม้ เมื่อเด็กๆเหล่านี้เห็นผู้เขียนใช้กล้องดิจิตอลถ่ายรูปพวกเขาและชุมชนที่เขาคุ้นเคย ก็มีความสนใจอยากถ่ายรูปบ้าง ดังนั้นผู้เขียนก็เลยลองให้เด็กถ่ายรูปเอง โดยสอนวิธีการถ่ายเบื้องต้นและให้พวกเขาลองเอากล้องของผู้เขียนไปถ่ายรูปเล่นตามที่พวกเขาอยากถ่าย จนถึงช่วงหัวค่ำเด็กๆก็นำกล้องถ่ายรูปมาคืนผู้เขียน และร่วมรับประทานอาหารกับผู้เขียนและนักศึกษา เสร็จจากรับประทานอาหาร เราก็นัดหมายกันสำหรับกิจกรรมในวันพรุ่งนี้หลังจากนั้นเด็กๆก็แยกย้ายกันกลับบ้านของตัวเอง 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ เน้นอยู่ที่ปัจจัยทางชีววิทยาเพ

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเกี่ยวกับการนอนเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เป็นเรื่องส่วนตัว(priv

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile Derkhiem ในหนัง